ฉันเติบโตมาในโรงเรียนที่คุณครูเกินครึ่งมีทัศนคติว่า เด็กสายศิลป์เป็นเด็กไม่ตั้งใจเรียน หรือที่แย่กว่าก็คือเป็นเด็กหัวไม่ถึง นักเรียนสายวิทย์กับนักเรียนสายศิลป์ในโรงเรียนเหมือนอยู่กันคนละโลก สายวิทย์คือกลุ่มที่จะเติบโตไปเป็นชนชั้นนำ โลกของพวกเขาอาจจะเคร่งเครียด เต็มไปด้วยการแข่งขัน แต่ก็มีความหวังและมีความหมายต่อสังคม ในขณะที่โลกของเด็กสายศิลป์มีอิสระ แต่ก็ไร้ความสำคัญ ไร้ความคาดหวัง บางครั้งก็ไร้การเหลียวแล
หลายคนจึงรับเอาความรู้สึกเหล่านี้ติดมาเป็นทัศนคติที่มีต่อศาสตร์สายวิทย์และศาสตร์สายศิลป์ วิทยาศาสตร์นั้นช่างสว่างไสวเจิดจ้า แม้จะแห้งแล้งแข็งกระด้าง ในขณะที่ศิลปะนั้นเสรีแต่สับสนไร้ทิศทาง ทั้งที่แท้จริงแล้วก่อนที่จะมีระบบการศึกษาไทย วิทยาศาสตร์กับศิลปะเคยเป็นสองสิ่งที่แยกกันไม่ออก
Botanical Art หรือ Botanical illustration เป็นรูปแบบของงานจิตรกรรมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานพร้อมๆกับ ‘อนุกรมวิธาน’ ศาสตร์ทางชีววิทยาของการแบ่งประเภทและจัดหมวดหมู่สิ่งมีชีวิตเป็นลำดับขั้น จุดเด่นของศิลปะแขนงนี้คือ การให้ความสำคัญกับการบันทึกองค์ประกอบที่ถูกต้องแม่นยำของพืช เพื่อประโยชน์ในการศึกษาทางวิทยาศาสตร์
เพื่อการนั้น ศิลปินจะต้องจับจุดสนใจในองค์ประกอบของพืชที่เป็นแบบให้ได้ว่าสิ่งไหนที่สำคัญ ตัวอย่างพืชในฐานะนายแบบนางแบบของ Botanical Artist จะถูกเก็บรวบรวมจากนักพฤกษศาสตร์ ก่อนจะถูกทำให้แห้งและกดให้แบนในกระบวนการ Herbarium press จนเหมือนหญ้าแห้งในสายตาของคนทั่วไป
“หน้าที่ของนักวาดพรรณไม้ คือการคืนชีวิตให้กับตัวอย่างด้วยทักษะของการวาดรูป เราทำงานหลักๆ 2 อย่าง คือ การลงหมึก และการลงสีน้ำ ทุกครั้งที่เราลงมือวาดงาน เราต้องตัดสินว่าอะไรที่เราจะวาด ซึ่งต้องอาศัยความรู้ทางพฤกษศาสตร์ รู้ว่าองค์ประกอบไหนของพืชที่สำคัญต้องขับเน้น และรายละเอียดปลีกย่อยไหนที่ไม่จำเป็น และประกอบสร้างตัวอย่างขึ้นมาใหม่” Lucy Smith ศิลปิน Botanical Artist ชาวออสเตรเลียกล่าว
“มันเป็นงานที่ต้องมีความรับผิดชอบในระดับหนึ่งเมื่อเราต้องทำงานกับตัวอย่างทางชีววิทยา เพราะเราต้องแสดงความเป็นจริงที่สมบูรณ์ ขนาดของส่วนต่างๆจำเป็นต้องแม่นยำมากๆ ทุกอย่างต้องวัดขนาดอย่างละเอียด เรื่องสีเราก็ต้องศึกษาให้มั่นใจว่าถูกต้อง 100 % ตรงตามธรรมชาติ ”
ถึงแม้ปัจจุบันเทคโนโลยีการถ่ายภาพและวิดีโอจะพัฒนาไปมาก แต่ก็ไม่สามารถทดแทนการประยุกต์องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และศิลปะของการเลือกให้ความสำคัญในองค์ประกอบของนักวาดพรรณไม้ได้ เพื่อให้ได้ทั้ง 2 สิ่ง ศิลปิน ต้องทุ่มเทศึกษาพืชที่วาดอย่างจริงจัง เข้าใจการทำงานของอวัยวะส่วนต่างๆ ลงพื้นที่จริงเพื่อดูพืชขณะมีชีวิตอยู่ในธรรมชาติ ในสภาพแวดล้อมต่างกัน และสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือจินตนาการและทักษะทางศิลปะในการคืนชีวิตและความงามตามธรรมชาติให้กับพืชพรรณบนผืนภาพ
ในประเทศไทยเองก็มีกลุ่ม Botanical illustrator รวมตัวกันในชื่อ ชมรมพฤกษศิลปินไทย (THBA) ซึ่งที่ผ่านมาได้ส่งผลงานของศิลปินไทย 21 คน เข้าร่วมแสดงภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ในนิทรรศการ Flora of Southeast Asia 2022 ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2566 และมีการจัดเวิร์กชอปให้ความรู้อยู่อย่างสม่ำเสมอ ผู้สนใจสามารถเข้าไปดูได้ที่ Facebook: Thai Botanical Artists
รูปภาพพรรณไม้ที่มีทั้งความถูกต้องแม่นยำระดับใช้ในงานศึกษาวิจัย และความงามชดช้อยบริสุทธิ์ของธรรมชาติที่ปรากฏ เป็นหลักฐานให้ฉันเห็นว่า วิทยาศาสตร์มิได้แห้งแล้งแข็งกระด้างเสมอไป และศิลปะก็หาใช่สับสนไร้ทิศทาง แต่ศาสตร์และศิลป์เป็นองค์ประกอบที่ส่งเสริมกันเสมอ มันคงจะดีกว่า ถ้าเราไม่ได้มีสำนึกที่แยกสองสิ่งนี้ออกจากกัน
Words: Roongtawan Kaweesilp
ข้อมูลจาก