Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

คนดังกับโรคที่สร้างความตระหนักรู้ให้สังคม บรูซ วิลลิส, เซลีน ดิออน, เบลล่า ฮาดิด, เลย์ EXO

Beauty / Wellness & Aesthetic

กลายเป็นข่าวใหญ่เมื่อเพื่อนของบรูซ วิลลิส อัปเดตอาการป่วยล่าสุดว่า นักแสดงดังไม่สามารถสื่อสารได้อีกต่อไป อันเนื่องจากป่วยเป็นโรคสมองส่วนหน้าเสื่อม นอกจากบรูซแล้วก็ยังมีดาราคนดังอีกหลายรายที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับความป่วยไข้ ซึ่งในทางหนึ่ง ชื่อเสียงของพวกเขาก็ทำให้สังคมตระหนักรู้เรื่องสุขภาพได้เช่นกัน

นอกจากบรูซ วิลลิส ดาราดังจากหนัง Die Hard แล้ว LIPS พาไปทำความรู้จักโรคที่คนดังต้องประสบ ซึ่งทำให้โลกได้รู้จักภาวะเหล่านี้กัน

บรูซ วิลลิส สมัยเล่นหนัง Die Hard

บรูซ วิลลิส : อาการอะเฟเซีย (Aphasia)

ก่อนเปิดกล้องถ่ายทำหนังเรื่อง Out of Death ในปี 2020 ไมค์ เบิร์นส์ ผู้กำกับส่งอีเมลถึงนักเขียนบทว่า “เราต้องลดจำนวนหน้าบทของบรูซลง ตัดบทพูดให้สั้นๆ” และลงเอยที่เอเจนต์ของบรูซจัดคิวให้เขามาถ่ายหนังได้แค่ 2 วัน (แลกกับค่าตัว 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในการถ่ายทำมีนักแสดงอีกคนที่คอยพูดบทให้บรูซที่เสียบหูฟังอยู่พูดตาม และในฉากแอ็กชั่นที่ต้องยิงปืนจะมีสตั๊นต์แมนแสดงแทนบรูซ เนื่องจากในตอนนั้นทีมงานเริ่มสังเกตว่าเขาจำบทพูดไม่ได้ เผลอยิงปืนผิดคิว และเคยถามออกมาด้วยซ้ำว่า “ผมรู้ว่าคุณมาอยู่ตรงนี้ (ในกองถ่าย) ทำไม แต่ผมไม่รู้ว่าผมมาทำอะไรที่นี่” 

สุดท้ายในเดือนมีนาคม 2022 ครอบครัวของบรูซออกมาแถลงอย่างเป็นทางการว่า บรูซป่วยเป็น โรคสมองส่วนหน้าอักเสบ Frontotemporal Dementia (FTD) ส่งผลให้เป็นภาวะอะเฟเซีย หรือ ภาวะเสียการสื่อภาษา (Aphasia) ซึ่งกลุ่มอาการมีหลายแบบ เช่น กลุ่มที่พูดไม่ออก สะกดคำผิด เขียนไม่ได้ เขียนไม่เป็นคำ เรียกชื่อสิ่งของไม่ถูก หรือกลุ่มที่ฟังไม่เข้าใจ อ่านไม่เข้าใจ หรือกลุ่มที่มีความผิดปกติทั้งด้านการสั่งการด้วยภาษาและความเข้าใจภาษา ทำให้มีลักษณะเงียบ เฉยเมย ไม่พูด และไม่เข้าใจภาษา 

บรูซในทีวีซีรีส์ยุค 80 เรื่อง Moonlighting

ล่าสุด เกลน กอร์ดอน แครอน นักเขียนบทไปเยี่ยมบรูซวัย 68 และพบว่าเพื่อนของตนไม่อาจสื่อสารด้วยภาษา แต่สามารถรับรู้ได้ว่า Moonlighting ผลงานแสดงซีรีส์ที่แจ้งเกิดให้เขาเป็นดาวดังที่เคยออกอากาศทางสถานีเอบีซีช่วงปี 1985 – 1989 จะได้สตรีมมิงครั้งแรกทาง Hulu ซึ่งเกลนกล่าวว่าทำให้บรูซ “มีความสุข” เพราะผลงานเรื่องนี้ “มีความหมายต่อเขามาก” 

คนดังที่มีภาวะอะเฟเซียและประคับประคองอาการจนกลับมาทำงานแสดงต่อไปได้ก็คือ ‘ชารอน สโตน’ และ ‘เอมีเลีย คลากส์’ แห่ง Game of Thrones ซึ่งก่อตั้ง Same You มูลนิธิที่ช่วยให้คนหนุ่มสาวเข้าถึงเวชศาสตร์ฟื้นฟูโรคทางสมองได้มากขึ้น

Lay EXO

เลย์ EXO : โรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia)

เลย์ จาง หรือจางอี้ชิง (ผู้จะเป็นเมมเบอร์ EXO ในใจแฟนๆ ตลอดไป) ป่วยเป็นโรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) หรือ ‘โรคเลือดออกง่ายหยุดยาก’ เป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบได้บ่อย สามารถถ่ายทอดจากพ่อแม่ไปสู่ลูกหลานได้ พบผู้ป่วยที่เป็นเพศชายเท่านั้น ส่วนผู้หญิงจะเป็นพาหะที่ไม่แสดงอาการ แต่สามารถถ่ายทอดยีนผิดปกติไปสู่ลูกหลานได้ 

อาการของโรค คือเมื่อเลือดไหลแล้วก็จะไหลไม่หยุด เนื่องจากขาดโปรตีนชนิดที่ทำให้เลือดแข็งตัว ถ้าเกิดหกล้ม เนื้อตัวไปกระทบกระแทกอะไรก็จะเกิดจ้ำเขียวตามแขนขาและลำตัว หรือมีเลือดออกในข้อที่ต้องรับน้ำหนัก เช่น ข้อเข่า ข้อเท้า และข้อศอก มักมีอาการปวดรุนแรงในข้ออย่างเฉียบพลัน และมีข้อบวมแดงร้อนตามมาจนไม่สามารถขยับข้อได้ และต้องนอนนิ่งๆ ในท่างอเพื่อทุเลาอาการปวด ถ้าโรคไม่ค่อยแสดงอาการ คนที่เป็นฮีโมฟีเลียจะไม่รู้ตัวเลยว่าเป็นโรคนี้จนกว่าจะได้รับอุบัติเหตุ ต้องผ่าตัดหรือถอนฟันจึงจะพบว่าเลือดไหลไม่หยุด 

เลย์กล่าวถึงโรคฮีโมฟีเลียที่เขาเป็นในการให้สัมภาษณ์ถึงหนังสือชีวประวัติ ‘Standing Firm at 24’ ว่าเขามักจะเลือดออกง่าย และกล่าวถึงการที่พ่อเคยให้เขาผ่าตัดเส้นเสียง ซึ่งลงเอยให้เขาเสียเลือดมากอย่างรุนแรง 

ในอดีตเคยมีความเชื่อว่าราชวงศ์อังกฤษเท่านั้นที่เป็นโรคฮีโมฟีเลีย (พูดง่ายๆ ว่าเป็นโรคชนชั้นสูง) ต้นเหตุมาจากสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียเป็นพาหะ และส่งผ่านโรคนี้แก่ลูกๆ ซึ่งไปแต่งงานกับราชวงศ์สเปน เยอรมัน และรัสเซีย โดยหนึ่งในผู้ที่ทำให้โรคนี้เป็นที่รู้จักก็คือ อเล็กเซ โอรสองค์เดียวของซาร์นิโคลัส ซึ่งต้องปิดบังไม่ให้ใครรู้ว่ารัชทายาทองค์เดียวของซาร์ป่วยเป็นโรคที่พร้อมตายได้ทุกเมื่อ พระมารดาจึงให้รัสปูตินที่เชื่อกันว่าเป็นจอมเวทย์ลอบรักษาโรคนี้ให้บุตรชาย สร้างความเคลือบแคลงสงสัยในวังว่าพ่อมดหมอผีผู้นี้เข้ามาสนิทชิดเชื้อกับราชินีไปทำไม จนท้ายที่สุดเป็นหนึ่งในชนวนเหตุล้มล้างราชวงศ์โรมานอฟและระบอบกษัตริย์ในรัสเซียเลยทีเดียว   

เซลีน ดิออน เมื่อครั้งเปิดเผยว่าเป็นโรคคนแข็ง

เซลีน ดิออน : โรคคนแข็ง (Stiff-Person Syndrome – SPS)

ดีว่าชาวฝรั่งเศสเดินหน้าแสดงคอนเสิร์ต Courage World Tour ในอเมริกาเหนือไปแล้ว 52 โชว์ แต่แล้วกลับประกาศยกเลิกคอนเสิร์ตทั้งหมด และรวมไปถึงงานอื่นใดทั้งปวงด้วย เพราะเธอ “ไม่สามารถขยับตัวได้” และ “ไม่อาจร้องเพลงในแบบที่เคยร้องได้เหมือนเก่า” เนื่องจากเธอป่วยเป็นโรคทางประสาทที่ 1 ในล้านคนจะเป็นที่เรียกว่า โรคคนแข็ง Stiff-person syndrome (SPS) 

โรคนี้เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ เมื่อสารสื่อประสาทกาบ้า (GABA) ซึ่งมีหน้าที่ยับยั้งการทำงานของเซลล์ที่มากเกินจำเป็นและอย่างเหมาะสม มีปริมาณลดลง ส่งผลให้เซลล์ไม่มีระยะเวลาพักและทำงานตลอดเวลา จึงทำให้เกิดอาการผิดปกติ 

คนที่เป็นโรคนี้จะเกิดอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเกร็ง และกระตุกโดยเฉพาะที่หลังและต้นขา และไวต่อการรับรู้สิ่งเร้า เช่น มีอาการสะดุ้งหรือร่างกายกระตุกอย่างแรงเมื่อได้ยินเสียงดัง หากปล่อยให้โรคดำเนินมากขึ้น กล้ามเนื้อบริเวณนั้นจะถูกดึงรั้งจนหลังผิดรูปได้ 

โรคคนแข็งนั้นรักษาไม่หาย แต่ประคับประคองอาการให้ผู้ป่วยดำเนินชีวิตประจำวัน และชะลอการขยายตัวของโรคให้แพร่ช้าลงได้ บางรายถึงขั้นกลับไปทำงาน ร้องเพลง เล่นกับลูกหลานได้อีกครั้ง 

เบลล่า ฮาดิด : โรคไลม์/ลายม์ (Lyme Disease)

มีช่วงหนึ่งในปี 2021 ที่เบลล่า ฮาดิดหายหน้าไปจากวงการแฟชั่น ซึ่งจีจี้ พี่สาวนางแบบก็ออกมาโพสต์ไอจีบอกแฟนๆว่า น้องสาวของเธอกำลังต่อสู้กับโรคเรื้อรังที่เป็นมานานเกือบ 10 ปีที่เรียกว่า โรคไลม์ 

โรคไลม์/ลายม์ (lyme disease) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยมีเห็บ (สกุล xodex) เป็นพาหะ โดยส่วนใหญ่เห็บระยะตัวอ่อนจะแพร่เชื้อขณะคนโดนกัดและดูดเลือดนานกว่า 24-48 ชั่วโมง มักพบในที่มีภูมิอากาศเย็น เช่น สหรัฐอมริกา ยุโรป และเอเชียบางประเทศ โดยเข้าไปในบริเวณที่มีเห็บอยู่ เช่น ป่า ทุ่งหญ้า สวนสาธารณะ หรือการสัมผัสสัตว์ที่มีเห็บ เช่น กวาง สัตว์เลี้ยงต่างๆ แต่ยังไม่พบโรคนี้ในไทย  

ในครอบครัวฮาดิดป่วยเป็นโรคไลม์กันถึง 3 คน คือโยลันดา แม่, อันวาร์ น้องชาย และเบลล่าที่เริ่มเป็นโรคนี้ไล่เลี่ยกันมาในปี 2012 มีเพียงจีจี้คนเดียวที่สุขภาพดี เธอบอกว่าบางวันแม่นอนซมไม่มีแรง เธอต้องทำอาหารและพาน้องไปโรงเรียน 

ครอบครัวฮาดิดป่วยเป็นโรคไลม์เพราะขี่ม้ากันทั้งบ้าน เบลล่าเองเคยจริงจังกับการขี่ม้ามากจนเกือบได้เป็นทีมชาติสหรัฐ อาการของโรคไลม์นั้น ระยะเริ่มต้นจะพบผื่นผิวหนังลักษณะเป็นวงสีแดงคล้ายเป้ายิง ตรงตำแหน่งที่เห็บกัด มีอาการเหมือนเป็นหวัด ไข้ต่ำ ปวดเมื่อยตามตัวคลื่นไส้ อาเจียน ต่อจากนั้นผื่นวงสีแดงหลายวงแพร่กระจายไปที่ตำแหน่งอื่น เริ่มมีอาการทางระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เส้นประสาทอักเสบ อาการทางระบบหัวใจ เช่น การเต้นของหัวใจผิดปกติเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ปวดข้อ 

และระยะท้ายหากเป็นลุกลามนานหลายเดือนหรือเป็นปีจะมีอาการข้ออักเสบ ผิวหนังอักเสบ และอาการทางระบบประสาท วิธีการรักษาโรคโดยตรงยังไม่มี มีเพียงรักษาตามอาการ

เบลล่าเคยบอกโพสต์ไอจีรูปตัวเองขณะให้น้ำเกลือว่า “มีชีวิตอยู่กับโรคภูมิคุ้มกันร้ายตัวเองเรื้อรัง = หาเวลามาให้น้ำเกลือ” แต่ในภายหลังที่กลับมาระเบิดรันเวย์แฟชั่นอีกครั้ง เบลล่ากล่าวว่า “ไม่ขอแลกความป่วยไข้นั้นกับอะไรเลย ถ้าต้องผ่านช่วงเวลาแย่ๆ ต้องไปหาหมอ ต้องฉีดยาแบบนั้นอีกก็จะทำ เพราะมันทำให้ฉันเป็นฉันในวันนี้” 

Words: Suphakdipa Poolsap

ข้อมูลจาก

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม