Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

‘เกาหลีใต้’ ประเทศที่ใช้วัฒนธรรมและอุตสาหกรรมบันเทิงในการขับเคลื่อนประเทศ

ต้นแบบประเทศที่ใช้วัฒนธรรมทุกแขนงมาต่อยอดในอุตสาหกรรมบันเทิง
Culture / Entertainment

หากพูดถึงประเทศที่มีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจเป็นอันดับต้นๆ ของโลกจะต้องมีชื่อ ‘เกาหลีใต้’ ติดอยู่ในลิสต์ด้วยเสมอ การที่ประเทศเกาหลีใต้สามารถเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจดีเป็นอันดับต้นๆ ได้นั้น หนึ่งในนั้นต้องยกความดีความชอบให้แก่อุตสาหกรรมบันเทิง เพราะประเทศเกาหลีใต้ใช้ความพยายามเป็นอย่างมากที่จะให้อุตสาหกรรมบันเทิงและวัฒนธรรมของประเทศของตนนั้นกลายมาเป็นจุดขายในการดึงดูดเม็ดเงินเข้าประเทศผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจต่างๆ  

จากประเทศที่เคยติดอันดับว่ายากจนที่สุดในโลกเพราะมีสงครามอยู่ตลอดในช่วงเวลาหนึ่ง จนวันนี้เกาหลีใต้ได้กลายเป็นประเทศชั้นนำของโลกในฐานะของ 1 ใน 4 เสือของเอเชียหรือประเทศชั้นนำของทวีปเอเชียแล้ว เกาหลีใต้ทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมบันเทิงเป็นเหมือนอาวุธชั้นดีที่ทำให้ประเทศนั้นมาอยู่ในจุดนี้ได้ กลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลกได้และมีตลาดอุตสาหกรรมบันเทิงที่ใหญ่อันดับต้นๆ ของโลกไม่แพ้ชาติอื่น 

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ช่วงปี 1997-1998 เกาหลีใต้นั้นประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจอย่างรุนแรงเพราะเกิดวิกฤตทางการเงินในทวีปเอเชียส่งผลต่อแดนโสมขาวเป็นอย่างมาก ทำให้เกาหลีใต้ต้องกู้เงินจากต่างประเทศมาจำนวนมากสร้างหนี้ให้กับประเทศหลายพันล้าน ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจในครั้งนี้เปรียบเสมือนบทเรียนที่ทำให้เกาหลีใต้นั้นต้องดึงเอาอุตสาหกรรมบันเทิงมาใช้เป็นจุดขายจนเกิดเป็น Korean Wave หรือ Hallyu ที่เราคุ้นหูกันขึ้นมา

ซึ่งเราไม่แปลกใจเลยเพราะในช่วงนั้นเกาหลีใต้เป็นประเทศที่แทบไม่มีทรัพยากรรวมถึงจุดขายเป็นของตัวเองอย่างชัดเจนเหมือนประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชียตะวันออก รัฐบาลในยุคนั้นจึงเล็งเห็นว่า ‘วัฒนธรรม’ นี่แหละที่จะสามารถขายและสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศได้อย่างมหาศาล ทำให้เกาหลีเริ่มกระตุ้นฟื้นฟูวัฒนธรรมเกาหลีใต้โดยให้อุตสกรรมบันเทิงเป็นเป้าหมายในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ โดยประกาศนโยบาย ‘Korea: Culture, Creativity and Content’ ขึ้นมา และค่อยๆ เพิ่มงบประมาณสำหรับอุตสาหกรรมวัฒนธรรมจาก 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 1998 เพิ่มเป็น 84 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2001

ในปี 2009 เกาหลีใต้ได้มีการก่อตั้ง ‘The Korea Creative Content Agency’ หรือ KOCCA ขึ้นมาเพื่อพัฒนา วางแผน และถ่ายทอดวัฒนธรรมชาติของตนให้ลงไปอยู่ในสื่อต่างๆ หรืออุตสาหกรรมบันเทิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ แถมยังคอยสนับสนุนองค์กรต่างๆ ในประเทศที่มีผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับวัฒนธรรมทั้งให้กู้เงิน เปิดสตูดิโอให้เช่าในราคาถูก รวมถึงการส่งออกวัฒนธรรมไปต่างประเทศ การสนับสนุนในทุกภาคส่วนขนาดนี้เราไม่แปลกใจเลยว่าทำไม Parasite, Squid Game, Blackpink หรือ BTS ถึงสามารถไปตีตลาดต่างประเทศได้และไม่ใช่แค่เป็นที่รู้จักในต่างประเทศนะ แต่ประสบความสำเร็จระดับโลกเพราะได้รับการผลักดันจากรัฐบาลเป็นอย่างดี 

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ Parasite สามารถคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก Oscar ได้และเป็นภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศเรื่องแรกที่คว้ารางวัลนี้ BTS สามารถขึ้นอันดับหนึ่งได้ในหลายๆ ชาร์ตเพลงและสามารถทำลายสถิติต่างๆ ได้ ส่วน Squid Game ก็เป็นกระแสไปทั่วโลกแถมขึ้นแท่นซีรีส์ยอดผู้ชม 111 ล้านบัญชีขึ้นแท่นซีรีส์ยอดนิยมตลอดกาลไม่แพ้ผลงานซีรีส์จากฮอลลีวูดเลย ความสำเร็จพวกนี้ส่งให้ชื่อของประเทศเกาหลีใต้กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกและได้รับผลกระทบจาก Korean Wave เต็มๆ แม้จะไม่ได้สนใจใน K-Pop หรือ K-Drama ก็ตาม

ตรงนี้เองทำให้เราได้เห็นผลผลิตจากวัฒนธรรม K-Pop ในวงการแฟชั่นโลกมากมายหนุ่มๆ จาก BTS ได้ร่วมงานกับแบรนด์แฟชั่นชั้นนำระดับโลก ส่วน Blackpink เกิร์ลกรุปชื่อดังก็ขึ้นแท่นแบรนด์แอมบาสเดอร์แบรนด์ระดับโลกเช่นกัน เท่านั้นยังไม่พอนางแบบเกาหลีก็ได้รับความนิยมไม่แพ้ชาติอื่นๆ เช่น Soo Joo Park, Sora Choi รวมไปถึง Hoyeon นางแบบเกาหลีที่โกอินเตอร์และตอนนี้ได้ผันตัวกลายเป็นนักแสดงที่โด่งดังมาจากซีรีส์เรื่อง Squid Game อีกด้วย 

นอกจากนั้นยังไม่พอ ‘Soft Power’ หรืออำนาจอ่อนที่แฝงไปกับอุตสาหกรรมบันเทิงทั้งหลายของเกาหลีใต้ได้ช่วยทำให้คนทั่วโลกหันมาสนใจและบริโภคสินค้าจากเกาหลีมากขึ้น มีรายงานออกมาว่าในปี 2017 มีนักท่องเที่ยวกว่า 8 แสนคนเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศเกาหลีเพียงเพราะว่าชื่นชอบวง BTS สร้างเม็ดเงินจำนวน 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งเรียกว่าเยอะมาก

รวมไปถึงอาหารเกาหลีที่ปรากฏบนภาพยนตร์และซีรีส์ต่างๆ ก็ถูกเผยแพร่ออกไปและได้รับความนิยมจากต่างชาติมาก เช่น ‘รามยอน’ หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของเกาหลีกลายเป็นสินค้าที่คนทั่วโลกนิยมรับประทานรวมถึงในประเทศของเราด้วยเช่นกัน และเครื่องสำอางสัญชาติเกาหลีหรือ K-Beauty ก็มียอดขายพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างในเดือนเมษายนปี 2021 ยอดขายเครื่องสำอางบนแพลตฟอร์มออนไลน์เดือนเดียว มียอดขายสินค้าได้เท่ากับยอดรวมทั้งหมดในปี 2020

ทั้งหมดนี้ล้วนนั้นเกิดจากความตั้งใจของรัฐบาลเกาหลีที่ส่งเสริมและชูให้อุตสาหกรรมบันเทิงนั้นกลายเป็นเศรษฐกิจหลักของประเทศและยังปลุกปั้นโดยสร้างนโยบายต่างๆ มารองรับจนทำให้อุตสาหกรรมเหล่านี้สามารถสอดแทรกวัฒนธรรมโดยใช้คอนเซปต์ Soft Power ค่อยๆ เข้าไปแทรกแซงวัฒนะธรรมของตัวเองสู่ชาติอื่นๆ จนทุกวันนี้จากประเทศที่ยากจนที่สุดของโลกกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ปรบมือ!

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม