Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

Nature of Work

นิทรรศการโดย 3 ศิลปิน เกเบรียลล่า เฮิร์ส, ฮู ยุน และนานา บูซานี
Art & Design / Culture

ทำงาน ทำงาน ทำงาน!

สัปดาห์นี้เราอยากพาสำรวจนิทรรศการที่เสมือนเงาสะท้อนแรงงานมนุษย์ พลังธรรมชาติ และความทรงจำทางประวัติศาสตร์ ซึ่งศิลปินแกะรอยการทำงานในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่มีทั้งความหยาบกระด้าง และความละเอียดอ่อน ผ่านคำว่า ‘งาน’ ที่สื่อถึงการลงแรง และวัตถุดิบประเภทต่าง ๆ ตลอดจนสัมพันธภาพระหว่างงานกับระบบนิเวศด้านแรงงาน รวมทั้งการกระทำที่ไม่เป็นธรรม และการสมรู้ร่วมคิด เหล่านี้คือจุดเริ่มต้นของนิทรรศการที่แกะรอยสถานการณ์ซึ่งเคยเกิดขึ้น จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงต่อธรรมชาติ ตลอดจนผลต่าง ๆ ที่ตามมาแก่ทั้งผู้รอดชีวิต และผู้สูญหายจากการ ‘ทำงาน’ นั่นเอง


นานา บูซานี (Nana Buxani) ศิลปินชาวฟิลิปปินส์ ผู้ถนัดงานด้านภาพนิ่งแนวสารคดี ภาพยนตร์ และงานจิตรกรรม เพื่อถ่ายทอดเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคม เช่น แรงงานเด็ก, ผู้หญิงที่ตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก, ความแร้นแค้นของคนไร้บ้าน หรือ กลุ่มชาติพันธุ์และการเรียกร้องดินแดนของบรรพบุรุษ

Jason Roxas. 19 years old.Lith Machinist/Balluster polisherBaranggay Cahimet, Romblon, Philippines

โดยในนิทรรศการครั้งนี้ เธอเริ่มสำรวจชีวิตของแรงงานในเหมืองแห่งหนึ่งในจังหวัดรอมบลอน ประเทศฟิลิปปินส์ ที่มีชื่อเสียงในการผลิตหินอ่อน ซึ่งเป็นมวลของแข็งที่ยากต่อการจัดการ  ขั้นตอนการสกัด การเจียร และการขัดแต่งหินที่มีความงดงามน่าดึงดูดนี้ แสดงให้เห็นถึงพลังแรงงาน และความยากลำบากในการสร้างสรรค์ความงาม

เกเบรียลล่า เฮิร์ส (Gabriella Hirst) ศิลปินที่เกิดและโตในประเทศออสเตรเลีย ผลงานศิลปะของเกเบรียลล่าเป็นงานด้านภาพเคลื่อนไหว งานวิจัยทางศิลปะของเธอสำรวจเรื่องนัยยะทางการเมืองของการยึดครอง และประวัติศาสตร์ด้านการล่าอาณานิคม

เธอเดินทางกลับไปยังพื้นที่ซึ่งจิตรกรในยุคโรแมนติก แคสปาร์ เดวิด ฟรีดริช เคยวาดภาพพายุในอดีต ศิลปินเฝ้ารอจนพายุมาถึง เพื่อบันทึกภาพพายุในช่วงเวลานั้น โดยต้องต่อสู้กับลมที่พัดแรงในสภาพอากาศที่เกือบจะเป็นไปไม่ได้ และด้วยความพยายามที่เกือบจะสูญเปล่า ส่วนผลงานอีกชิ้นนั้น ศิลปินเก็บภาพเมืองแวร์เดิง ประเทศฝรั่งเศส ที่เคยเป็นสนามรบในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อเวลาผ่านไปได้ถูกครอบคลุมด้วยผืนป่า และต่อมาได้ถูกทำลายด้วยพายุขนาดใหญ่ที่มีความรุนแรง ทิ้งไว้ให้เห็นถึงความราบคาบอันเกิดจากความรุนแรงที่ซ้อนทับบนผืนแผ่นดินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สุดท้าย ฮู ยุน (Hu Yun) เกิดในมหานครเซี่ยงไฮ้ ผลงานศิลปะของฮู ยุน ย้อนรอยช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ เพื่อนำเสนอการตีความที่แตกต่าง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้ตัวเขาเองได้สะท้อนความเป็นตัวตนของเชื้อชาติตัวเอง และความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ตนเองมีต่อประวัติศาสตร์

ฮู ยุน เริ่มสำรวจเรื่องราวของแรงงานจีนอพยพจากคลังเก็บเอกสารสำคัญที่ระบุรายชื่อแรงงานชาวจีนในเหมืองขุดทองประเทศออสเตรเลียในช่วงศตวรรษที่ 19 โดยศิลปินให้ช่างฝืมือชาวจีนสลักรายชื่อแรงงานเหล่านั้นลงบนเมล็ดข้าวอย่างประณีต ก่อนที่จะถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา ซึ่งข้าวเป็นอาหารจำเป็นที่หล่อเลี้ยงชีวิตแรงงานเหล่านั้น

แพทริค ฟลอเรส (Patrick Flores) อาจารย์ด้านศิลปศึกษา มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ผู้เป็นภัณฑารักษ์งานศิลปะทั้งหมดนี้ การนำเสนอผลงานผ่านนิทรรศการ “Nature of Work” ก็เพื่อปลุกให้ระลึกถึงธรรมชาติที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นแรงลมที่ไม่ยอมอ่อนข้อ ป่าที่ไม่มีความปลอดภัย ฝุ่นหินที่ติดอยู่บนใบหน้าของคนงานในเหมือง และการบันทึกชื่อขนาดเล็กจิ๋วบนอาหารสุดสำคัญของมนุษย์

นิทรรศการนี้เปิดให้เข้าชมฟรี อยู่ที่แกลเลอรี Warin Lab ซอยเจริญกรุง 36 เริ่มตั้งแต่ วันที่ 3 – 27 สิงหาคม 2565 (ทุกวันอังคาร-เสาร์ เวลา 10.30-19.30 น.) ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Facebook: WarinLab

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม