Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

One Piece (วันพีซ) ถอดบทเรียนการตื่นรู้ที่มาก่อนกาล Woke ยังไงไม่ให้โดนด่า

Culture / Entertainment

ภายใต้ท้องทะเลที่กว้างใหญ่ เหล่ากลุ่มโจรสลัดหมวกฟางได้ออกตามหาสมบัติชิ้นเอก One Piece พร้อมหยิบยื่นประเด็นความหลากหลาย” คืนให้กับผู้ชม (ในโลกจริง)

ใช่! เรากำลังพูดถึง One Piece (วันพีซ) ผลงานชิ้นเอกของอาจารย์ เออิจิโระ โอดะ ที่ดูเหมือนว่าการสอดแทรก Woke Culture ผ่านมังงะและอนิเมชันมีมาก่อนเขาก่อนใคร (ตั้งแต่ยุค 90) และอะไรเป็นสาเหตุให้วันพีซรัว “ปืนใหญ่แห่งความตื่นรู้” โดยไม่ขัดใจแฟนๆ เราจะมากางแผนที่โจรสลัดแกะสูตรความ Woke ไปพร้อมๆ กัน

วัฒนธรรม Woke Culture ผ่านสื่อ

ก่อนหน้าที่พจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับออกซฟอร์ดบรรจุคำว่า Woke ที่แปลว่า Being Aware (การตระหนักรู้) หรือ Well-Informed (การรู้ในมิติที่กว้าง) เชื่อมโยงกับบริบทของการเมืองและวัฒนธรรม สื่อได้สอดแทรกประเด็นความหลากหลายมาเป็นระยะๆ แต่ดูเหมือนไม่สามารถตีโฮมรันปลุกระดมมวลชนได้สักเท่าไร

ในปี 1971 บทละครเรื่อง Garvey Lives! ของ แบร์รี เบ็คแฮม นักประพันธ์ชาวอเมริกันได้เขียนว่า “ฉันนอนหลับมาตลอดชีวิต และตอนนี้คุณแกร์วีย์ปลุกฉันแล้ว ฉันจะตื่นต่อไป (Stay Woke) และจะช่วยเขาปลุกคนผิวสีคนอื่นๆ ให้ตื่นขึ้น”

และในปี 1989 ซีนจูบกับนักบุญผิวสี และการเต้นเร่าหน้าไม้กางเขนที่ถูกไฟไหม้ในมิวสิกวิดีโอเพลง Like A Prayer ของมาดอนนา สร้างปรากฎการณ์สั่นสะเทือนทั้งวงการศาสนา เพลง และโฆษณา แม้จะถูกบอยคอตจากศาสนจักร องค์กรครอบครัว และ Pepsi ถอนตัวจากการเป็นสปอนเซอร์ แต่สุดท้ายเพลงของขุ่นแม่แมดจ์กลับฮิตติดอันดับหนึ่งทั่วโลก และสามารถสร้างฐานแฟนคลับที่โตมากขึ้นด้วย

ในปี 2008 เอรีกาห์ บาดู โปรดิวเซอร์และนักร้องแนวนีโอโซลได้ใช้วลี “I Stay Woke” ผ่านเพลง Master Teacher ซึ่ง เดวิด สโตวัลล์ ศาสตราจารย์ด้านแอฟริกันอเมริกันศึกษาที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ชิคาโก ให้คำจำกัดความของวลี Woke ในบทเพลงนี้ว่า “ไม่ถูกปิดปากเงียบ และไม่ถูกทำให้สลบ”

แต่เหตุการณ์ที่ทำให้วัฒนธรรมการตื่นรู้สั่นสะเทือนมวลชนเป็นวงกว้าง เห็นจะเป็นเหตุการณ์ของไมเคิล บราวน์ วัยรุ่นเชื้อสายอเมริกัน-แอฟริกันที่ถูกตำรวจผิวขาวสังหารในปี 2014 จึงเกิดปรากฎการณ์รวมตัวกันเคลื่อนไหวเพื่อชีวิตคนผิวสี หรือ #BlackLivesMatter ไปจนถึงกระแสการต่อต้านการประกาศผลรางวัลออสการ์เมื่อปี 2016 ผ่าน #OscarSoWhite และ #WhiteOscar เมื่อผู้เข้าชิงสาขานักแสดงทั้งหมดมีแต่คนผิวขาว

Woke Culture ปรากฏผ่านสื่อภาพยนตร์ เพลง และมิวสิกวิดีโอก็แล้ว หากเราจะถามถึงมังงะและอนิเมชันสักเรื่องที่อัดแน่นไปด้วยความหลากหลายในบริบทของการเมือง สังคม และวัฒนธรรม มังงะแนวผจญภัยแฟนตาซีที่ออกทะเล (ออกทะเลแบบจริงๆ) อย่างวันพีซ ถือว่าเป็นแม่แบบที่นำเสนอได้กลมกล่อมโดยไม่ยัดเยียด

วันพีซในเวอร์ชั่นมังงะเล่มแรก
วันพีซในเวอร์ชั่นมังงะเล่มแรก
อินยากี โกดอย ผู้รับบทลูฟี่
คาแรกเตอร์ลูฟี่ ที่รับบทโดยอินยากี โกดอย มาพร้อมหมวกฟาง ไอเทมซิกเนเจอร์ของตัวละคร

เหล่าผู้นำหญิงในวันพีซ

อ.โอดะ ให้ความสำคัญกับประเด็น Empowering Women มาตลอด ซึ่งเห็นได้จากตัวละครผู้หญิงทั้งในมังงะและอนิเมชัน ต่างก็เสิร์ฟความความเก่งกาจดุดันไม่แพ้ผู้ชาย อย่างในกรณีของชาร์ล็อตต์ ลินลิน หรือที่แฟนๆ รู้จักกันในนามของ บิ๊กมัม แห่งเกาะโฮลเค้ก โดยตัวละครนี้ขึ้นชื่อเรื่องความแข็งแกร่ง เพราะเป็นหนึ่งในสี่โจรสลัดระดับจักรพรรดิ (ในเรื่องแบ่งความเก่งของตัวละครตามลำดับ โดยโจรสลัดลำดับสูงจะมีค่าหัวที่สูงไปด้วยและมีพลังที่ต่อกรได้ยาก โดยโจรสลัดระดับจักรพรรดิจัดว่าอันตรายอย่างมากต่อรัฐบาลโลก) พร้อมทั้งชูให้เห็นถึงประเด็นความเป็นแม่ของลูกทั้งหมด 85 คน และลูกๆ ก็รับบทเป็นเหล่าแม่ทัพแม่นายที่เก่งกาจเช่นกัน ซึ่งตัวลูฟี่เอง (พระเอกของเรื่อง) ก็ไม่อาจโค่นล้มบิ๊กมัมลงได้

ชาร์ล็อตต์ ลินลิน
ชาร์ล็อตต์ ลินลิน หนึ่งในสี่จักรพรรดิมาพร้อมพลังอันมหาศาล

หรืออย่างชาร์ล็อตต์ สมูทตี้ ลูกสาวของบิ๊กมัมเองที่ได้รับฉายาว่า “มนุษย์น้ำปั่น” เพราะกินผลปีศาจชิโบะ ชิโบะเข้าไป (เรื่องนี้กล่าวถึงตัวละครมีพลังวิเศษที่แตกต่างกันออกไป หากกินผลปีศาจชนิดต่างๆ) เลยทำให้มีพลังปิดชีพผู้คนด้วยการ “คั้นน้ำออกจากร่างกาย” และสามารถเก็บสะสมน้ำเพื่อพองให้ตัวใหญ่ขึ้น และปล่อยพลังน้ำออกมาได้ โดยค่าหัวของเธอก็สูงถึง 932 ล้านเบรี (สกุลเงินในเรื่อง) นับว่าเป็นสาวแกร่งที่เหล่าชายชาตรียังต้องยอมสยบ

ชาร์ล็อตต์ สมูทตี้
ชาร์ล็อตต์ สมูทตี้ กับพลังคั้นน้ำออกจากร่างกายสิ่งมีชีวิต

ปมตัวละครอาลอง-นามิ และความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น

นอกจากนี้ มังงะและอนิเมชันยังสอดแทรกประเด็นความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นไว้มากมาย และแม้ว่าเวอร์ชั่น Live Action ใน Netflix ต้องขมวดหนึ่งภาคอีสต์ บลู ของมังงะ ให้จบภายใน 8 ตอน ซีรีส์กลับชูประเด็นเรื่องนี้เช่นกัน ฉากเปิดตัวนามิที่แกล้งเป็นผู้ประสบภัยเพื่อหลอกขโมยเรือ จนไปถึงตอนเปิดตัว อุซปในซีรีส์ที่แสดงให้เห็นความร่ำรวยของคุณหนูคายะ ก่อนตัดภาพมาที่นามิย่องขโมยของซ่อนใส่ปลอกหมอนตอนดึก ดูเหมือนว่า โลกของวันพีซมีการแบ่งแยกความรวยกับความจนอย่างชัดเจน เหล่าชนชั้นปกครองมีอันจะกินส่วนคนเบื้องล่างก็ดิ้นรนกันไป

แม้ว่าการเป็น “โจรสลัด” จะถูกตั้งค่าหัวและมีเส้นทางที่ต้องแลกด้วยชีวิต แต่เหล่าประชาชนตาดำๆ ก็หาได้เกรงไม่ เห็นได้จากต้นเรื่องที่ฉากการประหารโกล ดี โรเจอร์ (โจรสลัดในตำนานผู้จุดประกายเรื่องสมบัติวันพีซ) ก่อนจะสิ้นชีพเขาได้พูดทิ้งท้ายว่า “สมบัติของข้ารึ? ถ้าอยากได้ข้าจะยกให้ ก็ลองหาดูสิ ข้าได้เอาทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไว้ ณ ที่แห่งนั้นแล้ว” จากนั้นประชาชนทุกคนก็ลุกฮือเพื่อออกตามล่าสมบัติ “ถ้าจะอดตาย ขอไปเป็นขโมยยังจะดีกว่า!”

ภาพเปรียบเทียบคาแรกเตอร์นามิฉบับ Live Action และอนิเมชัน
ภาพเปรียบเทียบคาแรกเตอร์นามิฉบับ Live Action และอนิเมชัน
เปรียบเทียบคาแรกเตอร์นามิ ลูฟี่ และโซโล
เปรียบเทียบคาแรกเตอร์นามิ ลูฟี่ และโซโล

ปมของอาลองนั้นก็น่าสนใจ โจรสลัดเผ่าพันธุ์เงือกที่มีรูปร่างครึ่งคนครึ่งปลาฉนาก ผู้บุกทำลายหมู่บ้านต่างๆ เพื่อขูดรีดทรัพย์สิน ซึ่งเนื้อเรื่องเผยให้เห็นว่าแนวคิดของตัวละครที่เกิดมาจากเผ่าเงือกโดนมนุษย์มองว่าต้อยต่ำและเป็นภาพลักษณ์ของชนชั้นแรงงาน อาลองเกลียดมนุษย์และพยายามใช้กำลังแก้ไขปัญหาเพื่อให้ได้การยอมรับว่าเผ่าพันธุ์ของตนเหนือกว่าใคร และราวกับตลกร้าย! เนื้อเรื่องแสดงให้เห็นว่าโจรสลัดผู้ทำการขูดรีดมนุษย์ผู้นี้ก็จำเป็นต้องมีการส่งส่วยให้กับหน่วยทหาร (เลว) ที่เป็นมนุษย์อยู่ดี เพื่อให้เส้นทางการคงอำนาจของอาลองคงอยู่สืบไป

โจรสลัดครึ่งคนครึ่งปลาฉนากผู้โหดเหี้ยม “อาลอง”
โจรสลัดครึ่งคนครึ่งปลาฉนากผู้โหดเหี้ยม “อาลอง”
อาลองในเวอร์ชั่นอนิเมชันทำการข่มขู่นามิ
อาลองในเวอร์ชั่นอนิเมชันทำการข่มขู่นามิ

และแม้ว่าแม่ของนามิเองจะถูกอาลองฆ่าตาย แต่เธอกลับเลือกเส้นทางที่เจ็บปวดที่สุด โดยการยอมเป็นลูกสมุนของอาลอง (แม้ว่าจะถูกใช้ให้เก็บเงินค่าคุ้มครองในตัวหมู่บ้านของเธอเองก็ตาม) โดยมีเงื่อนไขว่าหากวันหนึ่งเก็บเงินได้ร้อยล้านเบรี อาลองจะต้องยอมปลดปล่อยหมู่บ้านของเธอจากการเป็นทาส ดังนั้นการที่เธอจะโผล่มาลักเล็กขโมยน้อย (และขโมยเยอะ) ในหลายๆ ฉากจึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ (แต่ไม่ใช่หมายความว่ามันถูกนะ)

หากตัดความเหนือจริงและความแฟนตาซีออกไป นี่ไม่ต่างอะไรจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลก(จริง) ที่ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น และการคอร์รัปชันของผู้มีอำนาจปกครองยังคงเป็นปัญหา ทิ้งไว้ให้คนชั้นใต้ปกครองฝ่าฟันจกตากันตายไปข้าง ฟังดูก็แอบคล้ายพลอตเรื่องของภาพยนตร์เกาหลีชื่อดัง Parasite เหมือนกันแฮะ!

ราชินีแห่ง LGBTQIA+ นักปฏิวัติผู้เป็นปรปักษ์กับรัฐบาลโลก

ตัวละคร LGBTQIA+ อย่างเอมเพอริโอ อิวานคอฟ หรือที่แฟนๆ รู้จักกันดีในนามของ “อิวะจัง” อิวานคอฟเป็นตัวละครที่มีลักษณะเด่นคือศีรษะโตมาพร้อมผมทรงแอโฟรสีม่วง มีขนตาหนาดกดำพร้อมสวมชุดสีม่วงอลังการราวกับนางโชว์ สิ่งที่น่าสนใจคือ อ.โอดะฝากประเด็นการขับเคลื่อนสังคม และอุดมการณ์ทางการเมืองผ่านตัวละครนี้

เมื่ออิวานคอฟเป็นหนึ่งในลูกเรือมือดีของมังกี้ ดี ดราก้อน ซึ่งเป็นพ่อแท้ๆ ของลูฟี่ และเป็นหัวหน้ากองทัพปฏิวัติ โดยกองทัพปฏิวัตินี้ต้องการปลดแอกหมู่เกาะต่างๆ พร้อมล้มล้างระบอบการปกครองจากรัฐบาลโลกที่ได้ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจากมีการสนับสนุนลับๆ จาก “เผ่ามังกรฟ้า” ตัวร้ายที่สามารถสั่งชี้เป็นชี้ตายโดยใช้เอื้อมมือของรัฐบาล

ลูฟี่และอิวานคอฟ ราชินีแห่ง LQBTQIA+ บนโลกวันพีซ
ลูฟี่และอิวานคอฟ ราชินีแห่ง LQBTQIA+ บนโลกวันพีซ
อิวานคอฟที่สามารถปรับร่างกายให้กลายเป็นผู้หญิงได้เนื่องจากเอฟเฟกต์ของผลปีศาจโฮรุ โฮรุ
อิวานคอฟที่สามารถปรับร่างกายให้กลายเป็นผู้หญิงได้เนื่องจากเอฟเฟกต์ของผลปีศาจโฮรุ โฮรุ

อิวานคอฟ เคยถูกส่งเข้าคุกอิมเพลดาวน์ที่มี 6 ชั้น และได้สร้างพื้นที่ลับเรียกว่า “นิวคาม่า” ที่ชั้น 5.5 เพื่อทำการสอดแนมและรอวันที่ศึกมหาปฏิวัติเริ่มต้นขึ้น และที่แห่งนี้จึงทำให้ได้พบกับตัวเอกของเรื่องอย่างลูฟี่ที่สภาพร่างกายริดโรย อิวานคอฟสามารถใช้พลังความสามารถจากผลปีศาจโฮรุ โฮรุ ซึ่งทำให้ผู้ที่กินไปปรับเปลี่ยนฮอร์โมนได้ตามใจ ไม่ว่าจะเปลี่ยนเพศ สี อุณหภูมิ อายุ ความแข็งแรง หรือภูมิคุ้มกันในร่างกาย จึงทำให้อิวานคอฟเป็นหนึ่งในตัวละครสนับสนุนที่มีพลังมาก นอกจากสกิลการโจมตีที่จัดว่าเก่งและพิสดารแล้ว เขายังสามารถใช้มือแทงเข้าไปในร่างกายเพื่อฉีดฮอร์โมนกระตุ้นผู้ที่บาดเจ็บให้กลับมาฟื้นตัวได้ และลูฟี่ก็ได้รับการช่วยเหลือจนรอดชีวิตราวกับปาฏิหาริย์มาแล้ว

เหล่าปรมาจารย์เพศทางเลือก

ซีนใหญ่ที่นำเสนอประเด็นความหลากหลายทางเพศเห็นทีจะเป็นหมู่เกาะโมโมอิโระ เกาะที่ทุกอย่างมีสีชมพูและสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่นี่ก็มีหัวใจของหญิงสาว ซึ่งเกาะแห่งนี้เป็นที่ตั้งของอาณาจักรคามะบักกะที่ปกครองโดยราชินีอิวานคอฟนั่นเอง เกาะแห่งนี้เต็มไปด้วยเหล่า LGBTQIA+ และเป็นที่ที่ ซันจิ หนึ่งในลูกเรือของลูฟี่ผู้ที่มีความสามารถด้านการปรุงอาหารได้ประลองวิชากับปรมาจารย์เพศทางเลือก โดยเนื้อเรื่องนำเสนอความเก่งกาจในระดับที่ชายชาตรีอย่างซันจิยังต้องยกนิ้วให้

บทบาทของอิวานคอฟและตัวละครเพศทางเลือกในเกาะหมู่เกาะโมโมอิโระ เป็นที่ถกเถียงพอสมควรว่าแท้จริงแล้ว อ.โอดะ เข้าใจบริบทความแตกต่างทางเพศเพียงใด เนื่องจากการนำเสนอมาในคาแรกเตอร์ฉูดฉาด กลายเป็นการตอกปิดฝาโลงให้สะท้อนถึงความขบขัน

แต่ถึงกระนั้นตัวละครอย่างคิคุโนะโจ กลับนำเสนอในอีกมิติหนึ่งของเพศทางเลือกที่มาพร้อมกับคาแรกเตอร์แข็งแกร่ง และความสามารถในการใช้ดาบซามูไรแบบหาตัวจับยาก ถูกนำเสนอผ่านความอ่อนช้อย สง่างาม และมีเสน่ห์ในแบบฉบับของสตรี (และเป็นที่โปรดปรานของหนุ่มๆ ในเรื่องเสียด้วย)

เกาะโมโมอิโระ เกาะที่ทุกอย่างมีสีชมพูและสิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีหัวใจเป็นหญิงสาว
เกาะโมโมอิโระ เกาะที่ทุกอย่างมีสีชมพูและสิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีหัวใจเป็นหญิงสาว
เหล่าปรมาจารย์ LGBTQIA+ ผู้ฝึกฝนพลังให้กับซันจิ
เหล่าปรมาจารย์ LGBTQIA+ ผู้ฝึกฝนพลังให้กับซันจิ
ทาซ สกายลาร์  ผู้รับบทซันจิฉบับคนแสดง
คาแรกเตอร์ซันจิฉบับคนแสดงที่รับบทโดย ทาซ สกายลาร์

ยามาโตะกับการเลือกวิถีแห่งเพศชาย และนักแสดงหญิงข้ามเพศใน Live Action

ตัวละครอย่างยามาโตะ ลูกสาวแท้ๆ ของไคโด ซึ่งเป็นโจรสลัดระดับจักรพรรดิ (และเก่งกว่าบิ๊กมัมนิดหน่อย) โดยยามาโตะมาพร้อมกับคาแรกเตอร์ผู้หญิงเก่ง เธอสามารถเปลี่ยนร่างเป็นเทพหมาป่าได้เนื่องจากกินผลปีศาจอินุ อินุ และสามารถต่อกรกับพ่อแท้ๆ ของเธอเองได้ในระยะหนึ่ง ยามาโตะชื่นชอบวิถีและอุดมการณ์ของตัวละคร (ชาย) อย่างโคสึกิ โอเด้ง เมื่อโอเด้งถูกพ่อแท้ๆ ของเธอสังหาร เธอจึงสานต่ออุดมการณ์และเลือกที่จะเป็นในสิ่งที่อยากเป็น นั่นเองการเป็น “โอเด้ง” จึงนำมาซึ่งปฏิบัติตัวในวิถีของเพศชาย และตัวละครทั้งหลายก็ต่างยอมรับ ถึงขนาดไคโดพ่อแท้ๆ ยังเรียกเธอว่า “ลูกชาย”

ในภาพยนตร์ Live Action ทาง Netflix ดูเหมือนจะเปิดกว้างเช่นกัน ตัวละครอย่างโคบี้ รับบทโดยมอร์แกน เดวีส์ นักแสดงชายข้ามเพศชาวออสเตรเลีย ที่ถ่ายทอดคาแรกเตอร์ของเด็กชายผู้มีความฝันอยากเป็นทหารเรือ และมอร์แกนก็ทำได้ถึงเครื่อง เหล่าแฟนๆ ก็ไม่ได้รู้สึกว่าภาพยนตร์ Live Action เรื่องนี้ยัดเยียดประเด็นความหลากหลายแต่อย่างใด

คิคุโนะโจ อีกหนึ่งตัวละคร LGBTQIA+ ที่ปราศจากการสะท้อนภาพลักษณ์ในเชิงขบขัน
คิคุโนะโจ อีกหนึ่งตัวละคร LGBTQIA+ ที่ปราศจากการสะท้อนภาพลักษณ์ในเชิงขบขัน
ยามาโตะผู้เลือกเดินตามรอยวิถีแห่งโอเด้ง
ยามาโตะผู้เลือกเดินตามรอยวิถีแห่งโอเด้ง
มอร์แกน เดวีส์ นักแสดงชายข้ามเพศที่รับบทเป็นโคบี้
มอร์แกน เดวีส์ นักแสดงชายข้ามเพศที่รับบทเป็นโคบี้

รวมความฝันของคนทั่วโลก

จากกรณี Woke Culture ปรากฏกระแสตีกลับในภาพยนตร์ Live Action หลายๆ เรื่องของ Disney ไม่ว่าจะเป็นแอเรียลผิวสี หรือสโนว์ไวต์ที่รับบทโดยราเชล เซเกลอร์ ที่ดูเหมือนว่าจะไม่โดนใจแฟนๆ สักเท่าไร แต่ในทางกลับกัน ลูฟี่ ที่รับบทโดยอินยากี โกดอย นักแสดงเชื้อสายเม็กซิกัน แฟนๆ กลับหลงรักหัวปักหัวปำ

สตีเวน มาเอดะ หนึ่งในผู้พัฒนาซีรีส์ได้ร่วมมือกับ อ.เอดะ แบบลึกซึ้ง พร้อมให้สัมภาษณ์กับ Collider.com ถึงอินยากีว่า “เขาน่าทึ่ง…การพบเขาในช่วงคัดเลือกนักแสดงเป็นสิ่งที่เหลือ เหมือนมีโชคมหาศาลเมื่อได้เขามาอยู่ในซีรีส์ที่ใช่ และเขาก็ทำได้ดีในบทบาทดังกล่าว ผมจำต้องพูดว่าผมชื่นชอบอินยากี เขาตรงกับคาแรกเตอร์จริงๆ หมายถึงเหมือนลูฟี่จริงๆ ผมไม่สามารถหาใครที่แสดงได้แม้เพียงครึ่งหนึ่งของเขามาแทนได้เลย”

กลุ่มนักแสดงหลักในซีรีส์ฉบับ Live Action ที่สะท้อนความหลากหลายได้อย่างกลมกล่อม
กลุ่มนักแสดงหลักในซีรีส์ฉบับ Live Action ที่สะท้อนความหลากหลายได้อย่างกลมกล่อม
เรือ Going Merry ที่เดินทางเพื่อตามหาความฝันของการเป็นราชาโจรสลัด
เรือ Going Merry ที่เดินทางเพื่อตามหาความฝันของการเป็นราชาโจรสลัด

การคัดเลือกนักแสดงใน Live Action จะเลือกจากใครก็ได้ที่ภายในมีจิตวิญญาณลูฟี่อยู่ในตัว (ซึ่งรวมถึงคาแรกเตอร์อื่นๆ ในเรื่องด้วย) ซึ่งหากใครคนนั้นคือคนที่ใช่…ผู้ชมจะสัมผัสได้และอิ่มเอม โดยทั้งนี้เหล่าคาแรกเตอร์หลักบนเรือ Going

Merry (เรือของกลุ่มโจรสลัดหมวกฟาง) ก็ครอบคลุมทุกเชื้อชาติ ทุกสีผิวราวกับว่าแบ่งปันความฝันของทุกๆ คนไม่ว่าจะอยู่เสี้ยวใดบนโลก และประเด็นนี้จะไม่ยกความดีความชอบให้กับต้นฉบับมังงะ หรืออนิเมชัน…ก็ไม่ได้ เพราะเนื้อเรื่องที่ถูกปูมาแบบครอบคลุมทุกความหลากหลาย และอีกตัวละครอีกมากมายที่จะปรากฏในซีซั่นต่อๆ ไป ก็เป็นตัวแทนของมนุษย์ปุถุชนบนโลกที่ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ใดๆ มากำหนด

อัญมณีในหีบสมบัติไม่ว่าจะแดง จะเขียว จะฟ้า ฯลฯ ยังไงก็คืออัญมณี และ Woke Culture ฉบับมหากาพย์ One Piece เล่มนี้ก็ทำได้ดีก่อนใครตั้งแต่สมัยยุค 90

Words: Varichviralya Srisai
ข้อมูลจาก:

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม