
เชื่อว่าหลายคนคงได้เห็นคอนเทนต์เกี่ยวกับสีในภาพยนตร์ผ่านตากันมาบ้าง โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ที่มีคอนเทนต์เกี่ยวกับการจำแนกโทนสีในภาพยนตร์เรื่องต่างๆ ออกมาเป็นพาเลตสีที่สวยงามและน่าสนใจในภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ซึ่งโทนสีในพาเลตเหล่านั้นล้วนสะท้อน Mood & Tone แต่ละฉากในภาพยนตร์และยังสะท้อนถึงงานกำกับภาพของผู้กำกับภาพยนตร์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีหน้าที่เปรียบเสมือนหัวใจหลักในการสร้างภาพยนตร์ขึ้นมา
ซึ่งโทนสีเป็นหนึ่งในองค์ประกอบศิลป์ที่ใช้ภาพยนตร์เปรียบเสมือนกลไกหลักไม่แพ้องค์ประกอบส่วนอื่นๆ เลย เช่น บทประพัทธ์ นักแสดง เพลงประกอบ และเสื้อผ้า เพราะว่าการที่จะผลิตภาพยนตร์ชั้นดีออกมาหนึ่งเรื่องต้องอาศัยองค์ประกอบศิลป์หลายส่วนเป็นส่วนประกอบในการสร้างภาพยนตร์ขึ้นมาให้ถูกใจคนดูและนักวิจารณ์ ซึ่ง ‘โทนสี’ ที่ใช้ในการสร้างภาพยนตร์นั้นมีบทบาทอย่างมากในการช่วยให้ภาพยนตร์นั้นทรงพลัง สามารถสื่อสารได้ชัดเจน และเล่นกับความรู้สึกของคนดูจนทำให้โทนสีเหล่านั้นกลายเป็นลายเซ็นของผู้กำกับภาพยนตร์แต่ละคนแถมสะท้อนประสบการณ์ ความชอบ รสนิยม แรงบันดาลใจของส่วนตัวของผู้กำกับได้อีกด้วย
บนโลกนี้มีผู้กำกับจำนวนไม่มากที่สามารถใช้สีได้อย่างเก่งกาจจนได้รับยกย่องว่าเป็น ‘Master of Color’ หรือเจ้าแห่งสีในโลกภาพยนตร์ โดยพวกเขาสามารถใช้สีได้เป็นอย่างดีในการกำกับภาพยนตร์ไม่ใช่เพียงแค่การสื่อสารด้วยภาพ แต่พวกเขายังดึงศักยภาพอันทรงพลังของสีและเข้าใจในความหมายของสีได้อย่างลึกซึ้งจนเอามาใช้ในงานของตัวเองจนประสบความสำเร็จจนกลายเป็นลานเซนต์ส่วนตัว ผู้กำกับเหล่านั้นจะมีใครบ้างไปดูกันเลย!
Wong Kar Wai







หากพูดถึงผู้กำกับคนแรกที่ขึ้นชื่อในเรื่องของการใช้สีในภาพยนตร์มากๆ เชื่อว่าคอหนังชาวไทยและเอเชียหลายๆ คนต้องนึกถึง ‘Wong Kar Wai’ เป็นชื่อแรกๆ เขาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวฮ่องกงที่โด่งดังไปทั่วโลกด้วยสไตล์การทำหนังที่ถ่ายทอดความเหงาและความเป็นเอเชียออกมาได้เป็นอย่างดี ความเหงาในภาพยนตร์ของเขานั้นมีการใช้โทนสีนั้นเข้ามาช่วยทำให้ความเหงานั้นสมจริงและกินใจผู้ชมจนเกิดวลีอย่าง “กระทำความหว่อง” ในหมู่คอหนังชาวไทย
เมื่อพูดถึงคำว่าการกระทำหว่องบรรยกาศหรือสไตล์การทำหนังของ Wong Kar Wai นั้นล้วนเป็นเรื่องราวที่แปลกใหม่แต่มีเสน่ห์และสามารถถ่ายทอดความเหงาได้เป็นอย่างดี เช่น การเล่าเรื่องชู้รักที่ต่างมีสามีภรรยาของตัวเองอยู่แล้ว เขาได้เสริมพลังให้กับความเหงาเหล่านั้นโดยใช้สีสันเข้ามาช่วยขับให้สมจริงและมีพลังมากขึ้น ทำให้โทนสีและแสงที่เขาใช้ในการกำกับมักใช้แม่สีที่จัดจ้าน เช่น โทนสีแดง ส้ม เหลือง
สีที่ตัดกันอย่างชัดเจนส่งผลให้มู้ดด้วยรวมของภาพนั้นรู้สึกเหงาและเดียวดายในขณะเดียวกันก็สร้างความใกล้ชิดระหว่างตัวละครกับผู้ชมจนกลายเป็นวลีกระทำความหว่องที่เราคุ้นหูกัน ส่งผลให้ภาพยนตร์ที่เขากำกับอย่าง Chungking Express, Fallen Angels, In The Mood of Love ได้กลายเป็นหนังชั้นครูขึ้นหิ้งที่ผู้กำกับภาพยนตร์ยุคหลังๆ ใช้เป็นแรงบันดาลใจในการทำหนังจนถึงปัจจุบัน
ล่าสุด Wong Kar Wai ได้เปลี่ยนบทบาทขึ้นมานั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการสร้างให้กับภาพยนตร์ไทยชั้นดีอย่าง ‘One for the Road’ ซึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้นั้นบอกเล่าเรื่องราวที่สะท้อนความสัมพันธ์ที่ติดตรึงอยู่ในของความทรงจำของมนุษย์ของตัวเอกในเรื่องซึ่งป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายเดินทางโร้ดทริปเพื่อไปขอบคุณและบอกลาแฟนเก่า ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีกลิ่นอายและปัจจัยที่คล้ายกับการกระทำความหว่องในภาพยนตร์ของ Wong Kar Wai นอกจากนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้มีการใช้โทนสีและสีสันที่สะท้อนผลงาน Wong Kar Wai ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
Wes Anderson







อีกหนึ่งผู้กำกับที่มีโทนสีและสไตล์การกำกับภาพยนตร์ที่โดดเด่นและชัดเจนไม่ต่างจากคนก่อนหน้าอย่าง ‘Wes Anderson’ เขาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอเมริกันที่มีผลงานที่เจนจัดในเรื่องขององค์ประกอบภาพเป็นอย่างมากทำให้ผลงานของเขาหลายๆ เรื่องนั้นโดนใจสายแฟและคอหนังที่ชอบภาพยนตร์งานภาพสวย คอสตูมเริ่ด รวมไปถึงสถาปัตยกรรมในฉากหลังของภาพยนตร์ที่โดดเด่นจนมีไอจีรวบรวมสถาปัตยกรรมทั่วโลกที่เห็นแล้วนึกถึงงานของ Wes Anderson อย่าง wesandersonplanet
ผลงานภาพยนตร์ของ Wes Anderson นั้นมีสไตล์ที่ชัดเจนมากในบรรดาภาพยนตร์สมัยใหม่ เขาให้ความสำคัญกับองค์ประกอบศิลป์เป็นอันดับแรกๆ ในการทำภาพยนตร์จนได้ฉายาว่า Ari Director แห่งวงการภาพยนตร์ และที่โดดเด่นไม่แพ้งานฉากที่โด่งดังจนมีไอจีส่วนตัวก็คงจะเป็นโทนสีที่ถูกคิดมาอย่างรอบคอบ ราวกับเป็นเทพนิยายในยุคปัจจุบันที่ช่วยสร้างเอกลักษณ์และเป็นจุดขายของเขาที่ทำให้เขาโด่งดังจนกลายเป็นผู้กำกับชื่อดังในเหล่าผู้กำกับภาพยนตร์
อย่างที่กล่าวไปว่า Wes เป็นคนที่ให้ความสำคัญในเรื่องของสีมากทำให้เขาคุม Colorblock ในภาพยนตร์ได้อย่างเพอร์เฟกต์ซึ่งส่งผลกระทบมาในเรื่องของเครื่องแต่งกายและฉากหลังที่เรามักเห็นสถาปัตยกรรมอันสวยงาม เขามักใช้สีสันประมาณ 4-5 สีเป็นสีพื้นฐานในภาพยนตร์และองค์ประกอบศิลป์ต่างๆ ให้สอดคล้องกันทั้งเรื่องซึ่งส่วนมากเป็นโทนสีพาสเทลหรือโทนสีสด ดังนั้นเราจะเห็นการคุม Colorblock เหล่านี้ได้จากภาพยนตร์
อย่างเช่น The Grand Budapest Hotel ที่ออกฉายในปี 2014 เขาได้สร้างโรงแรมในจินตนาการขึ้นมาโดยได้แรงบันดาลใจจากโรงแรมสไตล์อาร์ตนูโวในแถบยุโรปตะวันออกโดยใช้สีชมพูพาสเทลเป็นสีหลักทำให้หลายๆ ฉากในหนังเรื่องนี้ใช้โทนสีพาสเทลในองค์ประกอบศิลป์ของภาพยนตร์ รวมไปถึง The Royal Tenenbaums ที่ออกฉายในปี 2001 ก็เป็นหนังที่เขากำหนดเฉดสีหลักเป็นสีเหลืองทำให้เสื้อผ้า แสง โทนสี รวมไปถึงพร็อพต่างๆ ในเรื่องนี้ล้วนเป็นสีเหลืองในเฉดต่างๆ
Pedro Almodovar




สำหรับผู้กำกับจากฝั่งยุโรปที่มีผลงานการใช้สีในภาพยนตร์อย่างโดดเด่นคงนี้ไม่พิน ‘Pedro Almodovar’ ผู้กำกับ นักเขียนบท โปรดิวเซอร์ และอดีตนักแสดง LGBTQ+ ชาวสเปนผู้ได้ฉายาว่า ‘เจ้าพ่อแห่งวงการหนังสเปน’ ซึ่งผลงานภาพยนตร์ของเขานั้นเต็มไปด้วยลีลาอันจัดจ้าน เต็มไปด้วยสีสัน รวมถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันแตกต่างเหนือความคาดหมายทำให้ผลงานของเขาราวกับศิลปะในรูปแบบของภาพยนตร์
นอกจากตัวละครและบทประพันธ์ที่ได้รับการแต่งมาอย่างดีที่เขาได้มอบกับโลกของภาพยนตร์ เพราะเขามักจะทำหนังที่ตีแผ่เกี่ยวกับเรื่องของความเชื่อ เพศ และศีลธรรมสร้างแง่คิดให้กับผู้ชม ผู้กำกับชาวสเปนคนนี้ยังเป็นที่รู้จักในฐานะผู้กำกับที่ใช้โทนสีอันจัดจ้านในภาพยนตร์อีกด้วย ซึ่งที่เรากล่าวไว้ผลงานของเขาเหมือนงานศิลปะก็คงไม่แปลก เขามักจะใช้องค์ประกอบศิลป์ในภาพยนตร์ของเขาที่ได้แรงบันดาลใจจากศิลปะอย่างเช่น เฟอร์นิเจอร์สไตล์โพสต์โมเดิร์น ศิลปะแบบป๊อปอาร์ต รวมถึงศิลปะแบบบาโรกเข้ามาสอดแทรกในภาพยนตร์ของเขาและช่วยขับให้โทนสีภาพยนตร์ของเขานั้นจัดจ้านขึ้นไปอีก
ในภาพยนตร์ของเขาสีนั้นมีหน้าที่เป็นตัวกำหนดอารมณ์ในการเดินทางและเติบโตของตัวละคร และเมื่อสีเปลี่ยนไป Pedro มักจะหมายถึงการเปลี่ยนผ่านทางอารมณ์ ซึ่งจุดนี้เองแสดงให้เห็นว่าผู้กำกับคนนี้เข้าใจในพลังของสีที่ส่งผลกระทบต่อผู้ชมเป็นอย่างดี ซึ่งสีแดงก็เป็นสีที่เขาเลือกใช้บ่อยในงานหนังของเขาเพราะสีแดงนั้นหมายถึงความอันตราย ความหลงใหล และซับซ้อนมาในการตีความอย่างในเรื่อง Dark Habits (1983) เรื่องราวของนักร้องไนต์คลับที่หนีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไปอยู่ในสำนักนางชีเราจะเห็นสีแดงสอดแทรกอยู่ในแต่ละฉากของเรื่อง รวมไปถึง All About My Mother (1999) หนังที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับเพศผ่านสีแดงอันเร่าร้อน
และล่าสุด W Magazine ฉบับ The Director Issue เขาก็ได้ตีแผ่มุมมองการใช้สีของเขาโดยการลั่นชัตเตอร์ให้กับนักแสดงสาวคู่บุญ Penelope Cruz สำหรับนิตยสารเล่มนี้เพื่อบอกเล่าถึงเรื่องราวการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ จะเห็นได้ว่าในแฟชั่นเซตนี้จะมีสีแดงสอดแทรกอยู่ตลอดทั้งเซตไม่ว่าจะเป็นชุดเดรสสีแดงเพลิงของ Balenciaga รวมไปถึงเครื่องประดับและฉากหลังนั้นล้วนมีสีแดงสอดแทรกอยู่เสมอ รวมถึงสีสันสดใสอื่นๆ ที่ถูกใช้ในแฟชั่นเซตของ W Magazine ทำให้แฟชั่นเซตนี้สามารถบอกเล่าและแสดงถึงลายเซ็นของเขาได้เป็นอย่างดี
Zhang Yimou








ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเอเชียอีกคนที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวและโทนสีที่แสดงถึงชาวตะวันออกได้เป็นอย่างดีอย่าง ‘Zhang Yimou’ ผู้กำกับชาวจีนที่สามารถสร้างชื่อผ่านผลงานระดับมาสเตอร์พีซหลายๆ เรื่องจนทำให้เขากลายมาเป็นผู้กำกับแถวหน้าในฝั่งเอเชียได้สมภาคภูมิ และโดยเฉพาะหากพูดการใช้สีเขาก็เป็นอีกหนึ่งเจ้าแห่งสีสันที่เรามองข้ามไปไม่ได้ ซึ่งในผลงานของเขามักเลือกใช้สีแดงไม่ต่างจาก Pedro เพราะในภาพยนตร์ของเขามักมีสีแดงที่เด่นและชัดในทุกๆ องค์ประกอบ
ภาพยนตร์ของเขาถ้าให้พูดง่ายก็คือหนังจีนในอุดมคติของใครหลายๆ คนซึ่งบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการต่อสู้กำลังภายใน วัฒนธรรมจีน การคลุมถุงชน รวมถึงเรื่องราวของราชวงศ์จีนต่างๆ ถูกใช้เป็นพล็อตหนังเพื่อบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ แต่ที่โดดเด่นไม่แพ้ฉากแอคชั่นก็คืองานภาพและองค์ประกอบศิลป์ของ Zhang Yimou ที่ถูกถ่ายทอดมาแบบไร้ที่ติตั้งแต่ฉาก มุมกล้อง องค์ประกอบภาพ รวมถึงสีที่ใช้ในการแสดงถึงอารมณ์และสถานการณ์ต่างๆ
อย่างภาพยนตร์เรื่อง Raise The Red Lantern (1991) เรื่องราวของสาวตกอับที่ต้องแต่งงานเข้าไปในบ้านเศรษฐีในฐานะเมียรองที่ต้องแข่งกับภรรยาอีก 3 คนเพื่อที่จะจุดไฟในโคมแดงขึ้นมาให้ได้ การจุดไฟในโคมแดงซึ่งมีความหมายว่าสามีของเธอมานอนพักค้างคืนกับเธอในคืนนั้น ซึ่งสีแดงที่ Zhang Yimou ใช้ในเรื่องนี้แสดงถึงอำนาจยิ่งเธอมีโคมแดงมากเท่าไหร่แสดงให้เห็นว่าอำนาจของนางเอกมากขึ้นเท่านั้น ส่วนในเรื่อง Jo Dou (1990) เล่าเรื่องสาวน้อยที่ถูกบังคับให้แต่งงานกับคนแก่เพื่อหาเงินมาใช้แต่กลับรู้สึกดีกับหลานชายของสามีตัวเอง ในหนังเรื่องนี้สีแดงสื่อถึงความอันตรายและความกดดันในโลกแห่งปิตาธิปไตย
ส่วนภาพยนตร์แอคชั่นฟอร์มยักษ์อย่าง Hero (2002) Zhang Yimou ก็ได้สอดแทรกสีสันที่มากขึ้นลงในภาพยนตร์ โดยเขาได้แทนสี 4 สี กับ 4 พาร์ตของเรื่องด้วยสีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน และสีขาวลงไปในฉากและเครื่องแต่งกาย เพื่อแสดงถึงบ่งบอกเรื่องราวและคาแรกตอร์ของตัวละครนั้นๆ แถมในภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมีฉากต่อสู้ที่ใช้สีสันสวยงามที่ตรึงตาตรึงใจผู้ชมจนกลายเป็นฉากต่อสู้อันยอดเยี่ยมตลอดกาลในภาพยนตร์จีนอีกด้วย
Sofia Coppola





สำหรับผู้กำกับคนสุดท้ายซึ่งเธอเป็นผู้กำกับหญิงคนเดียวในลิสต์นี้อย่าง ‘Sofia Coppola’ เป็นผู้กำกับหญิงที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ในลิสต์ของผู้กำกับหญิงแถมเป็นผู้กำกับหญิงคนที่สองที่คว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ได้อีกด้วย จุดเด่นของเธอคือสามารถถ่ายทอดมุมมองแบบ Famale Gaze ในภาพยนตร์ให้โดนใจคนยุคใหม่ได้เป็นอย่างดีด้วยการนำเสนอความเหงา ความโดดเดี่ยว รวมถึงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ในมุมมองแบบร่วมสมัยและเป็นกลางมากขึ้น แถมมีโทนสีและสไตล์การกำกับที่ละเมียดละไมจนละสายตาจากจอไม่ได้
นอกจากนั้นเธอยังเป็นผู้กำกับที่มีความสามารถในการถ่ายทอดองค์ประกอบศิลป์สุดสวยผ่านภาพยนตร์ของเธอจนโดนใจคอหนังทั่วโลกอีกด้วย อาจจะเป็นเพราะไลฟ์สไตล์สุดปังแถมเป็นลูกผู้กำกับภาพยนตร์ในตำนานอย่าง Francis Ford Coppla หล่อหลอมให้เธอกลายเป็นผู้กำกับหญิงที่มีผลงานภาพยนตร์แสนจะมีสไตล์โดดเด่นกว่าผู้กำกับหญิงในรุ่นราวคราวเดียวกัน
จุดเด่นของภาพยนตร์ของ Sofia นอกจากเนื้อเรื่องที่มีความเป็นสตรีนิยมสูงมาก งานภาพของเธอนั้นก็ไม่ต่างกัน เพราะโทนสีภาพยนตร์ของเธอนั้นสวยงามราวกับความฝันมีภาพที่สวยเหมือนอาบแสงอาทิตย์อยู่ตลอดเวลา แถมยังฟุ้งเฟ้อราวกับมีควันและหมอกอยู่ในตลอดการถ่ายทำของเธอจนทำให้เป็นสไตล์การกำกับภาพอันเป็นเอกลักษณ์ของเธอไปแล้ว นอกจากโทนสีแล้วนั้นเทคนิคการถ่ายหนังแบบ Long Take ของเธอ การแช่ภาพนานๆ รวมถึงการซูมอย่างช้าๆ ช่วยทำให้โทนสีในหนังของเธอราวอยู่กับในฝันตลอดเวลา จนมีสื่อกล่าวว่าเธอใช้มุมมองความงามเป็นวิธีสำรวจความซับซ้อนของผู้หญิงแล้วต่อยอดให้กลายเป็นภาพสวยๆ ที่เราเห็นในหนังของเธอ
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด Lost in Translation (2003) เธอได้ใช้โทนสีฟ้าและชมพูในการออกแบบภาพในหนังสามารถเปลี่ยนวิวทิวทัศน์อันสุดวุ่นวายและสวยงามของกรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่นให้กลายเป็นพื้นหลังอันแสนเศร้าของตัวละครอย่าง Charlotte และ Bob Harris สองตัวละครหลักที่อยู่ท่ามกลางความแตกต่างทางวัฒนธรรมจนก่อให้เกิดความเหงาขนาดมหึมาในใจของพวกเขา หรือภาพยนตร์รีเมคอย่าง The Beguiled (2017) ที่ตีความใหม่ในมุมมองแบบผู้หญิงก็ใช้โทนสีและแสงแบบเพ้อฝันรวมถึงคอสตูมสีพาสเทลสุดเฟมินีนแต่กลับแฝงไปด้วยความมืดมนสะท้อนถึงจิตใจเบื้องลึกของตัวละครแต่ละตัวใยเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี