Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

‘ทรงศีล ทิวสมบุญ’ กับ 18 ปีของ ‘ถั่วงอกและหัวไฟ’ ในนิทรรศการ FIREHEAD: SOUL LIBERATE

Interview / Professional

ย้อนกลับไปเกือบ  20 ปีก่อน ‘ถั่วงอกและหัวไฟ’ ของทรงศีล ทิวสมบุญ เป็นหนึ่งใน Graphic Novel เล่มแรกๆ ที่บุกเบิกให้นิยายภาพของไทยได้รับการยอมรับในฐานะวรรณกรรมสมัยใหม่ 

เรื่องราวของถั่วงอกและหัวไฟดำเนินต่อเนื่องตามกาลเวลา จากเล่ม 1 ถึงเล่มที่ 10 ขยายขอบเขตเนื้อหาจนกลายเป็นโลกแห่งจิตนาการที่มีแฟนหนังสือติดตามจำนวนมาก ทรงศีลพาถั่วงอกและหัวไฟ พร้อม Graphic Novel อีกหลายซีรีส์ไปโลดแล่นตีพิมพ์ในหลายประเทศทั่วเอเชีย ทั้งไต้หวัน เวียดนาม จีน และญี่ปุ่น คว้ารางวัลนิยายภาพยอดเยี่ยมจาก Seven Book Awards และเข้าชิงรางวัลซีไรต์ในปี 2021

FIREHEAD: SOUL LIBERATE คือนิทรรศการศิลปะ โดย ทรงศีล ทิวสมบุญ ที่แผ่ขยายออกมาจากโลกจินตนาการของหัวไฟ เชื่อมโลกกับโลกที่เราอาศัยอยู่ โดยมีแก่นเพื่อปลดปล่อยจิตวิญญาณของเราให้เป็นอิสระ ผ่านงานศิลป์หลากหลายรูปแบบตามทักษะนานัปการของทรงศีล ตั้งแต่ภาพจิตรกรรมจนถึงเสียงดนตรี

LIPS พาไปชมและเปิดบทสนทนายาวกับศิลปินมากความสามารถผู้นี้ ตั้งแต่แนวคิดของการทำนิทรรศการ จนถึง Songsinthings แบรนด์ที่งอกเงยมาจากโลกจินตนาการของเขา

“อยากให้จิตวิญญาณของเราเป็นอิสระจากความสยดสยองทั้งหลายของ Sinking Century ศตรววรรษที่โลกเรากำลังจมลง ทั้งภาวะโลกรวน เศรษฐกิจโลก สงครามและอื่นๆ”

LIPS: คุณมีผลงานที่มีชื่อเสียงหลายซีรีส์ทั้ง Nine Lives และ Bobby Swinger ทำไมเลือกถั่วงอกและหัวไฟมาทำงานนิทรรศการ

ทรงศีล: เมื่อ 2 ปีก่อนผมจัดนิทรรศการ Nine Lives เป็นครั้งแรก ซึ่งยังไม่ใช่นิทรรศการที่เต็มตัวนัก เป็นแค่ก้าวแรกๆที่เข้ามา ส่วนถั่วงอกและหัวไฟ ด้วยความที่เขามีจำนวนเล่มที่เยอะกว่าเรื่องอื่นๆ โลกของเขาก็กว้าง ด้วยความกว้างขนาดนี้ มันตรงกับความต้องการของเราที่อยากจะจัดนิทรรศการที่ใหญ่ขึ้น เอาโลกในความคิดของเราออกมากางแผ่ให้คนได้สัมผัส  ให้ก้าวเข้ามาในโลกของเรา

LIPS: ที่มาของชื่อนิทรรศการ Soul Liberate คืออะไร

ทรงศีล: Soul Liberate เป็นชื่อภาพที่เป็นธีมหลักของงาน ตอนแรกผมยังไม่รู้จะอธิบายมันด้วยคำว่าอะไร แต่เป็นความรู้สึกชัดเจน ว่าเป็นสิ่งที่ปลดปล่อยและยกระดับจิตวิญญาณของเรา

LIPS: ภาพนี้เป็นภาพที่มาจากเนื้อหาในเล่มไหน

ทรงศีล: จริงๆภาพในนิทรรศการนี้ มีแค่ภาพตรงทางเข้าฮอลล์แรกเท่านั้นที่เป็นภาพจากต้นฉบับในหนังสือ แต่ภาพวาดในห้องต่อๆมาเป็นภาพที่วาดขึ้นใหม่โดยที่เนื้อหาไม่ได้สอดคล้องกับในหนังสือทั้งหมด แต่สอดคล้องกันด้วยตัวละครมากกว่า   หลายๆภาพเป็นการหยิบเอาความรู้สึกที่เป็นนามธรรมมาวาดให้เป็นรูปธรรมเพื่อสื่อสารกับผู้คนได้อย่างชัดเจนขึ้น  

LIPS: ภาพ Soul Liberate ดูมีกลิ่นอายของการ Uprising ตัวภาพมีนัยยะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมหรือไม่

ทรงศีล: เกี่ยวกับโลกที่เป็นไปครับ ตัวผมมีความสนใจกับโลก ว่า ณ เวลานี้โลกเป็นอย่างไรอยู่ ในกีตาร์ตัวที่เอามาโชว์มีข้อความที่เขียนว่า ‘LET OUR SOULS FREE FROM ALL THE HORRORS OF THE SINKING CENTURY’ ผมอยากสื่อผ่านภาพนี้และงานหลายๆชิ้นว่า อยากให้จิตวิญญาณของเราเป็นอิสระจากความสยดสยองทั้งหลายของ Sinking Century ด้านหนึ่งเราปฎิเสธไม่ได้ว่า มันคือศตรววรรษที่โลกเรากำลังจมลงในหลายๆมุม ทั้งภาวะโลกรวน เศรษฐกิจโลก สงครามและอื่นๆ 

ความที่เราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสังคมการเมืองได้มากขนาดนั้น สิ่งที่ดีที่สุดที่ศิลปินจะทำได้คือให้ความสุขกับผู้คน และการให้ความสุขกับผู้คนนั้นน่าจะช่วยปลดปล่อยจิตวิญญาณเขา ทำให้เขาเป็นอิสระทางความคิดได้ในบางแง่ อย่างน้อยชั่วโมงที่เขาเข้ามาเดินในงาน ผมอยากให้เขารู้สึกเป็นอิสระจากสิ่งต่างๆที่ปั่นป่วนอยู่ในโลกปัจจุบัน

LIPS: งานนิทรรศการมีการแบ่งเป็นห้องๆ แต่ละห้องมีธีมอย่างไรบ้าง  

ทรงศีล: ทางเข้าที่มีสีเข้มออกเป็นสีเทาเกือบดำ ตรงนั้นเป็นโถงที่มีภาพ Drawing ที่เป็นภาพต้นฉบับจำนวนมากจากหนังสือ ถ้าใครอ่านหนังสือมาก็จะเห็นหลายๆภาพที่รู้จัก รวมทั้งเห็นต้นฉบับที่ผมวาดด้วยมือลงบนกระดาษ 

“สีแดงนี้เป็นการปลุกระดมทางจิตวิญญาณ ให้เรารู้สึกถึงอะไรหลายๆอย่างที่เราอาจจะลืมไปแล้ว”

ห้องถัดไปเป็นห้องสีแดง ห้องนี้เป็นเหมือนหัวใจที่เต้นด้วยความเร่าร้อน ช่วงแรกที่ผมทำงานจิตรกรรม มีสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกอยู่ตลอดคือ สีแดง และชัดเจนขึ้นเมื่อวาดภาพ Soul Liberate เรื่องราวของภาพนี้ คือ หัวไฟถือพุ แล้วเดินขึ้นไปบนเนินแห่งหนึ่งในตอนเช้ามืดที่ทุกอย่างยังอึมครึม แล้วเขาก็จุดแสงสว่างขึ้นมา เหมือนกับว่าเขาเป็นคนจุดวันใหม่ขึ้นมาด้วยตัวเอง ความรู้สึกนี้แหละที่ทำให้ผมคลี่คลายกับสีแดงว่า สีแดงนี้แหละควรจะเป็นพลังงานเริ่มต้นที่จะนำพาทุกอย่างไป เรียกได้ว่าเป็นการปลุกระดมทางจิตวิญญาณให้เรารู้สึกถึงอะไรหลายๆอย่างที่เราอาจจะลืมไปแล้ว ความรู้สึกนั้นแหละที่สร้างเป็นห้องสีแดงนี้ขึ้นมา

LIPS: แต่ไม่ได้มีแต่ความเร่าร้อนไปทุกห้อง 

ทรงศีล: ถัดไปห้องสีน้ำเงิน ช่วงปีกว่าๆที่ผมทำโชว์นี้ เป็นปีที่ผมไม่ทำอย่างอื่นเลย ไม่รับงาน ไม่เขียนหนังสือ เพราะอยากจะรู้ว่า พลังงานของการทำสิ่งๆสิ่งเดียวอย่างยาวนานต่อเนื่องเป็นอย่างไร ซึ่งช่วงกลางทางของการทำโชว์นี้มีความลึกซึ้งมากขึ้น จากความร้อนในตอนแรกที่เป็นสีแดง ผมค้นพบว่ามันมีพลังงานอีกแบบหนึ่งอยู่ในตัวเรา มันพูดถึงด้านที่เปราะบาง ด้านที่มีความอ่อนไหว จนไปถึงการเยียวยาบาดแผล

“ในช่วงเวลาของความเปราะบางเราจะได้รู้จักรอยแตกร้าวของตนเอง”

คล้ายกับว่าในห้องสีแดงเราออกไปปลุกระดมทางจิตวิญญาณ ต่อสู้กับโลกในรูปแบบต่างๆ เราได้บาดแผลมา ห้องสีน้ำเงินนี้คือการเยียวยา เช่น มีภาพหนึ่งที่เป็นภาพของถั่วงอกมีร่างกายเป็นแก้ว ตามร่างกายมีรอยแตกเป็นจุดแตกร้าวตามส่วนต่างๆของร่างกาย ด้านข้างมีข้อความว่า ‘IN FRAGILITY WE KNOW OUR CRACKS’ ในช่วงเวลาของความเปราะบางเราจะได้รู้จักรอยแตกร้าวของตนเอง      

เวลาพูดเรื่องความเศร้า ผมไม่อยากชวนให้ทุกคนมาเศร้าด้วยกันอย่างเดียว มันไม่ใช่ความรู้สึกที่แท้  ใช่…เราเคยรู้สึกเศร้าแบบนั้นเหมือนกัน แต่ในความทึมเทานั้น ในช่วงเวลาสีน้ำเงินนั้น ผมคิดว่ามันมีสิ่งที่ดีมากๆบางอย่างเกิดขึ้นด้วย หลายๆครั้งความเจ็บปวดเป็นกระบวนการหนึ่งของการเติบโต ถ้าชีวิตเรามีแต่ความบันเทิงอย่างเดียว ก็จะไม่เข้าใจคนที่อยู่ในภาวะอื่นๆ ความเข้าใจกันและกันตรงนั้นกลายเป็นแสงสว่างได้

LIPS: ห้องสุดท้ายเป็นบทสรุปที่สดใส

ทรงศีล: ห้องต่อไปจะนุ่มนวลครับ เป็นสีครีม จริงๆแล้วตอนแรกผมเคยคิดชื่อห้องนี้เอาไว้คร่าวๆ แต่ไม่ได้ใส่ไว้ในงานว่า US AGAINST THE WORLD หมายถึงว่า เราเผชิญโลกมาด้วยกัน โลกก็เป็นอย่างนั้นแหละ เราคงไปเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งหมดไม่ได้ แต่ว่าเรายังอยู่ตรงนี้ด้วยกัน ยังมีอะไรที่เรามองหาแง่มุมที่ดีไปด้วยกันได้ เป็นห้องสุดท้ายที่มีสีสันมากขึ้น มีแฟนหนังสือให้คำจำกัดความว่าเป็น สี Candy Neon เป็นงานที่สนุกขึ้น มีสีสันขึ้น

“ไม่ว่าเราจะใช้ชีวิตมาอย่างไร เราต่างไร้เดียงสากับความตาย”

ภาพในห้องนี้พูดถึงเรื่องหนักๆด้วยอารมณ์ที่สนุกสนาน เช่น ภาพ NO MATTER HOW WE LIVE, WE ALL NAIVE TO DEATH ไม่ว่าเราจะใช้ชีวิตมาอย่างไร เราต่างไร้เดียงสากับความตาย ภาพนี้อาจเป็นภาพที่ผมชอบมากที่สุดชิ้นหนึ่ง  เป็นภาพที่มีสีเยอะที่สุดในงานแล้ว มันยั่วล้อความตายด้วยสีสันที่สนุกสนาน ไม่ว่าเราใช้ชีวิตมาแบบไหน จะยิ่งใหญ่เล็กจ้อยยังไงก็ตาม ในนาทีที่เราเผชิญหน้ากับความตาย เราก็ไร้เดียงสาเท่ากันหมด

“ในหนังสือเป็นเรื่องราวเหนือจริงเป็นคาแรกเตอร์ที่อาจจะไม่ใช่มนุษย์ด้วยซ้ำ แต่มันสะท้อนความจริงของโลกช่วงเวลาต่างๆ ”

LIPS: ตั้งแต่เล่มแรกจนถึงปัจจุบัน 18 ปี มองว่าหัวงอกและหัวไฟเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง         

ทรงศีล: ตอนเริ่มเขียนถั่วงอกและหัวไฟแรกๆ มันเต็มด้วยความสดที่เหมือนอัลบั้มแรกของวงดนตรีหน้าใหม่ ทำไปอย่างที่ใจคิด ทำโดยเอาข้างในออกมา กางแผ่แบบไม่ใช้การคิดคำนวณตรึกตรองอะไรเลย เหมือนเดินออกไปเล่นดนตรีโครมๆ ให้โลกฟัง จริงๆแล้ว หัวไฟเล่มหนึ่งคือหนังสือที่ประตูเชื่อมกับโลกภายนอกที่ปิดอยู่ ไม่มีความเห็นอะไรจากโลกภายนอกตอนที่เขียนเลย เพราะตอนนั้นยังไม่มีผู้อ่านติดตาม มันจึงดิบและจริงมาก

หลังจากเล่ม 1 ประสบความสำเร็จมาก เวลาผ่านไปเร็วเป็น 10 ปี เขียนไปเล่มต่อเล่ม ช่วงเวลาเหล่านั้น ชีวิตก็ดำเนินไปด้วยมีเหตุการณ์มากมาย มีวันที่สูญเสีย มีวันที่น่าประทับใจ วันที่ผมแต่งงาน วันที่ชีวิตเปลี่ยนไปทั้งขึ้นและลงอยู่ด้วย สิ่งเหล่านั้นก็ไหลเข้าไปในหนังสือ แม้ว่าในหนังสือจะเป็นเรื่องราวเหนือจริงเป็นคาแรกเตอร์ที่อาจจะไม่ใช่มนุษย์ด้วยซ้ำ แต่มันสะท้อนความจริงของโลกช่วงเวลาต่างๆ  สิ่งนี้ผมมักจะบันทึกไว้ในหน้าเกือบสุดท้ายของหนังสือทุกเล่ม เป็นเหมือน Easter Egg ให้คนอ่าน

LIPS: ทำงานมาหลากหลาย ทั้งวาด/เขียน/ออกแบบ/งานดนตรี  มองว่าการจัดนิทรรศการมีความแตกต่างจากงานอื่นๆที่ทำมาอย่างไร ได้รับประสบการณ์อะไรเป็นพิเศษบ้าง

ทรงศีล: ในการจัดนิทรรศการครั้งนี้มีการทำงานเป็นทีมมาก ผมได้รับการช่วยเหลือเยอะมาก ประสบการณ์ที่รู้สึกพิเศษคือ ผมรู้สึกถึงการเริ่มต้น พอทำสิ่งนี้แล้ว ไม่แน่ว่าสิ่งที่ทำมาทั้งหมดก่อนหน้านี้ 20 ปี มันอาจเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป ซึ่งไม่แน่ชัดเหมือนกันว่าคืออะไร

หลังจากนี้น่าจะมีหลายๆอย่างที่เปลี่ยนไป ในแบบที่ผมเองก็คงจะต้องตั้งรับโดยไม่ได้คาดไว้เหมือนกัน หลายๆคนที่มาดูงานก็บอกว่า ไม่คิดว่าจะใช้สีสดขนาดนี้ หลายคนคาดหวังว่ามันจะเป็นขาว-ดำ เพราะเขียนขาว-ดำมาตลอด ตรงนั้นก็เป็นสิ่งที่เพิ่งค้นพบว่า เราก็มีหลายอย่างในตัวนะที่เราทำแบบนี้ได้ด้วย และเราก็ชอบมัน

LIPS: ถั่วงอกและหัวไฟถูกวาดเป็นขาวดำในเล่มแรก มีการกำหนดสีในคาแรกเตอร์มาตั้งแต่แรกเลยหรือไม่

ทรงศีล: นอกจากสุภาพสตรีชุดดำที่ใช้สีดำแน่ๆแล้ว สีของถั่วงอกและหัวไฟและตัวละครตัวอื่นๆ เป็นสีเหมือนกับที่เราเห็นในความฝัน ไม่มีสีที่ตายตัว มีแค่โทนคร่าวๆที่อยู่ในใจ ผมรู้ว่าเส้นผมของหัวไฟต้องเป็นสีร้อน บางครั้งออกเป็นสีส้ม บางครั้งออกเป็นสีแดง เหมือนเวลาที่เราจำอะไรได้ในความฝัน เราจะจำได้ในระดับหนึ่ง บอกไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ อาจมีภาพที่คลุมเครือ ทำให้เวลาผมวาดภาพที่เป็นสี ถ้าเราสังเกตดีๆ จะไม่ใช่สีเบอร์เดียวกันตลอดทุกภาพ บางครั้งก็เปลี่ยนไปตามบรรยากาศ ความรู้สึก ความหมายของภาพ แต่โดยรวมๆ เราจะยังรู้สึกถึงตัวละครได้

“เหตุผลที่งานจิตรกรรมอยู่คู่กับมนุษย์มายาวนานขนาดนี้ เพราะมันมีบางอย่างที่สื่อสารกับจิตใต้สำนึกของเรา”

LIPS: มองว่านิทรรศการจะให้ประสบการณ์ที่แตกต่างกันอย่างไร  ระหว่างผู้เข้าชมที่ไม่เคยอ่านหนังสือมาก่อนกับแฟนหนังสือ          

ทรงศีล: คนที่อ่านมาก่อน เวลามาดูภาพต้นฉบับในห้องแรกจะมีสตอรี มีวันเวลาของตัวเขาอยู่ในนั้นด้วย บางคนมาดูแล้วก็เล่าให้ฟังว่า รูปนี้ตอนที่เขาอ่าน เขากำลังมีลูก เขาก็ตั้งชื่อลูกตามตัวละครตัวนี้ เป็นช่วงเวลาพิเศษของเขา มีความทรงจำที่เขามีให้กับภาพต่างๆ

สำหรบคนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ผมว่ามันน่าสนใจมาก จากที่ผู้อ่านคนอื่นต้องรออ่านหนังสือกันปีละเล่ม บางครั้ง 2 ปีเล่ม เป็นสิบกว่าปี นี่คุณจะได้อ่านทั้งหมด 10 เล่มรวดเดียว ซึ่งเป็นประสบกาณ์ที่แม้แต่คนเขียนอย่างผมก็ไม่มีโอกาส ผมอยากรู้เหมือนกันว่าความรู้สึกนั้นจะเป็นอย่างไร และการดูงานจิตรกรรมในนิทรรศการก็น่าจะมีความสดของการชมในแบบที่ว่า ไม่รู้จักเลยว่าตัวละครบุคลิกเป็นอย่างไร ก็จะได้เกิดความรู้สึกกับงานแต่ละชิ้นโดยที่ไม่ถูกชี้นำอะไรมาก่อน

LIPS: การวาดภาพประกอบที่ผ่านมาอาจไม่ต้องทำงานที่มีขนาดใหญ่ เมื่อได้มาวาดภาพขนาดใหญ่บน Canvas แล้วรู้สึกอย่างไร 

ทรงศีล: ผมยิ่งรู้สึกชื่นชมงานจิตรกรรมมากกว่าเดิม มันไม่ใช่แค่ภาพวาด ไม่ใช่แค่ Currency ไม่ใช่แค่ทรัพย์สินที่จะส่งต่ออะไรแบบนั้นเลย ภาพๆหนึ่งที่คนคนหนึ่งใช้เวลากับมันนานๆ เพื่อที่จะบันทึกความรู้สึกลงไป มันมีบางอย่างเกิดขึ้นจริงๆ ทุกภาพที่เราทำมันด้วยความซื่อตรงต่อความรู้สึกจริงๆ มันพูดคุยกับผู้คนได้จริงๆ มันคือเหตุผลที่งานจิตรกรรมอยู่คู่กับมนุษย์มายาวนานขนาดนี้ มันมีบางอย่างที่สื่อสารกับจิตใต้สำนึกของเรา 

LIPS: ช่วยเล่าถึงการทำงานในพาร์ตดนตรีที่มาประกอบในงานนิทรรศการหน่อย

ทรงศีล: ดนตรีในนิทรรศการนี้มี 2 ส่วน ส่วนแรกคือเสียงที่ผมออกแบบสำหรับการเดินชมงานนิทรรศการ เป็นดนตรีที่เราทำให้สอดคล้องกับงานจิตกรรมที่แสดงอยู่โดยรวม และไม่ให้น้ำหนักของเสียงรบกวนการชมงาน ตรงนี้ผมเรียกมันว่าเป็นซาวนด์แทร็กของงาน เหมือนภาพยนตร์ที่มีดนตรีประกอบเสริมบรรยากาศ ไม่มีคำร้อง เป็นเสียงดนตรีอย่างเดียว

อีกส่วนหนึ่งเป็นเพลงที่มีเนื้อร้องและดนตรีใส่เต็มที่ บางเพลงก็มีความหนัก บางเพลงมีความทดลองบ้าง ซึ่งจะเข้มข้นกว่าดนตรีที่ใส่เป็นซาวนด์แทร็ก  เราเอามาบันทึกไว้ในแผ่นเสียง ชื่ออัลบั้มชื่อเดียวกับงาน หน้าปกแผ่นเสียงคือรูปที่เป็นธีมหลักของงานด้วย

LIPS: ตัวงานชิ้นที่เป็นกีตาร์/เบส เป็นการผสมกันของเครื่องดนตรีสองชนิด สะท้อนการทำงานในสื่อผสมผสานหลายประเภท

ทรงศีล: ความที่เรามีความชอบหลากหลายปนเปกันอยู่ ทำให้น่าจะถ่ายทอดลงไปในงานโดยธรรมชาติครับ ตอนแรกทำกีตาร์เพราะเป็นเครื่องดนตรีที่ผมเล่นเยอะที่สุด สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือ ผมสนใจเสียงเบสมาก ทั้งที่ก่อนหน้านี้อาจไม่ได้โฟกัสกับมันเท่าไร ตอนนี้เราสนใจสิ่งที่เป็นโครงสร้างของสิ่งต่างๆมากขึ้น

เราสนใจการออกแบบเสียงที่ลึกซึ่งขึ้น ในแง่ที่ว่าไม่ใช่ได้ยินแค่เสียงกีตาร์ เบส กลองแล้ว แต่เราเอาด้านหลังของดนตรีออกมาโชว์ข้างหน้า บางเพลงเบสลอยอยู่ข้างหน้าเป็นเครื่องดนตรีหลักแทนที่จะแค่คุมจังหวะ ตรงนี้มันสะท้อนไปถึงการออกแบบงานศิลปะด้วย เราอยากเอาสิ่งที่อยู่ข้างหลังออกมา อย่างในงานมีรูปภาพที่ชื่อ FREE AS THE BIRD เป็นภาพที่หัวไฟกระโดดตีลังกา แต่มีสีดิบๆ ปาดลงไปเป็นก้อนในภาพวาดที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ปาดตามที่เราคิดว่ามันเหมาะสมที่สุด มันเหมือนเป็นการดึงโครงสร้างของงานจิตรกรรมออกมาไว้ข้างหน้า ถ้าเป็นสถาปัตยกรรมก็อาจจะเป็นตึกโมเดิร์นที่เอาโครงสร้างออกมาโชว์ภายนอกอะไรแบบนั้น  สิ่งที่เป็นแบ็กกราวนด์เป็นโครงสร้าง เรารู้สึกว่ามันมีความงาม มีความน่าสนใจมากพอที่จะให้เขาอยู่ข้างหน้าได้

“บางอย่างในโลกนี้มีเงินเหลือเฟือก็ยังซื้อไม่ได้ เงินอาจซื้อองค์ประกอบต่างๆของมันได้ แต่ตัวมันจริงๆ ต้องเกิดจากการลงมือทำ”

LIPS: Songsinthings ที่เป็นแบรนด์ Merchandise ของคุณทรงศีล และคาแรกเตอร์หัวไฟ มีกลิ่นอายของ Street Culture มากๆ มองว่า Songsinthings เป็นแบรนด์สตรีทหรือไม่ คิดอย่างไรกับการทำงานศิลปะและการทำแบรนด์ ควรมีเส้นแบ่งหรือไม่จำเป็น 

ทรงศีล: ผมไม่รู้เลยว่าคำว่า แบรนด์สตรีท เข้ามาอยู่ในการรับรู้ของเราตั้งแต่เมื่อไร เท่าที่ผมจำได้ ในคนรุ่นเรายังไม่มี หลายๆคำจำกัดความบนโลกนี้ เราไม่รู้เลยว่ามันเริ่มจำกัดความความคิดของเราตั้งแต่เมื่อไร รู้อีกทีมันก็เข้ามาอยู่ในความคิดของเราแล้ว

การทำแบรนด์  Songsinthings ผมไม่ได้คิดว่ามันเป็นคำจำกัดความแบบไหน แต่ว่าทั้งหมดนั้นมันง่ายกว่านั้นมาก เราทำจากความชอบจริงๆ ความสนใจจริงๆ โปรดักต์ในแบรนด์  Songsinthings เกิดจากความที่ว่า ผมอยากได้อะไรสักอย่างที่ผมหาซื้อมันแบบตรงใจไม่ได้ อย่างในงานนี้จะมีแจ็กเก็ตที่เป็นธีมหลักของงาน 3 แบบ ซึ่งผมไม่สามารถหาซื้อแบบที่ต้องการได้ บางอย่างในโลกนี้มีเงินเหลือเฟือก็ยังซื้อไม่ได้ เงินอาจซื้อองค์ประกอบต่างๆของมันได้ แต่ตัวมันจริงๆ ต้องเกิดจากการลงมือทำ 

แจ็กเก็ตซักตัวที่ผมต้องการต้องมีความคิดความเชื่ออยู่ในนั้น มันไม่ใช่แค่การเอามาสวมทับ มันควรมีสิ่งที่เราเชื่อมั่นมากพอที่จะสวมมันไว้บนตัว แล้วให้คนอื่นมองมาที่ตัวเรา เห็นมันเป็นเนื้อเดียวกับร่างกายเรา มันต้องดีพอมากกว่าการที่เราเอาชื่อแบรนด์อะไรก็ไม่รู้มาสวมโดยไม่มีเหตุผล เรารู้สึกว่าเราต้องการของแบบนั้น และมันก็ต้องสวยงามด้วย  

LIPS: หรือจริงๆแบรนด์สตรีทก็เป็นสิ่งที่เด็กสตรีททำขึ้นมา เพราะฉันอยากใส่แบบนี้เหมือนกัน 

ทรงศีล: อาจจะคล้ายๆกัน การเกิดขึ้นของหลายๆ สิ่งก็เป็นแบบนั้น ดนตรีพังก์ไม่ได้คิดคำว่าพังก์ขึ้นมาก่อนแล้วค่อยจับคอร์ดเล่นหรอก มันมีความรู้สึกอะไรต่อโลกนี้ แล้วมันก็เอาไปทำบางอย่าง จนในที่สุดโลกก็ต้องไปหาคำจำกัดความให้กับมัน

“อุปกรณ์ที่เรียบง่ายกับจิตวิญญาณที่แข็งแกร่ง  ถ้าใช้มันให้ดีจริงๆ ผมว่ามันเปลี่ยนโลกได้”

LIPS: ทำไมเลือกสเกตบอร์ดที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์สตรีทมาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของงาน 

ทรงศีล: ผมมีความหลังเกี่ยวกับสเกตบอร์ดอยู่ ตอนที่ผมเรียนศิลปะ มีการติวศิลปะให้กับคนที่อยากสอบเข้า ระหว่างพัก ทุกคนจะไปรุมกินคางกุ้งย่างกับเล่นสเกตบอร์ดที่ใครซักคนเอามา วันนั้นเป็นวันที่ผมได้ลองเล่นสเกตบอร์ดเป็นครั้งแรก แล้วผมก็พบว่า ผมไม่มีวันเล่นได้ (หัวเราะ) สิ่งที่ได้คือคางกุ้งย่างอร่อยมาก (หัวเราะ) ผมเป็นคนทรงตัวแย่มากในการเล่นกีฬาทุกประเภท ไม่ว่าผมจะชอบมันขนาดไหน แต่ว่าผมก็จะได้แค่เป็นผู้ชม หรือไม่ก็แค่ออกแบบสเกตบอร์ด 

ในขณะเดียวกัน สเกตบอร์ดสอดคล้องกับหัวไฟมาก ในแง่ของความท้าทายต่อโลกด้วยวัสดุหรือพลังชีวิตในแบบที่เรียบง่าย ในจุดเริ่มต้นของมันสเกตบอร์ดไม่ใช่กีฬาเอ็กซ์ตรีมที่ราคาสูงอะไร ต่อให้เรามีแผ่นไม้ที่ไม่ได้ดีขนาดนั้น แค่เอามาติดล้อให้คนที่เล่นเก่งจริงๆ ก็สามารถเล่นได้ ความรู้สึกนี้มันทำให้ผมสนใจพวกกีฬาเอ็กซ์ตรีม ถึงแม้ผมจะเล่นไม่ได้ แต่ก็รู้สึกประทับใจมากๆที่มีคนทำแบบนั้นได้

ผมประทับใจการท้าทายขีดจำกัดของตัวเอง ใช้อุปกรณ์ที่เรียบง่ายอย่างสเกตบอร์ดสร้างวัฒนธรรม สร้างคัลเจอร์อะไรได้มากมาย แค่มนุษย์หนึ่งคนยืนบนแผ่นไม้ติดล้อ เขาเรียกคนให้มาอยู่ในวัฒนธรรมเดียวกันได้เป็นล้านๆ คน สร้างแบรนด์เสื้อผ้าขึ้นมา สร้างสังคมขึ้นมา สิ่งนี้มันเป็น Soul Liberate เหมือนกัน ไม่ว่าเราจะทำด้วยอะไร บางคนอาจจะสร้างสิ่งนี้ขึ้นมาด้วยกระดาษกับดินสอ สร้างคัลเจอร์ขึ้นมาจากการวาดภาพ

“อุปกรณ์ที่เรียบง่ายกับจิตวิญญาณที่แข็งแกร่ง  ถ้าใช้มันให้ดีจริงๆ ผมว่ามันเปลี่ยนโลกได้”

เสพงานสร้างสรรค์จากอุปกรณ์ที่เรียบง่าย และจิตวิญญาณที่แข็งแกร่งและเป็นอิสระ ได้ที่งานนิทรรศการ FIREHEAD: SOUL LIBERATE โดยทรงศีล ทิวสมบุญ ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 7 มกราคม 2024 ณ River City Bangkok RCB Galleria 2 ชั้น 2 ตั้งแต่เวลา 10:00 – 20:00 น.

Words: Roongtawan Kaweesilp
Photos: Somkiat Kangsdalwirun 

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม