Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

‘ยายเพิ้ง & นายพราน’ แฟชั่นที่เกิดจากวิทยานิพนธ์เรื่องน้องชายเด็กพิเศษของพี่สาว

เมื่อศิลปะอยู่ในทุกที่ ตั้งแต่ในจินตนาการ ผืนผ้าใบ ไปจนถึงเสื้อผ้า
Art & Design / Culture

ชายหนุ่มวัย 8 ปี ตัดผมทรง The Beatles ลุกจากเก้าอี้ตรงมาจับมือทักทาย เขาพาเราไปนั่ง ท่าทางพร้อมให้สัมภาษณ์ ก่อนจะร่ายยาวถึงนิทรรศการครั้งใหม่ของเขากับพี่สาวที่จะจัดแสดงที่ ATT 19 ต้นปี 2024 เขาขอมือถือเราไปจัดการแอดไลน์ พร้อมเปิดยูทูบให้ดูคลิปเครื่องบิน บ่งบอกถึงธีมงานศิลปะที่กำลังทำอยู่ พี่สาวยิ้มเอ็นดูเอ่ยว่า “นายพรานตื่นเต้นมากที่จะได้แสดงงานศิลปะต้นปีหน้า เวลาเจอใคร เขาจะท่องข้อมูลวันจัดแสดงให้ฟัง เขารอคอยจะได้เจอผู้คนในวันนั้น”

นายพรานหยุดท่องข้อมูลที่เตรียมมาเมื่อหันไปเห็นช่างภาพ เขาลุกจากเก้าอี้แล้วตรงไปจับมือทักทาย พาช่างภาพไปนั่ง แล้วเริ่มร่ายยาวถึงนิทรรศการใหม่ของตนกับพี่สาวที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าให้ฟังอย่างตื่นเต้นระคนมีความสุขที่วันนี้ได้เจอผู้คนมากมาย

น้องคือคนพิเศษ

“ตอนเด็กๆ เราพบว่าเขาเป็นเด็กพิเศษ” ยายเพิ้ง – ชื่อที่บิดาตั้งให้ไว้กันท่าหนุ่มๆ ด้วยหวงลูกสาว ไม่อยากให้ใครมาจีบเล่าถึงน้องชาย ‘นายพราน’ ชื่อที่บิดาอีกเช่นกันตั้งให้ตามอาชีพของ ‘รพินทร์ ไพรวัลย์’ ตัวเอกจากนิยายเรื่องเพชรพระอุมา”ช่วงแรกๆ นายพรานพูดไม่ได้ เพราะเขาอธิบายไม่ได้ว่าต้องการอะไร เลยสื่อสารเป็นภาษาภาพด้วยการวาดรูป และรู้จักประยุกต์ ถ้าเห็นของอะไรที่เป็นรูปทรงที่ตรงกับความคิดเขาก็จะเอามาทาบบนกระดาษแล้วลากเส้นตามขอบ เช่น ไปเอาประแจของพ่อมาวาด เขาสร้างภาษาของตัวเองขึ้นมา (ลาเต้ยกมาเสิร์ฟ นายพรานยกดื่มพรวดเดียวหมด พี่สาวมองเอ็นดู อธิบายว่า “เขาจะค่อยๆ จิบไม่เป็น จะยกดื่มพรวดเดียวหมด) เขาวาดรูปมาตลอด แต่ไม่ได้วาดเหมือนจริง เขาวาดออกมาอย่างที่เขาเห็นในหัว เป็นศิลปะบริสุทธิ์”

สองพี่น้องสนิทกันนักหนา กระทั่งพี่สาวได้ค้นพบศิลปะ ซึ่งกลับทำให้เธอห่างจากครอบครัวค่าที่ต้องใช้สมาธิกับการสร้างงานของตนในสตูดิโอ “เราหลงลืมไปหรือเปล่าว่าน้องชายเป็นเด็กพิเศษและเขาต้องการเรา” ยายเพิ้งคิดหาวิธีกลับไปใกล้ชิดกับน้องชายอีกครั้ง ซึ่งก็ให้ศิลปะพาไปเช่นกัน “เรากับน้องเริ่มทำงานศิลปะด้วยกันตอนเราเรียนปี 5 คณะจิตรกรรม ศิลปากร เราทำทีสิสเรื่องครอบครัว เพราะเป็นเรื่องที่กระแทกอารมณ์เราที่สุด เรื่องนี้ปะทะกับความรู้สึกเราตลอดเวลา เรามีครอบครัวที่มีอัตลักษณ์มาก เพียงแต่เราหลงลืมไปด้วยความที่ใกล้ตัวมากเสียจนเป็นเหมือนเส้นผมบังภูเขา

“และน้องเราก็วาดรูปเก่งด้วย พออาจารย์เห็นลายเส้นของนายพรานก็รู้เลยว่าไม่ใช่งานของคนธรรมดา แต่เป็นงานของคนมีของ เขาทำงานศิลปะเด็กที่เป็นเด็ก ไม่เหมือนงานของผู้ใหญ่ที่วาดเหมือนเด็ก ลายเส้นของเขาออกมาเอง มองอะไรเขาจะตัดทอนหมดเลย อย่างเสือพาดกลอน เขามองเห็นลายเป็นตารางสี่เหลี่ยมเหมือนคิวบิก มหัศจรรย์มาก”

สองพี่น้องในโลกศิลปะ

ภาพวาดสีสด ลายเส้นเรียบง่าย ไม่เนี้ยบกริบ แต่ปาดอย่างมั่นใจและมีอิสระ ที่มุมล่างเจ้าของผลงานลงชื่อไว้ว่า ‘Yai Peong & Nai Pran’ เราถอยออกมายืนดูไกลๆ ก็พบว่าไม่ใช่ภาพเขียนเล็กๆ เลย แต่ละภาพขนาดใหญ่เกือบ 2 เมตร”กระบวนการทำงานยากและนานมากกว่าจะสื่อสารกันได้” ยายเพิ้งปากบอกว่ายาก แต่แววตาสุขี “ถ้าบอกให้มาวาดรูปด้วยกัน นายพรานจะมาทันทีเพราะเขารักเรา เขาอยากอยู่กับเรา

“แต่เรื่องที่ยากมากๆ ของเขากลับเป็นเรื่องง่ายๆ สำหรับเรา นั่นคือคำถามที่ว่า ‘นายพราน เอาแบ็กกราวนด์สีอะไร’ เขาไม่เข้าใจคำว่า ‘พื้นหลัง’ ใช้เวลาหลายปีที่เราถามเขาซ้ำๆ จนวันหนึ่งพอเราถามอีกว่า ‘เอาพื้นหลังสีอะไร’ เขาตอบว่า “สีแดง” พอเขาตอบเราได้ นั่นเหมือนของขวัญแล้ว แต่ก่อนเขาไม่พูดเลย เป็นไฮเปอร์ด้วย ไม่สามารถนั่งนิ่งๆ ได้ ฉะนั้นเรื่องเล็กๆน้อยๆ ที่เขาพัฒนาขึ้นจึงเป็นของขวัญสำหรับเราทั้งสิ้น”

แต่ละวันที่พี่น้องขลุกอยู่ด้วยกันหน้าผืนผ้าใบและจานสี ยายเพิ้งค้นพบว่าได้พาตัวเองออกมาจากโลกส่วนตัวอันโดดเดี่ยวกลับมาอยู่กับครอบครัวสมใจแล้ว เธอจึงไม่เหนื่อยหน่ายเลยกับการค่อยๆ สอนศิลปะให้นายพรานน้อยไปทีละขั้นละตอนอย่างมีน้ำอดน้ำทน “เราเริ่มคิดว่าตอนเราเริ่มเรียนศิลปะ เราเรียนแบบไหน เริ่มจากอะไร อ้อ อาจารย์ให้เราเริ่มเขียนหุ่นนิ่ง การขึ้นรูปทุกอย่างในโลกนี้มาจากรูปเรขาคณิต ก็เลยให้น้องเริ่มเขียนหุ่นนิ่ง แต่เราจะไม่สอนให้เขาวาดเหมือนเป๊ะ เราจะไม่ทำลายของในตัวเขา เราใช้หุ่นนิ่งซึ่งก็เป็นสิ่งของต่างๆ ในบ้านที่มีความสัมพันธ์กับทุกคน เช่น แก้วกาแฟที่แม่ใช้ หรือประแจของพ่อ

“เราเริ่มเห็นจุดบกพร่องของเขาว่าเป็นเรื่องการกดแรงไม่เป็น ก็เริ่มให้เขาทำงานเซรามิกซึ่งจะช่วยฝึกให้เขาออกแรง กดน้ำหนัก ใช้กล้ามเนื้อได้ มีการยก เขาเลยเข้าใจศัพท์เพิ่มขึ้นมาอีกคำว่า ‘ยก’ หมายถึงออกแรงยกขึ้นมา แต่ก่อนพอบอกให้ช่วยยกอะไร เขาจะแค่เอามือไปแตะ แต่ไม่ออกแรง (หัวเราะ) เพราะเขาไม่เข้าใจว่ายกต้องทำอย่างไร”

จากภาพเขียน ต่อยอดมาเป็นงานเซรามิก ลามไปเป็นงานประติมากรรม เพราะยายเพิ้งอยากให้น้องชายรู้ว่าพี่สาวรักเขามาก “อยากให้นายพรานเห็นสัตว์ที่เขาวาดปั้นออกมาเป็นสามมิติได้ เราอยากทำให้เห็นว่าพี่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เขาทำมากๆ พี่ไม่ได้ละเลย เขาคือมิวส์ของเราด้วย คนทำงานศิลปะจะคิดเสมอว่าจะเอาแรงบันดาลใจอะไรมาทำเป็นงาน แล้วเรามีน้องที่พิเศษมาก ทุกช่วงอายุเขามากระแทกเราตลอดเวลา มีการเปลี่ยนแปลงเสมอจากการเห็นน้องเติบโต อย่างตอนนี้ตัวตนข้างในเขาเริ่มโตเท่าเด็กอายุ 13 -14 ก็จะอยากกลับบ้านดึก อยากไปดูหนัง ไปนอกบ้าน รู้จักการออกมาพบผู้คน มีการขอแอดไลน์คนอื่น แต่ก่อนชอบกินชา เดี๋ยวนี้ชอบกินกาแฟ” พี่สาวแอบเม้าธ์น้องชายที่กำลังสาละวนส่งไลน์หาช่างภาพของ LIPS ที่นั่งอยู่ตรงหน้าเขานั่นแล

ศิลปะอยู่ในทุกที่

น้องชายคือแรงขับเคลื่อนความคิดของยายเพิ้งอย่างแท้จริง เมื่อวันดีคืนดีมีคนของานศิลปะของสองพี่น้องไปทำเป็นลายเสื้อผ้า “แล้วทำไมเราไม่ทำเองล่ะ” ยายเพิ้งวาบความคิดขึ้นมา และเธอก็ไม่รีรอ จัดการพาตัวเองไปเรียนรู้กระบวนการทำแฟชั่น “เราไม่ได้เรียนแฟชั่นมา แต่เราทำศิลปะจนเรามองทุกอย่างเป็นศิลปะไปหมด เลยลองพิมพ์ออกมาเป็นลายเสื้อเชิ้ต เสื้อฮาวาย เพราะตัวเราชอบใส่เสื้อเชิ้ตอยู่แล้ว เราค้นหาว่าเสื้อเชิ้ตจะอยู่กับสถานการณ์ไหนได้บ้าง ก็คือทะเล หาดทราย เหมาะกับรีสอร์ตแวร์ หรือเป็นสไตล์ในเมืองก็ได้

“เราไม่ได้อยากทำเป็นฟาสต์แฟชั่น เราอยากให้เป็นงานศิลปะที่อยู่ได้ตลอด ไม่ต้องเปลี่ยนเพราะมันเอาต์แล้ว เราอยากให้เสื้อผ้าเราใส่แล้วสีซีดบ้าง ซักแล้วสีลดเลือนไปบ้าง มันเป็นเรื่องธรรมชาติของผ้าคอตตอนหรือผ้าลินินพิมพ์ลาย ความเก่าไปตามกาลเวลาคือสิ่งที่ทำให้มันคลาสสิก เก๋าเท่ๆ ดูวินเทจ เราใช้ผ้าลินินแท้จากญี่ปุ่นที่เราเลือกมาแล้วว่าเรียบ ไม่มีปุ่มปมสะดุด พิมพ์แล้วผ้าไม่เป็นรู เป็นลินินที่คุณภาพขั้นสูงสุด ต้นทุนห่างจากลินินจีนเกินครึ่ง แต่เราอยากใช้ของดีมีคุณภาพ เรายอมจ่าย และอยากให้ทุกคนเอาไปมิกซ์แอนด์แมตช์เองในแบบตัวเอง

“เราคิดว่าศิลปินก็ต้องเป็นศิลปิน เราไม่ได้จะเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ เราไม่อยากทำบางอย่างที่เราไม่จำเป็นต้องทำ ไม่อย่างนั้นแพสชั่นจะไม่ออกมา และจะกลายเป็นว่าเราจะไม่มีเวลาไปวาดรูปด้วย อย่างอื่นคนอื่นทำแทนเราได้ แต่การวาดรูปกับน้อง คนอื่นทำแทนเราไม่ได้ เราจำเป็นต้องโฟกัสที่แก่นแท้ของเรา

“ทุกอย่างรอบตัวคือศิลปะ แฟชั่นก็เป็นหนึ่งในศิลปะ บางคนอาจพูดว่าไม่มีเงินแล้วจะไปซื้องานศิลปะทำไม เราเลยทำให้เห็นว่าศิลปะอยู่ในทุกอย่าง โดยเราไม่อยากยัดเยียดคำว่าศิลปะอยู่ในเสื้อผ้าหรืออยู่ในนั้นในนี้ เราแค่ทำให้เห็น ซึ่งสิ่งที่เราทำก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็น ART YOU CAN WEAR เราทำเพื่ออยากจะบอกโลกว่าเราคือใคร บอกตัวตน บอกความนึกคิดและชีวิตความเป็นอยู่ของเราด้วยทั้งหมดที่เรามี เราให้เกียรติแฟชั่นเหมือนงานศิลปะ”

10 เปอร์เซ็นต์ที่ขาดไม่ได้จากนายพราน

ภาพเขียน งานเซรามิก เฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงเสื้อผ้า ทุกโปรเจกต์ยายเพิ้งจะให้เครดิตนายพรานทัดเทียมกันเสมอ “ถ้าเราจะไม่ด้อยศักยภาพของเขา เราต้องชูศักยภาพของเขาขึ้นมา และในจุดที่เขาทำไม่ได้ เราต้องทำแทนเขา เลยดูเหมือนว่าเราทำอะไรเยอะมาก จริงๆ แล้วก็คือช่วยน้อง เพราะน้องช่วยเราในเรื่องศิลปะ ช่วยเป็นแรงบันดาลใจ ช่วยให้ความคิดเราในแบบที่เราคิดคนเดียวไม่ได้ ต่อให้ 90 เปอร์เซ็นต์เราเป็นคนทำ แต่ 10 เปอร์เซ็นต์ที่น้องทำมันสำคัญมากจนเราไม่ให้เครดิตเขาไม่ได้ มันคือ 10 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นพลังให้กับเรา ถ้าไม่มี 10 เปอร์เซ็นต์นั้นจากนายพราน เราอาจคิดไม่ออกก็ได้ว่าต้องทำอะไร”

ตลอดเวลาที่ให้สัมภาษณ์ สายตาของพี่สาวจะติดตามน้องชายไปด้วยทุกแห่งหน ทั้งเป็นห่วง เอ็นดูและภูมิใจอย่างเก็บอาการไม่มิด “นายพรานรู้และเข้าใจว่ามีคนมาชอบผลงาน มีคนซื้อรูปที่เขาวาด แต่เขาไม่ได้สนใจ หมายถึงว่ามันไม่ใช่ประเด็น เงินไม่ใช่เป้าหมาย เขาแค่อยากแสดงออก อยากอยู่กับพี่ และได้เจอผู้คน เขาเข้าใจว่างานของเขาจะได้แสดงเป็นนิทรรศการ เขาคาดหวังรอคอยที่จะได้เจอผู้คนในวันนั้น ถึงได้นับวันรอ เขามีความสุขเวลาได้เจอคนเยอะๆ เขาไม่ได้อยากให้ใครมาชื่นชมหรอกว่านายพรานเก่งจังเลย เจตนาเขาบริสุทธิ์มาก คือทำเพราะรัก – แค่นั้นเลย”

สถานที่: ATT 19 เจริญกรุง 30
Facebook: ATT 19
Instagram: @att19.bkk

Words: Suphakdipa Poolsap        
Portraits: Somkiat Kangsdalwirun 

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม