Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

ฮีลใจกับความคาดหวัง (ปนระแวง) หลังเลือกตั้งกับนักจิตวิทยา ‘ธิติภัทร รวมทรัพย์’

Interview / Professional
โดม-ธิติภัทร รวมทรัพย์ นักจิตวิทยาและนักศึกษาปริญญาโท สาขา Art Psychotherapy ที่ Goldsmiths, University of London

ก่อนเลือกตั้งฟังดีเบตก็เครียดใจตุ๊มต่อมว่า สส.ที่รักจะได้เข้าสภาไหม พรรคที่ใช่จะเป็นผู้ชนะหรือไม่ หลังเลือกตั้งก็ยังไม่คลายใจกับการจับขั้วผสมพรรคตั้งรัฐบาล สถานการณ์การเมืองไทยที่ขึ้นลงเช่นนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับสภาพจิตใจประชาชน

โดม-ธิติภัทร รวมทรัพย์ นักจิตวิทยาและนักศึกษาปริญญาโท สาขา Art Psychotherapy ที่ Goldsmiths, University of London ซึ่งโพสต์เรื่องราวสุขภาพจิตให้เป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ใกล้ตัวขึ้นผ่านเพจ he, art, Psychotherapy ชวนประชาชนลงนั่งพูดคุยกับตัวเองโดยตั้งต้นจากความรู้สึก ไม่ว่าจะสมหวัง ผิดหวัง แค้น ดีใจ กลัว หรือใดใดที่มีผลมาจากการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ปี 2023

LIPS: มองการเมืองไทยในมุมนักจิตวิทยาแล้วเห็นอะไรบ้าง

ธิติภัทร: “เห็นความตื่นตัวของทุกคน ผมคิดว่าผลการเลือกตั้งทำให้คนทุกฝ่ายรู้สึกช็อกมาก ไม่มีใครคาดคิดว่าก้าวไกลจะมาเป็นที่ 1 ผมมองว่า mindset ของพรรคค่อนข้างยืดหยุ่น ไม่ได้ยึดเป้าว่าต้องเป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาล เขาสามารถเป็นฝ่ายค้านได้ถ้าไม่ได้เงื่อนไขตรงกับที่เขาวางไว้ ผลการเลือกตั้งสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะประเด็นที่พรรคก้าวไกลชูขึ้นมาและพยายามรณรงค์ ถ้ามองย้อนกลับไปก็เป็นประเด็นที่แหลมคมและได้รับการต่อต้าน และปัจจุบันเขายังชูเรื่องนี้อยู่ เมื่อดูจากผลตอบรับของสังคมก็สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการหรือวิธีคิดของคนกลุ่มใหญ่มากๆ ในสังคม

“ผลการเลือกตั้งสะท้อนหลายอารมณ์ของผู้คน ทั้งความอัดอั้น อึดอัด สิ้นหวัง ตั้งแต่อนาคตใหม่จนถึงก้าวไกล ผมคิดว่าพรรคนี้เข้ามาให้ความหวังแก่คน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ถ้ามองช่วงเวลาตั้งแต่รัฐประหารจนถึงหมดสมัยรัฐบาลล่าสุดก็กินเวลาไป 8-9 ปี แปลว่าถ้าเป็นเด็กอายุ 10 ขวบ ก็กินเวลาตั้งแต่ช่วงเด็กจนถึงวัยรุ่นเลย กินช่วงเวลาไปเยอะ เกินครึ่งชีวิตของเขาที่ต้องอยู่ภายใต้บรรยากาศแบบนี้”

LIPS: คิดว่าจะส่งผลอย่างไรต่อเด็กที่โตมาในบรรยากาศแบบนี้ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา

ธิติภัทร: “ผมคิดว่าด้วยความเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้นผ่านอินเทอร์เน็ตทำให้เกิดการปะทะกันของความคิด ในชีวิตจริงเขาอาจอยู่กับเพื่อนที่คิดเห็นเหมือนกัน ขณะเดียวกันเขาก็อยู่กับผู้ใหญ่ที่คิดเห็นต่างกัน ซึ่งโดยมากผู้ใหญ่มีอำนาจเหนือกว่าอยู่แล้ว เช่น เป็นผู้ปกครอง ญาติ ครู ซึ่งทำให้เด็กเถียง แสดงออกหรือสื่อสารได้ไม่เต็มที่ด้วยความที่อำนาจไม่เท่ากันในชีวิตจริง เหมือนได้รับข้อมูลมาอย่างหนึ่งว่าอะไรดี-ไม่ดี อะไรควร-ไม่ควร แต่ในอินเทอร์เน็ต เขาได้รับข้อมูลอีกชุดหนึ่ง จึงเกิดการปะทะกันของความคิด”

LIPS: ระหว่างการหาเสียง ประชาชนรู้สึกมีความหวังขึ้นมาว่าชีวิตจะดีขึ้น อนาคตดูมีแววผ่องอำไพ ได้กลิ่นความเจริญ ‘ความหวัง’ ส่งผลอย่างไรต่อตัวเรา

ธิติภัทร: “คำถามที่ว่าความหวังดีต่อเราหรือเปล่า ผมคงตอบแทนทุกคนไม่ได้ แต่อยากชวนทุกคนสำรวจหรือตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าเราใช้ชีวิตอย่างไม่มีความหวัง มันส่งผลต่อเราอย่างไร หรือเราใช้ชีวิตอย่างมีความหวัง มันส่งผล อย่างไร ลองดูความแตกต่างในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนหรือเรื่องใดๆก็ตาม หรือในเรื่องการเมือง ลองถามตัวเองว่า การที่เรามีความคาดหวังในเรื่องการเมือง มันส่งผลต่อเราอย่างไร คำตอบแต่ละคนไม่เหมือนกัน

“เราอาจจะมีความกังวลหรือกลัวว่า เมื่อคาดหวัง แล้วถ้าผิดหวังล่ะ เราจะเป็นอย่างไร นี่คือการชวนให้สำรวจความคิดและคุยกับตัวเอง เช่น ถ้าเราคาดหวัง แล้วเราคาดหวังอะไร ถ้าเราคาดหวังให้นักการเมืองทำตามนโยบาย แล้วถ้าเขาทำไม่สำเร็จล่ะ จะเป็นอย่างไร หรือถ้าเขามีนโยบาย 300 ข้อ แล้วเขาทำสำเร็จ 200 ข้อ หรือ 10 ข้อ เราจะรู้สึกอย่างไร ลองสำรวจความคาดหวังและความผิดหวังของแต่ละคน ลองดูธงในใจตัวเองก่อนให้ชัดเจนว่า ความคาดหวังของเราอยู่ตรงไหน ตรงไหนที่จะไปแตะข้ามเส้นความผิดหวังของเรา

“เรื่องคาดหวังมีอีกประเด็นหนึ่ง เวลาผมทำเซสชั่นให้คำปรึกษาจะมีการพูดคุยกัน มีบางครั้งที่คนมาคุยเรื่องความผิดหวัง เราค่อยๆสำรวจลึกลงไปก็พบว่า ในหลายๆครั้ง ความคาดหวังบางทีก็ทำให้เรารู้สึกผิดหวังหรือเจ็บปวด นั่นอาจเป็นเพราะ ความคาดหวังของเราไม่ได้ตั้งอยู่บนความเป็นจริง เช่น มีคนอยากลดน้ำหนักแล้วทำไม่สำเร็จ รู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว ตั้งเป้าไว้แล้วทำไม่ได้ ผมจะถามต่อว่า ลองเล่าหน่อยว่าที่ทำไม่สำเร็จเป็นอย่างไร เขาน้ำหนัก 80 กิโลกรัม ไม่ได้ออกกำลังกายหรือคุมอาหารเลย เป้าหมายที่เขาตั้งคืออยากลดให้เหลือ 50 กิโลกรัมภายใน 2 เดือน มันคือเป้าหมายที่อาจเกิดขึ้นได้จริงกับการรลดน้ำหนักก 30 กิโลกรัมใน 2 เดือน แต่ถ้าลองประเมินจริงๆ ความเป็นไปได้อาจจะยากมาก ต้องใช้ความพยายาม พลังกายและพลังใจที่สูงมาก ฉะนั้นเราต้องประเมินกันก่อนว่า เป้าหมายที่เราตั้งไว้ยึดโยงกับความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน

“ถ้าเป็นคนที่เชียร์ก้าวไกลและคาดหวังว่าจะได้นโยบายต่างๆตามที่พรรคหาเสียงไว้ ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่ใหญ่และมีหลายปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ในเรื่องการผ่านกฎหมายต่างๆ พรรคร่วมหลายๆพรรคอาจมีจุดยืนต่างกัน บางพรรคบอกว่าแก้ บางพรรคบอกว่าพูดคุยกันได้ เราก็ต้องดูว่าวิธีการแก้ไขพูดคุยเป็นอย่างไร หรือนโยบายเรื่องสุขภาพจิต บางพรรคบอกว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญดูแลสุขภาพจิตของเด็ก ต้องประเมินตัวเราก่อนว่าเราสามารถคาดหวังได้แค่ไหน เช่น เราตั้งความหวังว่าพรรคการเมืองควรทำนโยบายได้ทั้ง 300 ข้อตามที่หาเสียงไว้ ก็ไม่แปลก เพราะเขาหาเสียงไว้แบบนั้น แต่ถ้าเราจะผิดหวังหากเขาทำไม่ได้ ก็ไม่แปลกอีกเช่นกัน อยู่ที่ว่าเราจะจัดการกับความผิดหวังนั้นได้อย่างไร และเราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากความผิดหวังที่เกิดขึ้น

LIPS: แล้วเราจะรับมือกับอาการผิดหวังกับผลการเลือกตั้งอย่างไร

ธิติภัทร: “เรื่องความผิดหวังที่เกิดขึ้น ถ้าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ได้ เช่น เราคาดหวังให้พรรคที่เราเลือกชนะ แต่ผลไม่ได้เป็นแบบนั้น และกกต.รับรองไปแล้วว่าใครคือผู้ชนะ แปลว่าผลเปลี่ยนไม่ได้แล้ว และเราต้องยอมรับผลนั้น ลองมองความรู้สึกตัวเองโดยไม่ต้องมองความรู้สึกใดว่าไม่ดี ทุกความรู้สึกเกิดขึ้นได้ เราเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันได้ ความรู้สึกเป็นเหมือนคำใบ้ให้เราได้ทำความเข้าใจว่า เราคิดอย่างไร มีทัศนคติอย่างไร มีมุมมองอย่างไร ถ้าเราพูดคุยกับตัวเองโดยตั้งต้นจากความรู้สึกแล้วคุยไปเรื่อยๆ จะทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของตัวเองมากขึ้น

“ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นคนที่เชียร์รัฐบาลชุดเก่า ตอนนี้ก็อาจผิดหวังที่ผลการเลือกตั้งออกมาว่าแพ้ ลองดูว่าในความผิดหวังนี้ มันมีอะไรบ้าง เพราะเวลาเราพูดถึงความรู้สึก ในหลายๆครั้งไม่ได้มีแค่ความรู้สึกเดียว ความผิดหวังนี้อาจผสมไปด้วยความกลัว ความกังวล ความเครียดด้วยหรือเปล่า เรากลัวอะไร กลัวว่าเกษียณไปแล้วจะไม่มีบำนาญหรือเปล่า กลัวว่าเด็กจะไม่ไหว้ผู้ใหญ่แล้วหรือเปล่า ลองสำรวจดูว่าเรากลัวอะไร

“พอเราเจอชุดความคิดเหล่านี้ว่าคือสิ่งที่ทำให้เรากลัว เราเจอมันละ ลองไปสำรวจความคิดหรือทัศนคติต่างๆว่ามันอยู่บนความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน และเราทำอะไรได้บ้าง เช่น เราเป็นทหารยศผู้ใหญ่ สูงวัยแล้ว พรรคก้าวไกลหาเสียงไว้ว่าจะลดจำนวนนายพล และเราอยู่ในตำแหน่งนั้นก็อาจจะเครียด กลัว ผิดหวังว่าเรากำลังจะก้าวไปสู่ตำแหน่งนั้น แต่ตอนนี้ก็อาจจะไม่ได้แล้ว ซึ่งนี่คือความจริงที่ว่าเขาหาเสียงไว้แบบนั้นจริงๆ เรารู้ละว่าเรากลัวเรื่องนี้เอง แล้วก็ลองถามตัวเองต่อว่า ถ้าเราไม่ได้เป็นนายพล จะเกิดอะไรขึ้น เรากลัวอะไรกับการที่จะไม่ได้เป็นนายพล เช่น เราจะกังวลเรื่องรายได้ เรื่องยศ อำนาจ สวัสดิการ ฯลฯ”

LIPS: ย้อนกลับไปช่วงหาเสียง การดูดีเบตของนักการเมืองมีการตีแผ่ทุจริต รวมไปถึงโอกาสที่สูญเสียไปของประชาชน ทำให้เกิดความรู้สึกโกรธ ผิดหวัง เสียใจ เครียด เราจะรับมือกับข้อมูลชุดใหม่หรือ ‘เรื่องเล่าใหม่’ เช่นนี้ได้อย่างไร

ธิติภัทร: ข้อแรก ลองดูความรู้สึกของตัวเองก่อนว่าพร้อมแค่ไหนที่จะรับข่าวสารข้อมูล ขีดจำกัดเราอยู่ตรงไหน สมมติว่าประเมินแล้วว่าตัวเองไม่โอเค การไม่รับข้อมูลข่าวสารก็อาจเป็นผลดีต่อตัวเรามากกว่า หรือการรับข้อมูลมากจนตัวเองเครียดเกินไปก็คงไม่ดี ฉะนั้นลองประเมินตัวเองก่อน เพราะบางทีเราดูข่าวจบ แต่ความคิดเรายังไม่จบแค่นั้น เราเอามาคิดต่อ นอนไม่หลับก็จะกระทบต่อหลายๆเรื่อง เช่น ประสิทธิภาพในการทำงาน

“สอง เมื่อได้รับรู้ข้อมูลมาแล้ว มันคือความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว แต่เราอาจไม่รู้มาก่อน ให้ดูว่าเราจะทำอย่างไรกับข้อมูลหรือความรู้ใหม่ที่เราได้รับมามันอาจทำให้เรารู้จัก เห็นหรือเปลี่ยนมุมมองของเราต่อพรรคการเมืองหนึ่ง ต่อคนคนหนึ่ง ต่อคนกลุ่มหนึ่ง หรือต่อระบบหนึ่ง เรานำข้อมูลนั้นมากลั่นกรองเพื่อเรียนรู้ เรารับรู้ว่าพรรคนี้หรือคนนี้ทำแบบนี้ ระบบนี้ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ แล้วเราประเมินว่าเรายังโอเคอยู่นะ ก็ไม่ต้องทำอะไร หรือถ้าเราไม่โอเค แล้วเราทำอะไรได้บ้าง มีตัวเลือกอะไรให้เราเลือกได้บ้าง เช่น เรามีทางเลือกว่าเราเลือกตั้งได้ เรามีสิทธิ์ 1 เสียง เราจะไปกาให้คนเดิมหรือพรรคเดิมที่ทำแบบนี้ หรือมีใครอื่นอีกไหมที่เสนอว่าจะเปลี่ยนหรือทำให้ระบบดีขึ้น แม้ว่าระบบจะใช้เวลานานในการเปลี่ยนแปลง

“แต่ทางเลือกไม่ได้มีแค่ 1 อย่าง เช่น ไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง ตอนนี้มีโซเชียลมีเดียแล้ว เราสามารถส่งเสียงของเราทางนั้นได้ มีหลายพื้นที่และหลายเวทีให้พูดคุย ฉะนั้น ลองหาทางเลือกของตัวเองดูว่าเรารับรู้ข้อมูลใหม่มาแล้ว เรารับรู้ว่าสิ่งนี้เกิดขึ้น แล้วเราทำอะไรได้บ้าง

“พอเราได้ชุดข้อมูลใหม่มาก็อาจจะนึกย้อนกลับไปเหตุการณ์เก่าๆ เช่น บางพรรคเคยหาเสียงไว้ว่าจะไม่เข้าร่วมกับรัฐบาลชุดที่แล้ว แต่สุดท้ายก็เข้าร่วม แล้วตอนนี้เรามีอำนาจในมือที่จะเลือกตั้ง นี่ก็คืออีกทางเลือกหนึ่งของเรา ก็จะเห็นได้ว่าเสียงของเราทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เลือกครั้งก่อนพรรคนี้ได้คะแนนเสียงมากกว่านี้ แต่เลือกตั้งครั้งนี้เขาได้คะแนนเสียงน้อยลง หนึ่งในนั้นอาจมาจากปัจจัยที่ว่าเพราะเขาไม่ได้ทำตามคำพูด หรือสิ่งที่พูดนั้นมาจากหัวหน้าพรรค และหัวหน้าพรรคก็ออกไปแล้ว มันทำให้คนรู้สึกว่าถูกหักหลัง”

LIPS: ในคลาส Sensitivity Training ที่มีเรื่องพลังของภาษากาย (Non-Verbal Language) ที่คุณเรียนมา ลองใช้ความรู้เรื่องนี้มองภาษากายของนักการเมือง เช่น บางคนก่อนจะตอบอะไรต้องสบตาคนในพรรคก่อน หรือบางคนยืนเดี่ยวๆ ไม่ต้องมีหมู่มวลยืนประกบหลังเป็นแผง แล้วตอบฉาดฉานได้เลย

ธิติภัทร: “ผมตอบจากตัวอย่างที่ยกมาให้ คือนักการเมืองหนึ่งคนที่ถูกถามคำถามแล้วเขาสามารถตอบได้ด้วยน้ำเสียงที่มั่นคงชัดเจนก็แสดงถึงความมั่นใจในสิ่งที่จะพูดออกมา ไม่ได้มีความลังเลว่าสิ่งที่จะพูดออกมานั้นถูกไหม จะใช่ไหม ส่วนอีกตัวอย่างคือนักการเมืองที่ก่อนจะตอบอะไรต้องสบตาคนอื่น ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความลังเล

“ผมเพิ่งดูการแถลงข่าวหลังจากพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดได้ไปหารือในการกินข้าวด้วยกันมา คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เป็นหัวโต๊ะและเป็นคนคอยจัดการให้นักข่าวคนนั้นคนนี้ถามคำถาม ภาษากายจะมีทั้งสีหน้าและโทนเสียง ซึ่งจะเห็นว่าเขามีความเปิดกว้าง มีการให้เกียรติคนอื่น ไม่ได้การยับยั้งห้ามไม่ให้ใครถาม แม้กระทั่งก่อนจะจบการแถลงที่เขาบอกว่าให้ถามอีก 2 คำถามสุดท้ายตามกำหนดการ เขาต้องควบคุมเวลา ก็จะเห็นว่าเขาไม่ได้ตัดจบ แค่นี้ครับ พอ แต่จะเห็นทั้งสีหน้าท่าทางว่าเขาไม่ได้ปฏิเสธ เขาอยากให้ถามนะ แต่คุณสามารถรอถึงวันที่ 22 ได้หรือเปล่า เพราะวันนี้เราต้องควบคุมเวลา ตรงนี้ช่วยสร้างบรรยากาศเชิญชวนให้ถาม ไม่ได้รู้สึกว่าถ้าถามแล้วจะโดนอะไรหรือเปล่า จะมีน้ำเสียงที่ไม่ดีกลับมาหรือเปล่า หรือจะมีสีหน้าแววตาที่แข็งขึ้นมาหรือเปล่า เพราะเขาตอบทุกคำถามด้วยความให้เกียรติและเคารพ

“ถ้าลองมองในเรื่องความสัมพันธ์ระดับบุคคลในชีวิตประจำวัน ลองสังเกตว่าท่าทางแบบไหนที่เรารู้สึกสบายใจเวลาไปพูดคุยกับคนอื่น เช่น เพื่อน หรือคนในครอบครัว ยกตัวอย่างเช่น เราถามอะไรบางอย่างกับแม่ แล้วแม่เสียงแข็งกลับมา หรือคุยไปทำอย่างอื่นไป ไม่ได้มองเรา หรือตอบเราแค่สั้นๆ เราจะรู้สึกได้ว่าเขาไม่ได้อยากคุยกับเรา เขาไม่ได้เปิดรับ ไม่ได้ตั้งใจฟัง ในขณะเดียวกันถ้าเราคุยกับใคร แล้วเขาวางมือจากสิ่งที่กำลังทำอยู่ หันหน้ามาคุยกับเรา สบตาหรือพยักหน้าไปด้วยขณะที่คุยกับเรา เราจะรู้สึกได้ว่าเขาตั้งใจฟังเรา ทำให้เรารู้สึกว่าเราสามารถพูดต่อไปได้ รู้สึกดีมากกว่าและกล้าที่จะใส่รายละเอียดในการพูดคุยมากขึ้น แต่ถ้าคุยกับใครแล้วเขาเล่นมือถือไปด้วย ตอบแค่อือๆ ไม่ได้หันหน้าสบตา บรรยากาศจะทำให้เรารู้สึกว่าไม่อยากเล่าลงรายละเอียด อีกฝ่ายไม่ได้สนใจเรา ไม่เป็นที่ต้อนรับ”

LIPS: อยากให้รัฐบาลสนับสนุนเรื่องสุขภาพจิตของทั้งบุคลากรที่ทำงานด้านนี้ในเมืองไทยและสุขภาพจิตของประชาชนอย่างไรบ้าง

ธิติภัทร: “ผมอยากให้รัฐบาลออกกฎหมายหรือมาตรการที่เป็นรูปธรรม เช่น ให้ทุกโรงเรียนมีนักจิตวิทยาประจำโรงเรียน สัดส่วนขึ้นอยู่กับจำนวนนักเรียน หรือในทุกบริษัทมีนักจิตวิทยาตามอัตราส่วนของจำนวนพนักงาน เช่น พนักงาน 300 คนต้องมีนักจิตวิทยา 1 คน เป็นต้น ตัวเลขต้องไปดูกันอีกที แต่ต้องมีตำแหน่งนักจิตวิทยาประจำบริษัท

“ผมหาข้อมูลมาในเรื่องสวัสดิการประกันสังคมครอบคลุมถึงการไปปรึกษานักจิตวิทยาหรือทำจิตบำบัดหรือไม่ ส่วนใหญ่ที่เบิกได้คือการพบจิตแพทย์และค่ายา และจากการไปถามรุ่นพี่และรุ่นน้องที่ทำงานในโรงพยาบาล คำตอบค่อนข้างคลุมเครือ บางคนบอกว่าเบิกได้ บางคนบอกว่าเบิกบัตรทองไม่ได้ ผมอยากผลักดันให้เรื่องนี้เป็นสวัสดิการถ้วนหน้าที่คนสามารถเบิกได้ในการพบนักจิตวิทยา ไม่ใช่แค่การพบจิตแพทย์และรับยาเท่านั้น แต่การไปปรึกษานักจิตวิทยาและการทำจิตบำบัดก็อยากให้รวมอยู่ด้วย

“ซึ่งจะส่งผลตามมาอีกปัญหาที่ซ้อนกันอยู่คือจำนวนบุคลากรไม่พอ ผมเห็นโพสต์ประกาศรับสมัครนักจิตวิทยาเยอะมาก แต่ได้เงินเดือน 9,000 – 12,000 บาท ถ้าเป็นนักจิตวิทยาคลินิกในเมืองไทยต้องมีไลเซนส์ ซึ่งก็ต้องไปเรียนปริญญาตรีจิตวิทยาคลินิก ต้องฝึกงานตอนเรียน พอเรียนจบก็ต้องเข้าโปรแกรม Internship คือเราไปสมัคร โดยเสียค่าสมัครหลักหมื่นเพื่อจะได้ถูกส่งตัวไปเป็น Intern ตามโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ แต่เราเลือกไม่ได้ เขาใช้วิธีการจับฉลากเอา สมมติเราจับได้เชียงใหม่ แต่เราอยู่กรุงเทพฯ โรงพยาบาลแต่ละแห่งรับ Intern ไม่ได้เยอะอยู่แล้ว ถ้าที่แรกเต็มก็ต้องไปที่อื่น

“Intern คือการทำงานตามเวลาราชการ 5 วัน ประมาณ 6 เดือน โดยไม่ได้เงินเดือน แปลว่าในช่วงเวลานี้เราจะไม่มีรายได้และไม่มีเวลาไปทำงานอย่างอื่นด้วย พอจบโปรแกรมม Intern ก็ต้องสอบข้อเขียน ถ้าสอบผ่านจึงจะได้ไลเซนส์มา

“ตรงนี้อยากจะชี้ให้เห็นว่า คนที่จะมาเป็นนักจิตวิทยาได้ ทางบ้านต้องมีฐานะประมาณหนึ่ง ฉะนั้นระบบนี้คัดคนออกไปเยอะมาก จริงๆแล้วคนอยากทำงานนี้เยอะนะครับ ตอนเรียนผมมีเพื่อนเรียนเยอะเลย แต่พอดูเส้นทางอาชีพแล้ว กว่าจะได้เป็น จบมารายได้ก็ไม่ดี หลายคนก็ลำบาก ไม่ได้จะใช้ชีวิตอู้ฟู่ได้ อย่างถ้าต้องไปเป็น Intern ที่ต่างจังหวัด อย่างน้อยต้องมีค่าหอ ค่ากินอยู่อีก รัฐบาลจะมาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้อย่างไรบ้าง เพราะเมื่อมีบุคลากรน้อย คิวรักษาก็จะยาว พอคนรู้ว่าต้องรอคิวเป็นเดือนก็ไม่เอาแล้ว คนก็จะเข้าไม่ถึงเรื่องสุขภาพจิต พอโรงพยาบาลรัฐคิวยาว ลองไปดูโรงพยาบาลเอกชน ก็แพง ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าถึงได้อีก

“ตอนนี้ผมฝึกงานอยู่ที่ลอนดอนและใกล้จะเรียนจบปริญญาโทแล้ว ความตั้งใจคือจะกลับไปทำงานที่เมืองไทย และเป้าหมายระยะยาว ผมอยากจะทำเรื่องการเข้าถึงการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนให้ง่ายขึ้นครับ”

Words: Suphakdipa Poolsap

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม