Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

Vinyl Fair BKK 2023 งานแฟร์ของนักวัตถุ (บันทึกเสียง) นิยม

งานแผ่นเสียงสุดชิก เปลี่ยนห้องพักโรงแรมเป็นป๊อปอัปสโตร์
Art & Design / Culture

บ่ายแก่วันเสาร์ ฉันนั่งทอดอารมณ์อยู่บนโซฟาในห้องพัก ของโรงแรม Public House Hotel ใจกลางสุขุมวิท บนเตียงเต็มไปด้วยแผ่นเสียง ท่วงทำนองเพลงขึ้นหิ้งในแต่ละยุคลอยอ้อยอิ่งอยู่ในอากาศ จากห้องหนึ่งสู่ห้องหนึ่ง จากเพลงเก่าสู่เพลงใหม่ จากเพลงคุ้นหูสู่เพลงแปลกหู รู้ตัวอีกทีฉันอยู่ในงาน Vinyl Fair BKK 2023 

สมัยฉันยังเด็กคำว่า “วัตถุนิยม”  เป็น Adjective ที่มีความหมายเชิงลบ ใครที่ถูกเรียกว่าเป็นพวกวัตถุนิยมมักถูกนิยามว่าเป็นคนตื้นเขิน เป็นพวกที่ให้ความสำคัญกับทรัพย์สินเงินทอง การครอบครองสิ่งของที่ไร้ซึ่งสารัตถะ เพลง Material Girl ของมาดอนน่ากับเนื้อหาที่ว่าด้วย สาวสวยหัวสมัยใหม่ สนใจแต่ทรัพย์สินเงินทอง ไม่เห็นความรักอยู่ในสายตา ถูกมองว่าเป็นผลไม้พิษของวัฒนธรรมอเมริกันที่สร้างความเจ็บป่วยทางความคิดให้กับเยาวชนแสนไร้เดียงสาในประเทศโลกที่ 3 

ฉันนึกถึงช่วงเวลานั้นด้วยความขัน  เมื่อเวลาผ่านไป หลายสิ่งไม่จำเป็นต้องพึ่งพาวัตถุเป็นสื่อกลางในการครอบครองอีกต่อไป อินเทอร์เน็ตพาโลกเข้าสู่ยุคข้อมูลนิยม สื่อบันเทิง ภาพยนตร์ หนังสือ เพลง แปรสภาพอยู่ในรูปแบบดิจิทัลที่การดาวน์โหลดและสตรีมมิ่งเป็นช่องทางสำคัญในการเข้าถึงสื่อและงานศิลปะ ทุกคนฟังเพลงได้ฟรีๆ การครอบครองวัตถุที่บันทึกเพลงของมาดอนน่าคล้ายว่าจะไม่มีความหมายอีกต่อไป

ค่านิยมที่เคยมีก็เลยกลับตาลปัตร ทุกวันนี้เราฟังเพลงผ่านสตรีมมิ่งเป็นหลัก YouTube, Spotify, Joox, Apple Music ทำให้ Tower Records กลายเป็นโบราณสถานเลือนลางในความทรงจำที่วัยรุ่นเจนซีไม่รู้จัก ครั้นแล้วคนกลุ่มเล็กๆที่หลงใหลในเสน่ห์ของความทรงจำนั้นก็ก่อตัวขึ้น ยืนยันว่าการครอบครองวัตุถุที่บันทึกเสียงนั้นมีความหมาย เกิดเป็นกลุ่มนักสะสมแผ่นเสียง กลายกลับเป็นว่าความนิยมในวัตถุที่เป็นรูปธรรมไม่ใช่ความตื้นเขินฉาบฉวยอีกต่อไป

บ่ายแก่วันเสาร์ ฉันนั่งทอดอารมณ์อยู่บนโซฟาในห้อง 211 ของโรงแรม Public House Hotel ใจกลางสุขุมวิท ไม่ได้มานัดเจอคลอเคลียกับชายหนุ่มที่ไหน (เขียนให้เซ็กซี่ไปงั้น จริงๆก็ไม่เคยมีประสบการณ์แบบนั้นร้อก) บนเตียงเต็มไปด้วยแผ่นเสียงให้คนที่ผ่านเข้ามาได้เลือกซื้อเลือกชม (แผ่นเสียง ไม่ใช่ฉัน)

ฉันอยู่ในโซนออกร้านของงาน Vinyl Fair BKK 2023 ที่ปรับเปลี่ยนห้องพักในโรงแรม Public House ให้กลายเป็นป๊อปอัปสโตร์ของร้านขายแผ่นเสียง หนึ่งห้องต่อหนึ่งร้าน เดินเข้าไปในแต่ละห้อง สิ่งแรกที่เห็นคือ ตู้เสื้อผ้าหน้าห้องพักที่ถูกเปลี่ยนเป็นชั้นวางแผ่นเสียง เทปและซีดีเก๋ๆ

ราวแขวนเสื้อผ้าสำหรับแขกกลายเป็นราวแขวนเสื้อวงดนตรีหายาก มุมนั่งเล่นในห้องมีเครื่องเล่นแผ่นเสียงดีไซน์เรียบหรูพร้อมเครื่องเสียงครบเซตเล่นแผ่นขับกล่อม และใช้สำหรับลูกค้าที่อยากลองฟังแผ่นเสียงที่สนใจได้ บนเตียงเต็มไปด้วยแผ่นเสียงปกสวยวางเรียงบนผืนผ้าห่มสีขาวสะอาด เป็นการวางสินค้าที่เย้ายวนอย่างคาดไม่ถึง

บรรยากาศของแต่ละห้องแตกต่างกันไปตามคาแรกเตอร์ของแต่ละร้าน บ้างก็เป็นแนวเพลงไทยคลาสสิคขึ้นหิ้ง บ้างเป็นเพลงอินดี้ บ้างเป็นแผ่นเสียงนำเข้าจากต่างประเทศ บ้างมาเป็นแนวเพลง City Pop

เดินลงมายังชั้นล่างในโซนล็อบบี้มีโต๊ะดีเจที่สร้างแบบ DIY ด้วยลังพลาสติกสีน้ำเงินตัดกับขาวสำหรับให้ศิลปินเปิดแผ่นโชว์ในช่วงกลางคืน ลึกเข้าไปด้านในเป็นโซน Exhibition ซึ่งจัดแสดงงานศิลปะในคอนเซ็ปต์ ‘COVER THE COVER’ ที่ให้ศิลปินมากหน้าหลายตามา redesign ปกแผ่นเสียงระดับตำนาน และจัดแสดงเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ได้รับการตกแต่งให้กลายเป็น Turn Table original ของศิลปินแต่ละคนอีกด้วย

MUSIC MAKES ME FEEL ALIVE by Jorra
MUSIC MAKES ME FEEL ALIVE by Jorra

Dancing Heart by Juli Baker and summer
Dancing Heart by Juli Baker and summer

Traveling without moving By Pod Moderndog
Traveling without moving By Pod Moderndog

หน้าปกอัลบั้ม Actually (1987) ของ Pet Shop Boy
หน้าปกอัลบั้ม Actually (1987) ของ Pet Shop Boy ตีความและออกแบบใหม่โดย try2benice หรือ สุรัติ โตมรศักดิ์

ปก September ของ Earth, Wind & Fire เพลงดิสโก้สัญลักษณ์ของยุค 70
ปก September ของ Earth, Wind & Fire เพลงดิสโก้สัญลักษณ์ของยุค 70 ตีความและดีไซน์ใหม่โดย Nut Dao ณัฐพงศ์ ดาววิจิตร

Yellow Submarine (1969) ของ The Beatles
Yellow Submarine (1969) ของ The Beatles ออกแบบใหม่โดย ปรางค์ วิภาลักษณ์

ปกอัลบั้ม Queen II (1974)
ปกอัลบั้ม Queen II (1974) ของ Queen โดยยูทูเบอร์สายศิลปะชื่อดัง ฮ่องเต้-กนต์ธร เตโชฬาร

ปกอัลบั้ม Destroyer (1986) ของวงร็อคระดับตำนาน Kiss
ปกอัลบั้ม Destroyer (1986) ของวงร็อคระดับตำนาน Kiss รีดีไซน์โดย Eaowen หรือ เอ้–พีรดา โคอินทรางกูร

ปกอัลบั้ม Homogenic (1997) ของ Bjork
ปกอัลบั้ม Homogenic (1997) ของ Bjork ตีความใหม่โดย JCCHR หรือ แนน-จิดาภา จันทร์สิริสถาพร

Double Fantasy (1980) อัลบั้มสุดท้ายของ John Lennon
Double Fantasy (1980) อัลบั้มสุดท้ายของ John Lennon สร้างสรรค์ใหม่โดย Juli Baker and Summer หรือ ป่าน-ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา

The Wall (1979) ของ Pink Floyd
The Wall (1979) ของ Pink Floyd เพลงวิพากษ์ระบบการศึกษา เติมภาพ มานีที่คุ้นตาโดย ยุรี เกนสาคู

หลังจากเดินดูจนพอใจแล้ว ฉันเดินออกมาจากโรงแรมพร้อมแผ่นเสียงที่ฉันหมายตา อัลบั้ม Like A Virgin ของราชินีเพลงพอปมาดอนน่า เพลงแรก Side 1  คือ Material Girl ความยาว 4.01 นาที  เพลงที่ผู้ใหญ่รุ่นฉันหลายคนค่อนคอดว่าเป็นเพลง Toxic สังคม สร้างวัฒนธรรมวัตถุนิยมฉาบฉวย แต่ถ้าฟังดีๆแล้ว เนื้อหาที่ว่าด้วยผู้หญิงที่ให้ค่ากับวัตถุมากกว่าผู้ชายนั้นกลับเป็นการมอบอำนาจให้กับผู้หญิง เปิดมุมมองให้เห็นภาพผู้หญิงที่ให้ความสำคัญกับโลกความเป็นจริง มากกว่าการล่อลวงหลายรูปแบบของเพศตรงข้าม เป็นเพลงเฟมินิสต์ที่กลับด้านอำนาจระหว่างสองเพศ ซึ่งไม่อาจเรียกว่าเพลงฉาบฉวยได้เลย

ชวนให้ฉันคิดว่า บางทีมันอาจไม่มีอะไรฉาบฉวยหรอก ไม่ว่าจะเป็นสารัตถนิยมหรือวัตถุนิยม ถ้าเราให้เวลากับมันนานพอ   

Words: Roongtawan Kaweesilp 

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม