Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview / People

การค้นพบโลกภายในเมื่อออกเดินทางไกลของ ‘ชาลิสา วีรวรรณ’

นักเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านประสบการณ์ตรงยามชีพจรลงเท้า
Interview / People
MOUNT RINJANI

ภาพถ่ายธรรมชาติอันเวิ้งว้างทว่าดูลึกลับและงดงาม บ้างก็ครอปแคบด้วยมุมมองสุดแปลกตาในอินสตาแกรมของ นี – ชาลิสา วีรวรรณ อดีตโว้กเอดิเตอร์หรือที่เรารู้จักกันในนาม ‘MissV’ ปัจจุบันเธอเป็น Wellnes & Lifestyle Director ให้กับเทศกาล Wonderfruit และยังเป็นที่ปรึกษาด้านคุณภาพชีวิตแบบองค์รวม

ไอจีของเธอคือหนึ่งในไม่กี่แอ็กเคานต์ที่สามารถหยุดการเลื่อนผ่านของฉันได้แทบทุกโพสต์ โอกาสเรานี้จึงตัดสินใจเชิญเธอมานั่งพูดคุยถึงเรื่องราวเบื้องหลังภาพถ่ายเหล่านั้น ตั้งแต่การเรียนรู้ที่ตกผลึกจากการท่องโลกแบบที่ไม่มีเช็กลิสต์หรือการตั้งธงใด ๆ ทั้งยังไม่เคยตั้งใจที่จะออกเดินทางเพื่อค้นหาตัวเอง ทว่าในทางกลับกัน สิ่งเหล่านี้ได้หล่อหลอมตัวตนของเธอขึ้นมาอย่างเป็นธรรมชาติ และก่อให้เกิดปัญญาที่ลึกซึ้งจากประสบการณ์ที่เธอได้รับ

Mongolia
Mongolia

เมื่อให้สัมภาษณ์เสร็จ เธอส่งความรักให้กับฉัน เช่นเดียวกับที่เธอทำเป็นประจำกับทุกสรรพสิ่งที่พบเจอระหว่างเดินทาง นั่นคงเพราะบทสนทนาในช่วงเวลาหนึ่งก็เปรียบได้กับเส้นทางที่เราทั้งสองต่างโคจรมาเจอกัน ได้แวะพักพร้อมสำรวจความคิดและหัวจิตหัวใจพอสังเขป ก่อนจำต้องแยกย้ายกันไปและเหลือทิ้งไว้เพียงความทรงจำอันอบอุ่น  

LIPS: การออกเดินทางของคุณนีเริ่มต้นขึ้นอย่างไร

ชาลิสา: “นีว่ามันเริ่มขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัวตั้งแต่สมัยประถมค่ะ ถึงจะเป็นเด็กเรียนรำไทย ได้เกียรติบัตร ถือพานไหว้ครู แต่ในเวลาเดียวกันก็มีความที่ไม่ชอบอยู่ในกรอบ และเริ่มชัดเจนตอนมัธยมคือจะโดดเรียนเป็นประจำ (หัวเราะ) คงเพราะเด็กแต่ละคนมีเส้นทางการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกัน นีชอบที่จะออกไปสำรวจโลกกว้าง ไม่ถนัดการเรียนรู้ตามตำราหรือคำบอกเล่า เราโตมาแบบคิดเองทำเอง เลยตัดสินใจไปเรียนต่อต่างประเทศเองตั้งแต่อายุ 14 ปี และถือว่าเป็นเด็กที่ย้ายสถานศึกษาค่อนข้างบ่อย เราต้องทำความรู้จักกับสิ่งแวดล้อมใหมๆ อยู่ตลอด ได้มีโอกาสเรียนรู้การปรับตัว รวมถึงการเอาตัวรอดในต่างแดนไปโดยปริยาย วันนี้มองย้อนกลับไป โลกของนีเปิดกว้างตั้งแต่ตอนนั้น เลยรู้สึกว่าตัวเองไม่เคยต้องพยายามคิดนอกกรอบ เพราะมันไม่มีกรอบมาตั้งแต่ต้น”

LIPS: สไตล์การเดินทางของคุณนีเป็นอย่างไร ธรรมชาติแบบไหนที่ทำให้รู้สึกว่า “โอ๊ย..อยากไปอยู่ตรงนั้นจัง”

ชาลิสา: “ส่วนใหญ่นีเลือกที่จะเดินทางคนเดียวหรือกับเพื่อนกลุ่มเล็กค่ะ หลังๆ อาจเริ่มเห็นภาพการเดินป่า เพราะนีชอบอยู่ใกล้พลังงานธรรมชาติที่มีทั้งความสวยงาม และมีพลังงานเยียวยาอย่างที่เราได้ยินกันในเรื่องของ ‘Ecotherapy’ หรือธรรมชาติบำบัด นีเชื่อว่าแต่ละสถานที่มีพลังงานที่แตกต่างกัน เราทุกคนคือพลังงานเราสามารถเชื่อมโยงกับพลังงานธรรมชาติจากแหล่งต่างๆ ได้ และที่น่าสนใจคือเพื่อนเดินทางของนีแต่ละครั้งจะเปลี่ยนไป ขึ้นอยู่กับประเทศที่ไป

“นีชอบดินแดนที่มีธรรมชาติที่สงบ ไม่ค่อยมีใครนึกถึง หลายครั้งก็ชอบไปที่เดิมๆ นีไม่ใช่สายเช็กอินที่เที่ยวแบบมีบักเก็ตลิสต์หรือสะสมจำนวนประเทศที่ไป ไม่ค่อยวางแผนล่วงหน้ายาวๆ ภาพการเดินทางของนีที่ทุกคนเห็นในโซเชียลจึงมักจะเป็นแลนด์สเคปกว้างๆ จิตใต้สำนึกเราเขาจะรู้เองว่าควรเป็นที่ไหนอย่างไร และเวลานึกขึ้นมาว่าอยากไปไหน อยู่ดีๆ ก็จะมีคนชวน หรือมีเหตุให้ได้ไปที่นั่น มันจะมีความเหมาะเจาะพอดี เหมือนมี Calling จากดินแดนนั้น”

East Greenland
East Greenland
LIPS: แล้ว Calling จากดินแดนใดที่นับว่าพีคที่สุด

ชาลิสา: “เกือบทุกที่ค่ะ แต่วันนี้ยกเรื่อง ‘ประเทศกรีนแลนด์’ มาแชร์แล้วกันนะคะ ตอนนั้นปี 2017 อยู่ดีๆ นีก็พูดกับทุกคนว่าปีนี้ฉันจะไปกรีนแลนด์ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้วางแผน แต่เหมือนข้างในเรารู้แล้วว่าจะได้ไป ต่อมาไม่นานก็มีเหตุให้ได้ไปจริงๆ และไปกับเพื่อนสมัยเรียนอังกฤษซึ่งไม่ได้ติดต่อกันมากว่า 30 ปี เป็นการล่องเรือใบ ใช้ชีวิตในเรือไวกิ้งโบราณ 12 วัน ผ่านช่องแคบทางฝั่งตะวันออกของกรีนแลนด์ ที่นั่นไม่มีผู้คนอาศัยและได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในส่วนที่ห่างไกลที่สุดของกรีนแลนด์ที่คนจะสามารถเดินทางไปถึงได้

East Greenland
East Greenland PHOTO: NANUT BOVORN

“ธรรมชาติที่นั่นยิ่งใหญ่และน่าเกรงขามที่สุด ปกติเวลาไปปีนเขา เราจะขึ้นไปเพื่อให้ถึงซัมมิต แต่ที่นั่นเป็นการล่องเรือเล็กๆ ผ่านใต้ภูเขาน้ำแข็งซึ่งบางจุดสูงลิ่วพอๆ กับตึก 30 ชั้น เป็นครั้งแรกที่ไม่ได้รู้สึกแค่ว่าเราเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเล็กๆ บนโลกใบนี้ แต่มันเลยไปถึงว่า ‘นี่เรามาอาศัยเขาอยู่จริงๆ’ บริเวณขั้วโลกเหนือคือจุดศูนย์กลางของ Mother Nature ที่เป็นเหมือนบ้านหลังใหญ่ที่บริสุทธิ์ที่สุด จนนีไม่คิดอยากแนะนำให้ใครไปอีกเลย รู้สึกเกรงใจธรรมชาติค่ะ ลำพังแค่เอาตัวเองไปอยู่ตรงนั้น ยังรู้สึกว่าเราเป็นส่วนเกิน ในเวลากลางคืน พอทุกอย่างเงียบสงัด เราจะได้ยินแต่เสียงของลมและภูเขาน้ำแข็งกระทบกัน เป็นบทสรุปกับตัวเองเลยว่า ‘ธรรมชาติสื่อสารกับเราได้’ การสั่นสะเทือนของเขาบริสุทธิ์และเข้มข้นที่สุด จนไม่สามารถเปรียบเทียบกับดินแดนไหนที่เคยไปมาได้เลย กรีนแลนด์ทำให้นีรู้สึกนอบน้อมต่อธรรมชาติเพราะเราเข้าถึงความจริงนั้น”

LIPS: แสดงว่า ‘กรีนแลนด์’ สร้างแรงสั่นสะเทือนภายในได้มากทีเดียว

ชาลิสา: “ใช่ค่ะ ความเงียบสงบของที่นั่นทำให้เราสามารถสัมผัสถึงแรงสั่นสะเทือนที่ละเอียดและเชื่อมโยงกับภายในของเราได้ จนเกิดความเข้าใจในระดับลึก ถือเป็นอีกครั้งหนึ่งในชีวิตที่เกิดการตื่นรู้ทางจิตวิญญาณ ทำให้นีรู้ซึ้งว่า การดำรงชีวิตของเราทุกวันนี้เป็นส่วนหนึ่งกับทุกธรรมชาติ มนุษย์มักจะคิดว่าตนเองเป็นสปีชีส์ที่ยิ่งใหญ่ แต่จริงๆ แล้วเราพึ่งพาธรรมชาติที่ผันเปลี่ยนหมุนเวียนมาเป็นเวลาหลายพันล้านปี เราจึงควรดูแลรักษาและเคารพธรรมชาติ ถ้าไม่เข้าใจสิ่งนี้ ก็คงจะยากที่เราจะเห็นถึงคุณค่าการมีชีวิตอยู่ของพวกเรา และการมีอยู่ของทุกสิ่งรอบตัว”

Mongolia
Mongolia
LIPS: การเดินทางมีเสน่ห์และความหมายต่อคุณนีอย่างไรบ้าง

ชาลิสา: “การเดินทางในแต่ละครั้งมีเสน่ห์ไม่เหมือนกัน แล้วก็สอดแทรกด้วยวัฒนธรรม อารยธรรม วิถีชีวิตของผู้คนตำนานความเชื่อที่แตกต่างกันค่ะ ฯลฯ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ยุคโบราณก็มักจะอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง นีสนใจประวัติศาสตร์และชอบที่จะศึกษาเรื่องราวความเป็นมาของทุกประเทศอย่างการตามรอยเส้นทางแสวงบุญของศาสนาคริสต์ในประเทศอิสราเอลและปาเลสไตน์ ทั้งๆ ที่ตัวเองนับถือศาสนาพุทธ หรือถ้าไปในแถบเซาท์เวสต์ของอเมริกา เราก็เข้าไปเจอกับชาวนาวาโฮ ใน Navajo Nation นีชอบพูดคุยกับคนท้องถิ่น และไม่ว่าไปที่ไหน นีจะไม่ใช้คำว่า ‘พิชิต’ กับยอดเขาหรือเส้นทาง แต่จะไปด้วยความเคารพ เราจะรู้สึกขอบคุณและมอบความรักให้กับดินแดนนั้นๆ ที่ให้การต้อนรับเรา”

Icelandic Highlands
Icelandic Highlands
LIPS: คุณนีขอบคุณหรือมอบความรักแก่ดินแดนที่ไปเยือนอย่างไร

ชาลิสา: “มันเป็นความรู้สึกค่ะ โดยรวมส่วนใหญ่คือการเกิด Gratitude กับทุกประสบการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง บางครั้งก็เกิดขึ้นเลยในขณะนั้น หรือบางครั้งก็หลังจากการเดินทางสิ้นสุดไปแล้ว อย่างครั้งหนึ่งที่เดินแสวงบุญ ระยะทางเกือบ 20 กิโลเมตรต่อวัน บนเทือกเขาไกรลาส (ทิเบต) ซึ่งมีความสูงกว่า 5,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล อากาศบางทำให้เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก เพียงแค่ได้มีอากาศหายใจ เราก็รู้สึกขอบคุณมากแล้ว มันเป็นเรื่องที่เวลาปกติเราไม่เคยนึกถึง อย่างการมีอากาศ มีน้ำใช้ รวมถึงข้าวของจำเป็นที่เราพกติดตัวไปด้วยก็กลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่า เช่น ไฟฉายที่ไม่ยอมถ่านหมดง่ายๆ รองเท้าที่ลุยไปด้วยกันหรือแม้แต่ผ้าขนหนูผืนน้อย ก็ทำให้เราระลึกถึง ขอบคุณ และอยากรักษา ไปไหนก็เอาไปด้วยจนกว่าจะหมดวาระ การเดินทางทำให้ข้างในเราเปลี่ยน เราซาบซึ้งใจกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ได้ตลอดเวลา”

Pakistan
Pakistan PHOTO: CHAYANEE CHOMSAENGCHUN
LIPS: พื้นที่ธรรมชาติหลายแห่งเป็นที่อยู่ของชนพื้นเมือง ผู้คนในสถานที่ใดอยู่ในความทรงจำของคุณมากที่สุด

ชาลิสา: “‘ชาวทิเบต’ ที่แสวงบุญบนเส้นทางเขาไกรลาสค่ะ คนที่นั่นนับถือภูเขาลูกนี้มาก การเดินของเขา คือการกราบไปตลอดทางแบบอัษฎางคประดิษฐ์ (8 ตำแหน่งของร่างกายต้องสัมผัสธรณี ได้แก่ หน้าผาก หน้าอกฝ่ามือทั้งสอง เข่าทั้งสอง ปลายเท้าทั้งสอง)  ซึ่งเคยได้ยินมาว่าใช้เวลากว่า 3 เดือนบนเส้นทางแสวงบุญจุดสูงสุดของเขาไกรลาสที่มนุษย์สามารถเข้าถึงได้เป็นเส้นทางที่สูงกว่าเอเวอเรสต์เบสแคมป์ซึ่งมีความสูงกว่า 5,600 เมตร แถมชันมาก ลมแรง อากาศบาง เลยรู้สึกนับถือใจของนักแสวงบุญชาวทิเบตมากๆ ที่กราบไปตลอดทางด้วยความศิโรราบนั้น ส่วนอีกแห่งคือ ‘ปากีสถาน’ ผู้คนที่นั่นน่ารักมากๆ เป็นทริปสุดทรหดเพราะต้องซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์บนเส้นทางสายไหมไปกับทีม Viewfinder ของภูริ (ภูริ หิรัญพฤกษ์) แต่ก็ทำให้เราได้รู้จักกับปากีสถานในมุมที่ไม่ได้รู้สึกว่าน่ากลัวหรืออันตรายเหมือนในข่าว

Mount Kailash
Mount Kailash
LIPS: ธรรมชาติในแห่งใดที่เติมพลังงานชั้นยอดให้กับคุณได้มากที่สุด

ชาลิสา: “ส่วนตัวนีชอบดินแดนในแถบเทือกเขาหิมาลัย ทั้งเนปาล อินเดีย ทิเบต ภูฏาน ไม่ว่าไปกี่ครั้งก็ทำให้ข้างในเราสงบเป็นพิเศษ เทือกเขาหิมาลัยมีพลังงานที่บริสุทธิ์และมีอะไรที่น่าสนใจอีกมาก เขาไกรลาสก็เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงความศักดิ์สิทธิ์ ถ้าไม่มีพลังศรัทธา คงไม่มีผู้คนหลั่งไหลไปเยือน หนทางกว่าจะไปถึงก็ลำบากมาก นีไปเขาไกรลาสมา 2 ครั้ง ครั้งแรกปี 2016 เป็นการเทรคกิ้งครั้งแรกในชีวิต ก็ไปประเดิมที่นั่นเลยซึ่งเคยได้ยินว่าคนส่วนใหญ่มักจะเตรียมความพร้อมล่วงหน้ากันหลายเดือน แต่ตอนนั้นเรามีเวลาเตรียมตัวแค่อาทิตย์เดียว

“เขาไกรลาสทำให้นีค้นพบตัวเองในรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น เหมือนตื่นรู้แล้ว ตื่นรู้อีก ใจเราละเอียดอ่อนขึ้นเรื่อยๆ มีหลายสถานที่บนโลกนะคะที่เวลาเราเข้าไปแล้วสัมผัสได้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ หรือรู้สึกสงบ นั่นเพราะพื้นที่เหล่านั้นมีความสมดุลจากธรรมชาติอันบริสุทธิ์ ความสงบในจิตใจเราจึงก้องกังวาน”

Icelandic Highlands
Mount Kailash
LIPS: ทริปใดที่โหดหินที่สุดจนถึงกับต้องร้องเพลงพี่เบิร์ดว่า “ฉันมาทำอะไรที่นี่”

ชาลิสา: “ยังไม่เคยตั้งคำถามนี้นะคะ แต่จะเอ๊ะมากกว่าว่า ‘ทำไมเกิดสิ่งนี้ขึ้นกับเรา’ เมื่อมีคำถามก็จะนำมาซึ่งการตระหนักรู้ อย่างทริปเทรคกิ้งที่ ‘ภูเขาไฟรินจานี’ อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเส้นทางที่ขึ้นชื่อว่าเดินยากสุด ๆ ทั้งด้วยความชัน และลักษณะของดินภูเขาไฟที่ร่วนมาก ปรากฏว่าก่อนออกเทรค นีเกิดอุบัติเหตุ เท้าข้างหนึ่งโดนทับด้วยเหล็กใต้เบาะรถ เวลาเดินเลยลงน้ำหนักได้แค่ขาข้างเดียว ตอนแรกท้อใจมากว่าทำไมต้องเกิดเรื่องแบบนี้กับเรา เดินไปก็รู้สึกว่าหนทางช่างยาวไกลไม่ถึงสักที แต่สุดท้ายแล้วเมื่อเดินไปถึงปลายทาง เรื่องราวนี้มีคุณค่ากับเรามาก พอกลับไทยได้ไปหาหมอจึงรู้ว่าที่ผ่านมานั้น เราเดินด้วยกระดูกนิ้วเท้าที่ร้าวมาตลอด 12 วัน”

Icelandic Highlands
Icelandic Highlands
LIPS: ธรรมชาติในสถานที่ใดเป็น All-time Favorite ชนิดที่ว่าไปบ่อยเหมือนปากซอยบ้าน

ชาลิสา: “‘สวิตเซอร์แลนด์’ ค่ะ ไปบ่อยเหมือนเป็นบ้านหลังที่สอง เพราะช่วงหนึ่งนีไปเรียนที่นั่นด้วย ปกติจะไปปีละ 2 ครั้ง และน่าจะแวะไปแล้วเกือบครบทุกเมือง คุ้นเคยว่าอะไรอยู่ตรงไหน สวิตเซอร์แลนด์กลมกล่อมในทุกๆ ด้าน มีคอนเซปต์ของ ‘ความเป็นกลาง’ ทั้งในแง่ภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่กึ่งกลางทวีปยุโรป สถานะที่เป็นกลางบนเวทีโลก รวมไปถึงความสมดุลอันเกิดจากธรรมชาติที่บริสุทธิ์ มันสัมผัสได้จากพลังงานใน Motherland

“นีแวดล้อมด้วยความหวือหวามาทั้งชีวิต ตั้งแต่การพักอาศัยที่อยู่ใจกลางเมือง สถานศึกษาในเมืองใหญ่หน้าที่การงานที่ต้องออกเดินทางไปประเทศที่เป็นศูนย์กลางแฟชั่นอยู่เสมอ แต่สวิตเซอร์แลนด์ช่วยเติมเต็มให้นีได้กลับมาอยู่กับธรรมชาติที่งดงามมากๆ จุดท่องเที่ยวสวยๆ ก็เข้าถึงง่าย นีชอบที่นั่นในทุกฤดูเป็นประเทศที่ทำให้รู้สึกถึงความเรียบง่ายแต่อัดแน่นด้วยคุณภาพ”

Icelandic Highlands
Icelandic Highlands
LIPS: คุณนีเป็นอดีตบรรณาธิการบทความแฟชั่นที่ห่วงสวยมากน้อยแค่ไหน เมื่อไลฟ์สไตล์ออกจะดูลุยๆ ภายใต้สายลมแสงแดด

ชาลิสา: “ทริปทิเบตนี่ไม่ได้อาบน้ำสระผม 14 วันเลยนะคะ (หัวเราะ) แต่อาจจะดูไม่ออก คงเพราะส่วนใหญ่ไปในเส้นทางที่อากาศแห้งค่ะ ไดร์ไปยังไงก็เป็นทรงอยู่อย่างนั้น ที่ชอบอีกอย่างคือการทำเล็บ ยิ่งจะออกทริปคนเดียวยิ่งรู้สึกว่าต้องมีเล็บเป็นเพื่อน ต้องไปทำเล็บให้สวยอยู่ทนจนจบทริป ฝังนู่นนี่ 3 ชั้น ไม่มีคำว่าเรียบง่ายเลย แต่เชื่อมั้ยว่าขณะที่กำลังเดินขึ้นเขาไกรลาสด้วยความเหนื่อยล้านั้น เล็บสีรุ้งสะท้อนแสงมันก็เริ่มเผยความปลอมของตัวเองออกมาเรื่อยๆ ถึงขนาดว่านีไม่โอเคกับมันมากๆ พยายามแกะเล็บอะครีลิคออกตลอดทาง แต่มันก็ไม่ยอมหลุดง่ายๆ ไม่เคยคิดเลยว่าเราจะรู้สึกคลีนได้ขนาดนี้ เปลือกของเราถูกกระเทาะออกจนไปเห็นสัจธรรมจากเล็บ

“นียังได้เรียนรู้กับการมีข้าวของน้อยชิ้น ซึ่งค่อนข้างตรงกันข้ามกับโลกแฟชั่นที่หมุนเร็วมาก ต้องเปลี่ยนใหม่ทุกซีซั่น ยังไม่ทันมีความผูกพันกับเสื้อตัวไหน ของซีซั่นใหม่ก็ออกมาอีกแล้ว นีได้สัมผัสปัจจัย 4 ในรูปแบบที่เรียบง่ายขึ้นมาก ตั้งแต่การจัดกระเป๋าที่มีเสื้อผ้าคุณภาพดีแค่ 2-3 ชุด ต่างจากตอนไปเขาไกรลาสครั้งแรก นีแฟชั่นมาก ขนชุดแนวพื้นเมืองไป เครื่องประดับเทอร์ควอยส์จัดเต็ม แต่สุดท้ายไม่ได้ใช้สักอย่าง ต้องทิ้งไว้ที่โรงแรม ตอนนี้ก็ยังคงชอบแต่งตัวค่ะ แต่ข้างในไม่เหมือนเดิม มันสะท้อนไปถึงภาพใหญ่ว่าทุกสิ่งอย่างเป็นของนอกกาย”

LIPS: การเดินทางมีส่วนส่งเสริมงานในปัจจุบันของคุณนีอย่างไร ทั้งการเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้วยศาสตร์แห่งดวงดาวและจิตวิทยาเชิงลึก รวมถึงผู้อำนวยการฝ่ายเวลเนสและไลฟ์สไตล์ของเทศกาล Wonderfruit

ชาลิสา: “นีสนใจในศาสตร์แห่งภูมิปัญญาโบราณเป็นทุนเดิมอยู่แล้วค่ะ ฉะนั้นเวลาออกเดินทางเราจึงมักสังเกตและตั้งคำถาม เช่น ผู้คนบริเวณนั้นใช้ชีวิตอย่างไร นีชอบพูดคุยกับคนท้องถิ่น อย่างชนเผ่าต่าง ๆ ที่เขารักษาตัวเองด้วยสมุนไพร เราได้นำมาต่อยอด แบ่งปันองค์ความรู้ด้านธรรมชาติบำบัดเหล่านี้ให้กับตัวเองและผู้อื่นผ่าน Wonderness หรือโซนเวลเนสใน Wonderfruit ที่เรารวมตัวกับกลุ่มคนที่เชี่ยวชาญด้านการบำบัดทุกแขนงมาโดยตลอด 

“ชาว Indegeneous เคารพต่อธรรมชาติมาก รวมถึงแง่มุมที่เชื่อมโยงมนุษย์กับดาราศาสตร์ ซึ่งนีเริ่มศึกษาสิ่งเหล่านี้ตอนอายุ 19 ปี และเป็นเหมือนเส้นทางคู่ขนานที่เราเดินมาพร้อมๆ กับโลกของแฟชั่น นอกจากนี้นียังสนใจสิ่งปลูกสร้างของโบราณสถานที่มีเรื่องราวสัมพันธ์กับการโคจรของดวงดาว ยิ่งได้ไปเห็นกับตาก็ยิ่งทึ่งและประทับใจ ไม่ว่าจะเป็นพีระมิดของชาวมายัน สโตนเฮนจ์ หรือแม้แต่ปราสาทหินพนมรุ้งกับปรากฏการณ์ที่แสงอาทิตย์ลอดผ่านทุกช่องประตู มันสะท้อนให้เห็นถึงจิตสำนึกร่วมของมนุษย์ในแต่ละยุคสมัย เป็น Collective Consciousness ที่มีความคล้ายคลึงกับการขับเคลื่อนความเป็นคอมมูนิตี้ของ Wonderfruit กล่าวได้ว่าการเดินทางช่วยเติมเต็มสิ่งที่นีสนใจจนกลายเป็นงานที่เรารักค่ะ”

(บรรยายภาพ) Icelandic Highlands
(บรรยายภาพ) Icelandic Highlands
LIPS: ถ้าคุณนีในอดีตไม่ได้เดินทาง คุณนีในเวอร์ชั่นนั้นเขาน่าจะพลาดอะไรไปบ้าง

ชาลิสา: “ประสบการณ์ค่ะ เพราะการเดินทางทำให้นีได้เจอกับ ‘ประสบการณ์ตรง’ เป็นวิถีของนีที่เรียนรู้ด้วยวิธีนี้แล้วก็น่าจะเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ คนเรามีความซับซ้อน ซึ่งการเดินทางก็เป็นหนึ่งใน ‘อุบาย’ ที่จะทำให้คนเราได้กลับมารู้จักตัวเอง ได้เติบโต ได้รับประสบการณ์ที่มากไปกว่าการฟังคำบอกเล่า เราจึงสามารถเป็น ‘นักเรียนรู้’ ได้ทุกวินาที เรียนรู้อะไรใหม่ๆ กับตัวเองได้ทุกวัน ประสบการณ์ทำให้คนเราเกิดปัญญาในรูปแบบที่แตกต่างจากการอ่านตำรา เป็นความรู้ที่ทำให้เกิดความเข้าใจภายในอย่างลึกซึ้ง เหมือนมีคนพยายามอธิบายให้ฟังแทบตายว่าภูเขาลูกนี้หน้าตาเป็นอย่างไร ความกว้าง สูง ยาวเท่าไร แต่ยังไงก็ไม่เหมือนกับการที่เราเห็นภูเขาลูกนั้นด้วยตาตัวเอง การที่เราได้รับรู้กลิ่นดินที่สดชื่น ได้สัมผัสถึงลมเย็นที่พัดผ่านหน้า สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้คือสภาวะเพื่อให้เกิดความเข้าใจโดยไม่ต้องใช้คำพูดใดๆ”

Words: Sasi Akkomee

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม