Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview

Embrace Changes – WISHARAWISH

อู๋-วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข กับการปรับตัวของแบรนด์แฟชั่นผ้าไทยร่วมสมัยในช่วงวิกฤตโควิด-19
Interview

ชื่อของ อู๋-วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข อาจจะไม่ใช่ชื่อใหม่ในแวดวงแฟชั่น เพราะตลอด 16 ปีที่บัณฑิตเอกศิลปะการละครจากรั้วอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ คนนี้ ก้าวข้ามฝั่งมาเดินอยู่ในถนนสายแฟชั่นนั้นก็นับว่า เขาได้พิสูจน์ตัวเองให้ทุกคนเห็นแล้วว่า เขาทำในสิ่งที่เขาหลงใหลได้ดีขนาดไหน แบรนด์ WISHARAWISH ที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ผ่านการตีความผ้าท้องถิ่นชนิดต่างๆ ที่ดีไซเนอร์ผู้นี้เดินทางไปเสาะแสวงหา และศึกษาเนื้อแท้ของผ้ามาแล้วทั่วประเทศ สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนหันมามองผ้าไทยในมุมใหม่ที่มากกว่าเป็นของควรค่าแก่การอนุรักษ์ แต่เป็นอาภรณ์ที่สวมใส่ทุกวันได้อย่างไม่เคอะเขิน ทั้งยังมีสไตล์ไม่แพ้แบรนด์ชั้นนำแบรนด์ไหนๆ

เราเดินทางไปหาแมตทีเรียลมาทั่วประเทศแล้วก็ว่าได้ อาจจะไม่ถึงกับครบทั้ง 77 จังหวัด แต่ก็ไปมาทุกภาคทุกที่ที่มีงานผ้า เราพยายามที่จะใช้แมตทีเรียลท้องถิ่นเพื่อที่จะสร้างความแตกต่าง เพื่ออุดหนุนและสนับสนุนให้ชุมชนได้มีรายได้” 

     …ตอนที่เริ่มหยิบแมตทีเรียลท้องถิ่นมาใช้เราพยายามใช้ผ้าจากบุรีรัมย์ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิดของเรา เพราะช่วงนั้นคุณพ่อเสีย เรากลับไปใช้เวลาอยู่ที่บ้านเยอะ แต่พอทำไปสักพักส่วนใหญ่แล้วเราจะใช้พวกผ้าบาติกเป็นส่วนใหญ่ แต่จริงๆ แล้วตอนนี้เราหันมาเล่นกับผ้าฝ้ายมากกว่า ทั้งจากอุบลราชธานี ขอนแก่น เชียงใหม่ ผ้าขาวม้าราชบุรี แล้วก็มีผ้าบาติกนราธิวาส  เราพยายามที่จะลดต้นทุน อีกทั้งคนก็ไปจับงานผ้าไหมกันค่อนข้างเยอะ เราเลยพยายามที่จะกระจายโอกาสแล้วก็ไปเล่นกับพวกผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ”

     ในปีนี้วิชระวิชญ์กำลังจะมีแพลนขยับขยายไปเปิดป๊อปอัพสโตร์ในห้างหรูย่านกินซ่า ใจกลางกรุงโตเกียว แต่ต้องเลี้ยวกลับมาตั้งหลักในบ้านเกิดก่อน เนื่องด้วยวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้ทุกวงการต้องเร่งหาแผนสำรอง

     “ปีนี้จริงๆ เรามีแพลนไปโชว์คอลเล็กชั่นทั้งที่ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย แล้วก็ออสเตรเลีย ปรากฎว่า ยุบหมดเลย หรืออาจจะเลื่อนไปเป็นปีหน้าเลย แล้วถ้าไม่มีโควิด-19 เรามีแพลนที่จะเข้าไอคอนสยาม ตามด้วยพารากอน ( ณ ตอนนี้ WISHARAWISH วางจำหน่ายคอลเล็กชั่นล่าสุดในโซน Icon Craft ศูนย์การค้าไอคอนสยามแล้ว)  ตอนนี้ก็ต้องปรับทิศทางใหม่ การออกแบบก็คงตัดทอนอะไรที่เกินความจำเป็นออกเพื่อให้มันเข้าใจได้ง่าย
     …เราพยายามที่จะตัดขั้นตอน logistic ออกด้วย เราไม่อยากให้คนต้องเดินทาง การวิ่งส่งของต่างๆ ก็ต้องลดลงเพื่อให้สามารถคุมต้นทุนให้ได้ให้มากที่สุด อย่างช่วงนี้ปัญหาก็คือ เราไม่สามารถส่งของไปรษณีย์ไปญี่ปุ่นได้ ส่วนในประเทศแหล่งผลิตตามต่างจังหวัดยังไม่มีปัญหา เรายังสื่อสารกันตลอด แล้วก็ส่งไปรษณีย์ หรือส่งรถทัวร์นครชัยฯ คืนเดียวถึง เราก็พยายามที่จะป้อนงานต่อไป เพราะเราไม่อยากให้มันตาย ไม่อยากให้มันดิ่ง ไม่รู้ว่าวิกฤตนี้จะยาวนานแค่ไหนเหมือนกัน แต่ก็ต้องอยู่ให้ได้”

     เขายังมองว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้ทุกวงการต้องปรับตัว วงการแฟชั่นก็ต้องประคองตัวเองให้ผ่านพ้นช่วงเวลาอันยากลำบากไปให้ได้
     “นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของเราที่ประสบกับปัญหา เพราะคยมีครั้งหนึ่งตอนปีค.ศ. 2011 ตอนแรกจะไปโชว์ที่โตเกียวแฟชั่นวีค แต่แล้วก็เกิดแผ่นดินไหวขึ้น ซึ่งเราก็ได้บทเรียนจากตรงนั้นมาแล้วว่า บางอย่างเราคอนโทรลมันไม่ได้ทั้งหมดน่ะ ก็ต้องรับมันให้ได้

     …ทุกวันนี้เราคิดว่า มันยังมีช่องทางออนไลน์ ไม่มากก็น้อย แล้วก็แน่นอนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ย่อมส่งผลกระทบกับระบบความคิด และการจับจ่ายใช้สอยของทุกๆ คน หรือการทำงานของดีไซเนอร์เอง ทุกคนก็ต้องมีการปรับองค์กร หรือปรับกระบวนการกันแน่นอน

     …แต่สำหรับ WISHARAWISH เรามีทีมงานประจำน้อยมาก แล้วก็พยายามกระจายงานลงไปที่ supplier ทั้งผ้าและผู้ผลิตต่างๆ ดังนั้นเราก็พยายามใช้ศักยภาพของแต่ละคนให้ได้มากที่สุด  เราเห็นองค์กรคนเยอะๆ มาหลายที่แล้ว แล้วเราก็ไม่ได้ต้องการที่จะเติบโตในแง่นั้น เพราะการเป็นองค์กรเล็กๆ การตัดสินใจ หรือการปรับเปลี่ยนแก้เกมมันง่ายกว่ากันมาก  แต่แน่นอนว่า เราก็ต้องเสียค่าบริหารจัดการต่างๆ เยอะกว่าหน่อยแต่มันเหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และในอนาคต”

     ท่ามกลางช่วงเวลาที่แบรนด์ยักษ์ในโลกแฟชั่นหันมาเย็บหน้ากากอนามัย ผลิตชุดป้องกันเชื้อให้แพทย์แทนคอลเล็กชั่นโอต์กูตูร์ หลังจากวิกฤตครั้งนี้จบลงนักวิเคราะห์ต่างลงความเห็นว่า วงการแฟชั่นน่าจะหันเหไปทางมินิมัลมากขึ้น ซึ่งดีไซเนอร์ผู้นี้ให้ความเห็นว่า

     “คงจะมินิมัลในระดับหนึ่ง แต่คงไม่ถึงกับมินิมัลกันหมดทุกคนหรอก เพราะคนก็ยังต้องการความฟุ้งฝัน หรือต่อให้อยู่บ้านมากขึ้นก็เท่ากับมีอิสระมากขึ้นเหมือนกันนะ แต่แน่นอนว่า

“คนทั่วไปย่อมต้องการอะไรที่เรียบง่ายขึ้นมาก แต่ท้ายสุดแล้วคนก็ยังต้องการอะไรที่มีความเป็นตัวของตัวเองอยู่ แต่คนอาจจะให้ value กับเรื่องของกระบวนการ หรือที่มาที่ไปมากขึ้น”

     เมื่อถามว่า ทุกวันนี้จัดวางตัวเองไว้ในจุดไหนของแวดวงแฟชั่นไทย คำตอบของเขาเป็นไปอย่างเรียบง่าย
     “ไม่รู้ว่า ตัวเองอยู่จุดไหนเหมือนกันนะ แต่ก็ทำไปเรื่อยๆ เราทำงานออกแบบเสื้อผ้านี่มา 16 ปีแล้ว เราก็ต้องอยู่กับมันให้ได้น่ะ ไม่ได้ต้องการที่จะขึ้นเป็นยืนหนึ่งหรืออะไรทั้งสิ้น แต่ขอมีความสุขกับสิ่งที่ทำอยู่ไปเรื่อยๆ ก็แฮปปี้แล้ว อย่าเพิ่งล้มไปแล้วกัน เพราะว่าเราอยู่มานานเราก็เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงมีอยู่ตลอดเวลา”  

อ่านบทสัมภาษณ์เวอร์ชั่นเต็มได้ที่  LIPS Magazine April Issue : SEASONS CHANGE

┃Photography : WISHARAWISH

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม