Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview

The Aesthetics of Nudity

ข้างหลังภาพเขียนเปลือยเปล่าจากปลายแท่งชาร์โคลของ ‘เกย์จินู้ด’ โอ๊ต มณเฑียร
Interview

ในต่างประเทศมีขนบของงาน ‘นู้ด’ ที่ใช้เรือนร่างเล่าเรื่องเพศสภาพและสังคมมาช้านาน ตั้งแต่ยุคกรีกที่เต็มไปด้วยชิ้นงานที่แสดงเรือนร่างเปลือยเปล่าของเทพเจ้าทั้งชายและหญิง ตลอดจนในยุคเรอเนซองส์ ยังปรากฏภาพเขียนร่างเปลือยจากพระคัมภีร์ไบเบิ้ล อย่าง The Creation of Adam บนเพดานโบสถ์น้อยซิสทีน ผลงานอันลือลั่นของ ไมเคิลแองเจโล เป็นต้น ส่วนในบ้านเราเองก็มีภาพจิตรกรรมเชิงสังวาสในโบสถ์วิหารของวัดไทยหลายแห่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในยุคสมัยนั้นอย่างตรงไปตรงมา

แต่เรื่องราวของเราไม่ได้เริ่มในวัด ในทางกลับกันมันเริ่มขึ้นใต้แสงไฟสีชมพูที่เย้ายวนของสถานที่อันหลบเร้นในมุมมืดซักแห่งของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นบ้านขอบเด็กชายตัวน้อยคนหนึ่ง ผู้ติดสอยห้อยตามคุณแม่ของเขามาในโมงยามพิศวง คละคลุ้งไปด้วยเสียงดนตรี เหล้า ยา เซ็กซ์ และอีกหลายสิ่งที่มักจะถูกนิยามว่า ‘อบายมุข’ แต่มันกลับทำให้เขาได้มองเห็นถึงความเป็นมนุษย์ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปะของเขาในเวลาต่อมา 

เด็กชายคนนั้นมีชื่อว่า โอ๊ต มณเฑียร (@oatmontienstudio) และในวันนี้เมื่อเวลาผ่านมากว่ายี่สิบปีเขาเป็นทั้งอาจารย์ นักเขียน ศิลปินวาดภาพนู้ดและเจ้าของ ‘โพธิสัตวา’ แกลเลอรี่ LGBTQ+ แห่งแรกของเมืองไทย (Bodhisattava Lgbtq+ Gallery) ที่หยิบยกนำศิลปะมาบอกเล่าทำให้เรื่องราวของความรัก เซ็กซ์โดยเฉพาะความหลากหลายทางเพศ และความเท่าเทียมกลายเป็นเรื่องเดียวกัน

โอ๊ตเรียกตัวเองว่า ‘เกย์จินู้ด’ เนื่องจากการทำงานที่ยึดโยงกับศิลปะของเรือนร่างเปลือยมากว่าสิบปี เขาเป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ศิลปะผู้เชี่ยวชาญด้านนู้ด, เขียนหนังสือ Eros ว่าด้วยนู้ดผู้ชาย 22 คนตามไพ่ทาโรต์ 22 ใบ,สอนเวิร์กช็อป nude life drawing ที่สตูดิโอของเขา ฯลฯ โดยเขาเล่าให้เราฟังว่า เขาเริ่มวาดภาพนู้ดครั้งแรกเมื่อครั้งที่ยังเรียนมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ ซึ่งนอกจากการเรียนในคลาสเรียนแล้ว โอ๊ต-มณเฑียรยังได้ออกไปฝึกฝนฝีมือด้วยการวาดภาพนู้ดตามผับบาร์ที่มักจะเปิดพื้นที่ให้มีอีเว้นต์ในรูปแบบ Drawing Event อันนับเป็นประตูเปิดโลกที่ทำให้เขาได้เห็นถึงวิธีการวาดที่แปลกใหม่ แต่หากจะเท้าความไปถึงความหลงไหลในเรือนร่างเปลือย เราจะต้องย้อนไปไกลถึงวัยเด็กของเขา

“เราโตมาในสถานบริการในเลาจน์ในบาร์มา คุณแม่เราเป็นเจ้าของและพาไปที่ร้านตั้งแต่ 5 ขวบ เราคุ้นชินกับการเห็นคนโป๊เปลือย คนเงี่ยน ซึ่งถ้าเล่าให้ใครฟังเขาก็จะคิดว่า เป็นที่อโคจร ไม่เหมาะสำหรับเด็ก แต่เราเห็นความเป็นมนุษย์ในนั้น เรารู้จักพี่ๆ ในฐานะพนักงานบริการ เป็นพี่เลี้ยงเป็นเพื่อนเล่น เลยรู้สึกว่า มันเป็นเรื่องค่อนข้างปกติ กึ่งสวยงามด้วยซ้ำ อย่างทุกสิ้นเดือนที่ร้านของคุณแม่จะมีงานปาร์ตี้ มีโชว์นู้ด ก็จะมีนักแสดงขึ้นไปบนเวทีเปลือยเรือนร่างหมด ตอนนั้นเราอายุ 8-9 ขวบ มีหน้าที่ส่องไฟนักแสดงบนเวที คุณแม่ก็บอกว่า อยากใช้สีอะไรก็ได้แต่อย่าใช้สีเขียวให้ดูเหมือนผีนะ (หัวเราะ) แล้วก็อย่าใช้สีขาวเพราะจะดูสว่างเกินไป 

…เราโตมาในร้านคาราโอเกะ ก็ไม่คิดว่าเป็นเรื่องแปลก หรือเรื่องไม่ดี จนเข้าโรงเรียนมีคนล้อว่า แม่ทำงานแบบนี้ อ้าว…มันเป็นเรื่องไม่ดีเหรอ เป็นธุรกิจสีเทาเหรอ เพิ่งรู้ว่าคนอื่นเขามองไม่ดี แต่เราไม่ได้ซีเรียส เพราะมันขึ้นอยู่กับตัวเราที่ว่า เราดีลกับความรู้สึกของตัวเองอย่างไร เหมือนกับการที่เราเป็นศิลปินวาดภาพนู้ด เราก็ทำให้ทุกคนเห็นว่า งานที่เราทำมันเป็นเรื่องปกติทั่วไปที่เราจะเล่าเรื่องผ่านร่างกาย เพราะร่างกายกับจิตวิญญาณมันก็เป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกัน ดังนั้น ศิลปะมันเล่าเรื่องของคน”

บ่อยครั้งที่ผู้คนมากมายพยายามทำความเข้าใจกับงานศิลปะ โดยเฉพาะกับภาพวาดนู้ด ซึ่งศิลปินไม่สามารถหลีกเลี่ยงคำถามที่มักถูกตั้งขึ้นอยู่บ่อยครั้งที่ว่า ภาพวาดนู้ดใช่อนาจารหรือไม่ ได้

“เข้าใจว่า คนอยากจะหาวิธีทำความเข้าใจกับสิ่งนี้ เพราะในสังคมเราถูกเลี้ยง ถูกสอนมาว่า การมองภาพโป๊เปลือยทำให้เกิดกำหนัด เป็นสิ่งที่ไม่ดี แล้วมันไม่ควรจะอยู่ในที่สาธารณะ เพราะลูกเด็กเล็กแดงดูแล้วจะใจแตก อันนี้คือบริบททางสังคมเราที่ถูกปลูกฝังมา 

…สำหรับโอ๊ตคิดว่า ศิลปะ เป็นได้ทุกอย่าง ศิลปะไม่ได้ถูกจำกัดว่า ต้องดีงาม ศิลปะต้องวาดภาพพระ ต้องวาดภาพในหลวง ต้องวาดลายกนก เพราะศิลปะบ้านเราถูกยึดโยงกับราชสำนัก หรือวิจิตรศิลป์ แต่ ศิลปะ คือ ภาพสะท้อนความเป็นคน หรือเป็นเครื่องมือบางอย่าง ที่ทำให้เรามองเห็นโลกในวิถีต่างๆ 

“ถ้าถามว่าศิลปะมันต้องดีงามตามขนบมันต้องไม่เงี่ยน ต้องไม่ปลุกเร้าอารมณ์ มันต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามครรลองตลอดเวลาหรือไม่ ไม่จำเป็น เพราะศิลปะก็เป็นอนาจารได้ ศิลปะเป็นอะไรที่ดำมืดได้ เพราะมันคือภาพสะท้อนของจิตวิญญาณคน” 

ซึ่งเราเองต้องยอมรับว่า มันไม่ได้มีแค่แง่ดี มันมีความซับซ้อน มีด้านมืดด้านสว่าง มีทุกเฉดสี ศิลปะเป็นสิ่งที่ทำให้คนพินิจพิเคราะห์ความเป็นคน 

…ทีนี้เมื่อมาพูดเรื่องศิลปะนู้ด นู้ดก็เป็นภาพเปลือยเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง สำหรับโอ๊ตนู้ดเป็นเรื่องของการเปิดเปลือยทางอารมณ์ที่นำไปสู่การปลดเปลื้องอาภรณ์ ซึ่งถ้าเราย้อนกลับไปในสมัยกรีกตั้งแต่ประวัติศาสตร์ศิลป์ เราจะเห็นว่ามันจะมีลักษณะนู้ดอาร์ต 3-4 ประเภทด้วยกัน หนึ่ง คือ Heroic Nude เช่น ประติมากรรมเดวิด หรือว่าอะไรต่างๆ ที่มันโชว์ความเป็นวีรบุรุษผ่านร่างกายอันงดงามกำยำล่ำสัน ที่เป็นรูปเหมือนของเทพเจ้า คนบูชา อันนี้เป็น Nude Art อย่างหนึ่ง 

…สอง Mortal Nude เป็นนู้ดที่ทำให้เราพึงระลึกถึงความผิดบาป ปลงสังเวช อันนี้จะเห็นได้ในยุคกลาง หรือ Medieval Ages ในยุคมืดของยุโรป อย่างในโบสถ์ที่มีรูปพระเยซูถูกตรึงกางเขนโดยที่ร่างกายเปลือยเปล่า มันทำให้รู้สึกว่า นี่คือความทรมาน ทำให้พบว่า ร่างกายคือกรงขังของจิตวิญญาณ และสามนู้ดที่เรียกว่า Sensual Nude อันนี้คือนู้ดที่ทำให้เกิดความรู้สึกถึงความยั่วยวน ที่มันก็จะปรากฏเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างคำว่า ‘อีโรติก’ และ ‘อนาจาร’ ที่ว่ากันด้วยเรื่องของชั้นเชิงในแง่ของการสร้างสุนทรียภาพ

…และถ้าถามว่า นู้ดทุกชิ้นเป็นอนาจารหรือไม่ ก็ตอบยากอีก เพราะเราก็ต้องดูเจตจำนงของสิ่งนั้นๆ ว่า อันนี้เขาอยากจะสื่อสารอะไร หรือมันเป็นแบบไหน อย่างไร เพราะนู้ด คือ การปลดเปลื้อง ดังนั้น คำว่า ‘อนาจาร’ มันขึ้นอยู่กับบริบททางสังคมและวิจารณญาณของคนดูว่า ดูที่ไหน ในสังคมแบบไหน 

…ทีนี้กลับมาที่ตัวโอ๊ตเอง เรานิยามคำว่า ‘นู้ด’ ในทุกนิยาม ที่เป็นทั้ง Heroic Nude ทั้ง Mortal Nude และ Sensual Nude ในงานของเรา เราทำหมด ทั้งยั่วยวนเลยก็มี อันที่วาดมัดกล้ามก็มี อันที่วาดเน้นกระดูกเน้นซี่โครงก็มี จะว่าไปงานบางชิ้นที่จัดแสดงที่เมืองนอก ทำไมไม่อนาจารแล้วมาจัดแสดงเมืองไทยทำไมอนาจาร  

“เพราะฉะนั้น ถ้ามาถามหาเอาคำตอบจากศิลปินนี่คงยากแล้ว เพราะศิลปินทำงานเหมือนเดิม เราเล่าเรื่องเพศเหมือนเดิม มันอยู่ที่สังคมมองว่า มัน “อนาจาร” หรือเปล่า” 

…ในฐานะศิลปินเราสนใจนะว่าเรา push กรอบคำว่า อนาจารออกไปได้ไหม เพื่อให้เราได้มีพื้นที่การพูดคุย ร่วมกันสร้างบทสนทนาเกี่ยวกับความเป็นคน เรื่องเพศ เรื่องเซ็กซ์ที่มันก่อประโยชน์ได้หรือไม่ ก็แค่นั้น”

เวลาชักชวนคนให้มาเป็นแบบ ศิลปินอย่างเขามีวิธีคัดเลือกอย่างไร ทำอย่างไรแบบถึงจะรู้สึกถึงความสะดวกสบายใจรวมถึงความกล้าในการเปิดเปลือยเรือนร่างของคนทั่วไปกับ LGBTQ+ แตกต่างกันหรือไม่และวิธีการทำงานกับแต่ละกลุ่มคนนั้น ศิลปินต้องทรีตผู้คนเหล่านั้นแบบไหน 

“มันไม่ใช่ว่า ฉันชอบคนนี้ ฉันเลยจะวาดแต่คนๆ นี้ ซึ่งจริงๆ แล้วมันขึ้นอยู่กับแต่ละโปรเจ็กต์เลยว่า เราอยากสื่ออะไรอย่างโปรเจ็กต์ภาพนู้ดที่โอ๊ตวาดตอนที่อยู่ที่ลอนดอน โอ๊ตวาดรูปผู้ชาย 22 คน เพราะเพิ่งโสดใหม่ๆ ก็เป็นกลอุบายเพื่อหาแฟนใหม่ตามประสา (หัวเราะ) เจอใครปุ๊บก็ถามว่า มาเป็นแบบให้ได้ไหม แต่จริงๆ แล้วมันเป็นการพาตัวเองก้าวออกจากกรอบความรู้สึก คือ โอ๊ตคบกับแฟนเก่าประมาณ 3 ปีครึ่ง เขาเป็นทุกอย่างสำหรับเรา เราเป็นคนๆเดียวกัน เมื่อก่อนเราเป็นคน outgoing แต่พอมีแฟนปุ๊บ เราอยู่กับแฟนตลอด จะทำอะไรก็แล้วแต่แฟน พอเราเลิกกันเราสูญเสียความเป็นตัวตน เพราะฉะนั้น โอ๊ตต้องดึงตัวเองกลับมาด้วยสิ่งที่เรารู้จัก หรือสิ่งที่เรารักมาก ก็คือการวาดรูป มันเป็นการพาเราไปในจุดที่ปลดเปลื้องของทั้งศิลปินและแบบ เราได้เจอคน 22 คน ต้องบอกว่า การได้สนทนาและการวาดรูปคนเหล่านั้น มันทำให้เรากลับมาพิจารณาความเป็นตัวเองอีกครั้ง 

…ส่วนในขณะที่วาดมีกลเม็ดอย่างไรให้แบบรู้สึกผ่อนคลาย จริงๆ เราเป็นคนลัคนาราศีมีน คนจะมองว่าเราเป็นคนที่ emotional มาก และเราก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เราจริงใจกับทุกคนมากๆ เราวางใจกับเขา แล้วก็ให้เกียรติเขา อันนี้เป็นอันดับแรก คือ เราไม่ได้เห็นเขาเป็นหุ่นนิ่ง เราเห็นเขาเป็นคนก่อนอันดับที่ 1 ความรู้สึกของเขาเป็นสำคัญมากๆ อารมณ์ของเขาคืออะไร เพราะลายเส้นในงานของโอ๊ตจะเห็นว่า โอ๊ตให้ความสำคัญกับความรู้สึกที่สื่อออกมามากๆ 

…เพราะฉะนั้น แบบที่มาหาเราไม่ใช่มาถึงปุ๊บแก้ผ้าเลย บางทีนั่งดูดวงกันก่อน พูดคุยว่าในร่างกาย คุณรู้สึกชอบตรงไหนไม่ชอบตรงไหน แล้วโอ๊ตก็จะแชร์ว่า เมื่อก่อนโอ๊ตอ้วนที่สุดในโรงเรียน เป็นเด็กแว่น ไม่มั่นใจในตัวเอง เราต้องทำให้เขารู้สึกว่า เราคุยกันได้ แชร์กันได้ แล้ววาดไปคุยไป 

“สิ่งสำคัญสูงสุดคือเรื่อง consent การยินยอม โอ๊ตจะพูดก่อนเลยว่า ถ้าตรงไหนไม่สะดวกใจที่จะทำ หรือรู้สึกคำถามไหนบางอย่างมันเป็นส่วนตัวเกินไป บอกได้เราก็หยุดตรงนั้น แล้วก็ทรีตทุกคนเป็นเพื่อนหมด ถ้าใครมีอารมณ์ หรืออย่างไร อยากไปต่อค่อยว่ากันหลังวาดรูป (หัวเราะ)” 

…ช่วงแรกๆ ร้อยทั้งร้อยก็จะมีความเขินอายบ้างประหม่าบ้างไปจนถึงอวัยวะเพศแข็งตัวก็มี มันก็คือการเปลือย ต้องยอมรับว่า วัฒนธรรมบ้านเราการเปลือยกายต่อหน้าใครมันจะโยงกับเซ็กซ์เสียส่วนใหญ่ อันนี้ต้องเข้าใจ เราก็เห็นมาเยอะแล้ว มันก็จะเกิดกำหนัดบ้าง แต่ไม่ได้มีปัญหา รีแล็กซ์ได้ ค่อยๆ ชวนคุยไป จากตอนแรกที่บรรยากาศมันอาจจะ sexual หรือว่า อีโรติก เพราะมันเป็นการปลดเปลื้องต่อหน้าคนอื่น แต่มันก็จะค่อยๆ แปรเปลี่ยนไปเป็นบรรยากาศแบบเพื่อนก็มี แบบเพื่อนสาว แบบลูกศิษย์ ก็เป็นศิราณีปรึกษาปัญหาหัวใจกันไปเรื่อย (หัวเราะ)

…หรือบางทีนั่งสมาธิไปเลยก็มี ฉันอยู่กับตัวเอง หรือปกติที่ไม่เคยมีโมเม้นต์ที่รู้สึกแฮปปี้กับร่างกายของตัวเองเลย แต่พอมีคนพินิจพิเคราะห์ร่างกายของตัวเองในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย บางคนก็ชอบมากรู้สึกว่า ดีจังเลย ได้เปิดเรือนร่างให้คนอื่นเห็น แล้วก็รู้สึกถึงการยอมรับ เพราะเราไม่ได้ไป judge เขาว่า ไหล่ใหญ่ไป เครื่องเพศเล็กนะ อ้วนจังลดน้ำหนักเถอะ เราไม่เคยทำแบบนั้น เพราะเรามองเห็นความงามในทุก body shape ซึ่งมันเป็นหน้าที่ของเราด้วยซ้ำที่เราต้องหาให้เจอว่า มันงามตรงไหน แล้วก็ต้องเก็บรายละเอียดให้ได้ อันนี้เป็นหน้าที่ของเรา” 

จะเห็นได้ว่าภาพวาดนู้ดของโอ๊ต-มณเฑียรเป็นการการแสดงงานศิลปะที่พูดถึงเรื่องเพศ โดยเฉพาะในกลุ่ม LGBTQ+ ที่เป็นดังฟันเฟืองสำคัญหนึ่ง ที่ช่วยขับเคลื่อนให้สังคมเปิดกว้างในเรื่องราวของความหลากหลายเพศ

“ตอนที่โอ๊ตทำแกลเลอรี่สำหรับ LGBTQ+ เพื่อเป็นพื้นที่อันเป็นสื่อกลางในการจัดแสดงผลงานศิลปะที่มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะ อย่างที่เห็นในนิทรรศการงานโชว์ที่ผ่านมา ซึ่งคนก็มาพูดเยอะเหมือนกันว่า ศิลปะ ไม่ควรจะมีกรอบของเพศสภาพ ศิลปะมันควรจะมีความเป็นกลางหรือเปล่า ไม่น่าจะไปวางกรอบนู่นนี่ ทีนี้กลับมาที่นิยามของคำว่า ‘ศิลปะ’ ในนิยามของเรา มันคือกระจกสะท้อนของความเป็นคน 

“ถ้าคุณเป็น LGBTQ+ วันๆ หนึ่งคุณต้องเข้าห้องน้ำกี่รอบ คุณเป็นทรานส์เจนเดอร์ คุณจะเข้าห้องน้ำแบบไหน มันเป็นปัญหาแน่นอน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สังคมนี้เลือกปฏิบัติกันด้วยเพศสภาพ เพราะฉะนั้น อย่ามาพูดเลยว่า ศิลปะไม่จำเป็นต้องมีกรอบเพศสภาพ” 

…เพราะศิลปินที่ดีสำหรับโอ๊ต คือ ศิลปินที่ซื่อสัตย์กับความเป็นคน ความเป็นตัวของตัวเอง แล้วเอาสิ่งนั้นมาเล่าในงาน เพราะศิลปะเป็นกระบอกเสียงและเป็นการเล่าเรื่องของ LGBTQ+ ผู้คนที่เป็นคนชายขอบได้ แล้วโลกก็ใช้ศิลปะเป็นสื่อในการเล่าเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาต้องบอกว่า โอ๊ตรู้สึกแปลกใจมากว่า มันไม่มีแกลเลอรี่ LGBTQ+ ในประเทศไทย ทั้งที่เราเป็นเมืองหลวงของกะเทย ทำไมพื้นที่ของเราต้องเป็นบาร์ แล้วทำไมไม่มีพื้นที่ศิลปะสำหรับคนที่เป็น LGBTQ+ บ้างล่ะ ถูกไหม โอ๊ตรู้สึกว่าเราน่าจะมีพื้นที่ในการเล่าเรื่อง ในการเป็นสื่อกลางตรงนี้ ก็เลยทำ ‘โพธิสัตวา’ แกลเลอรี่ LGBTQ+ แห่งแรกของเมืองไทยขึ้นมา

…สังคมไทยในวันนี้มันเปิดกว้างถึงการพูดเรื่องเซ็กซ์ หรือเพศสภาพที่หลากหลายมากขึ้น ถ้าเรามองในแง่ของบริบททางสังคม อย่างละครซีรีส์วายที่เป็นกระแสมาอย่างต่อเนื่อง มันก็มีการสร้างภาพจำและการเล่าเรื่องให้คนยอมรับกลุ่มคน LGBTQ+ มากขึ้น หรือการเคลื่อนไหวในเรื่องสมรสเท่าเทียม คิดว่า เด็กสมัยใหม่ก็เข้าถึงแนวคิดเป็นประชาธิปไตยได้มากกว่าสมัยก่อน แต่คิดว่ายังไม่พอ  

…อย่างเรื่องสิทธิเท่าเทียม มันไม่ควรเป็นคำถามแล้วนะว่า LGBTQ+ ควรจะแต่งงานกันได้ไหม หรือการพูดเรื่องเซ็กซ์ยังไม่กล้าพูดกันเลย แล้วมันเป็นปัญหามาก ทั้งสุขภาวะทางเพศ เรื่องความปลอดภัยเวลาการใช้สารเคมีขณะมีเซ็กซ์การไม่ป้องกัน การติดเชื้อ HIV การไม่กินยา PEP ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในน้อยประเทศที่สามารถกินยา PEP ได้ฟรีนะ แต่เราไม่พูดกัน 

…หรืออย่างในกลุ่มทรานส์เจนเดอร์ สวัสดิการในการแปลงเพศไม่มี ทั้งๆ ที่หมอที่เก่งที่สุดอยู่ในประเทศนี้ คนทั้งโลกบินมาประเทศเรา แต่กะเทยบ้านเรายังไม่ได้รับรัฐสวัสดิการใดๆ ฯลฯ

…จริงๆ ไม่ใช่แค่ผู้หญิง ผู้ชาย หรือ LGBTQ+ คือ เราทุกคนมาช่วยกันได้ไหม ใครทำอะไรได้ทำ คุณเป็นผู้สื่อข่าวคุณเสนอข่าวที่มันเปิดกว้างในเรื่องของมุมมอง ไม่ใช่ตอกย้ำว่ากะเทยถูกฆาตกรรม หรือผู้หญิงแต่งตัวเซ็กซี่โดนข่มขืน ยึดโยงบอกเล่าแต่สิ่งเหล่านี้ คุณเป็น activist คุณไปยืนชูป้าย คุณเป็นศิลปิน คุณวาดรูปไป คุณเป็นนักเขียน คุณเขียนงานออกมาเพื่อขับเคลื่อน ทุกคนทำงานในส่วนของตัวเอง เพราะฉะนั้น อะไรที่ช่วยกันได้อยากให้ช่วย อะไรที่เป็น safe space อะไรที่เป็น positive เราต้องช่วยกัน 

…แล้วก็อยากให้พูดถึงเรื่องเซ็กซ์ให้มากขึ้น เพราะชุมชน LGBTQ+ ก็ถูกนิยามด้วยเซ็กซ์ ด้วยเพศสภาพอยู่แล้ว ดังนั้น การพูดเรื่องเพศ เรื่องเพศสภาพ มันควรเป็นเรื่องที่พูดคุยกันได้เป็นปกติในสังคม มาบอกกันและกันว่า

Your body is beautiful, your sex is beautiful, you are beautiful…

ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ในนิตยสารลิปส์ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2565

Text : Ruethai S.
Photography : Somkiat K.
Styling : Anansit K. 

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม