Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview / People

ตีระนาดยังไงให้โลกจำ! ฉีกทุกภาพจำดนตรีไทยสไตล์ ‘Fino the Ranad’

Interview / People

ติดตามเส้นทางที่ไม่ได้ราบเรียบ แต่ขึ้นๆลงๆเหมือนลูกระนาดของ ‘ฟีโน่ – ปาเจร พัฒนศิริ’ ยูทูเบอร์เจ้าของแชนแนล Fino the Ranad ที่ตีระนาดเป็นไฟทั้งเพลงไทยเดิม เพลงสากล เพลงพระราชนิพนธ์ เพลงฮิตในกระแส เพลงละคร ฯ 

ยอมรับว่าสะดุดตากับคาแรกเตอร์ที่สะท้อนผ่านเสื้อผ้าหน้าผมของ ฟีโน่ หนุ่มนักระนาดเอกผู้นี้ตั้งแต่แรกเห็น (คลิป) ยิ่งเห็นลีลาท่าทางการตีระนาดของเขา ก็รู้ว่าฝีมือไม่เบา แต่ที่ขอซูฮกยกนิ้วให้เลยคือความขยัน เพราะเจ้าตัวประกาศชัดกับลูกเพจและเหล่าผู้ติดตามทางโซเชียลว่า ‘ลงคลิปทุกสัปดาห์’ แถมเลือกเพลงหลากหลายสไตล์มาตีระนาดให้ฟังให้ชมกันจุกๆ ไปเลย

แม้การติดตามผลงานช่อง Fino The Ranad อาจทำให้เข้าถึงระนาดได้มากขึ้นก็จริง แต่ถ้าอยากรู้จักตัวตน มุมมอง และความคิดของเขามากกว่านี้ เราว่าต้องคุยกับเจ้าตัวเป็นดีที่สุด

“มีประโยคหนึ่งของโหมโรงที่ว่า ‘เมื่อเอ็งเข้าใจในดนตรี เอ็งจะได้ไปในที่ที่ไม่เคยไป ได้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็น แล้วได้รู้สึกถึงสิ่งที่เป็นทิพย์’”

โหมโรงฟีเวอร์

LIPS: มาสนใจและคลุกคลีกับดนตรีได้อย่างไร

ฟีโน่: ตอนเด็กมากๆ แม่เคยให้ครูมาสอนอิเล็กโทนให้ที่บ้าน แต่รู้สึกไม่อิน พอที่โรงเรียนสอนขลุ่ยซึ่งเป็นเครื่องดนตรีไทยอันแรกที่เรียน ได้ลองเป่าแล้วรู้สึกเข้ามือ เป็นเร็วกว่า ทำให้รู้สึกชอบดนตรีไทยมากกว่า ความที่เป็นเด็กซน ตอนอยู่ในห้องดนตรีไทย มีเครื่องอะไรก็ไปลองเคาะ ลองตีเล่น เลยเล่นได้หลายอย่าง เพราะดนตรีไทยจะมีพื้นฐานการเล่นที่คล้ายกันเยอะ เช่น ปี่พาทย์ต้องเริ่มหัดจากฆ้องวงใหญ่ ซึ่งวิธีการเล่นจะแปรไปทางระนาดทุ้ม แล้วค่อยไประนาดเอก เหมือนเราค่อยๆ ต่อยอดไปเรื่อยๆ พอรู้สึกอินก็พยายามศึกษาเอง อย่างขิมก็ครูพักลักจำเอา ดูว่าเขาเล่นกันยังไง แล้วมาลองตีเอง

LIPS: เห็นว่าภาพยนตร์เรื่องโหมโรงเมื่อปี 2547 เป็นแรงบันดาลใจให้หันมาเล่นระนาด ฉากไหนที่ทำให้เกิดความรู้สึกนั้น

ฟีโน่: มีสองฉาก ฉากแรกเป็นตอนที่นายศร พระเอกของเรื่องไปเจอขุนอิน แล้วไม่กล้าตีระนาดแข่งด้วย แต่เพื่อนบอกศรว่า ‘ทางใครก็ทางมัน’ ผมคลิกกับคำพูดนี้และยึดถือเป็นคติประจำใจที่ใช้มาตลอดจนทุกวันนี้ คือแทนที่เราจะไปเล่นดนตรีแข่งกับคนอื่น เราคิดนอกกรอบได้ เมื่อก่อนเราอาจต้องสอบด้วยข้อสอบชุดเดียวกัน มีมาตรฐานเกณฑ์วัดเดียวกัน แต่ดนตรีไทยไม่ต้องแข่งในทางเดียวกันก็ได้ คนอื่นอาจเก่งตีไหว แต่ผมตีแบบคอนเทมโพรารี นี่เป็นแนวคิดที่ผมใช้ต่อยอดมาถึงปัจจุบัน

LIPS: แล้วฉากที่สองล่ะ

ฟีโน่: อีกฉากของโหมโรงที่ทำให้ผมตัดสินใจเล่นระนาด คือ ฉากดวลระนาดในตำนานของศรกับขุนอิน ประชันเดี่ยวเพลงเชิดต่อตัว (ท่อนของดนตรีไทยจะเรียกว่าตัว) เป็นเหมือนการแบตเทิลกันทางดนตรี ซึ่งเป็นมุมที่เราไม่รู้มาก่อนว่าระนาดมีมุมนี้ด้วย ในความคิดผมตอนนั้น ดนตรีไทยคือความเนิบช้า ตอนเล่นต้องนั่งพับเพียบเรียบร้อย แต่ที่เห็นในหนังเป็นการตีระนาดด้วยความเร็วเพื่อประชันกัน เลยอยากลองเล่นระนาดดู 

LIPS: บรรยากาศวงการระนาดในช่วงโหมโรงฟีเวอร์เป็นอย่างไรบ้าง

ฟีโน่: สมัยที่เป็นกระแส คนก็เห่อเรียนระนาดกัน เหมือนตอนคู่กรรมดัง คนก็แห่ไปเรียนขิมกัน แต่จะเป็นการเรียนระยะสั้นๆ แล้วก็หยุดก็เลิกไป เหลือแต่คนที่สนใจจริงๆ เทียบกับปัจจุบันที่ไม่ได้มีกระแสโหมโรงเหมือนตอนนั้น แน่นอนว่าคนเล่นระนาดก็อาจจะน้อยกว่าด้วยถ้าเทียบกัน แต่กลับกลายเป็นว่ายุคนี้กลุ่มคนฟังระนาดขยายกว้างขึ้น มีคนฟังมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะการฟังเป็นการเสพสื่อที่ง่ายกว่า มีช่องทางให้เลือกฟังได้ง่ายและมากขึ้น คนฟังเลยมากกว่าคนเล่น อีกส่วนน่าจะมาจากการจะเล่นระนาดได้ต้องใช้เวลาในการฝึกฝน หลายคนเลยอาจท้อถอดใจไปก่อน

“เราทำให้เห็นว่าดนตรีไทยทันสมัยได้นะ เล่นกับเพลงสากลก็ได้ หรือเพลงสากลเอามาเล่นเป็นเพลงไทยก็ได้ มันมีความหลากหลาย”

สำนักระนาด

LIPS: ใช้วิธีไหนในการหาความรู้เกี่ยวกับระนาด

ฟีโน่: กว่าจะได้วิชาความรู้ด้านระนาดในยุคนั้นเป็นเรื่องยากมาก แต่ด้วยกระแสหนังโหมโรง เลยมีการรวมกลุ่มกันของเหล่า FC หนังเรื่องนี้ แล้วมาตั้งเว็บบอร์ด MSN เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ ตั้งกระทู้ถกกัน มีอะไรสงสัยก็ถามไถ่กัน บางทีก็แจกโน้ตเพลงกัน ยังดีที่มีกูเกิลให้เสิร์ชหาสิ่งที่อยากรู้ได้ แต่ยังไม่มียูทูบ ช่วงนั้นอีเวนต์ต่างๆ จะมีการโชว์ระนาดเยอะ ไม่ว่าขุนอินหรือสแตนด์อินที่เล่นเป็นศรในหนังไปแสดงระนาดที่ไหน ผมจะตามไปดู เพื่อสังเกตเทคนิคการเล่นของเขา

LIPS: ถ้าอย่างนั้นแล้วศาสตร์ความรู้ด้านระนาดหรือดนตรีไทยของครูบาอาจารย์รุ่นก่อนๆ ถ่ายทอดกันอย่างไร

ฟีโน่: ความรู้ด้านดนตรีไทยจะอยู่ในสำนัก และสอนให้เฉพาะศิษย์ในสำนักเท่านั้น ใครอยากเป็นลูกศิษย์สำนักไหน ต้องเข้าไปฝากเนื้อฝากตัว ไปกินนอนอยู่บ้านครู คอยช่วยงานครู แล้วครูถึงจะถ่ายทอดวิชาให้ สำนักระนาดที่มีชื่อเสียง เช่น มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ บ้านบางลำพูของมูลนิธิดุริยประณีต และสำนักพาทยโกศล ซึ่งแต่ละสำนัก มีวิชาแตกต่างกัน สิ่งเหล่านี้เสิร์ชหาในกูเกิลไม่ได้ ผมมองว่าการมีสำนักเป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของดนตรีไทย จุดแข็งคือเป็นเสน่ห์ที่คลาสสิกในการเรียนดนตรีไทย แต่ก็เป็นความยากลำบากที่ทำให้เข้าถึงยาก อาจทำให้วิชาระนาดที่รุ่นครูสั่งสมกันมาหล่นหายไปเพราะขาดผู้สืบทอด

LIPS: ทราบมาว่าฟีโน่เป็นศิษย์สำนักดุริยประณีต เล่าให้ฟังหน่อยว่าได้วิชาระนาดมาอย่างไรบ้าง

ฟีโน่: ตอนเรียนปริญญาตรีที่วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ผมตั้งชมรมดนตรีไทยและเชิญครูชาติชาย ศรีสมุทรมาช่วยสอน ปกติท่านสอนที่บ้านบางลำพูอยู่แล้ว ผมเลยได้ตามครูเข้าสำนักดุริยประณีต (เปลี่ยนชื่อเป็นมูลนิธิดุริยประณีตในภายหลัง) ที่นั่นปรับพื้นฐานการตีระนาดที่ถูกต้องให้ผม รู้สึกเหมือนเริ่มเรียนระนาดใหม่ อาจจะยาก เพราะเราชินกับสิ่งที่เคยทำมาตลอด แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่ครูสอนจะทำให้เราเล่นได้ดีขึ้น เลยตั้งใจและพยายามปรับให้ได้

ว่ากันตั้งแต่ท่านั่งเลย ครูแต่ละคนมีวิธีการนั่งคนละรูปแบบกัน นั่งท่าไหนแล้วหลังจะตรงขึ้น ตีได้นานขึ้น หรือการจับไม้ระนาดแบบไหนถึงจะได้เสียงแข็งทุ้มกว่า แบบไหนได้เสียงนุ่มกว่า โดยครูจะให้เราตีระนาดที่เรียกว่า ‘ตีฉาก’ คือ การยกไม้สูงๆ แล้วตีลงไปที่ผืนระนาด เพื่อดูว่าเราใช้น้ำหนักในการตียังไง บางจุดผมอาจใช้น้ำหนักผิด บางจุดต้องใช้ข้อมือกับแขนผสมกัน ต้องค่อยๆ ปรับไป นอกจากนี้ แต่ละสำนักจะมี ‘ทางเพลง’ ของตัวเอง หมายความว่า เพลงเดียวกันแต่ละสำนักก็จะเล่นไม่เหมือนกัน มีการเรียบเรียงเมโลดีที่ต่างกัน

“ผมรีแบรนด์ตัวเอง สั่งทำระนาดแก้ว นำเพลงไทยเดิมมาเล่น ทำให้ผมไม่ต้องทำรีเสิร์ชเพลงดังอย่างแต่ก่อน เราค้นพบทางของตัวเองแล้ว”

กำเนิด Fino the Ranad

LIPS: ตอนอยู่ชมรมดนตรีไทยที่มหิดลอินเตอร์ ทำไมถึงนึกนำระนาดไปใส่ไว้ในละครเวที

ฟีโน่: อยากทำให้ดนตรีไทยเข้าถึงง่าย แต่ถ้าแสดงดนตรีล้วนๆ บางบทเพลง บางวิธีการเล่น คนไทยเข้าใจแต่ต่างชาติไม่เข้าใจ คนฟังก็ได้ยินแต่เสียงเคาะระนาด เลยพยายามหาวิธีให้คนเข้าถึงดนตรีไทยได้มากขึ้น และละครเวทีก็เป็นมิวสิคัลที่ใช้ดนตรีเป็นส่วนสำคัญในการสร้างอารมณ์ เลยอยากทำละครเวทีที่เอาดนตรีสากลมาผสมด้วย 

และจากที่ดนตรีเคยเป็นแค่ส่วนประกอบ ก็กลายมาเป็นตัวหลัก พระนางเป็นคนดนตรี แม้จะเป็นละครเวทีระดับมหาวิทยาลัย แต่ฟีดเบ็กดีมากๆ เพราะคนยังไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้ เหมือนได้ดูมินิคอนเสิร์ตที่มีสตอรี เราทำให้เห็นว่าดนตรีไทยทันสมัยได้นะ เล่นกับเพลงสากลก็ได้ หรือเพลงสากลเอามาเล่นเป็นเพลงไทยก็ได้นะ มันมีความหลากหลาย ฟีดแบ็กดีเลย จากตอนแรกจะทดลองทำแค่ปีเดียว สุดท้ายทำมา 4 ปี

ดาวหางฮัลเลย์ (ระนาดเอก cover) – Fino the Ranad

LIPS: จากละครเวทีกลายมาเป็นช่อง Fino the Ranad ทางยูทูบได้อย่างไร

ฟีโน่: ปี 2554 ผมเล่นเพลง Canon Rock ใช้ในละครเวที แล้วเพื่อนๆ ก็เชียร์ให้เอาไปลงในยูทูบเพื่อเก็บไว้ดูกันเอง แต่ดันกลายเป็นไวรัลขึ้นมา เดิมทีใช้ชื่อช่องว่า Fino The Xylophone ก็เป็นที่รู้จักในระดับหนึ่งจากคลิปนั้น แต่ความที่ตั้งใจให้ยูทูบเป็นที่ลงผลงานเราเท่านั้น เลยมีคลิปลงแค่ปีละ 2-3 คลิป (หัวเราะ) เพิ่งได้กลับมาทำจริงจังครั้งแรกช่วงโควิดตอนปี 2563 เพราะมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น และคนก็เข้าอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เลยคิดว่าเป็นเวลาที่เราควรลองอีกสักตั้งกับยูทูบ ทีนี้เลยลงคลิปทุกสัปดาห์ อย่างต่ำสัปดาห์ละเพลง เริ่มด้วยคลิปเพลง Super วาเลนไทน์ ทำได้ประมาณ 8 เดือน สุดท้ายพ่ายแพ้ให้กับความเบิร์นเอาต์ของตัวเอง (หัวเราะ)

ช่วงนั้นผมมีกฎเดียวเลยคือทำเพลงกระแส แล้วแต่ละเดือนมีเพลงดังแค่ไม่กี่เพลง มันไม่ได้ดังทุกสัปดาห์ แล้วผมก็ดันทำให้ยากกว่านั้นอีก คือดังแล้วต้องเป็นเพลงใหม่ด้วย พอลิสต์เพลงดังไม่ทันกับกำหนดทำคลิป ก็เลยต้องเดาเอาว่าเพลงไหนจะดัง ซึ่งยากมาก สุดท้ายพอทำแล้วคนดูไม่ได้เยอะ ทำแล้วกดดันตัวเอง สุดท้ายเลยเบิร์นเอาต์ เรื่องนี้ให้แง่คิดได้เหมือนกัน

LIPS: ช่วงที่เบิร์นเอาต์ ทำอย่างไรในการเรียกพลังกลับมา

ฟีโน่: ผมหยุดไป 3 เดือน เป็นการเรียกพลังด้วยการไม่ทำอะไรเลย (หัวเราะ) แล้วก็กลับมาฮึดอีกครั้ง เป็นการรีแบรนด์เลยก็ว่าได้ ผมสั่งทำระนาดแก้ว นำเพลงไทยเดิมมาเล่น ทำให้ผมไม่ต้องทำรีเสิร์ชเพลงดังตลอดเวลาอย่างแต่ก่อน เหมือนค้นพบทางของตัวเองแล้วว่า จะทำช่องยูทูบยังไงให้ทำได้ยาว เพราะถ้าทำแบบเดิม แค่ 8 เดือนยังแทบจะไม่ไหว สุดท้ายต้องหาว่าวิธีไหนที่เราจะโอเค หลังจากนั้นก็ได้เปิดช่องทางเพิ่มเติมคือ TikTok

LIPS: รอบนี้ใช้กลยุทธ์อะไรในช่องของเรา

ฟีโน่: ปี 2564 เราจะไม่ทำยูทูบเพื่อยอดวิวเหมือนตอนทำเพลงในกระแสอีกแล้ว เพราะไม่ว่าจะยอดคนดูหรือยอดผู้ติดตาม ตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ แต่ผมจะกลับไปที่เจตนาที่เคยตั้งไว้ นั่นคือการขยายฐานคนฟัง อยากให้มีคนฟัง คนดูเพิ่มขึ้น จากที่เคยทำกับเพลงป๊อปตลอด ก็มีสลับนำเพลงไทยเดิมมาเล่นกับเปียโนบ้าง ให้ผ่อนคลายขึ้น

พอเรากดดันตัวเองน้อยลง ก็ทำได้นานขึ้น อาจจะมีโปรเจกต์ใหญ่บ้าง 2-3 เดือนครั้ง แต่ถ้าโปรเจกต์พิเศษก็ปีละครั้ง อย่างปีก่อนเป็นโปรเจกต์ ‘Meta ดนตรีไทย’ Metaverse เฟสแรกทำเป็น MV ให้ดูว่า ถ้าเราสร้างโลก Metaverse จะช่วยดนตรีไทยได้ยังไงบ้าง อย่างเช่น คนที่อยากเล่นดนตรีไทย แทนที่จะต้องมาเจอกัน ก็สามารถวิดีโอคอลมารวมกันเป็นเพลงได้ ส่วนปีนี้ถ้าได้อนุมัติทุนมาก็จะทำ Metaverse เฟสสอง คิดว่าทำโปรเจกต์ใหญ่ปีละครั้งน่าจะกำลังสนุก

“แม้ผมจะเจอดรามากล่าวหาว่าผมทำลายดนตรีไทย แต่เพราะวิธีการเล่นระนาดของผมทำให้คนสนใจดนตรีไทยมากขึ้น มีคนฟังเพิ่มขึ้น และมีคนอยากเรียนดนตรีไทยมากขึ้นตามมาด้วย”

เผชิญหน้ากับดรามา

LIPS: ความเป็นฟีโน่ที่เด่นชัดและการทำในสิ่งที่แตกต่างจากที่เคยเป็นมา น่าจะต้องเจอดรามามาไม่น้อย

ฟีโน่: เจอตั้งแต่คลิปแรกที่ลงในยูทูบเลย ที่ผมเล่นระนาดเพลง Canon Rock เจอกระแสว่าเอาดนตรีไทยมาเล่นแบบนี้ไม่ได้นะ เพราะสังคมยังไม่เคยเห็นดนตรีไทยที่เล่นกับดนตรีสากล ต่อมาผมเปลี่ยนมายืนตีระนาด มีโยกหัวเพราะเราเพลิดเพลินไปกับอารมณ์ของเพลง ก็เจอต่อว่าทำนองว่าผมยืนค้ำเครื่องดนตรี เป็นการไม่เคารพดนตรีไทย ซึ่งไม่เกี่ยวกันเลย เราเป็นศิษย์มีครู เราเคารพทั้งครูและเครื่องดนตรีอยู่แล้ว แต่นี่เป็นอีกรูปแบบของการนำเสนอ ช่วงที่ผมนำเพลงสมัยใหม่มาคัฟเวอร์ ก็โดนอีกว่าเป็นการทำลายความเป็นดนตรีไทย ทั้งที่ผมตั้งใจอยากให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของดนตรีไทยต่างหาก

LIPS: อะไรที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวกำลังใจและความตั้งใจของเราไว้ ไม่ให้สั่นไหวไปกับกระแสดรามา

ฟีโน่: ผมมั่นใจในจุดประสงค์ของตัวเองที่อยากขยายฐานคนฟังดนตรีไทยให้กว้างขึ้น อยากให้ระนาดเข้าไปอยู่ในเพลงทั่วไป อยู่ในชีวิตประจำวัน อย่างช่วงที่ทำโปรเจกต์เพลงคัฟเวอร์ เจาะจงว่าต้องเป็นเพลงฮิตเพลงดังในกระแสเพื่อให้คนเห็นว่าดนตรีไทยก็มาทำเพลงแบบนี้ได้นะ 

สุดท้ายเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ เมื่อกลางปีที่แล้ว (ปี 2566) Fino the Ranad ครบรอบ 12 ปี แม้ผมจะเจอดรามาตั้งแต่คลิปแรกที่ลง แต่ผ่านมาถึงวันนี้ก็ยังมีคนฟังอยู่ แสดงว่าดรามาที่เจอก็ไม่ได้ร้ายแรง หรือคอมเมนต์แรงๆ ที่กล่าวหาว่าผมทำลายดนตรีไทย ผ่านมาถึงปัจจุบัน ดนตรีไทยก็ยังอยู่ แปลว่าสิ่งที่ผมทำก็ไม่ได้ทำลายดนตรีไทย ตรงกันข้ามผมมองว่าเป็นการต่อยอดดนตรีไทยด้วยซ้ำ เพราะวิธีการเล่นระนาดของผมทำให้คนสนใจดนตรีไทยมากขึ้น มีคนฟังเพิ่มขึ้น และก็มีคนอยากเรียนดนตรีไทยมากขึ้นตามมาด้วย 

ผมพูดได้เพราะผมเปิดโรงเรียนสอนระนาดเอกร่วมสมัย The Ranad Studio คนที่มาเรียนก็มักบอกกับผมว่า อยากเล่นระนาดได้แบบผมบ้าง ส่วนตัวผมจะไม่ค่อยคอมเมนต์กลับ โดยเฉพาะคนที่คอมเมนต์แบบตั้งธงมาแล้ว ผมเชื่อว่าการให้ผลงานและกาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์น่าจะเป็นการตอบที่ดีที่สุด แต่สมมติสิ่งที่ผมทำมันไม่ดีหรือล้มเหลว ไม่เป็นอย่างที่ตั้งใจ ผมก็ยังมีคลิปหน้าให้ทำใหม่

“คนต่างชาติเวลาพูดถึงจีน คนก็รู้จักกู่เจิ้ง พอพูดถึงญี่ปุ่นก็รู้จักพิณโกโตะ​​ แต่พอพูดถึงไทย คนยังงงว่าระนาดคืออะไร”

โลกระนาด

LIPS: หนึ่งในความตั้งใจของฟีโน่คือการต่อยอดดนตรีไทยให้ไปไกลกว่าเดิม ขยายความคิดนี้ให้ฟังหน่อย

ฟีโน่: ในรุ่นผมการหาความรู้ด้านดนตรีไทยค่อนข้างยาก ผมอยากให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เลยสร้างโซนหนึ่งใน Metaverse ขึ้นมาให้เป็นคล้ายพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต คือจะมีทั้งรูปครูดนตรีในอดีต อินฟลูเอนเซอร์ในปัจจุบัน และในอนาคตจะต่อยอดเรื่องราวความรู้ต่างๆ ที่เราเคยพยายามค้นหาเมื่อตอนเด็ก ก็จะรวบรวมไว้ในนั้น ใครที่ต้องการหาความรู้ด้านดนตรีไทย นอกจากมาเล่นดนตรีด้วยกันได้แล้ว ยังเข้ามาหาความรู้ในนี้ได้ด้วย

LIPS: บรรยากาศเวลาไปแสดงที่ต่างประเทศหน่อยว่าเป็นอย่างไรบ้าง

ฟีโน่: เขาไม่รู้จักระนาดครับ (หัวเราะ) นี่เป็นเหตุผลที่ผมอยากทำระนาดให้เป็นอินเตอร์ เพราะถ้าพูดถึงจีน คนก็รู้จักกู่เจิ้งพูดถึงญี่ปุ่น ก็รู้จักพิณโกโตะ​​ (Koto) แต่พอพูดถึงไทย ระนาดคืออะไร แต่ก่อนผมยังต้องใช้คำว่า Thai Xylophone ในขณะที่จีนญี่ปุ่นเขาทับศัพท์ได้เลย ผมเลยอธิบายว่า ระนาดเป็น Thai Musical Instrument ทำจากอะไร เป็นยังไง แต่จะไม่บอกว่าเป็น Thai Xylophone เพราะ Xylophone ไม่ใช่ของไทย ระนาดก็คือระนาด แล้วสุดท้ายดนตรีเป็นภาษาสากล  ตอนแรกเขาอาจจะงงกับรูปลักษณ์ของระนาด แต่พอเราเล่นเพลงที่เขารู้จัก เสียงระนาดจะสะกดคนดูและคอนเน็กกันได้ 

LIPS: ความคิดนี้ด้วยหรือเปล่า ทำให้ใช้ระนาดแก้ว ยืนตี มีโยกหัว และเป็นตัวของตัวเองชัดเจน ทำให้ระนาดดูโมเดิร์นขึ้น 

ฟีโน่: ก็ด้วย และพอดีกับเป็นช่วงรีแบรนดิ้ง เลยอยากทำให้ดูโมเดิร์นในสไตล์ของผม แต่ไม่ได้หมายความว่าแบบเก่าไม่ดีนะ เพียงแต่อันนี้เป็นแนวทางของผม เป็นโมเดิร์นระนาด ระนาดแก้วทำโครงทุกอย่างจากระนาดไทยปกติ แค่มาทำเป็นแก้วเพียงแต่ลดรายละเอียดบางอย่างลง เช่น ลดทรงบ้างบางส่วน ยังคงความเป็นไทยแต่โมเดิร์นขึ้น 

แม้ระนาดใหม่นี้จะส่งผลกับเสียงระนาดบ้างแต่ก็เล็กน้อย เพราะรางไม้จะอุ้มเสียงมากกว่ารางแก้วที่เสียงจะกระจายออกเยอะกว่า เสียงจะดังกร้าวกว่า แต่คนฟังจะแยกไม่ออกขนาดนั้น ต้องเป็นนักดนตรีที่เล่นถึงจะรู้ ส่วนเรื่องเครื่องแต่งกายเป็นสไตล์ผมอยู่แล้ว ผมจะเลือกแต่งตามเพลง ถ้าเล่นเพลงไทยเดิมก็จะนุ่งโจงกระเบนแต่จะใส่กับอะไรก็แล้วแต่สไตล์เพลง

LIPS: นอกจากความสนุกรักชอบในการเล่นดนตรีไทยแล้ว ยังได้แรงบันดาลใจจากไหนอีกไหม

ฟีโน่: เชื่อไหมว่าผมถามคำถามนี้กับครูผม คือนักดนตรีคนอื่นเขามีแม่แบบ แต่ผมไม่มี คือผมมีครูที่เคารพ ชื่นชอบ แต่ไม่มีใครที่เป็นตัวอย่างความร่วมสมัยว่าต้องทำยังไง จุดนี้ก็เลยทำให้ผมทำในรูปแบบของตัวเองได้เต็มที่ ผมไม่มีกรอบว่าต้องเป็นยังไง เพราะมันเป็นทางของเราเอง 

ความที่ผมเรียนอินเตอร์ก็เป็นอีกส่วนสำคัญด้วย ปริญญาโทก็ไปเรียนที่อังกฤษ ผมเห็นวัฒนธรรมที่แตกต่างของต่างชาติว่า เขาเล่นดนตรียังไง นำเสนอแบบไหน ซึ่งผมนำมาเป็นไอเดียแต่ก็ให้เป็นสไตล์เรานะ ช่วยเปลี่ยนภาพลักษณ์ในช่องผมว่าระนาดเลยไม่ใช่เครื่องดนตรีไทยโบราณ มีการเซ็ตถ่ายในสตูดิโอ ด้วยกล้องความละเอียดสูง มีการจัดไฟ และควบคุมแสงแบบมืออาชีพ ซึ่งผมน่าจะเป็นคนแรกๆ ที่ทำแบบนี้

LIPS: ถือเป็นเป้าหมายในชีวิตเลยไหม

ฟีโน่: ได้นะ เพราะผมอยากทำด้านดนตรีจริงจัง ถึงตัดสินใจลาออกจากการเป็นอาจารย์ประจำ ให้เวลาตัวเองไว้ปีนึงว่าจะรอดไหม แต่ตอนนี้ก็เลยปีมาแล้ว คิดว่ามาถูกทางแล้วล่ะ ผมอยากเป็นนักดนตรีอาชีพ โรงเรียนที่เปิดสอนดนตรีก็จะทำจริงจังด้วยเพื่อต่อยอดแนวทางที่เรา ส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ เพราะเดี๋ยวเราก็เริ่มแก่แล้ว (ยิ้ม) ต้องย้ำว่าสิ่งที่ผมทำไม่ได้พยายามให้คนหันมาเล่นดนตรีหรือต้องมาตีระนาดกันเยอะๆ 

ผมอยากให้คนเปิดใจมาฟังดนตรีไทย นอกจากแสดงสดแล้ว ผมก็ใช้ช่องทางโซเชียล ทั้ง TikTok ยูทูบ เฟซบุ๊ก แล้วเติมความรู้ลงไป นอกเหนือจากความเอนเตอร์เทนเมนต์ ผมใส่โน้ตเพลงที่ในอดีตหายากมาก อย่างเพลงสาธุการ ซึ่งเป็นเพลงพื้นฐานของวงปี่พาทย์ ที่จะไม่ต่อเพลงให้กันง่ายๆ (ตามธรรมเนียมจะต้องผ่านพิธีไหว้ครูดนตรีไทยและจับมือฆ้องสาธุการก่อน ถึงจะได้รับการต่อเพลงนี้จากครู) หรือเพลงมู่ล่งที่เป็นเพลงใช้ไล่มือของนักระนาด

LIPS: คำถามสุดท้าย เกือบ 20 ปีที่อยู่กับระนาดมา อยากถามถึงความรู้สึกกับดนตรีไทยหน่อย

ฟีโน่: ใครๆ อาจมองว่าเสน่ห์ดนตรีไทยคือเสียงและรูปลักษณ์ของเครื่องดนตรี แต่สำหรับผมที่รักดนตรีไทยมาก เพราะทำให้ผมเข้าไปอีกโลกหนึ่ง ถ้าไม่ได้เล่นดนตรีไทย จะไม่มีวันได้พบกับครูที่หลากหลาย ได้เจอวิชาความรู้มากมาย เหมือนในหนังจีนที่มีจะฝึกวิทยายุทธ์ก็มีสำนักต่างๆ ทั้งบู๊ตึ๊ง เส้าหลิน ส่วนตัวผมมองว่าดนตรีไทยยังมีช่องว่างให้เราพัฒนาต่อยอดได้อีกเยอะมาก เป็นโอกาสให้ได้ใช้ความรู้ ความสามารถ จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ ผมจึงชอบดนตรีไทยมาก 

มีประโยคหนึ่งของโหมโรงที่ว่า ‘เมื่อเอ็งเข้าใจในดนตรี เอ็งจะได้ไปในที่ที่ไม่เคยไป ได้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็น แล้วได้รู้สึกถึงสิ่งที่เป็นทิพย์’ และระนาดก็เป็นโลกอีกใบของผมจริงๆ ผมยังมีความสุขกับโลกระนาด และมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพาโลกใบนี้มาซ้อนทับให้คนภายนอกได้เห็นด้วย ผมเชื่อว่าดนตรีไม่เคยมีจุดสิ้นสุด ถ้าเรารักและขวนขวายในศาสตร์นี้ ดนตรีก็จะพาเราไปทุกทีอย่างไร้พรมแดน

Words: Rattikarn Hana
Photos: Somkiat Kangsdalwirun

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม