Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Fashion / Trends

ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ยุค 1930 ฮอลลีวูดจ้าง Coco Chanel ไปทำอะไร ถึงได้ค่าตัวหลักล้าน

Fashion / Trends
(ซ้าย) Chanel ออกแบบคอสตูมหนัง The Greeks Had a Word for Them (1932) / (ขวา) Chanel ตีความชุดดาราฮอลลีวูดใน Cruise 2024

Chanel คือแบรนด์แรกที่ริเริ่มพาแฟชั่นโชว์ออกจากปารีส ไปจัดยังเมืองต่างๆ (ที่มีลูกค้ากระเป๋าหนักของแบรนด์) ให้สมกับคอนเซปต์ ‘เครื่องแต่งกายสำหรับทริปเดินทางและตากอากาศ’ ของคอลเล็กชั่นครูสหรือรีสอร์ต และกลายเป็นธรรมเนียมของ Chanel เมื่อฤดูกาลสัญจรเวียนมาบรรจบ 

Cruise 2024 Chanel แลนดิ้งที่ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ซึ่งแน่นอนว่าเมืองแห่งนางฟ้านี้เกี่ยวพันกับโกโก ชาแนลอย่างแน่นแฟ้นกว่าที่คิด 

แซมูเอล โกลด์วินกับโกโก ชาแนล ในปี 1931
Photo: THE SAMUEL GOLDWYN JR. FAMILY TRUST ACADEMY OF MOTION PICTURE ARTS AND SCIENCES

คนฝรั่งเศสในแอลเอ

แซมูเอล โกลด์วิน ผู้อำนวยการสร้างหนังทรงอิทธิพล ซึ่งตลอดชีวิตของเขาสร้างหนังถึง 140 เรื่อง ตั้งแต่ยุคหนังเงียบและหนังขาวดำ และมรดกที่เขาทิ้งไว้ให้ก็คือ พาราเมานต์ พิกเจอร์ส สตูดิโอสร้างหนังดังมากมาย อาทิ The Godfather, Titanic, Mission: Impossible ไปจนถึง Interstellar และ Top Gun  แซมูเอลเชิญให้แฟชั่นดีไซเนอร์ฝีมือดีที่สุดแห่งยุค ซึ่งมีอาชีพก่อนหน้าจะมาทำแฟชั่นเป็นนักออกแบบเครื่องแต่งกายละครเวที มาเยือนฮอลลีวูด

ทว่า ฮอลลีวูดต้องการชาแนล แต่ชาแนลไม่ต้องฮอลลีวูด

ในเมื่อโกโกสร้างให้ชาแนลประสบความสำเร็จล้นเหลือได้ตั้งแต่เธออายุ 30 ปิกัสโซบอกว่าเธอคือผู้หญิงที่มีรสนิยมดีที่สุดในยุโรป เธอสามารถเป็นสปอนเซอร์ออกเงินให้เพื่อนศิลปินทำละครเวที ซึ่งเป็นศิลปะที่เธอหลงใหล น้ำหอม Chanel No.5 ที่เปิดตัวในปี 1921 ขายออกทุกๆ 30 วินาที  

แซมูเอลซึ่งทำสตูดิโอชื่อ ยูไนเต็ด อาร์ทิสต์สในเวลานั้น เชื่อว่า “ผู้หญิงไปดูหนัง เพื่อจะดูว่าผู้หญิงคนอื่นแต่งตัวอย่างไร” และสภาพของวงการหนังในยุคนั้นก็ล่มสลายหลังจากเกิดวิกฤตการเงินพังทลายในวอลล์สตรีตปี 1929 และพยายามมองหาหนทางเรียกคนดูมาซื้อตั๋วเข้าไปดูหนังอีกครา 

แรกทีเดียว โกโกปฏิเสธคำเชิญของแซมูเอล เพราะนางสิงห์อย่างเธอไม่อยากเป็น ‘ลูกจ้าง’ ของใคร ซึ่งปัญหานี้ก็ถูกปัดลงเมื่อแซมูเอลยื่นข้อเสนอ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้โกโกเดินทางมาฮอลลีวูดปีละ 2 ครั้ง เพื่อ “มาแต่งตัวให้ดาราของแซมูเอล ทั้งในจอและนอกจอ” 

เงินค่าจ้างปีละ 1 ล้านเหรียญมากหรือน้อย ต้องลองเทียบว่ารายได้โดยเฉลี่ยของคนอเมริกันในยุค 1930 อยู่ที่ 1,850 เหรียญต่อปี และค่าเช่าบ้านเดือนละ 18 เหรียญ ค่าจ้างปีละ 1 ล้านเหรียญที่โกโกได้รับนั้นเรียกว่าอภิมหาโคตรเยอะ! 

แม้โกโกจะตอบรับข้อเสนอของแซมูเอล แต่ย้ำชัดเมื่อให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าเธอ “ไม่ใช่ลูกจ้าง” และเป็น “ฟรีแลนซ์” รวมทั้งไม่ได้จะเปลี่ยนอาชีพไปเป็นคอสตูมดีไซเนอร์ด้วย “ฉันไม่ได้พกกรรไกรติดตัวมาด้วยซ้ำ กลับไปปารีสแล้วฉันค่อยออกแบบชุด 6 เดือนล่วงหน้าให้กับนักแสดงหญิงในหนังของคุณโกลด์วิน” โกโกกล่าวกับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส   

ในปี 1931 โกโกในวัย 47 นั่งเรือจากปารีสไปเทียบท่าที่นิวยอร์ก ก่อนจะจับรถไฟข้ามประเทศไปยังลอสแองเจลิส เมื่อไปถึงสถานีรถไฟยูเนียน เกรตา การ์โบ ดาราทองแห่งยุคไปรอต้อนรับโกโก และในงานเลี้ยงรับรองที่จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่แฟชั่นดีไซเนอร์หญิงจากปารีส โกโกได้พบกับมาร์ลีน ดีทริช และบรรดาดาราทองแห่งยุคทั้งหลาย 

บรรดาหนังในยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่พยายามพาคนดูหนีไปจากความเป็นจริงอันหดหู่ด้วยเสื้อผ้าอลังการ ประเภทชุดผ้าไหมติดขนนกปักเพชร ขณะที่โกโกทำในสิ่งที่ชาแนลทำเสมอมา นั่นคือชุดสีขรึมกับเค้าโครงทรงสอบเรียบๆ ซึ่งความโก้เหล่านั้นจืดจางลงไปเมื่ออยู่บนจอภาพยนตร์ 

โกโกเริ่มงานออกแบบเครื่องแต่งกายให้ดาราฮอลลีวูด 

การคอลแล็บครั้งแรกๆของโลกระหว่างชาแนลและฮอลลีวูดจึงจบลง หลังจากทำงานด้วยกันในหนัง 3 เรื่อง ได้แก่ Palmy Days, Tonight or Never และ The Greeks Had a Word for Them โดยผลงานที่ได้รับคำชมที่สุดคือ Tonight or Never (1931) ในฉากดังที่กลอเรีย สวอนสัน ดาราทองแห่งยุคนั้นเฉิดฉายในเสื้อผ้า Chanel ที่ส่งตรงมาจากอะเตลิเยร์ที่ปารีส

เมซงฝรั่งเศสในฮอลลีวูด

Chanel หวนคืนสู่แอลเออีกครั้งในปี 2006 เมื่อคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์พาคอลเล็กชั่นครูสไปโชว์ที่ซานตา มอนิกา และนั่นก็เป็นครั้งแรกของวิร์จินี วิยาร์ด์ ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์คนปัจจุบันที่ได้ไปเหยียบนครนางฟ้า

Chanel Cruise 2024

ก่อนที่วิร์จินีแพ็กกระเป๋ากลับมาเที่ยวแอลเออีกครั้งกับ Cruise 2024 จำแลงกายเป็นดั่งโกโก ชาแนล ออกแบบคอสตูมให้ตัวเอกหญิงในหนังฮิตของฮอลลีวูด อาทิ ชุดสูทยุค 30 ของตัวละครเอเวอลิน ครอสส์ รับบทโดยเฟย์ ดันนาเวย์ในหนัง Chinatown ปี 1974, เดรสแนบเนื้อที่ชารอน เทตใส่แสดงบทเจนนิเฟอร์ นอร์ธ ในหนัง Valley of the Dolls ปี 1967, เสื้อยืดแถบหลากสีกับฮอตแพนต์ของชารอน เทต ที่มาร์โกต์ รอบบีมาแสดงเป็นเธอในหนัง Once Upon a Time in Hollywood ปี 2019 และเดรสคอปกสีชมพูแปร๋นที่รีส วิเธอร์สปูนใส่เล่นบทแอล วูดส์ ทนายความสาวบ้าสีชมพูในหนัง Legally Blonde ปี 2001 เป็นต้น

Words: Suphakdipa Poolsap
ข้อมูลจาก

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม