Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview / People

Pleasure Unbound : ไมเนอร์-เพชรดา ปาจรีย์

เรื่องราวของสาว BDSM ของจริงที่มีอะไรมากกว่าแค่ โซ่ แส้ กุญแจมือ Unnamedminor
Interview / People

“โรคจิตหรือเปล่า” 
คำถามนี้คงเกิดขึ้นในใจใครหลายคนเมื่อพูดถึงรสนิยมเฉพาะเบื้องหลังประตูห้องนอน ที่คนบางกลุ่มชอบที่จะเล่น role play สวมบทบาทเป็น ‘นาย’ และ ‘บ่าว’ โดยมีพร็อพประกอบกิจกรรมเป็นบรรดาเครื่องทรมาน และพันธนาการอย่าง โซ่ แส้ กุญแจมือ รวมถึงอะไรต่อมิอะไรที่ดูอันตราย แต่กลับเร้าอารมณ์สำหรับคนที่เข้าใจในความสุขสมจากสิ่งที่กล่าวมา 

ไมเนอร์-เพชรดา ปาจรีย์ หรือที่ใครรู้จักในชื่อ Unnamedminor ก็เข้าใจในความต้องการของตัวเธอดีมาแต่ไหนแต่ไร สาว BDSM ตัวแม่ ผู้หลงใหลในศาสตร์งานมัดที่เรียกว่า ‘Shibari’ คนนี้ เธอยอมรับว่า ตัวเอง ‘แปลก’ แต่ในขณะเดียวกันเธอก็เข้าใจในรสนิยมของตัวเองทุกหลืบเร้น และไม่เคยบังคับขู่เข็ญใครให้คลั่งไคล้ในสิ่งเดียวกับเธอ 

เมื่อก่อนเนอร์ชอบดูหนัง underground แนว slasher แนวเลือดสาด แนวที่ค่อนข้างรุนแรง แล้วก็จะเขียนรีวิวหนังลงในกลุ่มเฟซบุ๊ก แล้วด้วยความที่เรารู้ตัวตั้งแต่เด็กเลยว่า เราชอบดูมือคนอื่น สมัยเรียน drawing ที่ศิลปากรก็จะชอบวาดมือมาก หรือเจอเพื่อนมือสวย ก็จะเอาแฮนด์ครีมไปให้ บอกให้เขาดูแลมือด้วยนะ เรียกว่า เริ่มรู้ตัวว่าตัวเองผิดปกติตั้งแต่มัธยม
…พอมาเจองานมัดในหนังปุ๊บ ก็จะเริ่มรู้สึกว่า เฮ้ย…มือตอนเขาโดนมัดสวยมากเลย แล้วก็เริ่มสงสัยว่า มันอยู่อย่างนั้นได้อย่างไร ท่ามันแปลกมากเลย อีกอย่างหนึ่งที่ชอบ คือชอบ human body และ figure ชอบทุกอย่างที่มันแปลกออกไป เหมือนที่เห็นในหนังผี หนังซอมบี้ ก็เริ่มเสพแนวนี้มากขึ้นเรื่อยๆ” 

จุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอหันมาทำในสิ่งที่รักอย่างจริงจัง เกิดจากเมื่อครั้งเธอสูญเสียคนรัก และอยากหาอะไรมาเติมเชื้อไฟให้ชีวิตเดินต่อไปได้ สุดท้ายก็ค้นพบว่า ‘การมัด’ ทำให้เธอลุกขึ้นใหม่ได้อีกครั้ง

“เนอร์เป็นคนที่ชอบเสพด้วยการดู แต่ไม่กล้าทำ เพราะรู้สึกว่า มันยาก แล้วถ้าไปทำกับมนุษย์คนอื่นน่ะ เนอร์ค่อนข้างขี้เกรงใจ พอเราเริ่มรู้จักตรงนี้ปุ๊บ สิ่งแรกที่เนอร์ทำ คือ เนอร์เริ่มฝึกมัดตัวเองแทน ซึ่งเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุดเลยนะ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่า ตัวเราเองชอบ หรือไม่ชอบอะไร มัดแรงมากขนาดไหน แล้วเราเมื่อยตรงไหนหรือเปล่า จากนั้นก็เริ่มถ่ายรูปตัวเองลงเฟซบุ๊ก โดยที่เราไม่ได้สนใจว่า คนจะมองเราอย่างไร เพราะ point หนึ่ง คือ เราต้องการเยียวยาตัวเอง แล้วภาพที่ออกไปก็ไม่ได้รุนแรง ไม่ได้โป๊เปลือยหรืออะไร ก็ใส่ชุดอยู่บ้านนี่แหละ”

แต่เมื่อการฝึกฝนด้วยตัวเองทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ เธอจึงเริ่มหันไปศึกษาศาสตร์นี้อย่างถูกวิธี เพราะนอกเหนือจากความสุขสมที่ได้รับ ความปลอดภัยควรต้องมาก่อนทุกสิ่ง 

“เนอร์ฝึกมัดด้วยตัวเองมาประมาณเกือบปีก็เกิดอุบัติเหตุ จากการที่เราพยายามดึงตัวเองให้ลอยตัว โดยที่ไม่รู้วิธีมัด อุปกรณ์ที่ใช้ก็ไม่ถูก เพราะเราดูจากในยูทูบแล้วอยากทำท่ายาก คราวนี้ขาก็เลยพลิก ทำให้ต้องใส่เฝือกอยู่ 6 เดือน ทำให้รู้สึกว่า จังหวะที่เราแก้เชือกไม่ออกน่ะ เรา panic แล้วเชือกก็ยิ่งรัดแน่นจนข้อเท้าก็พลิก จากการพยายามจะไปหากรรไกรมาตัดเชือก ทำให้ตกเตียง หัวเข่าอักเสบ กล้ามเนื้อฉีกหมดเลย เพราะมันแน่นมาก 

…เราก็เลยรู้สึกว่า ไม่ได้ละ ต้องเรียนให้ถูกวิธี จนกระทั่งมีโอกาสได้ไปเรียนกับอาจารย์ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งและอาจารย์ชาวไทยหลายๆ ท่าน ก็เลยได้เรียนแบบจริงจัง แล้วหลังจากนั้นก็เรียนมาเรื่อยๆ ก็เลยรู้แล้วว่า ต้องมัดเชือกให้ถูก และใช้เชือกให้ถูกชนิด อย่างเช่น ถ้าเราใช้เชือกปอ หรือเชือกป่านธรรมดา มันจะแข็งแล้วบาดผิว หรือเชือกที่มีไนลอนผสม มัดแล้วเป็นเงื่อนตายเหมือนเวลาผูกเชือกรองเท้าน่ะ เวลามัดยิ่งมัดยิ่งแน่น จนกลายเป็นเงื่อนตาย แกะไม่ออก แล้วยังลื่นจึงต้องใช้แรงดึงเยอะมาก ไม่งั้นเอาไม่อยู่ เพราะฉะนั้น เชือกแบบที่ใช้จึงเรียกว่า Jute Rope เป็นเชือกใยธรรมชาติของญี่ปุ่น มันเหนียวมากๆ ใช้ลอยตัวได้ 

…เนอร์ใส่ใจกับเชือกมาก พอได้มาก็จะนำไปตากก่อน ตากเสร็จเอาไปฟาด เอาไปเผาขนออก แล้วเอามานวด เชือกจะนิ่ม หรือไม่นิ่มขึ้นอยู่กับการใช้งานของเรา และการดูแลเขา พอใช้เสร็จมันก็จะมีขนออกมานิดหน่อย เราก็ต้องไปเผามันออก ต้องทรีทเม้นต์มันตลอดเวลา ของเหล่านี้มีอายุการใช้งานของเขา พอถึงรอบปีเราก็จะเปลี่ยน”

เธอเล่าถึงอุปกรณ์คู่ใจอย่างทะนุถนอมราวกับคนรัก การมัดตามขนบแดนอาทิตย์อุทัยนั้นแลดูสวยงามราวงานศิลปะ แต่ไมเนอร์ก็เน้นย้ำอย่างชัดเจนเสมอว่า มันเป็น ‘ศาสตร์’ ไม่ใช่ ‘ศิลป์’ 

“Shibari มันคือ ศาสตร์แห่งการมัด การที่จะทำอะไรสักอย่างที่อยู่ในศาสตร์นั้น เราต้องไปศึกษาอย่างลึกซึ้งในเรื่องนั้นๆ จนเราสามารถทำสิ่งนั้นได้อย่างแม่นยำ เราจะเป็น specialist ของศาสตร์นั้น แต่ศิลป์ คือ การทำทุกอย่างให้เป็นศิลปะ คือ การนำคอนเซ็ปต์ นำกระบวนการคิด เทคนิค ฝีมือมาต่อยอด เนอร์เอาศาสตร์นี้ มาบวกกับความรู้ด้านดีไซน์ที่ตัวเองมี แล้วทำให้มันเป็นศิลปะ แต่พอเนอร์มาเริ่มสอนคนอื่นให้เขาเข้าใจในเรื่องของการมัดเชือกอย่างถูกต้องอย่างไร ความปลอดภัยคืออะไร นี่คือศาสตร์แล้ว เราลง detail กับมัน เราไม่ได้ทำงานศิลปะ เราสอน นี่แหละ คือ ความแตกต่างของมัน

“คุณต้องเข้าใจว่า คุณกำลังเล่นอยู่กับกล้ามเนื้อ เส้นประสาท และ blood pressure ของตัวคุณเอง ยิ่งของคนอื่นแล้วใหญ่เลย ถ้าเขาพิการคุณรับผิดชอบได้ไหม ชีวิตคนคนหนึ่งมันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เลย มันคือชีวิตคนคนหนึ่งที่เขามอบให้คุณ” 

เพราะฉะนั้น ก่อนจะประกอบกิจกรรมที่ต้องอาศัยศาสตร์เฉพาะตัว จึงต้องอาศัยความยินยอมจากทั้งสองฝ่ายเป็นสำคัญ
“การที่จะทำงานมัด หรือเรื่องของ BDSM ก็ตาม มันต้องมี consent ก่อนอันดับแรก ถ้าไม่ยินยอม เราก็กลายเป็นฆาตกรถูกหรือเปล่า เหมือนคนโรคจิตที่ไปทำเ-ี้ยอะไรก็ได้ นี่คือสิ่งที่แตกต่างกันระหว่างการละเล่นแบบนี้ กับการกระทำแบบนั้น แล้วเมื่อเราได้ความยินยอมจากใครสักคน เราต้อง respect ตรงนั้นที่สุดเลย 

…ก่อนเล่นเราจะมี condition ที่ต้องคุยกันเลย อย่างตัวเนอร์เองเป็นคนที่มัดแล้วเราชอบตี อย่างตัวเราเป็น ‘ดอม’ (Dominant) แล้วอีกคนเป็น ‘ซับ’ (Submissive) เราเป็นดอมสาย Breath Control ชอบเกี่ยวกับลมหายใจ บีบคอ บิด ตบหน้า หรืออะไรก็ตาม ดอมจะมีหลายๆ แบบ สามารถแตกออกมาเป็นอะไรก็ได้ แต่เราก็แค่ต้องนั่งคุยกัน ฉันไม่รู้ว่า คุณชอบโดนกระทำแบบไหน แล้วเราชอบกระทำแบบไหน บางคนไม่รู้ก็มาลองไปด้วยกัน แต่ในทุกการทดลองนั้น ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเสมอ

…แต่เนอร์ว่า ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีใครไม่รู้ว่า ตัวเองสายไหน อาจจะรู้แค่ว่า เฮ้ย…เราเป็นดอมแล้วเราสลับไปเป็นซับได้ไหมมากกว่า เหมือนเรารู้อยู่แล้วว่า เราไม่ชอบให้คนมาจับเราน่ะ แต่ชอบแกล้งคนอื่น แต่บางคนไม่ชอบไปตีคนอื่น แต่ชอบโดนตี ชอบโดนแกล้ง”

รสนิยมชอบกระทำ หรือชอบถูกกระทำขณะสวมบทบาทดอมกับซับ สามารถสะท้อนนิสัยในชีวิตจริงได้หรือไม่ เราเชื่อว่า หลายคนนึกสงสัย พลางทบทวนพฤติกรรมตัวเองว่า น่าจะเข้าข่ายไหนกันแน่  

“แยกกันชัดเจนมาก personality อาจจะเป็นอีกแบบ อย่างเนอร์ไปทำงานอยู่ปกติเป็นคนร่าเริงมาก เฮฮา สนุก โปกฮา แต่ถ้ามาอยู่ในส่วนนี้อะไรไม่ได้ คือ ไม่ได้ บอกให้นั่งอยู่ตรงนี้ต้องนั่งอยู่ตรงนี้ แต่ปกติชีวิตประจำวันไม่เป็นเลย ติ๊งต๊องมาก แต่บางครั้งเนอร์เองรู้สึกว่า เนอร์ชอบโดนกระทำนะ แต่คนที่กระทำเนอร์น่ะ ไม่ใช่ใครก็ได้ อาจจะต้องเป็นแฟน อาจารย์ที่สอน มีแค่นี้ ไม่มีคนอื่นแล้ว ไม่ชอบให้ใครจับตัวนอกจากนี้ 

…ในบางเคสเหมือนกับว่า คนเราพอโดนภาวะการกดดันทางสังคมบีบรัด อย่างเช่น ต้องแบกรับภาระการเป็นเจ้าของธุรกิจอะไรบางอย่าง มันเก็บแรงกดดันเอาไว้จนอยากระเบิดออกมา บางครั้งไม่ได้อยากเป็นคนสั่งน่ะ แต่รู้สึกอยากโดนแม่ตีแล้วรู้สึกอบอุ่นน่ะ อะไรอย่างนี้ก็มีนะ อยากโดนแม่ตี แต่แม่ไม่ตีเราแล้ว กลายเป็นเราต้องไปคอยกำชับคนอื่นว่า ให้ทำอะไร มันก็จะสลับกัน เหมือนมากันคนละครึ่ง เรื่องของอารมณ์มนุษย์พวกนี้มันซับซ้อน”

เราพยักหน้าตามอย่างเห็นด้วย การรู้จักตัวตนคนอื่นว่ายากแล้ว แต่บางทีการทำความรู้จักความต้องการของตัวเองกลับยากกว่า บางคนใช้เวลาค้นหามาครึ่งค่อนชีวิตก็ไม่เจอด้วยซ้ำ 

ใครจะโชคดีอย่างไมเนอร์ที่รู้จักความต้องการของตัวเองอย่างแจ่มชัด

“ที่บ้านเนอร์เลี้ยงมาด้วยการบอกว่า ถ้าคุณไม่รักตัวเอง คุณจะรักคนอื่นไม่เป็น ก็เลยรู้ว่า ตัวเองต้องการอะไร เมื่อมนุษย์รู้ว่า เราต้องการอะไร เราก็จะมีเวลาเปิดรับฟังว่า คนอื่นต้องการอะไร เพราะความเข้าใจของตัวเองมีเต็มแล้ว”

ความเข้าใจในความต้องการ และรู้จักว่า ตัวเองเป็น ‘ดอม’ หรือ ‘ซับ’ ที่นำไปสู่การสวมบทบาท role play จำเป็นต้องจบลงที่ความสัมพันธ์ทางเพศเสมอไปไหม เราเชื่อว่า หลายคนกำลังสงสัยไม่ต่างจากเรา ไมเนอร์ให้ความกระจ่างว่า ‘โคตรไม่จำเป็นเลย’ 

เมื่อเป็นเช่นนั้นการจะสานความสัมพันธ์กับใครสักคนจำเป็นต้องรสนิยมต้องกันเสมอไปหรือเปล่า ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยแรกในการเลือกคู่หรือไม่ สำหรับคนที่เปิดเผยเรื่องรสนิยมเฉพาะกลุ่มอย่างเธอ เรื่องนี้อาจจะไม่ใช่ปัญหา เพราะคนส่วนใหญ่รู้จักตัวตนของ Unnamedminor ดีอยู่แล้ว 

“ถ้าเป็นช่วงแรกๆ การหาแฟนที่เขาจะเข้าใจเรายากมาก โดยเฉพาะคนที่เข้ามาแล้วไม่ได้หวังแค่มาอยู่ตรงนี้เพื่อความหวือหวา เพราะเราอยู่ตรงนี้เรามีสาวกค่อนข้างเยอะ มีอะไรที่ทำให้เขาเพลิดเพลิน คนที่เข้ามาจึงไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องชีวิตคู่น่ะ มีแต่เข้ามามาถามว่า “เมื่อไรจะเปิดบ้าน เมื่อไรจะมีงาน ขอไปด้วยนะ อะไรอย่างนี้ค่ะ 

…แต่จริงๆ แล้ว ตัวเนอร์เองในบทบาทคนรัก เนอร์จะเป็นผู้หญิงอีกคนหนึ่งเลย ค่อนข้างให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์มาก แล้วเราจะมีความรักหลายรูปแบบมาก อย่างเช่นรักน้องสองคนนี้ค่ะ (นางแบบทั้งสองที่มาร่วมเฟรมด้วย) เนอร์เรียกเขาว่า ‘Bunny’ (บันนี่) เป็นคู่มัดของเรา ถ้าเป็นภาษา BDSM เขาจะเรียกว่า ‘Rope Bottom’ ส่วนเราเป็น ‘Rope Top’ แต่เนอร์ชอบเรียกเขาว่า ‘บันนี่’ มากกว่า มันดูน่ารักดี เนอร์รักเขาหมดหัวใจเลย เนอร์รักเขาเหมือนพี่เหมือนน้อง เหมือนคนในครอบครัว ไม่ใช่แค่พาร์ทเนอร์ ส่วนแฟนเรารักในฐานะให้ความเคารพ เราจะมีความรักในหลายแบบ แยกเป็นคนๆ ไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันจะอยู่บนพื้นฐานของคำว่า respect 

…แล้วกว่าการที่จะมีบันนี่เป็นของตัวเองได้ เนอร์แทบจะเหมือนขอเขาเป็นแฟนเลย สองคนนี้คือบังเอิญเจอทั้งคู่ที่บ้านนี่แหละ เนอร์เปิดสอนมัดอยู่แล้ว เขามาลองให้มัด พอมาลองให้มัดเสร็จแล้วมันคลิกกันบางอย่าง เขาชอบสิ่งที่เราสัมผัส เราก็ชอบที่ได้สัมผัสน้อง เราชอบที่ได้แกล้งเขา มันสนุก แต่ไม่ได้เป็นความรู้สึกเหมือนลุ่มหลงแบบคนรักน่ะ มันเป็นเหมือนเล่นกันแล้วสนุกน่ะ แต่ถ้าจะไปมัดคนอื่นต้องขอก่อนนะ ไปไม่ได้” 

หลังจากบทสนทนาเริ่มกระชับแน่นเหมือนเชือกที่ถูกผูกเงื่อนแน่นขึ้นเรื่อยๆ เราจึงเอ่ยถามหญิงสาวผู้หลงใหลในสัมผัสของเกลียวเชือกว่า ความรู้สึกจากการมัดผู้อื่น หรือถูกมัดมัน ‘ฟิน’ อย่างไร

“ไม่เคยมัดแล้วเงี่ยนเลย ไม่เคยเลยสักครั้ง ถ้ารู้สึกมัดแล้วเงี่ยนน่าจะเป็นมัดแฟนน่ะ โดนคนอื่นมัดก็ไม่เงี่ยน เพราะอยากรู้ว่าเป็นอย่างไร การมัดมันเติมในจุดที่เนอร์รู้สึกว่า มันดาวน์ตอนนั้น ความสุขของเนอร์ถูกเติมจนเต็มแล้ว ไม่ต้องมีเซ็กซ์ก็ได้” 

…แต่เคยมัดจนผู้หญิงเสร็จก็มี มัดจนผู้ชายเสร็จ มัดจนเขาน้ำแตกก็มี แต่ความสุขที่เราได้รับ คือ ความสนุกที่ได้แกล้ง การตอบสนอง pleasure ของแต่ละคนต่างกัน มันไม่ได้แปลว่า ต้องมีเซ็กซ์เสมอไป อย่างเนอร์ชอบโดนแฟนตบหน้า ตบไปเรื่อยๆ อย่างนี้ถึงจะเงี่ยน” 

ต้องยอมรับว่า เมื่อราว 5 ปีก่อน ถ้าหากเราคิดจะนัดสัมภาษณ์กับกลุ่มคนที่มีรสนิยมเฉพาะอย่างไมเนอร์ เราคงไม่สามารถทำการถ่ายภาพที่เห็นใบหน้าชัดเจนได้ ซ้ำร้ายเราคงอาจจะไม่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์เลยด้วยซ้ำ ท่ามกลางกระแสโซ่ แส้ กุญแจ มือ ที่เราเห็นจากฉากในภาพยนตร์ ดูเหมือนว่า สัญลักษณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องเพศจะถูกผูกติดกับรสนิยมแบบชาว BDSM ไปเสียแล้ว รสนิยมใต้ดินกำลังจะกลายเป็นกระแสเมนสตรีมไปแล้วหรือเปล่า เรานั่งตั้งคำถามในวันที่ภาพยนตร์เกาหลีเองก็ยังเอารสนิยมเรื่องนี้มาดัดแปลงเป็นพล็อตชวนจิกหมอน

“เมื่อ 5 ปีที่แล้ว BDSM มันไม่ได้ขนาดนั้น แม้กระทั่งคู่รักยังไม่คุยกันเลยนะ สมัยก่อนน่ะ ยังไม่เปิดใจเลย ชอบเอากันท่าไหนล่ะ ชอบให้เลียไหม ชอบให้ทำอะไรไหม แทบจะไม่พูดกันเลย พูดกันตรงๆ เลย ที่เนอร์มาออกสื่อ เพราะเนอร์เห็นหลายๆ คนเป็นแบบนั้นแล้วไม่มีความสุข เนอร์เป็นคนหนึ่งที่เริ่มทำจากมัน แล้วมันให้ความสุขเนอร์ เนอร์แค่ออกมาบอกว่า ความสุขของเราคืออะไร”

…หลายคนที่มาเห็นเนอร์เป็นเนอร์อย่างนี้ เนอร์ทำแล้วเนอร์ดูมีความสุข แล้วถามว่า รู้ได้อย่างไรว่า ตัวเองชอบอะไร เนอร์ก็จะบอกเขาไปว่า ลองนั่งทบทวนตัวเองดูว่า ตัวเองชอบอะไร แล้วค่อยๆ ทำไป เราใช้เวลาหลายปีกว่าเราจะเป็นอย่างนี้เหมือนกัน มนุษย์เราทดลองไปเรื่อย ๆ และ เราก็จะเปลี่ยนความชอบของเราไปเรื่อยๆ แต่มันจะมีอยู่อย่างหนึ่งแหละ ที่เราชอบหลงลืมกันไปในความชอบของคนเรา เพราะเราไม่เคยสนใจตัวเราเองขนาดนั้นไง 

…แล้วคนที่คุณเอาเข้ามาในชีวิตน่ะ เข้ามาทั้งทางร่างกายคุณ และในหัวใจคุณด้วย คุณจะไม่คุยกับเขาหน่อยเหรอ คุยสิ ไม่เห็นยากอะไร ก็นั่นแหละเป็นสิ่งที่ทำให้เนอร์ออกมาแล้วบอกทุกคนว่า เราเป็นอย่างนี้ ไม่ได้ต้องการแปลกแยกจากคนอื่น หรือต้องการแตกต่างจากคนอื่นหรอก แค่อยากบอกว่า   “กูมีความสุขที่กูทำอย่างนี้ พวกมึงก็ทำได้ พวกมึงก็ผิดปกติเหมือนกูนั่นแหละ แต่แค่กูออกมายอมรับน่ะ”

ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ในนิตยสารลิปส์ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2565

Photography : Somkiat K.
Styling : Anansit K.
ขอขอบคุณ @forfunlatex by FORFUN Bangkok 

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม