Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Fashion

New Wave Fashion Designer In Fashion Industry

เหล่าดีไซเนอร์หน้าใหม่ที่จะมาขโมยแสงสปอตไลต์ในวงการแฟชั่น
Fashion

สายแฟหลายๆ คนคงจะรู้กันดีว่าเดือนกันยายนนั้นเป็นเดือนที่สำคัญมากสำหรับอุตสาหกรรมแฟชั่น ไม่ว่าจะเป็นเหล่านิตยสารชั้นนำทั่วโลกที่ออก ’September Issue’ มาเพื่อโอบรับกับเทรนด์แฟชั่นในทุกมิติ นอกจากนั้นเดือนกันยายนนี้ยังมีมหกรรมแฟชั่นวีคที่เกิดขึ้นทุกหัวมุมแฟชั่นของโลกใบนี้ 

และที่สำคัญเดือนกันยายนนี้ยังเป็นเดือนแห่งธีม #NEWWAVE ของนิตยสาร LIPS เพื่อเฉลิมฉลองให้กับเหล่าคลื่นลูกใหม่ในทุกๆ แวดวงที่พวกเขาได้คิดค้นและสรรค์สร้างสิ่งใหม่ให้กับโลกใบนี้ เมื่อมองย้อนกลับมาที่วงการแฟชั่นคำว่า ‘คลื่นลูกใหม่’ ที่น่าจับตามองที่สุดคงหนีไม่พ้นเหล่ากองทัพนักออกแบบหน้าใหม่ที่กำลังเข้ามาขโมยแสงสปอตไลต์

แต่กว่าที่เหล่า ’New Wave Fashion Designer’ หรือ ‘ดีไซเนอร์คลื่นลูกใหม่’ นั้นจะประสบความสำเร็จและมีแสงสปอตไลต์ส่องมาที่ตัวของพวกเขาได้ พวกเขาต้องทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างคอลเลคชั่นเสื้อผ้าที่ส่งแรงกระเพื่อมให้กับวงการแฟชั่น

วันนี้เราเลยจะพาทุกคนไปทำความรู้จักเหล่า ‘New Wave Fashion Designer’ ที่มีความโดดเด่นด้านสไตล์และงานออกแบบที่แตกต่างกันออกไป และจะมีแฟชั่นดีไซเนอร์คนไหนที่มีสไตล์แมตช์กับคุณไปดูกัน!

Y2K Vibes

เราขอเปิดโชว์ย่อมๆ นี้ด้วยสองดีไซเนอร์ที่มีสไตล์แฟชั่น Y2K อันแสนโดดเด่นและกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในตอนนี้ คนแรกก็คือ ‘Charlotte Knowles’ London-Based ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ KNWLS ดาวรุ่งพุ่งแรงจากลอนดอน จุดเด่นของแบรนด์นี้นอกจากเสื้อผ้าที่ล้อไปกับเทรนด์ฮิตอย่าง Y2K แล้ว KNWLS นั้นยังเกิดขึ้นมาเพื่อเฉลิมฉลองความเป็นผู้หญิงผ่านซิลูเอ็ตต์เสื้อผ้าอันสุดแสนเฟมินีนในรูปแบบต่างๆ เช่น คอร์เซ็ท ชุดชั้นใน หรือแม้แต่ชุดว่ายน้ำ 

ทำให้เอกลักษณ์ของแบรนด์ที่พุ่งพรวดออกมาจากเสื้อผ้าคือเทคนิค ‘Deconstruction’ หรือการรื้อสร้างโครงสร้างของเสื้อผ้าที่ Charlotte กำลังทลายกรอบระหว่างเสื้อผ้าสำเร็จรูปกับซิลูเอ็ตต์ของไอเท็มสุดเฟมินีนที่เรากล่าวไปก่อนหน้า จนไปเตะตาเหล่าเซเลบริตี้ตัวท๊อปมากมาย เช่น Beyonce, Gigi Hadid, Bella Hadid, Dua Lipa และ Emma Corrin 

มาต่อกันที่ดีไซเนอร์คนต่อมาที่สามารถถ่ายทอด DNA ความเป็น Y2K ได้เต็มสูบผ่านคอลเลคชั่นเสื้อผ้าของเธออย่าง ’Masha Popova’ แฟชั่นดีไซเนอร์สัญชาติยูเครนคนนี้ได้หยิบเอาสไตล์ Y2K กลับมาชุบชีวิตผ่านคอลเลคชั่นเสื้อผ้าที่มอบกลิ่นอายแบบ “Cool Girl” ให้กับสายแฟได้เป็นอย่างดี 

เสื้อผ้าของเธอสร้างสรรค์ขึ้นด้วยเทคนิคการออกแบบเสื้อผ้าที่หลากหลายทว่าโดดเด่นในเรื่องของดีไซน์ เช่น การตัดต่อผ้า การจับเดรป และการมัดย้อม จนคว้าใจป๊อปสตาร์ทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น Dua Lipa แฟนคลับตัวยงไปจนถึงเกิร์ลกรุปแห่งยุคอย่าง Black Pink 

New Definition of Body-Con 

มาต่อกันที่หมวดต่อมาอย่าง ‘Body-Con หรือ ‘ชุดรัดรูป’ ที่กำลังกลายมาเป็นอีกหนึ่งเทรนด์แฟชั่นที่ได้รับความนิยมมากหลังจากวิกฤตโรคระบาด มีเหล่าดีไซเนอร์มากมายที่กำลังโอบรับเทรนด์สุดยั่วยวนนี้ 

แต่ที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์กว่าใครก็คงจะเป็น ’Rui Zhou’ แฟชั่นดีไซเนอร์เชื้อสายจีนที่สร้างสรรค์ชุด Body-Con จากเทคนิคการถักทอ รายละเอียดของชุดรัดรูปของ Rui มีความโดดเด่นด้วยซิลูเอ็ตต์แบบอสมมาตร แต่นอกจากความไม่สมบูรณ์แบบแล้วยังเสื้อผ้าของ Rui ยังโอบรับกับทุกรูปร่างและทุกเพศตอบโจทย์ความหลากหลายในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี  

มาต่อกันที่แบรนด์ชุด Bodycon ที่มีจุดเริ่มต้นจากแบรนด์ใน Instagram เล็กๆที่ทุกวันนี้โด่งดังจนทำให้ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์กลายเป็นหนึ่งในนักออกแบบคลื่นลูกใหม่ที่น่าจับตามองไม่แพ้ใครอย่าง AUNÉ แบรนด์นี้เกิดขึ้นโดยน้ำพักน้ำแรงแฟชั่นดีไซเนอร์ชาวโปรตุเกสอย่าง ‘Xenab Lone’ 

จุดเด่นของแบรนด์นี้คือเสื้อผ้าทุกชิ้นนั้นเป็นงานแฮนด์เมดเพื่อโอบรับกับเทรนด์ Sustianable อีกทั้งเป็นการโอบรับกับผู้หญิงทุกไซส์อีกด้วยเพราะไม่ว่าคุณจะไซส์ไหนก็ใส่ AUNÉ แต่ที่ทำให้ชุด Bodycon ของแบรนด์นี้แตกต่างไม่เหมือนใครก็คือลายพิมพ์หลากสีที่น่าสนใจไม่แพ้ชุดรัดรูปสุดยั่วยวนเลย

The Master of Maximalism 

มาต่อกันที่เสื้อผ้าหมวดสุดเว่อวังที่เรียกแสงแฟลชได้เป็นอย่างดี ซึ่งเสื้อผ้าในสไตล์แบบ ‘Maximalism’ ก็มีความแตกต่างกันออกไปในเรื่องของดีเทลและซิลลูเอ็ตต์ ดีไซเนอร์ที่เราจะพูดถึงคนแรกในหมวดนี้เรียกว่ามาแรงแซงทางโค้งมาก เธอคนนี้มีนามว่า ‘Harris Reed’ อีกหนึ่งดีไซเนอร์สัญชาติอังกฤษที่ได้ส่งเสื้อผ้าของเขาไปยังพรมแดงระดับโลกมาแล้วหลายงาน  

เบื้องหลังเสื้อผ้าอันแสนเว่อวังและเต็มเปี่ยมไปด้วยคาแรกเตอร์สุดแกลมก็คือ ‘ความลื่นไหลเพศ’ ที่เธอต้องการใส่มันไปในทุกอณูของเสื้อผ้า แต่นอกเหนือจากความหลากหลายทางเพศที่เขาต้องการใส่ไปในงานออกแบบของเขาแล้ว เสื้อผ้าของเขาก็งดงามและวิจิตรราวกับงานศิลป์จนเหล่าเซเลบริตี้สไตลิสต์หยิบเอาเสื้อผ้าของเขาไปใส่ให้กับเหล่าเซเลบริตี้เอลิสต์มาแล้วมากมาย เช่น Lil Nas X, Beyonce, Harry Style, Adele และ Selena Gomez 

มาต่อกันที่อีกหนึ่งแฟชั่นดีไซเนอร์ที่ประจำอยู่ที่กรุงลอนดอนอย่าง ’Sohee Park’ ดีไซเนอร์ชาวเกาหลีใต้เจ้าของแบรนด์ Miss Sohee แบรนด์เสื้อผ้าที่ค่อยๆ เข้ามามีบทบาทในอุตสหกรรมแฟชั่นในตอนนี้ เสื้อผ้าของเธอนั้นมีแนวคิดที่เป็นเอกลักษณ์และผสมผสานวัฒนธรรมตะวันออกได้อย่างลงตัว

ล่าสุดแบรนด์หรูฝรั่งเศสอย่าง ‘Nina Ricci’ ได้ประกาศว่าแฟชั่นดีไซเนอร์สัญชาติอังกฤษคนนี้จะมาเป็นครีเอทีฟไดเร็กเตอร์คนล่าสุดของแบรนด์นี้ หลังจากที่คู่ดูโอ้นักออกแบบเสื้อผ้าอย่าง Rushemy Botter และ Lisi Herrebrugh ออกจากตำแหน่งไปตั้งแต่ต้นปี เรามารอดูกัน DNA ความเยอะแบบลื่นไหลจะมาผสานเข้ากับแบรนด์หรูสุดเฟมินีนจากฝรั่งเศสแบรนด์นี้ได้อย่างไร

เรียกได้ว่าเป็น Miss Sohee เป็นงานโอต์กูตูร์ขนาดย่อมเลยด้วยความหรูหราและเว่อวังต่างๆ แต่นอกจากงดงามแบบเสื้อผ้าชั้นสูงเบื้องหลังที่ซ่อนอยู่ก็คือ ‘ความยั่งยืน’ ที่ฉีกกฎเกณฑ์เสื้อผ้าชั้นสูงแบบเดิมๆ เพราะเธอใช้ผ้าและวัสดุเหลือใช้ต่างๆ มาสร้างงาน Semi-Couture ที่นอกจากจะมีคุณค่าในเชิงของงานศิลป์แล้วยังรักษ์โลกไปพร้อมๆ กัน

Minimal with a Twist 

หลายปีที่ผ่านมาแม้ว่าเทรนด์ Minimal ยังคงวิ่งเล่นอยู่ในอุตสาหกรรมแฟชั่นแต่ก็ไม่โดดเด่นเท่ากับเทรนด์เสื้อผ้าที่หวือหวาและโดดเด่นเทรนด์อื่นๆ  วันนี้เราเลยจะพาทุกคนไปทำความรู้จักเหล่าดีไซเนอร์ที่เพิ่มความน่าสนใจให้กับเสื้อผ้ามินิมอลด้วยเทคนิคการออกแบบเสื้อผ้าที่น่าสนใจ 

มาเริ่มกันที่แบรนด์แรกอย่าง KIMHEKIM โดยดีไซเนอร์ชาวเกาหลีอย่าง ‘Kimminte’ ซึ่งแบรนด์มินิมอลสุดเก๋นี้ได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องแต่งกายเกาหลีโบราณ โดยนำเอาซิลูเอ็ตต์และดีเทลของเสื้อผ้าโบราณเหล่านั้นมาดัดแปลงให้กลายเป็นเสื้อผ้ามินิมอลที่อยู่ในสเกลเดียวกับงานโอต์กูตูร์เลย ซึ่งส่งต่อไปยังอีกจุดเด่นหนึ่งที่ Kimminte ชอบทำคือการนำดีเทลมาสร้างกิมมิคให้กับเสื้อผ้ามินิมอลจนกลายเป็นความน่าสนใจของแบรนด์

ดีไซเนอร์คนต่อมาเป็นดีไซเนอร์ที่เข้ามาเพิ่มความแกลมให้กับเสื้อสไตล์มินิมอลเขามีชื่อว่า ‘Maximilian Davis’ ดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งแบรนด์ MAXIMILIAN แบรนด์มินิมอลที่นอกจากจะเพิ่มมิติให้กับเสื้อผ้าแสนเรียบง่ายแล้ว เขายังเฉลิมฉลองในความหลากหลายทางเชื้อชาติอีกด้วยโดยเฉพาะวัฒนธรรมของชาวตรินิแดดและโตเบโก การเชิดชูรากเหง้าของคนผิวดำและแฟชั่นเมื่อมาอยู่รวมกันกลับมีเสน่ห์และสร้างความน่าสนใจให้ดีไซเนอร์คลื่นลูกใหม่คนนี้ได้เป็นอย่างดี

และแนวคิดการทำงานอันหลากหลายและเปิดกว้างของเขาทำให้ Maximilian ได้รับตำแหน่งครีเอทีฟไดเร็กเตอร์คนล่าสุดของ Salvatore Ferragamo ไป ซึ่งเรามองว่างานออกแบบเฉียบๆ เนี๊ยบๆ ของเขานี่แหละเหมาะกับแบรนด์เครื่องหนังชื่อดังจากอิตาลีแบรนด์นี้เป็นอย่างดี เพราะ เขาน่าจะสร้างจุดแข็งในส่วนของงานดีไซน์และเพิ่มยอดขายในฝั่ง Ready-to-Wear ได้!

Modern Indian 

และหากพูดถึงเรื่องของเชื้อชาติแล้วมีดีไซเนอร์คลื่นลูกใหม่ที่มีเชื้อสายอินเดียจำนวนหลายคน ที่ได้ผสมผสานเอารากเหง้าและวัฒนธรรมของประเทศที่เต็มไปด้วยมรดกล้ำค่าทางวัฒนธรรมใส่ลงไปใน DNA ของเสื้อผ้า ซึ่งดีไซเนอร์สองคนในหมวดนี้ที่เราจะพูดถึงนั้นมีจุดเด่นที่แตกต่างกันมาก แต่ทว่ากลับมีกลิ่นอายความเป็น Modern Indian เหมือนกันอย่างไม่น่าเชื่อ

เรามาเริ่มกันที่ดีไซเนอร์คนแรกอย่าง ‘Supriya Lele’ นักออกแบบแฟชั่นชาวอังกฤษเชื้อสายอินเดีย ที่ตอนนี้แบรนด์ของเธอกำลังเป็นที่จับตามองมากๆ ของสายแฟ การผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมอินเดียและวัฒนธรรมอังกฤษทำให้มุมมองของแบรนด์นี้น่าสนใจมาก โดยเฉพาะความ ‘Sensual’ ที่ส่งผ่านออกมาในทุกๆ ดีเทลและซิลูเอ็ตต์อย่างกลมกล่อม

ซึ่งเกิดขึ้นจากการผสมผสานเอาวัฒนธรรมบ้านเกิดเข้าไปเข้าไปได้อย่างร่วมสมัยผนวกกับการบอกเล่าคอลเลคชั่นในมุมมองของผู้หญิงที่อ่อนโยนทว่าเข้มแข็ง ทำให้แบรนด์ Supriya Lele ได้รับคำชมว่าเป็นแบรนด์เสื้อผ้าของผู้หญิงยุคใหม่อย่างแท้จริง 


มาถึงดีไซเนอร์คนสุดท้ายที่ชื่อว่า ‘Priya Ahluwalia’ ดีไซเนอร์เชื้อสายไนจีเรีย-อินเดีย เจ้าของแบรนด์  Ahluwalia ดีไซเนอร์คนนี้เป็นส่วนหนึ่งของดีไซเนอร์ผคลื่นลูกใหม่ที่เข้ามาปรับเปลี่ยนมุมมองต่อเสื้อผ้าผู้ชาย ผลงานการออกแบบเสื้อผ้าของ Priya นั้นเป็นการนำเอาสองมรดกวัฒนธรรมอย่างไนจีเรียและอินเดียมาผสมผสานไว้ในงานออกแบบของเธอ เราจะเห็นได้จากดีเทลและวัสดุต่างๆ ที่เธอใช้ เช่น งานปัก ลูกปัด และการใช้สี 

แม้ว่าจุดเริ่มต้นของเธอจะเริ่มที่เสื้อผ้าสำหรับผู้ชายแต่ว่าด้วยความหลากหลายในทุกวันนี้ทำให้เธอเริ่มหยอดเสื้อผ้าผู้หญิงลงไปในคอลเลคชั่นของเธอ นอกจากเรื่องความหลากหลายทางเชื้อชาติและเพศแล้ว Priya ยังให้ความสำคัญในเรื่องของความยั่งยืนโดยเฉพาะการนำเอาเสื้อผ้าเหลือใช้มาทำใหม่ด้วยเทคนิค ‘Patchwork’ และการใช้เส้นใยรีไซเคิลในคอลเลคชั่นของ Ahluwalia

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม