Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview

Reconstruct & Recover

อนันดา ฉลาดเจริญ เมื่อคนแฟชั่นต้องประคองธุรกิจโรงแรมให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19
Interview

Joy Ananda

จุดหมายของเราในวันนี้คือการมาเยือนโรงแรม The Mustang Blu ที่ตั้งอยู่ริมถนนไมตรีจิตต์ใกล้หัวลำโพงย่านเมืองเก่า เพื่อพบปะพูดคุยกับ จอย-อนันดา ฉลาดเจริญ Creative Director The Mustang Nero and The Mustang Blu และ Show Director : Fashion Show ASAVA Mesh Museum ฯลฯ ถึงเรื่องราวของคนทำธุรกิจโรงแรมในช่วงเวลาที่ชีวิตถูก lockdown

     ก่อนเปิดประตูไม้บานใหญ่เข้าไปในโรงแรมแห่งนี้ เรายืนพินิจมองโรงแรม The Mustang Blu อยู่บนถนนฟากฝั่งตรงข้ามอยู่สักพัก เพื่อชื่นชมความสวยงามของตัวอาคารที่เป็นสถาปัตยกรรมสไตล์โคโลเนียล ซึ่งมีอายุเก่าแก่ร่วม 100 ปี เคยเป็นทั้งโรงพยาบาล ธนาคาร รวมถึงสถานอาบอบนวด สาเหตุทีจอย-อนันดา ฉลาดเจริญ เลือกที่จะกะเทาะเปลือกเรื่องราวแห่งอดีตที่ซ่อนอยู่ในผืนแผ่นปูนที่ถูกปิดทึบแน่นหนา บานหน้าต่างเก่า และโครงสร้างภายในที่ซ่อนเร้นเอาไว้ซึ่ง “ความเจ็บปวดแต่งดงาม”

     “ถามว่าทำไมถึงเลือกอาคารนี้ เพราะที่นี่เคยเป็นอาบอบนวด เป็นที่อโคจรนะ สภาพแบบทรุดโทรมแบบนี้เอามาทำโรงแรมได้อย่างไร แต่พอมันแล้วเสร็จ คำถามกลับเป็นว่า ทำไมถึงได้ที่นี่ มาเจอที่นี่ได้อย่างไร จอยเลือกที่นี่ เพราะชอบสถาปัตยกรรมตัวอาคาร ที่นี่มี 3 ชั้น แต่ไม่มีห้องเลย แล้วระบบท่อน้ำระโยงระยางเต็มไปหมด ต้องรื้อทิ้งทั้งหมด เรียกว่านับหนึ่งใหม่ ท้อแต่ไม่ถอย เพราะเซอร์ไพรส์กับสิ่งที่เจอทุกวัน วันนี้เราจะเจออะไร ตลอด 5 เดือนที่จอยนั่งทำงานที่นี่ไม่มีแสงเข้ามาเลยค่ะ มืดมาก เพราะหน้าต่างทุกบานถูกโบกปูนปิดตายทิ้งไว้ สิ่งที่สวยงามทั้งหมดโดนปกปิด จอยจึงเรียกโปรเจ็กต์นี้ว่า “ความเจ็บปวดที่งดงาม”

ทุกอย่างที่ผู้หญิงคนนี้ลงมือทำล้วนมาจากสิ่งที่ผ่านการคิดแล้วคิดอีกไตร่ตรองไม่ใช่ว่าอันนี้ไม่ชอบรื้อทิ้งเพราะฉะนั้นทุกอย่างจะถูกวางแผนอย่างรอบครอบรัดกุมเป็นระบบระเบียบ

     “ส่วนหนึ่งที่ทำให้อาคารนี้แล้วเสร็จอย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่ผู้รับเหมาบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างจะต้องใช้เวลาหนึ่งปีครึ่ง เพราะว่ามันทำเยอะมาก ต้องปูพื้นใหม่ทั้งอาคาร ไม้ทุกชิ้นจอยไปเลือกมาจากอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปยืนคัดเองทีละแผ่น เพราะกลัวสีไม่เสมอกัน เพราะว่าเราจะไม่ทาสีเลยค่ะ เราก็รู้โจทย์ของเราอยู่แล้ว 

     …แล้วเราก็จะต้องประหยัดทรัพยากรด้วย จอยจะไม่ใช้ไม้ใหม่ จะใช้แต่ไม้เก่า ลดการตัดใหม่ จะต้องช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย ลดการก่อสร้างใหม่ จอยจะเลือกอาคารเก่า ส่วนเฟอร์นิเจอร์มีสองอย่าง คือ เฟอร์นิเจอร์วินเทจกับเฟอร์นิเจอร์ที่ทำใหม่ ซึ่งเฟอร์นิเจอร์ที่ทำใหม่ทุกชิ้น จอยจะออกแบบเอง เขียนแบบเอง เขียนด้วยโปรแกรมอิลลัสฯ ธรรมดานี่แหละค่ะ ก็เป็นการทำธุรกิจด้วยใจรัก กับสิ่งที่ได้รับจอยคิดว่ามันคุ้มค่า แล้วผลลัพธ์ที่ได้ออกมาเป็นอย่างที่เราชอบ

“จอยทำอาคารที่นี่มา 5 เดือน เพิ่งเปิดเมื่อเดือนมกราคมค่ะ แล้วก็เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น แต่ก็ต้องตั้งรับ เพราะในอีกด้านหนึ่งของจอยก็จะศึกษาธรรมะคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ ธรรมะสอนเราว่าอย่าไปยึดมั่นถือมั่น ก็เลยสามารถปรับตัวได้ในระดับหนึ่ง”

     …แต่การทำธุรกิจโรงแรมของจอย เราไม่ได้กู้แบงค์ ใช้เงินสดทำ แล้วเปิดมาได้ 2 เดือน ก็มาเจอภาวะนี้ ถามว่าหนักไหม ก็หนักพอสมควร แล้วจอยมี 2 สาขาด้วย ถึงแม้ว่าในส่วนของธุรกิจโรงแรมรัฐบาลไม่ได้สั่งให้ปิด แต่มันก็ใช้คำว่าปิดโดยปริยาย เพราะว่าเราเคอร์ฟิวอยู่ แล้วสนามบินปิดนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไม่ได้ อย่างที่ The Mustang Nero แขกผู้เข้าพักเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ลำบาก แต่ที่นี่จอยยังโชคดีแขกที่เข้ามาพักเป็นคนไทย บางทีก็มาจากเชียงใหม่ มาจากภูเก็ต

     …แล้วทีนี้เมื่อมันเกิดปัญหาเราก็ตั้งรับกับมัน ก็คิดแก้ปัญหา แต่จอยก็ยังแก้มันไม่ได้มาก แต่จอยเชื่อที่ท่านพุทธทาสพูดข้อหนึ่งว่า “ทุกสิ่งเกิดขึ้นแล้ว มีข้อดี พยายามหาข้อดีให้เจอ” ตัวจอยเองเชื่อว่า มีข้อดีก็คือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สอนให้เราไม่ประมาทกับชีวิต สอนแม้กระทั่งคนขยันอยู่แล้วแบบจอย เรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตเช่นกัน จะคิดเสมอว่าเราขยันเราทำได้ทุกอย่าง แต่โควิดมาสอนให้จอยเจอกับเหตุการณ์แรกในชีวิต ที่ต่อให้ขยันแค่ไหนอยากออกไปทำงานแค่ไหนก็ไปไม่ได้ แล้วออกไปไม่ได้ต้องทำอย่างไร ขายของไม่เก่งทำอย่างไร เราก็ต้องฝึก ต้องเรียนรู้ในสิ่งที่เราไม่ถนัด แต่ถ้าเรามีความถนัดในบางสิ่งบางอย่างที่เราทำได้ดี การได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ผู้อื่นเพื่อสร้างประโยชน์ได้คือสิ่งที่มีค่าสำหรับจอย”

     สำหรับผู้หญิงตัวเล็กๆคนนี้เธอไม่ได้เป็นเพียงแค่คนขยันแต่ยังเป็นทั้งนักคิดนักวางแผนโดยเฉพาะการเป็นนักปฏิบัติที่ชาญฉลาดมุ่งมั่นและเป็นตัวของตัวเอง

     “อย่างที่บอกว่าโรงแรมถึงไม่ได้ปิด แต่ก็เหมือนปิด ลูกน้องเราก็มี เราก็ต้องจัดสรรในส่วนของพนักงานในโรงแรมทั้งสองที่ ก็อาจจะมีลดวันทำงานลงมา เพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของพนักงานตรงนี้ แต่ทีนี้วันที่เขาเข้ามาทำงานก็ไม่มีแขกอยู่ดี แล้วจะทำอย่างไรล่ะ  จอยเลยคิดวิธีว่า อย่างน้อยเขาได้เรียนรู้งานใหม่ๆ ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ จอยมานั่งถามตัวเองว่า อะไรที่เขาสามารถเรียนรู้จากจอยได้ อะไรคือสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต นั่นคือของใช้ ของกิน เหมือนที่หลายท่านก็ขายอาหารใช่ไหมคะ อย่างพี่แม่บ้าน หรือพนักงานต้อนรับ อาหารไทยเขาก็ทำเป็นอยู่แล้ว 

     …จอยเลยคิดว่าจอยจะช่วยต่อยอดให้เขา ให้มาเรียนทำขนม จอยก็เลยสอนอบขนมฝรั่งง่ายๆ ทำเบเกอรี่กับสอนทำสบู่ ยิ่งการทำสบู่ จอยไปเรียนมา แล้วขั้นตอนค่อนข้างซับซ้อน ซึ่งเหตุการณ์ปกติคงไม่ได้มาหัดทำกันแบบนี้ คงไม่มีเวลามากพอที่จะมาทำ สบู่มันเป็นสิ่งเดียวที่จอยทำได้อยู่คนเดียว ทีนี้ก็คิดว่าเป็นโอกาสดีที่จะถ่ายทอด ก็สอนพนักงาน ก็ทำสบู่เป็นขวดๆ กันเต็มเลย ทำไว้ใช้เอง ทำไว้ใช้ในโรงแรม ให้แขกได้ใช้ ทำไว้จำหน่ายใน Mustang Shop 

     …อย่างอาหารเราก็ทำกันเองเราให้ความสำคัญในทุกขั้นตอน ทั้งในเรื่องรสชาติ วัตถุดิบ แล้วอาหารเช้าของเราทุกคนได้เห็นแล้วจะรู้สึกถึงความฟู่ฟ่ายิ่งกว่าเดิม (หัวเราะ) และพอดีช่วงนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ทุกคนสามารถออกจากบ้านมารับประทานข้าวนอกบ้านได้ ทางโรงแรมก็เลยจัดเซ็ตอาหารเช้าเอาไว้ สำหรับผู้ที่สนใจก็มาได้เลยค่ะ ซึ่งทั้งหมดตรงนี้จอยเชื่อว่ามันมีประโยชน์ คือ ได้ฝึกฝีมือ เพื่อที่จะได้ทำตอนที่สถานการณ์มันดีขึ้น 

     …แต่ต้องบอกว่า ขวดสบู่ที่เห็นสวยๆ แบบนี้ จอยรีบเดินทางไปซื้อขวดสบู่ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคือในช่วงนั้นเป็นช่วงที่พีคที่สุด ตอนนั้นคนกลัวคนกันอยู่ค่ะ เลือกมากไม่ได้ ถ้าจะเอาอยู่ในถุง เอาไปเลย อ้าว…แล้วมันใส่ได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ อย่าเพิ่งเข้ามานะ วัดไข้หรือยัง (หัวเราะ) ช่วงนั้นพีคจริงๆ ค่ะ ช่วงปลายเดือนมีนาคม พีคมาก แล้วร้านพวกขายขวดคนก็ไปรวมตัวกัน เพื่อที่จะซื้อขวดมาทำแอลกอฮอล์ แล้วพนักงานขายเขากลัวค่ะ เขากลัวติดเชื้อ เราเองก็กลัวเหมือนกัน แต่ก็ต้องไปยืนเข้าแถว จอยก็ได้ขวดมาเยอะมาก แต่ที่ใช้ไม่ได้เยอะ แต่ไม่ให้เปลี่ยนแล้ว (หัวเราะ) 

“ประสบการณ์สอนให้เราปรับตัว ทุกอย่างทำให้เรามองตามความเป็นจริง อาจมองให้แย่ที่สุดไว้ก่อน และต้องประหยัด เก็บเป็นเงินสด บริหารจัดการทรัพยากรบุคคล พยายามเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้ค่ะ อย่างการที่จอยสอนพนักงานทำสบู่กับขนม แล้วถ้าแย่ที่สุด คือ ไม่ได้ไปต่อ พนักงานก็สามารถเอาวิชาความรู้นี้ไปประกอบอาชีพพึ่งพาตัวเองได้”

     …เราไม่คาดหวังให้มันกลับไปเป็นเหมือนเดิม และเราจะยังคงระมัดระวังตัวเอง ต้องใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท แต่ในวันนี้สำหรับจอย จอยรู้สึกดีใจ และมีความสุขกับเรื่องง่ายๆ อย่างเมื่อวานจอยออกไปกินข้าว จอยก็ดีใจได้ไปกินสุกี้ ชาบูหม้อใหญ่ ถงแม้จะเป็นคนละหม้อ นั่งคนละโต๊ะกับเพื่อน แต่เราก็ยังได้ออกไป ได้ใช้ชีวิตค่ะ”

┃Photography : Somkiat K., The Mustang Blu 

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม