Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

TIME TO GO HOME นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในไทยครั้งแรกของ ‘Kenz’ กับนิยามคำว่า ‘บ้าน’

Art & Design / Culture

เคยมีคำกล่าวว่า ถ้าเรารักอะไรซักอย่างมากพอ วันหนึ่งมันจะพาเราไปที่ไหนสักที่

สำหรับ Kenz เคน-กฤษฏิ์พัณณ์ สุวรรณวัฒนาสุข ที่ที่ศิลปะพาไปก็คือ ‘บ้าน’ ของเขาเอง 

TIME TO GO HOME คือชื่อนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกที่ประเทศไทยของ Kenz หลังจากไปเติบโตในฐานะศิลปินที่ประเทศออสเตรเลียตั้งแต่อายุ 14 ปี และเดินทางไปจัดแสดงผลงานมาแล้วทั้งที่ฝรั่งเศส โอซาก้าและฮ่องกง งานนิทรรศการครั้งแรกที่กลับมาจัดที่บ้านเกิดนำมาสู่คอนเซปต์ที่ว่าด้วยการกลับบ้าน ด้วยลายเส้นและองค์ประกอบที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานระคนยียวน สีสันสดใสตามแนวทางที่เขาเรียกว่า Kinetic Figurative Art ทั้งงาน Painting, Sculpture และ Product ที่เป็น Collaboration กับ Carnival

“ตอนเด็กเราต้องย้ายบ้านบ่อย พอต้องไปอยู่ต่างประเทศก็ย้ายที่อยู่บ่อยมาก เรารู้สึกว่าเราไม่ได้มีบ้านถาวรที่เดียว แต่เป็นเหมือนบ้านชั่วคราวหลายๆที่ เป็นที่ที่เรารู้สึกคู่ควรที่จะเรียกว่าบ้านมากกว่า เราคิดว่ากลุ่มเพื่อนหรือสถานที่บางแห่งที่อาจไปแค่แวบเดียวก็สามารถเป็นบ้านของเราได้ บ้านในนิทรรศการนี้จึงปรากฎเป็นสิ่งของ เป็นสัตว์ เป็นอะไรก็ตามที่โยงให้เรารู้สึกถึงบ้าน”

“อย่างรูปโคมไฟหัวเตียงที่เราต้องไปปิดก่อนนอน เป็นการเก็บความรู้สึกจังหวะนั้น ที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนตอนที่เราเอื้อมมือไปปิดไฟก่อนเข้านอน เราก็รู้สึกว่าเป็นบ้านของเรา ส่วนรูปที่ชื่อ Left or Right เลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา สื่อถึงบ้านของเราไม่ได้มีแค่ที่เดียว เราจะเลี้ยวซ้ายไปบ้านที่อยู่ตอนนี้ หรือจะเลี้ยวไปอีกทางหนึ่งเพื่อไปบ้านที่เราเคยอยู่ในอดีต เป็นความรู้สึกที่ว่าทั้งสองที่ก็เป็นบ้านของเรา“

นอกจากบ้านไม่จำเป็นต้องสถานที่แห่งเดียวแล้ว ความรู้สึกที่มีให้กับบ้านก็ไม่จำเป็นต้องเป็นความรู้สึกเชิงบวกเท่านั้นก็ได้ เช่นเดียวกับงานของ Kenz ที่ถึงแม้จะมีสีสันและลายเส้นที่ดูสดใส แต่ก็แฝงไว้ซึ่งหลายอารมณ์ที่ศิลปินต้องการจะสื่อสาร

“รูปที่เราวาดเป็นหมาวิ่งไล่รถ เราอยากให้คนดูคิดได้ 2 แบบ คือ มันวิ่งไล่รถคันที่กำลังกลับบ้าน หรือมันวิ่งตามรถเพื่อมันจะกลับบ้าน เราตั้งใจให้หมาดูดุหน่อย ไม่น่ารัก อยากให้มันดูมีอารมณ์ได้ทั้ง 2 แบบ หรือรูปคนโบกมือบ๊ายบายรถ ถ้าดูด้านหลังจะเห็นมือที่กำหมัดไว้ ต้องการจะสื่อว่า แม้จะบอกลาแล้วนะ แต่ยังมีอารมร์บางอย่างคุกรุ่นฝังลึกไว้อยู่ หลายๆรูปไม่ใช่รูปที่ซึ้งในทางบวกอย่างเดียว แต่เลือกเก็บหลายๆมุมมอง หลายๆอารมณ์”

แง่มุมทางอารมณ์ที่หลากหลายและทักษะทางศิลปะของ Kenz เกิดจากการผสมผสานกันระหว่างอิทธิพลจากการ์ตูนที่ Kenz เคยดูในวัยเด็กและการบ่มเพาะผ่านแวดวงศิลปะในเมลเบิร์นเป็นเวลาหลายปี จากเด็กน้อยที่ใช้การวาดรูปเป็นเหมือน Art Therapy คลายเครียด จนได้เข้าร่วมเวิร์กชอปวาดการ์ตูนสำหรับบุคคลทั่วไปของสตูดิโอ The Blender ซึ่งกลายเป็นบ้านอีกแห่งหนึ่งของเขา   

 “ผมย้ายไปอยู่ออสเตรเลียตอนอายุ 14 ได้ไปเวิร์กชอปวาดรูปการ์ตูนที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าร่วม และได้เจอเพื่อนรุ่นพี่อายุ 18 ชื่อออลี่ เขาพาเราติดสอยห้อยตามไปสตูดิโอสตรีตอาร์ตของเขา เราได้ไปเจอกลุ่มศิลปิน คนทำงาน Installation Art ต่างๆ เขามีงานอะไรก็ให้เราไปช่วย เป็นการทำงานพาร์ตไทม์ ในขณะเดียวกันก็เป็นเหมือนโรงเรียนที่สอนเราทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคนิค การคิด การเข้าไปอยู่กลุ่มศิลปะ หางาน คลุกคลีมาตลอด จนพออายุ 18 เราก็เช่าสตูดิโอเขาทำงาน และมีโปรเจกต์ของตัวเองตอนช่วงอายุ 20”

The Blender Art Studio คือบ้านหลังแรกในโลกศิลปะที่ Kenz พัฒนาสไตล์งานที่เป็นเอกลักษณ์มาตลอดระยะเวลาหลายปี จนกลายมาเป็นรูปแบบในปัจจุบันที่เขาให้คำจำกัดความว่า Kinetic Figurative Art

“เราทดลองเรื่อง Line Work มาตั้งแต่เด็ก เริ่มจากวาดรูปดินสอ มาเป็นปากกาหมึกญี่ปุ่น จนเป็นลายเส้นที่มีมิติขึ้นมา จนประมาณ 5 ปีที่แล้วก็พัฒนากลายมาเป็นเส้นแบบเลเยอร์เป็นตัว จนตอนนี้เอามาผสมเทคนิคที่ไม่ได้เป็นเส้นอย่างเดียว เป็นเทคนิคการเพนต์ผสมแอร์บรัช ส่วนตัวเราชอบอะไรที่มันเล่นกับลูกตา การมอง ซึ่งก็คือนิยามของคำว่า Kinetic คืออะไรก็ได้ที่เวลาเรามองรูปจริงแล้วมันเล่นกับลูกตาของเรา เวลาเราดูรูปจริง เราอยากให้มันดูสีดูดเข้ามานิดหนึ่ง หรือไม่ก็เด้งขึ้นมา เพราะว่าสีมันเรียงเลเยอร์กันหลายเส้น เวลามองไกลๆจะดูไม่ออกว่าเป็นเส้นเลเยอร์ ต้องเดินเข้าไปดูใกล้ๆจะเห็นว่า ที่จริงมิติทั้งหมดมันสร้างด้วยเส้น ไม่ใช่การแรเงาเหมือนปกติ”

แม้ว่างานจะออกมาเป็นรูปการ์ตูนและมีรูปลักษณ์คาบเกี่ยวคล้ายกับอาร์ตทอย แต่งานของ Kenz ใน Time To go Home กลับไม่ได้โฟกัสที่ตัวคาแรกเตอร์ แต่ให้ความความสำคัญกับเนื้อหาในงานมากกว่า “สำหรับโชว์นี้ เราไม่ได้มีชื่อตัวคาแรกเตอร์ทั้งตัวงานปั้นและงานวาด แต่มันจะอยู่ในฐานะชิ้นงาน อย่างตัว Sculpture ชื่อว่า I’m home มันเล่าเหตุการณ์ที่เราเปิดประตูเข้ามาตอนมาถึงบ้าน ส่วนอีกตัวเป็นงานชื่อ Home Boy เป็นเด็กแบกเป้รูปบ้านอยู่ข้างหลัง สื่อถึงคนที่ทำให้สถานการณ์นั้นๆที่เขาไปอยู่กลายเป็นบ้านของเขาได้ด้วยโดยไม่เกี่ยงว่าเป็นสถานที่ไหน”  

นอกจากเพนติ้งและงานประติมากรรมแล้ว Time To go Home ยังมีส่วนของโปรดักต์ที่ Kenz ได้คอลแล็บกับ Carnival แบรนด์สตรีตชื่อดัง โดยมีทั้งส่วนที่เป็นเสื้อยืด นาฬิกาแขวนผนัง แก้วน้ำ และจาน ที่มีอาร์ตเวิร์กน้องหมี Barnie มาสคอตของแบรนด์ในลายเส้นของ Kenz เป็นแบบลิมิเต็ดอิดิชัน “ปกติ Barnie จะดูเป็นนักผจญภัย แต่คราวนี้เราตั้งใจให้มันดูมึนๆ เด๋อ ติงต๊อง ตลกนิดหน่อย สไตล์แบบงานเรา”

แม้จะเคยไปแสดงงานในหลายประเทศทั่วโลกมาแล้ว แต่การกลับมาแสดงงานที่ประเทศไทยก็ทำให้ Kenz ได้ร่วมงานกับผู้คนที่หลากหลาย ทั้งแบรนด์และแกลเลอรี เป็นการร่วมมือที่คุ้นเคยของคนทำงานศิลปะ  “ตั้งแต่กลับมา เราก็เรียนรู้อะไรใหม่ๆเหมือนกัน เจอคนที่ทำให้เรารู้สึกแบบเดียวกับเมลเบิร์น เป็นกลุ่มแวดวงศิลปะที่ช่วยเราหลายๆด้าน  บางครั้งอาจจะไม่ได้เหมือนกัน 100 เปอร์เซ็นต์ มันมีความแตกต่างกันบ้าง ด้วยความที่โตขึ้น” 

บ้านจึงไม่ใช่เรื่องของสถานที่ แต่เป็นบรรยากาศที่ผู้คนในแวดวงเดียวกัน คลุกคลีสร้างสรรค์ในเรื่องเดียวกันร่วมกันสร้างขึ้นมา  เป็นความรู้สึกที่ศิลปินได้เป็นตัวของตัวเองและคู่ควร 

และสำหรับแวดวงศิลปะแล้ว ‘บ้าน’ อาจเป็น ‘บรรยากาศ’ ที่จำเป็นที่สุดสำหรับศิลปิน

และเป็น ‘บรรยากาศ’ ที่จำเป็นที่สุดสำหรับเราทุกคน

ชมนิทรรศการ TIME TO GO HOME ได้ที่ Trendy Gallery ชั้น 2 River City Bangkok วันนี้ถึง 19 พฤศจิกายน 2023

Words: Roongtawan Kaweesilp 
Photo: Somkiat Kangsdalwirun 

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม