Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

The Dance of Gods มนต์ขลังหลังหน้ากาก Tsam จาก JKboy ช่างภาพพันธุ์ไทยที่ไปมาทุกมุมโลก

Art & Design / Culture

บอย – เจตนิพัทธ์ เกษประดิษฐ์ หรือ JKBoy ย้อนกลับไปยังดินแดนมองโกเลีย สถานแห่งแรกที่เป็นแรงบันดาลใจในการถ่ายภาพของเขาอีกครั้ง เพื่อบันทึกภาพ พิธีกรรมศักด์สิทธิ์ระบำหน้ากาก Tsam (จาม) ที่ซ่อนตัวอยู่ในวัดพุทธวัชรยานโบราณอายุกว่า 300 ปี และนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ People and Their World: Tsam – The Dance of Gods 

JKBoy เป็นช่างภาพไทยที่คว้ารางวัลระดับโลกมากมาย และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ในฐานะผู้ถ่ายภาพบอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าที่หลากหลาย ตั้งแต่ชาวเมนตาไวในป่าลึกของอินโดนีเซีย จนถึงถึงชาวซูริชนเผ่าดึกดำบรรพย์แห่งดินแดนเอธิโอเปีย 

“7 ปีที่แล้ว ช่วงนั้นผมกลับไปมองโกเลียเป็นครั้งที่ 2 เพื่อถ่ายภาพชาวชาตัน ชนเผ่าเลี้ยงกวางเรนเดียร์ในช่วงหน้าหนาว ระหว่างขากลับเจอพายุหิมะถล่มไล่หลัง คณะของเราขับหนีพายุมาเรื่อยๆ จนต้องหาที่พักกลางทางในกระโจมของชาวบ้าน พอตื่นเช้าขึ้นมาเปิดประตูกระโจมก็เจอวัดแห่งนี้อยู่กลางหุบเขาท่ามกลางหิมะขาวโพลน ด้วยความน่าสนใจเราก็เลยเดินเข้าไปสำรวจในวัด เจอหน้ากากอันใหญ่วางอยู่กลางห้องโถง ผมก็รู้สึกคุ้นๆ เหมือนเคยเห็นหน้ากากนี้ที่อินเดียและทิเบตมาก่อน คิดว่ามองโกเลียก็น่าจะมีระบำหน้ากากด้วยเหมือนกัน”

ด้วยความประทับใจครั้งนั้น ทำให้ JKBoy ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบำหน้ากากในมองโกเลีย และพบว่าระบำ Tsam มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่ในยุคที่มองโกเลียยังเป็นรัฐศาสนาที่ปกครองโดยสังฆราช จนกระทั่งถูกคุกคามโดยลัทธิคอมนิวนิสต์จากมหาอำนาจโซเวียต “ช่วงนั้นโซเวียตคอมมิวนิสต์เขามองว่าพุทธศาสนาเป็นอันตรายกับลัทธิของเขา จึงมีการฆ่าพระ ทำลายวัด ทำลายโบราณสถาน จนเหลือหน้ากากเพียงไม่กี่ชุด ซึ่งวัดนี้ก็เป็นเพียงไม่กี่แห่งที่เหลือรอดมา”

ทว่าการเข้าไปถ่ายภาพมรดกทางวัฒนธรรมอันศักสิทธิ์อย่าง Tsam ไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยความที่อารามโบราณกลางหุบเขาแห่งนี้ไม่เคยอนุญาตให้ใครมาเก็บภาพหรือทำสารคดีบอกเล่าเรื่องราวมาก่อน ประกอบกับตัวหน้ากากก็เป็นของดั้งเดิมที่เหลือน้อยเต็มที 

“จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้ว ผมจัดงาน People of the World ที่ RiverCity ในงานจัดแสดงภาพของชนเผ่าชนเผ่าอินทรีย์และชนเผ่าเลี้ยงกวางของมองโกเลีย จึงเชิญท่านฑูตมองโกเลียมาเป็นประธานเปิด พอมีโอกาสได้คุยกัน ท่านจึงแนะนำให้รู้จักกับรัฐมนตรีกระทรวงการศึกษาและวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นองค์อุปถัมถ์และเป็นประธานหลักของการฟื้นฟูวัดแห่งนี้ ท่านจึงช่วยติดต่อเจ้าอาวาดให้”

เป็นที่มาของการได้เข้าไปถ่ายภาพเซตแรก ภาพของหน้ากากชุดดั้งเดิมที่ไม่เคยปรากฎที่ไหนมาก่อน “หน้ากากที่ถ่ายในชุดแรกเป็นหน้ากากที่ถูกเก็บรักษาในห้องเก็บหน้ากากของวัด เป็นของเก่าทั้งหมด เป็นของศักดิ์สิทธ์ซึ่งปกติจะใช้แค่ปีละครั้ง แล้วเก็บรักษาไว้ในห้องบูชาอย่างมิดชิด เพื่อทำพิธีสวดมนต์บูชาทุกวัน”

ด้วยความที่หน้ากากถือเป็นภาชนะของเทพอันศักดิ์สิทธ์ เป็นปูชนียวัตถุที่มีข้อจำกัดหลายอย่าง ไม่สามารถนำออกไปถ่ายในหลายโลเกชัน JKBoy จึงอยากจะหาชุดหน้ากากที่ไม่ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขนี้ เพื่อถ่ายภาพที่มีความหลากหลายขึ้น และนั้นก็ทำให้เขาได้พบกับ GanNa ปรมาจารย์ศิลปะผู้คืนชีวิตให้กับหน้ากากวัชระของมองโกเลีย

“ผมพยายามหาชุดหน้ากากซักชุดหนึ่งเพื่อถ่ายโลเกชันในเมืองด้วย พยายามตระเวนหากันก็หาไม่ได้ จนได้ไปเจอศิลปินหญิงคนหนึ่งที่รู้จักกับลูกสาวของอาจารย์ GanNa ทำให้ได้ชุดหน้ากากชุดหนึ่งมาจากบ้านของอาจารย์ แต่ยังไม่ได้เจอกัน  จนกระทั่งภาพถ่ายหน้ากากชุดแรกเผยแพร่ออกไปในสื่อมองโกเลีย คุณ GanNa ได้มาเห็น เขาก็ทักกลับมาว่าหน้ากากที่คุณถ่ายเป็นฝีมือของผมเอง และชวนมาร่วมงานกัน” 

ภาพ MR. Gankhuyag Natsag (GanNa) โดย JKBoy  

MR. Gankhuyag Natsag หรืออาจารย์ GanNa เป็นศิลปินผู้มีผลงานระดับชาติและโด่งดังมากในประเทศมองโกเลีย เขาใช้ความเชี่ยวชาญในงานประติมากรรมและศิลปะหลายแขนง เพื่อบูรณะและฟื้นฟูหน้ากาก Tsam ทั้ง 108 ชิ้นขึ้นมาใหม่ เป็นระยะเวลาตลอด 10 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1997 – 2007 เพื่อมอบให้กับอารามพุทธนิกายวัชรยานและพิพิธภัณฑ์ระดับชาติ รวมถึงเปิดรับลูกศิษย์ศึกษาวิธีขั้นตอนการทำหน้ากาก เพื่อสืบทอดภูมิปัญญานี้ต่อไป  “แต่ก่อนมีช่างทำหน้ากากระดับอาจารย์อยู่แค่ 2 คน ปัจจุบันมีประมาน 40 คนแล้ว การทำหน้ากากต้องใช้ศาสตร์และความรู้ในหลายๆด้าน ตั้งแต่การตีเหล็ก การเย็บปัก การทำเครื่องประดับ

“การชวนของอาจารย์ประจวบเหมาะกับที่ผมได้รับตั้งแต่ให้เป็นฑูตวัฒนธรรมของมองโกเลีย จึงเกิดเป็นโปรเจกต์เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผมได้ไปถ่ายวิธีการทำหน้ากากในห้องทำงานของเขา ขั้นตอนการทำหน้ากาก การส่งต่อความรู้ และพิธีกรรมระบำหน้ากากในเทศกาลจริงๆ เพื่อจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้”

คำว่าTsam รากศัพท์จะหมายถึงระบำหน้ากาก ในทิเบตและภูฏานจะใช้คำว่า Tsam เหมือนกัน ส่วนมองโกเลียเรียกว่า Khuree Tsam จะมีการประยุกต์เอาความเชื่อท้องถิ่น นิทานพื้นบ้าน พวกสัตว์เทพนิยายต่างๆ เข้ามารวมในการแสดงด้วย ทำให้มีจำนวนหน้ากากมากกว่าที่อื่นๆ คือจะมีทั้งหมด 108 ชิ้น

“ในช่วงพิธี 3 วันแรก ระบำจะเต้นกัน โดยมีพระสงฆ์ที่เป็นองค์ประธานนำตั้งแต่ช่วงตี 2 ถึง 6โมงเย็น สามวันสามคืน เต้นสลับกันระหว่างองค์ประธาน 2 คน ระหว่างเต้นก็จะมีการสวดมนต์และให้จังหวะด้วยแตร สังข์ กลอง ชาวบ้านเข้ามาร่วมสวดมนต์และนับลูกประคำ เพื่อรวบรวมเอาสิ่งชั่วร้ายต่างๆทั่วโลกมารวมกัน โดยมีกล่องสีดำวางไว้บนพรม มีผ้าดำคลุมไว้ พอเต้นจบรอบหนึ่ง จะค่อยๆเปิดผ้าทีละนิด เพื่อให้ความชั่วร้ายเข้าไปในกล่อง จนจบวันจะเปิดผ้าได้หมดกล่องพอดี 

“จากนั้นจะเก็บกล่องไปซ่อนไว้หลังม่านดำที่ขึงไว้ เพื่อจะเก็บความชั่วร้ายเอาไว้ เมื่อครบสามวันก็จะอัญเชิญกล่องดำเหล่านี้ ไปไว้ที่แท่นพิธีด้านนอก ก่อนจะอัญเชิญเทพองค์สำคัญๆ แล้วก็เต้นอีกรอบหนึ่งประมาน 8 ชั่วโมง แล้วก็ค่อยเอากล่องไปเผาทำลายทิ้ง เพื่อให้เผาทำลายสิ่งไม่ดีให้หมดไปจากโลก” ช่างภาพเล่าถึงพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์

“การปั้นหน้ากากของมองโกเลียใช้เทคนิคเปเปอร์มาเช่เหมือนกับโขนบ้านเรา แต่มีขนาดใหญ่กว่ามาก มีชั้นกระดาษประมาน 15 ชั้น น้ำหนักของชุดจริงๆจะอยู่ที่ 25 -35 กิโลกรัมซึ่งหนักมาก ทำให้พระที่เต้นจะเป็นพระหนุ่มเท่านั้น หัวหน้ากากไม่เจาะที่ตา เพราะเชื่อว่าเวลาที่เทพลงมาประทับจะมาสถิตย์ที่ตา คนสวมก็ต้องมองผ่านปากเท่านั้น ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของมองโกเลีย”

องค์ประกอบต่างๆบนหน้ากากเป็นพุทธศิลป์ที่สะท้อนความเชื่อ และสัญลักษณ์จากหลักธรรมของพุทธวัชรยานผสมผสานกับศาสนาพื้นบ้านและอิทธิพลจากฮินดู ซึ่งบางสิ่งก็สอดคล้องไปกับพุทธเถรวาทแบบบ้านเรา เช่น หน้ากากเทพเจ้าสงครามสีแดงซึ่งเทียบเคียงได้กับท้าวเวสสุวรรณ

“องค์หลักคือหน้ากากที่เป็นหัววัวแล้วมีสามตา องค์นั้นเป็นยมบาล คนไทยเราจะมีภาพจำว่ายมบาลมีเขา ก็มาจากหัววัวนี่แหละ การมีสามตาแทนสัญลักษณ์ของการรู้แจ้งทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต ที่น่าสนใจอีกข้อหนึ่งคือ เราจะดูความสำคัญของหน้ากากได้จากจำนวนกระโหลกที่ประดับอยู่บนหัวด้านบน ถ้าสำคัญที่สุดก็จะมีจำนวน 5 กระโหลกซึ่งเป็นตัวแทนของขันธ์ 5

“ที่สัญลักษณ์กระโหลกมีความสำคัญ เพราะความเชื่อของทางวัชรยานให้ความสำคัญกับการปลงสังขารและการละสังขาร สมัยก่อนเวลาพระสงฆ์มองโกเลียไปเดินธุดงด์ จะแบกศพคนตายไปด้วย 3 เดือน แล้วปล่อยให้ละสังขารอยู่บนหลังของเขา เพื่อเป็นการปลงสังขาร จากนั้นจะนำกระดูกมาทำเป็นแตรเป็นกลอง นำกระโหลกมาทำฝาถ้วย ใส่น้ำใส่นมดื่ม ซึ่งปัจจุบันถ้วยเครื่องใช้เหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่ในพิพิภัณฑ์ ในงานพิธีปัจจุบันก็จะใช้ถ้วยจำลองที่มีรูปร่างหน้าตาเป็นหัวกระโหลกแทน”         

แนวคิดเรื่องการปลงสังขารเช่นนี้ปรากฏอยู่หลายรูปแบบในวัฒนธรรมเอเชียกลาง เช่น การปลงศพให้แร้งกินในวัฒนธรรมทิเบต “ด้วยความที่มองโกเลียเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหม ก็จะรับความเชื่อมาหลายๆด้าน ถ้าเป็นสมัยก่อนมองโกเลียปกครองด้วย Shamanism ลัทธิหมอผีสมัยโบราณตั้งแต่สมัยเจงกิสข่าน ก่อนจะรับพระพุทธศาสนามาจากเส้นทางสายไหมเข้ามาทางทิเบต ผสมผสานกับ Shamanism เดิม ทิเบต พราหมณ์ ฮินดู หลายๆอย่าง ก็เกิดเป็นลักษณะของมองโกเลียขึ้นมา” 

นอกจากถ่ายทอดความงามแปลกตาของพุทธศิลป์ของ Tsam แล้ว ภาพถ่ายของ JKBoy ยังมีพลังในการบอกเล่าเรื่องราวและบรรยากาศของวัมนธรรมผ่านการผสมผสานเทคนิคของการถ่ายภาพแบบ Portrait และ Landscape เข้าด้วยกัน จนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เรียกว่า Environmental Portrait

ภาพจากนิทรรศการ People and Their World: Tsam – The Dance of Gods โดย JKboy

“สมัย 10 ปีที่แล้ว ผมถ่ายแต่แลนด์สเคปเป็นหลัก เป็นการทำงานของตัวเรากับธรรมชาติ เวลาทำงานเราจะคุยกับตัวเองและพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก ในขณะที่งานพอร์เทรทหรือการถ่ายภาพบุคคล เราต้องพึ่งพาตัวแบบและเรื่องเล่าที่อยู่ในตัวบุคคลนั้นๆเป็นหลักมีการเชื่อมโยงเข้าถึงผู้คนมากกว่า พอเราได้มาทั้งสองด้าน ทั้งแลนด์สเคปและพอร์เทรท ทำให้เราสามารถจัดวางองค์ประกอบและเล่าเรื่องราวให้สอดคล้องกันได้ ซึ่งสอดคล้องกับโปรเจกต์ของเราที่ชื่อ People and Their World คนและโลกที่เขาอยู่อาศัย ภาพถ่ายของผมก็จะมีทั้งกลุ่มคน และพื้นที่ที่เขาอยู่อาศัยจริงๆ นำมาจัดองค์ประกอบร่วมกัน”

ภาพจากนิทรรศการ People and Their World: Tsam – The Dance of Gods โดย JKboy

อีกสิ่งหนึ่งเป็นเอกลักษณ์ทางศิลปะของ JKBoy ก็คือ องค์ประกอบโดยรวมที่มีกลิ่นอายคล้ายภาพวาดสีน้ำมันแบบคลาสสิคซึ่งเป็นเรงบันดาลใจของเขา “ผมชอบงานศิลปะ ภาพเหล่านี้ผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่าสามารถผ่านกาลเวลามาได้ เราอยากถ่ายภาพออกมาให้เป็นภาพที่เล่าเรื่องราวได้อย่างคลาสสิก สามารถดูได้นาน อยู่ต่อไปอีกได้นาน โดยอิงการใช้โทนสี การจัดองค์ประกอบภาพต่างๆ แต่ในขั้นตอนทำงานจริงๆ ต้องแก้ไขปัญหาหน้างานเยอะ บางทีภาพที่เราคิดไว้ในหัว พอไปเจอหน้างานจริงๆมีข้อจำกัดต่างๆ ทั้งในเรื่องทิศทางของแสง ทั้งเรื่องตัวแบบ ตัวโลเกชัน ต้องไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เราทำได้แค่ยกเอาอารมณ์ของภาพคร่าวๆมาใช้ แล้วประยุกต์เอาหน้างานกันอีกที”

หากภาพวาดสีน้ำมันแบบคลาสสิกผ่านการพิสูจน์ผ่านกาลเวลา ภาพถ่ายของ JKBoy ก็ผ่านการพิสูจน์ผ่านรางวัลมากมายที่เขาได้รับจากเวทีนานาชาติ เช่น รางวัลชนะเลิศ The International Photographer of the Year จากรายการ World Photo Annual 2023 รวมถึงได้รับการตีพิมพ์ในสื่อระดับโลกอย่าง Lonely Planet, Digital Camera World, National Geographic (Espana) และThe Times (UK) แต่สิ่งเหล่านี้ไม่อาจเทียบเท่าคุณค่าของตัวภาพถ่ายที่ทำหน้าที่ทั้งในเชิงศิลปะและมานุษยวิทยา ในการทำความเข้าใจกับความหลากหลายของมนุษย์

“ภาพถ่ายของผมเป็นภาพของหลายชนเผ่าทั่วโลก เรามีโอกาสได้เข้าไปเจอชนเผ่าที่บางครั้งก็มีความเข้าใจผิดจากโลกภายนอก เช่น เราไปถ่ายกลุ่มกะเหรี่ยงฤาษีที่อุ้งฝาง ซึ่งคนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่า กะเหรี่ยงตัดไม้ทำลายป่า บุกรุกผืนป่า แต่ความเชื่อกะเหรี่ยงจะเคารพป่า รักษาป่า เขามีกฎข้อบังคับเรื่องของการดูแลป่า ดูแลต้นน้ำ ทุกอย่างสะอาดและเป็นมิตรกับธรรมชาติมาก ทั้งๆที่การทำลายป่าเกิดจากกลุ่มนายทุนที่บุกรุกเข้าไป แล้วก็โยนความผิดให้กับมาให้ชาวบ้านในพื้นที่

“อย่างบางชนเผ่า เขาจะมีความรู้สึกอายกับเครื่องแต่งกายของเขา รู้สึกว่ามันล้าหลังไม่ทันสมัย แต่พอเราเข้าไปถ่ายภาพเขาในเครื่องทรงโบราณ พอเขาเห็นภาพเขารู้สึกภูมิใจในความสง่างาม หลายคนก็มีฟีดแบ็กกลับมาว่า เขารู้สึกภูมิใจที่เกิดเป็นคนในชาติพันธุ์นี้ ในวัฒนธรรมนี้”

บางทีการที่มนุษย์คนหนึ่งสามารถยืนอย่างสง่างามได้ อาจเป็นสิ่งบ่งบอกว่า ตัวเขานั้นกำลังยืนอยู่บนพื้นที่ของตนเอง

สง่างามในภาพลักษณ์ที่เป็นตัวของตัวเอง ภาพที่บ่งบอกชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และความภาคภูมิ ภาพที่มนุษย์ยืนองอาจอยู่ในโลกของพวกเขาเอง 

People and Their World

นิทรรศการภาพถ่าย People and Their World: Tsam – The Dance of Gods  เข้าชมฟรีได้ถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2023 ที่ ห้อง RCB Galleria 3 ชั้น 2 River City Bangkok

Words: Roongtawan Kaweesilp
Photos: Somkiat Kangsdalwirun 

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม