Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Culture / Travel

ชวนเที่ยวงานอาร์ตที่ ART BASEL HONGKONG

พร้อม 7 ศิลปินน่าสนใจประจำงาน
Culture / Travel

สายอาร์ตคนไหนที่รักการเดินทางเป็นชีวิตจิตใจ พลาดไม่ได้แล้วกับงาน ART BASEL HONGKONG ที่กำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 23 – 25 มีนาคมนี้ เผื่อว่าใครแอบมองหาที่หนีเที่ยวช่วงอาทิตย์นี้ รีบจองตั๋วกันได้เลย !

ART BASEL HONGKONG คืองานแฟร์ที่รวบรวมศิลปะจากทั่วเอเชียมาจัดแสดงกันใน Hong Kong Convention and Exhibition Centre ที่นี่เราจะได้พบกับงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ ซึ่งในครั้งนี้มีศิลปะคนไทยได้แสดงงานด้วย

ว่าแต่มีศิลปินคนไหนน่าสนใจ หรือควรปักหมุดเดินทางไปเยี่ยมชมกันบ้าง วันนี้ LIPS MAGAZINE จะมาชวนทุกคนชมผลงานของ 7 ศิลปินน่าจับตามองประจำงานกัน

Justin Lim

จัสติน ลิม คือหนึ่งในศิลปินชาวมาเลเซียที่เข้าร่วมแสดงงานครั้งนี้ด้วย กับการจัดแสดงภาพวาดชุดใหม่ ที่ตั้งใจสะท้อนให้เห็นถึงช่วงเวลาที่ผู้คนใช้ชีวิตระหว่างล็อกดาวน์ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ทั้งๆที่อยู่ในโลกที่เหมือนจะไร้พรมแดน แต่ลิมรู้สึกว่ายิ่งความสัมพันธ์ของผู้คนพึ่งพาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นเท่าไหร่ เรายิ่งห่างไกลกันมากเท่านั้น ช่วงเวลาแปลกๆแบบนี้ ทําให้เขามองเข้าไปข้างใน เพื่อตระหนักมากขึ้นว่าไม่มีใครสามารถควบคุมชีวิตใครได้จริงๆ และโลกใบนี้ก็ไม่มีอะไรแน่นอน

ผลงานของลิมจึงเป็นฉากในจินตนาการ ที่จัดวางท่าทางของมนุษย์และลงสีองค์ประกอบภาพให้ออกมาในแนวภาพถ่าย ผสมปนเปกันเพื่อสร้างความรู้สึกคลุมเครือ คล้ายกับการพรรณนาถึงชีวิตประจําวันที่วางซ้อนในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปะติดปะต่อกัน สภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้น และบางครั้ง ในสภาพแวดล้อมเทียม

Yeoh Choo Kuan

โหยว ชู กวน กับภาพจัดแสดงชุด “Burn The Desert” ภาพวาดจากประสบการณ์ส่วนตัวของศิลปินเอง ที่ต้องการแสดงความซาบซึ้งและชื่นชมนักสู้แนวหน้าและวีรบุรุษในชีวิตจริงของเขา ซีรีส์นี้ขยายมาจากผลงานชุด “Streaming Mountain” โดยเฉพาะในช่วงปี 2562-2563 ซึ่งยังเน้นการใช้เทคนิคการปล่อยให้สีหยดลงไปเรื่อยๆ ภาพเขียนชิ้นนี้ยังเน้นย้ําถึงผลงานศิลปะโดยรวมของโหยว ซึ่งศิลปะทําหน้าที่เป็นช่องทางในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับสภาพแวดล้อม

Joshua Kane Gomez

และศิลปินชาวมาเลเซียคนสุดท้าย ได้แก่ โจชัว เคน โกเมซ กับซีรี่ส์ผลงานประติมากรรม ที่ต้องการสํารวจประเด็นปัญหาของความสัมพันธ์ที่ต้องพึ่งพาอีกฝ่ายอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนสภาพจากการแอบรักอยู่ห่างๆ มาเป็นความใกล้ชิดที่กัดกินทุกอย่างของความสัมพันธ์

ธีมของผลงานชิ้นนี้ถูกตั้งคำถามจากมุมมองของการถ้ำมอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับตํานานของเวนดิโก วิญญาณกินเนื้อคน ที่ถูกสาปให้ขับเคลื่อนด้วยความหิวโหย และดํารงอยู่ไปเรื่อยๆอย่างอดอยาก ในขณะที่ตำนานนั้นดูลึกลับดำมืด แต่ผลงานของโกเมสกลับลดระดับความน่ากลัวจากเรื่องที่ได้รับแรงบันดาลใจมา ให้ซ่อนอยู่หลังเฉดสีพาสเทล รูปลักษณ์ที่ดูไม่มีพิษภัย และฉาบความน่าสยดสยองด้วยความเพ้อฝัน

จักกาย ศิริบุตร

มาถึงศิลปินคนไทยกันบ้างอย่าง จักกาย ศิริบุตร กับผลงานพรมทํามือ ผ้าห่ม และการติดตั้ง (installation) ซึ่งสื่อสารเรื่องราวที่มีอิทธิพลต่อสังคมร่วมสมัย และปัญหาเชิงประวัติศาสตร์สังคมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

The Outlaws Flag (2560) ประกอบด้วยธงชาติที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ 21 ผืน ปักด้วยลูกปัดและแหจับปลาที่รวบรวมมาจากเมืองซิตตเว ประเทศเมียนมาร์ วัสดุเหล่านี้อ้างอิงถึงการพลัดถิ่นของชาวโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยมุสลิมในเมียนมาร์ ที่หลบหนีการการปราบปรามจากทหารแล้วขึ้นเรือมายังจังหวัดระนอง ภาคใต้ของประเทศไทย ในขณะที่ ผลงาน Blind Faith I, II, III (2554/2562) ซึ่งนำเสนอควบคู่ไปกับผลงาน The Outlaw Flag ในครั้งนี้ ทํามาจากเครื่องแบบของทหารไทย ประดับประดาด้วยกระสุนทองเหลือง ลูกปัดแก้ว และเครื่องรางของขลัง กับการตั้งคำถามถึงการส่งทหารไปยังพื้นที่ห่างไกลทางภาคใต้ แล้วอะไรละ คือสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของเหล่าทหารพวกนี้ ?

กวิตา วัฒนะชยังกูร 

อีกหนึ่งศิลปินไทยที่ได้แสดงผลงานในครั้งนี้ด้วยนั้นก็คือ แพรว-กวิตา วัฒนะชยังกูร ศิลปินร่วมสมัยรุ่นใหม่กับผลงานวีดีโอที่ถ่ายทอดโดยใช้ร่างกายของเธอเอง ประกอบกิจกรรมประหลาดต่างๆ เพื่อค้นหาความหมายของผู้หญิงกับบริบทสังคม และความเป็นอยู่ที่ลำบากลำบนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งในครั้งนี้จะเป็นการจัดแสดงผลงานชุด Field Work ที่ชวนทุกคนค้นไปในเรื่องราวการทำงานของเหล่าเกษตรกร ถึงความเหมาะสมและความคุ้มค่าที่เกิดขึ้นนั่นเอง

GIMHONGSOK

ศิลปินชาวเกาหลีใต้ที่โด่งดังมาจากการล้อเลียนผลงานรูปปั้นสุนัขเป่าลม ที่ในครั้งนี้มาพร้อมกับการแสดงผลงานที่มีชื่อว่า Solitude of Silence (2017-19) เมื่อตัวละครอย่างมนุษย์นั้น ไม่ได้มีศีรษะเป็นมนุษย์อีกต่อไป หากแต่กลายร่างเป็นสัตว์ต่างๆ พร้อมกับการตั้งคำถามเกี่ยวกับเหล่า ’คนงาน’ ที่ทำงานหามรุ่งหามค่ำในสังคมนี้ ว่าแท้จริงแล้วเขาเหล่านี้มีสร้างคุณประโยชน์หรือไม่ หรือการทำงานเหล่านี้เปรียบได้กับแรงงานสัตว์ต่างๆ ที่มนุษย์มองเห็นเพียงเพื่อความสนุกสนาน หรือการใช้งานเท่านั้น

Amir H. Fallah

และศิลปินคนสุดท้ายที่เราอยากให้ไปติดตามงานกัน นั่นก็คือ Amir H. Fallah ศิลปินชาวอิหร่านกับผลงานภาพวาดพอตเทรตที่ตั้งใจนำเสนอผ่านสื่อแนวผสมผสาน ที่บอกเล่าเรื่องราวของการค้นหาตัวตน ภายในสภาพแวดล้อมของอิหร่านเองด้วย ซึ่งทั้งหมดคือการเล่าผ่านสีสันที่แสบสัน และสดใสในคราเดียวกันจนทำให้ทุกคนที่มองเห็นภาพเหล่านั้นของ Amir เริ่มตั้งคำถามถึงความโหดร้ายของสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ พร้อมๆไปกับความสวยงามนั่นเอง

อย่าลืมว่า ใครก็ตามที่มองหาสถานที่หนีเที่ยวในช่วงปลายสัปดาห์นี้ นี่อาจเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีกับการผ่อนคลาย พร้อมทั้งเสพย์งานศิลป์ รวมถึงอาจหาซื้อภาพสวยๆซักชิ้นมาประดับประดาบ้าน ก็น่าจะสนุกไม่เบาเลยทีเดียว

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม