Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

“ความผิดพลาดของผมใหญ่เกินไป” ชนวนเหตุที่นักโรลเลอร์สเกตเกาหลีใต้แพ้ไต้หวันแค่ 0.01 วินาทีในเอเชียนเกมส์ 

Beauty / Wellness & Aesthetic

2 ตุลาคม 2023 จองชอลวอน นักกีฬาโรลเลอร์สเก็ตทีมชาติเกาหลีใต้ ต้องจดจำว่าเป็นหนึ่งในวันร้ายของชีวิต หลังจากลงแข่งรายการโรลเลอร์สเก็ตชาย 3,000 เมตรและนำเหนือชาติไหน ทันทีที่เห็นเส้นชัยอยู่ตรงหน้า จองชูมือหรา ยิ้มร่า คนดูรอบสนามชูธงชาติเกาหลีใต้ดีใจ ก่อนที่ในอีกไม่กี่นาทีถัดมา จองและเพื่อนร่วมทีมจะขึ้นไปยืนรับเหรียญเงิน? 

เกิดอะไรขึ้นกับ จองชอลวอน ‘ว่าที่ผู้ชนะเหรียญทอง’ LIPS จะเล่าให้ฟัง

0.01 วินาทีอันมีค่า

ชเวอินโฮ, ชเวหวังโฮ และจองชอลวอน คล้องเหรียญเงินไว้ที่คอ สีหน้าสลดเสียดาย หลังจากทีมทำเวลาได้ 4 นาที 5.702 วินาที ส่วนทีมไต้หวันหน้าตาชื่นมื่นที่ได้เหรียญทอง โดยทำเวลาได้ 4 นาที 5.692 วินาที 

ทั้งสองทีมทำเวลาห่างกันแค่ 0.01 วินาทีเท่านั้น!

เสี้ยววินาทีที่ไต้หวัน ‘แซง’ เกาหลีใต้

จองอาจลืมสัจธรรมที่ว่า ความแน่นอนคือความไม่นอน ส่วนฮวง หยู หลินจากไต้หวันอาจคิดในใจว่า สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร เขาเห็นอยู่ว่าเกาหลีใต้นำอยู่ข้างหน้า จึงเสือกขาซ้ายออกไปสุดตัว 

“โค้ชบอกผมตลอดว่า ให้ใจเย็นเข้าไว้ และจงมองไปข้างหน้า ช่วงโค้งสุดท้าย ผมจึงฮึดถีบตัวไปข้างหน้า เพราะผมเห็นว่าคู่แข่งกำลังดีอกดีใจอยู่ เราสองคนอยู่ห่างกันแค่ไม่กี่เมตร ในช่วงเวลานั้น ผมไม่คิดถึงอะไรเลย ได้แต่ทะยานไปหาเส้นชัย” ฮวงจากไต้หวันกล่าว “ตอนแรกผมผิดหวังอย่างแรง คิดว่าแพ้ไปแค่นิดเดียวจริงๆ แต่จอประกาศผลการแข่งขันว่า ผมเข้าเส้นชัยก่อนแค่ 0.01 วินาที” 

จองชอลวอนจากเกาหลีใต้ชูมือฉลองชัยล่วงหน้า โดยยังไม่เข้าเส้นชัย
จองชอลวอนจากเกาหลีใต้ชูมือฉลองชัยล่วงหน้า โดยยังไม่เข้าเส้นชัย
ขาซ้ายของนักกีฬาไต้หวันถึงเส้นชัยก่อนเกาหลีใต้
ขาซ้ายของนักกีฬาไต้หวันถึงเส้นชัยก่อนเกาหลีใต้

ทีมไต้หวันเรียกเหตุการณ์นี้ว่า ‘ปาฏิหาริย์’ ขณะที่ทีมเกาหลีใต้อาจเรียกว่า ‘ฝันร้าย’ “ความผิดพลาดของผมมันใหญ่เกินไป ผมชะล่าใจและพลาดที่ไม่ได้พยายามให้ถึงที่สุด” จองกล่าว

ผลที่ตามมานอกจากโดนด่าขรมตามคาด ทั้งทีมยังไม่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเกณฑ์ทหาร เนื่องจากรัฐบาลเกาหลีใต้จะยกเว้นให้สำหรับคนที่ได้เหรียญทองเท่านั้น 

เหรียญเงินผู้ไม่แฮปปี้ที่สุด

มีผลการศึกษาอารมณ์จากสีหน้าของคนที่ได้เหรียญทอง เงิน และทองแดง แน่นอนว่าเหรียญทองพอใจมากเกือบเต็ม 10 เหรียญทองแดงอยู่ที่ 7.1 ส่วนเหรียญเงินพอใจ 4.8 

แม็กเคลา มารอนีย์ นักยิมนาสติกทีมชาติสหรัฐกับสีหน้าขณะรับเหรียญเงินที่ลอนดอน โอลิมปิกส์ 2012

Silver Medal Syndrome อาการต่อต้านข้อเท็จจริง

เป็นการจินตนาการถึงผลลัพธ์อีกแบบที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง คนที่ได้เหรียญเงินจะโฟกัสกับการคิดว่า “ฉันเกือบจะได้…อยู่แล้วเชียว” และนึกภาพว่าตัวเองอาจจะได้เหรียญทองมาก็ได้ ขณะที่เหรียญทองแดงคิดว่า “อย่างน้อยฉันก็…ได้ละน่า” โดยที่นึกภาพว่า ได้มาสักเหรียญก็ดีเท่าไรแล้ว เพราะไม่ได้คิดว่าจะติดอันดับอะไรเลยด้วยซ้ำ ดังนั้น ได้ที่สาม = ชนะ 

ความสุข(ไม่)ขึ้นอยู่กับการเปรียบเทียบ

เงินเดือนขึ้น 5% คุณจะรู้สึกว่ามันเยอะทันทีที่รู้ว่า เพื่อนโต๊ะข้างๆได้ขึ้น 3% และเมื่อเจอเพื่อนอีกซอยที่ได้ขึ้น 10% คุณจะรู้สึกเช่นไร? 5% ที่คุณได้เพิ่มมา มากหรือน้อย?

หรือคุณตั้งใจลดน้ำหนัก 5 กิโลฯ แต่ลดได้จริง 10…เครื่องชั่งน้ำหนักหลอกป่ะเนี่ย ยอดเยี่ยมไปเลย! แต่ถ้าคุณตั้งเป้าไว้ว่าจะลดน้ำหนัก 20 กิโลฯ ปรากฏว่าลดได้จริง 10 แต่กลับรู้สึกว่าลดไม่ได้เยอะเท่าไรนัก ทั้งที่น้ำหนักคุณหายไป 10 กิโลเหมือนกัน   

“ความสุขคาบเกี่ยวกับความคาดหวังอย่างมาก” ดร. อี. สก็อตต์ เกลเลอร์ อาจารย์ด้านจิตวิทยาจาก Virginia Tech กล่าว มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราจึงสนใจความเป็นไปของผู้คนรอบข้าง ซึ่งนำไปสู่การที่เราเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น แต่การทำเช่นนั้นก็ทำให้เรามีความสุขได้ยาก  

อยู่กับเหรียญเงินที่ได้มา

ทีมเกาหลีใต้รับเหรียญเงิน ส่วนทีมไต้หวันคว้าเหรียญทองในเอเชียนเกมส์ที่หางโจว

ท่ามกลางคอมเมนต์ตำหนิจองชอลวอนแบบกะไม่ให้มีที่ยืนในสังคมเลย เช่น “ยินดีด้วย ROK Army ที่ได้พลทหารใหม่ไปร่วมหน่วยละ (ROK Army คือหน่วยรบพิเศษปฏิบัติการในเหตุผิดปกติต่างๆของเกาหลีใต้ เช่น การก่อวินาศกรรม การต่อต้านการทิ้งระเบิด และต่อต้านการสอดแนมจากศัตรู)” “พวกเขาคงรักชาติมากสินะจนอยากจะไปเกณฑ์ทหาร” “ตอนเห็นพวกเขาฉลองดีใจ ฉันนึกว่านำห่าง ที่ไหนได้ คู่แข่งตามมาแบบหายใจรดต้นคอเลยนะ” “เพื่อนร่วมทีมคงโกรธน่าดู เป็นเพราะเขา ทั้งทีมก็เลยต้องโดนเกณฑ์ทหาร”  

แต่มีคอมเมนต์หนึ่งที่เขียนว่า “ฉันพอจะเข้าใจนะถ้าแพ้เพราะความสามารถด้อยกว่า แต่นี่ให้อภัยไม่ได้ที่พวกเขาแพ้เพราะว่าประมาท” 

นักว่ายน้ำชายทีมชาติสหรัฐ รวมทั้งไมเคิล เฟลป์ (ที่ 2 จากซ้าย) ที่ได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ที่ว่ายน้ำเร็วที่สุดในโลก คอตกหลังจากได้เหรียญเงินที่ลอนดอน โอลิมปิกส์ 2012

แม้จะเป็นคำตำหนิ แต่นั่นละคือประเด็น เพราะวิธีการรับมือกับความผิดหวังหรือความพ่ายแพ้ก็คือ

  1. ถามตัวเองว่าทำเต็มที่แล้วหรือยัง ถ้าใช่ ก็อย่าได้สงสัยในความสามารถของคุณ
  2. แทนที่จะโฟกัสกับ 1% ที่พลาด มอง 99% ที่คุณผ่านมาได้แล้ว 

และผลการศึกษาก็บอกว่า ส่วนใหญ่ คนที่ได้ที่ 2 หรือได้เหรียญเงิน สุดท้ายมักประเมินตนเองตามความเป็นจริง และรู้แจ้งในสิ่งที่ตัวเองยังขาดไปดีกว่าใคร “แม้จะผิดหวังสักแค่ไหน แต่คนที่ได้เหรียญเงินมักจะมีแรงผลักดันในการแข่งขันสูงมาก” ดร. เดวิด มัตสึโมโตะ อาจารย์ด้านจิตวิทยาแห่ง San Francisco State University กล่าว 

มาร์ก เลวี นักเขียนชาวฝรั่งเศส ร่ายไว้ในหนังสือ Marc Lévy coffret 2 volumes : Et si c’était vrai ; Vous revoir ว่า

“ถ้าอยากรู้คุณค่าของเวลา 1 ปี ไปถามนักเรียนที่สอบตกซ้ำชั้น
ถ้าอยากรู้คุณค่าของเวลา 1 เดือน ไปถามแม่ที่ลูกคลอดก่อนกำหนด
ถ้าอยากรู้คุณค่าของเวลา 1 ชั่วโมง ไปถามคนรักที่รอคอยจะได้พบกัน
ถ้าอยากรู้คุณค่าของเวลา 1 นาที ไปถามคนที่เพิ่งพลาดรถประจำทาง
ถ้าอยากรู้คุณค่าของเวลา 1 วินาที ไปถามคนที่เพิ่งหนีตายจากอุบัติเหตุทางรถ
ถ้าอยากรู้คุณค่าของเวลา 1/100 วินาที ไปถามนักกีฬาที่ได้เหรียญเงิน(ในโอลิมปิก)” 

ถ้าอยากรู้คุณค่าของเวลา 1/1,000 วินาที ไปถามคนที่กดบัตรคอนเสิร์ตสุดท้ายที่เมมเบอร์อยู่กันครบวงไม่ทันดูสิ มันช้ำ! 

Words: Suphakdipa Poolsap
ข้อมูลจาก:

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม