Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview / People

นุ่น-ณัฏฐ์รดา หรือ นุ่น-Bluekoff ซีอีโอหญิงหนึ่งเดียวในอุตสาหกรรมกาแฟไทย

ผู้หญิงระดับผู้บริหารในวงการกาแฟที่ผู้ชายเป็นใหญ่
Interview / People

Bluekoff เป็นบริษัทแห่งเดียวในประเทศไทยที่ครอบคลุมเรื่องกาแฟ ตั้งแต่ยังเป็นเมล็ดพันธุ์ในดินไปจนถึงกลายเป็นเมล็ดคั่วในถุง – มีซีอีโอเป็นผู้หญิง

ส่วนอุตสาหกรรมกาแฟที่ผู้ชายเป็นชนหมู่มาก และหาได้น้อยลงไปอีกที่ผู้หญิงนั่งระดับบริหาร – หากก็มีซีอีโอหญิงอยู่หนึ่งราย

ฝ่ายสมาคมกาแฟพิเศษไทยซึ่งต้องคัดสรรกลั่นกรองกาแฟคุณภาพเลิศซึ่งประมูลขายกันกิโลกรัมละหลายหมื่นบาทนั้น – มีนายกสมาคมเป็นผู้หญิง ผู้หญิงคนแรกและคนเดียวที่ว่านั้นนามว่า นุ่น-ณัฏฐ์รดา คุณะวิวัฒนานนท์

Master of One หมายถึงคนที่เชี่ยวชาญในด้านหนึ่ง จัดว่าเป็นศิลปินหรือปราชญ์ ส่วน Master of More หมายความถึงคนที่มีผลงานเข้าถึงคนหมู่มากได้ นุ่น-ณัฏฐ์รดา ไม่จัดอยู่ในตะกร้าหนึ่งเดียว หากเธอเป็นทั้งสองมาสเตอร์ที่ว่านี้ อันเป็นผลผลิตความลุ่มหลงในกาแฟของเธอมาตั้งแต่อยู่ประถม 5 ซึ่งผลักดันให้เธอใฝ่รู้ไปถามเรื่องกาแฟตั้งแต่ตามร้านจนถึงไร่

แต่ผิดถนัดถ้าคุณคิดว่าเธอจะพุ่งตัวไปเปิดร้านกาแฟ เธอกลับไพล่ไปทำโรงงานผลิตอะไหล่เครื่องบิน ก่อนที่ความบู๊จัดและความรู้ลึกมากเรื่องกาแฟของเธอจะพาให้เธอมานั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Bluekoff ผู้ปลูก ผู้ผลิตและผู้ส่งเมล็ดกาแฟแก่ร้านกาแฟนับหมื่นในเมืองไทย – มาตั้งแต่เธออายุ 27 ปี

”ให้สัมภาษณ์มาเยอะ หลังๆจะเริ่มเดิมๆ เป็นมาอย่างไร ไม่คุ้นๆ แล้วหรือ” เธอหัวเราะ “เราเลยกลัวว่าจะไม่มีประโยชน์ แต่พอเห็นคำถามของ LIPS เลยคิดว่ามันต่อยอดจากจุดเริ่มต้นว่าจะต่อยอดไปอย่างไร” เราจึงได้มานั่งกรุ่นกลิ่นกาแฟที่โชว์รูม Bluekoff ซึ่งเต็มเพียบด้วยกาแฟสารพัดรูปแบบและเครื่องชงกาแฟตั้งแต่หลักหมื่นต้นไปจนถึงระดับล้านต้นๆ

เป็นเบอร์หนึ่งตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 30

“เราเป็นซีอีโอ Bluekoff มาตั้งแต่ปี 2017 ช่วงสองปีแรกเหมือนฮันนีมูนเลย” ซีอีโอปีที่ 7 ย้อนความหลัง “งานในฝัน ได้ไปเคนย่า ไปบราซิล ไปเที่ยวในนามของงาน (หัวเราะ) ตอนไปบราซิลเป็นตัวแทนไปพูด ได้ไปเที่ยวไร่กาแฟ ถ้าไปเองคงไม่มีโอกาสแบบนี้ แต่เวลาไปเนเธอร์แลนด์หรืออิตาลี นั่นคือเราไปงาน ไปแข่งหรือไปหาซัพพลายเออร์ อารมณ์เหมือนไปเจอเพื่อน แบบนั้นเราไปบ่อย ไม่เหมือนตอนไปไร่” เธอพูดนัยน์ตาฝันไปถึงวันชื่นคืนสุข

“โอกาสแปลกๆที่เข้ามาเพราะกาแฟก็เยอะมาก เช่น เราได้ไปพูดที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดในงานสัมมนาเกี่ยวกับอาหารพิเศษ (Specialty Food) เช่น ไวน์ ชีส ช็อกโกแล็ต เราเป็นตัวแทนของกาแฟพิเศษ มีแค่กาแฟกับไวน์ที่มีเกณฑ์วัดคุณภาพชัดเจน แต่กระบวนการของกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำมีผู้เกี่ยวข้องมหาศาล ตรงข้ามกับไวน์ที่เป็นกระบวนการปิด ไวน์ยี่ห้อนี้เป็นของโรงบ่มนี้ตั้งแต่ผลิต บ่มไปจนถึงกรอกใส่ขวดขาย อุตสาหกรรมกาแฟมีความหลากหลายเยอะมากแต่กลับมีบรรทัดฐานชัดเจน เราจึงได้ไปพูดในฐานะคนที่อยู่กับซัพพลายเชนทั้งหมด” นุ่นกระดกน้ำเปล่าหนึ่งอึก เราซดอเมริกาโน่ที่เธอยื่นให้ด้วยไมตรี

ความที่เคยเล็กเชอร์ในมหาวิทยาลัย และ อะแฮ่ม เคยไปพูดที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด นุ่นจึงมาพร้อมข้อมูลแน่นเป็นการปูพื้นฐานความรู้เรื่องกาแฟที่มากไปกว่าชื่อสายพันธุ์ “กาแฟบ้านเราแตกต่างจากที่อื่น เราอยากไปไร่กาแฟก็นั่งรถไป 3 ชั่วโมงถึง แต่ถ้าในบราซิลจากบ้านเจ้าของไร่ไปถึงไร่ 3 วัน ส่วนเคนย่า – ประเทศเล็กกว่าแต่เดินทางลำบาก โครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมกาแฟในเมืองไทยอยู่ใกล้กันมากเลยเกิดการพัฒนาเร็ว ตอนนี้สังเกตดูสิร้านกาแฟส่วนใหญ่จะทำงานกับเกษตรกรเพราะทุกอย่างมันใกล้ ซึ่งก็ดี” คิ้วเธอขมวดเข้าหากันเมื่อสมองทำการวิเคราะห์

“แต่ปีนี้กาแฟไทยราคาแพงอย่างน่ากลัวมาก ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการส่งออกเพราะเราผลิตเองยังไม่พอ การบริโภคกาแฟภายในประเทศเกินหน้าการผลิตมาตลอด คนไทยไม่ได้กินกาแฟเยอะหรอกเพราะว่าผลิตไม่ได้เยอะ การส่งออกในราคานี้เลยยากมาก ทีนี้ถ้าผลิตไม่พอก็ต้องนำเข้า ซึ่งมีหลายประเภทมาก ตั้งแต่กาแฟเพื่อนบ้านไปจนถึงกาแฟพิเศษ ต้องดูกันต่อไป”

กาแฟไทยแพงเทียบกับอะไร คนชอบมัทฉะถามออกไปซื่อๆ เพราะไม่รู้ประสาเรื่องกาแฟจริงๆ “เมื่อเทียบกับกาแฟต่างประเทศในคุณภาพที่เท่ากัน ดังนั้นเราไม่ได้อยากให้กาแฟไทยราคาถูก เราอยากให้กาแฟไทยแพงสมศักดิ์ศรี สมราคา อยากให้เกษตรกรได้เงินและมีคุณภาพดีสมราคา” คนรู้ดีเรื่องกาแฟตอบให้

ชื่อเสียงกาแฟไทยในสากลเป็นอย่างไร เป็นระดับของที่ทุกคนโหยหาหรือยัง เราถามตรง “ยัง เพราะอย่างที่บอกว่าเราผลิตไม่ได้มากพอจะส่งออก แต่เราจะไปตกในกลุ่มกาแฟแปลก เช่น เวลาเจอกาแฟจากนิวซีแลนด์ คนจะงงว่าประเทศนี้ผลิตกาแฟด้วยหรือ ประเทศไทยอยู่ในขั้นนั้น เป็นของแรร์ กาแฟไทยดีนะแต่อยู่ในระดับคะแนนช่วงไหนล่ะ ถ้าในช่วงคะแนนนี้ ราคาเท่านี้ คนซื้อกาแฟดีๆจากเอธิโอเปียได้เลยนะหรือกาแฟดีๆจากประเทศที่ไม่มีกำแพงภาษี ภาษีนำเข้าเมืองนอกคือศูนย์หรือ 5% แต่บ้านเรากำแพงภาษี 90%

“จริงๆแล้ว กาแฟไม่จำเป็นต้องมีภาษี มันเป็นนโยบายโบราณ ตอนที่บ้านเราปลูกกาแฟใหม่ๆ กาแฟต้องการระยะเวลาในการเติบโต ถ้าไม่มีกำแพงภาษี อุตสาหกรรมกาแฟเมืองไทยก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่นั่นเมื่อ 50 ปีที่แล้ว กฎหมายยังไม่เปลี่ยน” ทำไมเราได้เสียงแค่นหัวเราะจางๆจากหางเสียงของเธอ รึเราหูแว่วไปเอง “เราอยากเปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้เหมือนกัน แต่งานดีลกับราชการก็เป็นอีกเรื่องที่…เราทำไม่เป็น (หัวเราะ) ระบบราชการบ้านเรามีปัญหา ทุกคนรู้”

อาจต้องใช้วิธีไปดังเมืองนอกเปรี้ยงๆก่อน ให้เมืองนอกรับรองเราก่อนจึงจะได้รับการสนับสนุนในเมืองไทย เราแนะ ตามที่เคยพูดคุยกับคนในวงการใดๆมาก็ตาม ทุกคนแนะนำวิธีนี้กันทั้งสิ้น เธอรับไปฟัง คิดตาม พยักหน้าหงึกน้อยๆ “ตลกไหม ต้องให้ต่างชาติมารับรองเราเพื่อให้คนบ้านเราเชื่อเรา แต่โอเคนะ ถ้านั่นคือวิธีที่ได้ผลจริงๆ มันเป็นจุดที่เราไม่ถนัดเพราะเราบู๊ไม่ได้ แต่พอเราเป็นนายกสมาคมกาแฟพิเศษ นั่นก็เป็นเรื่องที่ควรทำ ไม่รุ่นเราก็ต้องรุ่นต่อจากเรา”

ผู้หญิงส่วนน้อยในอุตสาหกรรมกาแฟ

ความยากของซีอีโอในวงการกาแฟของเธอนั้นเลยจุดที่โดนมองว่าเป็นผู้หญิงและถูกหมิ่นว่าอายุน้อยไปแล้ว “ก้าวข้ามจุดนั้นไปเลยเพราะอายุไม่น้อยแล้ว” นุ่นหัวเราะ “เรื่องที่เราเป็นผู้หญิงก็เจอแค่ระยะแรก ตอนนี้ไม่ใช่ปัญหาแล้ว แม้ว่าอุตสาหกรรมกาแฟเป็น male dominance คือผู้ชายเป็นใหญ่ มันคือธรรมชาติของงานด้วย

“อย่างมีอาชีพหนึ่งคือ Beanhunter ที่เราอยากทำมากแต่ทำไม่ได้ มันอันตราย เขาจะส่งเราไปคนเดียวไปตามประเทศต่างๆ ติดต่อกับเกษตรกร ทำการ cupping (การชิมเพื่อทดสอบคุณภาพของกาแฟ การค้นหารสชาติต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของกาแฟแต่ละตัว รวมทั้งตรวจสอบข้อบกพร่อง (defect) ต่างๆ ในกาแฟ) และเลือกกาแฟให้เสร็จสรรพ ต้องเดินทางไปเปรู เอธิโอเปีย ไปประเทศที่มีการลักพาตัวเยอะๆน่ะ รวมถึงการคั่วกาแฟเป็นงานหนัก ใช้แรงงานหนักมาก ส่วนใหญ่คนทำงานในแวดวงเลยเป็นผู้ชาย ระดับผู้บริหารที่เป็นผู้หญิงก็ยิ่งน้อย ส่วนมากผู้หญิงในวงการกาแฟจะเป็นเซลส์หรือบาริสต้า” นุ่นเล่าก่อนจะกลับไปพูดถึงสไตล์การบริหารของเธอ

“คัลเจอร์ที่นี่ดีมากนะ มีแล็บให้ทดลอง ลูกน้องแซวเราได้ ทุกคนจะลงไปชงกาแฟตอนไหนก็ได้ ถ้าเราสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานให้คนทำงานมีความสุขได้ ปัญหาก็จะน้อยลง เราต้องหมั่นสังเกตลูกน้อง กลับกันลูกน้องก็ดูเราอยู่ เราไม่ใช่คนประเภทที่เป็นใครมาจากไหน เที่ยวได้ไปตัดสินคนอื่น หรือคิดว่าเราเป็นเจ้านายแล้วลูกน้องต้องเคารพ เราอยากให้คนอื่นเคารพเราเพราะอะไรล่ะ เพราะเราเป็นที่พึ่งให้เขาได้ ให้เขาเคารพเพราะความสามารถเรา ไม่อย่างนั้นลับหลังเขาก็ด่าเราอยู่ดี

“ดังนั้นการชอบดื่มกาแฟกับการทำธุรกิจเป็นคนละเรื่องกันเลย ไม่ได้หอมหวาน” เธอสรุป “แต่ข้อดีของการทำงานกับกาแฟโดยที่ตัวเราชอบกาแฟก็คือ เราได้ชิมกาแฟมากมาย มันคือหน้าที่ของเรา นี่คือส่วนที่ชอบ แล็บกาแฟเราทำไว้เผื่อเป็นคลาสสำหรับมืออาชีพ สอน Q Grader หรือนักชิมกาแฟซึ่งเป็นอาชีพที่คนรักกาแฟใฝ่ฝัน”

ใครจะไปคิดว่ากาแฟในเมืองไทยจะแพร่หลายและมีมาตรฐานจัดถึงขั้นมีสถาบันสอนเป็นหลักเป็นแหล่ง “นี่คือเหตุผลที่เราเปิด Education Centre มันจำเป็น เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไปเรียนคอร์สอะไรมานิดๆหน่อยๆแล้วก็ไปเปิดคอร์สสอนคนอื่นเต็มไปหมด มันก็สิทธิ์ของเขานะ แต่ว่าคุณสอนอะไรล่ะ แล้วก็ทำให้คนเรียนได้เรียนอะไรผิดๆ นี่ยังไม่สอนเลย” เธอชี้ตัวเองซึ่งผ่านคลาสเรียนรู้เรื่องกาแฟมาไม่ต่ำกว่าครึ่งร้อย จนเลิกนับและเลิกเรียนคลาสกาแฟไปแล้ว

กาแฟ – ศาสตร์ที่เรียนรู้ไม่มีวันจบ

“คลาสที่เกี่ยวกับกาแฟอย่างเดียวมีไม่เยอะหรอก แต่คลาสที่เกี่ยวเนื่องกันน่ะมีเยอะ” ผู้คร่ำหวอดเรื่องกาแฟที่ยังคงถ่อมตนเป็นนักเรียนน้อยอยู่วันยังค่ำกล่าว

“ล่าสุดเราไปเรียนเรื่องดมกลิ่นน้ำมันหอมระเหย มันคือผัสสะที่ใช้กับการดมกลิ่นกาแฟได้ ประสาทสัมผัสคนเราจะเริ่มเสื่อมตอนอายุ 50 เรา 33 แล้วเลยต้องรีบกอบโกย เพราะประสาทสัมผัสยิ่งใช้ยิ่งแหลมคมขึ้น ตัวเราไม่ใช้น้ำหอมแต่ชอบแกะกลิ่นว่ามีส่วนผสมอะไรบ้าง สนุกมาก เรื่องกลิ่นแทบจะเป็นอย่างเดียวที่เทคโนโลยีทำไม่ได้ ทักษะที่เรามีจากกาแฟช่วยให้งานนี้ง่ายขึ้น และเราก็ใช้ทักษะด้านนี้ไปใช้กับกาแฟ เอามาผสมกันเพื่อสร้างสิ่งใหม่ได้

“การไปฟังคนที่มาสอนคอร์สต่างๆจะเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่ถ้าอยากไปอีกขั้นต้องทำวิจัย ก็คือเรียนรู้ด้วยตัวเอง เหมือนคนทำปริญญาเอกที่ต้องทำวิจัย การไปเทคคลาสของเราจึงน้อยลง แต่เรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น ความรู้ด้านกาแฟที่อัดแน่นมากๆ จะอยู่ในประเทศที่รัฐบาลเขาส่งเสริมให้มีศูนย์วิจัย มีสถาบันต่างๆ”

เดินทางไปศึกษาเรื่องกาแฟมาแล้วทั่วโลก หากก็มีข้อยกเว้นที่เธอยังเข้าไม่ถึง “มีที่หนึ่งที่เราอยากเข้าไปศึกษามากคือศูนย์วิจัยของแบรนด์ illy แบรนด์นี้อยู่มานาน องค์ความรู้ที่เขามีเยอะมากจนเป็นบิ๊กเดต้า แต่โปรดักส์เขาเรียบง่ายมากและขายทั่วโลก อยากรู้ว่าเขาทำอย่างไรให้ใช้องค์ความรู้มารักษาสินค้าให้คุณภาพคงเดิมไปได้เรื่อยๆ คุณภาพนิ่งสุดๆ” แววตาของเธอบินไปถึงอิตาลี ก่อนจะแวบกลับมากรุงเทพฯในชั่วพริบตา

“กาแฟ Bluekoff เราก็ทำจนรสชาตินิ่งแล้วนะ ในบรรดาลูกค้าหมื่นกว่าร้านที่เราส่งเมล็ดกาแฟให้ จะมีประมาณ 3 รายที่โทรมาบอกว่าคิดว่ากาแฟเปลี่ยนไปนะ นอกนั้นไม่รู้เลย เราก็ต้องไปดูว่าที่โรงงานทำอย่างไร เกิดอะไรขึ้น คุณภาพที่นิ่งและทำซ้ำได้คือสิ่งที่เราต้องการ อะไรที่ไม่นิ่งและทำซ้ำไม่ได้คือฟลุก แต่คุณจะฟลุกไปเรื่อยๆไม่ได้หรอก”

เปิดร้านกาแฟอย่างไรให้รอดและรวย

เธอบอกว่างานของซีอีโอคือคนสังเกตพฤติกรรม นั่นทำให้ช่วงวิกฤตโควิดที่ทำเอาหลายธุรกิจเซ ล้ม หรือว่าจมหายสาบสูญไปเลย หากเพราะความไหวตัวทันและแก้สถานการณ์อย่างไวของซีอีโอนุ่นกลับทำให้ยอดขาย Bluekoff แล่นฉิวยิ่งกว่าตอนก่อนที่โลกจะเปลี่ยนเสียอีก รวมทั้งมองการณ์ไกลนำกาแฟไปในขายแพลตฟอร์มออนไลน์ที่โกยยอดขายกระฉูด เมื่อคอกาแฟซื้อหา Bluekoff ไปราวกับเป็นยาสามัญประจำบ้าน

“ข้อมูลอยู่รอบตัว” เธอฟาดมวลอากาศที่อยู่ในรัศมีวงแขน “พนักงานเราเองนะ เซเว่นอยู่ถัดไปไม่กี่เมตรยังไม่เดินไปเลย แต่รวมยอดกันเกิน 100 บาทแล้วทางร้านจะมาส่งให้” เธอยกตัวอย่างการเป็นนักสังเกต “คนกินกาแฟทั่วไปเพิ่งรู้จัก Bluekoff มาได้แค่ 2 ปี เพราะเราเพิ่งเอากาแฟขึ้นห้าง ยอดขายตรงนี้ไม่ได้เยอะมากมายแค่มันคือภาพลักษณ์ของแบรนด์

“เรายกย่องการทำธุรกิจของ illy มากๆ เขาเริ่มต้นจากธุรกิจครอบครัวจนตอนนี้กลายเป็นสถาบันของคนกินกาแฟไปแล้ว คือมีชื่อเสียงไปทั่วโลกและน่าเชื่อถือในคุณภาพสูงมาก เราอยากให้ Bluekoff ทำได้แบบนั้น เราเชื่อว่าคนไทยมีศักยภาพที่จะทำได้ ซึ่งก็ต้องมาพร้อมการสร้างแบรนด์ แต่เราไม่ได้มีเงินไปจ้างซูเปอร์สตาร์ ไม่เหมือนกาแฟบริษัทใหญ่ที่จ้าง George Clooney ได้ โอ้โห ต้องมีเงินระดับไหน

“เราเลยต้องเริ่มจากการเอากาแฟไปวางตามเชลฟ์ในห้างในคนสงสัยก่อนว่านี่กาแฟอะไร ซึ่งพอทำแบรนด์รีเสิร์ชหรือถามลูกค้าเอง แทบทั้งหมดจะกลับมาซื้อซ้ำ เพราะกาแฟเราถูกและดี มันไม่ได้ถูกที่สุด แต่ในราคานี้ มันดีที่สุด” รสชาติและกลิ่นกาแฟในปากของเราทำให้คอของเราหงึกหงักอย่างเห็นด้วย “ในกรุ๊ปกาแฟตามโซเชียล คนชอบโพสต์รูปคอลเล็กชั่นกาแฟ หนึ่งในนั้นต้องมีกาแฟ Bluekoff เขาบอกว่าเหมือนยาสามัญประจำบ้านที่ต้องมี ที่บ้านเราเองก็มี ไม่อย่างนั้นเราพูดไม่ได้หรอกว่ากาแฟเราดี”

มาถึงช่วงคำถามจากทางบ้าน คนรอบตัวที่ฝันอยากเปิดร้านกาแฟ บ้างก็เปิดไปแล้วและปิดตัวไปแล้วอย่างไว ฝากมาถามผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของร้านกาแฟนับหมื่นในเมืองไทยว่า ‘เปิดร้านกาแฟอย่างไรให้อยู่รอดได้’ ซีอีโอนุ่นยิ้มหนึ่งกรุบ ค่าที่เจอคำถามนี้มาครั้งที่ล้าน

“หลักๆ ต้องดูโลเคชั่น ไม่ใช่ว่าจะเปิดที่ไหน แต่หมายถึงว่าถ้าจะเปิดที่นี่ คุณจะขายใคร ขายอะไร ขายราคาเท่าไร ลูกค้าย่านนั้นจ่ายได้ในราคาเท่าไร อย่างย่านสีลม-สาทร ขายกาแฟได้ทุกราคาเลยเพราะมีคนหลากหลาย หรือกาแฟเซเว่นถ้าไปขายในย่านคนรวยก็ขายไม่ดีนะ เว้นแต่ในย่านนั้นจะมีพี่แม่บ้าน พี่ยาม

“สอง คุณต้องหากาแฟที่เป็นตัวขายทำเงินเข้าร้านให้ได้ก่อน ต้องมีลูกค้าประจำ แล้วจากนั้นคุณจะไปหากาแฟอื่นมาเล่น มาเสริมแต่ง ทำไปเลย ดังนั้นกลับไปที่การสังเกตพฤติกรรมผู้บริโภค ไปยืนดูว่าเขาเดินไปทางไหน ในมือเขาถืออะไร หรือเดินเข้าไปถามเลย สิ่งที่ขายดีที่สุดคือสิ่งที่เขาไม่รู้ว่าเขาต้องการมัน คีย์เวิร์ดคือ ‘สังเกต’ เวลาคนมาซื้อเครื่องชงกาแฟ คำถามแรกของเราคือจะเปิดที่ไหน เว้นแต่อยากเปิดสนองนี้ดตัวเอง จะเอารุ่นไหน ราคาเท่าไร เอาไปเลย พวกที่มีซูเปอร์คาร์เยอะๆ แต่มีคนขับคนเดียวน่ะ เขาไม่ได้ต้องการเครื่องชงกาแฟด้วยซ้ำ เขาอยากได้ไลฟ์สไตล์” นุ่นถอดประสบการณ์ที่เจอมาทุกรูปแบบมาเล่าให้ฟัง

กาแฟไทย(อยากให้)ไประดับโลก

มาถึงช่วงที่ทำให้วงหน้าของนุ่นผ่อนคลายจนถึงละมุน เมื่อถามถึงกาแฟไทยที่อยากให้ชาวโลกได้ชิม “10 สุดยอดกาแฟพิเศษที่สมาคมกาแฟพิเศษคัดเลือกมานั่นละ มันผ่านการคัดเลือกมาจากคณะกรรมการอย่างถี่ถ้วนแล้ว ถือว่าเป็นนางงาม แต่ไม่ใช่ว่าจะขายได้นะ เพราะมันแพงมาก กาแฟตัวที่ได้อันดับหนึ่งประมูลกันที่กิโลกรัมละ 33,500 บาท ชงได้ 40-50 แก้ว ตัวแทนชาติก็คือกาแฟ 10 ตัวนี้ ไม่ได้แพงเกินเอื้อมทุกตัว ลองหาชิมกันตามกำลังทรัพย์”

แล้วกาแฟแก้วประจำของคนที่กรีดเลือดออกมาไหลรินเป็นน้ำกาแฟอย่างเธอล่ะ “เราเองดื่มกาแฟวันละ 2 แก้ว แล้วแต่อะไรเหลือ” เธอตอบง่ายๆ “เช่น กาแฟที่เรา cupping ไปเมื่อวาน วันนี้เหลือเศษก็จะเอามาชง เพื่อดูว่าคุณภาพคงที่หรือเปล่า ถ้าไม่เช็กมันอาจจะแกว่ง เราไม่มีกาแฟตัวโปรด เลือกไม่ได้ รักหลายตัว” เธอทำหน้ากลืนไม่เข้าคายไม่ออก เหมือนกลัวว่าถ้าพูดชื่อกาแฟตัวไหนออกมา ตัวที่ไม่ถูกพูดถึงจะได้ยินอย่างนั้นแหละ

“เอาเป็นว่าเราชอบกาแฟโทนเกชา (Gesha)” ที่สุดแล้วนุ่นก็เลือกกาแฟสุดรักมาได้ตัวหนึ่ง “คนจะคิดว่าเป็นกาแฟปานามา แต่นั่นเหมือนกินต้มยำไปหน่อย เราชอบกาแฟที่มีครบรสและบาลานซ์ มีทั้งความหวานแต่ไม่ใช่หวานน้ำตาล ท็อปโน้ตด้วยดอกไม้ กุหลาบ ลาเวนเดอร์ มะลิมาเป็นช่อเลยแต่ไม่ฉุน มีความ elegance มีเนื้อเหมือนช็อกโกแล็ต จบด้วยหายใจออกมีกลิ่นแบบวานิลลา กาแฟแรงค์หนึ่งเป็นแบบนี้เลย ปกติเวลาเราชิมกาแฟ เราจะบ้วน แต่กาแฟแรงค์หนึ่งจะกลืน ขอให้กาแฟซึมซาบเข้าสู่ทุกเซลล์ในร่างกาย โอ้โห น้องโตมายังไง ซึ่งต้องเกิดจากการประคบประหงมดูแลใส่ใจมากๆของเกษตรกร นี่คือกาแฟโทนที่เราชอบ แต่ไม่มีปัญญากินได้ทุกวันนะ (หัวเราะ)

“กาแฟโทนที่กินง่ายๆก็คือ A4 ของ Bluekoff นี่แหละ” นี่ละคือความเก๋าของผู้บริหารที่ทำการขายแบบเนียนกริบ “กาแฟโทนน้ำผึ้งช็อกโกแล็ต อร่อย ดี แค่นี้จบ เราอย่าไปทำให้มันยาก แค่ให้กาแฟแต่ละตัวพูดกับเราดีกว่า”

Words: Suphakdipa Poolsap
Photograph: Somkiat Kangsdalwirun 

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม