Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

นักกู้ชีพแบรนด์ฝีมือดีแห่งยุค Daniel Lee เดบิวต์คอลเลกชันแรกที่ Burberry

Autumn/Winter 2023 จากความคลาสสิกสู่แฟชั่นสุดชิก
Fashion / Style File
Photo: Simbarashe Cha for The New York Times

พอกันทีกับความเป็นผู้ดีอังกฤษในยุคของครีเอทีฟไดเร็กเตอร์คนเก่าทั้งสอง Christopher Bailey และ Riccardo Tisci ที่ทำให้ชื่อ Burberry ค่อยๆจมหายไปจากการรับรู้ของผู้คน โจทย์ใหญ่ของหัวเรือคนใหม่ Daniel Lee ที่เคยฝากผลงานระดับ SOLD-OUT แรงๆทุกซีซั่นที่ Bottega Veneta จึงเรียบง่ายมากแค่ว่า ‘จงทำแบบนั้นให้ได้อีกที่ Burberry’

Daniel Lee Burberry

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วที่ลอนดอนแฟชั่นวีกจะอยู่ในเรดาห์วงการแฟชั่นโลก ทว่าคอลเล็กชั่นประเดิมของแดเนียล ลี ซึ่งพา Burberry กลับมาเปิดโชว์ที่บ้านเกิดเมืองนอนในอังกฤษได้อีกครั้งทำให้ลอนดอนแฟชั่นวีกคึกคักยิ่ง แม้จะไม่มีนางแบบสายโซเชียลอย่าง Bella Hadid หรือ Kendall Jenner แต่ ‘ไบรท์-วชิรวิชญ์ ชีวอารี’ แบรนด์แอมบาสเดอร์คนแรกประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตอนใต้และการระดมเสิร์ชชื่อครีเอทีฟไดเร็กเตอร์คนใหม่จากผู้บริโภคชาวเอเชีย ก็ช่วยโหมกระพือความฮือฮาให้คอลเล็กชั่นเดบิวต์ของแดเนียลที่ Burberry ได้ดีเยี่ยม

New Era, New Colour

สีคือสิ่งที่ช่วยให้คนจดจำแบรนด์ได้ดี เหมือนกับสมัยอยู่ Bottega Veneta ที่แดเนียลใช้สีเขียวแจ่มซ้ำๆ ให้คนเห็นย้ำๆ จนเหมือนโดนสะกดจิต เขาใช้ทริกนั้นที่ Burberry ด้วยการเลือกสีน้ำเงินอิเล็กทริกสดแจ่มมาเป็นโลโก้ของแบรนด์ ซึ่งดึงเอารูปอัศวินขี่ม้าพร้อมธงปักคำภาษาละติน ‘Prorsum’ ที่แปลว่า เคลื่อนไปข้างหน้า มรดกเก่าของแบรนด์ในปี 1909 ซึ่งคริสโตเฟอร์ เบลีย์เคยใช้กลับมาเป็นโลโก้หลักอีกครั้ง รวมทั้งใช้พาเล็ตต์สีสดๆ เช่น สีเหลืองอมส้มดอกดาวเรือง สีเขียวหม่นและสีม่วง ที่สำคัญคือกำจัดลายโมโนแกรมเก่ารูปตัว B ออกไป แล้วเปลี่ยนเป็นลายโมโนแกรมหงส์ที่เหมือนตัว b กลับด้านที่ดูถูกใจวัยรุ่นกว่าเยอะ

Welcome English Raose

หนึ่งในสัญลักษณ์ความเป็นอังกฤษที่แดเนียลหยิบมาบอกโลกก็คือ กุหลาบอังกฤษ ที่เขาบอกผ่านลายสกรีนกุหลาบสีน้ำเงินบนสเว็ตเชิ้ตว่า ‘A Rose Isn’t Always…Red’ ที่ตามมาด้วยลายกุหลาบสีที่คนน่าจะแหยะ แต่ก็รู้สึกเอ๊ะ! เช่น สีม่วงและสีน้ำตาล

Checkmate, Baby

ลายหมากรุกหรือลายสก็อตสีเบจเป็นหนึ่งในสิ่งที่โดนก็อปปี้ไปทั่วโลกมานานหลายสิบปี ขนาดเอเลียนเห็นยังรู้เลยว่า อ๋อ ลาย Burberry แต่แดเนียลไม่ได้วางลายตรงๆซื่อๆ แค่ตะแคงให้มันดูเฉียงๆหน่อย ดูขวางโลกแบบพังก์ซึ่งก่อกำเนิดในอังกฤษในช่วงยุค 1960 ขยายลายให้ใหญ่ขึ้น แล้วก็ใส่มันจากหัวจรดเท้าไปเลยสิน่ะ อีกนัยหนึ่งลายหมากรุกก็เป็นภาพจำของแฟชั่นดีไซเนอร์อังกฤษที่โลกรู้จักมากที่สุดคนหนึ่ง และนางก็เป็นมารดาแห่งพังก์ด้วย Vivienne Westwood ผู้จากไปเมื่อ 29 ธันวาคมปีที่แล้ว

Bags & Shoes Hunting

กิจกรรมล่าสัตว์ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่แสดงถึงความเป็นอังกิ๊ด อังกฤษ ซึ่งแดเนียลดึงมาใช้ในรูปของกระเป๋าน้ำร้อน กระเป๋าทรงแมสเซนเจอร์ใบบึ้ม หมวกเฟอร์ (ปลอม) และหางสุนัขจิ้งจอก (ปลอม) รองเท้าเดินป่า บู๊ตลุยฝน รองเท้าแต่งดอกกุหลาบนั่น! และหมวกไหมพรมถักรูปหัวหงส์อีกแน่ะ! ไอเท็มที่ยั่วทำเป็นมีมชัดๆ

Twisted Trench

ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ทั้งสองคนก่อนหน้านี้โฟกัสที่เทรนช์โค้ต เล่าตำนานผ้ากันน้ำการ์บาดีน เอกลักษณ์ของ Burberry ว่าเกิดขึ้นในช่วงสงคราม บลา บลา บลา แต่มันขายได้ในภูมิประเทศที่ฟ้าไม่เป็นสีเทาตลอดปีเหมือนที่อังกฤษหรือ…ก็เปล่า แดเนียลเปลี่ยนมันให้เป็นไอเท็มต่างๆ ที่ยังคงลักษณะบางอย่างของเทรนช์โค้ตผ้าการ์บาดีนที่เราคุ้นเคย เช่น เดรส แจ็กเก็ต หรือจั๊มป์สูท เท่านี้ก็เตรียมขายได้ในหมู่ลูกค้าที่เด็กลงละ

พอจะเปลี่ยนใจเป็นสายบริติชได้ไหม?

Words: Suphakdipa Poolsap

ข้อมูลจาก:

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม