Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview / People

ปีเตอร์แพน – ทัศน์พล วิวิธวรรธน์ ได้ร้อยทำให้ล้านทุกงาน ตั้งแต่เด็กปั๊มจนถึงบทเจ้าชายไมโครเวฟ

Interview / People


นักแสดงดาวรุ่งวัยเบญจเพส ปีเตอร์แพน – ทัศน์พล วิวิธวรรธน์ ผู้แจ้งเกิดจากบทบาทพระองค์เจ้าพันพิชากร เจ้าชายไมโครเวฟแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตัวละครคู่รองออร่าแรงใน ‘หมอหลวง’ ละครพีเรียดเรตติ้งสูงของช่อง 3

อันที่จริง ปีเตอร์แพนวนเวียนอยู่ในวงการบันเทิงมาตั้งแต่วัยกระเตาะ เขาเริ่มจากการเป็นนักแสดงเด็กและหายหน้าไปสักพัก ก่อนจะกลับมาโด่งดังกระหึ่มโซเชียลเมื่อ 7 ปีที่แล้วจากกระแสเด็กปั๊มสุดหล่อแห่งอำเภอท่ามะกา ธุรกิจใหม่ของทางบ้านในเวลานั้นที่เปิดโอกาสให้ชีวิตการแสดงของปีเตอร์แพนกลับมาโลดแล่นอีกครั้ง ประเดิมด้วยตอนอวสานของละคร ‘รากนครา’ ในบทเจ้าไศลรัตน์ ทายาทเจ้านายฝ่ายเหนือผู้เป็นพระ-นางของเรื่อง ต่อเนื่องถึงบทบาทชายสูงศักดิ์ในผลงานลำดับถัดมา

สายวันนี้เรามีนัดกับปีเตอร์แพน หนุ่มไทยเชื้อสายจีนผสมมอญเล็กน้อย ที่แม้จะออกตัวว่านอนเกือบรุ่งเช้าเพราะถ่ายโฆษณาถึงตี 3 แต่ดูเหมือนว่าดีกรีความเริงร่าของเขาไม่มีแผ่วลง ซ้ำยังขยายคลื่นความอบอุ่นจากในจอสู่นอกจอด้วยรอยยิ้มกว้างที่ฉายชัดแม้มองจากดาวอังคาร ก่อนอัปเดตผลงานใหม่อีกหลายเรื่องที่ดูจะขึ้นแท่นลูกรักละครย้อนยุค รวมถึงคาแรกเตอร์ที่อาจเขย่าใจให้ร่วมช้ำรักไปกับพระรองรูปหล่อ

“ทุกตัวละครที่ผมเล่นจะมีความเป็นตัวเราอยู่ในนั้นไม่มากก็น้อย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะดึงมุมไหนออกมาใช้ในการแสดง”

LIPS: สิ่งที่คล้ายกันระหว่าง ‘ปีเตอร์แพน – ทัศน์พล’ และตัวการ์ตูน ‘ปีเตอร์แพน’ ที่คุณพ่อชอบจนนำมาตั้งชื่อเล่นให้ลูกชาย

ปีเตอร์แพน: คล้ายตรงที่ผมไม่ค่อยยอมโตสักเท่าไหร่ครับ ยังมีความเป็นเด็กอยู่ในตัว ถ้าอยู่กับเพื่อนบางกลุ่ม ผมจะอะเลิร์ตประมาณหนึ่ง เพราะอยากให้บรรยากาศสนุกสนานเฮฮา

LIPS: บรรทัดแรกของโพรไฟล์ในอินสตาแกรม แนะนำตัวเองว่าเป็น COMEDIAN (นักแสดงตลก) นี่เป็นการโพซิชั่นนิ่งตัวเองหรืออย่างไร

ปีเตอร์แพน: ใช่ๆ (หัวเราะ) เกิดจากการประชดชีวิตตัวเองช่วงหนึ่งที่รู้สึกว่า ‘Life is a joke.’ แต่พอผ่านจุดนั้นมาแล้ว ผมรู้สึกว่า Comedian เป็นคำนิยามที่ตลกดี แปลกดี แล้วก็มีนัยยะ บางทีคนเราไม่ควรทำชีวิตให้เครียดเกินไป มีความสุขกับมันบ้างก็ได้

และถ้ามองลึกลงไป ‘ตัวตลก’ ก็เป็นหนึ่งในคาแรกเตอร์ที่ทรงพลัง เป็นเชปชิฟเตอร์ที่งานของเขาทำให้คนอื่นมีความสุข สร้างเสียงหัวเราะ แต่ภายในใจของเขาอาจจะกำลังซีเรียสกับงานที่ทำอยู่ เป็นความซีเรียสที่มีฉากหน้าเป็นความไม่ซีเรียส

LIPS: เล่าถึงปูมหลังของวัยเด็กที่เติบโตในอำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรีสักนิด

ปีเตอร์แพน: โห…เป็นความทรงจำที่ดีมากเลยนะ เป็นชีวิตเด็กบ้านนอกที่ไม่ถึงกับโดดคลองเล่นน้ำ แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ผมรู้สึกว่าชีวิตมันง่าย เราได้อยู่กับธรรมชาติ หลังบ้านมีทางรถไฟ มีทางริมคลองให้เราไปวิ่ง ไปปั่นจักรยานกันทั้งครอบครัว มีเพื่อนรุ่นพี่ข้างบ้านที่เราชอบไปนอนค้างบ้านเขา เป็นความรู้สึกที่คิดถึง ผมเคยคิดว่าถ้าอนาคตมีครอบครัวของตัวเอง ก็อยากให้พวกเขาได้สัมผัสถึงบรรยากาศของการอยู่ต่างจังหวัดบ้าง

“Comedian เป็นคำนิยามที่แปลกดี งานของเขาทำให้คนอื่นมีความสุข แต่ภายในใจของเขาอาจจริงจัง เป็นความซีเรียสที่มีฉากหน้าเป็นความไม่ซีเรียส”

LIPS: เมล็ดพันธุ์ที่ผลิดอกออกผลจากโรงเรียนทางเลือกซึ่งเป็นสิ่งใหม่เมื่อ 20 ปีก่อนคืออะไร

ปีเตอร์แพน: บ้านผมอยู่กาญฯ ก็จริง แต่มาเรียนที่บ้านโป่ง (จ.ราชบุรี) จนถึง ป.4 แล้วค่อยย้ายไปเรียนแถวนครชัยศรี (จ.นครปฐม) จนจบ ม.ต้น เป็นโรงเรียนนอกระบบเชิงบูรณาการ 3 ภาษา คือไทย จีน อังกฤษ ตอนนั้นน้องผมอาจไม่เหมาะกับโรงเรียนในระบบ ป๊าก็เลยมองหาโรงเรียนทางเลือกให้ลูกๆ เอาแบบที่ไม่เน้นวิชาการมาก เรียนแล้วมีความสุข และได้ซึมซับภาษาไปในตัว ไม่ได้บอกว่าแบบไหนดี-ไม่ดีนะ ขึ้นอยู่กับผู้ปกครองมองว่าแบบไหนเข้ากับเด็ก

อย่างผมรู้สึกว่าเราได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริงๆ เป็น Project-based Learning ที่ให้เด็กโหวตกันว่าอยากเรียนรู้เรื่องไหน สมมติเรื่องอาหาร ไม่ใช่แค่รู้ว่าอาหารคืออะไร แต่เราต้องทำกับข้าวด้วย ขายด้วย เหมือนได้เรียนเลขไปในตัว ได้เรียนวิทย์ผ่านส่วนผสมต่างๆ วัตถุดิบอย่างข้าวก็ต้องดำนาเอง เกี่ยวข้าวเอง แล้วพรีเซนต์เป็นภาษาจีนหรืออังกฤษ เราเลยได้ภาษาด้วย จากที่ก่อนหน้านั้นท่องศัพท์ทุกวันแต่พูดได้น้อยมาก และพอโตขึ้น เราต้องมีความเป็นผู้นำ เพราะบางโปรเจกต์ก็เรียนรวมกับรุ่นน้อง ที่สำคัญคือเขาวัดผลการเรียนจากความคิด การวิเคราะห์ และการสรุปผลของเรา

LIPS: แล้วชีวิตวัยรุ่นสายอาร์ตที่ออกแบบเองได้ในเมืองอินเวอร์คาร์กิลล์ นิวซีแลนด์เป็นอย่างไรบ้างในตอนนั้น

ปีเตอร์แพน: ผมเคยเรียนซัมเมอร์ที่สิงคโปร์บ้าง จีนบ้าง เพื่อหาประสบการณ์ และดูแนวทาง แต่รู้สึกว่าบรรยากาศการเรียนที่นิวซีแลนด์ตอบโจทย์ตัวเองที่สุด คือพอขึ้น ม.ปลาย เราเลือกเรียนเองได้ สมมติอยากไปทางอาร์ตแต่ไม่อยากทิ้งเลข เราก็เรียนเลขระดับง่ายได้ (Math C) วิชาที่ผมเลือกเรียนมีทำหนัง ถ่ายรูป วาดรูป ดิจิตอลอาร์ต แล้วก็กีฬา

สำหรับผม โอ๊กแลนด์ (เมืองใหญ่สุดของนิวซีแลนด์) ค่อนข้างวุ่นวายไป ในขณะที่ ‘อินเวอร์คาร์กิล’ ที่อยู่เกือบใต้สุดของประเทศ เป็นเมืองค่อนข้างเงียบสงบแต่ครบสำหรับการใช้ชีวิต ทั้งในด้านธรรมชาติและเอนเตอร์เทนเมนต์ ที่นั่นมีห้างเล็กๆ มีโรงหนัง โรงละคร ที่สำคัญคือมีพื้นที่สำหรับเล่นกีฬาเยอะมาก ผมเล่นบาสตั้งแต่เรียนเมืองไทย แล้วไปเพิ่มวอลเลย์บอลตอนอยู่ที่นู่น ผมทุ่มเทมากจนได้ลงแข่งในระดับเขตด้วย

LIPS: บทเรียนจากต่างแดนและข้อเสนอแนะที่อาจช่วยเติมเต็มการศึกษาไทยคืออะไร

ปีเตอร์แพน: อยู่ที่นั่นต้องวางแผนเอง ขวนขวายเองทั้งหมด ทำผิดก็ต้องรับผิดชอบด้วยตัวเองล้วนๆ เรียนเสร็จต้องรีบปั่นจักรยานไปซ้อมกีฬาถึง 3 – 4 ทุ่ม กลับมาต้องทำการบ้านต่อ ถือว่าได้เผชิญชีวิตด้วยตัวเองจริงๆ ช่วงแรกมีรู้สึกแปลกๆ เหงาๆ เพราะปกติครอบครัวผมนอนห้องเดียวกัน 6 คนมาโดยตลอด มีป๊าม้า พี่สาว ตัวผม น้องสาว และน้องชาย แต่ดีว่าที่นั่นมีกิจกรรมเยอะ ตั้งแต่ชมรมในโรงเรียนไปจนถึงโซเชียลคลับนอกโรงเรียน เช่น คลับปีนเขา คลับถ่ายรูป ฯลฯ ผมเองก็ได้ค้นพบความชอบในกีฬาวอลเลย์บอลจากการทดลองทำกิจกรรมใหม่ๆ ผ่านคลับนี่ล่ะครับ

ที่สำคัญคือความเปิดกว้าง เห็นได้ชัดในเรื่องงานศิลปะที่เขาจะไม่ตัดสินไอเดียเราเลย แถมยังซัพพอร์ตเราตั้งแต่เพื่อนฝูงไปจนถึงอาจารย์ เราได้ลงมือทำด้วยเทคนิคเชิงลึก อย่างเรียนจบงานไม้ก็มีอาชีพรองรับโดยไม่จำเป็นต้องเรียนต่อมหาวิทยาลัย

ผมเคยเอารูปถ่ายไปร่วมแสดงที่แกลอรีในเมือง รู้สึกภูมิใจนะครับที่ได้มีส่วนร่วม พื้นที่เหล่านั้น ไม่ทำให้เรากลัวในการแสดงออก ซึ่งสิ่งนี้ควรมีมากขึ้นในบ้านเรา ผมเชื่อว่าทุกวันนี้คงมีการปรับหลักสูตรให้ตอบโจทย์เด็กไทยมากขึ้นแล้ว แต่ด้วยอะไรหลายๆ อย่างที่ยังทำให้เด็กๆ รู้สึกว่า ‘ไม่เอาดีกว่า’ ดังนั้น ผมว่าสิ่งที่ควรส่งเสริมก็คือการให้ ‘ความมั่นใจ’ เด็กหลายคนมีศักยภาพ แต่ขาดพื้นที่ในการแสดงออกบ้าง ขาดคนซัพพอร์ตบ้าง ถ้าเราให้โอกาสเด็กๆ ได้ลองผิดลองถูก เขาอาจจะค้นพบตัวเองได้มากขึ้น

“ก่อนเป็นเด็กปั๊ม ผมเคยเป็นเด็กเสิร์ฟ ป๊ากับม้าจะพาไปปล่อยไว้ที่นั่นช่วงปิดเทอม เพื่อให้เราเรียนรู้การทำงาน เป็นการทำงานแลกข้าว”

LIPS: ทางแยกวัดใจในวันที่ต้องเลือกเส้นทางชีวิต

ปีเตอร์แพน: ผมกลับมาเรียนต่อคณะสถาปัตย์ที่สถาบันอาศรมศิลป์ เป็นสังคมเล็กๆ เหมือนตอนอยู่โรงเรียนทางเลือก และค่อนข้างลงลึกในทุกโปรเจกต์ แต่ด้วยความที่เราทำงานในวงการบันเทิงไปด้วยเลยแบ่งสมาธิ แบ่งเวลาได้ยาก พอเรียนได้สามปีครึ่งเลยตัดสินใจหยุดไว้ก่อน แล้วเลือกทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้เต็มที่ดีกว่า รู้สึกเสียดายครับ แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่าเราได้พยายามถึงที่สุดแล้ว มันค่อนข้างชัดเจนว่าเราทำสองอย่างพร้อมกันได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งที่ใจเราอยากให้ดีทั้งการเรียนและการแสดง แต่มันไม่ดีกับสุขภาพ กับสถาบันที่สอนเรา และกับเพื่อนๆ ที่ทำงานกลุ่มด้วยกัน

LIPS: จากเจ้าพ่อโฆษณาฟันน้ำนมสู่ก้าวแรกในวงการละครเป็นมาอย่างไร

ปีเตอร์แพน: พี่สาวผมไปถ่ายโฆษณา KFC แล้วแม่พาผมไปกองถ่ายด้วยตอน 3-4 ขวบ พี่ๆ แคสติ้งเห็นเข้าก็เลยชวนเล่นโฆษณามาเรื่อยๆ เช่น โลตัส แคมปัส ช้างดาว รวมถึงเลย์ โนริสาหร่าย (ปี 2546) ผมคือเด็กที่กินขนมกับพี่แหม่ม-คัทลียา แมคอินทอช ส่วนละครเรื่องแรกจริงๆ คือ ‘ลอดลายมังกร’ ของซีเนริโอ (ปี 2549) ในวิกิพีเดียตกเรื่องนี้ไป (ยิ้ม) จากนั้นก็มีเรื่องอื่นๆ ตามมา เช่น แก้วจอมแก่น (ปี 2552) พระจันทร์สีรุ้ง (ปี 2552) สี่หัวใจแห่งขุนเขา ตอนวายุภัคมนตรา (ปี 2554) ฯลฯ ก่อนที่ผมจะบินไปเรียนต่อครับ

LIPS: กระแส #เด็กปั๊มหล่อ คือกลยุทธ์โปรโมตปั๊มใหม่ หรือความบังเอิญที่เกินคาด

ปีเตอร์แพน: จริงๆ ก่อนเป็นเด็กปั๊ม ผมเคยเป็นเด็กเสิร์ฟที่ร้านเดอะชิพ บ้านโป่ง ป๊ากับม้าจะพาไปปล่อยไว้ที่นั่นช่วงปิดเทอม เพื่อให้เราเรียนรู้การทำงาน เป็นการทำงานแลกข้าว พอกลับไทยช่วงปิดเทอม เขาก็ไม่อยากให้เราว่างเกินไปอีกเลยให้ช่วยเป็นเด็กปั๊ม ซึ่งก็ไม่ได้ตังค์เหมือนเดิม (หัวเราะ) แต่ผมทำงานจริงจังนะ เหงื่อท่วมเลย เคยเติมน้ำมันผิดต้องดูดออกก็มี แล้วเชื่อมั้ยผมดีใจมากเวลาเช็ดกระจกแล้วลูกค้าให้ทิป 10 – 20 บาท

ไม่เคยคิดเลยครับว่าจะมีคนเอารูปเราไปลงโซเชียลแล้วกลายเป็นกระแส อยู่ดีๆ มียอดฟอลไอจี 30K ได้ออกรายการตื่นมาคุย สามแซ่บ ได้เซ็นสัญญากับช่อง 3 บางจากก็มาทำโปรโมชันที่ปั๊ม คือปิดเทอมนั้นทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมากจนผมงงว่าเกิดอะไรกับชีวิต ต่างจากตอนอยู่นิวซีแลนด์ที่เราติสต์ เป็นอิสระมาก ไม่มีคนรู้จัก ใจจริงตอนนั้นไม่อยากกลับเข้าวงการครับ เหมือนผมมีปมเล็กๆ ตอนช่วงประถมปลายที่เริ่มรู้สึกว่าคนเข้าหาเราด้วยเหตุผลอะไร พอกลับไปเรียนต่อก็เลยหยุดเล่นโซเชียลไปพักใหญ่

“วงการบันเทิงมีเรื่องที่อาจกระทบจิตใจ แต่เราเลือกโฟกัสกับแก่นของการแสดง และมูฟออนไปกับสิ่งที่เรารักได้”

LIPS: จุดเปลี่ยนทางความคิดที่ส่งเป็นแรงผลักดันครั้งใหม่ในวงการบันเทิงคืออะไร

ปีเตอร์แพน: ช่วงกลับมาเรียนปี 1 ที่ไทย ผมได้รับเชิญให้เล่นตอนอวสานของ รากนครา (ปี 2560) พอขึ้นปี 2 – 3 ช่องก็ส่งไปเรียนการแสดง แรกๆ ไม่อยากเรียนเลย แต่จุดนั้นเองทำให้ผมได้เจอกับศาสตร์และศิลป์ของการแสดงเป็นครั้งแรก ผมพบว่าศิลปะไม่ได้มีแค่ในงานเพ้นต์ งานภาพถ่าย หรืองานเบื้องหลังภาพยนตร์ที่เรากำลังสนใจอยู่ ในฉากหน้าที่เราเห็นมันมีรายละเอียดเบื้องลึกมากๆ

ผมเริ่มแคสต์งานละครแต่ก็ไม่ได้รับเลือก ทำให้รู้ว่าเราต้องศึกษาเพิ่มเติมเลยลงเรียนการแสดงเองอีก 4 – 5 คอร์สกับครูส้ม (ณัฐวรา หงษ์สุวรรณ) เรียนการใช้เสียงกับครูเอก (ณัฐวัตร ศรีสวัสดิ์) จนรู้สึกรักในศาสตร์นี้ แม้จะรู้ว่าวงการบันเทิงมีเรื่องของกระแส แรงกดดัน หรือคอมเมนต์ที่อาจกระทบจิตใจ แต่ผมว่าเราสามารถเลือกโฟกัสกับแก่นของการแสดง และมูฟออนไปกับสิ่งที่เรารักได้

LIPS: ออร่าเจ้าขุนมูลนายส่งแจ้งเกิด จากเจ้าไศลรัตน์สู่ละครย้อนยุคในลำดับถัดมา รู้สึกอย่างไรบ้างกับเสียงตอบรับดีแบบนี้

ปีเตอร์แพน: ภูมิใจมากกว่าครับที่ได้เป็นตัวแทนถ่ายทอดชีวิตผู้คนในแต่ละยุค ผมประทับใจและรู้สึกตระการตากับประวัติศาสตร์ของบ้านเรา ตอนอยู่อาศรมศิลป์ ผมได้เรียนกับ ‘อาจารย์ศมประสงค์ ชาวนาไร่’ ผู้ที่ทำให้เราชื่นชอบความงามของประวัติศาสตร์ศิลป์ พอ หมอหลวง ออกอากาศ อาจารย์ไลน์มาบอกว่าติดตามดูละครอยู่ ทำให้ผมดีใจมาก

บท ‘พระองค์เจ้าพันพิชากร’ มีความเป็นพ่อไมโครเวฟ สุขุม โอบอ้อมอารี มองการณ์ไกล เป็นตัวละครที่ผมทำการบ้านค่อนข้างหนัก เพราะป่วยกระเสาะกระแสะแต่ก็ต้องทำหน้าที่เพื่อแผ่นดิน เป็นพาร์ตที่ทำให้เห็นว่าชีวิตในรั้วในวังก็เป็นคนเหมือนกัน

ส่วน พรหมลิขิต (ภาคต่อบุพเพสันนิวาส) ผมรับบท ‘หมื่นจันภูเบศร์’ (ลูกชายพระยาโกษาธิบดีจีน) เราเด็กสุดในแก๊งอยุธยาบอยแบนด์ ที่มีพี่โป๊ป (ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ) พี่ไต้ฝุ่น (กนกฉัตร มรรยาทอ่อน) พี่เพ็ชร (ฐกฤต ตวันพงค์) พี่โอม (คณิน สแตนลีย์) เราซุกซน เจ้าบทเจ้ากลอน แต่จงรักภักดี ผมรู้สึกว่าคนสมัยก่อนมีความเป็นพี่น้องกันแม้ไม่ใช่เลือดเนื้อเชื้อไข เขาตายแทนกันได้ ทำให้เห็นรากเหง้าและซาบซึ้งในบรรพบุรุษ

ลออจันทร์ (หนึ่งในซีรีส์ดวงใจเทวพรหม) ย้อนไปยุค 80 – 90 ผมเล่นเป็น ‘สุลิยา’ ​เพื่อนสนิทที่แอบรักนางเอก (จีน่า – ญีนา ซาลาส) ตัวละครนี้มั่นคงในความรัก ความถูกต้อง และความจงรักภักดี สุดท้ายแล้วเขาจะเลือกทางไหน ฝากเป็นกำลังใจให้ด้วยนะครับ เรื่องนี้ผมต้องฝึกทักษะร่างกายมากๆ ทั้งบู๊ ขี่ม้า ยิงปืน ขับมอเตอร์ไซค์

อีกหนึ่งเรื่องในยุคใกล้กันก็คือ ‘เหนือพรหมลิขิต’ ฮาตรงที่ผมเล่นทั้งเรื่องพรหมลิขิตและเหนือพรหมลิขิตเลย แต่สองเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกันนะครับ ผมเป็นตัวละครที่ชื่อ ‘กฤษ’ ซึ่งเป็นเลขาของพี่พรีม (รณิดา เตชสิทธิ์) เราแอบชอบนางเอกอีกแล้ว (ยิ้ม) เรื่องนี้ยังไม่เปิดกล้องครับ แต่น่าติดตามตรงที่เป็นแนวดราม่าแบบล้างแค้น

“ผมไม่เคยชอบคำว่า ‘ดารา’ บางทีคำนี้ถูกใช้ในเชิงที่แตะต้องไม่ได้”

LIPS: บทบาทใน ‘เหนือพรหมลิขิต’ ถือว่าดราม่าที่สุดสำหรับปีเตอร์แพนหรือเปล่า

ปีเตอร์แพน: ไม่ครับ เรื่อง ‘เงิน งาน ความรัก’ ดราม่าหนักกว่า เป็นเรื่องราวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจ แต่ละคนให้ความสำคัญกับเงิน งาน ความรักต่างกัน ผมรับบท ‘ปอนด์’ ซึ่งใช้เงินนำ เขาเคยมีทุกอย่างก่อนที่บ้านจะล้มละลาย ต้องขายแบรนด์เนมทั้งหมดที่มี แต่ก็ยังต้องการมีหน้ามีตา เพราะเงินเป็นสิ่งที่คนเคยยอมรับในตัวเขา ปอนด์รู้ว่าเงินไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกสิ่ง แต่เขาโตมาแบบนี้ และต้องการให้ครอบครัวยอมรับ

LIPS: มีสักวันไหมที่ลืมตาตื่นพร้อมความรู้สึกแรกที่ว่า “เป็นดาราแล้วนี่หว่า”

ปีเตอร์แพน: เอาจริงๆ ผมไม่เคยชอบคำว่า ‘ดารา’ เลย รู้สึกเหมือนเป็นสิ่งที่อยู่ไกล ทำได้แค่มอง โอเคมองแล้วชื่นชม มองแล้วได้กำลังใจเป็นสิ่งที่ดีครับ แต่ส่วนตัวผมรู้สึกว่าบางทีคำว่าดาราถูกใช้ในเชิงที่แตะต้องไม่ได้แบบ ‘เฮ้ย..เขาเป็นดารานะ’ ฉะนั้นวันที่ลืมตาตื่นพร้อมความรู้สึกว่าเป็นดารา ผมไม่มีเลย มีแต่โมเมนต์ที่รู้สึกว่าเราเป็น ‘นักแสดง’ แล้ว

มีหลายครั้งที่ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ได้อยู่จุดนี้ ละครทุกเรื่องที่ผมได้ร่วมงานจะมีอย่างน้อย 1 – 2 คน ที่ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจ จะมีสักกี่อาชีพกันที่ให้เราบ้าบอได้โดยไม่ถูกจับ ให้เราได้สัมผัสกับอดีตเมื่อหลายร้อยปีก่อน ให้เราได้เรียนรู้ชีวิตมนุษย์คนอื่นผ่านตัวละคร ฯลฯ ที่สำคัญเราได้ค้นพบตัวเองเยอะมากจากอาชีพที่อะเมซิ่งนี้

LIPS: ขอตัวอย่างบุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจในวงการบันเทิง

ปีเตอร์แพน: เยอะครับ อย่างพี่จอย (รินลณี ศรีเพ็ญ) มีความเป็นแม่สูงมากจนผมรู้สึกสบายใจที่ได้เล่นเป็นลูกเขาในเรื่อง ‘น้ำผึ้งขม’ ผมรู้สึกถึงความผูกพันจริงๆ นะ หรือพี่ดุ๊ก (ภาณุเดช วัฒนสุชาติ) ที่รับบทเป็นพระยาบำเรอราชใน ‘หมอหลวง’ ผมไม่รู้เลยว่าพี่เขาเป็นผู้ใหญ่ในวงการ คิดแค่ว่าต้องทำการบ้านให้ดีที่สุด ไม่ว่าต้องเข้าฉากใครจะได้เกร็งน้อยๆ

หรืออย่างพี่เดี่ยว (สุริยนต์ อรุณวัฒนกูล) ที่ยังไม่เคยได้ร่วมงานกันเต็มๆ แต่พี่เขาก็ชมมาว่าเราเป็นตัวละครในหมอหลวงได้โอเคเลย ทำให้ผมรู้สึกดีกับการให้กำลังใจกันในหมู่นักแสดง ตอนเข้าฉากกับจีน่า ผมเลยชมเขาตรงๆ เลยว่า ‘ยูเก่งมาก’ จีน่าทำให้เรามีไฟ ผมรู้สึกโชคดีที่ได้แสดงกับเขา หรือน้องน้ำฟ้า (ธัญญภัสร์ ภัทรธีรชัยเจริญ) ที่เป็นสายฮาแต่พอเข้าฉากปุ๊บเป็นตัวละครได้ทันที ผมก็บอกน้องเลยว่าเล่นกับเขาแล้วสนุก

ถ้าเป็นฝั่งผู้กำกับ คือพี่ฟิวส์ (กิตติศักดิ์ ชีวาสัจจาสกุล) ผู้กำกับเรื่องแค้น และ เงิน งาน ความรัก เขาจริงจังกับการทำงานมากครับ เป็นผู้กำกับคนแรกที่ทำให้ผมรู้สึกว่าเราต้องมีสติสุดๆ และงัดทุกสิ่งที่เรียนรู้จากครูการแสดงทุกคนออกมาใช้ให้มากที่สุด

“โสดนะจีบได้ ถ้าชอบหรือรู้สึกยังไงก็บอกผมตรงๆ ได้เลย เพราะผมดูไม่ออกจริงๆ”

LIPS: มีแฟนหรือยัง? อาการเวลาอยู่ใกล้คนที่ชอบจะตลกใส่หรือเข้าโหมดเงียบ

ปีเตอร์แพน: ยังไม่มีครับ…โสดนะจีบได้ คือถ้าชอบหรือรู้สึกยังไงก็บอกผมตรงๆ ได้เลย เพราะผมดูไม่ออกจริงๆ คือผมจีบคนไม่ค่อยเป็นครับ ด้วยความที่ตอนอยู่นิวซีแลนด์ก็วัฒนธรรมหนึ่ง พอกลับไทยก็อีกแบบ บางทีเราทั้ง ‘ไม่แน่ใจ’ แล้วก็ ‘ไม่เข้าใจ’ ว่าอีกฝ่ายมีใจหรือเปล่า สมมติมีคน DM มา เพื่อนอาจจะบอกว่าเขาชอบเราชัวร์ แต่ผมจะรู้สึกว่าจริงเหรอ?

และถ้าผมชอบใครจริงๆ ก็สังเกตได้ว่าผมจะเข้าหาด้วยความเงอะงะหน่อย (หัวเราะ) ที่ผ่านมาเท่าที่มีประสบการณ์อันน้อยนิดนะ ผมรู้สึกว่าตัวเองชอบคนมีแพสชั่น มีเป้าหมายในชีวิต มีความคิดอ่าน ผมชอบถามความเห็น ชอบการแชร์ไอเดีย ผมไม่ค่อยชอบแนวกึ่งๆ น้ำล้นแก้ว เพราะสุดท้ายแล้วเขาจะทำให้เราไม่อยากเล่าอะไรออกไปเลย

ถ้าพูดถึงรูปลักษณ์ภายนอก ผมชอบคนที่ดูแลตัวเอง อวบก็ได้ ผอมก็ได้ ขอแค่มีความมั่นใจในสัดส่วนของตัวเอง ผมว่าแบบนี้มีเสน่ห์ และถ้าเขารักครอบครัว รักเพื่อนฝูงด้วยก็ถือเป็นโบนัสสำหรับผมเลย

“จะมีสักกี่อาชีพกันที่ให้เราบ้าบอได้โดยไม่ถูกจับ ให้เราได้สัมผัสกับอดีต ให้เราได้เรียนรู้ชีวิตมนุษย์คนอื่น ให้เราได้ค้นพบตัวเองจากอาชีพที่อะเมซิ่งนี้”

LIPS: ทราบมาว่าชอบอ่านหนังสือ เล่มไหนรู้สึกประทับใจหรือเป็นแรงบันดาลใจในชีวิต

ปีเตอร์แพน: ผมชอบอ่านหนังสือแนวปรัชญาหรือนวนิยายเชิงจิตวิทยาอย่าง THE ALCHEMIST ของ ‘เปาโล โคเอลโญ’ ผมว่าเล่มนี้เป็นหนังสือแนวจรรโลงใจที่ชี้ให้เห็นว่าชีวิตมีหลายทางเลือก เรามีแนวทางของตัวเองได้โดยไม่จำเป็นต้องดื้อรั้นในการวิ่งตามความฝัน เชื่อว่าถ้าในอนาคตผมกลับมาอ่านอีกรอบก็น่าจะได้แนวคิดอื่นเพิ่มเติมอีก

อีกเล่มคือ THE PROPHET ของ ‘คาห์ลิล ยิบราน’ ผมว่าเป็นหนังสือที่ควรค่าแก่การอ่าน เพราะประกอบด้วยธีมชีวิตที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความรัก เพื่อนฝูง การหักหลัง ฯลฯ ถึงตอนนี้ผมจะยังไม่เข้าใจทั้งหมด แต่ก็คิดว่าวันหนึ่งมันอาจเมกเซนส์สำหรับบางสถานการณ์ในชีวิต เล่มนี้เป็นหนึ่งในหนังสือที่ผมใช้ตอนเรียนการแสดงด้วยครับ

OWNING YOUR OWN SHADOW: UNDERSTANDING THE DARK SIDE OF THE PSYCHE เขียนโดย ‘โรเบิร์ต เอ จอห์นสัน’ แต่เจ้าของทฤษฎีคือ ‘คาร์ล ยุง’ หลายคนอาจมองว่าเงาหรือด้านมืดของคนเป็นสิ่งที่ไม่ควรเปิดเผย แต่เขามองว่าสิ่งนี้เป็นธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เราสามารถยอมรับและนำมาปรับใช้ได้

ถึงจะยังอ่านไม่จบ แต่ผมก็ได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้มาบ้าง ผมรู้สึกว่าสังคมจะน่าอยู่มากขึ้นถ้าเราเข้าใจความหลากหลาย เข้าใจธรรมชาติของความเป็นคน เราจะไม่ตัดสินคนอื่น หรือหัวร้อนไปก่อนว่าทำไมเขาเป็นอย่างนี้ หรือทำตัวแบบนั้น แต่ละคนมีที่มาที่ไปของตัวเอง ถึงจะไม่สามารถรับรู้ต้นสายปลายเหตุได้ทั้งหมด แต่เราก็มองเห็นบาดแผลทางใจจากชาโดว์ของเขาได้ ถ้าเข้าใจในจุดนี้ สังคมเราจะมีเมตตาต่อกันมากขึ้น

Words: Sasi Akkomee
Photo: Somkiat Kangsdalwirun
Style: NAWARAT PESTONJI
Makeup: PANAPOB SIRIPONGTHON
Hair: TANAPON SAETANG
เครื่องแต่งกาย: PAINKILLER ATELIER
เครื่องประดับ: SWAN

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม