Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview

A DEEPER SHADE of GREEN

พลังเล็กๆ ที่จะช่วยให้โลกคลายร้อนของ "ครูลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์"
Interview
ลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์

เมื่อมองเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในโลกใบนี้ที่มีแต่ทวีคูณทุกวัน ครูลูกกอล์ฟ – คณาธิป สุนทรรักษ์ กลับไม่คิดแค่ว่า ‘คนตัวเล็ก ๆ อย่างฉันจะทำอะไรได้’ เพราะเชื่อเหลือเกินว่าปัญหาที่ว่าใหญ่ เราทุกคนมีส่วนเปลี่ยนแปลงได้ด้วยพลังเล็ก ๆ ที่เราต่างมี เพียงการปรับเปลี่ยนสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน ก็เท่ากับร่วมกันทำเรื่องยิ่งใหญ่เช่นการดูแลโลกใบนี้ได้แล้ว

จุดเปลี่ยนที่ทำให้ติวเตอร์สอนภาษาอังกฤษสุดเก๋หันมาสนใจสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เริ่มต้นจากคำถามในวัย 34 ปี ที่ตกตะกอนถึงขั้นที่ว่า ฉันจะทำอะไรเพื่อโลกใบนี้ได้บ้าง

“มนุษย์เราพอโตขึ้น ถึงจุดที่เราทำสิ่งที่อยากทำได้สำเร็จแล้ว จึงเกิดคำถามว่า เราทำอะไรต่อไปดี บวกกับการที่คบกับ พอล แฟนชาวอังกฤษมาสิบปี ซึ่งเราเห็นไลฟ์สไตล์กรีนของเขามาโดยตลอด เขาไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยเหตุผลที่ว่า การกินเนื้อสัตว์ทำร้ายโลก ทุกอย่างที่เขาใช้sustainableทั้งหมด เมื่อเทียบกับเขาแล้วเรากลายเป็นคนเลวคนหนึ่งที่เกิดมาทำร้ายโลก เอาง่ายๆ ว่า ถ้ามีคนอย่างเราเยอะๆ ที่ไม่เคยคิดถึงโลกใบนี้ สุดท้ายโลกที่เป็นบ้านหลังเดียวของเราก็จบ โดยเราไม่เคยถามตัวเองเลยว่า เราทำอะไรให้โลกใบนี้บ้าง จึงเป็นจุดที่ทำให้เราคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำเพื่อโลกใบนี้”

ที่ผ่านมาลูกกอล์ฟค้นพบว่า การทำรายการ English Room ทำให้เสียงของเขาสามารถเปลี่ยนโลกในการใช้ภาษาอังกฤษของคนมากมายในประเทศได้ ซึ่งจะดีกว่านั้นไหม ถ้าเสียงเดียวกันนี้จะขยายไปถึงการช่วยให้โลกใบนี้ของทุกคนน่าอยู่ขึ้น

“ตั้งแต่ที่ลูกกอล์ฟทำรายการ English Room ก็รู้สึกว่าเรามีประโยชน์นะ เพราะฉะนั้นสิ่งแวดล้อมที่เมืองไทย ที่คนยังไม่ค่อยตระหนัก สังเกตได้ง่ายๆ จากนโยบายการหาเสียงเลือกตั้ง ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาท้ายๆ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมา ทั้งที่ถึงวันหนึ่งไม่เราจะสู้อยู่กับอะไรก็ตาม มันไม่มีประโยชน์เลยนะเมื่อโลกใบนี้อยู่ไม่ได้ เราจึงอยากเริ่มทำตรงนี้ และถ้าเราจะโน้มน้าวคนอื่นว่า ลองมาเปลี่ยนวิถีชีวิตดูบ้างไหม เราลองกรีนดูก่อนไหม เราต้องทำเองให้ได้ก่อน

“จากการที่คบกับ พอล แฟนชาวอังกฤษมาสิบปี เราได้เห็นไลฟ์สไตล์กรีนของเขามาโดยตลอด เขาไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยเหตุผลที่ว่า การกินเนื้อสัตว์ทำร้ายโลก ทุกอย่างที่เขาใช้ sustainable ทั้งหมดเมื่อเทียบกับเขาแล้วเรากลายเป็นคนเลวคนหนึ่งที่เกิดมาทำร้ายโลก

ลูกกอล์ฟเริ่มต้นจากการลงมือทำเอง แล้วแชร์ไลฟ์สไตล์ความกรีนเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันให้คนเห็นว่า ทำได้จริง

“เราเริ่มง่าย ๆ จากลองวิเคราะห์ว่า วันนี้อะไรบ้างที่เป็นสิ่งที่ทิ้งแล้วไม่หายไปจากโลกใบนี้ที่เราจะลดได้ ก็เริ่มจากลดหลอดพลาสติก ลามไปแก้วพลาสติก แก้วกระดาษ ฝาพลาสติก หายไปหมดจนเปลี่ยนการกินกาแฟไปเลย โดยเริ่มมาพวกขวดน้ำ แล้วเห็นว่าเราซื้อน้ำน้อยลงมาก แล้วก็เริ่มพกปิ่นโต แล้วเห็นเลยว่า ถือปิ่นโตไปร้านที่เคยซื้อแล้วลดแพ็คเกจจิ้งได้ทั้งกล่องพลาสติก ถุงพลาสติก ช้อนส้อมพลาสติก ลดเยอะมากจริงๆ จนสุดท้ายลามไปถึงว่าไม่สั่งของเดลิเวอรี่ให้กับตัวเอง นอกจากเหตุการณ์ที่จำเป็นจริง ๆ พอทำไปก็กลายเป็นวิถีชีวิตแล้ว”

อาจเป็นเพราะแรงดึงดูดระหว่างกัน วันหนึ่งเส้นทางก็ขีดให้มาพบกับ เชอร์รี่ – เข็มอัปสร สิริสุขะ ไอดอลด้านความกรีนที่ติดตามมาตลอด จากการพบกันในครั้งนั้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโปรเจ็กต์ Little Big Green ที่เป็นการรวมตัวกันของครูลูกกอล์ฟ เชอร์รี่-เข็มอัปสร และกอล์ฟ จาก The Flight 19 Agency ที่ตั้งใจนำเสนอข้อมูลข่าสารสิ่งแวดล้อมและสร้างคอมมูนี้สำหรับคนไลฟ์สไตล์กรีนๆ ภายใต้คอนเซ็ปต์ As Green As You Can หรือการมีไลฟ์สไตล์กรีน ๆ เท่าที่คุณทำได้ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนเริ่มเปลี่ยนเพื่อโลกใบนี้ไปพร้อมกัน

   “วัตถุประสงค์คือเราอยากให้คุณตระหนักว่า สิ่งที่คุณทิ้งจำนวนมาก มันไม่เคยหายไปไหน ท้ายที่สุดมันก็หมุนเวียนกลับมาที่ตัวคุณ ขยะที่ทิ้งไปเมื่อไม่มีการจัดการที่ดี มันก็ลงทะเล กลายเป็นไมโครพลาสติก สัตว์ทะเลกินเข้าไปมีไมโครพลาสติกในตัวเต็มไปหมด แล้วก็มันก็กลับมาที่ตัวเรา วนเวียนอยู่อย่างนี้”

ครูลูกกอล์ฟ

…คอนเซ็ปต์  As Green As You Can ที่เราคิดกันขึ้นมาเพราะรู้สึกว่า ก่อนที่เราจะให้คนเป็นเขียวเข้ม เราต้องให้เขาเริ่มเป็นต้นกล้าก่อน ทุกเขียวเข้มต้องเป็นเขียวอ่อนมาก่อน และทุกเฉดสีมีความหมาย วันนี้ยังทำไม่ได้ไม่เป็นไร แต่ถ้าวันไหนคุณเริ่มตระหนักว่า ไม่ต้องใช้หลอดก็ได้นี่ ร้านนี้แก้วสะอาด หรือพกหลอด พกขวดมาเอง วันนี้พกปิ่นโตได้ ถ้าวันนี้ตระหนักได้มากที่สุด เราถือว่าเราสำเร็จแล้วนะ เพราะเมื่อไรที่คนเริ่มเขียว เขาก็จะไปของเขาเอง สังเกตไหมว่าคนที่พกปิ่นโต เขาก็เริ่มมาจากลดหลอดนี่แหละ”

“วันนี้ยังทำไม่ได้ไม่เป็นไร แต่ถ้าวันไหนคุณเริ่มตระหนักว่า ไม่ต้องใช้หลอดก็ได้นี่ ร้านนี้แก้วสะอาด หรือพกหลอด พกขวดมาเอง วันนี้พกปิ่นโตได้ ถ้าวันนี้ตระหนักได้มากที่สุด เราถือว่าเราสำเร็จแล้วนะ”

ใครจะรู้ว่า เบื้องหลังโปรเจ็กต์เล็ก ๆ นี้ พาร์ทเนอร์ทุกคนทุ่มเทอย่างเต็มที่ ทั้งแรงใจ แรงกาย เวลา และทุนทรัพย์ที่เต็มใจทุ่มทุนกันเอง

“เราต้องบอกตรง ๆ ว่า แคมเปญเหล่านี้ต้องใช้เงิน พาร์ทเนอร์ที่ร่วมกันทำเขาก็ควักเงินกันเองเป็นล้านนะ ไม่ใช่อยู่ดี ๆ มารวมตัวกันทำ เราต้องรีเสิร์ช นัดคุยทีม ทำข้อมูลในเว็บไซต์ ทำคลิป ทุกอย่างต้องใช้เงินทุนทั้งนั้น เราต้องจ้าง แม้ทุกคนมาทำด้วยใจ แต่เขาทำงานก็ต้องได้ค่าตอบแทน ทุกอย่างมี cost ทั้งนั้น แล้วเราไม่ได้เป็นองค์กรที่หาเงินหรือขายของ เงินที่เราทุ่มไป ผลตอบแทนคือ เพื่อโลก กำไรคือ คนมีวิถีชีวิตที่กรีนขึ้น ถ้าโลกนี้ได้กำไรก็จบแล้ว

…ส่วนพี่เชอร์รี่เป็นความ amazing มาก ตอนนี้เขาขอเบรกไปเรียนต่อปริญญาโทด้านสิ่งแวดล้อมที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด เขาอินและทุ่มเทมากจนต้องไปเรียนเพื่อให้รู้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นถูกหรือผิด”

LOUKGOLF - Little Big Green

จากต้นกล้าเล็กๆ ที่เพิ่งปลูกลงดิน วันนี้ Little Big Green เริ่มมีงอกงามดังใจ และพร้อมเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านสาขา

“อีกไม่นานเราก็จะมีงานร่วมกับพาร์ทเนอร์อื่นๆ เพิ่มขึ้น ที่กำลังจะเกิดขึ้นคือการจัดงานให้เจ้าของแคมเปญด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหมดในเมืองไทยมาเจอกัน ไม่ว่าจะเป็น Greenery Challenge, Environman, Chula Zero Waste, Zero Waste Thailand และอีกเยอะมากประมาณ 60 คน เราให้ทุกคนพกปิ่นโตมากินข้าวกัน และแลกเปลี่ยนกันว่าคุณทำอะไรอยู่บ้าง ธีมงานคือจะไม่มีขยะ ทุกอย่างถ้าไม่มีต้องยืมมา คนเรามีของเหลือเฟือนะ เมื่อก่อนคนไทยเรามีงานก็ยืมกันได้ เป็นความน่ารัก และการยืมก็ sustainability สุดๆ แล้ว”

ในฐานะที่ลูกกอล์ฟเป็นคนที่เริ่มต้นดูแลโลกใบนี้อย่างจริงจัง พร้อมทั้งเป็นหนึ่งเสียงดังที่ชวนคนมาร่วมกรีนด้วยกัน เราจึงวิธีง่าย ๆ ในการชักชวนคนรอบข้างที่อาจไม่เคยใส่ใจเรื่องนี้มาลองมีวิถีชีวิตแบบกรีน ๆ ทีละน้อย “ต้องพูดจาดี ๆ กับเขา อย่างน้อยอย่าให้เขาปิดประตูใส่ด้วยการไปด่า เราไม่ไปชี้ว่าเขาผิดหรือถูก แค่บอกว่า มีวิธีนี้นะ ลดได้นะ ลองดู แค่นี้เอง พูดจาดี ๆ หว่านล้อม แต่ถ้าเพื่อนสนิทเราก็ดุเลยนะ  ไม่เอาไม่ให้ใช้ เราจะตั้งคำถามเช่น วันนี้มีวิธีอื่นไหมทีจะซื้อผลไม้โดยไม่รับถุงพลาสติก ใส่กล่องได้ไหม แต่ถ้าไม่มีไม่เป็นไร แต่ถ้าวันไหนมีต้องลดนะ ไม่ใช่ว่าเขาถือถึงพลาสติกอยู่แล้วไปด่าเขา “ชั่ว ฆ่าวาฬ!” เขาไม่เก็ตหรอก เราต้องโน้มน้าวให้เขาเป็นเขียวอ่อนก่อน

“ต้องพูดจาดี ๆ กับเขา อย่าให้เขาปิดประตูใส่ด้วยการไปด่า ไม่ใช่ว่าเขาถือถึงพลาสติกอยู่แล้วไปด่าเขา “ชั่ว ฆ่าวาฬ!” เขาไม่เก็ตหรอก”

…บางเรื่องต้องใช้เวลา พูดไปเท่าไหร่เขาก็ไม่เก็ตเท่าที่เขาเห็น ผู้ช่วยทุกคนในออฟฟิศก็ไม่ได้บังคับ เขาก็เปลี่ยนมาใช้กล่องข้าวกันเอง เพราะเราทำให้เห็นว่า เราจริงจัง เมื่อไรที่เขาเห็นเราเป็นต้นกล้า เขาจะยังไม่เชื่อถือเรา แต่พอเขาเห็นเราเป็นต้นไม้ที่เริ่มใหญ่แล้วว่าฉันไม่ใช่พลาสติกเลย ไม่เคยใช้หลอดสักครั้ง เขาจะเริ่มเปลี่ยนไปเอง

…อย่างพ่อแม่ของลูกกอล์ฟ เมื่อก่อนทุกครั้งที่เรากลับบ้าน เขาจะปอกมะพร้าวใส่ถุงพลาสติกไว้ให้ หนึ่งลูกต่อหนึ่งถุง เรารู้ว่าเขาหวังดี แต่พอมาทำโปรเจ็กต์นี้ เราก็เริ่มคุยกับเขาว่า ป๊า แม่ จริง ๆ ต้องเข้าใจนะว่า ขยะพวกนี้เป็น single use ที่ทิ้งไปไม่ได้หายไปไหน คำถามคือ มีวิธีอื่นที่จะบรรจุมะพร้าวไหม คำตอบคือมี ทุกวันนี้เราเห็นการเปลี่ยนแปลง จากแต่ก่อน 20 ถุง วันนี้ไม่มีเลย เป็นแค่โหลแก้วโหลเดียวที่มะพร้าวทุกลูกก็ถูกปอก คว้าน และใส่โหลไว้เท่านั้น แสดงว่าคนรอบตัวเราตระหนักแล้ว”

LOUKGOLF - Little Big Green

การไปสู่จุด Zero Waste อาจเป็นเรื่องใหญ่และยากกว่าจะไปถึง แต่หากวันนี้ทุกคนเริ่มตระหนักถึงว่าตัวเองมีส่วนช่วยโลกได้ นับเป็นก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่ ที่จะนำไปสู่การมีส่วนในการดูแลโลกอย่างยั่งยืน

“การจะไปสู่ความยั่งยืน เราต้องอดทนเหมือนดูแลต้นไม้นั่นแหละ ต้องดูแล ใส่ปุ๋ย พรวนดิน ปลูกเพิ่ม วันนี้เป็นแค่สวน แต่วันหนึ่งต้องเป็นป่า แต่ปลูกป่าเป็น 20 ปีอาจยังไม่เป็นป่าเลยก็ได้ บางทีมีคนมาถางไปอีก หรือเจอไฟป่า ก็ต้องปลูกเพิ่มไปกันไป เป้าหมายสูงสุดของเรา ณ วันนี้คือ การตระหนัก ถ้าคุณตื่นมาแล้วตระหนักว่า ทุกการบริโภคของเรา เรากำลังใช้ทรัพยากรในบ้านนี้ นับเป็นความสำเร็จของเราแล้ว คิดดูว่าถ้า Little Big Green ทำให้คนเป็นล้านหรือสิบล้านคนตระหนักได้ หรือทำให้ทุกคนในประเทศไทยตระหนักเรื่องนี้ได้ ผลจะเป็นอย่างไร”


Text : Chernporn K.
Photography : Somkiat K. 

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม