Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

สวยเกินกว่าจะไถ แผ่นสเก็ตบอร์ด ‘ลายชามตราไก่’ ฝีมือศิลปิน ‘ลายคราม’

ชามตราไก่ในตำนานไปทำอะไรใน Street Culture
Art & Design / Culture

ชามตราไก่เป็นภาชนะที่มีเรื่องราวยาวนานกว่า 100 ปีส่งผ่านมาหลายวัฒนธรรม เดินทางผ่านเส้นทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่จีนแผ่นดินใหญ่ จนถึง เมืองเล็กๆ ในภาคเหนือของไทยอย่างลำปาง ต่อเนื่องมาถึงมือของคนรุ่นใหม่ ที่นำคุณค่านี้ผสานกับวัฒนธรรมสมัยใหม่ อย่าง Street Culture

สำหรับคนไทยเชื้อสายจีนแล้ว ชามตราไก่ ถือเป็นภาขนะในความทรงจำวัยเด็กของทุกคน ลวดลายไก่แบบพู่กันจีนที่อ่อนช้อย หากหรูหราหน่อย ก็จะมาพร้อมลายโมโนแกรมสีครามบนพื้นผิวเครื่องเคลือบแวววาว

สืบค้นไปราว 100 ปีก่อน ถ้วยชามดินเผาจากดินขาวกำเนิดขึ้นจากฝีมือของช่างปั้นชาวจีนแคะในมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ก่อนจะมีชาวจีนแต้จิ้วมาสร้างสรรค์ต่อ วาดลวดลายพู่กันรูปไก่แล้วเผาเคลือบสี กลายเป็นชามตราไก่ที่เราคุ้นตา ส่งออกขายไปโพ้นทะเล 

ในช่วงปีพ.ศ 2480-2500 ชาวจีนยุคเสื่อผืนหมอนใบหลายกลุ่มได้ตั้งโรงงานผลิตชามตราไก่ขึ้นในประเทศไทย ด้วยนโยบายจำกัดการนำเข้าสินค้าต่างประเทศในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำให้พวกเขาต้องหาแหล่งวัตุดิบใหม่ในประเทศไทยสำหรับการผลิต จนได้พบกับแหล่งดินขาวเนื้อละเอียดในจังหวัดลำปาง โรงเผาเครื่องเคลือบจึงถูกตั้งขึ้นมากมายในลำปาง จนกลายเป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงในเรื่องงานเซรามิกในที่สุด

เด็กลำปางทุกคนเติบโตขึ้นมาในเมืองเล็กๆ ที่มีชามเซรามิกเคลือบเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต กับลวดลายไก่ที่เห็นจนชินตาติดตรึงในความทรงจำ สองคนในนั้นคือ คุณเต๋า ปริญญา กิจพูลลาภ และ  คุณโจ อรรถเทพ สมัครธัญกิจ

ช่วงวัยรุ่น คุณเต๋าเล่นสเก็ตบอร์ดไปทั่วตัวเมืองลำปาง ไถแผ่นกระดานติดล้อค้นหาจุดเล่นทริกไปตามที่ต่างๆ สิ่งหนึ่งที่ผ่านตาเขาเสมอคือ อนุสาวรีย์ไก่ที่เป็นสัญลักษณ์ของอุตสาหกรรมหลักในชุมชน  เมื่อเติบโตขึ้นเข้ามาสานฝันในกรุงเทพ เข้าทีม Preduce แบรนด์สเก็ตไทยที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก กลายเป็นหนึ่งในไอคอนของวงการสเก็ตบอร์ดไทย ก่อนจะมีแบรนด์ร้านสเก็ตของตัวเองในชื่อ  9INE 5IVE  (ไนน์ ไฟว์)

เขาหันมองย้อนกลับไปที่ลำปาง อยากนำภูมิปัญญญาของบ้านเกิดมาเป็นส่วนหนึ่งของ Street Culture อยากเล่าเรื่องของคนลำปางผ่านเครื่องมือที่เขาคุ้นเคยที่สุดอย่างสเก็ตบอร์ด  คุณเต๋าติดต่อไปยังคุณโจ ศิลปินเจ้าของ ‘อารมณ์ดิน’ สตูดิโอ ผู้กำลังปลุกปั้นให้เครื่องปั้นดินเผาเซรามิกลำปางเป็นมากกว่าสินค้าทั่วไป

Storytelling in lampang เป็นผลงานที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือของทั้งคู่  นำลวดลายที่เป็นภาพจำของชามตราไก่ มาทำให้เกิดมุมมองใหม่บนแผ่นสเก็ตบอร์ด มอบความหมายให้แผ่นสเก็ตมีความเป็น ‘ของลายคราม’ ชิ้นหนึ่ง

คุณโจเลือกวาดลายสับปะรดและลายไก่ฟ้า สัญลักษณ์ของลำปาง ด้วยเทคนิค Blue and White การเขียนสีขาวน้ำเงิน ที่มีชื่อเสียงในอดีตมาช้านาน เคลือบผิวด้วยเทคนิคพิเศษ เพื่อให้ผิวสัมผัสเป็นความรู้สึกเสมือนผิวของเซรามิก​จริงๆ

ลายไก่บนชามเซรามิก เป็นลายที่ตกทอดมาจากการสร้างสรรค์ของช่างเคลือบชาวจีนแต้จิ๋ว มีความหมายถึงความขยันขันแข็ง ตื่นแต่เช้ามาทำมาหากินเหมือนไก่ ซึ่งเป็นคุณค่าหลักของชาวจีนมาทุกยุคทุกสมัย ไก่บนภาชนะใส่อาหารจึงเป็นเหมือนเครื่องเตือนใจให้ชาวจีนโพ้นทะเลที่ต่อสู้กับความลำบากตรากตรำและความล้มลุกคลุกคลานในการใช้ชีวิต ซึ่งก็เป็นจุดร่วมกับกีฬาที่ต้องอาศัยความมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อ ล้มแล้วล้มอีก ล้มลุกคลุกคลานอย่างสเก็ตบอร์ด

แผ่นสเก็ตบอร์ด คอลเล็กชั่นนี้ทำมาแบบพิเศษด้วยการวาดมือ จำนวนจำกัดเพียง 25 แผ่น และมีเจ้าของจับจองอย่างรวดเร็วไม่นานหลังเปิดพรีออเดอร์ แต่ก็ยังมีแผ่นแบบสกรีนลายปกติ เปิดตัวในงานสเก็ต SIP&SLIDE ที่ ฮิมวัง คาเฟ่ จังหวัดลำปาง ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

ส่วนหนึ่งของคอลเล็กชั่นใน Street Culture ก็คือ Streetwear นอกจากแผ่นสเก็ตแล้ว Storytelling in lampang ยังประกอบไปด้วย ผ้าพันคอ เสื้อยืด ถุงผ้า ในลายไก่น้ำเงินคราม บนแพทเทิร์นโมโนแกรมดอกสัปปะรดที่เป็นเอกสลักษณ์ของเครื่องเคลือบอีกด้วย

เช่นเดียวกับเรื่องราวประวัติศาสตร์ของชามตราไก่ที่ผ่านการพัฒนาเปลี่ยนแปลงมาตลอด จากจีนแคะ จีนแต๋จิ๋ว จนถึง ลำปาง โปรเจ็กต์ Storytelling in lampang เป็นการต่อยอดเรื่องราวและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของศิลปะเครื่องเคลือบในฐานะศิลปะร่วมสมัย แฝงจิตวิญญาณของความเก๋า ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ของชาวลำปาง และประสบการณ์ในวงการสเก็ตบอร์ดมากว่า 20 ปี 

Words: Roongtawan Kaweesilp 

ข้อมูลจาก  

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม