Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview

The Master of Ceremony – ปีติภัทร คูตระกูล

เอ็มซีหนุ่มมาดเนี้ยบกับการก้าวข้ามความกลัวสู่ความสำเร็จในวันนี้
Interview

ถ้าให้นึกรายชื่อของพิธีกรหนุ่มงานชุกชื่อของเอ็มซีหนุ่มมาดเนี้ยบอย่าง แบม-ปีติภัทร คงไม่หลุดไปจากโผด้วยบุคลิกร่าเริงช่างเจรจาความสามารถทั้งภาษาไทยภาษาอังกฤษที่ดีเลิศพอๆกันและความเป็นมืออาชีพในสายงานของตัวเองทำให้ในยุค New Normal ที่ถึงแม้งานอีเว้นต์จะหดหายแต่งาน Virtual Event ต่างๆก็ยังต้องการตัวเขารวมถึงงานดีเจที่คลื่น Flex 104.5 งานพิธีกรรายการข่าวสามสีทางช่อง 3 งานยูทูบเบอร์ในแชนแนล Bam Pitipat และงานที่ต้องใช้เสียงต่างๆในการประกอบอาชีพล้วนเข้าทางหนุ่มหล่อคนนี้ทั้งนั้นจนยากจะเชื่อว่ากว่าจะมาถึงวันนี้เขาเคยมีปัญหาติดอ่างจนกลายเป็นความไม่มั่นใจในตัวเองการก้าวข้ามความกลัวของตัวเองจนประสบความสำเร็จของเขาในทุกวันนี้น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายๆคนได้เราเชื่อเช่นนั้นในวันที่เราได้นั่งสนทนากับเขาเป็นเวลาเกือบหนึ่งชั่วโมงเต็ม

“ตอนเด็กๆ ผมพูดติด ๆ ขัด ๆ ไม่รู้ว่าเป็นจากอะไรครับ แต่คนติดอ่างจะรู้กัน มันจะมีบางคำที่เราติด เหมือนแบบ “สะ-สะ-สะ-หยาม” หรือ “ปะ-ปะ-ปะ ปีติภัทร” บางทีเพื่อนในโรงเรียนก็จะล้อบ้าง บางทีเราก็ใจฟ่อไปเลยเหมือนกันครับ หรืออย่างการพรีเซ็นต์หน้าห้อง แล้วเราเป็นคนเล่าเรื่องไม่เก่ง พอเล่าแล้วติดอ่าง เราก็ไม่กล้าเล่า แล้วไหนจะภาษาไทยไม่แข็งแรงอีก เพราะเรียนโรงเรียนอินเตอร์มา”

แต่ทุกวันนี้พูดไทยชัดมากเราชื่นชมเขาอย่างตรงไปตรงมา
“ขอบคุณครับ แบมว่า มันเป็นอินเนอร์ส่วนตัวนะครับว่า เราชอบลอกเลียนแบบ ชอบดูหนัง ชอบซึมซับด้วยวิธีการดูและฟัง อาจจะเพราะเราเรียนเปียโนตั้งแต่เด็กด้วย ก็เลยฟังเสียงแม่น แล้วประกอบกับเราพยายามฝึกโดยการลอกเลียนแบบจากคนอื่นเอา จนเพื่อนเรียกเราว่า ‘imitator’”

ก่อนหน้าที่จะมาค้นพบว่าอาชีพที่เหมาะกับตัวเองคืออาชีพที่ต้องใช้เสียงเป็นหลักปีติภัทรมีความฝันอยากเป็นนักบินด้วยเหตุผลไม่ซับซ้อนว่าดูเท่และได้ท่องเที่ยวแต่สุดท้ายเขาไปลงเอยในรั้วคณะพาณิชศาสตร์และการบัญชีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพราะคิดว่าน่าจะต่อยอดได้หลายทางแต่มาค้นพบเส้นทางที่ใช่ก็เมื่อได้มาเป็นพิธีกรประจำ Travel Channel 
“ตอนแบมอยู่ปี 2 ช่อง Travel Channel เพิ่งเปิด แล้วก็มีพี่ที่รู้จักชวนไปแคสต์แล้วเราก็ได้ ซึ่งการได้เที่ยว และได้เงินด้วยมันก็แฮปปี้ เราได้เปิดโลกทัศน์ ทีนี้ความคิดอยากเป็นนักบินเริ่มกลับมาอีกครับ เพราะมันตอบโจทย์หลายๆ ส่วน ก็เลยลองสอบทุนนักบิน student pilot แล้วก็ได้ทุน หลังจากผ่านการทดสอบต่างๆ แล้วเราสามารถสงวนสิทธิ์ของเราไว้ไม่เกินสองปี ระหว่างนั้นงานพิธีกรเราก็กำลังไปได้ดีเลย ระหว่างสองปีนั้นก็หาคำตอบให้กับตัวเองครับ เราถามทั้งคนที่อยู่วงการนักบินด้วย ถามคนที่เคยอยู่วงการบันเทิง แล้วไปวงการนักบิน  เพื่อหาข้อสรุปกับตัวเองว่า เราจะเอาอย่างไรกับชีวิตดี”  

สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจไม่ผิดที่เลือกจับไมค์มากกว่าจะนั่งอยู่ใน cockpit
“เราเอ็นจอยกับตรงนี้ แล้วเรารู้สึกว่ามันไปได้ เพราะเราเห็นคนที่อยู่ได้นาน และเราก็ตั้งคำถามว่า แล้วทำไมเขาอยู่ได้นาน ทำไมพิธีกรสองภาษางานอีเว้นต์ ต้องเป็นพี่พีเค ทำไมเขาถึงเจ๋งขนาดนั้น เราอยากเป็นอย่างนั้นน่ะ เราก็เรียนอินเตอร์ ภาษาเราก็ได้ พูดจาก็ฉะฉาน บุคลิกก็ได้ แต่เราก็คงต้องเก็บชั่วโมงบินไปก่อน”

ไม่น่าเชื่อว่าเขาทำอาชีพนี้มานับสิบปีแล้วเวลาผ่านไปไวเหลือเชื่อซึ่งเขาก็พัฒนาฝีมือมาเรื่อยๆ สั่งสมประสบการณ์ผ่านโอกาสต่างๆ ที่หยิบยื่นเข้ามาจนสามารถทำอาชีพนี้ได้นานตามที่ตั้งใจไว้
“การที่แบมเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น จริงๆ ต้องให้เครดิตช่อง One ให้พี่บอย-ถกลเกียรติ ครับ ซึ่งต้องย้อนไปถึงพี่ต๊ะ-นารากร ที่ตอนนั้นเป็นบก.ฝ่ายข่าวช่อง One เขากำลังหาพิธีกรข่าวหน้าใหม่ แล้วพอมาเจอแบมเห็นว่า หน่วยก้านดีเลยชวนมาแคสต์ แล้วส่งคลิปไปให้พี่บอย พี่บอยดูแล้วก้เรียกมาคุย เพราะคิดว่า เราน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้มั้ง  เลยให้โอกาสไปทำกับพี่แฟรงค์-ภคชนก์ เขาก็อาศัยให้ทำคู่กับคนที่มีประสบการณ์ รวมถึงได้ทำรายการทอล์กโชว์กับพี่แหม่ม-สุริวิภา แล้วก็มารายการ Top Chef นี่แหละ ที่รายการใหญ่แรกของแบมเลยที่เป็น format จากเมืองนอก” 

รายการใหญ่ที่มีแบบแผนชัดเจนและมีดราม่าเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้เขาเรียนรู้แบบก้าวกระโดดคนเริ่มเห็นว่าพิธีกรนี้มีดีพอที่จะรับมือกับงานใหญ่ๆที่ต้องอาศัยความเป็นมืออาชีพสูงซึ่งเขาก็ทำได้ดีตามที่หลายคนคาดหวังและเริ่มจับทางได้ว่าการดำเนินรายการแต่ละประเภทต่างก็มีสไตล์ที่ต่างกันไป
“เท่าที่แบมทราบก็คือ ถ้าเป็นรายการเกมโชว์วาไรตี้อย่างที่ อาตา-ปัญญา นิรันดร์กุล เป็นพิธีกรเขาจะเป็นสตาร์ของโชว์นั้นๆ แต่ถ้าเป็นทอล์กโชว์ คนที่เป็นสตาร์ คือ แขกรับเชิญ ส่วนงานอีเว้นต์ sequence ต้องแม่น key message ต้องแม่น สองอย่างนี้ครับที่แบมให้ความสำคัญมาก ถ้าเป็นงานสกินแคร์ key message ต้องซึมซาบล้ำลึก ชุ่มชื้น หน้าใส แลดูอ่อนเยาว์ ‘แลดู’ ก็ต้องมา เพราะถ้า overclaimถือว่า ผิดกฎหมาย นี่คือสิ่งที่เราต้องระวัง เพราะด้วยความที่มันเป็นงานสดด้วย”   

ปีติภัทรย้ำชัดเสมอว่าเขาเป็นคนลงรายละเอียดในการทำงานเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดเสมอ
“แบมชอบ Steve Jobs ชอบความคิดของเขา และความเนี้ยบของการพรีเซ็นต์ เคยอ่านหนังสือเขาบอกว่า เขาซีเรียสเรื่องการพรีเซ็นต์มาก เขาซ้อมเยอะมาก แล้วคิวต้องเป๊ะน่ะ”

บางครั้งถึงขั้นต้องเตรียมอุปกรณ์ไปเองเพื่อให้งานออกมาราบรื่นที่สุดเขาก็ยินดี 
“อย่างงานที่เพิ่งไปทำมาเมื่อกี้เป็นงาน virtual แล้วแบมไม่อยากก้มอ่านสคริปต์บ่อย เราอยากให้มันดูดี เราต้องทำเหมือนสบตากล้องตลอดเวลา แต่จริงๆ เรากำลังอ่านสคริปต์ ซึ่งแบมเอา prompter มาเองเลย ทำสคริปต์เอง แบมไม่กวนทีมเลย เราเอาไอแพดของเรามา เอาขาตั้งกล้องเรา แต่ขอแค่ปลั๊กรางมาเสียบสายหน่อย แต่อย่างวันนี้แบมขอให้โยกจอไปไว้ใต้กล้อง เพื่อให้ eye line มันได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกคนเข้าใจว่า เรามีเป้าหมายเดียวกัน คือ เพื่อให้งานออกมาดี” 

ดูเหมือนว่าชีวิตพิธีกรตลอดระยะเวลา 10 ปีจะเป็นดำเนินไปโดยปราศจากจุดสะดุดเพื่อนเก่าอย่างอาการติดอ่างเคยแวะเวียนมาทักมายบ้างไหมเรานึกสงสัยขึ้นมา 
“บางทีก็มาเป็นช่วงๆ ครับ ทำเอานอยด์เลย แต่ก็จูนใหม่ได้” 

“แบมว่า self-talk สำคัญมาก แบมชอบการ communicate แล้วแบมก็เพิ่งมารู้ว่าการ communicate ที่สำคัญที่สุด คือ การสื่อสารกับตัวเอง มันลิงค์กับ mindset ของเรานี่แหละว่า เราเคยทำได้ไม่ใช่เหรอ เราก็ต้องทำให้ได้สิ” 

เราเชื่อมั่นว่าเขาต้องทำได้แน่นอนและเขาก็มีเป้าหมายที่ชัดเจนที่จะเดินไปสู่เส้นชัยในสายงานของเขา
“อยากเป็นพิธีกรแถวหน้าของประเทศ อยากมีทอล์กโชว์ของตัวเอง เหมือนแบบรายการ The Tonight Show starring Jimmy Fallon แค่คิดก็ตาประกายแล้วล่ะครับ แต่ในอนาคตอันใกล้นี้อาจจะมีโอกาสได้ทำรายการของตัวเองบ้างก็เป็นได้ครับ” 

ถ้าหากมีคนอยากดำเนินรอยตามเอ็มซีแบม-ปีติภัทรบ้าง มีคำแนะนำให้เขาอย่างไรบ้างเราขอล้วงเคล็ดลับจากเขาก่อนจบบทสนทนา
“ ยุคนี้มันมีความง่ายในการเป็น influencer  คุณจะทำคอนเทนต์อะไรก็ได้นะ แต่ขอให้ชัดน่ะ อย่างแบมเองก็ทำในหลายช่องทาง แต่ภาพพิธีกรของแบมก็ชัด บุคลิกเราดูเนี้ยบนะ คนก็จำภาพนี้ได้ เพราะเราตั้งใจให้ภาพออกมาอย่างนั้น อย่างแพลทฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มันฟรีอยู่แล้ว  เราเริ่มจากการสอนภาษา หรือ prompter challenge แล้วก็มีคนเข้ามาดู ซึ่งอาจจะเป็นเพื่อนเรา แล้วกระจายไปเป็นคนที่เริ่มติดตามผลงานของเราแล้ว และสุดท้ายอาจจะเป็นลูกค้าเราก็ได้

…แล้วแบมเชื่อว่า พอเราเปิดประตูบานแรก ประตูบานต่อไปจะเปิดไปเรื่อยๆ แบมอยากจะเป็นแบบ Jim Carry ใน ‘Yes Man’ น่ะ พอเรา Say Yes แล้วเราก็ได้รับโอกาสดีๆ ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ เข้ามาเรื่อยๆ” 

Photography : Nucha J.

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม