Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview / People

การกลับมาที่ชวนหิวของ ‘กรรณ สวัสดิวัตน์’ ในหนังไทยแห่งปี ‘HUNGER’ ทางเน็ตฟลิกซ์

ผลงานที่กรรณภูมิใจ ทำครัวจริง ได้แผลจริง ไม่ใช้สตั๊นท์
Interview / People

“เราไม่ได้แสดงจริงๆจังๆมานานแล้ว หนังเรื่องนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี” นั่นคือประโยคแรกจากปาก กรรณ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา ซึ่งคล้ายว่าเขาจะบอกตัวเองไปด้วย ขณะที่กล่าวกับ LIPS เช่นนั้น เมื่อหลายปีก่อนเขาเป็นเจ้าของสมญานาม ‘สามีแห่งชาติ’ และมีงานพุ่งเข้าหาเขามากต่อมาก หากเขาก็ละเมียดรับงานนักหนา “เมื่อก่อนคิดว่าถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ทำดีกว่า” กรรณว่า 

HUNGER กรรณพูดถึงไว้ว่าเป็นงานแสดงเต็มตัวครั้งแรกในอาชีพนักแสดงของเขาก็ว่าได้ และเป็นการกลับมาปรากฏตัวบนจอในรอบหลายปี หลังจากได้เห็นรายนามผู้มีส่วนร่วมในหนังเรื่องนี้

คงเดช จาตุรันต์รัศมี (Faces of Anne และ Where We Belong) โปรดิวเซอร์และนักเขียนบท, สิทธิศิริ มงคลศิริ (แสงกระสือ) ผู้กำกับ, ปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม นักแสดงที่กดขี่เขาในเรื่อง, ออกแบบ-ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง นักแสดงที่เขาต้องเสริมส่งในหนัง และที่สำคัญคือ โตน ตัวละครที่อยู่ในวัยเดียวกับเขา และมีคำถามต่อชีวิตเฉกเช่นเดียวกันพอดี 

LIPS: ที่ผ่านมาไม่ค่อยเห็นกรรณรับงานแสดงเป็นเพราะอะไร ทั้งที่งานก็พุ่งชนเยอะมากมาย   

กรรณ: เมื่อก่อนคิดว่าถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ทำดีกว่า ถ้าทำแล้วไม่ดีก็ไม่ทำดีกว่า แต่พอโตขึ้น…เราจะกลัวว่ามันจะออกมาไม่ดีทำไม (เกาหัวแกรก) เราลองแล้วไม่ดีก็จบ เราต้องลองอะไรบางอย่างที่ไม่ชอบแหละ เพื่อจะได้รู้ว่าไม่ชอบจริงๆ หรือเราแค่คิดไปเองว่าไม่ชอบ หรือบางอย่างเราอาจไม่ได้ชอบ แต่อาจจะดีกับเราก็ได้ 

LIPS: อ่านบทเรื่องนี้แล้วชอบเลยไหม

กรรณ: ชอบเลย แต่ยังมีความเป็นตัวเองอยู่ที่คิดว่า…จะทำได้หรือ จะได้ใช่ไหม เรากังวลเพราะห่างจากการแสดงจริงจังมานานมากแล้ว 

LIPS: รับบทเป็น ‘โตน’ ผู้ช่วยเชฟหรือซูเชฟ ซึ่งในอาชีพนี้ จริงๆ แล้วต้องเรียนรู้ฝึกฝนมาหลายปี 

กรรณ: แต่ผมมีเวลาฝึก 3 เดือน (หัวเราะอ่อน) 

LIPS: คนๆหนึ่งที่ทำอาชีพนี้มาครึ่งชีวิต แต่คุณต้องเป็นเขาให้ได้ภายใน 3 เดือน การหยิบจับ 

มือไม้ สายตา มันต้องใช่เชฟ คนดูต้องจับไม่ได้ว่าทำเป็นโรยๆไปงั้น

กรรณ: (หัวเราะ) โดนด่าสิครับ สุดท้ายเราทำการบ้านเยอะ-มาก-ทุกวัน เราเข้าไปครัวจริงของร้านวรรณยุกต์ที่ทำไฟน์ไดนิ่ง ทางทีมงานจัดให้ เราไปอยู่ในครัวตั้งแต่บ่ายโมงจนถึงสี่ทุ่ม ยืนไปสิ เป็นงานที่หนักมากและสนุกมาก พองานเสร็จแล้ว เราภูมิใจ รู้สึกว่าวันนี้เราได้ทำงานเต็มที่จริงๆ ทำสุดแล้ว ถ้าไม่พลาดเลย ไม่ลืม ไม่วอกแวกจะยิ่งฟิน    

แต่ก่อนจะได้เจอวันฟินๆ ผมก็ได้เจอวันที่ (ยกมือขึ้นมาให้ดูนิ้วว่ายังอยู่ครบ) มันคือวันแรกที่เวิร์กช้อป เริ่มตั้งแต่การใช้มีด เขาสอนหั่น เราก็หั่นตาม สักพักได้ยินเสียง ‘กึ้ด’ มีดโดนข้อนิ้ว…นิดเดียว ผมขอเอาอะไรพันนิ้วนิดหนึ่งฮะ แล้วก็ทำงานต่อ แล้วเขาก็ให้แยกไข่แดงกับไข่ขาว เชฟจริงๆแยกแค่ 10 นาทีแล้วก็ไปทำอย่างอื่น ผมแยกอยู่ 1 ชั่วโมง ไข่แดงแตกแล้วแตกอีก (หัวเราะขื่น) มันคืองานประณีตที่ต้องทำอย่างรวดเร็ว 

LIPS: เหมือนหมอห้องฉุกเฉิน

กรรณ: ใช่ เพราะทุกอย่างแข่งกับเวลา มันยากและเราไม่เคยทำ มีคนถามว่าเมื่อยตรงไหนที่สุด ขา? มือ? หรือว่าหลัง? ผมตอบว่าเมื่อยคอ เราก้มหน้าก้มตาทำงานตั้งแต่บ่ายโมงถึงสี่ทุ่มไง แต่สนุกนะ ย้ำ จอยมาก ดีแล้วละที่ได้ลองไปทำครัวจริง

LIPS: เป็นเชฟโตนนี่ชีวิตสนุกไหม

กรรณ: เขาเป็นคนเครียดๆนะ รู้ว่าตัวเองเป็นคนเก่ง รู้ว่าอยากเป็นเชฟ รู้ว่าวันหนึ่งอยากทำร้านอาหาร และอยากประสบความสำเร็จ เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะไปทางไหน มีความหลงทางอยู่ในความมีเป้าหมาย และต้องมาอยู่ในบทบาทของผู้ตามที่โดนสั่งให้ทำตามเท่านั้น คือต้องอยู่แต่ในกรอบของเชฟพอล ซึ่งรับบทโดยพี่ปีเตอร์ แต่นั่นคือวิธีเดียวที่จะทำให้เขาเติบโตได้ เพราะเชฟพอลเก่งสุด เหมือนไปฝากตัวเป็นศิษย์กับจอมยุทธ์ จริงๆแล้วมันคือความหิวของแต่ละคน ผ่านมุมมองของตัวละครว่าอะไรคือความหิวของคุณ 

LIPS: เราเสิร์ฟอาหารเพื่อบรรเทาความหิวของคนที่มากินอาหาร ตัวเราที่เป็นคนปรุงกลับหิวอยู่ตลอดเวลา 

กรรณ: ทุกคนหิว แล้วแต่ว่าหิวอะไร มันคือแรงขับของเรา เชฟโตนน่าสนใจตรงที่ว่า เขาหิว แต่ไม่รู้ว่าหิวอะไร มีอารมณ์ที่สงสัยตัวเองว่า เรามาทำอะไรตรงนี้ เราเสียเวลาชีวิตไปหรือเปล่า 

LIPS: มีความเห็นอกเห็นใจโตนอย่างไรบ้าง เขาไม่ใช่คนน่ารักแสนดี แต่ก็ไม่ได้เลวร้าย เรารู้สึกเอาใจช่วยเขาบ้างไหม

กรรณ: เรื่องนี้ไม่มีตัวร้าย ทุกคนมีทางเลือกของตัวเอง และทางที่เลือกก็ไม่ได้ผิด แค่เราทำเพื่ออยากจะอยู่รอด โตนก็เป็นเช่นนั้น เขาเหมือนคนที่อยู่ในวิกฤตวัยกลางคน เท่าที่ผมคุยกับพี่โดม ผู้กำกับและพี่คงเดช นักเขียนบทและโปรดิวเซอร์ โตนน่าจะอายุราวๆ 30 อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ต้องพร้อมดูแลตัวเองและครอบครัวได้แล้ว แล้วนี่ทำอะไรอยู่ แล้วยังไงต่อ นี่คือคำถามที่ผมคิดว่าโตนถามตัวเองบ่อยมาก ตัวผมเองก็อยู่วัยนี้พอดี เราก็มีแว้บๆนะว่านี่เราทำถูกแล้วหรือเปล่า เราอยู่ตรงนี้แล้วจะยังไงต่อ

LIPS: นี่โตนหรือกรรณพูด?

กรรณ: ตะ…โต..น โตนพูด (หัวเราะ) เราพยายามหาความเชื่อมโยงระหว่างตัวเรากับตัวละครที่ทำให้เราเข้าถึงเขามากขึ้น หรือเห็นมิติต่างๆของตัวละคร

LIPS: ปีเตอร์และออกแบบ เป็นทีมนักแสดงที่รสชาติแสบสันมาก

กรรณ: เราเคยเห็นงานใหญ่ๆ ของทั้งคู่มาแล้ว แต่ตัวเราไม่ได้ทำงานมานานน่ะ (หัวเราะ) พอเจอเขาสองคนก็เกร็งมาก เราไปถ่ายหนังเรื่องนี้เหมือนไปโรงเรียน เราต้องเต็มที่ ต้องทำการบ้านให้เยอะ

LIPS: ปีเตอร์ตัวจริงดูเป็นคนชิลๆ ง่ายๆ ยิ้มเย็นๆ รักสัตว์ แต่รับบทแต่ละเรื่อง สลัดภาพผู้ชายสายเย็นคนนั้นได้หมดจด 

กรรณ: จริง พี่ปีเตอร์ชิลมาก มาแบบเย็นๆ นั่งเงียบๆ แต่พอเข้าฉาก เขาเปลี่ยนเป็นคนละคนทันที กลายเป็นตัวละคนในพริบตา แต่ผมรู้ว่าก่อนเขาจะมาถึงจุดนี้ เขาทำการบ้านมาเยอะ เวลาเขาถามคำถามที่โดมหรือพี่คงเดชก็เป็นคำถามที่คมและลึกมาก เป็นรายละเอียดของคำพูดในบท เราฟังแล้วก็ทึ่งและประทับใจว่าเขาทำงานละเอียดขนาดนี้ แค่เขาเปลี่ยนชุดเตรียมเข้าฉาก เรารับรู้ได้เลยว่ามีแรงกดดันบางอย่างในอากาศรอบตัวเขา ทำไมห้องครัวเย็นและหนาวขึ้นมา เขาทำให้เราอินกับคาแรกเตอร์ได้ง่ายขึ้นเยอะ เราไม่ต้องกลัวว่าจะแสดงแล้วดูไม่ล่ก เพราะเราล่กไปเองเลย เรากลัวพี่ปีเตอร์จริงๆ 

LIPS: แล้วออกแบบล่ะ ในเรื่องกรรณต้องปะทะกับออกแบบเยอะกว่าใครๆ 

กรรณ: เป็นอีกคนหนึ่งมีสมาธิในการแสดงดีมาก การรับ-ส่งอารมณ์เป็นธรรมชาติสุดๆ เขาเป็นเด็กที่เราไปพามาจากร้านขายราดหน้า-ผัดซีอิ๊ว เพื่อจะพาเข้ามาร่วมทีม HUNGER ถ้าเด็กคนนี้ทำไม่ได้ เราก็เสียหน้า เชฟไม่ด่าน้องอยู่แล้ว เชฟด่าเราสิ ไปพาใครมา ฉะนั้นเราแสดงเหมือนคนเดินบนเส้นด้าย คอยมองออกแบบว่าแกอย่าทำพลาดนะ พลาดนี่หน้าเรา นี่คือความซับซ้อนของตัวละครนี้ โตนไม่ใช่คนจิตใจไม่ดี เขาอยากให้คนอื่นได้ดีแหละ แต่ถ้าเขาพลาด เราก็เสียหรืออาจโดนไล่ออก มันคือความอยู่รอดของอาชีพเราด้วย เราจะเอาตัวเองก่อนหรือเอาคนอื่นก่อน 

LIPS: การที่ Netflix เข้ามาทำ Original Content ของอุตสาหกรรมบันเทิงไทย คุณมองว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

กรรณ: ส่วนตัวแล้วผมมองว่ามาช่วยผลักดันวงการหนังไทย อย่าง HUNGER ก็ยังไม่เคยมีหนังไทยที่เล่าเรื่องราวแบบนี้มาก่อน เป็นหนังอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งใน 2-3 อย่างที่เขาจะไม่ทำกัน เด็กสัตว์อาหาร เพราะมันยาก มีรายละเอียดเยอะ ต้องมีอีกทีมที่มาจัดการเรื่องนี้ HUNGER ก็ต้องให้เชฟตัวจริงมาดูแลเรื่องดีไซน์อาหารไปเลย และมาคอยดูเวลาแสดง มาจับผิด (หัวเราะ) นักแสดงร่วมในซีน ส่วนใหญ่คือเชฟจริง เขาจะคอยบอกว่า ‘โตนๆ เขาไม่คนแบบนั้นกัน’ ‘โตน อย่าเปิดไฟแรงเกิน’ แม้แต่ท่ายื่นจานให้เชฟชิม เขาก็คอยแก้ให้ 

LIPS: คิดอยากไปทำร้านอาหารบ้างไหม ดูอินจัด

กรรณ: มีบางช่วงที่เราจอยมาก เอ๊ะ หรือเราไปเรียนทำอาหารจริงจังดีไหม แต่ครัวจริงก็เครียดมากนะ มีวันที่เราเจอสถานการณ์จริงในครัวจริง ซึ่งถ้าเราไม่ได้ไปเจอมาก่อน เราคงแสดงไม่ได้หรืออาจจะขาดอะไรไป เชฟตะโกนว่า ‘ลูกค้าแพ้กุ้ง!’ แล้วมีคนลืมและใส่ซอสกุ้งลงไป ผมเคยเห็นจังหวะนี้ในครัวจริง ทั้งทีมเงียบกริบ ไม่มีใครจำได้ อาหารก็เสิร์ฟไปแล้ว แต่จู่ๆ มีคนหนึ่งยกมือว่าผมจำได้ว่าไม่ได้ใส่กุ้ง โอ้โห! ผมจำอารมณ์นั้นได้แม่นเลย เหมือนในหนังที่จู่ๆทุกคนก็เงียบ กล้องตัดไปหน้านักแสดงหลายๆคน คนไหน! ใครทำ! อารมณ์กดดันและกลัวแบบนั้นเราเจอมาแล้ว เราหาไม่ได้ในบทหรอก ถ้าไม่ได้ไปทำครัวจริงคงไม่รู้ หวังว่าคนดูจะสัมผัสได้

LIPS: ตอนนี้คอนเทนต์เยอะแยะมากมาย อะไรที่จะทำให้คนกดดู HUNGER 

กรรณ: ต้องไม่ใช่หน้าผมแน่ๆ ที่คนเห็นแล้วจะกดเข้าไปดู (หัวเราะ) แต่กดเถอะ อยากให้ดู HUNGER เป็นหนังไทยที่ทะเยอทะยานมาก ทั้งในความอยากจะเล่าเรื่องอาหาร หรือสถานการณ์ที่คนดูเชื่อมโยงได้จริง มันคือเรื่องราวคนทำงานที่เล่าผ่านคนทำงานในครัว ซึ่งเป็นอาชีพที่ยากและน่าสนใจมาก เป็นอาชีพที่คนรู้สึกเชื่อมโยงได้ง่าย คนไทยอินกับเรื่องอาหารอยู่แล้ว เป็นอีกเรื่องที่อยากให้ดู ไม่ใช่แค่เราทำท่าทำอาหารผ่านๆ แต่ทุกอย่างผ่านการคิดและออกแบบมาอย่างถี่ถ้วนมากๆ 

ออกแบบจะพูดอย่างมั่นใจว่า 100% ที่เห็นในหนังคือมือของออกแบบ แต่ผมไม่มั่นใจขนาดนั้น (หัวเราะ) ถ้าเป็นหน้าผมและเห็นมือกำลังสับอยู่ น่าจะเป็นมือผม 80% มือเราแสดงจริงแบบ Tom Cruise ไม่ใช้สตั๊นท์ (หัวเราะ) อาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เราภูมิใจนะ 

อีกอย่างผมอยากให้ทุกคนเห็นศักยภาพของทีมงานไทย คนดูทั่วโลก 190 ประเทศ วัดกันดูว่าจะมีคนดูไหม ต้องมีหลายคนเลยละที่อยากดู คนที่ชอบดูหนังอาหารยังไงก็ต้องดู ผมก็รอดูตัวเองเหมือนกัน เราไม่ได้ทำงานจริงๆจังๆมานาน เรื่องนี้เราทุ่มสุดตัว มันคือจุดเริ่มต้นที่ดี เราอยากทำงานให้ดีและทำงานดีๆ อยากทำงานด้วยทัศนคติที่เหมือนวันที่เราไปเข้าครัวจริง คือทุ่มสุดตัวจริงๆ จนไม่รู้สึกว่าเสียดายหรือเสียใจอะไรแล้ว.

ตัวอย่างภาพยนตร์ HUNGER คนหิว เกมกระหาย ฉายบน Netflix 8 เมษายน 2023

กรรณสวมเครื่องแต่งกายจาก Zegna และ VVON SUGUNNASIL
ปีเตอร์สวมเครื่องแต่งกายจาก  VVON SUGUNNASIL
ออกแบบสวมเครื่องแต่งกายจาก CHANEL 

Words: Suphakdipa Poolsap
Photos: Somkiat Kangsdalwirun 
Style: Anansit Karnnongyai 

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม