
สำหรับสาวกบิวตี้หลายๆ คนเชื่อว่าในคลังแสงของพวกเขาจะต้องมีไอเท็มที่เสริมความมั่นใจและเสริมพลังในโอกาสพิเศษ ๆ ซึ่งไอเท็มยอดนิยมที่หลาย ๆ คนมักเลือกใช้คงหนีไม่พ้น ’ลิปสติกสีแดง’ เฉดสีลิปสติกอันทรงพลังที่แฝงไปด้วยความเย้ายวน แต่จริงๆ แล้วไอเท็มบิวตี้ชิ้นนี้นอกจากจะเสริมพลังและความมั่นใจให้แล้ว ลิปสติกสีแดงยังเป็นเครื่องสำอางที่สื่อความหมายในหลายมิติมาก ๆ และเป็นเครื่องสำอางที่อยู่คู่กับมนุษย์มาอย่างยาวนาน
ลิปสติกสีแดงนั้นทรงพลังอย่างที่เครื่องสำอางชนิดอื่น ๆ หรือแม้แต่เครื่องแต่งกายไม่สามารถทำได้ ไอเท็มชิ้นนี้สามารถสื่อถึงความเฟมินีนและความแข็งแกร่งได้อย่างเท่าเทียมกัน แถมยังอยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่ยุคโบราณนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ไอเท็มบิวตี้ชิ้นนี้นั้นแตกต่างจากบิวตี้ไอเท็มชิ้นอื่น แต่ก่อนที่ลิปสติกสีแดงจะทรงพลังขนาดนี้เราพาย้อนประวัติความเป็นมาของลิปสติกสีแดงจะพบว่ามนุษย์นั้นให้คุณค่าและความหมายให้กับเครื่องสำอางชนิดนี้ไว้หลากหลายจะเป็นอย่างไรไปดูกัน
นิยามอันหลากหลายในหน้าประวัติศาสตร์

ลิปสีแดงนั้นผูกพันกับมนุษย์มาแต่ตั้งแต่อารยธรรมโบราณแล้ว จุดเริ่มต้นของลิปสติกสีแดงย้อนกลับไปเมื่อ 5,000 ปีที่แล้วในอารยธรรมสุเมเรียนจะพบได้ว่ามีการคิดค้นลิปสติกขึ้นมาจากอัญมณีบดผสมตะกั่วขาวแล้วนำมาทาที่เปลือกตาและริมฝีปาก
แต่ชาวสุเมเรียนโบราณไม่ใช่อารยธรรมเดียวที่แต่งแต้มริมฝีปากด้วยสีแดงเพราะว่าในสมัยอียิปต์โบราณเราจะเห็นได้ว่ามีการใช้แต่งแต้มริมฝีปากด้วยสีแดงในหมู่ของชนชั้นสูงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างรูปปั้นท่อนบนของพระราชินีเนเฟอร์ติติที่แต่งแต้มริมฝีปากด้วยสีแดงสด รวมถึงพระนางคลีโอพลัตราที่เพิ่มเสน่ห์ด้วยการทาเฉดสีนี้ลงบนริมฝีปาก นักประวัติศาสตร์ด้านความงามกล่าวไว้ว่าในอารยธรรมอียิปต์โบราณลิปสติกนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพศใดเพศหนึ่งเท่านั้นเพราะว่ามันแสดงถึงสถานะทางสังคมทำให้ผู้ชายชนชั้นสูงในสมัยอียิปต์นั้นก็แต่งแต้มริมฝีปากด้วยเฉดสีแดงด้วยเช่นกัน

หรือแม้แต่ในยุคสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษหรือ Queen Elizabeth I ก็มีการใช้ลิปสติกสีแดงในหมู่ชนชั้นสูงเพราะว่าพระนางเชื่อว่าลิปสติกสีแดงนั้นมีเวทมนตร์และมีความสามารถในการรักษาและปัดเป่าความตายได้ แม้แต่ในวาระสุดท้ายของชีวิตสุดยอดราชินีองค์นี้พระนางก็เลือกที่จะทาลิปสีแดงเพื่อสร้างความรู้สึกของตัวเองให้ดีขึ้นไม่ต้องจมอยู่กับความเศร้าและโรคร้ายที่พระองค์ต้องเผชิญ
แต่ในทางกลับกันในอารยธรรมกรีกโบราณและยุคกลางนั้นกลับมีมุมมองต่อเฉดสีนี้ในการเสริมความงามที่แตกต่างกัน เพราะว่าชาวกรีกโบราณมองว่าการทาปากด้วยสีแดงเป็นสัญลักษณ์ของโสเภณีและชนชั้นล่าง ซึ่งส่งผลให้เกิดกฎระเบียบเกี่ยวกับการแต่งหน้าขึ้นมาเป็นครั้งแรก เพราะว่าในอารยธรรมกรีกนั้นมีกฎบัญญัติไว้ว่าหากโสเภณีคนใดไม่ได้แต่งแต้มริมฝีปากด้วยสีแดงนั้นจะถูกลงโทษทางกฎหมายเพื่อแบ่งแยกระหว่างหญิงสาวทั่วไปกับโสเภณีอย่างชัดเจน
ส่วนในยุคกลางลิปสติกสีแดงถูกตีความว่าเป็นสิ่งนอกรีตโดยศาสนาเพราะว่าคริสตจักรในสมัยนั้นประณามสตรีที่แต่งหน้าและทาปากด้วยสีแดงนั้นว่าผิดบาป ทำให้ลิปสีแดงถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของปีศาจและการโอบรับซาตานทำให้หญิงที่ทาลิปสีแดงถูกมองว่าเป็นพวกแม่มด หมอผี หรือโสเภณี ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ถูกส่งต่อมายังยุคสมัยใหม่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ในยุคสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรหรือ Queen Victoria ประกาศกร้าวให้การแต่งแต้มริมฝีปากด้วยสีแดงนั้นเป็นสิ่งหยาบคายที่ผู้หญิงดีๆ ไม่ควรข้องแวะ อีกนัยยะหนึ่งก็ถือว่าเป็นการต่อสู้กันทางอ้อมกับฝรั่งเศสที่มีมุมมองกับลิปสติกสีนี้ในเชิงบวกซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเทรนด์ความงามที่สาวทั่วโลกยอมรับ
จากสถานะทางสังคมสู่มิติใหม่ทางการเมือง

แต่นอกจากลิปสติกสีแดงจะสามารถแสดงสถานะทางสังคมได้แล้วมันยังทรงพลังและถูกนำมาใช้เพื่อเป็นการแสดงสถานะทางการเมืองได้อีกด้วย ยกตัวอย่างการใช้ลิปสีแดงในที่สาธารณะเพื่อแสดงออกทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในปี 1912 ขบวนการสตรี Suffragette ขบวนการเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งของผู้หญิงเดินประท้วงอยู่บนถนนในเมืองนิวยอร์กเพื่อเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ ทำให้ Elizabeth Arden เจ้าของแบรนด์บิวตี้ชื่อดังที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1910 แจกลิปสติกสีแดงให้กับขบวนการสตรี Suffragette หน้าซาลอนของเธอในนิวยอร์ก
จึงทำให้แกนนำของ Suffragette อย่าง Elizabeth Cady Stanton และ Charlotte Perkins Gilman ผู้ทำให้ผู้หญิงทั่วโลกมีสิทธิในการเลือกตั้งเกิดไอเดียนำเอาเฉดสีลิปสติกนี้มาเป็นสัญลักษณ์ในการเรียกร้องสิทธิในตอนนั้นเพราะลิปสติกสีแดงมีพลังในการดึงดูดและสร้างความตกตะลึงให้กับผู้ชายได้ แถมสอดคล้องกับสีสันของเสื้อผ้าที่พวกเธอใส่เดินขบวนทำให้มันจึงกลายมาเป็นสัญญะแห่งการกบฏและปลดปล่อยของขบวนการสตรีชื่อดังนี้ในทั่วทุกมุมโลก


แค่นั้นยังไม่พอที่จะอธิบายว่าลิปสติกสีแดงนั้นทรงพลังเพียงใดเพราะในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่เกิดขึ้นระหว่างปี 1937-1945 ลิปสติกสีแดงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองที่สื่อความหมายถึง ‘ภาระอันยิ่งใหญ่ผู้หญิง’ ซึ่งมาจากคำขวัญชื่อดังของอเมริกา ‘Beauty As A Duty’ เนื่องจากผู้ชายจำนวนมากเดินทางไปรบที่ต่างประเทศ ผู้หญิงเลยต้องเปลี่ยนมาเป็นช้างเท้าหน้าฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในช่วงนั้น
พวกเธอต้องคอยผลิตอาวุธ แจกจ่ายอาหาร รวมถึงบทบาทและหน้าที่ต่าง ๆ ที่ผู้ชายเคยทำเพื่อให้ประเทศอยู่รอด พวกเธอจึงแสดงอัตลักษณ์ของความเป็นผู้หญิงในช่วงเวลาอันยากลำบากด้วยเฉดลิปสติกอันทรงพลังสีนี้ นอกจากนั้นลิปสติกสีแดงนั้นถูกใช้เพื่อต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์หรือเผด็จการในช่วงนั้นอย่าง Adolf Hitler ซึ่งเกลียดลิปสติกสีแดงนี้อย่างกับอะไรดี ทำให้ในประเทศพันธมิตรหลาย ๆ ประเทศทาลิปสติกสีแดงแสดงถึงความรักชาติและต่อต้านเผด็จการ ทำให้ไอเท็มบิวตี้อย่างลิปสติกสีแดงได้ส่งต่อพลังงานเชิงบวกและพลังของผู้หญิงตั้งแต่ตอนนั้นจวบจนถึงปัจจุบันนี้
เครื่องมือที่แสดงออกถึงพลังและตัวตนของทุกคน

ปัจจุบันลิปสติกสีแดงยังคงเป็นเครื่องมือเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองในหลาย ๆ ประเทศยกตัวอย่างเช่นในปี 2018 ผู้หญิงและผู้ชายชาวนิการากัวทาลิปสติกสีแดงถ่ายรูปและอัปโหลดลงโซเชียลมีเดียเพื่อแสดงจุดยืนและสนับสนุนการปล่อยตัวผู้ประท้วงรัฐบาล ซึ่งสอดคล้องกับที่ Marlén Chow นักเคลื่อนไหวที่ใช้ลิปสติกสีแดงเพื่อเป็นสัญลักษณ์และเครื่องมือในท้าทายรัฐบาล หรือที่ชิลีในปี 2019 ที่ผู้หญิงชิลีออกมาเรียกร้องถึงปัญหาความรุนแรงทางเพศด้วยการออกมาสวมชุดดำและทาปากสีแดงเพื่อบ่งบอกถึงความเจ็บปวดของเหยื่อที่ทุกทำร้าย
แต่ปัจจุบันลิปสติกสีแดงไปไกลเกินกว่าที่จะเป็นเครื่องมือแสดงฐานะทางสังคมหรือใช้แสดงออกทางการเมืองเพราะพลังของมันนั้นสามารถสร้างพลังให้กับผู้หญิงได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ริมฝีปากสีแดงกลายเป็นเทรนด์การแต่งหน้าที่แพร่กระจายไปทั่วโลกโดยถูกปลุกกระแสขึ้นมาอีกครั้งโดยเหล่าผู้หญิงที่เปรียบเสมือนบิวตี้ไอคอนในปัจจุบันอย่าง Madona, Julia Roberts และ Linda Carter ทำให้สีแดงยังคงเป็นสีลิปสติกที่กลายมาเป็นแฟชั่นอันทรงพลังจวบจนถึงทุกวันนี้


ถึงแม้ว่าในยุค 80s ยุคลิปสติกสีแดงจะถูกใช้เฉพาะในโอกาสพิเศษและโดนแทนที่ด้วยลิปสีชมพูหรือสีนู้ดสำหรับการแต่งหน้าในชีวิตประจำวัน แต่นั่นก็ไม่ใช่ข้อห้ามที่ให้ผู้หญิงเลิกทาลิปสีแดงนี้ไปเพราะปัจจุบันนี้โลกของมีอินเทอร์เน็ตและสื่อออนไลน์มากมายทำให้ผู้หญิงสามารถลุกขึ้นมาทาลิปสีตามใจชอบได้โดยไม่มีข้อแม้ แถมเรามีไอคอนรุ่นใหม่ที่หยิบสีนี้มาใช้จนกลายเป็นเสตทเมนต์ของพวกเธอและเป็นตัวอย่างของสาว ๆ ในปัจจุบันที่กลัวการใช้ลิปสติกสีแดงอย่าง Taylor Swift, Rihanna, Selena Gomez รวมถึง Alexandria Ocasio-Cortez นักการเมืองสาวรุ่นใหม่ชาวอเมริกาที่โอบรับกับเทรนด์ความงามนี้พร้อมทั้งใช้เป็นเครื่องมือแสดงออกทางการเมืองในสภาคองเกรสอีกด้วย
และด้วยเทคโนโลยีการผลิตเครื่องสำอางที่ก้าวไปข้างหน้าแบบไม่มีที่สิ้นสุดพวกเราเลยมีลิปสีแดงที่ปราศจากสารตะกั่วและสารพิษทั้งหลาย รวมถึงมีเฉดสีที่หลากหลายเหมาะกับทุกสีผิวและอันเดอร์โทนผิว ผนวกกับความเป็นมาอันยาวนานกว่า 5,000 ของบิวตี้ไอเท็มชิ้นนี้ไม่มีสิ่งใดปฏิเสธได้เลยว่ามันเป็นอาวุธที่ทรงพลังของทุกคนไม่ใช่แค่เฉพาะผู้หญิงเท่านั้นที่สามารถใช้ลิปสติกสีนี้ในการแสดงออกถึงตัวตนและพลังของตัวเองได้ผ่านริมฝีปากอันทรงพลังสีนี้