Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

Wood & Mountain งานแฟชั่นทำมือ ใส่วิ่งเทรลบนดอย แบรนด์ของคนไม่สะดวกตามเทรนด์ 

Fashion / Style File

วิ่งเทรล ภูเขา ลวดลายใบไม้ แฟชั่น ถ้าองค์ประกอบหลักในชีวิตคุณคือสิ่งเหล่านี้ คุณจะทำอะไรกับมัน 

เราถาม กิ๊ฟพิมพ์พิศา ทองหล่อ เธอชี้ไปที่เสื้อผ้าลายทำมือที่ใส่อยู่ แล้วตอบว่า “ทำ Wood and Mountain

“เราเป็นคนกรุงเทพฯ ใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯมาตลอด และชอบวิ่งเทรลตามดอยต่างๆ” กิ๊ฟเปิดเรื่องราวของ Wood and Mountain แบรนด์แฟชั่นแนวคราฟต์ แอดเวนเจอร์ สโลว์แฟชั่น “ก็เลยคุยกับสามีว่าเบื่อกรุงเทพฯ เราย้ายไปอยู่ที่อื่นกันไหม”

เชียงใหม่คือถิ่นฐานใหม่ที่กิ๊ฟกับสามี ‘น็อต – วชิร ทองหล่อ’ พาตัวเองไปอยู่ในสถานที่ที่ทำให้กายใจได้เปิดโล่ง และเปิดกว้างให้ความเป็นไปได้ใหม่ๆเข้ามาหา “เชียงใหม่เป็นที่แรกที่คิด เพราะมันมีดอย และมีรายการวิ่งเทรลที่เราชอบ เลยลองไปอยู่ระยะสั้นๆ ก่อน แล้วค่อยๆ ขยับเวลาออกไปเรื่อยๆ จาก 3 เดือนก็เริ่มเช่าบ้านเป็นรายปี เริ่มลงทุนทำธุรกิจ” กิ๊ฟเล่า

“ตอนแรกยังคิดไม่ออกว่าจะทำธุรกิจอะไร เดิมทีเราเป็นคนชอบแต่งตัว เดินจตุจักร ซื้อเสื้อผ้ามือสอง ชอบงานวินเทจที่มีแพตเทิร์นสวยๆ เราชอบซื้อเก็บไว้ทั้งที่ไม่เคยใส่ อย่างเสื้อผ้าสมัยสงครามที่เนื้อผ้าหนาไม่เหมาะกับอากาศบ้านเรา แต่ตอนอยู่กรุงเทพฯ เราไม่มีโอกาสหรือไม่กล้าคิดว่าจะทำแบรนด์ เพราะการแข่งขันสูงมาก ทุกคนเรียนจบแฟชั่นจากต่างประเทศ  และจะทำแบรนด์ทีต้องใช้เงินเยอะ

“แต่พอมาอยู่เชียงใหม่ เราเห็นว่ามันเป็นไปได้ เราอยากได้เสื้อผ้าแบบนี้ก็ไปบอกแม่ๆ (ช่างตัดเย็บ) ว่าทำแบบนี้ได้ไหม เราเริ่มทำเสื้อผ้าออกมาจำนวนน้อยๆ ก่อน เพื่อนๆ ก็ชอบกัน เพื่อนในวงการแฟชั่นและดนตรีก็ซัพพอร์ต พอเริ่มมีฐานลูกค้าก็ค่อยๆเพิ่มจำนวนการผลิตจนมาถึงทุกวันนี้” 

เรื่องราวโดยย่อของ Wood and Mountain มีเพียงเท่านี้ หากระหว่างทางนั้นมากไปด้วยรายละเอียด “พอออกจากกรุงเทพฯแล้ว เราไม่ต้องกดดันว่าต้องไปถึงที่นั่นที่นี่กี่โมง อยู่เชียงใหม่เรานัดเวลาคร่าวๆได้ และในหนึ่งวันเราไปได้หลายที่ ไม่ต้องกดดันเราให้ต้องรีบ สถานที่ทำให้สภาพจิตใจเราผ่อนคลาย เชียงใหม่มีความเป็นเมือง แต่ขับรถออกนอกเมืองไป 10 นาทีก็ขึ้นดอยได้ จะกินไฟน์ไดนิ่งก็ขับรถ 15 นาทีเข้ามาแถวนิมมานฯ” 

ผ้าพิมพ์ลายสวยแปลก สีสันคล้ายเคยเห็นบนต้นไม้ที่ผันแปรตามฤดูกาล บนเนื้อผ้าเรยอนนุ่มใส่สบาย ขยับเคลื่อนไหวราวกับเป็นคู่เต้นของผู้สวมใส่คือเอกลักษณ์ของ Wood and Mountain “สไตล์ของแบรนด์เป็นแบบนี้มาแต่แรก ที่เปลี่ยนไปคือวัสดุ แรกๆ เราทำกันแค่ในเชียงใหม่ มีแม่ๆ ป้าๆ มาช่วยกัน เราชอบขับรถไปดูผ้าตามหมู่บ้านต่างๆ ที่หาในกูเกิลหรือเฟซบุ๊กไม่ได้ ต้องอาศัยถามแม่ๆ ว่าบ้านไหนเย็บผ้าแบบนี้บ้าง มันสนุกตรงนี้

“แต่บางทีก็ไปเจอแม่ๆ ที่ไม่อยากทำงานตัดเย็บผ้าแล้ว ทำอย่างอื่นได้เงินเยอะกว่า เราพยายามขอร้อง ‘แม่ ทำงานนี้ให้หนูได้ไหม ฝีมือแม่มีค่ามากนะ’ เราต้องเล่าให้เขาฟังว่าผลงานของเขาไปถึงไหน บางทีเขาไม่รู้ว่าทำไปแล้ว แล้วยังไงต่อ เราจะไปเล่าให้เขาฟังว่าเสื้อผ้าที่แม่ทำมีดาราใส่นะ เขาจะอิน (ยิ้ม) 

“งานทุกชิ้นเป็นฝีมือแม่ๆ ป้าๆ ช่วยทำ หนึ่งคนจะทำหลายอาชีพอยู่แล้ว บางทีเขาก็ไม่ว่าง ต้องไปเก็บเห็ด เป็นวิถีที่เขาทำแบบนี้กันมา ตอนแรกเราคิดว่าจะไปช่วยเขาให้ทำงานที่บ้านได้ ไม่ต้องไปทำอาชีพอื่น แต่จริงๆ แล้วเขามาช่วยให้เราเรียนรู้จากงานนี้ว่า ไม่ต้องรีบ ต้องรอนะ ไม่จำเป็นต้องผลิตเยอะหรอก ทั้งหมดนี้เขาสอนโดยที่เขาไม่ต้องพูดออกมา 

“เราอยู่กรุงเทพฯ ทุกอย่างคือค่าใช้จ่าย แต่ที่เชียงใหม่นี้ เราจะให้ค่าทุกอย่างด้วยตัวเลขไม่ได้ บางทีจะให้เงิน แม่ๆ บอกว่า ‘ไม่ต้อง คนแถวนี้ช่วยเหลือกันแบบนี้’ เหมือนเขามาหยิกแขนเราน่ะว่าไม่ต้องคิดแบบนั้นก็ได้ เพราะเราจะเกรงใจมากเวลาใครมาทำอะไรให้ เราจะจ่ายเงินให้ตลอด แต่บางทีเป็นการดูถูกน้ำใจเขา” กิ๊ฟเล่ายาวๆ ถึงประสบการณ์ใหม่ที่เปลี่ยนเธอจากผู้บริโภคมาเป็นผู้ผลิต

“เราอยากทำลวดลายไม่ดูกาแลเชียงใหม่เกินไป แต่คนหยิบมาใส่เพราะมันสวย ใส่ในชีวิตประจำวันได้ ดูโมเดิร์น และเขาได้ช่วยซัพพอร์ตงานฝีมือชุมชนด้วย ลวดลายหลักๆ ได้จากตอนวิ่งเทรล เราจะซูมอินลายและสีของใบไม้ที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาล หน้าแล้งใบไม้จะเป็นสีน้ำตาลเหลืองแห้งกรอบ หน้าฝนจะไม่ได้มีแค่สีเขียวกับน้ำตาล มีความเหลือบม่วงของใบไม้ที่กำลังเปลี่ยนสี” นักวิ่งเทรลเป็นงานหลักบอก 

“เชียงใหม่เป็นแหล่งวิ่งเทรลของเมืองไทย คนที่อยู่ที่นี่ว่างๆ ก็ไปวิ่งเทรล เวลาเราเจอคนวิ่งตามสี่แยกในเมือง เขาไม่ได้ดูเป็นตัวประหลาด มันคือกิจกรรมที่ใครๆ ก็ทำ อย่างตอนเราจะเปิดคอลเล็กชั่น เราอยากให้แตกต่างและใส่ความคราฟต์ผสมแอดเวนเจอร์ ก็เลยขอแรงเพื่อนๆ ใส่ชุดของแบรนด์ ไต่หน้าผาขึ้นไปวิ่งบนเขาแหลม แล้วถ่ายโดรนจากมุมสูง เห็นคนวิ่งบนดอยจริงๆ” กิ๊ฟเล่าที่มาของแฟชั่นที่กลืนไปกับหิน ผา กา ดอย

“ผ้าที่ใช้เป็นเรยอน เหมาะกับอากาศบ้านเรา ใส่ง่าย สบายตัว เย็น แห้งง่าย ใช้เทคนิคต่างๆ เช่น เพนต์มือ มัดย้อม ใช้บล็อกไม้ปั๊มเทียนสร้างลวดลายขึ้นมา เรากับสามีไม่เคยทำแฟชั่นก็มาก่อนเรียนรู้กันใหม่ น็อตเป็นนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ แต่เราไม่ได้ใช้เทคนิคที่ยากหรือซับซ้อน แอบวาบิซาบินิดๆ ด้วยซ้ำ คือทำลวดลายที่ไม่ต้องสวยสมบูรณ์แบบ ผ้าแต่ละผืนเลยไม่เหมือนกัน แต่ละชุดจึงแตกต่าง 

“เราไม่ได้อยากทำให้แฟชั่นดูซับซ้อน ไกลตัว อยากให้ใส่ง่าย และเราไม่ได้อยากให้คนซื้อเพราะเห็นอินฟลูเอนเซอร์หรือ KOL ใส่แล้วซื้อตาม ไม่มีการส่งของให้ใครใส่เลย เรากลัวคนจะมาซื้อตามแล้วใส่ได้ไม่นาน เลยทำจำนวนน้อยๆ ไม่อยากให้พอขายไม่ได้แล้วต้องมา SALE” ดีไซเนอร์บอก 

ถ้าเข้าไปดูเว็บไซต์ www.woodandmountain.com คุณจะแปลกใจว่านี่ไม่ใช่แบรนด์แฟชั่น แต่มีเมนูให้เลือกหลากหลาย ทั้ง CABIN, SHOP, MAGAZINE เพราะ Wood and Mountain คือตัวตนของกิ๊ฟและน็อตที่สนใจอะไรก็แชร์ จนขยายเป็นคอมมูนิตี้ “สามีเราทำที่พัก Wood and Mountain Cabin อยากให้คนได้มาพักผ่อนแบบปลีกวิเวกจริงๆ แต่ Grab ไปส่งถึงนะ (หัวเราะ) เราเพิ่งขยายไปทำ Wood and Mountain: Sound + Store บาร์ที่มีเครื่องเสียงดีๆ ให้นั่งชิลและช้อปเสื้อผ้าไปด้วย เวลาเจอลูกค้าที่น่าสนใจ เราก็ไปสัมภาษณ์เป็น ‘WAM PEOPLE’ แต่อยู่กรุงเทพฯจะไม่กล้าคุยกันนะถ้าเจอกันตามอีเวนต์ รู้สึกว่าอยู่ดีๆ จะไปคุยกับเขายังไง แต่พออยู่เชียงใหม่แล้วกล้าคุย (หัวเราะ)

Wood and Mountain Cabin

Wood and Mountain: Sound + Store

“นอกจากแบรนด์จะนำเสนอความชอบของเราแล้ว ก็อยากให้กำลังใจคนที่ย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดด้วยว่า ออกมาทำสิ่งอื่นได้นะนอกจากปลูกผักออร์แกนิก บางคนก็ทำเฟอร์นิเจอร์ ทำผลงานรีไซเคิลพลาสติก ทุกคนที่เราไปสัมภาษณ์คือคนกรุงเทพฯทั้งนั้นเลยที่ย้ายออกไปอยู่ที่อื่น กรุงเทพฯ ก็พัฒนาในทางของเขา แต่เราไม่ค่อยได้กลับไป นอกจากไปหาเพื่อน เหมือนเราที่ของเราแล้วที่เชียงใหม่” กิ๊ฟเล่า

“พอมาอยู่ที่นี่เหมือนเราได้มีชีวิตอีกครั้ง ตอนอยู่กรุงเทพฯ เราใช้ชีวิตเป็นรูทีน ต้องตื่นกี่โมง ต้องทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ไม่เคยหาความหมายว่าจะทำไปทำไม เห็นเพื่อนๆ ทำกัน ฉันทำด้วย มันเหนื่อยนะ แต่การทำ Wood and Mountain ทำให้เราตระหนักอีกครั้งว่า นี่คือสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ ใช่ไหม เพราะเราเป็นคนเลือกจะทำสิ่งนี้เอง ไม่ได้ทำเพราะอิงตามกระแส หรือทำเพราะสีนี้ แบบนี้กำลังมา และเวลาเจอลูกค้าทีไร เราเติมเต็มมาก เขาส่งพลังดีๆ มาให้ว่าชอบงานของเรานะ ชีวิตคนเราต้องการแค่นี้เอง คือการให้กำลังใจกัน

“เรื่องตัวเลขเราต้องคิดอยู่แล้ว เราทำธุรกิจ เราต้องการรายได้มาจ่ายค่าตอบแทนให้น้องๆ แม่ๆ ป้าๆ ในเรตราคาที่เขาสมควรได้รับ ไม่ได้ไปกดราคาเขา แต่ตัวเลขไม่ใช่สิ่งแรกที่เราคิด และเราไม่ได้เข้าโครงการอะไรใดๆ เลย เห็นเหมือนกัน พวกโครงการแฟชั่นของกรมส่งเสริมการส่งออก แต่กลัวเข้าไปแล้วโดนขีดกรอบ เราเป็นเด็กดื้อนิดหนึ่ง 

“เราอยากเติบโตในทางของเราที่อาจจะช้าหน่อย แต่ได้เป็นตัวเอง” 

Words: Suphakdipa Poolsap

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม