ควันจากท่อไอเสีย เครื่องยนต์ร้อนฉ่า แดดเปรี้ยง อุณหภูมิสูงจัด รถที่ไม่มีแอร์ ปัจจัยต่างๆที่เมื่อมัดรวมกันแล้วก็ทำให้นักแข่งรถสุ่มเสี่ยงอาจเสียชีวิตจากความร้อนได้
ความร้อนกับนักแข่งรถ
ในวันที่ 30 พฤษภาคม ปี ค.ศ. 1953 การแข่งขัน Indianapolis 500 ปี 1953 ได้ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นการแข่งขันท่ามกลางอากาศร้อนรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง ในวันนั้น Indianapolis Motor Speedway สนามแข่งรูปวงรีระยะทาง 4 กิโลเมตรในรัฐอินดีแอน่า สหรัฐอเมริกา วัดอุณหภูมิพื้นถนนได้ถึง 54 องศาเซลเซียส ยังผลให้นักแข่งรถไม่ว่าจะมือเก๋าหรือหน้าใหม่ต้องสลับตัวออกให้นักขับสำรองมาลงแข่งแทนกันเป็นแถว เพราะทนความร้อนที่เหมือนขับรถอยู่บนเตาเผา ซึ่งหายใจเข้าทีไร เหมือนสูดไฟเข้าไปในปอด
ในการแข่งขันครั้งนั้น Bill Vukovich นักแข่งชาวเซอร์เบียพารถ Kurtis Kraft Fuel Injection Special หมายเลข 14 ขับนำโด่ง 195 รอบจากทั้งหมด 200 รอบ รวมระยะทาง 805 กิโลเมตรเข้าไปคว้าชัยได้ในที่สุด บิลตอบคำถามนักข่าวที่ถามว่า ขับไปได้ยังไง ไม่ร้อนหรือ บิลตอบว่า “ลองขับรถแทร็กเตอร์ในเมืองเฟรสโนตอนเดือนกรกฎาแล้วจะรู้” บิลหมายถึงเมืองเฟรสโน ในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งในหน้าร้อนอุณหภูมิเฉลี่ย 38 องศาเซลเซียส
ท่ามกลางชัยชนะครั้งแรกอันงดงามของบิล นักแข่งรถฟอร์มูล่าวันรายอื่นต้องเผชิญกับนรกบนดิน เป็นต้นว่า Pat Flaherty นักแข่งรถชาวอเมริกันพุ่งเข้าชนกำแพงเพราะอ่อนเพลียจัดจากอากาศร้อน แต่ไม่ได้รับบาดเจ็บร้ายแรง ขณะที่มีนักแข่งรถ 14 รายต้องให้นักขับสำรองมาลงแข่งแทน
ตรงกันข้ามกับ Carl Scarborough นักแข่งรถชาวอเมริกันที่ห้องรถ Kurt/Wett D – Offenhauser หรือ ‘McNamara Special’ หมายเลข 73 ตะบึงไปบนพื้นสนามแข่งที่ร้อนเหมือนเตาไฟ รถของเขาหมุนคว้างหลังจากไปชนเข้ากับรถของ Tony Bettenhausen ที่ทำให้คาร์ลเวียนหัวจากอุบัติเหตุไปแล้วหนึ่ง และในการขับรอบที่ 70 คาร์ลพารถเข้าจอดในพิตสต็อปและดูอ่อนเพลียอย่างแรงจากอากาศร้อน
นายช่างทั้งหลายง่วนกับการเช็กสภาพรถและเติมน้ำมัน คาร์ลยังนั่งอยู่ในเก้าอี้คนขับขณะที่น้ำมันรถที่ช่างเติมอย่างเร็วกระฉอกออกมาโดนท่อไอเสียร้อนๆจนไฟลุก นักดับเพลิงรีบเข้ามาฉีดโฟมดับไฟ คาร์ลซึ่งนั่งไร้เรี่ยวแรงอยู่ในรถถึงกับโดนหามออกมานั่งพิงกำแพง และถูกเปลี่ยนตัวให้ Bob Scott ขับแทนในรอบที่เหลือ
สุดท้ายคาร์ลหมดสติไปจากอากาศร้อน และคาดว่าเขาสูดคาร์บอนมอนอกไซด์จากถังดับเพลิงเข้าไปด้วย รถพยาบาลมาถึงในอีก 15 นาทีถัดมา จึงได้รู้ว่าอุณหภูมิในร่างกายของเขาสูงถึง 40 องศาเซลเซียส เมื่อไปถึงโรงพยาบาล แพทย์พยายามกู้ชีพทุกวิถีทาง ให้หลังจากที่โดนหามตัวออกมาจากรถ คาร์ลมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีก 1 ชั่วโมงครึ่งก่อนจะเสียชีวิตที่โรงพยาบาล
ส่วนในปี 1984 ในการแข่งฟอร์มูล่าวันที่ดัลลัส ได้เกิดภาพประวัติศาตร์ที่นักแข่งรถชาวอังกฤษ Nigel Mansell ขับรถชนกำแพงจนต้องหยุดรถ แต่เขาพยายามเข็นรถไปถึงเส้นชัย ทว่าเป็นลมหมดสติไปเสียก่อนเนื่องจากเป็นฮีตสโตรกจากสภาพอากาศร้อนจัด 38 องศาเซลเซียส
27 มีนาคม 2022 Jenson Button อดีตแชมป์ฟอร์มูล่าวันที่ย้ายไปขับรถแข่งนาสคาร์สนามแรกในเท็กซัสกล่าวว่า เกือบจะถอนตัวจากการแข่งขันหลังจากขับไปได้แค่ 18 รอบ เพราะสภาพอากาศในสนามและในห้องคนขับร้อนจัดจนเขาเกิดอาการเพลียแดดขึ้นมา จนต้องพารถเข้าไปจอดพักที่พิตสต็อป 2 ครั้งเพื่อให้ทีมงานเอาน้ำแข็งมาโปะตามตัวและดื่มน้ำเยอะๆ พอให้มีสติขับรถต่อไปได้ “ผมเกือบจะออกจากรถไปแล้วเพราะคิดว่าตัวเองจะเป็นลม ผมดื่มน้ำ 8-9 ขวดเห็นจะได้ในช่วงที่ลงแข่ง”
สภาพของนักขับระหว่างแข่ง
รถแข่งฟอร์มูล่าวันถูกออกแบบมาให้ตัวถังเย็นลงเมื่อเจอกับแรงลมขณะวิ่งรถ หากติดเครื่องยนต์และจอดแช่ไว้ ตัวรถจะค่อยๆ ร้อนขึ้น ดังนั้นเมื่อนักแข่งนำรถเข้ามาจอดในพิตสต็อป ทีมช่างจะเปิดพัดลมไอเย็นแรงลมสูงมาช่วยดับร้อนให้กับรถและคนขับ รวมทั้งเอาน้ำแข็งแห้งไปโปะตามจุดที่รถร้อน เช่น เบรกและหม้อน้ำ
นักแข่งรถฟอร์มูล่าวันต้องฝึกฝนร่างกายให้ชินกับสภาพอากาศร้อนจัด เช่น ใส่ชุดนักแข่งไปฝึกซ้อมหรือปั่นจักรยานในห้องเซาน่า เพราะในรถแข่งไม่ติดแอร์ ด้วยต้องการให้รถแข่งมีน้ำหนักเบาที่สุด ดังนั้นตัวช่วยทำให้เย็นจึงไปอยู่ที่ตัวนักแข่งรถเองที่อาจใส่เสื้อกั๊กปรับอุณหภูมิ พันแผ่นทำความเย็นหรือน้ำแข็งแห้งชนิดเกล็ดไว้ตามแขนเสื้อ อก แผ่นหลัง ในหมวกกันน็อกและในรองเท้า รวมทั้งอาจสวมปลอกคอทำความเย็นเพื่อให้เลือดลมไหลเวียนไปสู่สมองได้ดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้เย็นได้นานนัก เมื่อเจอกับความร้อนในห้องคนขับ
การแข่งขันหนึ่งครั้ง นักแข่งรถต้องอยู่ในห้องคนขับที่อาจร้อนได้ถึง 50-60 องศาเซลเซียสติดต่อกันราวๆ 2 ชั่วโมงครึ่ง น้ำหนักตัวอาจหายไปถึง 3 กิโลกรัมจากการเสียเหงื่อ ขณะที่ต้องพยายามจิบน้ำบ่อยๆเพื่อไม่ให้ร่างกายช็อกจากภาวะขาดน้ำ เพลียแดด (heat exhaustion) หรือเป็นลมแดด (heatstroke) ที่พบได้บ่อยเมื่อเจอกับความร้อนจัด
Heat Stroke (ฮีตสโตรก) เกิดจากอะไร?
เกิดจากการที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงจัดและไม่สามารถระบายความร้อนออกไปได้ทัน ปกติร่างกายมีกลไกขับความร้อนด้วยการขับเหงื่อ แต่หากมีเหตุขัดข้องที่ร่างกายไม่อาจขับเหงื่อได้ก็จะมีความเสี่ยงต่อภาวะฮีตสโตรกได้มากขึ้น โดยเฉพาะในสภาพอากาศร้อนๆ
กลุ่มเสี่ยงต่อฮีตสโตรก
เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี และผู้ใหญ่ 65 ปีขึ้นไป เสี่ยงต่อฮีตสโตรก เนื่องจากเป็นวัยที่สมองมีการตอบสนองต่อความร้อนได้น้อยกว่าวัยอื่นๆ รวมทั้งผู้ที่กินยาขับปัสสาวะ เช่น ยาลดความดันบางตัว หรือคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ในวันอากาศร้อน แม้จะเป็นเครื่องดื่มเย็นก็ตาม เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ จึงทำให้ร่างกายสร้างเหงื่อได้น้อยลง
สัญญาณเริ่มต้นที่บ่งบอกว่าเป็นฮีตสโตรก (Heat Stroke)
คือร่างกายมีอุณหูภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส รู้สึกปวดเมื่อยตามตัวเนื่องจากตัวร้อนมาก ตัวแดงเนื่องจากร่างกายพยายามดันเลือดไปที่ผิวหนัง แต่ผิวจะแห้ง ไม่มีเหงื่อชุ่มโชก คนที่ออกกำลังกายกลางแจ้งแต่เหงื่อไม่ออกก็อาจเจอกับภาวะฮีตสโตรกได้ ชีพจรจะเต้นเร็วแรงมาก เนื่องจากหัวใจพยายามปั๊มเลือดไปที่ผิวหนังเพื่อขับความร้อน แต่ว่าความร้อนออกไปไม่ได้ และส่งผลไปถึงสมอง ทำให้วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นลม หมดสติ ชักหรือเสียชีวิตได้
หากมีอาการเหล่านี้ ต้องรีบลดความร้อนในร่างกายให้เร็วที่สุด โดยเอาน้ำเย็นมาราดตัว อาบน้ำเย็นหรือประคบน้ำแข็งตามจุดที่มีเส้นเลือดดำใหญ่ เช่น รักแร้ ซอกคอ ขาหนีบ ข้อพับ ร่วมกับโบกพัดไปทั่วตัวเพื่อให้น้ำระเหยซึ่งจะนำความร้อนออกไปจากผิวหนังได้ ถ้าตัวเริ่มเย็นลงแล้วให้อมน้ำแข็งหรือกินไอศกรีม หาก 5 นาทีแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ต้องรีบส่งตัวไปโรงพยาบาลโดยด่วนที่สุด
Words: Suphakdipa Poolsap
ข้อมูลจาก