Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview / People

‘ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล’ กับการปั้น ‘ซอฟต์พาวเวอร์ไทย’ ภารกิจใหม่ที่ใหญ่กว่าทำหนังนเรศวร

Interview / People

ท่ามกลางกระแสธารอันเชี่ยวกรากของ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ หนึ่งในผู้ทำหน้าที่เสนอแนะ ผลักดัน ตอบคำถาม ไฝว้งบ ฯลฯ เพื่อให้ประเทศไทยได้มีพลังนุ่มเสียทีคือเขาผู้นี้ที่โตมากับหนัง หายใจกับซีรีส์ ใช้ชีวิตไปกับละคร – คุณชายอดัม หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล 

ผลักดันพลังนุ่ม

“ผมไม่ได้ชอบการเมืองเลย” คุณชายอดัมเปิดมาด้วยประโยคแรก แต่อะไรเล่าไม่ใช่การเมือง แม้ในยามนั่งดูซีรีส์อยู่กับบ้าน ก็ได้เป็นเรื่องการเมืองไปแล้วเรียบร้อยในวันนี้ เมื่อพรรคเพื่อไทยพยายามทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ว่า ‘1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์’ เพื่อ ‘ยกระดับทักษะคนไทย 20 ล้านคน สู่การเป็นแรงงานทักษะขั้นสูงและแรงงานสร้างสรรค์ และจะสามารถสร้างรายได้อย่างน้อย 4 ล้านล้านบาทต่อปี สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน’ 

คนไม่ชอบการเมืองอย่างคุณชายอดัมจึงถูกเชิญไปเป็น 1 ใน 49 ‘คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ’ ที่นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง และแพทองธาร ชินวัตร นั่งเป็นประธาน 

อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ที่จะถูกผลักดันแน่ๆ มี 11 ด้าน จากอุตสาหกรรมเฟสติวัล ท่องเที่ยว อาหาร ศิลปะไทย ออกแบบ กีฬา ดนตรี หนังสือ แฟชั่น เกมพัฒนาหลักสูตร ไปจนถึงภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ อันเป็นอุตสาหกรรมที่คุณชายอดัมไปเป็นกระบอกเสียงให้ 

คณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ชุดนี้มีอายุขัยราวๆหนึ่งปีครึ่ง พวกเขามาเพื่อช่วยตั้งไข่ให้กับ THACCA : Thailand Creative Content Agency หน่วยงานด้านซอฟต์พาวเวอร์โดยตรง ซึ่งหลายประเทศมีแล้ว ไม่ว่าจะเป็น KOCCA : Korea Creative Content Agency ของเกาหลีใต้ หรือ TAICCA : Taiwan Creative Content Agency ของไต้หวัน 

THACCA เกิดมาเพื่อ ‘ดำเนินการปรับแก้กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย สนับสนุนเงินทุนวิจัยและพัฒนา สร้างแรงจูงใจด้านภาษี จัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ทุกจังหวัด เพิ่ม Co-Working Space ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจร ส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ ริเริ่มไอเดียสร้างสรรค์ และต่อยอดเป็นซอฟต์พาวเวอร์ตั้งแต่ระดับภูมิภาค ไปจนถึงระดับประเทศ’ โอว์ ขอให้บังเกิดผลจริง 

หากระหว่างนี้ที่ THACCA ยังไม่เกิด คุณชายอดัมประชุม ประชุม ประชุมกับภาครัฐไปหลายนัด และได้เบี้ยเลี้ยงประชุมการทำภารกิจเพื่อชาติมาเล็กน้อยเท่านั้น

“เราจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้อย่างไร ถ้าเรายังสื่อสารกับคนในประเทศตัวเองไม่ได้เลย”

LIPS: ที่บอกว่าไม่ใช่คนชอบการเมืองเลย แต่ตอนนี้ต้องมาทำงานกับรัฐบาลจริงจัง ช่วยกำหนดยุทธศาสตร์ชาติกันเลยทีเดียว

คุณชายอดัม: คือพอศึกษาการเมืองเยอะเข้า เราก็เข้าใจทุกคน เราเอ็นจอยกับการอยู่กับทุกคนดีกว่า ไม่ได้หมายความว่าไปเลียแข้งเลียขาใคร แต่เถียงไปทะเลาะไปไม่มีประโยชน์ เอาเวลาที่นั่งเถียงกันตีกันไปใช้ในการทํางานให้เกิดผลดีกว่า

LIPS: ที่เห็นคุณชายอดัมให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ เช่น รายการคุณจอมขวัญ เรื่องซอฟต์พาวเวอร์ เพราะอยากช่วยอธิบายให้สังคมเข้าใจมากขึ้นหรือเปล่าว่าซอฟต์พาเวอร์คืออะไร เพราะนิยามของคำนี้มีหลากหลายมาก 

คุณชายอดัม: ที่ผมออกมาพูดเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ก็เพื่อสร้างความเข้าใจมากขึ้นว่าเราทําอะไรกันอยู่ เพราะถ้าเราไม่สื่อสาร คนก็ไม่รู้ใช่ไหมครับ แล้วคนจะเชื่อได้อย่างไร แล้วเราจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้อย่างไรถ้าเรายังสื่อสารกับคนในประเทศตัวเองไม่ได้เลย แล้วจะไปเป็นพาวเวอร์เหนือประเทศอื่นได้อย่างไรในเมื่อคนในประเทศตัวเองยังไม่ฟังกันเลย ถ้าคนในชาติไม่เข้าใจในนโยบาย หรือกระบวนการการทํางาน เราไม่สามารถทำให้ต่างชาติเชื่อเราได้หรอกครับ                                                                                         

ฉะนั้นใครชวนมาสัมภาษณ์ ผมก็ยินดี จะได้สร้างความเข้าใจ แต่หลังบ้านเราก็ต้องทํางานจริงๆ เมื่อวานประชุมเรื่องการใช้งบ เราไปคุยกับตัวแทนจากภาครัฐ ทุกฝ่ายมานั่งหมดเลย พอเราพูดถึงเรื่องไหน ข้าราชการจากหน่วยงานนั้นๆก็จะบอกว่าเป็นหน้าที่รับผิดชอบของเขา เราต้องทำอย่างไร แนะนำเราว่าเครื่องมือของรัฐที่จะช่วยให้งานเราเดินหน้าคืออะไร งบประมาณจะเอามาจากไหน ใครเป็นเจ้าภาพ ทุกฝ่ายของรัฐมาช่วยกันทำให้นโยบายนี้เกิดผล ซึ่งเป็นเรื่องดี เขาก็มาซักถามเราว่าอันนี้เวิร์กหรือไม่เวิร์ก ประชาชนได้อะไรจากนโยบายนี้ เราต้องตอบให้ได้ ไม่ใช่ว่าเราไปถึงแล้วเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ต้องโดนซักถามตรวจสอบ

LIPS: มีข้อมูลน่าสนใจที่คุณชายนำมาเปิดเผยเรื่องมูลค่าของ อุตสาหกรรมหนัง ละครและซีรีส์ของไทย ซึ่งค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับประเทศผู้นำด้านซอฟต์พาวเวอร์อย่างเกาหลีหรืออเมริกา

คุณชายอดัม: เราเพิ่งมาตีมูลค่าแบบคร่าวๆของซีรีส์และละครไทยประมาณ 4,000 ล้านบาท หนัง 1,500 ล้านบาท และมีหนังต่างชาติที่มาถ่ายทำในเมืองไทยอีกประมาณ 7,000  ล้านบาท รวมแล้วมูลค่าอุตสาหกรรมหนังและละครไทยในภาคการผลิตประมาณหมื่นกว่าล้านบาท นี่ยังไม่นับรวมรายได้จากภาคอื่นๆ เช่น ภาคโรงหนัง การศึกษา นักแสดง และอื่นๆ ผมคิดว่ารวมแล้วน่าจะประมาณ 20,000  ล้านบาท ซึ่งก็ถือว่าเล็ก เทียบกับเกาหลีที่ลงทุน 40,000 ล้านบาท มากกว่าบ้านเรา 2 เท่าเลย

LIPS: รายได้เราน้อย แต่เราจ่ายออกไปเยอะ เพราะคนไทยเป็นผู้บริโภคอันดับต้นๆของโลก

คุณชายอดัม: ผู้บริโภคบ้านเรากําลังซื้อสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก และตีตลาดยากที่สุดด้วย ต่อให้ทําคอนเทนต์ในแนวทางที่คิดว่าคนไทยชอบก็ไม่ได้หมายความว่าจะประสบความสําเร็จ เช่น หนังสัปเหร่อทำรายได้วันนี้ 700 ล้านบาท นั่นไม่ได้หมายความว่าหนังอีสานเรื่องต่อไปจะทำรายได้ 700 ล้าน คนไทยช่างเลือกมาก เป็นผู้บริโภคที่ฉลาด ถ้าเอาชนะผู้บริโภคไทยได้นี่ คุณเก่งระดับโลกเลย หรือดูจากเกาหลีก็ได้ เขาเริ่มต้นจากชนะไทยก่อน ถ้าชนะไทยได้ก็ชนะทั้งโลกได้ วงดนตรีถ้าไม่มีที่เปิดตัว ก็ต้องมาเปิดตลาดเมืองไทยก่อน  อย่างวงเกาหลีจำนวนมาก ถ้าไปเปิดตลาดที่อเมริกาเลยก็อาจจะไม่เกิด ต้องมาเปิดที่นี่

LIPS: ซอฟต์พาวเวอร์ไทยที่เป็นผู้นำของโลกได้ตอนนี้น่าจะเป็นซีรีส์วาย

คุณชายอดัม: ใช่ ล่าสุดมีการก่อตั้งสมาคมใหม่ที่ผู้ผลิตวายและยูริทั้งหมดในประเทศไทยมารวมตัวกัน เพื่อทําให้เป็นอุตสาหกรรมจริงจัง นอกจากจะได้มีอํานาจต่อรองมากขึ้นแล้ว ยังช่วยให้การทำงานมีระบบ มีแคตาล็อกแพ็กรวมกันที่ชัดเจน เวลาไปขายกับต่างชาติจะได้มีแคตาล็อกให้เขาดูได้ รู้ว่าใครเป็นตัวแทนของแต่ละเรื่อง ต้องติดต่อใคร 

ในอนาคตรัฐอาจจะเข้าไปสนับสนุนให้มีเอ็กซ์โป อย่างเคป๊อปเกาหลีมีคอนเสิร์ต KCON มาจัดที่บ้านเรา แล้วเราจะจัดโรดโชว์ไปต่างประเทศบ้างได้ไหม พานักแสดงวายแต่ละคู่ไป รัฐน่าจะช่วยได้ นัดผู้ประกอบการของต่างประเทศนั้นๆในภูมิภาคนั้นๆมาเจอกับผู้ประกอบการของไทย เพื่อจะร่วมทุน หรือซื้อสิทธิ์ต่อได้ไหม หรือเราจะถือสินค้าเราไปสินค้าบริการเราไปต่างชาติ โดยผ่านบริษัทเหล่านี้ได้หรือเปล่า เหล่านี้คือเงินทั้งนั้น 

นักแสดงวายก็ออกเพลงกันเยอะ มีนักแสดงซีรีส์วายไปจัดคอนเสิร์ตที่เกาหลีได้แล้ว เอเจนต์ที่นําศิลปินไทยไปต่างประเทศก็ค่อยๆโตขึ้น เพราะตลาดโตขึ้น ทําให้มีดีมานด์เพิ่มขึ้น

 LIPS: เรื่องเหล่านี้ ภาครัฐรู้หรือเปล่า

คุณชายอดัม:…ภาครัฐเพิ่งรู้ เพราะว่าเราเพิ่งเข้าไปอยู่ภาครัฐกันครับ แต่ทุกคนในวงการนี้ก็ไม่ได้รู้ทุกอย่าง แต่ละคนรู้เป็นจิ๊กซอว์ หน้าที่ของเราคือวิ่งหาจิ๊กซอว์ทั้งหมดนั้น แล้วมาประกอบกันเป็นภาพรวม แล้วนโยบายรัฐสามารถทำอะไรให้จิ๊กซอว์ทั้งหมดนี้เชื่อมต่อและเป็นระนาบของภาพเดียวกันได้ โดยที่เขาไม่จําเป็นต้องรู้จิ๊กซอว์ทั้งหมดก็ได้ เพราะการรู้ทั้งหมดมันยาก แต่ต้องมีคนที่รู้ทั้งหมด และคณะกรรมการอย่างเราก็ต้องรู้ทั้งหมด

“ตราบใดที่ผลยังไม่เกิด อย่าเชื่อ เราได้รับคำมั่นสัญญาจากรัฐบาลมาไม่รู้กี่ยุคกี่สมัย”

LIPS: เท่าที่ไปประชุมกับภาครัฐมา รู้สึกมีความหวังไหมว่าอะไรที่ติดล็อกจะได้รับการปลดล็อก หรือมีความก้าวหน้าอย่างไรบ้าง 

คุณชายอดัม: ยังครับ ตราบใดที่ผลยังไม่เกิด อย่าเชื่อ นี่เรื่องจริงฮะ เราได้รับคำมั่นสัญญาจากรัฐบาลมาไม่รู้กี่ยุคกี่สมัย ยกตัวอย่าง คุณทักษิณตอนลงเลือกตั้งครั้งแรก บอกว่า ‘ผมจะแก้ปัญหารถติดภายใน 7 เดือน’ ผมยังจําได้จนถึงทุกวันนี้

LIPS: จำได้ตั้งแต่ยุคจําลอง ศรีเมืองแล้วที่บอกว่าจะแก้ปัญหารถติด 

คุณชายอดัม: ใช่ ซึ่งเราก็จำนโยบายนั้นได้ แต่คำว่าเราไม่เชื่อไม่ได้หมายความว่าเขาแย่ ไม่ได้พยายามดิสเครดิตใคร แต่การที่นักการเมืองพูดในวันที่หาเสียงกับการมาอยู่ในพื้นที่ทํางานจริงมันไม่เหมือนกัน อย่างการแก้ปัญหาน้ำท่วมในขณะที่มีถนนมากกว่าพื้นที่รับน้ำ แล้วจะแก้ยังไงได้

ดังนั้นการบอกว่าไม่เชื่อ ไม่ใช่เพราะเราไม่ชอบ แต่เราไปศึกษาเพื่อทำความเข้าใจว่าคำสัญญาที่ไม่เกิดขึ้น มันไม่เกิดเพราะอะไร ทีนี้เรามาอยู่ตรงนี้ เป็นคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ไทย เราเสนอนโยบายดีๆได้เยอะที่จะช่วยให้เกิดรายได้และโอกาสจากการทํางานของภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ คำถามคือเราทําให้มันเกิดขึ้นได้จริงหรือเปล่า ถ้าไม่ได้ เป็นเพราะอะไร แล้วจะแก้มันได้หรือไม่ เราก็ต้องไปเลาะตะเข็บมัน มันไม่ใช่เรื่องขาวดำครับ ต่อให้เป็นพรรคใดๆก็ตามก็มีหลายเฉดที่ต้องแก้ไข เรื่องที่ว่าแก้ยาก แก้ง่าย แก้ได้-ไม่ได้ เป็นความสามารถของของหลายๆคนรวมกัน

LIPS: ยกตัวอย่างการทำงานของคณะกรรมการฯในเรื่องเซนเซอร์ ที่มีการผลักดันให้แก้ไขมาเกือบร้อยปี ตั้งแต่ประชาธิปไตยเกิดขึ้นในประเทศนี้ เรื่องคืบหน้าไปอย่างไรบ้าง 

คุณชายอดัม: น่าจะใกล้แก้ได้แล้ว เพราะว่า เพิ่งประชุมไป ทิศทางของทุกฝ่ายก็ตรงกันครับว่าแก้ไขได้ 

จริงๆแล้วการเซนเซอร์ไม่ใช่เรื่องผิดหรอกครับ ในยุคหนึ่งการเซนเซอร์คือเรื่องจําเป็น การเซนเซอร์มีอยู่เพราะรัฐต้องการปกป้องอธิปไตยของประเทศ ซึ่งมันเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นจากการเมืองโลกในช่วงนั้นๆ อย่างในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ภาพยนตร์เป็นการโฆษณาชวนเชื่อหรือ Propaganda ในช่วงสงครามรัฐบาลอเมริกันต้องการให้คนบริจาคเงินไปทํากระสุนปืนไปรบ

หนังในยุโรปยุคสงครามโลกก็เป็น Propaganda หมด เพราะเขาต้องทำหนังเพื่อส่งเสริมให้ให้คนไปรบ หลังจากนั้นยิ่งต้องใช้สื่อหนักมาก เพราะเป็นช่วงสงครามเย็น มีการแบน ในอเมริกาเองก็มีการจับผู้กํากับหนังเข้าคุก ในข้อหาว่าเข้าข่ายคอมมิวนิสต์ ฝั่งโซเวียตก็พัฒนาอุตสาหกรรมหนังเยอะมากตั้งแต่ช่วงสงครามโลก ทฤษฎีหนังที่เราเรียนกันทุกวันนี้ เรื่องการตัดต่อเกิดในยุคโซเวียต

อิทธิพลเหล่านี้มีผลต่อกฎหมายบ้านเราระดับหนึ่ง เพราะเราเป็นประเทศที่ต้องเลี้ยงตัวเองในภาวะหมิ่นเหม่ของสงคราม เรามีทั้งซุนยัดเซ็นและโฮจิมินห์มาอยู่ในประเทศไทย ในขณะเดียวกันเราก็ได้เรือรบจากอเมริกามา ประเทศเราหมิ่นเหม่มาก กฎหมายในยุคนั้นจึงจําเป็นที่ต้องเป็นแบบนั้น แต่ในวันนี้ภูมิรัฐศาสตร์หรือ Geopolitics แบบนั้นโบราณมากแล้ว การเข้ามาของอินเทอร์เน็ตในยุค 1980 ทําให้โลกทัศน์ของการใช้สื่อในรูปแบบเดิมๆเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นกฎหมายแบบเดิมก็ถือว่าล้าสมัยและไม่เข้ากับบริบทสังคมในตอนนี้

LIPS: การดํารงอยู่ของเซ็นเซอร์มีเพื่ออะไรในยุคนี้ 

คุณชายอดัม: ใช่ มันไม่มีประโยชน์ เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของอเมริกา อังกฤษ แม้กระทั่งรัสเซียที่ปูตินกลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์ไปแล้ว มีภาพปูตินถอดเสื้อขี่หมี ดูเป็นฮีโร่ของประเทศ โลกทัศน์เปลี่ยนไปแล้ว การแบนไม่มีประโยชน์ในโลกอินเทอร์เน็ตมากนัก 

ประเทศไทยเองก็มีกฎหมายที่ไม่มีประโยชน์แล้ว เราไปปรับปรุงกฎหมายของศาลทีละมาตราดีกว่าให้คนหนึ่งคนมากําหนด ปัญหาคือคนคนนั้นเท่าทันกับยุคสมัยหรือเปล่า การเมืองเปลี่ยนข้างไปมาเหมือนลูกตุ้มเพนดูลัม วันหนึ่งเราเอาดอกไม้ไปยื่นให้ทหาร แล้ววันหนึ่ง เราก็ใส่เสื้อหลากสีไปเป่านกหวีดกันบนถนน อีกวันหนึ่งเราก็ใส่ใส่เสื้อสีส้ม และกลุ่มที่เป็นสีส้มในวันนี้อาจจะเปลี่ยนก็ได้ในอีก 10 ปีข้างหน้า ดังนั้นคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์จะอัปเดตได้เพียงพอขนาดนั้นเลยหรือ เราต้องมองเหตุและผล และหลักการมากกว่าจะมองแค่ว่าตัวเราเป็นผู้เสียหาย ไม่อย่างนั้นเราจะมองทุกอย่างเป็นขาว-ดํา เราก็จะมีหลักการและเหตุผลในการที่จะไปยืนพื้นและแก้ไขมัน

LIPS: ตอนนี้หลักการขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของคนไม่กี่คน 

คุณชายอดัม: ใช่ ฉะนั้นการจะแก้อะไรสักอย่างมันแก้ด้วยความแบบความเดือดร้อน บางทีเขาก็ไม่มองความเดือดร้อน เพราะเขาบอกว่าความเดือดร้อนของคนคนหนึ่ง อาจจะไม่ใช่ความเดือดร้อนของคนทุกคน การแก้กฎหมายก็ไม่ได้แก้สําหรับคนทุกคน แล้วคนที่ถูกกฎหมายนั้นทําร้ายโดยทั่วไปแล้วคืออะไร ก็คือคนทำผิดกฎหมาย แล้วผมจะแก้กฎหมายเพื่อสนับสนุนคนทําผิดกฎหมายทําไม นี่คือแนวคิดดั้งเดิม 

แต่ทีนี้เราต้องมาดูว่าบริบทที่ครอบกฎหมายทั้งหมดคืออะไร บริบทของประเทศไทยตอนนี้เราควรจะวางโพซิชันตัวเองในเวทีโลกแบบไหน แล้วการการวางกฎหมายแบบนี้มีประโยชน์ต่อเราในเวทีโลกจริงหรือไม่ เรายังเป็นประเทศที่รบในรูปแบบของสงครามเย็นอยู่หรือเปล่าถ้าบอกว่าไม่ แล้วเรารบในเวทีแบบไหน

“เราเข้าไปทำนโยบายให้ซัปพอร์ตทุกคนได้อย่างเท่าเทียมดีกว่า…พอเราออกมาแล้ว ไม่ว่าคนจะเกลียดจะชอบ เราก็ยังเข้าถึงนโยบายนั้นได้”

LIPS: เวลาไปแนะนําตัวกับต่างชาติ ได้ข่าวว่าเขาไม่รู้จักว่าซอฟต์พาวเวอร์คืออะไร

คุณชายอดัม: (หัวเราะ) ใช่ครับ ไม่ใช่ทุกคนรู้จักคําว่าซอฟต์พาวเวอร์ ตอนนี้คนไทยรู้จักคําว่าซอฟต์พาวเวอร์เยอะแล้ว และมีสื่อเยอะแยะที่เขียนถึง ซึ่งเป็นเรื่องดี ต่อให้พวกเราที่อยู่ในอุตสาหกรรมหนังและซีรีส์ก็ไม่ได้เข้าใจคําว่าซอฟต์พาวเวอร์ไปเสียหมด เพราะมันเป็นเรื่องของนโยบายการต่างประเทศ มันไม่ใช่เรื่องของพวกเราคนทําหนังด้วยซ้ำ แค่ผมเป็นคนที่ศึกษาเรื่องการเมืองหนักมาก ก็เลยเข้าใจว่าเราต้องผลักดันให้เป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่ง

ดังนั้น เราเข้ามาทํานโยบายที่สนับสนุนทุกคนได้เท่าเทียมกันทั้งหมดดีกว่า เพราะเมื่อทักก้าก่อตั้งได้ คณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ก็หมดหน้าที่ พอเราออกมาแล้ว ไม่ว่าคนจะเกลียดจะชอบ เราก็ยังเข้าถึงนโยบายนั้นได้ เหมือนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค คุณเข้าไปทํานโยบายนี้ พอออกมา ต่อให้คุณเป็นใครก็ตามแต่ คุณก็ยังให้ใช้สิทธิ์ 30 บาทได้

LIPS: รัฐบาลรับฟังเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ เพราะเป็นกระแสสังคมในตอนนี้หรือเปล่า 

คุณชายอดัม: เขาสร้างกระแสสังคมนี้ขึ้นมาเอง มันเป็นนโยบายหาเสียงของเขา และถ้าทำไม่ได้ อะไรคือผลงานที่เด่นชัดของคุณอุ๊งอิ๊ง อย่างในยุคคุณทักษิณ ผลงานเด่นคือปราบปรามยาเสพติด, 30 บาทรักษาทุกโรค, โอท็อป ผลงานลุงตู่คือบัตรสวัสดิการรัฐ คุณยิ่งลักษณ์เป็นเรื่องจํานําข้าว แต่ละคนต้องมีผลงานเด่น ฉะนั้นจึงจําเป็นที่เขาต้องทําเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ให้ได้ ซึ่งที่ผ่านมาคุณอุ๊งอิ๊งเข้าประชุมด้วยตลอด

LIPS: มีภาพในอุดมคติที่มองไว้ไหมว่าอยากให้อุตสาหกรรมหนัง ละครและซีรีส์ของเมืองไทยเป็นอย่างไร 

คุณชายอดัม: ไม่มีครับ ของพวกนี้เปลี่ยนแปลงตลอด มีไดนามิกอยู่แล้ว เรารู้ว่าปัญหา ณ เวลานี้คืออะไร เราก็แก้ตรงนั้น 

วันก่อนคณะกรรมการฯ คุยเรื่องวิชั่น-มิชชั่นว่าคืออะไร เรานั่งเวิร์กกันภายในแล้วบอกว่า วิชั่นของเราคือการเป็น 5 เสือของเอเชียในเรื่องรายได้ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ คำถามคือเสือ 4 ตัวแรกคืออะไร

LIPS: เกาหลี อินเดีย จีน ญี่ปุ่น

คุณชายอดัม: ถูกต้องครับ ซึ่ง ณ เวลานี้ ทุกคนพยายามหนักมากที่จะทําให้ตัวเองอยู่ในท็อป 5 นี้ให้ได้ ไทยเราก็ต้องโตไปตามเขาใช่ไหมครับ ไม่อย่างนั้นเราจะกลายเป็นผู้เสพอย่างเดียว 

สมัยก่อนเราทรีตว่าเป็นเรื่องเต้นกินรํากิน ทีนี้ในอนาคตเราจะทรีตมันเป็นเครื่องมือตัวสำคัญที่จะสร้างจีดีพี สร้างรายได้ สร้างโอกาส ทางการทูต ทางการศึกษา และหลายๆทางได้หรือไม่ ซึ่งมันทําได้

เราเคยมีหนังไทยที่ทำให้คนไปตีระนาดกันอีกรอบหนึ่ง เคยมีคอนเทนต์ที่ทำให้สินค้าบางตัวกลับมาฮิต หรือทําให้คนเข้าใจว่าการทิ้งขยะบนถนนเป็นเรื่องไม่ดี เราจะทําอย่างไรให้ภาพยนตร์เป็นอย่างนั้นได้ นั่นคือวิชั่น ซึ่งมันไม่ได้เกิดภายในปีสองปี มันเป็นวิชั่นระยะยาว

LIPS: หรือเปลี่ยนความคิดว่างานบันเทิงคือการเต้นกินรำกิน  

คุณชายอดัม: เมื่อก่อนคนทําหนังคิดแค่ว่าเราอยากเล่าเรื่อง และเป็นกระจกสะท้อนภาพของสังคมเฉยๆ วันหนึ่งมันจับพลัดจับผลูโตขึ้นมา แต่ก่อนภาพยนตร์ ละครและซีรีส์เป็นเรื่องที่พ่อแม่จะบอกว่าลูกว่า ‘อย่าไปทําเลย เต้นกินรำกิน’ สมัยนี้บอกลูก ‘ไปเป็นยูทูเบอร์สิ’ (หัวเราะ) ซึ่งเราแฮปปี้มาก เพราะว่าเป็นมิชชั่นหนึ่งของพวกผมตั้งแต่ตอนอายุ 20 แล้ว ผมทำ Fukduk.tv เป็นอินเทอร์เน็ตทีวีเจ้าแรกของประเทศ 

ผมคิดว่าความฝันสูงสุดของคนทำหนังคือ ทุกคนอยากนอนอยู่บ้าน จินตนาการอยู่ในหัวแล้วเกิดเป็นหนังเลย รัฐช่วยซัปพอร์ตได้ไหมล่ะที่ผมจะนอนอยู่บ้านแล้วอยู่ดีๆก็มีหนังเสร็จออกมาเลย ความต้องการของคนมันไม่มีที่สิ้นสุดหรอก ฉะนั้น เรามองโลกตามความเป็นจริงดีกว่าครับ มีปัญหาก็มีวิธีแก้

Words: Suphakdipa Poolsap
Photos: Somkiat Kangsdalwirun

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม