Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview

Dream of Summer

Juli Baker and Summer สีสันของฤดูร้อนผ่านมุมมองของป่าน-ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา
Interview

ลายเส้นยึกยักที่ปาดป้ายอย่างอิสระในเฉดสีสดใสกลายเป็นสัญลักษณ์ของ Juli Baker and Summer ศิลปินนักวาดภาพประกอบหญิงที่กุมหัวใจคนรุ่นใหม่ไว้ด้วยความร่าเริงที่ส่งต่อผ่านลายเส้น สีสันที่เธอเลือก ตัวตนที่เธอเป็น และสามารถนำมาเป็นอาชีพได้จริง

มาตรวัดความสำเร็จว่า เธอได้รับการยอมรับนอกเหนือจากแวดวงศิลปะขนาดไหน คงเป็นรายนามของแบรนด์ที่ไว้วางใจให้เธอได้ระบายลายเส้นลงไปบนพื้นที่หรือโปรดักต์ที่ทางแบรนด์อำนวย ไม่ว่าจะเป็น การตกแต่งพื้นที่ใหญ่อย่างห้างสรรพสินค้าดิ เอ็มโพเรียม และดิเอ็มควอเทียร์ หรืองานล่าสุดที่ Collab กับแบรนด์กรรไกรพกพาสัญชาติสวิสอย่าง Victorinox  รวมถึงนิทรรศการแสดงผลงานของเธอที่ได้เสียงตอบรับดีทุกครั้ง

ช่วงฤดูร้อนที่บรรยากาศดูจะไม่ค่อยสดใสนัก เราพาลิปสเตอร์มาแวะพักตามหาแรงบันดาลใจผ่านบทสนทนาที่จะทำให้เรารู้จักตัวตน และมุมมองที่สดใสของเธอ

“ป่านน่าจะวาดรูปมาตั้งแต่ยังจำความไม่ได้ด้วยซ้ำมั้งคะ เพราะว่าพ่อกับแม่ก็ชอบศิลปะ แล้วก็ให้เวลาเรากับสิ่งนี้เป็นพิเศษ  และวาดรูปก็เป็นอย่างเดียวที่ป่านทำได้ดีแล้วก็ชอบทำ” 

     เธอเท้าความให้เราฟังขณะนั่งรายล้อมด้วยวอลเพ้นต์ติ้งที่บอกเล่าความทรงจำในช่วงฤดูร้อนในเมืองซากาเอะผ่านลายเส้นของเธอเองในร้าน Collective พร้อมเล่าต่อไปว่า
     “ป่านเริ่มทำงานเกี่ยวกับศิลปะ เริ่มหาเงินได้ตอนช่วงเรียนอยู่ชั้นปีสาม คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ หลังจากนั้นก็เป็นฟรีแลนซ์มาเรื่อยๆ ตั้งแต่เรียนจบมายังไม่เคยทำงานประจำเลยค่ะ อยากรู้เหมือนกันว่าเป็นอย่างไร
     …ป่านไม่เชื่อเรื่องการไปค้นหาสไตล์ตัวเองขนาดนั้น  ไม่รู้สิ ป่านว่าอะไรที่มันเป็นเรา มันน่าจะเป็นธรรมชาติของตัวเราอยู่แล้ว  เราชอบอะไรมันก็ออกมาเอง  ไม่ใช่อยู่ๆ วันนี้ฉันจะเป็นสไตล์นี้ดีกว่า  แต่ถ้าเกิดในฐานะกราฟิกดีไซเนอร์เขาน่าจะทำได้ แต่ว่าในฐานะแบบที่เราเป็นเราอยากวาดอะไรที่เราอยากวาด คงวาดเป็นอย่างอื่นไม่ได้
     …ป่านว่า ศิลปะมันก็คือตัวเรา ณ ยุคนั้นๆ ของชีวิต แน่นอนว่า มันก็เปลี่ยนเหมือนๆ ที่ตัวป่านเปลี่ยนไป สิ่งที่เราวาดมันก็คือสิ่งที่เราสนใจ ณ ช่วงเวลานั้นในชีวิต แต่อารมณ์โดยรวมของงาน มันยังเป็นตัวเรา”

“ตัวป่านเองชอบสีสัน ชอบอะไรที่มันไม่ค่อยเพอร์เฟ็กต์มาก เละๆ เทะๆ หน่อย อย่างการแต่งตัวก็เหมือนกัน ป่านก็ไม่ใช่คนแต่งตัวมิกซ์แอนด์แม็ตช์ได้เป๊ะขนาดนั้น รู้สึกว่า ให้มันตลกๆ นิดหนึ่งแล้วสวยดี แปลกๆ ดี”

     ถึงแม้ซิกเนเจอร์ของเธอจะสดใสประหนึ่งจำลองทุกเฉดสีของฤดูร้อนมาไว้ในงาน แต่เมื่อถูกทาบทามให้ทำงานในโทนสีโมโนโทนอย่างสีขาว-ดำ ก็ใช่ว่าเธอจะพับจานสีเก็บใส่กล่องไม่ยอมรับงานไปเสียเฉยๆ แต่ถ้าเป็นสไตล์ที่แตกต่างกับตัวตนมากก็ยอมรับว่า ทำได้ยากแต่ก็ใช่ว่าจะไม่เปิดใจลอง
     “ถ้าเป็นสไตล์มินิมัลป่านน่าจะไปทางนั้นยากมาก แต่ล่าสุดป่านทำเสื้อยืดหนังเรื่องฮาวทูทิ้งให้พี่เต๋อ-นวพล อันนั้นมินิมัลที่สุดในชีวิตแล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ยังเป็นลายเส้นเราอยู่ดี  แต่ส่วนตัวไม่ค่อยอินกับสไตล์มินิมัลเท่าไรค่ะ จริงๆ แล้วป่านสนใจแนวความคิดสไตล์มินิมัลนะคะ แต่ว่าถ้าในแง่ของดีไซน์ก็จะไม่ค่อยอิน  อย่างยุคที่ป่านเรียนแฟชั่นช่วงปีหนึ่งเทรนด์มินิมัลมาแรงมาก เราก็รู้สึกลำบากใจนิดหน่อย มันไม่ค่อยสนุกสำหรับเรา”

     ดีไซน์ สไตล์ส่วนตัว และฟังก์ชัน เธอหล่อหลอมทุกอย่างให้ร่วมทางไปด้วยกันได้อย่างไร เราเอ่ยถาม
     “จริงๆ ป่านโชคดีระดับหนึ่งที่ลูกค้าที่มาจ้างเรา เขาพอจะเข้าใจตัวเราประมาณหนึ่ง ส่วนใหญ่งานก็จะไปกันได้กับสิ่งที่เขามาขอให้เราดีไซน์อยู่แล้ว ไม่ได้ถึงขั้นที่ว่าเราจะต้องไปเปลี่ยนตัวเราเพื่อที่จะเป็นแบรนด์เขา งานแบบนั้นเราก็จะไม่ค่อยรับ เพราะว่าเราก็ทำไม่ได้ด้วยแหละ ต้องเกรงใจเขา ถ้าเขาขอแบบนี้แล้วเราทำได้ไม่ดี เรารู้สึกว่ามันจะทำให้แบรนด์เขาดูไม่ดีด้วย
     …แต่ก็จะมีช่วงแรกๆ ที่เพิ่งทำงาน แล้วยังเลือกงานไม่เป็น บางทีได้อะไรมาเราก็ทำหมด แล้วบางทีเขาไปขอให้เราเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเราไม่ค่อยชอบ แล้วพองานออกมา เราไปเห็นแล้ว เราไม่ภูมิใจเลย มันก็น่าเสียดาย มีอยู่งานหนึ่งที่ร้องไห้ตอนทำ เครียดมาก เพราะว่าเป็นงานด่วนมาก แล้วก็เขาขออะไรก็ไม่รู้ ซึ่งพอทำแล้วเรารู้สึกว่ามันไม่สวยเลย แต่ว่าเขาขอสิ่งนั้น ไม่อยากส่งให้เขาเลย แต่ว่าก็ต้องส่ง เพราะว่าเขาต้องใช้แล้ว  แล้วพอเราไปเดินแล้วเราก็เห็นงาน รู้สึกว่าไม่อยากบอกใครเลยว่าเป็นงานเรา ช่วงหลังๆ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะแนะนำศิลปินคนอื่นที่น่าจะเหมาะกว่าให้เขา
     …อย่างงานที่ทำให้กับทาง Collective ก็สนุกดี จริงๆ ป่านทำแบรนด์ที่เราออกแบบเองมานานแล้วแหละ ตั้งแต่เรียนจบมา แต่ว่าพอได้โอกาสได้นำคอลเล็กชั่นของเรามาวางที่นี่ มันเหมือนกับเราได้เล่าเรื่องอะไรมากขึ้น เพราะว่าเราได้เพ้นต์กำแพง ได้จัด display ของเราเต็มรูปแบบจริงๆ ได้เล่าอะไรมากกว่าทุกครั้งที่เราเคยทำ เพราะปกติเราอาจจะทำอาร์ตเวิร์กให้เขา แต่ว่าตัวแบรนด์ก็จะเป็นคนเล่าสิ่งนั้น พอเราได้เล่าเรื่องอย่างจริงๆ จังๆ มันแทบจะคล้ายๆ กับการแสดงงานนิทรรศการของตัวเองเลย” 

“เคยมีคนมาบอกเหมือนกันว่า ป่านน่ะ ไม่ได้อยู่ในวงการศิลปะหรอก ป่านเป็น illustrator  แต่ป่านไม่ได้สนใจว่า มันสำคัญไหมว่าเราเป็นอะไร ตราบใดที่เราทำงานศิลปะแล้วเรามีความสุข” 

ระหว่างงานภาพประกอบกับงาน Pure Art เส้นแบ่งระหว่างสองสิ่งนี้อยู่ที่ตรงไหน เราตั้งคำถามที่เราเองก็สงสัยมานาน
     “ป่านคิดว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องมาแบ่งแยกกว่า คนนี้เป็นศิลปิน คนนี้เป็นนักออกแบบนะ  คนนี้ commercial ไม่ค่อยชอบไอเดียนี้เท่าไรเคยมีคนมาบอกเหมือนกันว่า ป่านน่ะ ไม่ได้อยู่ในวงการศิลปะหรอก ป่านเป็น illustrator  แต่ป่านไม่ได้สนใจว่า มันสำคัญไหมว่าเราเป็นอะไร ตราบใดที่เราทำงานศิลปะแล้วเรามีความสุข มันจะไปอยู่บนกระเป๋า หรือว่าอยู่ในแกลเลอรี่ ป่านว่า มันก็คืองานศิลปะ ไม่ชอบให้เราต้องไปคิดว่า เราจะเป็นอะไร หรือเราเป็นศิลปินเกรดไหน  ไม่ชอบเลย ป่านรู้สึกว่า มันทุนนิยมเหลือเกิน
     …แต่ว่าถ้าในแง่ของการทำงาน เราก็เข้าใจว่า illustrator คืองานที่เราต้องตอบโจทย์ลูกค้านิดหนึ่ง แต่ว่าถ้าในแง่ของศิลปิน เป็นโปรเจ็กต์ส่วนตัวที่เราจะทำอะไรก็ได้”

     ทุกวันนี้เราเห็นพวกศิลปิน หรือนักออกแบบ ได้แสดงผลงานตามสถานที่ที่แลนด์มาร์ค หรือนำงานไปสร้างเป็นแลนด์มาร์คให้กับสถานที่นั้นๆ คิดว่า เรื่องงานดีไซน์ งานศิลปะมันช่วยให้เมืองเราน่าอยู่ขึ้นไหม เราถามในฐานะที่เธอเองก็เคยสร้างประติมากรรมให้กับร้านอาหารบางร้าน หรือได้เข้าไปช่วยตกแต่งห้างร้านอยู่บ้างเหมือนกัน
     “ป่านว่า ศิลปะมันสะท้อนเมือง สังคม และผู้คนอยู่แล้ว ศิลปะมันไม่ใช่แค่คำว่าศิลปะ มันสะท้อนได้นะว่า เมืองไหนเป็นอย่างไร เวลาเราไปเมืองที่เขาบริหารดีๆ เราก็จะมองเห็นเลยว่า เมืองนั้นเขาให้ความสำคัญกับงานศิลปะมาก เข้าถึงง่าย มีคนเดินในแกลเลอรี่ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ อย่างในเมืองไทยเวลาเราไปตามอาร์ต อีเว้นต์ ต่างๆ เรายังเห็นคนกลุ่มเดิมๆ อยู่ หรือไม่ก็จะเห็นกลุ่มวัยรุ่นประมาณหนึ่ง แต่พอเราไปเมืองที่ ศิลปะมันอยู่ใน culture คนจริงๆ อยู่ในชีวิตประจำวันเลย ซึ่งก็น่าอิจฉา และหวังว่า ประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับศิลปะมากขึ้น
     …จริงๆ ประเทศไทย มีศิลปินเก่งๆ เยอะ แต่แค่ว่าโครงสร้างของสังคม มันไม่ได้ซัพพอร์ทศิลปะมากพอค่ะ เรายังได้ยินเด็กหลายคนมาเล่าให้เราฟังว่า อยากเรียนศิลปะ แต่พ่อแม่เป็นห่วงว่าจะทำอาชีพนี้ได้ไหม ซึ่งมันก็ยังน่าเศร้าที่ยังมีความคิดแบบนี้อยู่ค่ะ แต่เราก็เข้าใจได้นะ พ่อแม่น้องเขาก็ไม่ผิด เพราะว่าเราอยู่ในสังคมที่ ถ้าเราไม่มีเงิน มันก็ลำบาก”

     “ความฝันที่ยิ่งใหญ่ของป่าน คือ อยากมีโรงเรียนสอนศิลปะเด็กอยู่ดี แต่ว่าอาจจะไม่ได้อยากบริหารเอง แต่ก็อยากจะตื่นมาแล้วได้เล่นกับเด็ก สอนศิลปะเด็ก ก็ยังเป็นความฝัน  แต่ไม่มีก็ไม่เป็นไรค่ะ
     …ป่านเคยไป residency ที่เมืองซากาเอะ ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ในนาริตะเมื่อปีที่แล้ว แล้วก็ได้ไปทำงานกับคนในชุมชน ก็งานชิ้นหนึ่งที่ป่านชอบมาก ได้ไป collaborate กับเด็กในโรงเรียนนาริตะ เป็นโรงเรียนประจำอำเภอน่ะค่ะ แล้วก็ไปวาดรูปกับเด็กๆ ใน hallway ในตึกเรียนน่ะค่ะ สนุกมาก ตอนแรกเขากะให้ป่านไปสอนเด็ก แต่จริงๆ แล้วกลับกลายเป็นเด็กๆ สอนเราวาดรูปด้วยซ้ำ ครั้งนั้นรู้สึก inspire มาก  เพราะว่าป่านชอบงานศิลปะเด็กอยู่แล้วด้วย  พอเราได้เห็นวิธีที่เขาวาด ไม่ต้องคิดอะไรเลย วาดไปเลย เรารู้สึกว่ามันสนุกมาก มันเหมือนเราได้กลับไปเป็นเด็กอีกรอบด้วย เราวาดอะไรก็ได้ มันไม่มีโจทย์อะไรเลย” 

│Photography : Nucha J. , Juli Baker and Summer 

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม