Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

ไขรหัสแฟชั่นสตรีชนชั้นนำ จากควีนเอลิซาเบธ ไดอาน่า จนถึงเจ้าหญิงเคต

คิดมาแล้วทุกลุคก่อนออกสู่สายตาชาวโลก
Fashion / Style File

ใต้ตะเข็บ หลังลายพิมพ์ กระทั่งป้ายยี่ห้อเครื่องแต่งกายของ Princess Diana, Jill Biden และ Catherine, Princess of Wales ล้วนตัดเย็บเก็บซ่อนความหมาย ซึ่งผู้สร้างมาตรฐานเครื่องแต่งกายของสตรีแถวหน้าของโลกการเมืองและการทูตมายาวนาน 70 ปีก็คือ Queen Elizabeth II

ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ขึ้นครองราชย์ในปี 1952 ซึ่งไม่ใช่เรื่องสามัญธรรมดาที่โลกจะเห็นผู้หญิงยืนอยู่แถวหน้าสุดในตำแหน่งสูงสุดในการปกครองของโลกตะวันตกยุคสมัยใหม่ พระองค์เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างยุคสิ้นสุดจักรวรรดินิยมและจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยและเสรีนิยม ซึ่งไม่มีแบบอย่างให้เดินตาม จึงต้องหาสไตล์ของตัวเองว่าจะเป็นผู้นำสตรีแบบใดให้โลกเห็น

เครื่องแต่งกายของควีนสง่างามและเรียบง่ายตลอดหลายสิบปี เพื่อสื่อสารถึง ‘ความแน่วแน่มั่นคง ไม่หวั่นไหวต่อการเปลี่ยนแปลง ความปรารถนาที่จะไปต่อและยืนหยัดในตำแหน่งเดิมไม่ว่าจะเผชิญมรสุม วิกฤตหรือความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามากี่ครั้งก็ตาม’ อันเป็นคุณค่าของผู้ที่อยู่ในชนชั้นนำ

ลุคมาตรฐานของสตรีในชนชั้นปกครอง

รหัสเครื่องแต่งกายของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ได้กลายเป็นลุคมาตรฐานของสตรีในโลกการเมืองในโลกตะวันตก นั่น ก็คือ ชุดกระโปรงสูททรงบ็อกซี่ความยาวชายกระโปรงครึ่งแข้งที่ดูเป็นทางการ และจะต้องมีกระเป๋าคล้องแขนเสมอ เพื่อจะสื่อว่าฉันมาทำงาน ฉันไม่ได้มาเล่นๆ

ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ประมุขสหราชอาณาจักรองค์แรกที่เยือนไอร์แลนด์ในรอบ 100 ปี ในชุดสีเขียว สีประจำชาติไอร์แลนด์
Photo: Rolling News

ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ประมุขสหราชอาณาจักรองค์แรกที่เยือนไอร์แลนด์ในรอบ 100 ปี ในชุดสีเขียว สีประจำชาติไอร์แลนด์

ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในเดรสปักลายใบเมเปิ้ล สัญลักษณ์ของแคนาดาระหว่างงานเลี้ยงที่แคนาดาในปี 2011
Photo: Getty Images

ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในเดรสปักลายใบเมเปิ้ล สัญลักษณ์ของแคนาดาระหว่างงานเลี้ยงที่แคนาดาในปี 2011

ทั้งยังแฝงรายละเอียดของผู้คนและสถานที่ที่ต้องไปในทุกครั้ง อาทิ เมื่อเยือนไอร์แลนด์ในปี 2011 ควีนต้องการสมานความสัมพันธ์อันไม่สู้ดีกับประเทศเพื่อนบ้านนี้ จึงเลือกเสื้อโค้ทสีเขียวเข้มคลุมทับเดรสผ้าไหมพิมพ์ลายสีเขียว อันเป็นสีประจำชาติของไอร์แลนด์ สวมเดรสปักคริสตัลรูปใบเมเปิ้ลเมื่อร่วมโต๊ะดินเนอร์ที่แคนาดาในปี 2010 และเมื่อพบกับอาร์คบิชอปแห่งเวสมินสเตอร์ ประมุขนิกายโรมันคาทอลิกในสหราชอาณาจักร ควีนทรงเครื่องแต่งกายสีแดงเช่นเดียวกับเสื้อคลุมของพระราชาคณะ เพื่อสื่อว่าพระองค์ซึ่งเป็นประมุขแห่งรัฐนั้นศักดิ์สิทธิ์สูงส่งเสมอกัน

แทบจะทุกครั้งที่ทรงออกงาน ควีนจะทรงเครื่องแต่งกายจากดีไซเนอร์อังกฤษ อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในยุคพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสซึ่งใส่ทุกสิ่งที่ Made in France เท่านั้น และควีนตระหนักดีว่าภาพของพระองค์จะถูกสำนักข่าวทั่วโลกเผยแพร่ แน่ละจะมีโอกาสที่จะได้โปรโมตซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศได้อย่างครึกโครมเช่นนี้

ชุดของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อ 2 มิถุนายน ปี 1953 เต็มไปด้วยลายปักที่สื่อความหมายถึงจักรวรรดิอังกฤษ
Photo: Royal Collection Trust

ชุดของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อ 2 มิถุนายน ปี 1953 เต็มไปด้วยลายปักที่สื่อความหมายถึงจักรวรรดิอังกฤษ

ชุดของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อ 2 มิถุนายน ปี 1953 นั้น เต็มไปด้วยลายปักที่สื่อความหมายถึงจักรวรรดิอังกฤษ เช่น ลายปักดอกกุหลาบทิวดอร์ ทิสเซิล กระเทียมต้นและแชมร็อก สัญลักษณ์ของอังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์และไอร์แลนด์เหนือ รวมทั้งยังมีลายปักพืชพรรณจากประเทศอาณานิคมอังกฤษ เช่น ดอกโพรเทีย ดอกไม้ประจำชาติของแอฟริกาใต้และดอกวัตเทิลที่สื่อถึงออสเตรเลีย เป็นต้น

แฟชั่นสตรีในยุคชาร์ลส์ที่ 3

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ควีนคามิลล่าสวมชุดกระโปรงผ้าไหมสีขาวของ Bruce Oldfield ซึ่งน่าสนใจว่าเป็นดีไซเนอร์อังกฤษคนโปรดของเจ้าหญิงไดอาน่า อดีตชายาในกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ด้วยเช่นกัน

ชุดของควีนคามิล่าปักลายดอกไม้ป่าสีเงินและสีทอง ได้แก่ ดอกเดซี ฟอร์เก็ตมีน็อตและสการ์เล็ต พิมเพอร์เนล ที่บ่งบอกถึงธรรมชาติในชนบทอังกฤษที่เธอและสวามีโปรดปรานเหมือนกัน นอกจากนี้ที่ปลายแขนเสื้อยังมีลายปักดอกไม้อีก 4 ชนิด ได้แก่ ดอกกุหลาบ ทิสเซิล แดฟโฟดิลและแชมร็อก (หรือโคลเวอร์) ดอกไม้ประจำชาติของ 4 ชาติที่ประกอบกันเป็นสหราชอาณาจักร

Photo: Paul Ellis / Agence France – Presse – Getty Images

ควีนคามิลล่าในชุดกระโปรงผ้าไหมสีขาวของ Bruce Oldfield ดีไซเนอร์ชาวอังกฤษคนโปรดของเจ้าหญิงไดอาน่า อดีตชายาในกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3

สร้อยคอที่ควีนคามิลล่าเลือกสวมในวันสำคัญนี้ เมซงเครื่องประดับ Garrard ทำขึ้นในปี 1858 ให้กับควีนวิกตอเรียพร้อมด้วยต่างหูเข้าชุดกันอันเป็นเครื่องประดับสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 สวมใส่วันขึ้นครองราชย์ในปี 1953 ควีนคามิลล่าจึงเป็นสตรีคนเดียวที่ได้มีโอกาสสวมสร้อยเส้นพิเศษนี้โดยที่ไม่ได้เป็นกษัตริย์

ส่วนลูกสะใภ้ แคเธอรีน เจ้าหญิงแห่งเวลส์นั้นแหวกธรรมเนียมไม่สวมเทียร่าของราชวงศ์ เป็นไปตามประสงค์ของพ่อสามีที่อยากให้ราชวงศ์อังกฤษปรับตัวให้โมเดิร์นขึ้น เคตจึงสวมเทียร่าที่ออกแบบใหม่โดยนักออกแบบหมวก Jess Collett ที่ร่วมงานกับ Alexander McQueen แบรนด์โปรดที่ Sarah Burton ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์เคยออกแบบชุดแต่งงานให้เคตมาแล้วในปี 2011 และครั้งนี้ดีไซเนอร์หญิงชาวอังกฤษก็เสกเดรสยาวสีขาวปักลายดอกไม้ประจำชาติทั้งสี่บนเคปให้กับว่าที่ราชินีองค์ต่อไปของอังกฤษอีกครั้ง ส่วนเครื่องประดับเคตเลือกต่างหูคู่เก่าของเจ้าหญิงไดอาน่า เพื่อพาแม่สามีมาอยู่ร่วมในวันสำคัญของครอบครัวครั้งนี้ด้วย

แคเธอรีน เจ้าหญิงแห่งเวลส์สวมเทียร่าที่ออกแบบใหม่โดยนักออกแบบหมวก Jess Collett ที่ร่วมงานกับ Alexander McQueen และเดรสสีขาว(ใต้เสื้อคลุม) จาก Alexander McQueen เช่นกัน
Pool photo by Dan Charity

แคเธอรีน เจ้าหญิงแห่งเวลส์สวมเทียร่าที่ออกแบบใหม่โดยนักออกแบบหมวก Jess Collett ที่ร่วมงานกับ Alexander McQueen และเดรสสีขาว(ใต้เสื้อคลุม) จาก Alexander McQueen เช่นกัน

จิล ไบเดน สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐสวมเดรสสีสกายบลู ถุงมือและโบว์ประดับผมทั้งหมดจาก Ralph Lauren อาณาจักรแฟชั่นที่ประสบความสำเร็จที่สุดของอเมริกา เมื่อจิลเดินประกบกับฟินนิแกน หลานสาวในเดรสสีดอกแดฟโฟดิล ดอกไม้ประจำชาติของเวลส์ 1 ใน 4 ชาติของสหราชอาณาจักรจาก Markarian แบรนด์แฟชั่นในนิวยอร์ก สตรีทั้งสองในชุดสีฟ้า-เหลืองก็กลายเป็นสีธงชาติยูเครนเดินได้ และอาจเป็นเพราะจิบต้องนั่งข้าง โอเลน่า เซเลนสกา Olena Zelenska สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของยูเครนในเดรสสีเขียวหม่น จึงตอกย้ำอีกครั้งว่าในสงครามนี้ อเมริกาจะอยู่ข้างใคร

(ซ้าย) จิล ไบเดน และฟินนิแกน หลานสาว ในเดรสสีฟ้า-เหลือง สีธงชาติยูเครน (ขวา) โอเลน่า เซเลนสกา สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของยูเครนในเดรสสีเขียวหม่น

หากว่าเจ้าหญิงไดอาน่ายังอยู่ แฟชั่นงานนี้อาจทำหลายคนหายใจไม่ทั่วท้องเมื่อดูจากสารพัดชุดที่เจ้าหญิงของประชาชนเลือกใส่ อดีตชายาองค์แรกของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ถูกฉายภาพผ่านสื่อว่าเป็นผู้หญิงเปราะบางและเป็น introvert ขั้นสุด แน่ละว่าเธออาจเปราะบาง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเธอจะไม่ใช่คนแกร่ง และถ้าลองเอาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน รับประกันได้หรือไม่ว่าคุณจะทำได้ดีไปกว่าเธอ อาทิ มีแม่สามีเป็นประมุขประเทศ สามีเป็นว่าที่กษัตริย์ เธอจะเป็นราชินีในอนาคตและกลายเป็นผู้หญิงที่ถูกถ่ายรูปมากที่สุดในโลก สามีนอกใจเธอมาตั้งแต่ก่อนจะแต่งงาน และชีวิตคู่ของเธอถูกจับจ้องโดยสายตาคนทั้งโลก ดังนั้น เธอเป็นแค่คนๆหนึ่งที่สับสนเพราะต้องเผชิญสถานการณ์ที่หนักหน่วง

ไดอาน่าและชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ในพิธีเสกสมรสเมื่อปี 1981
Photo: Getty Images

ไดอาน่าและชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ในพิธีเสกสมรสเมื่อปี 1981

ความเปลี่ยนแปลงของไดอาน่าชัดเจนมากเมื่อมองชีวิตเธอผ่านเครื่องแต่งกาย หากไล่เรียงยุคต่างๆที่เห็นได้ชัดเจนว่าสไตล์ของเจ้าหญิงเปลี่ยนไป กระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตในปี 2007 ไดอาน่าก็แทบจะเป็นคนละคนกับเจ้าหญิงในชุดแต่งงาน ‘เมอร์แรงก์’ พองฟูราวกับชุดเจ้าหญิงในเทพนิยายชวนฝันในปี 1981 คนนั้น

(ซ้าย) ไดอาน่าช่วงยุค 1980 (ขวา) ไดอาน่าในยุค 1990

ในยุค 1980 เมื่อแรกปรากฏตัวอย่างเหนียมอายต่อหน้าสื่อในฐานะคู่หมั้นของรัชทายาทอังกฤษ Lady Diana Spencer ใช้เดรสกระโปรงพลิ้วบาน ลายพิมพ์ดอกไม้และสีพาสเทลเพื่อสื่อสารกับกลุ่มแม่บ้านอังกฤษ เมื่อเธอก็จะกลายเป็นแม่บ้านกับเขาเหมือนกัน ครั้นในทศวรรษที่ 1990 ไดอาน่าก็ยกย้ายไปตามยุคสมัยที่ผู้หญิงในสังคมก้าวเข้าสู่ตลาดงาน ไดอาน่าซึ่งกลายเป็นเวิร์กกิ้งมัมหลังจากปลดแอกตัวเองออกจากร่มเงาของ(อดีต)พระสวามี Charles, Prince of Wales (ยศในเวลานั้น) และทรนงองอาจในมาดทูตขององค์กรต่างๆ เดรสกระโปรงพลิ้วบานจึงถูกแทนที่ด้วยพาวเวอร์สูทและกางเกงสแล็กเพื่อประกาศกับโลกว่าฉันจริงจังกับงานและฉันก็อยากได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจังเช่นกัน

ในเวลาต่อมาไดอาน่าหันมาใส่ชุดกระชับรูปร่าง อันป็นคำบอกใบ้ว่า ไดอาน่าไม่ได้เป็นโรคบูลิเมียแล้ว หลังจากอำพรางรูปร่างผอมแบบบางไว้ในชุดกระโปรงฟูฟ่องมานับทศวรรษ ไดอาน่าในยุค 90 กลับมาเป็นสาวโสด เข้าฟิตเนส มีเทรนเนอร์ส่วนตัว

นอกจากลุคผู้หญิงทำงานแล้ว ไดอาน่ายังเป็นผู้นำลุคสเว็ตเชิ้ต กางเกงขี่จักรยาน สนีกเกอร์กับกระเป๋าหนังแบรนด์หรู ซึ่งยุคนี้เรียกว่าลุค Athleisure หากยังเป็นสมาชิกราชวงศ์อยู่ ไดอาน่าไม่มีทางได้ใส่เสื้อผ้าเหล่านี้ให้สาธารณเห็นเด็ดขาด และการใส่สเว็ตเชิ้ต Polo Ralph Lauren ที่สกรีนตัวเบ้งบนอกว่า ‘USA’ ‘Harvard’ หรือลายธงชาติอเมริกา โดยมิต้องเอ่ยคำใด ไดอาน่าใช้เสื้อผ้าเหล่านี้ท้าทายราชวงศ์อังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควีนเอลิซาเบธที่ 2 อดีตแม่สามี ประมุขแห่งสหราชอาณาจักรผู้อยู่ในกรอบอันเข้มงวด ด้วยสัญลักษณ์ความเป็นอเมริกัน ดินแดนแห่งเสรีภาพแบบไม่ยี่หระใดๆ

ในปี 1994 เมื่อชาร์ลส์ยอมรับว่านอกใจมาตั้งแต่ก่อนแต่งงานด้วยซ้ำ แทนที่ไดอาน่าจะมุดเข้าถ้ำ หากเมื่อก้าวลงจากรถมาถึงงานอีเวนต์ที่ Serpentine Gallery ในมินิเดรสสีดำเข้ารูปเผยช่วงไหล่และเรียวขาจาก Christina Stambolian ไดอาน่าก็กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งของสื่อทั้งโลก เพียงเดรสที่ใช้ผ้าน้อยนิดตัวนี้ ไดอาน่าทำให้โลกหันมามองและต้องตาพร่าไปกับความสวยสะพรึงสุดปัง จนโลกต้องถามว่า “นี่หรือคือผู้หญิงที่ถูกสามีนอกใจ”

ไดอาน่าใช้เครื่องแต่งกายเป็นเครื่องมือแก้แค้นแล้ว เธอยังใช้มันเป็นจดหมายรัก เมื่อเริ่มคบหากับ Hasnat Khan ศัลยแพทย์ชาวปากีสถาน ก็เป็นช่วงเวลาที่โลกได้เห็นไดอาน่าใส่ชุดซัลวาร์ กามีซ ชุดสาวแขก 3 ชิ้นจากดีไซเนอร์ปากีสถาน Rizwan Beyg และเมื่อพบรักใหม่กับ Dodi Al Fayed มหาเศรษฐีชาวอียิปต์ ไดอาน่าก็เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ไปล่องเรือยอชต์และใส่ชุดว่ายน้ำแบบไม่แคร์สื่อ ด้วยเสื้อผ้าลำลองขั้นสุดเหล่านี้ โลกพลอยดีใจไปกับเธอ นี่คือช่วงเวลาที่ผู้หญิงคนหนึ่งตกหลุมรักและหันมารักตัวเอง เธอมีอิสระและมีความสุข หากก็เป็นช่วงเวลาสุขสันต์แสนสั้นสิ้นดี

หากยังมีชีวิตอยู่ ไดอาน่าซึ่งเป็นเจ้าหญิงแห่งแฟชั่นแก้แค้น อาจมาร่วมงานในชุดที่มีลายปักงดงามแฝงอยู่ในเดรสเรียบโก้ว่า ‘Not My King’

Words: Suphakdipa Poolsap

ข้อมูลจาก

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม