Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

A Handful of The Universe

พาไปดูจักรวาลธรรมชาติขนาดฝ่ามือของเอิง -The Plant Observer
Art & Design / Culture

ใบไม้ ดอกไม้ กิ่งก้าน ปีกผีเสื้อ และชิ้นส่วนเล็กๆ น้อยๆ จากธรรมชาติที่พบเจอระหว่างการเดินทาง บางชิ้นเจอด้วยตัวเอง บางชิ้นเพื่อนเก็บมาให้ เราเริ่มสะสมตั้งแต่เมื่อไหร่จำไม่ได้ชัดเจน รู้ตัวอีกทีก็ตอนที่เห็นทุกอย่างรวมอยู่ด้วยกัน เป็นเหมือนจักรวาลขนาดเล็ก ในลิ้นชักและกล่องมากมายที่กระจายตัวอยู่ในอพาร์ตเมนท์ของตัวเอง ทั้งหมดนี้ที่จะเล่าให้ทุกคนฟัง เป็นเพียงส่วนหนึ่งของจักรวาลที่อยากแนะนำให้รู้จักจะมีบางชิ้นที่อยู่ตรงนี้ที่แม้กระทั่งเราเองก็ไม่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับมันได้ เราขอแค่อยากให้ทุกคนใช้ความรู้สึก มองผ่านดวงตาเพื่อชื่นชมรูปร่างและความงามที่ธรรมชาติมอบให้มันก็น่าจะเพียงพอ (ชิ้นส่วนทุกชิ้นที่เห็นตรงนี้ เก็บมาจากการร่วงหล่นของมันเท่านั้น เราไม่เด็ด ดึง หรือขโมยมันมาจากต้นในขณะที่มันสวยงามนะ)

1. ฝักหางนกยูงฝรั่ง
Common Name : Flam-boyant, 
The Flame tree, Royal poinciana

ย้อนไปถึงความทรงจำช่วงอนุบาล ที่ลานหน้าโรงเรียนเราจะมีต้นหางนกยูงต้นใหญ่มาก ทุกพักกลางวันหลังกินข้าวเสร็จ เด็กๆ จะไปวิ่งเล่นหลบร้อนที่ใต้ต้นหางนกยูง เด็กผู้หญิงจะนำกลีบเลี้ยงของดอกหางนกยูงมาติดที่เล็บ สมมติว่าตัวเองเป็นนางสาวเล็บยาว ส่วนเด็กผู้ชายจะเก็บฝักหางนกยูงแก่มาฟันดาบ ใครดาบหักก่อนคนนั้นจะเป็นผู้แพ้ เป็นการเล่นกับวัสดุจากธรรมชาติที่เรายังจำได้จนถึงทุกวันนี้

2.กิ่งหลิว
Common Name :Babylon Willow, 
Napoleon’s Willow,Weeping Willow

เราเก็บกิ่งต้นหลิวที่ร่วงอยู่บนพื้นจากสนามเด็กเล่นแห่งหนึ่งในกรุงเทพ เราชอบฟอร์มของกิ่งหลิวที่มีความโค้งงอสวย แข็งแรงและมีใบเรียวยาวลู่ลม พลิ้วไหวอย่างอิสระเหมือนเส้นผมที่สวยงาม เราเก็บมาหลายเดือนแล้วกิ่งหลิวก็ยังไม่แตกหัก ยังคงความอ่อนตัวของกิ่งไว้แบบนั้น ต้นหลิวยังถือเป็นสัญลักษณ์ของโชคลาภ ความสุข ความร่ำรวย ตามความเชื่อของในประเทศจีนอีกด้วย

3.พวงครามม่วง
Common Name : Purple Wreath,
Sandpaper Vine, Queen’s Wreath

ร้านขายของชำคุณป้าข้างอพาร์ตเมนท์ปลูกดอกพวงครามม่วงต้นใหญ่ ทุกหน้าร้อนของทุกปีเราจะได้ชะเง้อมองความสยงามของดอกพวงครามม่วงนี้บานสะพรั่งเป็นช่อใหญ่ และโน้มตัวลงมาจากริมรั้วและทิ้งดอกแห้งโรยลงสู่พื้นถนน เราเก็บดอกพวงครามม่วงที่เกลื่อนอยู่บนพื้นนั้นมาใส่กระป๋องที่เคยใส่ใบชาจีน และใส่ซองซิลิก้าเจลเพื่อดูดความชื้นลงไป เราพบว่าวิธีการเก็บด้วยวิธีนี้สามารถช่วยคงรูปร่างของดอกไม้ไว้ได้พอสมควร ไม่ต้องถูกทับแห้งให้แบนบี้ (ในภาพมีแบบทั้งทับและไม่ทับ)

4.เฟื่องฟ้า
Common Name : Paper Flower

ชื่อสามัญของเฟื่องฟ้าในภาษาอังกฤษคือ ‘Paper Flower’ ตอนแรกเราก็ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมต้องชื่อนี้ พอเก็บทับแห้งไว้สักพักก็เข้าใจ กลีบดอกของเฟื่องฟ้ามีสีที่คงทน และเมื่อแห้งสนิทกลีบดอกจะแข็งแรงราวกับกระดาษสีโปร่งๆ เราชอบเฟื่องฟ้าที่สามารถเติบโตได้ทุกที่และทนร้อนทนฝน และยังบานสะพรั่งสดใสตัดกับแสงแดดแผดจ้าของประเทศไทย ถ้าเดินตามตรอกซอกซอยไหนแล้วเจอเฟื่องฟ้าบานเป็นพุ่มใหญ่ๆ จะรู้สึกสดชื่นขึ้นมาทันที

5. ผลประดู่ป่า
Common Name : Burma padauk 

ผลเป็นฝักกลมแบน ลักษณะคล้ายจานบิน เดิมผลมันจะเป็นสีเขียวอ่อน แต่เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเทา เราเก็บมาจากพื้นถนนระหว่างไปวิ่งที่สวนสาธารณะแห่งหนึ่ง 

6.ใบจากดอกไม้ชนิดหนึ่ง

เก็บมาเพราะรูปร่างใบเป็นซี่คมๆ เหมือนใบเลื่อยขนาดเล็กสมมาตรกัน เราจัดให้อยู่ในตระกูลใบไม้แปลกตาสำหรับเราไปเลย

7.ร่างของผีเสื้อ

เราเก็บมาทั้งตัวและดีใจที่ถึงตอนนี้ปีกของมันยังคงสีสดสวยและยังไม่กรอบเป็นผง ผีเสื้อตัวนี้เราเจออยู่บนพื้นทางเดินเข้าอพาร์ตเมนท์ อะไรบางอย่างทำให้เราก้มลงมามองเท้า แล้วเจอร่างผีเสื้อนอนตายอยู่บนพื้น เราค่อยๆ เก็บมันขึ้นมาจากตรงนั้นและเอามาใส่ไว้กับจานทดลองแก้วที่มีฝาครอบ เราเคยเขียนบันทึกสั้นๆ จากความรู้สึกส่วนตัวที่ว่า ผีเสื้อในเมืองน่าจะพบได้ยากอยู่แล้ว ถ้าตรงนั้นไม่มีธรรมชาติ ผีเสื้อมาได้ยังไงถึงตรงนี้ และยังตกลงมาตายในเมืองนี้อีกบันทึกที่เราเขียนคือ Someone die alone in this city ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบเข้ากับความรู้สึกตัวเองในตอนนั้นด้วย

8. ใบชงโค 
Common Name : Purple Orchid Tree, 
Hong Kong Orchid Tree, Purple Bauhinia

มาจากสวนสาธารณะใกล้บ้าน ตอนนั้นไปปิคนิคและเห็นใบชงโคนี้ร่วงอยู่บนพื้น เลยเอามันออกมากางออกและนับเส้นใบ ตื่นเต้นที่พบว่ามันมีจำนวนเท่ากันทั้งสองข้าง ซึ่งปกติลักษณะของความสมมาตรนี้มักพบได้บ่อยในธรรมชาติอยู่แล้ว แต่พอมาเห็นจริงด้วยตาตัวเองแล้วตื่นเต้นเลย

9.ขนนกตะขาบทุ่ง
Common Name : Indian Roller

เพื่อนเก็บมาให้ตอนนั้นยังไม่แน่ใจว่าเป็นนกชนิดไหน เลยมาสืบค้นดูพบว่าเป็นนกตะขาบทุ่ง ไม่รู้บินหลงมาไกลถึงที่นี่ได้ยังไง เราชอบสีฟ้าที่ไล่เฉดไปจนถึงสีน้ำเงินนี้มากเลย ไม่รู้จะไปหาขนนกแบบนี้ตอนไหน ยังรู้สึกขอบคุณเพื่อนอยู่เลยที่เก็บมาให้

10. ขั้วดอกของดอกไม้ปริศนา

เราพยายามรีเสิร์ชแล้วก็ยังไม่พบคำตอบ ได้มาจากเพื่อนที่เดินทางไปทำงานหาโลเคชั่นที่กองถ่ายภาพยนตร์ในจังหวัดเลย แล้วก็เก็บกลับมาให้เราท่ีกรุงเทพ ความน่าตื่นเต้นของมันคือ มันเป็นขั้วแห้งที่ยังมีสิ่งที่คล้ายเมล็ดเล็กๆ บรรจุอยู่ข้างใน เวลาเราเขย่าเมล็ดที่อยู่ในนั้นจะส่งเสียง เราเคยตั้งชื่อมันว่า ‘Maracas Flower’ เพราะเวลาเขย่ามัน
จะมีเสียงเหมือนเครื่องดนตรีที่ชื่อเรียกว่า ‘มาราคัส’ หรือ ‘ลูกแซก’

11.ดอกตะแบกแห้ง
Common Name : Thai crape myrtle

ฟอร์มสวยมาก เห็นแล้วเก็บทันที ดอกตะแบกแห้งขั้วดอกแข็งแรงมาก หลายคนน่าจะเคยเห็นดอกตะแบกสีม่วงบานสะพรั่งในหน้าร้อน และทิ้งดอกโรยลงบนพื้นถนน แต่เราเลือกเฉพาะขั้วดอกของมันมาเก็บไว้ในกล่องเหล็ก และทุกครั้งที่เปิดกล่องออกมาดู จะชื่นชมความสวยงามของขั้วดอกตะแบกทุกครั้งเลย

12.สับปะรดแคระแห้ง
Common Name : The Curagua, Ananas Lucidus Pineapple plant

เราชอบฟอร์มของสับประรด เพราะเหมือนมีตาเต็มไปหมด แต่นี่เป็นสับปะรดแคระ ที่เหมือนเอาสับปะรดลูกใหญ่มาย่อส่วน น่ารักมากๆ

13.ลูกมะค่า
Common Name : Black rosewood Pod mahogany

มองเผินๆ จะเหมือนช็อกโกแลตบอลก้อนใหญ่ๆ แต่สิ่งนี้คือลูกมะค่า ไม้มีค่าของไทยชนิดหนึ่งเลย จำได้ไม่ชัดว่าเอามาจากไหน แต่คิดว่ามีคนเก็บมาให้โดยที่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร เม็ดมะค่ามีผิวเรียบลื่น สีน้ำตาลเข้มสวย และแข็งมากเหมือนหินก้อนขนาดย่อมเลย

14.ลูกยาง
Common Name : Yang

ตอนเรียนประถม ข้างหลังโรงเรียนของเราติดอยู่กับป่าต้นยาง ที่มีค้างคาวด้วย ทุกเย็นหลังเลิกเรียน เราและเพื่อนจะชอบไปวิ่งใต้ต้นยาง ก่อนที่ค้างคาวจะออกหากิน แล้วเก็บลูกยางมาโยนเล่นขึ้นฟ้า แข่งกันว่าลูกยางใครตกพื้นทีหลัง คนนั้นจะชนะ วิธีเล่นลูกยางคือ จับที่ปลายหูที่เป็นเหมือนหูกระต่ายข้างใดข้างหนึ่งของมัน แล้วโยนขึ้นไปในแนวตรง ลูกยางจะหมุนติ้วกลางอากาศ และพลิ้วลงตามแรงลมในแนวดิ่งที่ไม่ไกลจากจุดเดิม เราจำความสนุกจากการเล่นลูกยางได้ตั้งแต่ตอนนั้นเลย พอเห็นลูกยางอีกครั้งที่สวนสาธารณะ เราจึงไม่ลังเลที่จะเก็บมันมาไว้เป็นเครื่องเตือนความทรงจำ ลูกยางลูกนี้เราเอามันมาแต่งตัวใหม่ ทำพู่ห้อยสีเขียวเพื่อแขวนไว้ที่บานหน้าต่างอพาร์ตเมนท์ มองมันพลิ้วปลิวตามแรงลมในบางวัน และเขียนท่อนหนึ่งของเพลง Caught A Long Wind ของ Feist ไว้ที่ใบด้วย

I caught a long wind
A long life wind
I got to know the sky
But it didn’t know me’

15.รวมใบไม้หลากชนิด

เราชอบเก็บใบไม้ในรูปร่างที่ต่างกัน บางทีก็เก็บจากใบที่สีเฟดออกจากเขียว กลายเป็นแดง กลายเป็นเหลือง หรือกลายเป็นดำ บางครั้งเราก็เก็บเพื่อสังเกตว่าในครั้งแรกที่เก็บมามันเป็นสีอะไร และมันจะกลายเป็นสีอะไรเมื่อผ่านเวลา เป็นการชอบสังเกตความเปลี่ยนผ่านแบบเล็กๆ น้อยๆ ส่วนตัว 

16.ดอกกระเทียมเถา
Common Name : Garlic Vine

แม่เก็บและทับไว้ให้เราจากต้นที่บ้านต่างหวัด ที่เรียกว่าดอกกระเทียมเถา เพราะกลิ่นของดอกและใบจะมีกลิ่นเหมือนกระเทียม และมีรูปทรงเป็นเหมือนเถา ดอกเดิมจะเป็นสีม่วงสวยสะพรั่ง แต่เราลองดมด้วยตัวเองแล้ว กลิ่นเหมือนกระเทียมจริงๆ ขนาดทับแห้งแล้วยังมีกลิ่นกระเทียมบางๆ ถือเป็นดอกแรกๆ ที่เราให้แม่ทับเก็บไว้ให้ เป็นการเผยแพร่กิจกรรมทับดอกไม้ให้แม่ทำเป็นงานอดิเรก ฝึกความละเอียดและใจเย็นด้วย

17.ดอกแปรงล้างขวด
Common Name : Bottle brush tree

เราเจอครั้งแรกที่สวนพฤกษศาสตร์ลำปาง เราบังเอิญไปนั่งอยู่ใต้ต้นของมัน และพบมันร่วงอยู่บนพื้น โชคดีที่มีป้ายบอกว่ามันคือต้นแปรงล้างขวด ซึ่งตั้งชื่อตามลักษณะทางกายภาพของมันได้อย่างเหมาะสมมาก ก่อนที่ดอกจะแก่และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล จะมีเกสรเพศผู้สีแดงฟูๆ จำนวนมาก

18. ดอกแก้วเจ้าจอม หรืออีกชื่อ “น้ำอบฝรั่ง”
Common Name : Lignum Vitae

มันเริ่มมาจากที่แม่ส่งรูปมาใน Line ว่าดอกแก้วเจ้าจอมที่บ้านออกดอกแล้ว เราเคยได้ยินชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้าตาของมัน เราภาวนาให้ดอกแก้วเจ้าจอมยังบานรอเราอยู่ เราซื้อตั๋วเดินทางกลับบ้านเพื่อไปเก็บดอกแก้วเจ้าจอมมาที่นี่ ดอกแก้วเจ้าจอมเล็กจิ๋วสีม่วงคราม (สีฟ้าอมม่วง) มีกลิ่นหอมอ่อน

ขอบคุณที่มันยังบานรอเรา (ดอกแก้วเจ้าจอม มาจากอินโดนีเซีย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสชวา จึงทรงนำพันธุ์กลับมาด้วย)

19.เฟิร์นสาย (ช้องบลู)
Common Name : Huperzia


เราเลี้ยงต้นช้องบลูไว้ริมระเบียง เป็นความผิดพลาดของเราเอง ที่ไม่สามารถดูแลมันให้เติบโตไปต่อได้ ตอนที่เห็นช้องบลูเปลี่ยนจากสีเขียวแก่สดใสเป็นสีเหลือง ไล่จากปลายล่างสุด และค่อยๆ ลามมาถึงโคนต้น เรารู้สึกใจหายที่ต้องทิ้งมันไปทั้งกระถาง เราเลยเก็บส่วนที่เหี่ยวนั่นมามัดรวมกันเป็นช่อ แล้วแขวนไว้ริมผนังห้อง ให้เป็นเครื่องเตือนใจว่า คราวหน้าเราจะดูแลมันให้ดีกว่านี้ ช้องบลูมีลักษณะเป็นเส้นสายยาว พลิ้วสวย ส่วนปลายของสายที่แก่เต็มที่เรียกว่า “สโตรบิลัส” เราชอบจับเส้นพลิ้วนั้นเล่นเหมือนสางเส้นผม ช้องบลูเมื่อแห้งแล้วยิ่งแข็งแรง เก็บมาจนสีเหลืองใบก็ยังไม่กรอบหลุดออกจากก้าน

Text & Photo : The Plant Observer

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม