Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

VERNADOC กลุ่มคนที่ไปนั่งวาดแบบอาคารที่คนมองข้าม เพื่ออนุรักษ์สถาปัตย์พื้นถิ่น

Interview / Professional

หญิงสาวผมสีฟ้าแจ่มกับหญิงสาวอีกคนผู้ใช้เฉพาะสีน้ำเงินทำงานศิลปะเท่านั้น ก้มหน้าแทบจะชิดกระดาษ ที่ปลายปากกาซึ่งมือของพวกเธอลากไปมาอย่างคล่องแคล่วนั้นปรากฏเป็นภาพสิ่งละอันพันละน้อยใน ‘บ้าน’ ที่แม้แต่เจ้าของบ้านเองอาจมองผ่านหรือหลงลืมไปแล้ว จากวันเป็นสัปดาห์ จากสัปดาห์เป็นเดือน บนกระดาษสีขาวแผ่นเกือบเท่าโต๊ะก็มีภาพ ‘บ้าน’ ที่งามผิดแผกไปจากรูปถ่าย และมีเสน่ห์ต่างไปจากภาพเขียน

ชมพู่ - วทัญญู มูลทองสุข หนึ่งในทีมอาสาของ VERNADOC กำลังเขียนแบบร้านกาแฟเก่าย่านถนนมิตรภาพ
ชมพู่ – วทัญญู มูลทองสุข หนึ่งในทีมอาสาของ VERNADOC กำลังเขียนแบบร้านกาแฟเก่าย่านถนนมิตรภาพ

นี่คืองานของ VERNADOC คณะสถาปนิกที่รวมกลุ่มกัน “ใช้มือของสถาปนิกในการนำเสนอคุณค่าของอาคารที่เราเห็นว่ามีคุณค่า และอาจจะยังไม่ได้รับการดูแลหรือได้รับความสนใจเท่าที่ควร เราจะเปิดเผยคุณค่านั้นออกมาด้วยความสามารถเท่าที่เรามี” ผศ.ดร.สุดจิต เศวตจินดา (สนั่นไหว) สถาปนิกและอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต หรือที่ลูกศิษย์เรียกขานว่า ‘อาจารย์ตุ๊ก’ นิยามความเป็น ‘VERNADOC’

คน-ภาพ-สถาปัตย์

VERNADOC มาจากคำเต็มว่า Vernacular Architecture Documentation ซึ่งก่อการวาดภาพอาคารบ้านเรือนต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ “เราไปเจอกันที่ ICOMOS-CIAV การประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยเรื่องสถาปัตย์พื้นถิ่นที่ญี่ปุ่นในปี 2004” อาจารย์สุดจิตเกริ่น ‘เรา’ ในที่นี้หมายถึงเธอผู้ไปเจอกับ มาระกุ มัตติลา (Markku Mattila) สถาปนิกฟินแลนด์ และอาจารย์จาก Helsinki University of Technology ซึ่งเดินทางสำรวจรังวัดและวาดภาพอาคารบ้านเรือนด้วยเทคนิควิธีที่เป็นประเพณีปฏิบัติเฉพาะในหมู่สถาปนิกชาวฟินน์มากว่า 100 ปี “เขาชวนเราและนักศึกษาไปทำรังวัดแบบฟินแลนด์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เขาทำค่ายนานาชาติ และตั้งชื่อว่าค่าย VERNADOC”

หลังจากค่ายครั้งนั้นที่เมือง Längelmäki ประเทศฟินแลนด์ในปี 2005 ผลงานที่ลูกศิษย์นำกลับมาสู่เมืองไทยทำให้ทางมหาวิทยาลัยรังสิตอยากให้เมืองไทยมีกิจกรรมเช่นนั้นบ้าง โดยมีแผนจะไปทำค่ายร่วมกับประเทศภูฏาน ซึ่งมีมรดกทางสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมากมาย หากสุดท้ายสัญญาณขาดหายกันไป คุณมาระกุซึ่งเตรียมตัวมาค่ายแล้ว แต่ว่าไม่มีที่ลง ทางอาจารย์สุดจิตจึงช่วยหาสถานที่ให้ในเมืองไทย และไปลงตัวกันที่เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ “นั่นคือครั้งแรกที่เกิดค่าย Thai VERNADOC ขึ้นในปี 2007” อาจารย์สุดจิตสรุป

ผศ.ดร.สุดจิต เศวตจินดา (สนั่นไหว) สถาปนิกและอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้ก่อตั้ง VERNADOC ในประเทศไทย
ผศ.ดร.สุดจิต เศวตจินดา (สนั่นไหว) สถาปนิกและอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้ก่อตั้ง VERNADOC ในประเทศไทย

“ปีเดียวกันเรานำเสนอเรื่องให้กับสมาคมสถาปนิกสยามฯ (ASA) ที่เราร่วมเป็นคณะกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมอยู่ อธิบายว่ามีเทคนิคการบันทึกข้อมูลทางสถาปัตยกรรมแบบนี้ ประจวบเหมาะกับที่ทางสมาคมฯ จะฉลอง 40 ปีของการก่อตั้งกรรมาธิการอนุรักษ์ฯ ด้วยโปรเจกต์ใหญ่ที่กุฎีจีน เราเลยอาสาทำค่ายที่ศาลเจ้าเกียนอันเกง และเชิญคุณมาระกุกลับมาเป็นวิทยากรให้อีกครั้ง เกิดเป็นค่าย ASA VERNADOC ครั้งแรก”

ภายใต้ชื่อ ASA VERNADOC ค่ายนี้ได้พานักศึกษาสถาปัตย์จากหลากหลายสถาบันไปสำรวจรังวัดและเขียนแบบงานสถาปัตย์พื้นถิ่นกันหลายแห่งอย่างต่อเนื่องนานนับทศวรรษ (2007-2018) เช่น โครงการสำรวจรังวัดบ้านไม้โบราณชานกำแพงพระนคร ชุมชนป้อมมหากาฬ กรุงรัตนโกสินทร์ อาคารบ้านพักคนไข้ในหุบเขาแห่งความหวัง (Valley of Hope : นิคมโรคเรื้อนที่ใหญ่ที่สุดในเครือจักรภพอังกฤษ ที่สร้างตั้งแต่ปี 1930) ณ เมืองสุไหงบูโลห์ ประเทศมาเลเซีย โบสถ์ลูเธอร์ลันอายุกว่า 250 ปี (Östmark church) ที่ประเทศสวีเดน อาคารเก่าในเมือง Amandola ประเทศอิตาลี มัสยิดและอาคารพื้นถิ่นที่สร้างด้วยดินในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ศาลเจ้า วัด มัสยิด และโบสถ์คาทอลิคในย่านกุฎีจีน กรุงเทพฯ อาคารสถานีรถไฟในหลายพื้นที่ทั่วไทย แม้กระทั่งอาคารในย่านโรงงานมักกะสัน และอาคารศุลกสถาน บางรัก กทม.

“ในยุคนั้นเรากำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลเต็มตัว แต่พวกสถาปนิกยังอาลัยอาวรณ์กับการเขียนมือ (หัวเราะ) ตอนนั้นเด็กๆ ก็เขียนแบบด้วยคอมพิวเตอร์กันเป็นส่วนใหญ่แล้ว ออฟฟิศสถาปนิกต่างๆ ก็หันมาใช้คอมพิวเตอร์กัน แต่หลายคนก็เคยใช้ปากกาเขียนแบบ จึงเกิดเป็นกระแสเรโทร (Retrospective) ขึ้นมา” อาจารย์สุดจิตกล่าวพร้อมกับมองปากกา Rotring ในมือ ซึ่งเพิ่งไปขุดมาได้จากร้านเครื่องเขียนเก่าแถวนี้

“เราพูดกันแต่ว่า ‘อาคารมีคุณค่า’ แต่เขาอาจจะยังไม่เห็นคุณค่าในรายละเอียด ทีม VERNADOC จะช่วยเขียนรายละเอียดให้”

อาริยา เวชโพธิ์ อาสาสมัคร VERNADOC กำลังร่างภาพระหัดวิดน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว โคราช ภาพโดย สุดจิต เศวตจินดา (สนั่นไหว) ปี 2014
อาริยา เวชโพธิ์ อาสาสมัคร VERNADOC กำลังร่างภาพระหัดวิดน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว โคราช ภาพโดย สุดจิต เศวตจินดา (สนั่นไหว) ปี 2014

คน-อาสา-วาด

ปัจจุบันนอกจากสอนเทคนิคนี้ที่มหาวิทยาลัยรังสิต และทำค่ายให้ RSU VERNADOC แล้ว อาจารย์สุดจิตยังคงออกค่าย VERNADOC พาผู้คนที่สนใจไปตามแหล่งสถาปัตย์พื้นถิ่นต่างๆ ร่วมกับเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ในนามของทีม VERNADOC Thailand โดยแทบทุกครั้งจะมีนักวาดมือดีผู้เคยผ่านค่ายมาแล้วที่ยินดีจะติดตามไปเป็นพี่เลี้ยงให้กับอาสาสมัครหน้าใหม่ “จริงๆ แล้วเขาเก่งกว่าเรากันทั้งนั้น เป็นดรีมทีมที่เราพาไปช่วยไกด์คนอื่นและร่วมเขียนแบบด้วย” อาจารย์สุดจิตกล่าว

ถามว่ามือดีดูอย่างไร อาจารย์ผู้สอนสถาปัตย์มาตั้งแต่ปี 1988 ได้รับรางวัลระดับสากล CIAV AWARD 2013 จาก ICOMOS International Committee on Vernacular Architecture และหมาดๆ กับรางวัลนักวิชาการและวิชาชีพสาขาสถาปัตยกรรมระดับดีเด่น จากสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย ประจำปี 2023 ตอบเฉียบขาดว่า “ดูจากดรอว์อิ้งที่เขาทำงานและดูจากความเข้าใจของเขา บางคนอาจจะมือยังไม่แม่น แต่มีทักษะด้านอื่น เช่น เอนเตอร์เทนคน หรือมีความเป็นผู้นำ มีความรับผิดชอบ เราเรียกว่าทีมอาสา VERNADOC ทีมเรามีแม้กระทั่งอาสาจากมาเลเซีย อาสาจากกัมพูชา ไม่มีพรมแดนเรื่องเชื้อชาติเลย

“เท่าที่สังเกตดูพบว่าสิ่งที่คนไทยทำต่างจากคนฟินน์ก็คือ หลายคนชอบบันทึกวิถีชีวิต ข้าวของรวมทั้งอุปกรณ์ของผู้คนในพื้นที่นั้นๆ อาจเพราะเราเห็นว่ามีชีวิตชีวา และน่าสนใจกว่าการบันทึกแต่ตัวโครงสร้างอาคาร อย่างไรก็ตามเราจะสอนให้วาดสิ่งที่เห็นอย่างซื่อสัตย์ เพราะในการทำงานอนุรักษ์ ถ้าคุณรวบรวมข้อมูลขาดตกบกพร่องไปแต่ต้น ก็ถือว่าคุณได้ทำลายข้อมูลของโบราณสถานไปชั้นหนึ่งแล้ว อย่างเด็กไปเขียนรูปด้านที่มีปูนปั้นรูปค้างคาว แต่สูงเกินจะวัดถึงเลยตัดค้างคาวออกไปเฉย เราก็บอกว่าค้างคาวบินหายไปหมดแล้ว (หัวเราะ) นั่นมันลายปูนปั้นเชียวนะ ต้องเก็บข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน แต่โต๊ะเก้าอี้ที่เคลื่อนย้ายได้ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรม ไม่ต้องวาดก็ได้”

โรงภาษีร้อยชักสาม (ศุลกสถาน) ถนนเจริญกรุง รูปด้านทิศตะวันตก อาคาร B มาตราส่วน 1:50 โดย กุลธรา นิลบุตร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.รังสิต วาดเมื่อ 22 กรกฎาคท 2561
โรงภาษีร้อยชักสาม (ศุลกสถาน) ถนนเจริญกรุง รูปด้านทิศตะวันตก อาคาร B มาตราส่วน 1:50 โดย กุลธรา นิลบุตร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.รังสิต วาดเมื่อ 22 กรกฎาคท 2561
ระหัดวิดน้ำลำตะคอง ของนายสมคิด ค่ำสูงเนิน บ้านเลขที่ 160/3 หมู่ 4 อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา มาตราส่วน 1/25 โดย สุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว ม.ศิลปากร, 2014
ระหัดวิดน้ำลำตะคอง ของนายสมคิด ค่ำสูงเนิน บ้านเลขที่ 160/3 หมู่ 4 อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา มาตราส่วน 1/25 โดย สุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว ม.ศิลปากร, 2014

การวาดมือตามเทคนิคดั้งเดิมของสถาปนิกได้ช่วยเปิดสายตาและเปิดใจให้ผู้คนมองเห็นบางสิ่งซึ่งซ่อนอยู่ในสถาปัตยกรรมได้อย่างคาดไม่ถึง “บางทีเราพูดกันแต่ว่า ‘อาคารมีคุณค่า’ แต่เขาอาจจะยังไม่เห็นคุณค่าในรายละเอียด ทีม VERNADOC จะช่วยเขียนรายละเอียดให้ จึงเป็นที่มาของการเขียนบ้านไม้ในชุมชนป้อมมหากาฬ เราได้ยื่นผลงานให้กับทางกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ซึ่งเขาก็ยอมรับในคุณค่าของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่เราเรียกร้องให้รักษาไว้นะ ถึงขนาดมีกรรมการที่เป็นสถาปนิกมาขอบคุณที่ VERNADOC มาเขียนไว้ คงเพราะที่ผ่านมามีแต่คนบอกว่าให้รักษาเอาไว้ แต่ไม่รู้ว่าให้รักษาอะไร

“คุณค่าที่เราเจอในบ้านแต่ละหลังมีงานเชิงช่างซุกซ่อนอยู่มากมาย สายตาคนนอกมองเห็นว่าเป็นบ้านเก่าๆ แต่พอเราเข้าได้ไปเห็น ไปสำรวจ ไปสัมผัส และได้พบว่านี่มันมีลายละเอียดในการก่อสร้างที่น่าสนใจ หรือบางหลังก็มีงานฉลุไม้ที่สวยงามมาก” อาจารย์สุดจิตถอนใจเมื่อกล่าวถึงเรื่องนี้ “ถึงปัจจุบันชุมชนจะไม่มีอยู่แล้ว สิ่งที่ VERNADOC ได้ทำหน้าที่ก็คือเราได้บันทึกข้อมูลส่วนนี้ และโชคดีที่ทางสมาคมสถาปนิกสยามฯ ก็ได้สนับสนุนให้ทำหนังสือออกมา – เอาไว้เป็นบทเรียน”

“วิธีของเราคือมิตรภาพที่ค่อยๆ ถักทอ ถ้าถ่ายรูปใช้เวลาแป๊บเดียว แต่นี่ภาพเดียววาดเป็นสัปดาห์ ตอนเรามาก็มาแค่กระดาษกับดินสอ กลับไปเราทิ้งไว้แค่ขี้ยางลบ”

ที่เรานั่งคุยกันอยู่เป็นพื้นที่ชั้น 3 ของบ้านตรอกถั่วงอก ตึกเก่าอายุร่วมร้อยปีที่เจ้าของบ้านรุ่นใหม่เข้ามาปรับปรุงใหญ่ และเปิดบ้านให้กลายเป็นพื้นที่ทดลองของ Creative Startup เป็นเหตุให้ VERNADOC Thailand ได้โอกาสมาเปิดนิทรรศการในบ้านหลังนี้นานนับเดือน โดยจัดแสดงผลงานที่ทีมงานเคยมาสำรวจและลงมือวาดแบบบ้านตรอกถั่วงอกไว้อย่างตราตรึง

“คุณวิน อัสสกุล (หนึ่งในเจ้าของบ้าน รุ่นที่ 4) บอกว่า VERNADOC เป็นจุดเปลี่ยน จากเดิมที่เขากับสถาปนิก (บริษัท STU/D/O Architects) ได้วางแผนออกแบบปรับปรุงบ้านไว้แล้ว และตั้งใจว่าประตูหน้าต่างไม้เก่าเหล่านี้จะไม่เอาไว้ แต่พอทีม VERNADOC เข้ามาเขียนภาพบ้านไว้อย่างสวย เขาเห็นเข้าก็บอกว่าทิ้งมันไม่ลง จึงต้องปรับรื้อแบบใหม่หมด เพื่อจะเก็บหน้าต่างและประตูของเก่าเอาไว้ในแบบที่สร้างสรรค์ จนกลายมาเป็นภาพจำของบ้านตรอกถั่วงอกในยุคปัจจุบัน” อาจารย์สุดจิตยิ้มอย่างปลื้มใจถึงคุณค่าที่ VERNADOC สะท้อนให้เจ้าของบ้านได้เห็น

มือวาดแบบของ VERNADOC นั่งทำงานอยู่หน้ารูปด้านหน้าอาคารโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ในย่านบำรุงเมือง (อายุกว่า 100 ปี) ที่วาดโดยปัถย์ ศรีสุวรรณ มาตราส่วนต้นฉบับ 1/50 เมื่อปี 2022
มือวาดแบบของ VERNADOC นั่งทำงานอยู่หน้ารูปด้านหน้าอาคารโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ในย่านบำรุงเมือง (อายุกว่า 100 ปี) ที่วาดโดยปัถย์ ศรีสุวรรณ มาตราส่วนต้นฉบับ 1/50 เมื่อปี 2022

“ตอนแรกที่คุณวินไปขอเงินกงสีเพื่อจะจ้าง VERNADOC เข้ามาบันทึกสภาพอาคารก่อนจะปรับปรุง ทางครอบครัวเขาคงไม่เข้าใจว่าจะจ้างพวกเรามาทำไมในเมื่อก็จ้างสถาปนิกอยู่แล้ว เป็นความยากที่จะอธิบาย แต่พอเขาเห็นสภาพบ้านที่แท้จริงที่ VERNADOC ถอดออกมาให้เห็นลวดลายกระเบื้องเก่า เห็นพื้นที่บ้านเป็นสี่เหลี่ยมคางหมูที่จะเฉไปหน่อยตามรูปที่ดิน เขาก็ประทับใจในความเป็นบ้านที่ไม่เหมือนใครของเขา

“เช่นเดียวกับศาลพระภูมิของโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ริมถนนบำรุงเมืองที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านตรอก ถ้าไปดูของจริงจะไม่มีใครเคยเห็นเนื้อด้านในเลยเพราะมีพวงมาลัยบังมิด มีตุ๊กตาที่คนเอามาบูชาบังไว้หมด แต่ตอนเราเขียนเราพยายามเคลียร์สิ่งบดบังเหล่านั้น เพราะอยากเห็นวิธีการสร้าง และบ่อยครั้งที่จากสายตาคนนอกมองเข้าไปก็อาจเห็นแง่มุมที่คนในไม่เคยมองเห็น”

เจ้าของร้านโกปี๊เก่าแก่ในริมถนนมิตรภาพยกพวงเครื่องดื่มที่ประกอบไปด้วยชาเย็นและชานมแมวที่ทำจากนมอัลมอนด์แบบจีนที่หากินได้ยากแล้วในปัจจุบันมาช่วยดับกระหาย จึงทันได้เห็น ชมพู่ – วทัญญู มูลทองสุข และ นีล – นีลปัทม์ โพธิ์สุวัฒนกุล มือวาดแบบกำลังประกอบ ‘พิธีกรรมของ VERNADOC’ ประทับตรายางชื่อสถานที่ที่ไปวาดแบบเหนือภาพ ‘ร้านตั้งบั๊กเส็ง’ ของตนเอง อาจารย์สุดจิตหันไปถาม “สวยไหมคะ เฮีย” แววตาเจ้าร้านสว่างวาบ “สวย” เขาตอบ “สวยไม่สวย คุณแม่คุณวินเห็นเข้าถึงกับขอซื้อเก็บไว้เลย”

“สองรูปของชมพู่และนีลไม่ใช่งานที่เกิดจากการจัดค่าย VERNADOC แต่เกิดจากชมพู่ต้องมาเฝ้านิทรรศการที่บ้านตรอกถั่วงอก เขาเลยเขียนโต๊ะช่างไม้ฆ่าเวลา พอเวลาเหลืออีก เลยไปเขียนร้านกาแฟ ส่วนนีลเอาของมาร่วมออกบูธ เราเลยชวนมาลองเขียนเพราะเห็นเรียนสถาปัตย์มา มีเด็กค่ายเก่าอีกคนว่างเสาร์-อาทิตย์ก็มาเขียน แถมพาเพื่อนหน้าใหม่มาลองเขียนด้วย ถือเป็นงานอาสาแบบไม่ได้นัดหมาย งานนี้ชมพู่ช่วยสอนน้องได้สบายๆ อยู่บ้านตรอก 2 เดือนวาดได้หลายรูป สายตาชมพู่เขาน่าจะ 5 ล้านพิกเซล ละเอียดยิ่งกว่าแมลงปอ (หัวเราะ) ไม่ใช่แค่ตา มือเขาคอนโทรลรายละเอียดเล็กๆ ได้ดีด้วย” เราพินิจมองภาพวาดมือของชมพู่แล้วอึ้ง เธอวาดกระทั่งฉลากพลาสติกพันรอบไฟแช็กในตู้กระจก ริ้วรอยบนบันได และเถ้าธูปในตี่จู่เอี๊ยะใต้บันได

ผลงานเสร็จสมบูรณ์ของร้านโกปี๊ตั้งบั๊กเส็ง ฝีมือชมพู่ - วทัญญู มูลทองสุข
ผลงานเสร็จสมบูรณ์ของร้านโกปี๊ตั้งบั๊กเส็ง ฝีมือชมพู่ – วทัญญู มูลทองสุข
เจ้าของบ้านถ่ายรูปกับคนเขียนแบบบ้านและแบบบ้านที่มีผู้ขอซื้อไปเก็บรักษาไว้
เจ้าของบ้านถ่ายรูปกับคนเขียนแบบบ้านและแบบบ้านที่มีผู้ขอซื้อไปเก็บรักษาไว้
นีล - นีลปัทม์ โพธิ์สุวัฒนกุล มือวาดแบบกับการลองเขียนแบบกับ VERNADOC ครั้งแรกด้วยการวาดร้านตั้งบั๊กเส็ง
นีล – นีลปัทม์ โพธิ์สุวัฒนกุล มือวาดแบบกับการลองเขียนแบบกับ VERNADOC ครั้งแรกด้วยการวาดร้านตั้งบั๊กเส็ง

“สิ่งที่เราได้คือความสัมพันธ์ของคนที่เราทำงานด้วย ตอนแรกชมพู่ไปกินกาแฟร้านเฮีย เขายังสงวนท่าที แต่ตอนนี้กลายเป็นสนิทกัน ภาพของ VERNADOC คือสื่อกลาง” อาจารย์สุดจิตกล่าว “กลายเป็นว่าเฮียช่วยอธิบายให้คนอื่นฟังด้วยว่า VERNADOC คืออะไร ทำงานอย่างไร มันคือมิตรภาพที่ค่อยๆ ถักทอ ถ้าถ่ายรูปก็ใช้เวลาแป๊บเดียว แต่นี่ภาพเดียววาดเป็นสัปดาห์ แถมงานเรายังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยนะ เพราะตอนเรามาก็มาแค่กระดาษกับดินสอ กลับไปเราทิ้งไว้แค่ขี้ยางลบ”

คนอยู่-บ้านอยู่

เมื่อวาดแบบเสร็จแต่ละค่าย รูปที่วาดเสร็จจะถูกเก็บรักษาไว้กับเจ้าภาพผู้จัดค่ายแต่ละครั้ง แต่ด้วยความงามวิจิตรในงานของ VERNADOC ที่ตรึงคนให้หยุดมองแล้วมองอีกอยู่เป็นนานได้เสมอ จึงมีผู้มาติดต่อขอซื้ออยู่มิวาย “เราอยากขายนะ แต่ช่วยซื้อทั้งคอลเล็กชั่นได้ไหม เราไม่อยากให้ภาพต้องพรากจากกัน” อาจารย์สุดจิตกล่าวทีเล่นทีจริง แต่รับรู้ได้จากแววตาว่าอาจารย์อยากให้ภาพของชุมชนหนึ่งๆ อยู่ด้วยกันให้ครบ เช่นเดียวกับที่อยากให้อาคารบ้านเรือนที่ลงแรงไปวาดได้อยู่พร้อมหน้ากันเช่นนั้นไปตลอด แม้ว่าความเป็นจริง มีหลายเหตุผลที่คน-บ้าน-ชุมชนต้องพรากจากกัน

“Gentrification คำนี้แปลว่าการที่คนย้ายออกจากพื้นที่เดิม ซึ่งบางทีก็จำเป็น อย่างในต่างประเทศ อาคารต่างๆจะถูก Freeze ไว้ด้วยกฎหมายที่เข้มแข็ง โซนนี้เป็นโซนอนุรักษ์ ถ้าคุณแบกรับเรื่องภาษีหรือค่าครองชีพไม่ได้ก็อาจต้องยอมออกไปอยู่ในที่ที่ตัวเองอยู่ได้สบายกว่า หรือบางทีอายุมากแล้วขึ้นบันไดไม่ไหว หรือมีคนมาเปิดบาร์รอบบ้าน ก็คงต้องทำการ Gentrification ไปอยู่ที่อื่น ทำให้คนที่เข้ามาอยู่ใหม่ไม่ใช้คนดั้งเดิมในพื้นที่ ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นมากมายในย่านบางลำพูสมัยก่อน จนตอนนี้กลายเป็นที่เก๋ๆ ไปหมด

“แต่ในมุมของนักอนุรักษ์ นั่นไม่ใช่ภาพที่เราอยากเห็น เราทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกไว้เรื่องนี้ เป็นการสรุป 15 ปีที่ทำ VERNADOC ว่าเรามาถึงจุดที่เราจะสามารถใช้มันเพื่อการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไว้ได้หรือเปล่า เพราะสิ่งที่เราอยากเห็นสูงสุดก็คือ ชีวิตกับอาคารเป็นเนื้อเดียวกัน คนสร้างกับคนอยู่บ้านคือคนเดียวกัน” อาจารย์สุดจิตกล่าว

บ้านไม้ในตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา รูปตัดตามขวาง มาตราส่วน 1:25 โดยผศ.สุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว ม.รังสิต วาดเมื่อ 24 เมษายน 2562
บ้านไม้ในตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา รูปตัดตามขวาง มาตราส่วน 1:25 โดยผศ.สุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว ม.รังสิต วาดเมื่อ 24 เมษายน 2562
เจ้าของบ้านกับผลงานวาดแบบบ้านของ VERNADOC พิมาย 2019
เจ้าของบ้านกับผลงานวาดแบบบ้านของ VERNADOC พิมาย 2019 Photo: Rangsarit Areewong

“กฎหมายบ้านเราอาจยังไม่มีเจาะจงเฉพาะย่าน เลยมีช่องให้ตีความได้เยอะ ทำให้ละเลยไม่เห็นความสำคัญของงานอนุรักษ์”

“อย่างในยุโรป เราจะเห็นว่าอาคารบ้านเรือนเก่าๆ ยังคงอยู่ เป็นเพราะกฎหมายบ้านเขาเข้มงวด อันที่จริงกฎหมายบ้านเราก็มี เช่น ถ้าจะรื้อและสร้างอาคารตึกแถวใหม่จะต้องถอยร่นจากแนวเขตที่ดินเข้ามา 3 – 6 เมตร แถวย่านเมืองเก่าอย่างเยาวราชจึงนิยมที่จะเก็บโครงนอกเอาไว้และทะลวงด้านในเพื่อให้ได้พื้นที่อาคารเท่าเดิม แต่กฎหมายเมืองนอกอาจมีข้อกำหนดชัดเจน เช่น หน้าต่างหรือ Façade จะต้องทำจากวัสดุนี้ โทนสีนี้ มีไกด์ไลน์ชัดเจนตามแต่ละชุมชน ซึ่งเจ้าหน้าที่เขาก็ตรวจกันตามจริง กฎหมายบ้านเราอาจยังไม่มีเจาะจงเฉพาะย่าน เลยมีช่องให้ตีความได้เยอะ ทำให้ละเลยไม่เห็นความสำคัญของงานอนุรักษ์กัน”

แล้ววิชาสถาปัตย์ที่เมืองนอกสอนแนวคิดการอนุรักษ์กันมาตั้งแต่ร้อยปีก่อนหรือ “น่าจะเป็นเรื่องสภาพภูมิอากาศ อย่างประเทศในเมืองหนาวต้องสร้างอาคารบ้านเรือนมิดชิดแข็งแรง ซึ่งการจะสร้างบ้านให้อุ่นได้นี่สร้างยากนะ ต้องใช้อิฐ ใช้หินซึ่งหายาก หรือถ้าใช้ไม้ก็ต้องสร้างให้แน่นหนา มาทำเป็นเล่นไม่ได้ เพราะบ้านเขาถ้าหนาวนี่หนาวถึงตาย แต่บ้านเราปลูกบ้านด้วยไม้ซึ่งเปื่อยผุพังได้ง่าย มีรูรั่วรอยโหว่ยังไงก็ยังพออยู่ได้ เพราะภูมิอากาศไม่รุนแรง แถมเราไม่ปลูกไม้ทดแทน ทำให้วัสดุแพง และเราก็ไม่อนุรักษ์งานฝีมือดั้งเดิมด้วยนะ มีของใหม่เราก็ใช้ของใหม่ เพราะเห็นแก่ราคาที่ถูกกว่า

“เราเคยไปเขียนแบบที่โบสถ์แห่งหนึ่งในสวีเดน ตอนไปถึงเพิ่งจะเริ่มฤดูใบไม้ผลิ เขาบอกว่ายูอย่าไปเหยียบต้นไม้แห้งๆ นี้นะ สักประเดี๋ยวมันจะผลิบานเมื่อถึงฤดูกาลของมัน ซึ่งพอถึงเวลานั้นมันก็สวยงามจริงๆ เราจึงไม่แปลกใจว่าทำไมชนชาติเขาจึงชื่นชมธรรมชาติ เห็นคุณค่าและความงามของมัน บ้านเราอยู่เฉยๆ ต้นไม้ก็งอกจนแทบจะต้องเด็ดทิ้ง บ้านช่องจะปลูกพะเยิบพะยาบอย่างไรก็ได้ก็ยังอยู่ได้ จึงกลายเป็นว่าไม่ซ่อมแซมบ้าน ปล่อยให้ทรุดโทรม บ้านไม้ริมคลองนี่เสาแทบจะขาด คนก็ยังอยู่กันบนบ้านได้ไม่เดือดไม่ร้อน พังมาค่อยหาวัสดุอื่นเปลี่ยน ก็ไม้มันอยากแพงนักนิ”

“คนไทยที่ยิ่งมีอำนาจก็ยิ่งเข้าไปเปลี่ยนแปลงพื้นที่ สั่งทุบ สั่งทำห้องน้ำ ทุกอย่างต้องพิเศษกว่าคนอื่น อาคารเก่าๆ จึงเละไปหมด”

ศาลตายายของบ้านหลังหนึ่งในอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี มาตราส่วน (ต้นฉบับ) ⅕ รูปด้านข้างโดย ประจักษ์ ศรีเรือง รูปด้านหน้าโดย คมกฤช นุ่มนิ่ม รูปด้านหลังโดยณัฐธราภรษ์ รุ่งเรือง 2555 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.รังสิต

“นี่คือสิ่งที่เราเห็นมากับตาว่ายิ่งอยู่ในเมืองหนาว ยิ่งต้องเป็นคนวางแผนล่วงหน้า และทำอะไรตรงเวลา ไม่อย่างนั้นจะไม่มีผลผลิตให้เก็บเกี่ยวก่อนฤดูหนาวมา แล้วก็จะอดตาย ผิดกับคนไทยเลย เราเป็นชาติที่สนุกสนานและไม่เดือดร้อนเรื่องฤดูกาล แถวรังสิตนี่เวลาน้ำท่วมเราเคยเป็นห่วงทีมงานที่อยู่ย่านนั้น ไปเหมาข้าวสารอาหารแห้งจากห้างจะเอาไปให้ เขาบอกไม่ต้องห่วง มีเรือพายมาขายถึงหน้าบ้าน นี่คือคนไทย เรามีน้ำอดน้ำทนไปอีกแบบ – แบบไม่อินังขังขอบ ไม่ตื่นเต้น เข้าใจธรรมชาติไปอีกแบบ มองเป็นเรื่องอนิจจัง อย่ายึดมั่นถือมั่น อีกอย่างคือต้องใช้เงินในการซ่อมบ้าน คนมีเงินสามารถจ่ายได้ แต่คนที่ไม่มีเงินจะทำอย่างไร ซ่อมบ้านไม้ไม่ใช่ถูกๆ ไม้แผ่นหนึ่งก็ราคาตั้งเท่าไร” แค่บ้านไม้หลังเดียว อาจารย์สุดจิตแตกปัญหาออกไปได้มากมายอย่างคาดไม่ถึง

“เราเคยไปดูตึกที่ Alvar Aalto สถาปนิกชาวฟินแลนด์ออกแบบไว้ที่ Helsinki University of Technology ผ่านไป 40 ปีแล้ว ตึกยังเนี้ยบ ไม่มีรอยตอกตะปู ไม่มีใครเอาสก็อตช์เทปไปแปะผนัง ไม่มีใครเอาปฏิทินไปแขวน ทุกคนนั่งอยู่ในสเปซของตัวเองและเคารพพื้นที่ มันเป็นนิสัยของเขาแบบนั้น ส่วนคนไทยทำเหมือนว่าที่สาธารณะเป็นบ้านของตัวเอง และยิ่งมีอำนาจก็ยิ่งเข้าไปเปลี่ยนแปลงพื้นที่ สั่งทุบ สั่งทำห้องน้ำ ทุกอย่างต้องพิเศษกว่าคนอื่น ย้ายนั่นนี่ตามฮวงจุ้ย อาคารเก่าๆ จึงเละไปหมด บทบาทของสถาปนิกในต่างประเทศกับเมืองไทยจึงต่างกันมาก ไม่อย่างนั้นบ้านเราจะมีผู้รับเหมาที่ชอบชวนเจ้าของบ้านเปลี่ยนแบบ และเจ้าของบ้านเชื่อผู้รับเหมามากกว่าเชื่อสถาปนิกหรือ”

แล้วสถาปนิกในเมืองไทยมีหน้าที่อะไร “เขียนแบบตามความฝันของเจ้าของบ้าน” ได้ยินคำตอบตัวเองแล้วอาจารย์สุดจิตถึงกับหัวเราะ “นั่นคือปัญหาของคนที่ใช้งานสถาปนิก เขาไม่รู้ว่าสถาปนิกมีฟังก์ชั่นอะไร เขามองว่าเป็น ‘ช่างเขียนแบบ’ ซึ่งเราไม่ใช่ เราเป็น ‘นักออกแบบ’

“สุดท้ายมันคือคำว่า Respect ไม่ใช่เคารพในตำแหน่ง แต่เคารพในความเป็นมืออาชีพของแต่ละคน”

Words: Suphakdipa Poolsap
Portraits: Somkiat Kangsdalwirun 

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม