Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

ปรากฏการณ์ BLACKPINK ที่ COACHELLA คือผลแห่งความอุตสาหะ 30 ปีของวงการ K-POP

ประวัติศาสตร์ที่ไอดอลทุกเจนร่วมกันสร้างมาจน ‘เค-ป๊อป’ ดังเปรี้ยงไปทั่วโลก
Culture / Entertainment
BLACKPINK ที่โคเชลลา 2023
Photo: Frazer Harrison Getty Images

‘วัฏจักร’ คือคำที่ใช้อธิบายความเปรี้ยงครั้งประวัติศาสตร์ของ BLACKPINK ที่เทศกาลดนตรีโคเชลลา 2023 หลังจากที่พวกเธอไล่เก็บแต้มความสำเร็จมาเรื่อยๆ นับตั้งแต่เดบิวต์เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ปี 2016 และนี่คือ ประวัติศาสตร์สร้างใหม่โดยสี่สาว BLACKPINK

  • ใช้เวลา 7 ปีหลังจากเดบิวต์ BLACKPINK จารึกชื่อให้ตนเองว่าเป็นศิลปินเอเชียวงแรกที่เป็นเฮดไลเนอร์เทศกาลดนตรีระดับโลก ‘โคเชลลา’
  • มีผู้เข้าชมการแสดงสดของ BLACKPINK ที่เวทีหลัก 125,000 คน
  • โคเชลลาไลฟ์สตรีมการแสดงสดของ BLACKPINK ทางยูทูบ ซึ่งเว็บไซต์ Techradar เผยว่ามีผู้ชมคลิกเข้ามาชมรวมแล้ว 250 ล้านวิวทั่วโลก
  • สี่สาวแสดงสด 2 ชั่วโมง ขนเพลงฮิต 18 เพลงไปโชว์ ได้แก่ Pink Venom, Kill This Love, How You Like That, Pretty Savage, Kick It, WHISTLE, WHISTLE (Dance remix), You & Me (Jennie solo), FLOWER (Jisoo solo), Gone + On The Ground (Rosé solo), MONEY (Lisa solo), BOOMBAYAH, Lovesick Girls, PLAYING WITH FIRE, Typa Girl, Shut Down, TALLY, DDU-DU DDU-DU, FOREVER YOUNG
  • Visibrain แพล็ตฟอร์มมอนิเตอร์สื่อออนไลน์เผยสถิติว่า โพสต์ในโซเชียลมีเดียกล่าวถึง BLACKPINK 7,557,072 โพสต์ หรือคิดเป็น 78.1 เปอร์เซ็นต์ หรือจากโพสต์ทั้งหมด 9,674,274 โพสต์ที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลดนตรีโคเชลลา

BLACKPINK ที่โคเชลลาปี 2023

  • กินเนสเวิลด์เร็กคอร์ดบันทึกว่า BLACKPINK เป็นเกิร์ลกรุ๊ปที่มียอดสตรีมเพลงสูงที่สุดในแพลตฟอร์ม Spotify และช่องทางการของ BLACKPINK ในยูทูบมียอดวิวรวมกันมากกว่า 3,000 ล้านวิว แซงหน้าแชมป์เก่า Justin Bieber
  • ปี 2022 BLACKPINK เป็นศิลปินเคป็อปหญิงวงแรกที่อัลบั้มขึ้นถึงอันดับ 1 ทั้งอัลบั้มชาร์ตฝั่งอังกฤษและอเมริกา
  • ปี 2020 เพลง How You Like That เป็นเพลงที่มียอดวิวสูงสุดภายใน 24 ชั่วโมงบนยูทูบ (ซึ่งสี่สาวสวมฮันบกสไตล์โมเดิร์นออกแบบโดย Kim Danha ในเอ็มวีเพลงนี้ด้วย)
  • ปี 2019 BLACKPINK คือเกิร์ลกรุ๊ปเคป็อปวงแรกที่ได้ขึ้นแสดงสดในเทศกาลดนตรีโคเชลลา และเป็นศิลปินหญิงเกาหลีวงแรกที่ได้ขึ้นแสดงสดบนเวทีในเทศกาลดนตรีในอเมริกา

BLACKPINK ที่โคเชลลาปี 2019

BLACKPINK ที่ โคเชลลา 2019
Photo: Getty Images

ปัจจัยความปังอันยั่งยืนของอุตสาหกรรมเคป็อป

ทำไมอุตสาหกรรมเพลงป็อปของเกาหลีใต้จึงมีภาพหรือวิชวลที่เตะตรึงมาก เป็นเพราะในโลกตะวันตกเสพสื่อบันเทิงจากวิทยุ อย่างเพลง Video Killed the Radio Star ของวง The Buggles วิพากษ์ปรากฏการณ์ที่โทรทัศน์เริ่มเป็นสื่อกระแสหลักแทนที่วิทยุเอาไว้ซึ่งเป็นจริงเมื่อ MTV ถือกำเนิดในปี 1981 ศิลปินฝั่งตะวันตกจึงไม่ได้มีวิชวลจัดจ้านมากนัก

ผิดกับเกาหลีใต้ซึ่งอยู่ในภาวะสงครามมาตลอด ดังที่ยุนยอจอง นักแสดงเกาหลีใต้คนแรกที่ได้รางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากหนังเรื่อง Minari ในปี 2021 อธิบายไว้ในรายการ Youn’s Unexpected Journey ว่า สงครามทำให้คนเกาหลีมี han หรือ sorrow ที่ทำให้พวกเขาแสดงออกอย่างมีน้ำหนัก เวลาแสดงก็แสดงอย่างดิ่งลึก เวลาเต้นหรือร้องเพลงก็ทำอย่างสุดชีวิต เพื่อให้เสียงหรือการแสดงออกของพวกเขาได้ปลดเปลื้องออกมา เพื่อให้ถูกเห็นและถูกได้ยิน

อุตสาหกรรมเพลงป็อปของเกาหลีจึงเริ่มเฟื่องฟูในยุคโทรทัศน์ นั่นทำให้เพลงเคป็อปต้องทำให้เสพได้ทั้งทางหูและทางตา ประกอบกับช่วงปลายยุค 1990 ได้เกิดคำเรียกศิลปินเพลงป็อปว่า ‘ไอดอล’ ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยวงบุกเบิกในยุคนั้นก็เช่น god, H.O.T., S.E.S. และ Fin.K.L

Fin.K.L ไอดอลเคป็อปที่เดบิวต์ในปี 1998
Fin.K.L ไอดอลเคป็อปที่เดบิวต์ในปี 1998

บาดา เมมเบอร์คนหนึ่งของ S.E.S. มาออกรายการทีวีชื่อดังของเกาหลีใต้ Radio Star ที่ออกอากาศมายาวนานถึง 17 ปีในเอพิโซดที่ 811 เธอกล่าวติดตลกว่าไอดอลรุ่นน้อง (ปัจจุบันคือรุ่นที่ 4) ต้องขอบคุณไอดอลรุ่น 1 ในยุคเดียวกับเธอที่กรุยทางพาเพลงเคป็อปออกไปให้โลกรู้จัก ในสมัยที่ S.E.S. ไปโปรโมทที่ญี่ปุ่นก็ต้องนั่งรถไฟชินคันเซนและแต่งหน้าแต่งตัวกันเอง ส่วนซอนเย เมมเบอร์ของ Wonder Girls เล่าไว้ในรายการ Knowing Bros เอพิโซดที่ 375 ว่า พาดนตรีเคป็อปไปบุกตลาดอเมริกาในปี 2009 ด้วยการ “ยืนแจกแผ่นพับแนะนำให้กับคนเดินถนน” ก่อนจะได้ไปแสดงสดครั้งแรกในรายการทอล์กโชว์ของอเมริกา ‘Wendy Williams Show’

ไอดอลรุ่น 1 เป็นรุ่นแรกที่ใช้ระบบฝึกฝนจากทางค่ายเพลง ทั้งการร้องเพลง แร็ป เต้นไปจนถึงการแต่งตัวที่ต้องดีเลิศสมกับความหมายของ ‘ไอดอล’ ทุกวงพยายามทำเพลงและวิชวลของวงให้แตกต่างจากวงอื่นๆ เพื่อจะมีสีหรือเอกลักษณ์ของตนเองให้ได้ ส่งผลให้เกิด K-Fashion พร้อมๆกับการถือกำเนิดของ K-Pop

ใครที่เคยดูมิวสิควิดีโอเพลงเคป็อปเป็นครั้งแรกต้องตาถลนกันทุกรายกับโปรดักชั่นอลังการราวกับหนังฮอลลีวู้ด และเสื้อผ้าที่เหมือนขนมาทั้งปารีส อาทิ เอ็มวีเพลง Kill This Love ของ BLACKPINK ทั้งสี่สาวเปลี่ยนเสื้อผ้ากันถึง 20 ชุด ซึ่งล้วนมาจากไฮแบรนด์ต่างๆ อาทิ เดรสสีดำมูลค่า 8,000 ดอลล่าร์สหรัฐจาก Givenchy ที่จีซูใส่ หรือเดรสปักมูลค่า 15,000 เหรียญจาก Celine ของลิซ่า ขณะที่ Viviz ที่มีอดีตสมาชิกวง G-Friend 3 คนเมื่อครั้งมาออกรายการ Yong Jin’s Health Center ก็บอกว่ามีช่วงโปรโมทแค่ 2 สัปดาห์ เพราะว่างบค่าเสื้อผ้าสูงมาก สะท้อนชัดว่าแฟชั่นเป็นเรื่องใหญ่มากกับการเป็นศิลปินเคป็อป

คอสตูมไฮแบรนด์ในเอ็มวีเพลง Kill This Love ของ BLACKPINK
คอสตูมไฮแบรนด์ในเอ็มวีเพลง Kill This Love ของ BLACKPINK

ขอยกคำของยุนยอจองมาอีกครั้งที่ว่า ศิลปินเกาหลีก็ทำผลงานของเราดีงามกันอยู่แล้ว แต่โลกเพิ่งตื่นมาเจอเราเท่านั้นเอง ความดังของเคป็อปที่กลายเป็นกระแสหลักไม่ได้เกิดชั่วข้ามคืน แต่เป็นพลังสนับสนุนจาก ‘ด้อม’ ของวงต่างๆ แฟนด้อมหรือแฟนเพลงของไอดอลถือเป็นกำลังหลักที่ทำให้เคป็อปมาไกลอย่างในทุกวันนี้

แม้ในบางประเทศที่ทางค่ายไม่ได้พาศิลปินไปโปรโมท แต่แฟนๆจะตั้งวงสื่อสารส่งข่าวกันเองทางเว็บบอร์ดและต่อมาเป็นทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งเรียกประชากรกลุ่มนี้ว่า SNS Citizen (เนื่องจากคนเกาหลีเรียกโซเชียลมีเดียว่า Social Network Service) ที่สามารถส่งให้เพลงใหม่ของ BTS และ BLACKPINK มียอดวิวเกินร้อยล้านได้ภายใน 24 ชั่วโมง

นอกจากคอสตูมจัดเต็มบนเวทีแล้ว ลุคสบายๆนอกเวทีจึงจำเป็นต้องแฟชั่นด้วย อันนำไปสู่ ‘ลุคสนามบิน’ ที่แฟนๆและช่างภาพจากสื่อบันเทิงสำนักต่างๆจะไปยลโฉมไอดอล ซึ่งจะกลายเป็นข่าวพาดหัวว่าวันนี้ไอดอลของคุณใส่อะไร เช่น ทิฟฟานีวง Girls’ Generation ไปสนามบินในเสื้อโค้ท Burberry ราคา 2,295 เหรียญ ส่วนแทยอน ลีดเดอร์ของวงก็ถือกระเป๋า Ralph Lauren สนนราคา 2,250 เหรียญ และ J-Hope ก็เป็นข่าวพาดหัวว่าใส่ ‘กางเกงนอน’ ราคา 990 เหรียญไปสนามบิน ทั้งที่จริงแล้วเป็นกางเกงยีนส์สีชมพูอ่อนลายการ์ตูนจาก Vetements

เจนนี่ถือกระเป๋า Chanel ไปสนามบิน
เจนนี่ถือกระเป๋า Chanel ไปสนามบิน

การที่ ‘แฟชั่นสนามบิน’ สำคัญนัก ก็เพราะไอเท็มต่างๆบนตัวไอดอลจะถูกแฟนๆซื้อหาจนหมดไปจากห้างร้านต่างๆในเวลาอันสั้น เมื่อครั้งที่ Suga BTS ใส่เสื้อเชิ้ตลายตารางของ Louis Vuitton by Virgil Abloh ก็ปรากฏว่ามีคนค้นหาเสื้อตัวนี้ใน Lyst เว็บช้อปปิ้งออนไลน์ยักษ์ใหญ่เพิ่มขึ้น 120% และเมื่อ RM ลีดเดอร์ของวงใส่เสื้อยืดสีชมพูจาก Adidas ยอดค้นหาก็เพิ่มขึ้นจากเดิม 97% ศิลปินเคป็อปจึงส่งอิทธิพลต่อวงการแฟชั่นระดับโลกอย่างวัดได้ด้วยตัวเลข ทำให้ไอดอลกลายได้ร่วมงานกับไฮแบรนด์หนาตามากในยุคนี้

แฟนเพลงจะยินดีมากหากว่าศิลปินโปรดของพวกเขาได้เป็น ‘คนแรก’ ‘คนเดียว’ หรือ ‘ล่าสุด’ ของอะไรก็ตามที่เป็นเรื่องดีๆ Girls’ Generation ไปนั่งฟร้อนท์โรว์เป็นวงแรกๆที่ Burberry ในลอนดอนมาตั้งแต่ปี 2012 เมื่อต้านทานความแรงของเพลง Gee ที่ดังไปทั่วโลกไม่ไหว ส่วนองค์พ่อแฟชั่น G-Dragon ผู้มีหนังศีรษะอันทนทานต่อสารเคมีในน้ำยาทำสีผมเป็นเลิศเมื่อทำมาแล้วทุกทรง ทุกสีก็ได้กลายเป็นเพื่อน ก่อนที่ต่อมาจะกลายเป็นชาวเอเชียคนแรกที่เป็นทูตสากลของ Chanel หลังจากไปร่วมแฟชั่นโชว์ของแบรนด์มาเกือบทศวรรษ

G-Dragon จาก BIGBANG เป็นชาวเอเชียคนแรกที่เป็นทูตสากลของ Chanel
G-Dragon จาก BIGBANG เป็นชาวเอเชียคนแรกที่เป็นทูตสากลของ Chanel Photo: Chanel

ส่วน Kai EXO เป็นศิลปินเคป็อปคนแรกที่ได้ทำคอลเล็กชั่นพิเศษกับ Gucci ในวาระครบ 100 ปีของแบรนด์ หรือ aespa เป็นทูตของ Givenchy กันยกวงเป็นวงแรก และ Mino วง Winner ที่สร้างประวัติศาสตร์เป็นศิลปินเค-พ็อพคนแรกที่เดินแบบในแฟชั่นโชว์เครื่องแต่งกายชายของ Louis Vuitton ประจำฤดูร้อน 2020 เป็นต้น

ไม่แปลกใจที่ท่ามกลางผู้ชมกว่า 125,000 คนที่พาตัวเองไปยืนดูการแสดงสดของ BLACKPINK กันตัวเป็นๆ ที่โคเชลลาในปี 2023 นั้น จำนวนมากชูแท่งไฟรูปหัวใจสีชมพูของวงบ่งบอกสถานะการเป็นด้อม BLINK ที่อยากจะมาเป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์นี้ของศิลปินที่รัก ซึ่งได้เป็นศิลปินเอเชีย (หรือศิลปินเค-ป๊อป) วงแรกที่ได้เป็นเฮดไลเนอร์เทศกาลดนตรีระดับโลกเช่นนี้

Words: Suphakdipa Poolsap

ข้อมูลจาก

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม