Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

Brick by Brick Studiology

Studiology สตูดิโออิฐมอญทรงกล่องสุดเท่ในย่านเกษตรนวมินทร์
Art & Design / Culture

ช่วงฤดูร้อนที่ท้องฟ้าไร้เมฆแดดแรงจ้าจนทำให้สีฟ้าใสตัดกับสีส้มอิฐของอาคารเบื้องหน้าที่ไม่ประกาศตัวชัดว่าทำหน้าที่อะไรแต่ด้วยความเท่ท้าสายตาของผู้ที่ผ่านมาเห็นทำให้เราต้องแวะเข้าไปทำความรู้จักอาคารทรงกล่องที่ห่อหุ้มไว้ด้วยวัสดุดิบกร้านอย่างก้อนอิฐมอญสีส้มธรรมชาติ 

     เมื่อเลี้ยวเข้าไปด้านในจึงสังเกตเห็นป้ายสีเขียวทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวๆ  พิมพ์ชื่อสถานที่ที่แนะนำตัวว่า “Studiology” สตูดิโอขนาดใหญ่ที่ในวันนี้บรรยากาศโดยรอบสงบเงียบมีเพียงเราที่เป็นผู้มาเยือนและได้ชื่นชมความหล่อเหลาของพื้นที่ที่ในสถานการณ์ปกติแล้วคงพลุกพล่านไปด้วยทีมงานโปรดักชั่นต่างๆร่วมหลายสิบคน 

     Studiology เกิดขึ้นจากความฝันและการต่อยอดประสบการณ์การทำงานของ เชียง-ทวีพล ธีระวิชิตชัยนันท์ ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณา ร่วมกับหุ้นส่วนรุ่นพี่อีกสองคนได้แก่ ชัชชารี ฉิมไพบูลย์และพรรณโรจน์ โฆษิตสกุล ก่อตั้งสตูดิโอที่มีหน้าตาคาแร็กเตอร์ชัด โดยยกหน้าที่ออกแบบให้กับ Atelier of Architect   ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ในย่านยอดนิยมของคนทำงานแวดวงโฆษณา เดินทางสะดวก ทำให้ผู้กำกับฯ ตัดสินใจไม่ยากในการลงหลักปักฐานสร้างสตูดิโอในฝัน 

     “แรกเริ่มเรายังไม่มีภาพในหัวที่ชัดเจนมาก แต่ก็บอกกับสถาปนิกไปว่า เราต้องการสตูดิโอที่มีคาแร็กเตอร์ชัดเจน แตกต่างจากสตูดิโอส่วนใหญ่ที่มักจะเน้นฟังก์ชันการใช้งานภายในมากกว่า เราบอกให้เขาดีไซน์รูปทรงภายนอกที่สามารถนำมาใช้ถ่ายงานภายนอกด้วยได้ หรือคนที่มาใช้งานแล้วถ่ายรูปโพสต์ภาพถ่ายลงในโซเชียลคนเห็นก็จำได้ว่า เป็นสตูดิโอของเรา นี่เป็นโจทย์หลักๆ

     …ส่วนใหญ่คนจะมาใช้ถ่ายงานโฆษณา มิวสิกวิดีโอบ้าง บางคนก็มาจัดปาร์ตี้หลังงานแต่งงาน ส่วนใหญ่เป็นคนในแวดวงโฆษณาที่ต้องการหาสเปซที่แตกต่างไปจากพื้นที่เดิมๆ” 

     พื้นที่ภายในสตูดิโอขนาดใหญ่สามารถจุคนได้ประมาณ 100-150 คน จึงสามารถรองรับงานสเกลใหญ่ๆ ได้ และเป็นที่ชื่นชอบของคนทำงานกับเทคโนโลยีแปลกใหม่ที่ต้องอาศัยพื้นที่ทดลองขนาดใหญ่ 

     “งานลักษณะที่แปลกใหม่ที่สุดน่าจะเป็นการเช่าพื้นที่สำหรับทำโปรเจ็กเตอร์ VR เขาคงอยากได้สเปซที่มีขนาดกว้างขวางพอที่จำทดลองงานลักษณะนี้ได้ เขามาเทสต์เรื่องการใช้โปรเจ็กเตอร์ Mapping ข้อดีของเราคือ เราเป็นสตูดิโอขนาดใหญ่ห้องเดียว ทีมงานที่มาใช้จะได้ความเป็นส่วนตัว ไม่มีทีมอื่นมาปะปน ได้พื้นที่ทั้งหมดที่เช่าไปเลย ในแง่ของธุรกิจการมีหลายห้องอาจจะดีกว่า แต่เราก็คิดว่า พื้นที่ในแบบที่เราเป็นก็ถือเป็นจุดขายของเราเหมือนกัน โดยเฉพาะในงานที่มีเซเลบริตี้มาร่วมงาน การได้พื้นที่ส่วนตัวเป็นสัดส่วนก็ทำให้ทุกคนแฮปปี้”

     พื้นที่พักผ่อน ห้องแต่งตัว พื้นที่รับประทานอาหารด้านนอกถูกแบ่งออกจากกันอย่างเป็นสัดส่วน พื้นที่พักผ่อนบริเวณ courtyard เป็นพื้นที่ที่ทุกคนที่แวะเวียนมาใช้งานชื่นชอบ จัดวางไว้เป็นพื้นที่กึ่งเอาท์ดอร์ที่แสงอาทิตย์ตกกระทบลงมาบนผนังปูนเปลือยผสานเท็กซ์เจอร์อิฐมอญได้อย่างเหมาะเจาะ มีต้นไม้ที่เหมาะกับการปลูกในตัวอาคารวางไว้อย่างโดดเด่นเพิ่มความร่มรื่นสบายตา ตัดกับเฟอร์นิเจอร์สไตล์มินิมัลสีดำด้านรูปทรงขึงขังได้อย่างลงตัว มุมนี้เห็นแล้วใครๆ ก็อดใจไม่ไหวต้องหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาเช็คอิน

     “เราพยายามทำให้แตกต่างจากสตูดิโอแห่งอื่นที่อาจจะไม่มีได้สเปซให้ลูกค้าที่มาใช้งานมากนัก ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่อินดอร์ที่ปิดทึบ แต่เรามีสเปซสำหรับหย่อนใจระหว่างช่วงเวลาพักที่มองแล้วรู้สึกสบายตา ซึ่งสเปซส่วนที่ผมชอบที่สุดคงเป็นตรง courtyard นี่แหละ นั่งเล่นตรงนี้แล้วสบายตาดี”

ส่วนพื้นที่สีเขียวเล็กๆ ที่เติมเข้ามาจัดเป็นความชอบส่วนตัวของผู้ก่อตั้ง

     “ส่วนตัวผมชอบต้นไม้โดยเฉพาะไม้ใบ ชอบต้นไม้ใบใหญ่ๆ ชอบสีเขียว  และอยากให้ลดทอนความแข็งของดีไซน์ที่มีลักษณะเป็นกล่องๆ ต้นไม้ช่วยทำให้อยู่แล้วสบายใจ สบายตา ไม่รู้สึกร้อน  จึงพยายามใส่ต้นไม้เข้าไปให้เยอะที่สุด แต่ต้องรอเวลาหน่อยเพราะต้นไม้ใหญ่ที่ลงไปยังไม่โตเต็มที่ ตอนนี้เรามีนางกวักต้นใหญ่ด้านหน้า มุมด้านรั้วเป็นต้นก้ามปู ส่วนต้นใจกลาง courtyard เป็นต้นแคนา  ตอนแรกไม่มีต้นไม้ใหญ่เลย พื้นที่เดิมเป็นเหมือนหนองน้ำ และทุ่งนาโล่งๆ เราจึงต้องมาปรับพื้นที่ แล้วเติมต้นไม้เข้าไป เราเลือกต้นไม้ใหญ่เพราะมันทน ดูแลรักษาไม่ยาก 

     ด้วยความที่คลุกคลีกับกองถ่ายมานาน  ใช้ชีวิตอยู่กับการทำงานในสตูดิโอมาตลอด เมื่อต้องมาสร้างสถานที่ทำงานที่ต้องแบ่งปันให้เพื่อนร่วมวงการแวะเวียนมาใช้ แน่นอนว่า สิ่งที่คำนึงถึงเป็นอย่างแรกย่อมเป็นเรื่องฟังก์ชั่นการใช้งานที่เอื้อต่อการทำงานได้จริง สถาปนิกจึงออกแบบฟังก์ชั่นการเข้าออกของทีมงานให้สะดวกสบาย เพราะงานโปรดักชั่นที่มีทีมงานจำนวนมาก ช่องทางเข้าออกที่เอื้อต่อการเคลื่อนย้ายดูเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงเป็นหลัก แต่ละส่วนเชื่อมต่อกันได้ง่ายดาย 
     ส่วนเรื่องดีไซน์ที่สวยงามก็เป็นสิ่งที่พยายามปรับสัดส่วนให้ไปด้วยกันได้ดี  รวมถึงพื้นผิวรอบบริเวณที่ช่วยสร้างคาแร็กเตอร์ให้โดดเด่นสมความตั้งใจของผู้สร้าง

     “พยายามบอกสถาปนิกให้หาวัสดุที่อยู่ได้นาน  ไม่ต้องดูแลมาก อย่างอิฐที่อยู่ได้นานโดยไม่ต้องดูแลรักษามากนัก วัสดุบางอย่างเรายังคำนึงถึงเรื่องต้นทุนด้วย

     สเปซที่เปิดโล่งและเชื่อมโยงถึงกันได้ในทุกส่วนทำให้เกิดช่องลมไหลเวียนผ่าน อากาศถ่ายเทสะดวก ช่วยประหยัดพลังงานได้ อย่างในโซนรับประทานอาหารที่จัดแยกสัดส่วนไว้ต่างหากในอาคารทรงกล่องก่ออิฐฝั่งตรงข้ามก็เป็นพื้นที่สำหรับทานอาหารที่ไม่ได้ติดเครื่องปรับอากาศ มีเพียงพัดลมเพดานช่วยระบายความร้อน และกำจัดกลิ่นอาหารตกค้าง

     “ช่วงนี้แวดวงโฆษณาก็ต้องหยุดไปตั้งแต่เดือนเมษายนต้องรอดูมาตรการของรัฐว่า จะเป็นอย่างไรต่อไป แต่ก็ถือเป็นช่วงเตรียมการณ์งานที่เลื่อนมา แล้วก็ยังต้องมีมาตรการที่ช่วยเรื่อง social distancing เราก็คงวางแผนกันเรื่องวิธีการที่เปลี่ยนไป เราต้องจัดการกองถ่ายให้ safe ที่สุด ใช้คนน้อยที่สุด และชั่วโมงทำงานก็เปลี่ยนไปจากเดิม 

     เราเริ่มหยุดให้บริการตั้งแต่ช่วงปลายมีนาคมจนถึงเดือนเมษายนที่ปิดบริการไปเลยทั้งเดือน แต่ยังดีที่พนักงานเราไม่ได้มีจำนวนมาก ทำให้เรายังดูแลพวกเขาไหว แล้วให้เขาช่วยมาคอยดูแลซ่อมแซมส่วนต่างๆ ที่เวลางานยุ่งๆ เราอาจจะไม่มีเวลาได้ซ่อมแซม สตูดิโอของเราเพิ่งเปิดมาได้ปีเดียวจึงยังไม่มีปัญหามาก แต่ก็พยายามดูแลให้อยู่ในสภาพดี ใช้งานได้ปกติเราพยายามปรับฟังก์ชั่นและพื้นที่ส่วนต่างๆ ให้รองรับความต้องการของทีมงานได้ครบถ้วนที่สุด คงต้องรอดูต่อไปว่า ยังมีจุดไหนที่เราสามารถทำให้พวกเขาเข้ามาใช้งานได้สะดวกสบายขึ้น” 

Studiology
ซอยคงพิทักษ์ ถนนมัยลาภ

website: studiology.net

┃Photography : Nucha J.

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม