Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์ – เลขพลิก ชีวิตเปลี่ยน กับเรื่องโคตรซวยของหญิงชื่อตุ้ม

Culture / Entertainment

หลังจากที่วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ปล่อยผลงานการกำกับตามแบบฉบับของตัวเองใน ‘เมอร์เด้อเหรอ ฆาตกรรมอิหยังวะ’ มาแล้ว ถึงเวลาของผู้กำกับร่วมยุคอย่าง เป็นเอก รัตนเรือง กับผลงานล่าสุด เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์ โดยเป็นเอกดัดแปลงมาจากภาพยนตร์ของเขาชื่อเรื่องเดียวกันในปี 2542

69 เวอร์ชั่นหนังสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการภาพยนตร์ยุคนั้นในแง่ความเป็นภาพยนตร์ตลกร้าย สะท้อนความป่วยไข้ของยุคสมัย และนำเสนอแนวทางการกำกับที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ส่งผลให้เรื่องตลก 69 คว้ารางวัลใหญ่หลายสาขา รวมไปถึงการทำให้ หมิว-ลลิตา ปัญโญภาส คว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงมาทุกเวทีในปีนั้นอย่างเอกฉันท์

เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์ยังคงโครงเรื่องเดิมตามต้นฉบับ เล่าเรื่องราวของตุ้ม (ดาวิกา โฮร์เน่) หญิงสาวพนักงานขายประกันที่เพิ่งตกงานหมาด ๆ จากผลพวงของโรคระบาดโควิด-19 แต่อยู่มาวันหนึ่ง บททดสอบของพระเจ้าก็มาพร้อมเสียงเคาะประตูห้อง เมื่อตุ้มเปิดประตูและเห็นพัสดุปริศนาที่วางอยู่ตรงหน้า เธอจึงพบว่ามีแบงค์พันเป็นร้อยฟ่อนเต็มกล่อง และนี่คือจุดเริ่มต้นของเรื่องราววายป่วงพ่วงฆาตกรรมและอีกสารพัดสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลา 24 ชั่วโมง

ใครก็ตามที่ได้ดูเรื่องตลก 69 เวอร์ชั่นภาพยนตร์มาก่อน คงทราบถึงความน่าสนใจของมันทั้งในแง่การสะท้อนบริบทสังคมยุคเศรษฐกิจฟองสบู่แตกปี 40 ที่ส่งผลให้ตุ้มถูกเลย์ออฟ ภาพของเมืองหลวงกรุงเทพฯ ในช่วงเวลาสร้างตึกสร้างทางด่วนพัฒนาสู่ความทันสมัย เรียกได้ว่าเรื่องตลก 69 เป็นภาพยนตร์ที่บันทึกบริบทของยุคสมัยนั้นทำให้คนดูได้เห็นรูแปบบการดำเนินชีวิตและสังคมของคนเมืองได้

ผนวกกับสไตล์การกำกับอันเป็นลายเซ็นเฉพาะของเป็นเอก ผ่านวิธีคิดแบบผู้กำกับโฆษณาที่เริ่มต้นจากสถานการณ์ความบังเอิญ บังเอิญว่าหมายเลข 6 หน้าประตูห้องตุ้มพลิกลงมาเป็นเลข 9 ทำให้คนวางกล่องเงินผิดห้อง บังเอิญว่าตุ้มไปทำวีซ่าปลอมกับมาเฟียค่ายมวยที่พัวพันกับเงินในกล่อง และอีกสารพัดความบังเอิญที่ถูกใส่เข้ามาเพื่อสร้างความตลกร้ายให้กับเรื่องราว รวมถึงการสร้างคาแรกเตอร์ตัวละครแวดล้อมของตุ้มได้อย่างน่าจดจำ สะท้อนอารมณ์ขันอันแสบสันต์สไตล์เป็นเอกได้อย่างเป็นอย่างดี

เมื่อเป็นเอกหยิบผลงานเวอร์ชั่นภาพยนตร์ของตนเองมาทำเป็นซีรีส์ความยาว 6 ตอน (รวม 6 ชั่วโมง) เอื้อให้มีระยะเวลามากขึ้นในการขยายเรื่องราว หรือสอดแทรก

ประเด็นที่เขาอยากเล่าลงไปในซีรีส์ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเราจะเห็นว่าเป็นเอกยังคงรักษาเส้นเรื่องหลักไว้ โดยเปลี่ยนแปลงเรื่องราวให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น เช่น การปรับเปลี่ยนจากเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจปี 40 มาเป็นเหตุการณ์โรคระบาดโควิด-19 รวมไปถึงการใส่ภาพข่าวการชุมนุมประท้วงในปี 2563 ผ่านหน้าจอโทรทัศน์จอมือถือในเรื่องและการพูดถึงเรื่องม็อบของกลุ่มวัยรุ่นในบทสนทนาของตัวละคร เพื่อเป็นบทบันทึกของสังคมไทยในช่วงเวลานั้นเหมือนอย่างที่เวอร์ชั่นภาพยนตร์เคยทำไว้

แถมยังเพิ่มระดับความรุนแรงในซีรีส์ ทั้งฉากเรื่องปืน เซ็กซ์ ยาเสพติด แบบไม่ยั้งมือ รวมไปถึงการใส่เส้นเรื่องเซอร์เรียลผ่านฉากการรายงานตัวของผู้ตายในเรื่อง บิดเรื่องและสร้างจุดหักมุมเสียใหม่ให้แพรวพราวน่าติดตามมากขึ้น รวมไปถึงการเล่าเรื่องของตัวละครที่ไม่ถูกเล่าอย่างละเอียดในภาพยนตร์มาขยายและขยี้ตามในแบบเป็นเอก

ยกตัวอย่างตัวละครเมายาข้างห้องตุ้มในฉบับภาพยนตร์ เมื่อเป็นซีรีส์ เป็นเอกจึงมีเวลาแวะไปเล่าเรื่องของตัวละครนี้มากขึ้น จนกลายมาเป็น ทัด ไททานิค (ภัทร เอกแสงสกุล) แรปเปอร์หนุ่มยังโอมสไตล์ จอน (ธฤษณุ สรนันท์) ตำรวจหนุ่มหล่อที่เราจะได้เห็นเรื่องราวและความอยากเป็นคนดังของเขา พ่วงมากับจิ๋ม (ธนภรณ์ รัตนศศิวิมล) แฟนสาวของจอนที่แวะมายืมน้ำปลาที่ห้องตุ้ม ครั้งนี้เป็นเอกสร้างคาแรกเตอร์จิ๋มได้จัดจ้านน่าจดจำไม่แพ้ต้นฉบับ หรือแม้กระทั่งชายโรคจิตที่โทรมาสำเร็จความใคร่ที่ห้องตุ้ม เราก็จะได้เห็นตัวเป็นๆ และที่มาที่ไปของเขามากกว่าการมาแค่เสียงเพื่อสร้างจังหวะขำขื่นในภาพยนตร์

คนที่ชื่นชอบสไตล์การเล่าเรื่องของเป็นเอกอยู่แล้ว จะรู้สึกสนุกสนานไปกับการปรุงรสชาติยำใหญ่ใส่สารพัดของเขาในซีรีส์เรื่องนี้ได้ไม่ยาก ทั้งการเล่าเรื่องแบบตลกหน้าตาย การขยี้มุกอันแสนแพรวพราว แสบๆ คันๆ คาแรกเตอร์ตัวละครที่มีจุดเด่นน่าจดจำ รวมถึงการสะท้อนให้เห็นถึงความไร้สาระเหลือทนของมนุษย์ตามแนวทางตลกร้ายในซีรีส์ ที่ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง Fargo (1996) ของสองพี่น้องโคเอน

อย่างไรก็ดีสิ่งที่ดูจะเป็นปัญหาสำหรับซีรีส์คือ เมื่อเป็นเอกเล่าเรื่องโดยใช้พล็อตและสถานการณ์เป็นตัวตั้งในการนำพาเรื่องราว ตั้งใจแซะแซวเสียดสีสังคมเป็นหลัก และการใส่ความจัดจ้านให้กับตัวละครสร้างภาพจำซึ่งเป็นเฉดสีที่ฉูดฉาด จึงทำให้ตัวละครหลักอย่างตุ้มขาดมิติความเป็นมนุษย์ และยากที่เราจะรู้สึกอยากเอาใจช่วยหรือเห็นอกเห็นใจตุ้ม

ดังนั้น การผสมผสานความสมจริงสมจังของเหตุการณ์กับเรื่องราวเหนือจริงในจักรวาล 69 อาจทำให้ต้องใช้เวลาในการจูนกับวิธีการเล่าเรื่องสไตล์เป็นเอกไม่น้อย และหลายคนอาจจะถอดใจตั้งแต่ตอนแรก พร้อมกับการตั้งคำถามถึงความอิหยังวะของสถานการณ์ นึกอยากจะเล่าอะไรก็เล่า อยากจะใส่อะไรก็ใส่ พาลให้รู้สึกหงุดหงิดต่อไม่ติดกับวิธีการเล่าในแบบเป็นเอก

เบื้องหลังการถ่ายทำ เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์ จาก Netflix

ส่วนใครที่จูนติดกับจักรวาล 69 ได้แล้ว เชื่อว่าจะสนุกสนานกับความหฤหรรษ์วายป่วงที่เป็นเอกสรรหามานำเสนอในซีรีส์เรื่องนี้ และได้ขำขื่นไปกับความป่วยไข้ของสังคมไทยยุค 4.0 อย่างแน่นอน

Words: Thanapol Chaowanich

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม