Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

Compilation by POD ART นิทรรศการศิลปะที่มีท่วงทำนองของ ‘ป๊อด โมเดิร์นด็อก’ 

Art & Design / Culture

สำหรับแฟนเพลงที่เคยผ่านตาประวัติของ ป๊อด โมเดิร์นด็อกมาบ้าง คงรู้อยู่แล้วว่าพี่ป๊อดเรียนจบคณะครุศาสตร์ เอกศิลปะ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร หากพี่ป๊อดจะมีผลงานศิลปะในฐานะนักวาดภาพ 

Compilation คือนิทรรศการเดี่ยวของ ป๊อด – ธนชัย อุชชิน ผู้บุกเบิกเพลงแนว Alternative ในยุค 90 ในฐานะศิลปินนาม POD ART ที่รวบรวมผลงานแนวนามธรรมในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา นำเสนอในคอนเซปต์องค์ประกอบต่างๆ ของเพลง  ได้แก่ Intro, Verse, Pre-Chorus, Chorus, Verse 2, Bridge, Solo, และ Outro ซึ่งเป็นภาพแทนการผสมผสานของศิลปะ 2 แขนงที่บ่งบอกตัวตนของเขา โดยแบ่งเป็นโซน 8 โซน

Intro 

ในช่วงปี 2000 ขณะที่วงโมเดิร์นด็อกกำลังทำอัลบั้มชุดที่ 3 พี่ป๊อดได้เดินทางไปนิวยอร์กเพื่อหาแรงบันดาลใจในการแต่งเพลง ระหว่างนั้น เขาเก็บเอาเรื่องราวประสบการณ์มาทำเป็น Scrapbook ซึ่งเป็นเหมือนไดอารีที่ทั้งบันทึกและสะสมชิ้นส่วนต่างๆของการเดินทางไปพร้อมกัน ตั้งแต่ใบเสร็จร้านค้าทั่วไป ใบเสร็จร้านเครื่องดนตรี ตั๋วคอนเสิร์ต ใบปิดหนัง ซึ่ง Scrapbook นี้เองที่เป็นที่มาของปกอัลบั้มชุดที่ 3 Love Me Love My Life ในปี 2001 และเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้พี่ป๊อดคิดจะกลับมาทำงานศิลปะ หลังจากร้างราไปนาน โซนนี้จึงจัดแสดงตัว Scrapbook และแผ่นไวนิลอัลบั้ม Love Me Love My Life เป็นเหมือนเสียงดนตรี Intro ที่เริ่มพาผู้เสพให้เข้าสู่บทเพลง

Verse 1

ลายเส้น รูปทรง สีสันฉูดฉาด ที่สื่อสารถึงอารมณ์อย่างหลากหลายได้อย่างน่าประหลาด ถูกพิมพ์ลงบนแผ่นเซรามิกขนาดย่อม ติดเรียงรายอยู่บนผนังขาวเป็นแนวยาว โซนนี้คือท่อน Verse เนื้อเพลงท่อนแรกที่เซตติ้งเรื่องราวของบทเพลง งานในโซนนี้ถูกสร้างสรรค์ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา เมื่อพี่เมธีมือกีต้าร์ของวงแนะนำให้พี่ป๊อดรู้จักกับแอปพลิเคชัน Art Studio ที่ใช้สำหรับวาดภาพบนมือถือหรือแท็บเล็ต ซึ่งเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของร็อกสตาร์ทั้งสอง ทำให้สามารถวาดรูปได้ระหว่างการเดินทางไปแสดงคอนเสิร์ตตามที่ต่างๆ พี่ป๊อดจึงเริ่มวาดรูปแนว Abstract โพสต์ลงอินสตาแกรม ก่อนจะนำมาพิมพ์บนเซรามิกให้ออกมาเป็นงานในโลกกายภาพ

Pre-Chorus

ท่อนก่อนฮุก ช่วงเวลาที่เนื้อเพลงเร่งเร้าอารมณ์ให้กระชั้นมากขึ้นจากช่วง Verse ตระเตรียมความรู้สึกของผู้ฟังให้ทะยานขึ้น โซนนี้นำเสนอผลงานภาพเขียนบนเฟรมผ้าใบด้วยสีอะคริลิกที่พี่ป๊อดเคยสร้างสรรค์และจัดแสดงในนิทรรศการ ‘Happy Accidents’ เมื่อปี 2013 ร่วมกับศิลปินอื่นๆ ซึ่งตัวพี่ป๊อดมองว่าเป็นก้าวแรกของการเข้าสู่วงการศิลปะในฐานะศิลปิน อีกทั้งยังมีงานที่เป็นการสร้างสรรค์ทำงานร่วมกันกับศิลปินอีก 2 คน คือ ชลิต นาคพะวัน และ สมยศ หาญอนันทสุข อีกด้วย

Chorus

ท่อนฮุก ช่วงที่ท่วงทำนองของเพลงปลดปล่อยอารมณ์ออกมาอย่างเต็มที่ และเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของเพลงนั้นๆ โซนนี้เป็นงานภาพวาด Abstract ที่ช่วงปี 2013-2020 ที่พี่ป๊อดตีโจทย์ในการทำงานศิลปะถึงข้อจำกัดในการสร้างสรรค์ภายใต้อุปกรณ์วาดภาพอย่าง แคนวาส พู่กัน และสี และพยายามหาความท้าทายใหม่ๆ ต้องการหลุดจากกรอบการสร้างงานที่คุ้นชิน ทำให้งานในช่วงเวลานี้ มีความหลากหลายทั้งในเรื่องของรูปแบบและขนาดของงาน

Verse 2

ช่วงเนื้อเพลงที่มีทำนองเหมือน Verse แต่ทอนอารมณ์ให้มีความสม่ำเสมอและต่อเนื่องเชื่อมมาจาก Chorus เป็นการรวบรวมผลงานในวิธีการอื่นๆ ที่ไม่ใช่จิตรกรรมบนแคนวาส เช่น งานภาพพิมพ์ซิลค์สกรีน และภาพพิมพ์โลหะ (etching) ที่ป๊อดเคยนำไปจัดแสดงที่ต่างประเทศมากแล้ว

อิมเมจ สุธิตา มาร่วมร้องเพลงแจมเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการในโซน Solo 

Solo

ท่อนของการผสมผสานร่วมบรรเลงกับนักดนตรีโดยปราศจากเสียงร้อง ถูกตีความเป็นลานวงกลมเวทียกพื้นกลางห้องที่มีเปียโนจิ๋ววางอยู่ และในบางวันก็จะเปียโนตัวใหญ่มาแทนที่ เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมแสดงฝีมือบรรเลงเพลงได้ในแบบของตัวเอง หรือจะนำเครื่องดนตรีของตัวเองมาเล่นก็ได้ เพื่อมีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการท่ามกลางงานศิลปะของพี่ป๊อด เหมือนท่อน Solo กีต้าร์ที่เข้ามาแจมอย่างโดดเด่นในช่วงกลางเพลง

Bridge

ท่อนแยก ท่วงทำนองแปลกหู แตกต่าง ที่เชื่อมร้อยความรู้สึกอย่างน่าประหลาด ความแตกต่างแต่เชื่อมโยงนี้ถูกตีความถึง NFT ART งานศิลปะในรูปแบบของสินทรัพย์ดิจิทัล ที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการศิลปะขนานใหญ่ เป็นความแตกต่างในการนำเอาเทคโนโลยีมาเสริมคุณค่าให้กับวงการศิลปะ โซนนี้จัดแสดงอยู่ด้านนอกห้องในรูปแบบของวิดีโอ

Outro

บทส่งท้ายของเพลงที่เป็นบทสรุปของเนื้อหา ท่อนที่นำ Chorus มาเล่นซ้ำย้ำใจความก่อนจะสรุปจบให้สมบูรณ์ โซนนี้จัดล้อไปกับท่อน Chorus ที่เป็นการรวมรวมผลงานหลากหลายมาร้อยเรียงกันบนผนัง โดยสามารถมองเป็นภาพรวมขนาดใหญ่ ให้เห็นถึงภาพของเรื่องราวในการทำงานในฐานะศิลปินของพี่ป๊อด ในขณะเดียวกันก็มีความเป็นคอลลาจ เช่นเดียวกันกับ Scapebook ล้อไปกับโซน Intro

ภาพรวมของนิทรรศการทั้งหมด เหมือนเราได้ใช้ทัศนสัมผัสเสพท่วงทำนองผ่านสายตา ได้รับรู้เรื่องราวเนื้อหาการทำงานศิลปะของพี่ป๊อดที่มีความบรรจงร้อยงานศิลป์เหมือนเป็นมาลัย ด้วยความสนุกสุขใจหนักหนา ได้เห็นถึงความสม่ำเสมอในการทำงานเป็นประจำทุกวันเวลา ไม่เคยเหนื่อยล้า เหมือนกับการร้อยมาลัย 

นิทรรศการ “Compilation by POD ART” เปิดให้เข้าชมถึง 8 ตุลาคม ที่ 333Gallery Warehouse 30

Words & Photos: Roongtawan Kaweesilp 

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม