Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview / People

‘ต้น-นิธิวัฒน์ ธราธร’ ชวนคิดว่า ‘ครอบครัวคือสายเลือดหรือคนอื่นที่คุณรัก’ ในซีรีส์ Analog Squad

Interview / People

ต้น-นิธิวัฒน์ ธราธร พาซีรีส์เรื่องแรก Analog Squad มาชวนคิดว่า ครอบครัวคืออะไร? สายเลือดเดียวที่ไม่แยแส หรือคนอื่นที่แคร์กัน? 

‘เมื่อรู้ว่าพ่อที่หมางเมินกันไปป่วยหนัก หนุ่มใหญ่เหลี่ยมจัด (ปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม) จึงไหว้วานคนแปลกหน้า (น้ำฝน กุลณัฐ, เจเจ-กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม และปริมมี่-วิพาวีร์ พัทธ์ณศิริ) มาสร้างครอบครัวปลอมๆ ที่ดีพร้อมทุกอย่าง เพื่อให้พ่อภูมิใจก่อนบอกลากันเป็นครั้งสุดท้าย’ 

นั่นคือคำอธิบายโดยย่อของ Analog Squad ทีมรักนักหลอก ที่ทางเน็ตฟลิกซ์ส่งมาให้ แต่จะบอกว่านั่นแค่อธิบายไม่กี่นาทีแรกของซีรีส์เท่านั้น 

เมื่อความป่วงของสิ่งมีชีวิตที่ยากแท้หยั่งถึงที่เรียกว่า ‘ครอบครัว’ มาอยู่ในมือผู้กำกับที่ถนัดบอกเล่าความสัมพันธ์อย่างนิธิวัฒน์ (คิดถึงวิทยา หนีตามกาลิเลโอ และ Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย) …บอกเลยว่ามีร้องอ้าว! แน่นอน

LIPS: เมื่อถอยออกมาเป็นคนดูผลงานหนังของผู้กำกับ ‘นิธิวัฒน์ ธราธร’ คุณเห็นความเชื่อมโยงอะไรในหนังแต่ละเรื่องของเขาบ้าง

นิธิวัฒน์: ให้นินทาตัวเองหรือ…พูดยาก ผมเห็นว่าเขาชอบเล่าเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคนในหลากหลายรูปแบบ ชัดเจนมาก หนังของเขาไม่ได้หวือหวามากมาย แต่เล่าเรื่องชีวิตมนุษย์ เรื่องเพื่อน ครอบครัว นี่คือสิ่งที่เห็นบ่อยๆในหนังของเขา

LIPS: แล้วหนังแต่ละเรื่องเป็นหลักไมล์ในชีวิตคนทำหนังเองด้วยไหม

นิธิวัฒน์: ผมทำหนังทุกเรื่องจากส่วนหนึ่งของชีวิตทั้งนั้น ไม่ได้จินตนาการมาจากอะไรก็ไม่รู้ และทุกครั้งที่ทำ เรามักตั้งคำถามกับบางประเด็น หนังจึงโตไปพร้อมกับเรา อย่าง Season Change ก็พูดถึงมุมหนึ่งของการเลือกชีวิตโดยเล่าผ่านความรักหรือดนตรี ซึ่งมาจากชีวิตผมสมัยเรียนนิเทศฯ จุฬาฯ พ่อผมเป็นข้าราชการ แม่ทำงานธนาคาร ความคาดหวังในสิ่งที่เขาอยากให้ลูกเป็นก็เช่น เป็นวิศวกร หมอ นี่คือแพตเทิร์นของคนในยุคสมัยผม พอวันหนึ่งที่เราเรียนภาพยนตร์ เขาจะมีคำถามอยู่เสมอว่า ‘เรียนแล้วเอาไปทำอะไร’ ‘จบแล้วจะไปยังไงต่อ’ ซึ่งอาชีพนักดนตรีในยุคที่ผมทำหนัง Season Change มันเท่ากับอาชีพทำหนัง ครอบครัวเราก็สงกาในสิ่งนี้เหมือนกัน แล้วตัวเราจะเลือกทางไหน 

แม้ยังเป็นเรื่องครอบครัว แต่ Analog Squad คือการสำรวจคำว่า ‘ครอบครัว’ ในหลากหลายมิติ แกนหลักของเรื่องคือคนกลุ่มหนึ่งไปรับจ้างเป็นสมาชิกครอบครัวคนอื่น มันมีความลวงที่ดูสวยงามกับความจริงที่เจ็บปวด ผมว่าไม่มีอะไรถูกผิด แต่ถ้าเป็นคุณจะเลือกอะไร หรือถ้าคุณเป็นตัวละคร คุณจะเข้าใจเขาไหม จะตัดสินใจอย่างไร 

“คนกลุ่มหนึ่งไปรับจ้างเป็นสมาชิกครอบครัวคนอื่น มันมีความลวงที่ดูสวยงามกับความจริงที่เจ็บปวด”

LIPS: เราคิดว่าครอบครัวเป็นสิ่งที่ถูกติดตั้งมาเมื่อเราเกิด แต่เมื่อเราโตขึ้น เราสามารถเลือกครอบครัวของตัวเองได้ บางคนเราอาจจะสนิทหรือให้ใจมากกว่าคนที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกับเราเสียอีก

นิธิวัฒน์: นิยามคำว่าครอบครัวของคุณเป็นแบบไหน ครอบครัวของคุณคือใคร มันคือสายเลือด หรือความสนิท ผมคิดว่ามีคำถามเกิดขึ้นมาเมื่อเราใช้ชีวิตไป คนที่ผมรู้จักบางคนเจอเหตุการณ์แบบนี้ คือแฟนเก่าของลูกญาติคนหนึ่งเลิกรากันไป แต่แฟนเก่ายังไปดูแลคุณแม่อยู่เสมอ ทุกคนบอกว่าเพราะบ้านนั้นรวยมาก มันเลิกกันไปแล้วนะ ทำไมมันยังมาทำดีกับแม่อยู่ มันต้องหวังสมบัติแน่ๆเลย แต่พอไปถามแม่ เขาถามกลับว่า เวลาฉันป่วย ใครพาฉันไปหาหมอ แล้วญาติๆที่มาตั้งคำถามกับฉัน เคยพาฉันไปหรือเปล่า แล้วถ้าฉันจะรักคนคนนี้ ฉันผิดด้วยหรือ ผมคิดว่านี่แค่ส่วนหนึ่งของการตั้งคำถามกับคำว่า ‘ครอบครัว’ 

LIPS: สารตั้งต้น Analog Squad มายังไง

นิธิวัฒน์: จุดเริ่มต้นคืออัม (อมราพร แผ่นดินทอง) ที่เขียนบทกับผม วันหนึ่งเขาเปิดข่าวเรื่องของชายชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งไปรับจ้างเป็นคุณพ่อให้กับเด็ก 10 กว่าคน โดยที่เด็กเหล่านี้ไม่รู้ว่าเขาไม่ใช่พ่อ และเด็กก็ไม่รู้ด้วยว่ามีเด็กคนอื่นที่เป็นเหมือนตัวเอง บรรดาเมียๆเป็นคนจ้าง 

เรามองในมุมคนจ้างว่าทำไมเลือกแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ และมองในมุมคนรับงาน ทำไมยอมทำอาชีพนี้ มองในมุมเด็กว่า ถ้าโตขึ้นมาแล้วรู้ความจริง เขาจะรู้สึกอย่างไร ซึ่งผู้ชายที่ทำอาชีพพ่อก็บอกว่าบางครั้งก็สับสนกับบทบาทรับจ้างกับชีวิตจริง แล้วคำว่าครอบครัวของคุณคืออะไร ก็ถ้าเขาดูแลคุณอย่างดี จะนับว่าเขาเป็นพ่อได้หรือเปล่า ทำไมพ่อต้องมาจากสายเลือดเดียวกัน 

LIPS: ตอนแรกอุทานในใจว่า ถ้าคนทำแบบนี้เยอะๆ สังคมจะไม่วุ่นวายฤา แต่คิดอีกที อย่างกับคนสายเลือดเดียวกันรักกันนักนี่ 

นิธิวัฒน์: ถูกต้อง สุดท้ายมันคือเรื่องความสัมพันธ์ของคนที่อยู่ด้วยกันมากกว่า คุณอาจจะโอเคก็ได้ ถ้าดูหนังไปบางส่วนจะเห็นว่าปอนด์ (ปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม) ก็มีความสัมพันธ์ที่มีรอยรั่วบางอย่างกับพ่อ แต่ละบ้านมีปัญหา มีรอยรั่ว อยู่ที่ว่าเราจะแก้รอยรั่วนั้นหรือเปล่า และด้วยวิธีการไหน นี่คือสิ่งที่หนังพาคนดูไปรู้จัก 

สุดท้ายผมไม่ได้ทำเรื่องผู้ชายคนหนึ่งที่ไปรับจ้างเป็นพ่อตามข่าวเป๊ะๆ นั่นแค่จุดเริ่มต้นของไอเดีย สิ่งที่ตามมาคือ บ้านเรามีปัญหาอะไรหรือถึงต้องไปจ้างคนอื่นมาเป็นครอบครัว และเกิดอะไรตามมาหลังจากนั้น 

“ครอบครัวของคุณคืออะไร คือสายเลือด หรือความสนิท”

LIPS: คิดอย่างไรกับคำฮิตของยุคนี้ที่ว่า ‘เป็นพ่อแม่เมื่อพร้อม’ 

นิธิวัฒน์: ผมว่า…ไม่มีคำว่าพร้อมอยู่จริง หลายคนที่ผมรู้จักก็ไม่ได้มีลูกในจังหวะที่เขามีทุกอย่างแล้ว แต่ก็สามารถดูแลครอบครัวได้อย่างดี เป็นเรื่องความรับผิดชอบมากกว่า คำว่าพ่อแม่คือสิ่งที่คุณได้มาเมื่อคลอดลูกออกมา แต่หลายคนอาจเคารพคนอื่นยิ่งกว่าพ่อแม่ที่ให้กำเนิดมา ผมคิดว่าน่าชวนคุยว่าคุณนิยามความสัมพันธ์แต่ละแบบอย่างไร

LIPS: Analog Squad เปิดมาด้วยการเปิดตัวครอบครัวตัวปลอม แล้วค่อยๆพาคนดูกลับไปดูชีวิตของสมาชิกแต่ละคน คุณเติมเรื่องราวของพ่อ แม่ ลูกสองคนอย่างไร

นิธิวัฒน์: เรื่องราวมาจากการสะสมประสบการณ์ ไม่ว่าจะเรื่องที่เราเจอ อ่านเจอ ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ของคนทำหนังที่ต้องออกไปใช้ชีวิต ไปรู้จักสิ่งต่างๆให้เยอะ ไปอยู่ในประสบการณ์หลายๆอย่าง มันเอามาใช้กับงานได้ และอีกแง่หนึ่ง คุณจะได้ออกไปเจอโลก เราหยิบจับประสบการณ์ของคนนั้นคนนี้มาบางส่วน หรือแม้แต่การตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเจอ การทำหนังสนุกตรงที่เราสำรวจในโลกสมมตินี้ได้ว่าตัวละครไปเจออะไรมา จะลงเอยอย่างไร 

LIPS: นักแสดงหลัก 4 คนที่เป็นครอบครัวตัวปลอม ปีเตอร์ น้ำฝน เจเจ และปริมมี่ ประกอบร่างกันอย่างไร

นิธิวัฒน์: ทุกครั้งเราจะจินตนาการให้สุดก่อน แล้วค่อยมองหาคนที่จะมาถ่ายทอดสิ่งนี้ อย่างปีเตอร์ เราคุยกับเขาแต่แรกว่าผมอยากเห็นปอนด์ในหลากหลายมุม ผมรู้ว่าปีเตอร์ถ่ายทอดบทดราม่าได้แน่ๆ แต่ในความเป็นมนุษย์มากๆของปอนด์ เราจะได้เห็นความหลากหลายในตัวละครนี้อีกเยอะจากการถ่ายทอดของปีเตอร์ 

ปริมได้บทนี้เพราะเขาตลก สาวเก๋ๆเท่ๆส่วนใหญ่จะไม่ตลก ฟอร์มเยอะ แต่ปริมเป็นคนที่เราพูดคุยเฮฮาได้ บางคนเท่ก็เท่จริงๆ เขามีอีกโลกที่เราเข้าไม่ถึง ถ้าเอาคนอีกบุคลิกมาเล่นบทนี้ก็จะทำให้ความสัมพันธ์ไปอีกแบบ ผมอยากบอกหลายคนว่าอย่าเสียใจถ้าแคสต์งานไม่ได้ คุณอาจจะยังไม่เหมาะกับสิ่งนั้น มันอาจจะมีวันที่คุณเหมาะ เรื่องแสดงดีหรือไม่ดีอาจจะไม่เกี่ยวด้วย 

น้ำฝนเป็นนักแสดงที่น่าสนใจมาก ทั้งฝีมือและบุคลิก เรานึกถึงคนวัย 40 ต้นๆ ก็มาดูว่านักแสดงหญิงในวัยนี้ใครบุคลิกตรงกับคนที่เราคิด ตัวละครลิลลี่มีทั้งความมั่นใจในตัวเอง เก๋ไก๋ ใช้ชีวิตแบบ tough ซึ่งผมเห็นในตัวฝน และเคมีของเขาที่อยู่ร่วมกับนักแสดงคนอื่นๆด้วย เป็นส่วนผสมที่ดี เราไม่ได้เลือกทีละคน เราเลือกพร้อมๆกัน 

เจเจเล่นบทดราม่าได้อยู่แล้ว แต่เรื่องนี้ผมพยายามชวนให้เขาเล่นเป็น loser มีความทะเล้น น่ารัก ผมรู้ว่าเขาเป็น และผมพาเขาไปให้มากกว่าเดิมอีก คนที่เป็นแบบนี้ ชีวิตเบื้องหลังอาจไม่ได้สนุกสนานหรือชิลก็ได้ มนุษย์ไม่ได้มีด้านเดียวและไม่ได้เป็นตัวเองตลอดเวลา ผมว่านั่นน่ะไม่ใช่มนุษย์ 

LIPS: ทำไมต้องเล่าเรื่องยุค 90 

นิธิวัฒน์: ถอยกลับไปเรื่องผู้ชายคนหนึ่งจ้างคนให้มาเป็นสมาชิกครอบครัวเพื่อไปหลอกพ่อแม่ตัวเอง ผมคิดว่าคนยุคนี้ความเป็นส่วนตัวน้อย เรารู้ได้ว่าใครมาจากครอบครัวไหน พี่น้องหน้าตายังไง แต่พอเรื่องราวเป็นแบบนี้ ผมเลยคิดว่าซีรีส์ไม่น่าจะเกิดในยุคที่โซเชียลแพร่หลายขนาดนี้ น่าจะเกิดยุคก่อนโซเชียล ก็ต้องย้อนยุค แต่จะเป็นยุคไหน 

ปี 1999-2000 เป็นช่วงเวลาที่มีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้น ส่วนตัวผมผ่านช่วงเวลานั้นมา มีทั้งปัจจัยภายในประเทศคือเราเพิ่งผ่านวิกฤตต้มยำกุ้ง มันส่งผลต่อสภาพชีวิตและเศรษฐกิจของผู้คน และสังคมโลกเป็นยุคเปลี่ยนผ่านสหัสวรรษ ช่วงเวลานั้นคำว่า ‘มิลเลนเนียล’ ใหญ่มาก คนแพนิกทั้งโลกว่าจะเกิดอะไรขึ้น เป็นคำถามใหญ่ของยุคสมัยว่าชีวิตเราจะเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง เหมาะกับการเอามาเป็นแบ็กกราวนด์ของซีรีส์ 

LIPS: ไม่ได้โหยหาอดีต 

นิธิวัฒน์: จุดเริ่มต้นไม่ใช่แบบนั้น แค่ยุคนั้นเมกเซนส์กับเรื่องที่เราจะเล่า แต่ 90 ก็เป็นยุคที่ผมชอบนะ โลกยุคก่อนทำให้เรารู้จักคำว่า ‘รอ’ คุณอยากได้ความรู้ก็ต้องนั่งรถเมล์ออกไปคุยกับคน ไปห้องสมุด สิ่งเหล่านี้ผมว่ามันสอนให้เราใจเย็น อดทน และรู้ว่ามันมีเวลาของมัน 

แต่โลกยุคนี้วินาทีในใจของเราเร็วขึ้นมาก อะไรที่ไม่ได้เดี๋ยวนี้คือแย่ การไม่ฝึกตัวเองให้รอเป็น ผมว่าบางทีทำให้เกิดผลที่ตามมา แน่นอนว่ามันมีความดีของมัน คนอาจจะคิดว่าเร็วกว่าก็ต้องดีกว่าสิ ถ้าเร็วได้มันก็ดี แต่ถ้ามันเร็วไม่ได้ คุณก็ต้องอดทนให้เป็น 

LIPS: ทำไมฉากหลังของเรื่องต้องเป็นพังงา

นิธิวัฒน์: อย่างแรกคือผมชอบพังงาในความเป็นเมืองที่มีภูเขาล้อมรอบ ถ้าเรื่องราวเกิดขึ้นในสถานที่แบบนี้จะดีไหม สอง ตะกั่วป่ามีเมืองเก่า ซีรีส์เราเป็นเรื่องย้อนยุค และยุคนี้เราจะไปถ่ายหนังกันที่ไหนที่เราจะควบคุมบรรยากาศของเมืองได้ มากไปกว่านั้น มันคือเรื่องผู้ชายที่กลับไปหลอกครอบครัวที่ไม่ได้เจอกันมา 20 ปี ก็จะเกิดคำถามว่า อ้าว เขาไม่ติดต่อกันหรือ แล้วถ้ามันไกล ในยุค 90 คนเราไม่ได้เจอกันบ่อยๆนะ ยุคนั้นโทรศัพท์ก็ยาก เดินทางก็ไกล ไปก็ยาก เลยประกอบกันเป็นพังงา 

LIPS: ปลุกปั้นมาจากข่าวคนญี่ปุ่นรับจ้างเป็นพ่อเด็ก จนมาถึงวันที่ซีรีส์ได้ออกสู่สายตาผู้ชม ความพึงพอใจของคนทำอยู่ระดับไหน

นิธิวัฒน์: มันไม่ง่ายที่เราจะทำประเด็นครอบครัวที่เราเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ และมีคนเห็นพ้องว่าน่าถ่ายทอดให้คนได้ดูกัน แค่นี้ก็นับว่าเป็นงานที่ผมยินดีชวนคนมาดูมากๆแล้ว  

ตัวอย่าง Analog Squad ทีมรักนักหลอก ทาง Netflix

Analog Squad ทีมรักนักหลอก รับชมได้ทาง Netflix ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป

Words: Suphakdipa Poolsap
Photos: Somkiat Kangsdalwirun 

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม