Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Fashion / Trends

‘CHULAAP’ แบรนด์ไทยแรกในเซาธ์แอฟริกา ลายชนเผ่า เหยาะเสน่ห์ไทย จนได้ฉายา ‘Prince of Prints’

Fashion / Trends

ชูลาภ สุวรรณาภา เดินทางไปเยือนเซาธ์แอฟริกาใต้เมื่อสองทศวรรษก่อน ด้วยความรักในแฟชั่น เขาบุกบั่นทำงานเป็นผู้ช่วยจนไต่เต้าเป็นบรรณาธิการแฟชั่นให้นิตยสารหลายหัว จวบจนสร้างแบรนด์อันมีเอกลักษณ์เป็นลวดลายเด่นในชื่อ CHULAAP

ดีไซเนอร์ไทยคนเดียวในแอฟริกาผู้นี้ บ่มเพาะความสนใจในแฟชั่นตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อยวัย 4 ขวบ จากการได้เห็นผู้หญิงในครอบครัวล้วนจับแต่งเสื้อผ้ายุค 60 – 70 อย่างเก๋ มารดามี ‘ยูนิฟอร์ม’ ประจำตัวเป็นชิฟต์เดรสกับแจ็กเก็ตตัวสั้น สวมวิกผมบ๊อบ ข้างพี่สาวปัดมาสคาร่าสีน้ำเงิน ใส่มินิสเกิร์ต หรือชิฟต์เดรสลายดอกไม้หรือตกแต่งงานปักพร้อย

ในวันที่อยู่บ้านคนเดียว เด็กน้อยลองเอากระโปรงของแม่มาสวม และพบว่ามันยาวเกินไปสำหรับขาสั้นของเด็ก คว้ากรรไกรตัดฉับให้ยาวเหนือเข่า เขาพอใจกับผลงาน ‘ดีไซน์’ เสื้อผ้าเป็นครั้งแรกในชีวิต และเริ่มต้นคลุกคลีกับเสื้อผ้าเรื่อยมานับแต่นั้น 

โดยไม่เคยได้ลงเรียนออกแบบแฟชั่นอย่างจริงจัง อาศัยเพียงจินตนาการกับอุปกรณ์ตัดเย็บที่มีอยู่ กระทั่งสเก็ตช์แบบก็ไม่เคยทำ ทว่า เขากลับได้งานในร้านเสื้อที่กรุงเทพฯ ทำควบคู่ไปกับการเรียนเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัย ไม่ช้าเขาเปิดร้านของตัวเองในชื่อ Chularp ก่อนที่เส้นทางแฟชั่นของเขาเริ่มจริงจังจนถึงขั้นได้เรียนโรงเรียนแฟชั่นชื่อดังในปารีสอย่าง ESMOD

ในช่วงหนึ่งของชีวิต โชคชะตาพาให้เขาไปท่องเที่ยวที่เซาธ์แอฟริกา และตกหลุมรักเคปทาวน์ เมืองพักร้อนชื่อดังอย่างถอนตัวลำบาก ทั้งในวิถีชีวิตง่ายๆ วัฒนธรรมมากสีสัน ศิลปะเข้มข้น และภูมิประเทศที่ไม่เหมือนที่ใดในโลก ที่ซึ่งภูเขาตระหง่านอยู่ฝั่งหนึ่ง และเมื่อผินหน้าไปอีกทาง ทะเลและหาดทรายสงบงามรอให้ไปพักใจ บวกกับความหลากหลายของผู้คนต่างเชื้อชาติแบบเมืองใหญ่สุดเจริญ ท้ายที่สุด เขาย้ายตัวเองจากเมืองไทยไปตั้งรกรากใหม่ในเซาธ์แอฟริกา 

ไม่รู้จักใครในเมืองใหม่ ขณะเดียวกันก็ต้องหาอาชีพใหม่ ซึ่งลงเอยด้วยการที่อดีตเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าทำงานเป็นแฟชั่นสไตลิสต์ แม้จะไม่เคยมาก่อน แต่ก็ดูจะเป็นงานใกล้ตัวและนั่นก็ทำให้เขายืนบนลำแข้งตัวเองได้

ต่อมาเขาทำงานเป็นบรรณาธิการแฟชั่นให้นิตยสารอย่างน้อย 4 หัว ซึ่งเข้ามาเติมทักษะด้านการทำสไตลิ่ง นอกเหนือไปจากความสามารถในการออกแบบตามที่ร่ำเรียนมา ก่อนจะเปิดแบรนด์ของตัวเองในปี 2015 ที่โดดเด่นสะดุดตาในบัดดลด้วยการวางลวดลายสลับทับซ้อนกันโดยไม่ดูรกเรื้อวุ่นวาย และยังมิกซ์แอนด์แมตช์ชิ้นต่างๆที่ลายพร้อยเข้าด้วยกันอย่างมีชั้นเชิง เขายกความดีความชอบให้กับปูมหลังที่เติบมาในเมืองไทยที่ช่วยเติมรสชาติเข้มข้นแตกต่างในรายละเอียดแก่ CHULAAP

แน่นอนว่าแกนกลางของ CHULAAP คือลวดลายสไตล์แอฟริกันอันไม่เหมือนใคร และบันดาลใจแก่แฟชั่นดีไซเนอร์ไปทั่วโลกมาหลายยุคสมัย ขณะเดียวกันก็พยายามมองหาความแตกต่างที่ไม่คลิเชในลายแอฟริกันอย่างลายทรอปิคัลและลายพื้นเมืองต่างๆ 

นั่นเป็นจุดกำเนิดให้เขาวางลายซ้อนไขว้กัน ผสมผสานเทคนิคต่างๆ ตั้งแต่งานปักจนถึงการพับออริกามิ ใช้ผ้าหลากหลายผิวสัมผัสเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นลายใหม่ในแบบของเขาเอง โดยแต่ละลายต่างมีเรื่องราวและรสชาติเฉพาะตัว ซึ่งการเป็นคนนอกที่มองเข้าไปในวัฒนธรรมแอฟริกันช่วยเปิดมุมมองแตกต่างไม่ซ้ำใครให้กับแบรนด์แฟชั่น Made in Africa ที่เกิดจากดีไซเนอร์ Born in Thailand ผู้ได้สมญานามจากชาวแอฟริกันผู้รุ่มรวยลวดลายว่า Prince of Prints 

CHULAAP เป็นแบรนด์ลือชื่อในแอฟริกาที่ได้โชว์คอลเล็กชั่นในแฟชั่นวีคเสมอ และยังได้ร่วมงานกับแบรนด์ระดับโลกาอยู่ไม่น้อย ตั้งแต่ Superga จนถึงการเป็นดีไซเนอร์แพน-แอฟริกันคนแรกที่ได้ร่วมงานกับ LOUIS XIII แบรนด์คอนญักจากฝรั่งเศสในแคมเปญ Believe in Time ล่าสุดเขายังพาคอลเล็กชั่นใหม่ Spring-Summer 2024 ไปโชว์ที่ Pitti Uomo แฟชั่นวีกสำหรับเครื่องแต่งกายบุรุษที่ทรงเกียรติและโด่งดังที่สุดในโลก ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองฟลอเรนส์

ได้แรงบันดาลใจจากโจรสลัด แต่กลับแตกต่างไปจากคอลเล็กชั่นของดีไซเนอร์อื่นๆที่มักมีโมทีฟนักเดินเรือมาให้เห็น แต่สิ่งเฝือตาเหล่านั้นไม่มีเลยในงานของ CHULAAP ซึ่งวาดภาพโจรสลัดในแบบของเขาเองว่าจะสวมใส่อะไรหากยังมีชีวิตอยู่ในยุคนี้ ดังนั้น เขาจึงนำเสนอเดรสโค้ดใหม่ของโจรสลัดที่เผยคาแรกเตอร์ของผู้สัญจรแห่งท้องทะเลแบบปัจเจก มากกว่าจะเป็นโจรสลัดที่ดูเหมือนๆกัน

ซิกเนเจอร์ของแบรนด์คือเค้าโครงโปร่งใส่สบาย ผสมกับการตีความสูทและเบลเซอร์ทรงบ็อกซีแบบใหม่ๆที่แตะกลิ่นอายสตรีทแวร์ ลวดลายที่เป็นหัวใจของแบรนด์ได้แรงบันดาลใจจากท้องทะเลและโลกใต้น้ำ สิ่งมีชีวิตในน้ำอย่างล็อบสเตอร์และนางเงือกกลายเป็นลายสักของโจรสลัด ในพาแล็ตต์ของเกลียวคลื่นและแสงแดด ซึ่งนับเป็นคอลเล็กชั่นที่เรียบสุดแล้วเมื่อเทียบกับผลงานก่อนหน้า อันเป็นการปรับสไตล์ไปตามจริตของผู้บริโภคในห้วงเวลาแห่งความผันแปรของโลก จึงมองหาสิ่งที่สวมใส่ได้นาน แมตช์กับเสื้อผ้าที่มีอยู่ได้ สวมใส่ง่าย และไม่ซับซ้อน 

ผลงานของแบรนด์เผยโฉมที่ Sala delle Nazione ภายใน Fortezza da Basso ป้อมปราการโบราณสมัยศตวรรษที่ 14 ซึ่งเขาจัดฉากถ่ายรูปคอลเล็กชั่นนี้เหมือนกับภาพเบื้องหลังคลิปวิดีโอที่สนุกและฉับไวใน TikTok เพื่อแสดงช่วงเวลาอันยาวนานจากการเป็นบรรณาธิการแฟชั่น จวบจนมาเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์สร้างแบรนด์ของตัวเอง  

จากความเชื่อว่าแฟชั่นไม่มีกฎเกณฑ์ สุดท้ายเราจะเลือกใส่สิ่งที่เหมาะกับเรา ไม่ใช่สิ่งที่เทรนด์บอกว่าคุณควรจะซื้อหามาใส่ ทำให้ 8 ปีที่ถือกำเนิดในโลกแฟชั่น ชูลาภยังคงยืนยันในดีเอ็นเอของแบรนด์ที่ยังเป็นลายพิมพ์ สีสัน และแฟชั่นยูนิเซ็กซ์   

ผ้าทั้งหมดผลิตในเซาธ์แอฟริกาจากเส้นใยภายในประเทศ ผสมกับผ้าเก่าค้างสต็อก และหวังว่าจะขยับขยายฐานการผลิตไปยังภูมิภาคอื่นๆมากขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันก็จับมือกันสร้างสรรค์ผลงานกับศิลปินและผู้มีความสามารถแขนงต่างๆในท้องถิ่นไม่เคยขาด เพื่อส่งต่อโอกาสให้กับนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ๆได้แสดงศักยภาพที่ยังไม่ได้เปิดเผยให้โลกเห็นอีกมาก 

โลกรู้ ชูลาภรู้ว่าทวีปแอฟริกาคือแหล่งทรัพยากรทั้งในทางวัตถุดิบ ช่างฝีมือ นักออกแบบ ไปจนถึงผู้บริโภคที่แบรนด์แฟชั่นยักษ์ใหญ่จากยุโรปพยายามเข้าไปทำตลาด ซึ่ง CHULAAP เข้าไปสร้างแฟนเบสสำเร็จแล้วก่อนใคร 

Words: Suphakdipa Poolsap
Photos: IG @ChuSuwannapha
ข้อมูลจาก:

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม