Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview / People

ปีเตอร์-นพชัย ตัวตึงกับบท ‘เชฟจอมเผด็จการ’ ในภาพยนตร์ ‘HUNGER คนหิว เกมกระหาย’’

‘ผมพยายามทำให้ดีที่สุดในทุกงาน เพื่อไม่ให้ตัวเองเป็นบ้า’
Interview / People

‘วันนี้คุณหิวอะไร’
นั่นคือคำถามกระมัง – ของหนึ่งในหนังไทยที่น่าดูที่สุด – อาจจะในรอบปีนี้

HUNGER เป็นหนังไทยเรื่องแรกๆ ในรอบหลายๆ ปีที่ใช้ อาชีพ ในกรณีนี้คือ เชฟเป็นเส้นเรื่องหลัก และผู้สร้างก็ประกาศเต็มปากเสียด้วยว่าเป็นหนังดราม่าเดือดจัดไม่แพ้น้ำมันเจอไฟแรงสุดบนเตาแก๊ส

ศูนย์กลางของจักรวาล HUNGER ชื่อทีมไพรเวตเชฟหัวแถวของเมืองไทยคือ เชฟพอล ซึ่งกฎเกณฑ์ที่เขาสร้างไว้ในครัวทำให้ลูกน้องถึงกับบอกว่า “ในครัวไม่มีหรอก ประชาธิปไตย”

ผู้รับบทเป็นเผด็จการ เจ้าของกฎ และผู้ควบคุมทุกลมหายใจในครัว HUNGER คือนักแสดงที่ไปไม่เป็นเอาเลยกับงานครัว แต่ละวันที่เขาได้บทหนังเรื่องนี้จากมันสมองของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี (Faces of Anne และ Where We Belong) และสิทธิศิริ มงคลศิริ (แสงกระสือ) โปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ และมือเขียนบทของหนัง

ทีละเล็กละน้อย เขาค่อยๆ กลืนกลายเป็นเชฟพอล ซึ่งนักแสดงร่วมอย่าง ออกแบบ-ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง และกรรณ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา ลืมหายใจออกและลกลนมาจากจิตใต้สำนึก เมื่อนักแสดงผู้นี้สวมเสื้อเชฟเตรียมตัวเข้าฉาก

“ผมพยายามทำทุกงานให้ดีที่สุดก็เพื่อไม่ให้ตัวเองเป็นบ้า สุดท้ายผมก็เห็นแก่ตัวนั่นแหละ”

ปีเตอร์ – นพชัย ชัยนาม กล่าว.

LIPS: ในจักรวาลภาพยนตร์ของปีเตอร์ คุณเคยเป็นมาแล้วหลายสิ่ง ทั้งช่างภาพ (นางไม้) มือปืน (ฝนตกขึ้นฟ้า) หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ สืบ นาคะเสถียร (ฝนตกที่ห้วยขาแข้ง) คราวนี้เป็นเชฟในหนังเรื่อง HUNGER ชีวิต ความรู้สึก ตัวตนของ เชฟพอล ไพรเวทเชฟอันดับหนึ่งของประเทศ แปลกใหม่สำหรับคุณอย่างไร เขาเป็นมนุษย์แบบที่คุณไม่เคยเจอหรือเปล่า

ปีเตอร์: เราเคยเจอคนแบบเขาแน่ๆ หลายคนเป็นแบบนี้ด้วยซ้ำ – คนที่สามารถทิ้งทุกอย่างได้เพื่อเป้าหมายในชีวิต แม้กระทั่งต้องทำให้ตัวเองต้องเจ็บปวดมากแค่ไหนก็ตาม ต้องไป ไป ไปในทิศทางที่อยากจะเป็น และยอมสละทุกอย่าง ไม่มีชีวิตครอบครัว ไม่มีเพื่อน เขาคงทำร้ายคนรอบตัวทุกคนเพื่อขึ้นไปถึงจุดที่ต้องการได้ ซึ่งเป็นการตอบสนองความต้องการของตัวเอง…เหล่านี้เป็นสิ่งที่ในหนังไม่ได้เล่านะครับ (ยิ้มอ่อน) เป็นแบ็กกราวนด์ตัวละครที่เราทำการบ้านกับนักเขียนบท ตัวละครเชฟพอลจึงน่าสนใจ เป็นคนที่มีความสุขบนความเจ็บปวด รู้ว่าเจ็บแต่ก็ยอมแลก มีทั้งความเป็นศิลปิน ความเป็นคนเห็นแก่ตัวและทะเยอทะยาน

LIPS: ซึ่งคุณไม่เป็น…เลย?

ปีเตอร์: (คิด 1 วิ) ผมไม่เป็นนะ ถ้าผมคล้ายเขาคือผมค่อนข้างอยากเห็นอะไรๆ สมบูรณ์

LIPS: ‘สมบูรณ์’ ที่ไม่ได้หมายถึงทุกอย่างเป๊ะ เป็นระเบียบ แต่หมายถึงทุกอย่างเป็นอย่างที่มันควรจะเป็นและเป็นให้ดีที่สุด

ปีเตอร์: ใช่ ผมเลยมีความเชื่อมโยงบางอย่างกับเชฟพอลได้

LIPS: และคำว่า ‘ดีที่สุด’ ของคุณหมายถึง ทำให้ดีที่สุดในงานนั้นๆ หรือเพื่อจะได้ต่อยอดให้เราทำอาชีพนักแสดงไปได้ยาวๆ

ปีเตอร์: ดีที่สุด ณ งานนั้น ผมไม่ได้คิดว่าต้องทำให้ดีที่สุดเพื่อจะได้มีคนจ้างต่อ เพราะในความเป็นจริง อุตสาหกรรมนี้ไม่ได้เวิร์กแบบนั้น ต่อให้แสดงดีแต่ไม่เหมาะกับบทก็ไม่ได้เล่นบทนั้นใช่ไหมครับ มันเลยเป็นเรื่องการทำงานให้ดีที่สุดเพื่องานนี้เท่านั้น ไม่ใช่ว่าเราแสดงดีในสายตาคนอื่นแล้วเราจะได้แสดงเรื่องอื่นต่อ

LIPS: แต่ละบทไม่ได้เลือกจากคนที่เก่งที่สุด

ปีเตอร์: ไม่มีทางในอุตสาหกรรมนี้ ผมหมายถึงละคร หนังหรือซีรีส์ที่ต้องการคนที่ถูกต้องกับบท คนเก่งอาจถูกมองเห็นมากขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าอยากเล่นเรื่องไหนต้องได้เล่น ผมเลยพอใจแล้วที่ได้เล่นเรื่องนี้ มันดีที่สุดเท่าที่ผมจะทำได้แล้ว จริงๆมันคือความเห็นแก่ตัวนะ ถ้าเราทำดีที่สุดแล้ว มันจะออกมาดีหรือไม่ดีก็ไม่เป็นไร เรารู้สึกว่าดีแล้ว แต่ถ้าเราข้องใจว่าวันนั้นแสดงไม่ดี แล้วงานออกมาไม่ดีจริงๆ เราไม่ได้ก้าวข้ามมันไปง่ายๆนะ กลับจะเป็นบาดแผลในใจเราไปอีกนาน แต่ถ้าเราทำดีแล้ว ไปสุดแล้ว ต่อให้ผลลัพธ์ออกมาไม่ดี อย่างน้อยมันบรรเทาความรู้สึกแย่ในใจ เราไม่ได้คิดว่าเล่นไปแล้วก็แล้วกัน แต่เราจะหมกมุ่นครุ่นคิดว่ามันดีพอหรือยัง ใช่หรือยัง

LIPS: เพราะจะมีคนดูใหม่ๆ มาค้นพบผลงานของเราอยู่เรื่อยๆ

ปีเตอร์: หนังเลยไม่ใช่งานที่เราทำแล้วลืมๆ ไปได้ มันถูกบันทึกไว้แล้ว (หัวเราะ) ทุกวันนี้ที่เราทำให้ดีที่สุดก็เพื่อไม่ให้เราเสียสุขภาพจิต เพื่อไม่ให้เราบ้า จบงานแล้วเราอยากบอกตัวเองได้ว่าเราทำดีที่สุดแล้ว ไม่อย่างนั้นเราจะตื่นมาวันรุ่งขึ้น อาทิตย์ถัดไป เดือนถัดไปก็ยังคิดวนอยู่ เราเลยพยายามทำเต็มที่ แม้ว่าคนรอบข้างจะมองว่าเราต้องทำถึงขนาดนั้นเลยหรือ ใช่ สำหรับผมต้องทำ ซึ่งข้อดีของ HUNGER คือเรามีเวลาเตรียมตัว ตั้งแต่ได้บทมา ผมทำการบ้านกับมันทุกวัน หาวิธีที่เราจะไม่มีข้อกังขากับบทนี้ ยังไม่รวมถึงเรื่องการเตรียมตัวทำครัว ซึ่งยาก มันคือการฝึกวิชาชีพ

LIPS: ปกติทำครัวอยู่แล้วไหม

ปีเตอร์: ไม่ครับ (ตอบเร็วจัด) ผมว่าสิ่งที่มากไปกว่าการฝึกวิชาชีพที่เราได้ไปฝึกกับเชฟจริง คือเราได้ไปเห็นบรรยากาศในครัวจริงๆ เราได้เข้าใจว่าทำไมบรรยากาศในครัวจึงตึงเครียดมาก เพราะอาหารต้องถูกเสิร์ฟเดี๋ยวนั้นอย่างตรงเวลา คนกินก็รอ อาหารต้องร้อนพอดี ต้องปรุงตอนนี้แล้วกินเลยจึงจะอร่อย เป็นความเป๊ะของรสชาติที่ต้องเกิด ณ ห้วงเวลานั้น ไม่ใช่ว่าทำทิ้งไว้แล้วเดี๋ยวค่อยกิน ลูกค้ากินจานนี้เสร็จ จานใหม่ต้องออกพอดี ณ ขณะเตรียมงานก็มีข้อผิดพลาดเต็มไปหมด ต่อให้คนอื่นปรุงมาดีแค่ไหน หรือแต่งจานมาสวยอย่างไร แต่เชฟมีหน้าที่ดูเป็นคนสุดท้ายและต้องเฉียบคมมากในการตัดสินใจ ก็เลยมีความเดือดดาลเหล่านั้นอยู่เต็มไปหมดภายในครัว

LIPS: แล้วเข้าใจความสุขของเชฟไหม งานที่ดูเครียดจังเลยนี้ เขาทำไปทำไม

ปีเตอร์: ในมุมมองที่ผมเห็น ผมว่าเชฟก็เหมือนศิลปิน เมื่อเห็นคนมีความสุขกับงานของเรา ก็คือกินอาหารที่เราทำแล้วมีความสุข เราก็มีความสุข และการมีคนมาชื่นชมก็คือพลังในการมีชีวิตอยู่ เชฟพอลเลยมีความสุขมากเวลาเห็นคนอยากจะมากินอาหารของเขา ต้องต่อคิว จองยากเย็น แต่ถ้าเห็นคนคายอาหารนี่จะแบบ…อีกเรื่องเลยนะ

LIPS: กรรณ (สวัสดิวัฒน์ ณ อยุธยา) ที่รับบทเป็นซูเชฟ ทำงานคู่กับเชฟพอลในครัวบอกว่า จากที่ชิลๆ เงียบๆ แต่พอเวลาคุณเข้าฉาก มวลอากาศรอบตัวคุณเปลี่ยนจะเป็นหนาวเย็นทันที

ปีเตอร์: เพราะเชฟพอลเป็นคนแบบนั้นมั้งครับ เป็นคนเครียด เป๊ะ ตึงกับระเบียบในครัวและลูกน้อง ถ้าหนังแสดงสิ่งนั้นออกมาได้ ผมว่าก็ใกล้เคียงกับครัวจริงๆที่ผมไปเห็นมา เพราะเวลาเชฟเดินเข้าครัว จากที่แกะกุ้งหั่นผักกันสบายๆ เสียงหัวเราะของลูกน้องจะหายไป ทุกคนจะตึงขึ้นมา

LIPS: เหมือนสถานประกอบการอื่นๆ เวลาหัวหน้าเดินเข้ามา ลูกน้องจะหลังตรงขึ้น

ปีเตอร์: แต่ในครัวเชฟพอลจะตึงมากกว่ามากๆ ทั้งที่เขาไม่ได้พูดอะไรเลยนะ แค่เดินมาดูว่าทุกอย่างเรียบร้อยไหม ผมไปดูการทำงานจริงของเชฟชาลี (ชาลี กาเดอร์ เชฟแห่ง Wanayook ร้านอาหารไทยในรูปแบบไฟน์ไดนิ่ง) นอกนั้นก็ดูคลิปเชฟต่างประเทศหลายๆคน เพื่อดูว่ามีคาแรกเตอร์ของเชฟแบบไหนบ้าง Gordon Ramsey ก็ดู รวมไปถึงอาจารย์ของเขาที่ชื่อ Marco Pierre White ซึ่งพูดคล้ายเชฟพอลว่า ‘แน่นอนว่าคุณต้องยอมเสียสละทุกอย่างเพื่อจะมาอยู่ตรงนี้ได้’ เขาตั้งเป้าหมายว่าภายใน 3 ปีต้องได้มิชลินกี่ดาว จะใช้เวลาตั้งร้านของตัวเองภายในกี่ปี แล้วเขาทำได้ตามนั้นในระยะเวลาที่คิดไว้เป๊ะๆ จากการที่เขาทุ่มเทอยู่ในครัวอยู่อย่างนั้น กอร์ดอน แรมซีย์ในวัยหนุ่มก็เป็นแบบมาร์โค เขาพูดชัดเจนว่ามันต้องแลก กึ่งๆกับการต้องขายวิญญาณให้ปีศาจ เพื่อแลกกับเป้าหมายที่ต้องการ

LIPS: ตอนคุณเป็นเชฟพอล คนรอบข้างเครียดไปด้วยไหม หรือเขาชินกันแล้ว

ปีเตอร์: (หัวเราะ) น่าจะชิน ช่วงต้นๆ เราต้องแสดงและทำอาหารไปด้วยก็จะเครียดหน่อย เพราะเราเกร็ง ดังนั้นฉากที่ยากคือฉากที่ต้องถ่ายให้เห็นมือเราที่กำลังวางแผ่นทองหรือดอกไม้เล็กๆตกแต่งอาหาร แรกๆมือเราสั่นอย่างควบคุมไม่ได้เลย เราต้องการให้เป๊ะ เดี๋ยวไม่เหมือนเชฟตัวจริง แต่พอเราสังเกตเวลาเชฟมาตรวจจาน อ้าว ทุกจานก็ไม่ได้เหมือนกันนี่นา มันสมบูรณ์ในชิ้นของมัน อะไรไม่สวยก็เปลี่ยนใหม่ งานมนุษย์น่ะ ไม่ได้โขลกออกมาได้เหมือนๆกัน พอเราปะติดปะต่อวิธีคิดนี้ได้ ถึงฉากที่ต้องถ่ายมือผมคีบแผ่นทองคำเปลว จากตอนแรกที่เราทำไม่ได้เลย มือสั่น เละ แต่พอความคิดนั้นมา อาการเกร็งก็หายไปเอง มือสั่นน้อยลง วิธีวางก็เป็นธรรมชาติมากขึ้น ต้องทำเจ๊งก่อน เราจึงได้เรียนรู้

LIPS: ในหนังเป็นมือคุณ 100%

ปีเตอร์: น่าจะ มือสั่นเยอะบ้าง น้อยบ้าง แต่ก็มือผมนี่แหละ (หัวเราะ)

LIPS: เป็นทหารฟันดาบ ขี่ม้า ยิงปืนนี่ทำได้หมด แต่วางดอกไม้ในจานอาหารกลับทำไม่ได้

ปีเตอร์: (หัวเราะ) ใช่ๆ เพราะเป็นความคิดในสมองเราที่พยายามแสดงให้เหมือน มันเลยเกร็ง จริงๆแล้วจะเบี้ยวบ้างก็ไม่เป็นไร ก็ทำใหม่

LIPS: การร่วมงานกับกรรณและออกแบบล่ะ เป็นอย่างไรบ้าง

ปีเตอร์: เล่นเรื่องนี้สนุกมากตรงที่ผมไม่เคยร่วมงานกับใครมาก่อนเลย ตั้งแต่ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ คนเขียนบท ไปจนถึงกรรณและออกแบบซึ่งเราเป็นคนละช่วงอายุกับพวกเขาเลย ได้เห็นว่าเขาเตรียมตัวแบบนี้ แสดงแบบนี้ แต่อย่างหนึ่งที่ชัดคือพวกเราเป็นมนุษย์ประเภทเดียวกัน เป็นพวกมุ่งมั่นกับการทำอาชีพการแสดง เราเห็นคนที่ทุ่มเทแบบเราแล้วสนุก เราตั้งใจ เขาตั้งใจ เป็นแรงผลักกันไป แม้ว่าเราจะเป็นคนละเจเนอเรชั่นกันเลย เขากับผมห่างกันตั้ง 20 ปี ผมเริ่มเข้าสู่อายุ 50 แล้ว

LIPS: คุณอยู่ในช่วงเวลาที่ดี เพราะทำมาจนแสดงได้หลากหลายบทบาท พอแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอย่างเน็ตฟลิกซ์เข้ามาทำออริจินัล คอนเทนต์ ฝีมือคุณเหลือเฟือจะแสดงบทใหม่ๆได้พอดี

ปีเตอร์: คนทำงานจะมีสนามมากขึ้น มีที่ที่ให้เราทำงานให้คนเห็นมากขึ้น แต่ก่อนเราเล่นหนังไทย ซึ่งไม่ได้มีพื้นที่ให้คนอื่นเห็นได้ทุกเรื่อง แต่พอหนังไทยมาอยู่บนเน็ตฟลิกซ์ อย่างน้อยมันถูกกระจายไปถึงคนใน 190 ประเทศแน่ๆ ก็อาจจะมีคนเห็นวัฒนธรรม การใช้ชีวิต หรือสถานที่ในเมืองไทยมากขึ้น แน่นอนว่ามันเอื้อให้คนเห็นประเทศเรามากขึ้น ผมมองว่าเป็นข้อดี คนรู้จัก ได้เห็น ก็อาจจะอยากเข้ามาทำความรู้จัก

LIPS: คุณเริ่มมาทำงานผู้กำกับแล้ว น่าจะยุ่งมากขึ้น

ปีเตอร์: ลองกำกับมา 3-4 เรื่องละ ผมคิดแบบนี้นะว่า การแสดงเป็นไปตามความเหมาะสมกับบท แล้วแต่ว่าผู้กำกับจะเลือก แต่เมื่อผมชอบการแสดง แล้ววิธีไหนจะทำให้ผมอยู่ใกล้ชิดมันไปได้เรื่อยๆ ผมก็ต้องไปกำกับ เราไม่ได้แสดงเอง แต่อย่างน้อยเราได้เห็นคนอื่นแสดงก็มีความสุข และเราก็ทำไปจนแก่ได้ ถึงแม้จะไม่มีคนจ้างผมแสดง แต่ผมก็ยังได้ใกล้ชิดกับการแสดงไปเรื่อยๆได้จากการกำกับ

LIPS: สิ่งที่เราชอบจริงๆคือการแสดง ไม่ว่าจะสื่อสารผ่านเราหรือคนอื่น เรารักมันทั้งสิ้น

ปีเตอร์: ใช่ ถ้าอย่างนั้นก็ต้องกำกับแหละ

LIPS: ต้องคุยกับตัวเองให้รู้เรื่องก่อนว่าจริงๆแล้วเราชอบอะไร ชอบเป็นนักแสดงหรือชอบการแสดง ไม่อย่างนั้นวันหนึ่งเราอาจจะเสียสิ่งที่เรารักไป

ปีเตอร์: ถูกต้อง เราก็สูงวัยขึ้น แล้วจะทำอย่างไร เราจะห่างจากสิ่งที่เรารักไปเลยหรือ แต่งานกำกับก็เหนื่อยมากนะ ผมเพิ่งเปิดกล้องซีรีส์ใหม่ไปเมื่ออาทิตย์ก่อน ได้เบรกวันหนึ่งก็มาโปรโมท HUNGER มันเริ่มเป็นลูปที่เราต้องการ ปีที่แล้วแสดง HUNGER ปีนี้กำกับซีรีส์ เราได้ทำงานทุกวัน

LIPS: ถ้าเป็นนักแสดงต้องนั่งรองาน

ปีเตอร์: บางทีรอไป 6 เดือน เราเลยต้องฝึกฝนตัวเองให้เราทำได้หลายๆอย่างเพื่อให้เราได้อยู่ในวงการนี้ แต่ก่อนผมคิดว่าจะแสดงอย่างเดียว แต่วันหนึ่งเราคิดได้ว่า ถ้าเราไม่ได้แสดงแล้วล่ะ เราไปทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้วด้วย (หัวเราะ)

LIPS: คนทั้งวงการรู้แล้วละว่าคุณแสดงได้หมดทุกบทบาท (ปีเตอร์ทำหน้าพิพักพิพ่วน) เวลาได้ยินคนพูดว่าคุณเก่ง เอาอยู่ทุกบท บทยากยกให้ปีเตอร์เหอะ หายห่วง คุณรู้สึกอย่างไร

ปีเตอร์: เราก็แค่ต้องบอกเขาว่ามันไม่ใช่อย่างที่คิด (สีหน้าจริงจัง) ผมจะบอกว่าคนที่เชื่อในตัวผมมากๆ ระวังนะ ผมจะเละ เพราะผมจะไม่เชื่อมั่นในอะไรเลย ผมเป็นนักแสดงที่ต้องการความมั่นใจจากผู้กำกับ ต้องการทิศทาง การที่คนดูเห็นว่าผม ทำได้ดี นั่นเป็นเพราะผู้กำกับและทุกแผนกช่วยกันทำให้เราออกมาดูดีที่สุด เขาต้องเลือกซีนที่ดีที่สุดไปใส่ในหนัง คนดูจึงได้เห็นผลลัพธ์ที่ดีของเรา แต่ไม่ได้เห็นว่าระหว่างทางว่าผู้กำกับเคี่ยวกรำเราเยอะมาก เราถึงแสดงได้แบบนั้น เราไม่ได้เก่งด้วยตัวเราคนเดียวหรอก.

ตัวอย่างภาพยนตร์ HUNGER คนหิว เกมกระหาย ฉายบน Netflix 8 เมษายน 2023

ปีเตอร์สวมเครื่องแต่งกายจาก VVON SUGUNNASIL
กรรณสวมเครื่องแต่งกายจาก Zegna และ VVON SUGUNNASIL
ออกแบบสวมเครื่องแต่งกายจาก CHANEL

Words: Suphakdipa Poolsap
Photos: Somkiat Kangsdalwirun 
Style: Anansit Karnnongyai

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม