Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview / People

เมื่อ ‘ออกแบบ’ รับบทเป็นเชฟในหนัง Hunger ที่ทำครัวจริง ไฟลวกคิ้วแหว่งจริงจัง

ราชินีหนังไทยคนใหม่กับบทร้อนๆ ยิ่งกว่าน้ำมันในกระทะ
Interview / People

มือเธอยกกระทะหนาหนักขึ้นมาเขย่าโขยกเครื่องปรุงให้เข้ากันอย่างชำนาญ ดวงตาเริ่มมีน้ำตาเอ่อ ปากเม้มอย่างสะกดกลั้นแต่ก็พยายามให้กำลังใจตัวเอง

ในเสี้ยววินาทีสั้นๆนั้นคือการแสดงทั้งร่างกายและความรู้สึกของ ‘ออย’ แม่ครัวผัดซีอิ๊วที่โดดไปเป็นเชฟไฟน์ไดนิ่งใน Hunger หนังเรื่องใหม่ของ ออกแบบ -ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง

LIPS: เราเพิ่งคุยกับออกแบบที่รับบทเป็น ‘หนึ่งในแอน’ ในหนัง Faces of Anne ของคงเดช จาตุรันต์รัศมี แล้วเราก็เห็นชื่อออกแบบกับคงเดชอีกครั้ง นี่ไม่ใช่เดจาวูใช่ไหม

ออกแบบ: ไม่สิ (หัวเราะ) นี่หนังเรื่องใหม่ของเรา Hunger เรื่องนี้เรารับบทเป็น ‘ออย’ – ที่แปลว่าน้ำมัน

LIPS: ออยกับแอนเป็นพี่น้องกันหรือเปล่า

ออกแบบ: หนังคนละเรื่องกันเนอะ อ้ะ ที่บ้านออยขายราดหน้า ผัดซีอิ๊ว เป็นลูกคนโตที่มีน้องเรียนแพทย์ แม่เสียด้วยโรคมะเร็ง อยู่กับพ่อชรา พอออยเรียนจบก็ทำร้านที่บ้านต่อไป สู้ชีวิตมาก เพราะน้องเรียนแพทย์น่ะ ซึ่งเราไปทำรีเสิร์ชมาว่าต้องใช้เงินเยอะ ออยทำแบบนี้ทุกวัน ตื่นเช้ามาก็ผัดซีอิ๊ววนไป ทำไมชีวิตไม่มีอะไรเลย

LIPS: เป็นคนทำอาหารที่หมดความหิว มีแต่ความชินชาตายด้าน

ออกแบบ: ใช่เลย จนมีวันหนึ่งมีโอกาสเข้ามาจาก โตน ตัวละครที่พี่กรรณ (กรรณ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา) รับบทเป็นซูเชฟในทีม Hunger ที่ทำไฟน์ไดนิ่งอันดับหนึ่งของประเทศมายื่นข้อเสนอให้ออยไปร่วมทีม ออยตอบตกลงและได้พบเจอความหิวใหม่ของตัวเอง แล้วได้เจอ เชฟพอล (รับบทโดยปีเตอร์ – นพชัย ชัยนาม) ที่เป็นคนเก่งมากๆ เป็นความหิวใหม่ที่เราอยากเป็นเหมือนเขา การได้อยู่ในทีม Hunger เป็นการเริ่มต้นจุดเตาแก๊สใหม่ให้กับความฝันของออย

LIPS: จากที่แต่ก่อนออยเป็นน้ำมันแต่ไม่มีไฟ

ออกแบบ: ถูก พอมาเจอนายใหม่ก็ไฟลุกพรึ่บ เขาเป็นนายผู้เย็นชาแต่ไฟแรง

LIPS: บทน่าสนใจจริงๆแหละ แต่มีอะไรที่ต้องคิดหน้าคิดหลังไหมก่อนที่ออกแบบจะโดดเข้าไปในหนังเรื่องนี้

ออกแบบ: คิดว่าเราจะทำได้ไหม เพราะเราไม่ได้ทำอาหารเป็นขนาดนั้น ไม่รู้ด้วยว่าพี่คงเดช (โปรดิวเซอร์และนักเขียนบท) และพี่โดม (สิทธิศิริ มงคลศิริ ผู้กำกับ) ต้องการให้เราทำเป็นแค่ไหนด้วย ซึ่งพอเอาเข้าจริง เราร้องไห้บ่อยมากเลยนะ ต้องเรียนพื้นฐานก่อน หั่นให้เป็น ใช้มีดให้ถูกต้อง แล้วค่อยๆ ไล่ทักษะมาเรื่อยๆ ไปเป็นเรื่องการผัด ทอด จี่ ทำปลา แกะกุ้ง แกะล็อบสเตอร์ แล้วตามตัวก็มีแผลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากน้ำมันร้อนๆ (ยื่นแขนให้ดูรอยแผลเป็นจางๆ)

แรกๆ ความหนักในการทำอาหารก็คือ กระทะจีน (wok) มันหนักมาก เราต้องฝึกกำลังแขน อยู่ในครัวทุกวันก็เหนื่อยจะตาย แต่หลังจากฝึกในครัวเราต้องไปออกกำลังกายต่อ ซึ่งปกติเราออกอยู่แล้ว แต่พอมาเล่นหนังเรื่องนี้ต้องออกเฉพาะส่วนเพื่อให้มีกำลังพอจะยกกระทะได้นานๆ

แล้ววันหนึ่งเชฟชาลี (ชาลี กาเดอร์ เชฟแห่ง Wanayook ร้านอาหารไทยไฟน์ไดนิ่งและเป็นผู้ดูแลงานออกแบบอาหารให้กับหนัง Hunger) พาเราไปเจอเชฟที่เก่งการทำไฟที่ร้านอาหารจีน ไปถึงเขาให้เราผัดผักบุ้ง ไฟลุกพรึ่บสูงท่วมหัว เชฟบอกแค่ว่า ‘ดูแล้วหลบให้ทันนะ’ พี่โดม พี่คงเดช พี่กรรณกับเชฟชาลียืนดูอยู่ข้างหลังแบบลุ้นมาก ทุกคนบอกเราว่า ‘ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ’ เขาหมายความตามที่พูดจริงๆ เพราะเป็นห่วงความปลอดภัยเรา แต่เราดันเป็นคนที่ถ้าจะทำอะไรแล้วต้องทำให้ได้ แต่แรกๆ เราไม่กล้าจับกระทะด้วยซ้ำ ไฟในเตาแรงมาก อากาศในครัวก็ระอุ ทั้งไฟ ทั้งน้ำมัน เชฟสอนให้ดูว่าน้ำมันเวลาโดนไฟแล้วมีควันระดับ 1, 2, 3, 4 และเราต้องระวังตรงไหนบ้าง

LIPS: นี่ไปเรียนเป็นเชฟหรือเป็นนักดับเพลิง

ออกแบบ: (หัวเราะ) เราจะได้รู้จังหวะว่าต้องยกกระทะตอนไหน มันคือความกล้า ต้องทำโดยไม่ต้องคิด ดูจังหวะแล้วไปเลย คิ้วเราแหว่งไปข้างหนึ่งเพราะหลบไฟไม่ทัน แต่ขนตายังอยู่นะ (ชี้ให้ดูคิ้วซ้ายที่โดนไฟลวก แต่บัดนี้ขนคิ้วงอกใหม่แล้ว)

LIPS: ออยอยู่หน้าเตามาทั้งชีวิต แต่ออกแบบต้องทำให้ได้แบบออย…

ออกแบบ: ภายใน 3 เดือน! บวกกับตอนถ่ายทำด้วยก็ 6 เดือน เป็นเรื่องที่เราภูมิใจมากนะ ทุกช็อตที่โคลสอัพมือออย นั่นคือมือออกแบบจริงๆ ต่อให้ไม่เห็นหน้า เห็นแต่มือ นั่นก็มือเรา ทีมงานมีแสตนด์อินให้ แต่พอไปตัดต่อแล้วเขาก็ใช้มือเราอยู่ดี เพราะจังหวะมันได้

LIPS: เราชอบดูคนทำกับข้าว ชอบไปยืนดูตามร้านก๋วยเตี๋ยวและร้านอาหารต่างๆ มือเขาไว เคลื่อนไหวเป็นจังหวะสวยงาม น้ำหนักมือพอดี อร่อยแบบไม่ตวง

ออกแบบ: ใช่ ซึ่งเราต้องทำให้ได้แบบนั้น ถ้าเป็นที่คนทำกับข้าวอยู่แล้วก็จะทำแบบนั้นได้ไง แต่เราไม่ใช่ เราชอบทำขนม ชอบอบ แต่นี่เราต้องทำกับข้าว แม่ต้องกินกับข้าวฝีมือเราทุกวัน ราดหน้า ผัดซีอิ๊วที่เราฝึกทำที่บ้านตลอด

LIPS: ท่าทางก็ต้องฝึกให้ได้ อารมณ์ของออยก็ต้องทำให้ได้เหมือนกัน จากคนตายด้านมาเป็นคนไฟลุกพรึ่บ

ออกแบบ: ใน 3 เดือนช่วงที่เตรียมตัว เราทำทุกอย่าง ฝึกทำครัวด้วย เวิร์กช้อป และมี read through ที่นักแสดงทุกคนอ่านบททั้งเรื่องด้วยกัน เป็นครั้งแรกที่เราทำแบบนี้ ปกติเราจะอ่านบทตัวละครเป็นซีนไป แต่นี่นักแสดงทุกคนต้องมาอ่านบทด้วยกันในห้องประชุมโรงแรม เป็นประสบการณ์ใหม่ที่ดีมาก เราได้เข้าใจหนังทั้งเรื่องมากขึ้น ใครไม่เข้าใจตรงไหนก็คุยกันได้เลย อ่านบทกันอยู่ 2 วันเต็มๆ

LIPS: ดูมีเวลาเตรียมตัวเยอะขึ้น เกี่ยวไหมว่าเพราะเป็นหนังของเน็ตฟลิกซ์

ออกแบบ: เราว่าเรื่องทุนสร้างก็เกี่ยว ซึ่งก็มาพร้อมความรับผิดชอบที่มากขึ้นด้วย หน้าที่ของเราในหนังเรื่องนี้มากกว่างานอื่นๆที่เคยทำมา แต่เราก็ลึกซึ้งขึ้นกับงานมากขึ้นด้วย เพราะช่วงเวลานั้นเราทำหนัง Hunger อย่างเดียวเลย ทำอย่างอื่นไม่ได้ ไม่มีเวลาโฟกัสสิ่งอื่น ไม่มีเวลาให้ที่บ้านด้วยซ้ำ กลับถึงบ้านก็คอพับหลับไปเลย หมดแรง เพราะทั้งวันเราไปทำงานในครัวจริง ยืนตั้งแต่เที่ยงยันสี่ทุ่มที่ร้านวรรณยุกต์ ใช้ชีวิตเหมือนคนครัวจริงๆ แล้วเราก็ไม่ค่อยเป็นงานน่ะ กลัวไปทำทีมเขาเสีย

เราว่าไฟน์ไดนิ่งคือศิลปะบวกกับวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่วิธีการเตรียมวัตถุดิบ การหั่น ไปจนถึงการปรุงที่บางอย่างต้องเอาไปทอดก่อนแล้วค่อยต้ม มีเทคนิคต่างๆมากมาย และขนาดในครัวเตรียมตัวเป็นอย่างดีทุกวัน แต่ถึงเวลาเปิดร้านจริงๆก็ยังทำอาหารออกเสิร์ฟแทบไม่ทัน เราเลยได้รู้ว่าครัวจริงๆเดือดขนาดไหน พอถ่ายทำจริงเลยเดือดจริง เพราะเราเคยสัมผัสอารมณ์เหล่านั้นมาแล้ว เราได้เห็นมาแล้วว่าในครัวที่วรรณยุกต์ เชฟรู้สึกอย่างไร เขาทำอะไรบ้าง เขาลงรายละเอียดมากแค่ไหน

LIPS: ได้ไปเห็นแล้วอธิบายหน่อยว่าทำไมในครัวถึงได้เดือดอย่างกับสนามรบ

ออกแบบ: มีวันหนึ่งที่เราเข้าไปฝึกที่ครัวจริง มีลูกค้าที่แพ้ dairy (ผลิตภัณฑ์จากนม) แพ้กลูเตน แพ้อาหารทะเลรวมกันในโต๊ะเดียว เชฟต้องคิด ณ เดี๋ยวนั้นเลยว่าในครัวมีวัตถุดิบอะไรที่ใช้ได้บ้าง ครัวมีความรับผิดชอบต่อชีวิตคน เพราะเราไม่รู้ว่าแพ้นี่คือแพ้แค่ไหน กินนิดเดียวแล้วเสียชีวิตได้เลยหรือเปล่า ครัวไม่ได้มีหน้าที่แค่ทำอาหารแล้วจบ เลยมีทั้งความเครียดและความกดดันที่สูงมากๆ

LIPS: เราทำอาหารเพื่อความอยู่รอดของคนไปอีกมื้อ หรือจะกลายเป็นมื้อสุดท้ายของเขาก็ได้

ออกแบบ: ใช่ มันอยู่ที่เรา และเงินที่เขาจ่ายก็คือความคาดหวังที่สูงขึ้นไปด้วย ในครัวเลยเดือดจัด

LIPS: ออกแบบเป็นนักแสดงหญิงที่เป็นเซ็นเตอร์ของเรื่องเสมอ แต่ก็มีเดิมพันสูง เพราะต้องแบกหนังทั้งเรื่อง

ออกแบบ: อืม เราไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นแบบนี้นะ เราแค่ชอบที่ได้ทำจริงๆ อย่างถ้าไม่ได้ทำหนังเรื่องนี้คงไม่ได้รู้เรื่องการทำครัว การใช้ไฟ การจับกระทะ เราเห็นคุณค่าของการทำอาหารและอันตรายของคนที่แพ้อาหาร เราตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้มากขึ้นมากๆ มันคือวัฏจักรของมนุษย์อย่างหนึ่ง วันนี้เมื่อปีที่แล้ว ถ้าเราไม่ได้รับหนังเรื่องนี้และไม่ได้เรียนรู้สิ่งที่ได้รู้มา ตัวเราคงมีช่องโหว่หนึ่งที่เราไม่ได้เติมเข้าไป ซึ่งเป็นเรื่องเล็กๆแต่สำคัญที่หลายคนมองข้าม เราได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของคนครัวและอาหารว่าเป็นเรื่องความเป็นความตายได้เลย

LIPS: การทำงานกับปีเตอร์และกรรณเป็นอย่างไรบ้าง

ออกแบบ: ทุกคนขู่ว่าพี่ปีเตอร์ดุ (หัวเราะ) เราเลยกลัวเขามาก แต่พอเจอกันจริงๆ เขาเด็กมากเลยนะ เราไม่คิดว่าเขาจะอายุ 50 แล้ว เขาสอนเราเยอะมากในการแสดง แต่ไม่ได้สอนว่าควรทำอะไร เขาก็ทำของเขาไป เราคอยซึบซับวิธีการทำงานของเขาไปเอง แม้แต่การพักตัวละครและการเข้ากับผู้คนในกอง การใช้ชีวิตในฐานะนักแสดง ตัวจริงเขาไม่ดุเลย มีแค่ตอนผู้กำกับสั่งแอ็กชั่นแล้วเขาแปลงร่างเป็นเชฟพอลทันที เราว่าเขาเป็นศิลปินน่ะ พี่โดมผู้กำกับก็เหมือนกัน ทั้งวันไม่มองอะไรเลย จ้องหน้าจอมอนิเตอร์ตลอดเวลา ดูทุกรายละเอียด ทุกคนทำงานเป็นทีมที่ตั้งใจทำงานเต็มที่ให้งานแต่ละวันเสร็จภายในเวลา 12 ชั่วโมง การทำอาหารจริงๆใช้เวลาเตรียมงานมากอยู่แล้ว นี่ยังต้องถ่ายทำไปด้วย เขาต้องดูแม้แต่ระดับของควัน

LIPS: เคยดูหนังญี่ปุ่นเกี่ยวกับการชงชา Every Day A Good Day เขาซีเรียสว่าควันจากไอร้อนและไอเย็นต่างกัน

ออกแบบ: เพราะคนทำงานรู้อยู่แก่ใจไง เราโกหกคนดูไม่ได้ อย่างพี่โดมจะใช้สแตนด์อิน แต่เราบอกว่าขอถ่ายตอนหนูแสดงเองเผื่อไว้ด้วย แล้วไปเลือกใช้เอา พี่ปีเตอร์และพี่กรรณก็ทำครัวเองจริงๆ

LIPS: ในเรื่องออยเชิดชูยกย่องเชฟพอลมาก กับโตนที่กรรณเล่นล่ะ

ออกแบบ: โตนเป็นคนดึงเราเข้าร่วมทีม ในเรื่องเราไม่ค่อยสนใจเขาหรอก เราสนใจแต่เชฟพอล โตนช่างมัน (หัวเราะ) แต่การทำงานกับพี่กรรณก็น่าทึ่งนะ ได้เจอกันครั้งแรก เขาใจเย็นมากๆ มีแผนสำรอง 1, 2, 3, 4 ถ้าแผนนี้ไม่เวิร์ก งั้นลองแบบนี้นะ เป็นคนประนีประนอมสูงและไม่รีบร้อน คล้ายพี่คงเดช อย่างตอนเราเล่นหนังเรื่องแอนที่พี่คงเดชกำกับ เขาก็จะค่อยๆ เดี๋ยวเราลองแบบนี้กันนะ แต่หนังนี่อย่างเครียดเลย (หัวเราะ) ส่วนพี่โดมจะแบบ (ยกมือขอพูด) กรรณครับ! ออกแบบครับ! ไฟครับ ขอไฟอีก! ทุกคนเหมือนต้มยำกุ้งที่ส่วนผสมหลากหลายมารวมกัน

LIPS: หนังไทยไม่ค่อยมีอาชีพเป็นเส้นเรื่องหลัก ส่วนใหญ่มีแค่หนังผีกับหนังตลก แต่ Hunger เป็นแนวใหม่ที่เน้นอาชีพอย่างจริงจัง

ออกแบบ: เราคิดว่าพฤติกรรมคนดูเปลี่ยนไปตั้งแต่ช่วงโควิด เราไม่จำเป็นต้องไปดูหนังในโรง เราดูจากจอที่บ้านได้และรู้สึกสะดวกใจกับการนั่งดูหนังกับคนที่บ้านหรือเพื่อนๆ พอเราอยู่กับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งมาเป็นปี เราเลยเปิดกว้างกับเนื้อหาที่หลากหลายขึ้น แต่ก่อนหนังตามโรงจะถูกเลือกมาฉายไม่กี่เรื่อง แต่พอเป็นสตรีมมิ่ง เรากดดูอะไรก็ได้เลย มีเนื้อหาให้เลือกเป็นพันเรื่อง อยากดูอะไร เมื่อไร ตอนไหนก็ได้เลย ทำให้คนดูเปิดกว้าง ในเมื่อเรามีตัวเลือก ทำไมเราจะไม่เลือกตัวเลือกที่ดีกว่า

LIPS: พอทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย เขาพร้อมเปิดใจเลย

ออกแบบ: ใช่ ที่ผ่านมาไม่ใช่ว่าเขาปิดใจนะ แต่เราไม่มีตัวเลือกให้เขาดูมากกว่า

LIPS: แล้วบรรยากาศในเมืองไทยด้วย ต้องตะเกียกตะกายเดินทางไปโรงหนัง พอไปถึงไม่มีรอบให้ดูอีก ก็อยากดูเรื่องนี้ตอนนี้น่ะ

ออกแบบ: การไปโรงหนังบางทีก็เหนื่อย แต่เน็ตฟลิกซ์ดูตอนไหนก็ได้

LIPS: น่าจะทำให้วงการหนังไทยดีขึ้นไหม

ออกแบบ: คิดว่าจะดีขึ้นนะ เราได้ยินว่าหลายๆบริษัทพยายามออกกองภายใน 12 ชั่วโมงให้ได้เหมือนเน็ตฟลิกซ์ อาจกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของบ้านเรา แต่ก่อนกองถ่ายทำงาน 16 ชั่วโมงรวด บางทีก็โต้รุ่ง นี่ลดจาก 24 ชั่วโมงลงมาเหลือ 18 และ 16 ชั่วโมงแล้วนะ เราเจอ 24 บ่อย แต่พอเราเจอออกกอง 12 ชั่วโมง กลายเป็นว่าพอไปออกกอง 16 ชั่วโมง เราเหนื่อยมาก ทำงาน 16 ชั่วโมงแล้วตื่นมาทำแบบนั้นอีก วนไป ได้พักไม่ถึง 8 ชั่วโมง กลับถึงบ้านล้างหน้าก็ต้องนอนแล้ว บทยังไม่ได้อ่านเลย แต่ต้องนอน เดี๋ยวพรุ่งนี้ไม่มีแรงทำงาน

LIPS: แล้วเขาอยู่กันมาได้ยังไงเนี่ย

ออกแบบ: ก็อยู่กันแบบเหนื่อยๆ คือให้ทำงาน 16 ชั่วโมงก็ทำได้แหละ แต่ถ้ามีทางเลือกที่ดีกว่าก็ควรจะเลือก มันคือชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของคนทำงาน ถ้ามาตรฐานทำงาน 12 ชั่วโมงทำได้จริง เราจะไม่ได้ยินข่าวว่ามีคนตายในกองถ่ายเพราะพักผ่อนไม่พออีก เราได้ยินสิ่งเหล่านี้บ่อยมาก การทำหนังอาหารไม่ใช่เรื่องเล็กๆนะ ทุกซีนเป็นเรื่องใหญ่มาก ถ้าเรื่องนี้ทำได้ เรื่องอื่นก็ทำได้ เรารู้สึกว่าไม่มีข้ออ้างหรอก อยู่ที่ว่าเราจะทำหรือเปล่าแค่นั้น

LIPS: เรามาถึงยุคที่หนังทำจากซีจีทั้งเรื่อง สร้างโลกใหม่ ทะลุจักรวาลข้ามมัลติเวิร์สก็ทำกันมาแล้ว ทำไมเราต้องหยุดดูหนังอาหารที่ก็เป็นเรื่องทั่วไปใกล้ตัว เห็นกันอยู่ทุกวัน

ออกแบบ: เพราะทุกคนมีความหิว เราไม่ได้ให้คนเข้ามาดูหนังเรื่องนี้เพื่อจะได้หิวอาหาร แต่อยากให้คุณค้นหาว่าตอนนี้คุณกำลังหิวอะไรอยู่ในชีวิต

ตัวอย่างภาพยนตร์ HUNGER คนหิว เกมกระหาย ฉายบน Netflix 8 เมษายน 2023

ออกแบบสวมเครื่องแต่งกายจาก CHANEL
ปีเตอร์สวมเครื่องแต่งกายจาก VVON SUGUNNASIL
กรรณสวมเครื่องแต่งกายจาก Zegna และ VVON SUGUNNASIL

Words: Suphakdipa Poolsap
Photos: Somkiat Kangsdalwirun
Style: Anansit Karnnongyai

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม