Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

รางวัลออสการ์คือฝันดีของ Ke Huy Quan (คี ฮุย ควน) แต่สปีชของเขาคือฝันร้ายของเวียดนาม

สุนทรพจน์ออสการ์ว่าด้วยอเมริกันดรีมที่ระคายหูทีมเวียดนาม
Culture / Entertainment
คี ฮุย ควน ร่ำไห้จูบตุ๊กตาทอง
Photo: Associated Press Alamy Stock Photo

“การเดินทางของผมเริ่มต้นบนเรือ ผมใช้เวลาเป็นปีในค่ายผู้ลี้ภัย ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ผมได้มาอยู่ตรงนี้ บนเวทีที่ใหญ่ที่สุดของฮอลลีวู้ด พวกเขาบอกว่า เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นแต่ในภาพยนตร์เท่านั้น ไม่น่าเชื่อเลยว่ามันเกิดขึ้นกับผม นี่แหละฝันที่เป็นจริงแบบอเมริกัน” Ke Huy Quan กล่าวขณะขึ้นรับรางวัลนักแสดงบนเวทีออสการ์ปี 2023

หลังจากคว้ารางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์  คี ฮุย ควน  นักแสดงอเมริกันเชื้อสายจีนเวียดนาม พระเอก(ตามคำนิยามแบบไทยๆ) จากหนัง Everything Everywhere All at Once ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส ได้ขึ้นกล่าวบนเวที ถึงอดีตที่เคยเป็นผู้ลี้ภัยจากเวียดนามมายังสหรัฐอเมริกา ก่อนจะได้มีโอกาสแสดงภาพยนต์และประสบความสำเร็จอย่างเหลือเชื่อ เป็นฝันที่เป็นจริงแบบอเมริกันดรีม วันรุ่งขึ้นเขาให้สัมภาษณ์กับ Variety นิตยสารภาพยนตร์ทรงอิทธิพลของโลกว่า เมื่อตอนเป็นเด็ก เขาไม่เข้าใจการตัดสินใจของพ่อแม่ที่พาครอบครัวออกจากเวียดนามบ้านเกิดเลย

 “ทุกอย่างเกิดขึ้นฉับพลัน พ่อแม่ผมตัดสินใจจะหนี มันเป็นกลางดึกคืนหนึ่ง ตอนนั้นผมอายุ 7 ขวบ  พ่อพาผมและพี่น้องอีก 5 คนหนีขึ้นเรือ เราไปถึงฮ่องกง และผมก็อยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัย ล้อมรอบไปด้วยยามและตำรวจ”

คี ฮุย ควน สมัยเป็นนักแสดงเด็ก
คี ฮุย ควน สมัยเป็นนักแสดงเด็ก

คี ฮุย ควน  เป็นผู้มีถิ่นกำเนิดจากเวียดนามคนแรกที่ได้รางวัลออสการ์ ที่น่าสนใจก็คือ มีอีก 1 คนเป็นผู้เข้าชิงออสการ์ในปีนี้เช่นเดียวกัน คือ Hong Chau จากภาพยนตร์เรื่อง The Whale  ซึ่งครอบครัวก็อพยพหนีมาจากเวียดนามทางเรือเช่นเดียวกัน นี่ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็นเรื่องของจำนวนของผู้อพยพกลุ่มนี้ที่มีมากถึง 1.5 ล้านคน

Hong Chau นักแสดงชาวเวียดนามจากภาพยนตร์เรื่อง The Whale
Hong Chau นักแสดงชาวเวียดนามจากภาพยนตร์เรื่อง The Whale
Photo: Jordan Strauss/AP

ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘Boat People’ พวกเขาอพยพออกจากเวียดนามในช่วงทศวรรษที่ 1970-1980 ส่วนมากมีเชื้อสายจีน คนกลุ่มนี้เสี่ยงชีวิตล่องเรือข้ามทะเลจีนใต้ออกจากเวียดนาม ตามรายงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติหรือ UNCR เชื่อว่ามีผู้เสียชีวิตในทะเลกว่า 2-4 แสนคน ทั้งจากคลื่นลมและโจรสลัด  

ทำไมชาวเวียดนามเชื้อสายจีนจึงต้องหนีออกนอกประเทศ คำถามนี้ต้องเท้าความถึงความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับจีนในช่วงปลายสงครามเย็น 

ในฐานะประเทศคอมมิวนิสต์ ทั้งจีนและเวียดนามมีความสัมพันธ์อันดีมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวจีนจำนวนมากตั้งรกรากในเวียดนาม แต่การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นหลังจากเวียดนามเหนือได้รับชัยชนะในปี 1975 พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้หันขั้วทางการเมืองไปหาสหภาพโซเวียต ในขณะที่สหรัฐอเมริกา ประเทศคู่แค้นที่เพิ่งพ่ายแพ้สงครามก็เปลี่ยนนโยบายหันมาผูกสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ เกิดเป็นรอยร้าวระหว่างจีนกับเวียดนาม

                         ผู้อพยพชาวเวียดนามเชื้อสายจีนหรือ Boat People
                         ผู้อพยพชาวเวียดนามเชื้อสายจีนหรือ Boat People
Photo: Wikipedia 

ประกอบกับชาวจีนจำนวนมาก รวมถึงครอบครัวของ คี ฮุย ควน ก็เป็นกลุ่มพ่อค้านายทุนในเวียดนามใต้ ซึ่งตกอยู่ในสถานะผู้ไม่พึงประสงค์ในระบอบคอมมิวนิสต์ของเวียดนามเหนือ หลายครอบครัวถูกส่งไป ‘สัมมนา’ ในค่ายฝึกอบรม

ภายใต้สภาพอัตคัด คหบดีเชื้อสายจีนในเวียดนามในขณะนั้นจึงมักติดสินบนเจ้าหน้าที่เพื่อจัดหาเรือและหลบหนีกันเป็นจำนวนมาก และการอพยพก็พุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุดเมื่อจีนปิดศึกโจมตีเวียดนามในสงครามอินโดจีนครั้งที่ 3 ในเดือน กุมภาพันธ์ ปี 1979 ช่วงเวลาที่กระแสต่อต้านจีนในเวียดนามก่อตัวต่อเนื่องต่อมาอีกนับทศวรรษตราบจนถึงปัจจุบัน

นั่นเป็นเหตุผลว่า ท่ามกลางเสียงยินดีของชาวเอเชียทั่วโลกที่มีต่อรางวัลของ คี ฮุย ควน เหตุใดเวียดนาม ประเทศบ้านเกิดของเขา ที่ซึ่งรัฐบาลคอมมิวนิสต์ควบคุมสื่อได้อย่างเบ็ดเสร็จ กลับไม่ได้มีท่าทียินดีตามไปด้วย

ชาวเวียดนามจำนวนมากมองคี ฮุย ควน ว่าเป็นผู้มีเชื้อสายจีนที่แค่บังเอิญเกิดในเวียดนามเท่านั้น สื่อเวียดนามหลายแห่งพยายามย้ำข้อมูลที่ว่าคี ฮุย ควนเป็นชาวจีนที่เกิดในนครโฮจิมินห์เมื่อปี 1971 ในครอบครัวชาวจีน จากพ่อชาวจีนแผ่นดินใหญ่และแม่ชาวฮ่องกง

คี ฮุย ควน ชูรางวัลออสการ์
คี ฮุย ควน ชูออสการ์ รางวัลที่บ่งบอกว่าความฝันแบบอเมริกันนั้นเป็นไปได้จริงสำหรับทุกคน
Photo: Todd Heisler The New York Times

แฮริสัน ฟอร์ดเป็นคนประกาศรางวัลออสการ์ให้กับ คี ฮุย ควน
แฮริสัน ฟอร์ดเป็นคนประกาศรางวัลออสการ์ให้กับ คี ฮุย ควน นักแสดงเด็กที่เล่นหนัง
สมัยเล่นหนัง Indiana Jones and the Temple of Doom กับเขาในปี 1984
Photo – ABC

สุนทรพจน์ของคี ฮุย ควน จึงไม่ใช่มีแค่ประเด็นเรื่องฝันที่เป็นจริงแบบอเมริกันดรีม แต่เป็นการย้ำเตือนถึงประวัติศาสตร์ดำมืดอีกบทหนึ่งของภูมิภาคทะเลจีนใต้โดยที่คี ฮุย ควนเองก็อาจไม่ได้ตั้งใจ

เป็นสุนทรพจน์ที่ระคายหูหลายๆคน ไม่ต่างอะไรกับสุนทรพจน์รับรางวัลบางรางวัลในบ้านเรานัก 

อดคิดไม่ได้ว่า ทำไมสุนทรพจน์รับรางวัลมักโยงเข้าเรื่องการเมืองได้เสมอ หรือเพราะความจริงแล้ว ทุกอย่างในชีวิตเราทุกคน ย่อมมีการเมืองเป็นส่วนหนึ่งอย่างแยกไม่ออก ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

Words: Roongtawan Kaweesilp 

ข้อมูลจาก:   

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม