Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

‘ดุจดาว วัฒนปกรณ์’ นักบำบัดผู้ใช้การเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อเยียวยาจิตใจ

บทสัมภาษณ์ที่จะทำให้เราเข้าใจความสัมพันธ์แบบ ‘รักฉัน’ ก่อนก้าวออกไป ‘รักกัน’
Interview / Professional

ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักบำบัดผู้ใช้การเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อเยียวยาจิตใจ หรือดึงจิตใจตัวเองกลับคืนสู่ร่างกาย แล้วทำให้ร่างกายกลายเป็นบ้านอันเป็นพื้นที่ปลอดภัยแห่งจิตใจ เธอจึงคุ้นเคยกับความสัมพันธ์แบบ ‘รักฉัน’ อันถือว่าเป็นรากฐานก่อนก้าวออกไป ‘รักกัน’ แบบคู่รัก คู่พี่น้อง คู่เพื่อนหรือพาร์ทเนอร์ในด้านต่าง ๆ ของชีวิต  

LIPS: ควรทำอย่างไรจึงจะรัก ‘ตัวฉัน’ หรือจะเห็นแก่ตัวได้อย่าง Healthy 

“คำว่า ‘เห็นแก่ตัว’ จะมีความหมายทางบวกหรือลบก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ คนรุ่นก่อนถูกสอนให้แคร์สายตาคนอื่น แต่คนรุ่นนี้มองว่าถ้าสิ่งที่เราทำหรือเป็นไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนและไม่ได้ทำผิดก็ไม่เห็นต้องแคร์ แต่ก่อนเราเอาคำว่า ‘ฉัน’ ไปไว้สุดท้าย แต่ตอนนี้เราเอาคำว่า ‘ฉัน’ เลื่อนขึ้นมาเป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งดี แต่ไม่ได้หมายความว่ามีแค่ ‘ฉัน’ แล้วไม่มีคนอื่นเลยในความคิด ต้องดูแต่ละสถานการณ์ไป ถ้าเห็นแค่ฉันในทุกที่ มันก็ไม่ดี อาจจะกระทบต่อความสัมพันธ์รอบ ๆ ตัว เพราะคนอื่นก็ต้องการจะถูกเห็น ถูกได้ยิน ถูกเข้าใจ” 

LIPS: การที่เราเห็นแก่ตัวจะดูไม่น่ารัก ไม่ดี ก้าวร้าว เฟียร์ส

“คนอื่นจะมองเราอย่างไรมันไม่สำคัญเลย ถ้าคนจะมองว่าเราเฟียสฟาดมาก เราไม่แคร์มันก็จบเลย หรือถ้ามันจะดูก้าวร้าวในสายตาคนอื่น แต่เราชอบแบบนี้ ก็ไม่เป็นไรหรอก เราจะเห็นแก่ตัวในสถานการณ์ที่มีคนอื่นมาเกี่ยวข้องก็ได้นะ แต่ให้รู้ไว้ว่ามันมีผลกระทบที่ตามมา อาจสะเทือนความสัมพันธ์ของเราได้นะ เรารับได้หรือเปล่า เราเห็นแก่ตัวเอง ตัวเอง ตัวเองไปเลยสักพัก แล้วคนรอบตัวไม่อยากไปไหนมาไหนด้วย เพื่อนที่ทำงานก็ไม่อยากทำงานด้วย หรือเขาพูดกับเราน้อยลง ถ้ารับได้ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเราอยากให้คนเข้าใกล้เราแล้วมันไม่ได้เป็นแบบนั้นก็ต้องคิดแล้วละว่ามีอะไรขาดหายไปหรือเปล่า” 

LIPS: ปัจจุบันเด็ก 6 ขวบเป็นซึมเศร้ากันแล้ว และในวัยรุ่นหนุ่มสาวก็ไปพบจิตแพทย์กันเป็นว่าเล่น คุณมองปรากฏการณ์เหล่านี้อย่างไร 

“มันเกิดขึ้นจริง และผู้ใหญ่เองหลายคนเลยก็มีอาการซึมเศร้าบาง ๆ มาตั้งแต่เด็ก เพียงแต่ในยุคนั้นคนไม่ได้ตระหนักในเรื่องปัญหาสุขภาพจิต พ่อแม่เลยอาจจะคิดว่าลูกดูซึม ๆ เงียบ ๆ เด็กก็มีเรื่องเครียดของเขา คนทุกวัยมีความเครียดไปตามพัฒนาการ เราทำงานกับบางเคสที่เป็นเด็ก ซึ่งเด็กบอกว่าเขาเลือกอะไรในชีวิตตัวเองไม่ได้เลย เลือกเวลาเกิดไม่ได้ เวลากินข้าว เวลาอาบน้ำ หรือออกจากบ้านหรือกลับบ้าน เวลานอน เวลาตื่น ต้องทำตามที่ผู้ใหญ่บอกทุกอย่าง บางวันเขาบอกไม่อยากอาบน้ำก็ต้องอาบ 

“เด็กก็มีความต้องการของเขา แต่บางทีไม่ถูกตอบสนองหรือเจอความต้องการของผู้ใหญ่ที่ผลักมาให้เด็ก เด็กรู้สึกว่าฉันเรียนหนังสือแบบนี้ ฉันว่ามันก็โอเคนะ แต่ทำไมพ่อแม่ดูผิดหวังกับฉันจังเลย ฉันทำไม่ดีอย่างไร บกพร่องตรงไหน ก็ไปเรียนมันไม่สนุก แล้วจะเรียนทำไม ถ้ามีผู้ใหญ่ที่เข้าใจ เขาก็สามารถพัฒนาไปได้ เด็กบางคนอยู่ในความโดดเดี่ยวเป็นเวลานานมาก ไม่ใช่โดนทิ้งขว้างนะคะ นั่นอีกเรื่อง แต่โดดเดี่ยวคือไม่มีใครเข้าใจเขาเลย ก็มีผลต่อสุขภาพจิต พ่อแม่บางทีก็ไม่รู้จะเชื่อมโยงกับลูกอย่างไร ก็ให้ลูกเล่นไอแพดไปแล้วกัน บางทีสิ่งที่อยู่ในไอแพดก็มีประโยชน์ แต่ก็ไม่เสมอไป” 

LIPS: ผู้ใหญ่อาจมองว่าพ่อแม่ฉันก็เลี้ยงมาแบบนี้ เธอจะมาเปราะบางอะไร

“แต่ผู้ใหญ่เองก็อาจจะไม่ได้ชอบวิธีการที่พ่อแม่เลี้ยงตัวเองมาเหมือนกัน แล้วจะทำซ้ำกับลูกตัวเองไปทำไม เราผ่านมันมานานจนลืม หรืออาจจะคิดว่าฉันผ่านมันมาได้ แต่ถ้าเราไม่ได้ชอบก็อย่าทำซ้ำเท่านั้นเอง ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน ความเข้าใจกันเป็นเรื่องสำคัญ เรางง ๆ กันได้ แต่เวลาเราไม่เข้าใจกัน เราจะหงุดหงิดใส่กัน…ไปทำไม ก็ไปทำความเข้าใจกันจะดีกว่าไหม เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในความสัมพันธ์ที่เราต้องอยู่กับมันทุกวันไปอีกหลายสิบปี ไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้ามเลย ยกเว้นแต่ว่าเราพยายามทำความเข้าใจแล้ว แต่เข้าใจไม่ได้ เราอาจขาดทักษะ เช่น อาจจะฟังไม่เป็น หรือสื่อสารไม่เป็น” 

LIPS: คำถามจากทางบ้านคือ ไปงานแต่งงานกับเพื่อนสนิท แล้วบ่นกับเพื่อนว่าไม่อยากอยู่เลย ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม เหนื่อย แล้วเพื่อนก็ยื่นของชำร่วยให้บอกว่า ‘กระเป๋าเล็ก ใส่ไม่ได้ ฝากหน่อยนะ แล้วก็ลงรถไปดูคอนเสิร์ตต่อ เขาเล่าว่าวินาทีนั้นรู้สึกว่าพื้นหายไปเลย 

“เพื่อนไม่ได้ฟังแต่แรกแล้ว ก็เลยหาจุดเชื่อมโยงไม่ได้ หรือเป็นไปได้ว่ากังวลกับตัวเองอยู่เลยหันมองคนอื่นน้อย เลยทำให้เราไม่ได้เห็นสิ่งที่อยู่เบื้องลึกเบื้องหลังในใจคนอื่น และมองไม่เห็นสิ่งนั้นในตัวเองด้วย”  

LIPS: คำถามคือเขาควรจะมีหลักวิธีหรือแก่นอะไรที่จะช่วยพาตนเองให้พ้นจากความมืดไปสู่แสงสว่างได้ในเวลาที่รู้สึกย่ำแย่มาก ๆ 

“การเชื่อมโยงกับตัวเองและรู้เท่าทันตัวเองเป็นอันดับแรก ๆ ที่ควรทำแม้เราจะเจ็บหรือเคว้ง ถ้าเราเข้าใจว่ามันคือความรู้สึกและเป็นสภาวะหนึ่งของตัวเรา แม้ว่าเราจะไม่ชอบสภาวะนี้เลยก็ตาม แต่ให้รู้ไว้ว่าอารมณ์และสภาวะเป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา เห็นตัวเราใหญ่กว่าอารมณ์และสภาวะ แต่ส่วนใหญ่คนมักจะเห็นความเศร้าใหญ่กว่าตัวเอง ลองจินตนาการว่าสภาวะอยู่ในตัวเรา เป็นแค่สิ่งหนึ่งในตัวเรา เราดีลกับมันได้ แต่บางสภาวะก็ไม่ง่าย มันทำให้เรารู้สึกตัวเล็กจิ๋ว 

“พอเรารู้ว่าตัวเราอยู่ตรงนี้ หาที่ให้ตัวเอง หาพื้นให้ตัวเองยืนหรือหาที่ให้ตัวเองพิง หรือหาอะไรจับไว้หน่อย สมัยก่อนเราถูกสอนให้เอาศาสนาเป็นที่พึ่งพิงในกรณีที่รู้สึกว่าพื้นหาย แต่ยุคนี้ตัวเลือกเราเยอะขึ้น ไม่ได้มีแค่ศาสนา บางคนถ้าไม่ไหวก็พิงเพื่อน ครอบครัว งานอดิเรก ธรรมชาติ เวลาส่วนตัว หรืออะไรสักอย่างที่ทำให้รู้สึกปลอดภัย ถ้านึกไม่ออกว่ามีที่ไหนที่เรารู้สึกปลอดภัยและอยู่กับปัจจุบันในโลกใบนี้ได้ ให้เอามือจับแขนตัวเอง เรายังอยู่นะ กลับไปเชื่อมโยงกับร่างกายและการอยู่ ณ ปัจจุบันขณะ กลับมารู้ตัว นั่นคือที่ที่เราจะอยู่ได้”  

LIPS: มีข้อถกเถียงกันว่า มีคำที่ไม่ควรพูดกับคนที่มีภาวะป่วยไข้ทางจิต เช่น คำว่า ‘สู้ ๆ นะ’ เพราะจะทำให้คนที่ป่วยทางใจรู้สึกว่าถูกผลักให้สู้เพียงลำพัง คุณคิดเห็นอย่างไรในเรื่องที่ว่ามีคำที่ไม่ควรพูดจริง ๆ หรือจริง ๆ แล้วพูดได้หมด 

“คนที่ไม่เคยเป็นซึมเศร้าก็คงไม่รู้ว่ารู้สึกอย่างไร ซึ่งก็ถูกต้องแล้วที่ไม่รู้ เรื่องนี้มองเป็นสองฝั่ง คือฝั่งคนพูด เขามีสิทธิ์จะพูดอะไรก็ได้ แต่จะบอกว่าสำหรับคนที่ฟัง มันเกิดความรู้สึกแย่มากได้จริงๆที่อีกฝั่งอาจจะนึกไม่ออกว่ามันเซนซิทีฟอย่างไร ในแต่ละวันที่เขาพยายามตื่นขึ้นมา พยายามพาตัวเองออกมาพบเจอคนอื่นหรือใช้ชีวิต เขาต้องใช้พละกำลังมากขนาดไหน ตัวเราสอนเรื่องการสื่อสารเพื่อการประคับประคองจิตใจ ก็มักจะบอกว่าเวลาที่เราอยากให้กำลังใจใครอย่าใช้คำที่เป็นการเชียร์กีฬา เพราะนั่นมีปลายทางชัดเจน มีกติกาชัดเจน เป็นเรื่องเกี่ยวกับร่างกาย คนฟังจะรู้ว่าต้องใช้แรงแบบไหนในการสู้ให้ถึงปลายทาง ฉะนั้นเวลาเราพูดว่า ‘สู้ ๆ นะ’ ‘ลุยเลย’ ก็จะเป็นคำที่เหมาะกับการเชียร์กีฬา แต่ถ้าเรามาพูดกับคนที่เป็นซึมเศร้า เขาจะรู้สึกว่าเขาก็สู้อยู่ทุกวันแล้วนะ แต่ไม่รู้ว่าต้องสู้ไปถึงไหน เขาไม่รู้จุดหมายปลายทางว่าจะสิ้นสุดเมื่อไร แล้วต้องใช้แรงแค่ไหน 

“คำที่ใช้เชียร์กีฬาจึงไม่ฟังก์ชันเลยกับอาการซึมเศร้า แม้ว่าคนพูดจะเจตนาดีมาก อยากให้คนฟังรู้สึกดีขึ้นจริง ๆ ก็ตาม วิธีประคับประคองจิตใจคือให้มองเห็นสภาพจิตใจของเขา จับถึงสภาวะของเขา ทำแค่นี้โดยไม่ต้องพูดเสียยังดีกว่า หรือถ้าจะพูดก็ให้พูดราวกับเราคงจินตนาการไม่ออกว่าเขารู้สึกอย่างไร แต่เราพร้อมจะซัพพอร์ตเขา เขาไม่ได้อยู่คนเดียว เขาไม่ได้เล่นกีฬาอยู่ เขากำลังจัดการกับภาวะจิตใจที่มันยากมาก ๆ”  

LIPS: เราควรปฏิบัติตนอย่างไรเมื่อมีคนใกล้ตัวที่มีปัญหาทางใจมาก ๆ เช่น บางคนพยายามช่วยแก้ปัญหา แต่ก็มีคนแนะนำว่าจริง ๆ ไม่ต้องทำอะไร แค่รับฟังก็พอ หรือบางคนใช้วิธีพาไปทำกิจกรรมอย่างอื่นให้ลืม ๆ ปัญหาไปเสีย หรือหาหมอดู ฯลฯ 

“อะไรที่เวิร์กกับตัวเองก็ได้หมด หมอดูก็ได้ แต่การตัดสินใจต่าง ๆ ต้องมาจากตัวเอง ไม่ใช่เพราะคนนั้นคนนี้บอกให้ทำ คนอื่นก็พูดจากจุดที่เขาอยู่ เขามีฐานข้อมูลของเราแค่บางส่วน แต่ฐานข้อมูลทั้งหมดของตัวเราอยู่ที่เรา และเป็นเราที่ต้องหยิบมันขึ้นมาพิจารณาควบคู่กับคำแนะนำของคนอื่น การที่เราไปตั้งคำถามกับหมอดูก็ทำให้เราได้ยินสิ่งที่ตัวเรากังวลได้เหมือนกัน และช่วยสร้างทางเลือกได้ แต่ไม่ควรจะเป็นเครื่องชี้นำทั้งหมดของชีวิต

“คนที่รักตัวเองในบางวันเขาก็อาจจะเคว้งคว้างสับสนได้ ไม่ได้หมายความว่าในชีวิตเขาจะไม่ประสบกับภาวะทุกข์ระทมอีกแล้ว บางจุดเราก็ต้องการซัพพอร์ต นั่นเป็นปกติมาก เพราะมนุษย์เราโตด้วยตัวเองไม่ได้ เวลามีคนมาถามหาซัพพอร์ตจากเรานั่นดีกว่าเขาไม่ร้องขอความช่วยเหลือจากใครเลย สุดท้ายก็ดีลไม่ได้ มันจะมีวันที่เราดีลด้วยตัวเองไม่ได้ แล้วถ้าเราไม่เอื้อมมือไปขอซัพพอร์ตจากคนอื่นเลย เราก็ไม่ได้รักตัวเองนะ เราจะให้ตัวเองงมอยู่ในดงปัญหาทำไม ปัญหาก็ซับซ้อนมากล้นอยู่แล้ว” 

LIPS: ถ้ารู้สึกว่าคนใกล้ตัวมีปัญหาทางจิต หรือเราไม่รู้ว่าช่วยเขาได้อย่างไรและอยากให้เขาไปพบผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักบำบัดหรือจิตแพทย์ แต่ตัวเขารู้สึกว่าเดี๋ยวก็หาย เราจะมีวิธีเชื้อชวนเขาให้ไปรับการรักษาหรือเข้าสู่กระบวนการบำบัดได้อย่างไร

“นี่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยมากว่าแล้วจะให้พูดอย่างไรดี อย่างสถานการณ์นี้เรามักจะไปโฟกัสที่ทางแก้ เช่น เธอต้องไปหาหมอนะ เราไปบอกวิธีการเขา แต่สิ่งที่วิเศษมากที่ควรพูดออกมาคือสิ่งที่อยู่ในใจเรา คนอาจไม่ชอบให้ใครมาบอกว่าเธอต้องทำนั่นทำนี่ สิ่งที่งดงามคือถ้าเราเจอคนที่เราไม่รู้จะปลอบใจเขาอย่างไรดี เราเป็นห่วงเขามาก อยากให้เขาดีขึ้นจริง ๆ แต่ไม่แน่ใจว่าเราจะทำได้ดีหรือเปล่า เรากลัวว่าถ้าเราพูดอะไรออกไปแล้วจะทำให้เขารู้สึกแย่ลง นั่นคือสิ่งที่เราควรพูดให้เขาได้ยิน เราพูดสิ่งที่อยู่ในใจตรง ๆ ได้ด้วยความหวังดี แต่อย่าไปบอกให้เขาทำอะไร เพื่อนอาจจะบอกว่างั้นไม่ต้องพูดอะไร ฟังไปเงียบ ๆ เราก็จะได้รู้ว่าเพื่อนอยากให้เราฟังเฉย ๆ พอ ถ้าเขาอยากหาทางออก เราค่อยลองเสนอว่างั้นไปพบผู้เชี่ยวชาญกันไหม เธอว่ายังไง รู้สึกอย่างไรกับการไปพบหมอ 

“ปัญหาทางความรู้สึกต้องใช้ความรู้สึกเข้าหา ไม่ใช่เอาวิธีแก้ 1 2 3 4 ไปสื่อสารกับเขา มันพลาดได้ง่ายมากถ้าทำแบบนั้น เพราะทางออกที่เราคิดว่าดีอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ แล้วเดี๋ยวก็จะโกรธกันอีก ฉันบอกแกแล้วให้ทำแบบนี้ ทำไมไม่ทำตามที่บอก แต่เราทำเพราะเราแคร์ เราเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ”  

LIPS: เมื่อเร็ว ๆ นี้มีกระแส Nepo Babies สื่อทรงอิทธิพลอย่างนิตยสาร New Yorker ตีพิมพ์บทความยาว ว่าด้วยเรื่องที่คนในวงการบันเทิงเต็มไปด้วยลูกหลานคนดังมากมาย ทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ สื่อต่าง ๆ และโลกโซเชียลช่วยกันขุด Nepotism หรือระบบเกื้อหนุนคนใกล้ตัวหรือเครือญาติในแวดวงต่าง ๆ ในขณะที่คนรุ่นก่อนมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่คน GEN Z รู้สึกหัวใจสลายเหมือนโดนหักหลัง เนื่องจากพวกเขาโตมากับความเชื่อใน Meritocracy การที่คน ๆ หนึ่งใช้ความสามารถเพื่อสร้างความสำเร็จให้กับตัวเอง หรือ ‘ใครดีใครได้’ (ดีในที่นี้หมายถึงความสามารถ ใครเก่ง คนนั้นก็ชนะ) นอกเหนือไปจากความเก่ง ความสามารถ ความสำเร็จแล้ว คุณคิดว่าโลกต้องการคุณสมบัติใดมากเช่นกัน หรืออาจจะสำคัญมากกว่าความเก่งทั้งหลายด้วยซ้ำ 

“การยอมรับความเป็นจริงว่าการไปถึงความสำเร็จมีหลายเส้นทางมาก และหลาย ๆ เส้นทางก็ค่อนข้างน่ารังเกียจ มันทำให้เรารู้สึกว่าโลกนี้เต็มไปด้วยความอัปลักษณ์น่าเกลียดเต็มไปหมดเลย แต่โลกก็เป็นแบบนั้นแหละ มันมีสิ่งอัปลักษณ์ สิ่งที่เรารังเกียจ ก็เกลียดมันไปเลย ไม่เป็นไร ถ้าคุณเกลียดระบบอุปถัมภ์ซึ่งมันก็น่ารังเกียจจริง ๆ แล้วคุณไม่ได้มีเครือข่ายแบบนั้น คุณมองว่ามันไม่แฟร์เลย ใช่ มันไม่แฟร์เลย เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าโลกนี้มีความยุติธรรมอยู่จริงหรือเปล่า ถ้าเราควบคุมไม่ได้ เราก็มองเห็นมันและรู้สึกเจ็บปวดกับมัน ชีวิตมีเรื่องที่คุณต้องเจ็บปวด มันไม่ได้เรียบลื่นเหมือนผ้าไหม แต่ถ้าในอนาคตที่คุณจะมีพื้นที่ที่คุณมีอำนาจควบคุม ก็ทำให้มันแฟร์ ทำสิ่งที่คุณควบคุมได้และทำอย่างที่คุณต้องการจะให้มันเป็น”

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม