Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview / People

เต็นท์-ณัฐพร ขำดำรงเกียรติ ศิลปินผู้ซูมเครื่องแต่งกายท้องถิ่นทั่วไทย ผ่านศิลปะไทยแบบดิจิทัล

Interview / People

“การวาดชุดท้องถิ่นถือว่าเป็นศิลปะเปิดโลกให้เรา เหมือนช่วยเปลี่ยนคนแปลกหน้าให้เป็นคนรู้จัก”

“ผมชอบวาดทุกอย่างมาตั้งแต่เด็ก แรกๆ วาดรูปตัวละคร คาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนต่างๆ แต่ไม่ได้วาดมังงะ ชอบวาดการ์ตูนสไตล์ขายหัวเราะ แนว doodle นั่นคืออิทธิพลที่เราได้รับมา” เต็นท์-ณัฐพร ขำดำรงเกียรติ ศิลปินผู้มีใจฝักใฝ่ในศิลปะไทย แต่ในมุมไม่เหมือนใครกล่าว

จากจุดเริ่มต้นนั้นได้ต่อยอดให้เขาวาดดะทุกอย่างที่ขวางหน้า “ต่อมาเราวาดภาพตามวรรณกรรมเยาวชนแปล หรือหนังสือเล่มไหนที่มีภาพประกอบสวยก็จะซื้อ ลายเส้นเลยจะเปลี่ยนไปตามช่วงวัยและตามสิ่งที่เราสนใจ” เต็นท์เล่าถึงวิวัฒนาการศิลปะของตนที่หากเข้าไปในไอจี @NATTHAPHORN จะเห็นภาพหลากหลาย ตั้งแต่ดอกไม้ แมว ไปจนถึงความสนใจล่าสุดของเขา – ศิลปะไทย

อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต เป็นไอดอลด้านการเป็นศิลปินของเรา ช่วงมัธยมผมเรียนวิทยาลัยนาฏศิลป์ เราผูกพันกับวัฒนธรรมไทย และอาจารย์วาดสิ่งที่เกี่ยวพันกับนาฏศิลป์ไทยด้วย ผมชอบที่งานของอาจารย์มีความแฟนตาซี ชวนฝัน ใช้สีหวาน ประทับใจเรามาก” เต็นท์ให้คำตอบเมื่อถามถึงลายเส้นชดช้อยและสีสันละมุนในงานศิลปะของเขา

“ศิลปะไทยไม่ได้มีแค่เรื่องลายไทย และลายไทยไม่ได้มีแค่ในจิตรกรรมฝาผนัง หรือสถาปัตยกรรมในวัดในวังเท่านั้น แต่ยังปรากฏในลายผ้า หรือบนสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ”
SIAMESE GUY
SIAMESE GUY
21 X 29.7 CM
MARKER AND GOLDEN INK ON PAPER
ภาพชายชาวสยามสวมเสื้ออย่างน้อยลายดอกลอย นุ่งผ้าลายอย่าง คาดเอวด้วยผ้าหนามขนุน เหน็บกริช มือถือดาบ

เต็นท์ไม่ได้มีพื้นฐานการเรียนศิลปะไทยมาแต่แรก เขาร่ำเรียนมาโดยตรงในศิลปะตะวันตกเสียด้วยซ้ำ “ตอนเรียนปริญญาตรีที่คณะศิลปกรรม จุฬาฯ เอกเพ้นติ้ง เรียนจิตรกรรมศิลปะตะวันตกตั้งแต่ยุคคลาสสิกจนถึงยุคปัจจุบัน มหาวิทยาลัยในไทยมีไม่กี่แห่งที่มีสาขาจิตรกรรมไทย ชัดเจนสุดคือเพาะช่าง ที่อื่นจะเน้นศิลปะตะวันตก ผมอยากเรียนศิลปะ อยากทำงานศิลปะ เราไม่ได้มุ่งมั่นว่าจะต้องเรียนศิลปะไทยเท่านั้น ซึ่งตอนเรียนก็ได้เรียนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ เป็นเล็กเชอร์ และได้ลงมือทำศิลปะไทยสั้นๆ ในบางวิชา แต่ไม่ถือว่าทำเป็น รู้จักในเชิงทฤษฎี มาเขียนลายไทยเป็นตอนมาเรียนที่โรงเรียนช่างฝีมือในวังชาย อยากเขียนลายไทยเป็นอย่างคนที่เขียนรูปจิตรกรรมไทยทำได้

WOMAN IN GREEN
WOMAN IN GREEN
21 X 29.7 CM
MARKER, OPAQUE WHITE AND GOLDEN INK ON PAPER
ภาพหญิงสาวชาวสยามแต่งกายอย่างสตรีชาวตะวันตก โดยได้แรงบันดาลใจจากภาพถ่ายเก่าในช่วงยุคสมัยรัชกาลที่ 5-6 ที่วัฒนธรรมมตะวันตกหลั่งไหลเข้ามาในสยาม

“การเรียนจิตรกรรมไทยที่โรงเรียนช่างฝีมือ เป็นหลักสูตรนอกการศึกษา 1 ปี เรียนวันทำการราชการ 5 วัน เหมือนไปโรงเรียน 8 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น คนที่มาเรียนอายุ 15 ปีขึ้นไป ในคลาสมีคนหลายวัยตั้งแต่ 15 จนถึง 70 เลย ผมไปเรียนเพราะเราสนใจศิลปะไทยเป็นทุนเดิม ช่วงที่วาดรูปชุดพื้นเมืองไทยก็เป็นช่วงที่เรียนโรงเรียนช่างฝีมือในวังชายนี่ละ เรามีพื้นฐานฝีมือและความเข้าใจในศิลปะอยู่แล้ว ก็เรียนรู้ศิลปะไทยได้ไวขึ้น” ประกายไฟที่นำทางให้เขาและ LIPS ได้มาพบกันเริ่มต้นที่ตรงนี้เอง

เต็นท์เล่าต่ออย่างหลงใหลว่า “ศิลปะไทยไม่ได้มีแค่เรื่องลายไทย เพื่อนๆ ที่เรียนมาจากหลายอาชีพ มีกลุ่มคนที่เป็นนักสะสมของเก่า สะสมผ้า ซึ่งลายไทยไม่ได้มีแค่ในจิตรกรรมฝาผนัง หรือสถาปัตยกรรมในวัดในวังเท่านั้น แต่ยังปรากฏในลายผ้า หรือบนสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น หีบ กล่อง แจกัน เราเลยได้เห็นลวดลาย สีและเท็กซ์เจอร์ของลายไทยบนผ้าไทยของจริง ซึ่งไม่เหมือนที่เราเห็นในอินเทอร์เน็ต แต่ละท้องถิ่นมีผ้าที่มีเอกลักษณ์ ดูเผินๆ เหมือนกัน แต่เราเห็นรายละเอียดที่เป็นตัวบ่งบอกความแตกต่าง

SIAMESE LADIES
SIAMESE LADIES
21 X 29.7 CM
MARKER, OPAQUE WHITE AND GOLDEN INK ON PAPER
ภาพหญิงสาวชาวสยามสองคนกำลังถือพานทองคำ ครอบทับด้วยผ้าทรงกรวยปักลาย การแต่งกายในภาพนี้ได้แบบอย่างมาจากภาพถ่ายในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 ที่แฟชั่นของสตรีนิยมทรงผมปีกไว้จอนยาว สวมเสื้อแขนกระบอก และห่มทับด้วยสไบอัดจีบ
“แต่ละท้องถิ่นมีผ้าที่มีเอกลักษณ์ ดูเผินๆเหมือนกัน แต่เราเห็นรายละเอียดที่เป็นตัวบ่งบอกความแตกต่าง”

“เรามองเห็นความงามจนเกิดเป็นความประทับใจที่อยากถ่ายทอดความงามของลายผ้าไทยด้วยฝีมือการวาดรูปของเรา ชุดชนชาติต่างๆ มีอยู่ในจิตรกรรมไทยมาแต่ไหนแต่ไร คนแต่ก่อนวาดในสิ่งที่ตนใช้สอยและเป็นอยู่ แต่อาจตัดทอนรายละเอียด เพราะรูปภาพไม่ได้มีขนาดใหญ่พอจะใส่รายละเอียด แต่เราที่ศึกษางานผ้าและจิตรกรรมไทยมาก็จะบอกได้ เช่น ยักษ์ที่เป็นทวารบาลจะนุ่งผ้าอินเดีย เราจำแนกผ้าได้แต่เราวาดด้วยมุมมองของเรา เอาดีเทลผ้าจริงๆมาใส่ในรูปวาด

“ผ้าทุกอย่างที่เราวาดมีของจริง เป็นการอิงของจริงแต่ไม่ได้เป๊ะ เราใส่ความชอบของเราไปด้วย เช่น ชุดล้านนา ผ้าเมืองน่าน เรารู้โครงสร้างลายผ้าของเขา และครีเอตลวดลายของเราเข้าไปเอง แต่ยึดโครงสร้างผ้าเมืองน่าน เราต้องศึกษาผ้าแต่ละท้องถิ่นมาก่อน การวางลาย การใช้สีอะไรต่างๆ แล้วใส่ดีไซน์ที่เราอยากให้เป็นด้วย ถ้าวาดหลุดไปจากของจริงก็ไม่ใช่สิ่งที่บ่งบอกถึงท้องถิ่นนั้นๆ

“ดังนั้น งานของผมคือแฟนตาซีที่ยึดโยงกับความเป็นจริง จุดประสงค์เราไม่ได้วาดเพื่อบันทึกประวัติศาสตร์ เราวาดเพราะชอบ และอยากถ่ายทอดผลงานในแบบของเรา ไม่ได้จะวาดเพื่อเอาไปทำอะไรด้วย ตั้งแต่เด็กเราวาดรูปเล่นยังไง โตมาก็ยังชอบแบบนั้น แต่การวาดรูปเล่นของเรามีกระบวนการความคิดบางอย่างอยู่” เขากล่าวยาวราวกับเล็กเชอร์คลาสเครื่องแต่งกายพื้นเมืองไทย

TWO LADIES OF NAN
TWO LADIES OF NAN
21 X 29.7 CM
MARKER, OPAQUE WHITE AND GOLDEN INK ON PAPER
ภาพหญิงสาวล้านนาแต่งกายแบบเมืองน่าน โดยทั้งสองสวมเสื้อป้ายที่มีการปักตกแต่งแถบคอเสื้อ นุ่งซิ่นป้องและซิ่นม่าน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของผ้าซิ่นเมืองน่าน

“เราไม่ได้วาดครบทุกท้องถิ่น ที่ทำคนอาจมองว่าวาดแฟชั่นแนวไทย แต่จุดเริ่มต้นของเราไม่ได้จงใจให้เป็นแบบนั้น เราเพียงรู้จักคนที่สะสมผ้าและเห็นผ้าของจริง จึงประทับใจ และอยากถ่ายทอดด้วยฝีมือวาดรูปของเรา เริ่มจากผ้าภาคกลาง ไปผ้าภาคเหนือ มีเพื่อนที่สะสมผ้าซิ่น ถัดมาก็วาดชุดทางใต้ วนเวียนในประเทศ

“การวาดรูปคนใส่ชุดในภูมิภาคไทยเพราะใกล้ตัวและเราสามารถไปเห็นของจริง หรือเห็นการใช้งานจริงได้อยู่ ถ้าเราอยากเข้าใจอะไรจริงๆ การหาข้อมูลในเน็ตกับการเห็นของจริงมันต่างกัน เราได้แค่ความรู้ แต่ไม่ได้อินเนอร์ของสิ่งนั้นจริงๆ อารมณ์เหมือนไปดูคอนเสิร์ต เพราะบางทีเจอของจริง เราอาจเห็นแง่มุมบางอย่างที่คนอื่นไม่เคยเห็น มันจะทำให้งานของเราแตกต่าง”

เราถามถึงตัวอย่างที่มา ‘อินเนอร์’ ของเต็นท์ “อย่างรูปเสนากุฎ ผู้ชายถือดาบแต่งตัวแบบนักรบ เราอาจจะเคยเห็นรูปแบบนี้ในเว็บคนที่สนใจอาวุธไทย หรือเห็นของจริงในพิพิธภัณฑ์ ชุดนี้เราศึกษาเรื่องชุกนักรบไทย เสื้อเป็นลายหน้าสิงห์ สิงโตดุๆ อ้าปาก เสื้อผ้าโบราณของจริงมีรายละเอียดเยอะมาก ชุดนี้ผมเห็นของจริงในพิพิธภัณฑ์ พื้นที่เสื้อทำให้เราเห็นรายละเอียดเยอะ เป็นเสื้อที่มีลายเขียนมือสวยงามมาก พอเห็นแล้วคันมือเลย อยากใส่ซูเปอร์ดีเทลแบบนี้ในงานของเรา

“งานของผมคือแฟนตาซีที่ยึดโยงกับความเป็นจริง เราไม่ได้วาดเพื่อบันทึกประวัติศาสตร์ เราวาดเพราะชอบ และอยากถ่ายทอดผลงานในแบบของเรา”

เขาชี้ให้เห็นรายละเอียดของลายผ้าไทยที่เขาซูมอินออกมาให้เห็นกันชัดๆ ผ่านการวาดที่ขับเน้นเครื่องแต่งกายของเขา “สีเสื้อจริงกับชุดในจิตรกรรมไทยโบราณต่างกัน เพราะอย่างหลังต้องคุมโทนให้เข้ากับสีทั้งภาพ ถูกกำกับด้วยเงื่อนไข แต่ชุดจริงไม่ต้องคุมโทน และพื้นที่ของเสื้อไซซ์คนจริงก็จะมีรายละเอียดเยอะ เราวาดในสไตล์เราที่ไม่เน้นพื้นหลัง เลยยิ่งใส่ดีเทลเสื้อผ้าได้มากขึ้น เราได้ดีไซน์อาวุธเองด้วย เพราะเห็นอาวุธจริงมา ทำให้เกิดความไม่จำเจ เป็นวิธีหาความคิดออริจินัลอีกแบบจากโลกออฟไลน์มาทำงานศิลปะดิจิทัล ซึ่งต้องทุ่มเทเวลาเดินทางไปศึกษาของจริง แต่คุ้มค่า ถ้าเราแค่นั่งทำงานเสิร์ชเน็ต ไอเดียอาจจะตัน งานของจริงมีความหลากหลายอยู่แล้ว เราเห็นสไตล์แตกต่างในวัตถุแบบเดียวกัน

การวาดรูปคนใส่ชุดพื้นเมืองไทยมาจากแนวคิดนี้เอง “แต่ก่อนเราวาดมือ และในจิตรกรรมไทย ภาพคุ้นตาคือภาพพุทธประวัติ มีภาพทิวทัศน์ งานไทยมีดีเทลเยอะ ใช้เวลานาน เราสนใจงานผ้าที่มีดีเทลเยอะ การวาดพื้นหลังจะมารบกวนความสนใจของลายผ้าที่เราอยากนำเสนอ ก็เลยวาดคนและชุดเท่านั้น ไม่มีพื้นหลังรบกวน และวาดแบบนี้มาเรื่อยๆ เราไม่ได้วาดเป็นซีรีส์ หนึ่งรูปคืองานจบในตัว ไม่ได้ต้องวาดรูปคนเหนือ 10 รูปเป็น 1 ซีรีส์ ระหว่างทางเราเกิดไอเดียใหม่ก็ทำงานใหม่ได้เลย”

ถามว่าแต่ละรูปใช้เวลานานเท่าไรจึงแล้วเสร็จ ศิลปินตอบว่า “ต่อให้วาดรูปไม่มีพื้นหลังก็ใช้เวลานาน วาดดิจิทัลสะดวกในการแก้ไข วาดได้ไวกว่าวาดมือ วาดมือตัวคนเดี่ยวๆไม่มีพื้นหลัง 1 รูปใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เพราะผมทำงานอื่นไปด้วย ฉะนั้นรูปที่เห็นในไอจีใช้เวลานานมาก สะสมมาเรื่อยๆหลายปี ทำงานได้มากขึ้นตอนหันมาทำงานดิจิทัล” เราตาลุกไปกับการอุทิศเวลาและความอุตสาหะทำสิ่งที่รัก โดยมีแรงขับมาจากแพสชั่นล้วนๆของเขา

KING’S CROWN
KING’S CROWN
DIGITAL PAINTING
ภาพพอร์เทรตแสดงเครื่องทรงพระมหากษัตริย์สวมพระมหาพิชัยมงกุฎ ชุดครุยทองคำ

“ส่วนรูปในกรอบจะเห็นว่าเป็นรูปผู้ชายเสียเยอะ ชุดที่ละเอียดจะไปหนักทางผู้หญิง ชุดผู้ชายจะมีความเป็นทางการ ดูภูมิฐานกว่า เราจึงตั้งคำถามว่า แล้วชุดที่วิจิตรมากๆ ของผู้ชายจะเป็นชุดแบบไหน และในตอนนั้นผมหัดทำแพทเทิร์นลายผ้า เลยนำมาใช้ในงานวาดด้วย ชุดผู้ชายจะมีเครื่องประดับศีรษะ ถ้าเราอยากนำเสนอสิ่งนี้ก็ต้องวาดรูปพอร์เทรต รูปครึ่งตัว ถ้าวาดเต็มตัวก็จะไม่ได้โฟกัสดีเทลเครื่องหัว ซึ่งมีหลายแบบ มีเครื่องทรงกษัตริย์หรือขุนนาง ซึ่งส่วนมากจะใส่กับชุดงานพิธี ถ้าวาดทื่อๆ ไม่มีพื้นหลังก็ดูไม่น่าสนใจ เราเลยนำความรู้จากงานพอร์เทรตศิลปะตะวันตกเข้ามาประยุกต์ เลยออกมาเป็นรูปจิตรกรรมไทยครึ่งตัวที่มีกรอบภาพแบบศิลปะตะวันตก ทำให้งานของเราจะดูน่าสนใจขึ้น” ศิษย์เก่าสาขาศิลปะตะวันตกกล่าว

CORONET
CORONET
DIGITAL PAINTING
ภาพนี้ได้แรงบันดาลใจจากภาพถ่ายเก่าราวสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เป็นภาพพระบรมวงศานุวงศ์แต่งกายในพระราชพิธีโสกันต์
SIMESE GUY WEARS A BLUE HAT DECORATED WITH DIAMONDS
SIMESE GUY WEARS A BLUE HAT DECORATED WITH DIAMONDS
DIGITAL PAINTING
ภาพนี้มีต้นแบบจากภาพถ่ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระมาลาเพชรประดับขนนก
“เรามีหลักการที่ไม่ได้เป็นหลักลอย ไม่ใช่แค่อยากวาดอะไรไทยๆก็แค่วาดรูปคนใส่ชุดไทยใส่มงกุฎ ถ้าเราทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ วันหนึ่งเราจะตัน”

นานหลายปีที่เต็นท์เพียรวาดเครื่องแต่งกายพื้นเมืองของไทย จำนวนผลงานพอกพูนไปตามเวลา หากสิ่งที่ได้มาไม่ได้มีแค่ชิ้นงาน “เราได้รู้จักท้องถิ่นต่างๆเพิ่มขึ้นเยอะมาก” เต็นท์กล่าว “ได้รู้ประวัติความเป็นมาจากการรีเสิร์ชประวัติศาสตร์ บางอย่างเราอาจไม่เคยสนใจ แต่เมื่อมันเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราสนใจ เราก็ต้องไปทำความรู้จักกับมันก่อน เช่น กษัตริย์ใส่มงกุฎ เราเคยเห็นมาก่อน แต่ไม่เคยโฟกัสรายละเอียด และจะเอามาใช้อย่างไร ก็ต้องศึกษาว่ามงกุฎแบบนี้ใส่กับเสื้อผ้าแบบไหน ใส่ในโอกาสใด เพื่อให้เราวาดอออกมาแล้วไม่ประดักประเดิด

“เราไม่ได้จับทุกอย่างมายำมั่ว ถึงเราจะทำงานแฟนตาซี แต่เราแตกต่างตรงที่อ้างอิงจากความจริง ทุกอย่างมีที่มาที่ไปที่อธิบายได้ เรามีหลักการที่ไม่ได้เป็นหลักลอย ไม่ใช่แค่อยากวาดอะไรไทยๆก็แค่วาดรูปคนใส่ชุดไทยใส่มงกุฎ ถ้าเราทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ วันหนึ่งเราจะตัน เพราะเรารู้อยู่แค่นี้

NYONYA LADIES
NYONYA LADIES
21 X 29.7 CM
MARKER, OPAQUE AND GOLDEN INK ON PAPER
NYONYA LADY
NYONYA LADY
21 X 29.7 CM
MARKER, OPAQUE AND GOLDEN INK ON PAPER
NYONYA GIRL AND BLUE TIFFIN
NYONYA GIRL AND BLUE TIFFIN
21 X 29.7 CM
MARKER, OPAQUE AND GOLDEN INK ON PAPER

ภาพหญิงสาวชาวเปอรานากัน หรือ บ้าบ๋า ย่าหยา กลุ่มวัฒนธรรมลูกผสมบริเวณคาบสมุทรมลายู แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ผสมผสานอิทธิพลมลายู จีน และฝรั่ง จนเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เสื้อที่สวมใส่มีทั้งเสื้อครุยยาวทับเสื้อคอตั้งด้านใน และเสื้อเคบาย่าที่มีการปักประดับ หรือตกแต่งด้วยลูกไม้ นุ่งผ้าบาติกที่มีสีสันสวยงาม

“แรกๆรู้จักแค่ภาคเหนือกับภาคกลาง แต่ตอนนี้ได้เปิดโลกว่ากรุงเทพฯ ไม่ใช่เมืองไทย”

เขาเล่าถึงความประทับใจที่ได้ทำความรู้จักกับวัฒนธรรมเก่า แต่ถือว่าใหม่ในจักรวาลของเขา “อย่างชุดภาคใต้แบบชาวเปอรานากัน เราไม่มีความรู้มาก่อนเลย แต่พอศึกษาเราจึงได้รู้ว่าแม้วัฒนธรรมเดียวกัน แต่เมื่ออยู่ต่างท้องถิ่นก็มีดีเทลที่แตกต่างกัน เพราะผู้คนปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของถิ่นที่อยู่ เสื้อผ้าจึงปรับเปลี่ยนตามไปด้วย ชุดเปอรานากันจึงวาดได้หลายแบบ

“การวาดชุดท้องถิ่นถือว่าเป็นศิลปะเปิดโลกให้เรา เหมือนช่วยเปลี่ยนคนแปลกหน้าให้เป็นคนรู้จัก ผมเองเป็นคนกรุงเทพฯ แรกๆ รู้จักแค่ภาคเหนือกับภาคกลาง แต่ตอนนี้เปิดโลกว่ากรุงเทพฯไม่ใช่เมืองไทย ครั้งหนึ่งได้ไปงานผ้าที่ปัตตานี มีคนมาเลเซีย คนมลายูแต่งตัวย้อนยุคมาร่วมงาน เรามองว่าชุดสวยงามมาก ดูหลากหลาย เหมือนหลุดไปบรรยากาศ ไม่มีใครใส่ผ้าซิ่นนุ่งสไบ แต่เป็นชุดภาคใต้ของไทย ทำให้เราประทับใจกับมุมมองที่เราไม่เคยสัมผัสมาก่อน หลังจากนั้นก็เลยหันไปทำความรู้จักวัฒนธรรมมลายูมากขึ้น มันไม่ใช่ของใหม่ แต่มันใหม่สำหรับเรา

ไม่มีทีท่าว่าจะรามือไปจากการวาดศิลปะไทย เต็นท์กล่าวอย่างคนไฟแรงว่า “การวาดเครื่องแต่งกายพื้นเมืองทำให้เราได้เห็นของดีในประเทศไทยมากขึ้น มีอะไรซุกซ่อนอีกมากมายในพื้นที่ต่างๆ และการทำงานศิลปะไทยในรูปแบบดิจิทัลก็ดีต่อการเก็บรักษาและส่งต่อให้คนรุ่นต่อไปด้วย”

ชมผลงานของเต็นท์ได้ที่ IG: NATTHAPHORN

Words: Suphakdipa Poolsap

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม