Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

‘วัชรพงษ์ หงส์จำรัสศิลป์’ นักชีววิทยาไทย เจ้าของงานวิจัยที่ ‘เจมส์ คาเมรอน’ ยังโดนตก!

จากภาพข่าวกุ้งเดินขบวนที่อุบลราชธานีทางช่อง 7 สู่งานวิจัยระดับโลก
Interview / Professional

ระหว่างนั่งดู Keanu Reeves ที่มาโปรโมทหนัง John Wick 4 ในรายการ Tonight Show with Jimmy Fallon ทั้งสองคนเล่นเกมตอบคำถามชิงรางวัลเป็นลูกหมา (ใครจะกล้าแย่งหมาไปจากจอห์น วิค!) คำถามที่จิมมีต้องตอบคือ ‘ชื่อของสัตว์สายพันธุ์ใดต่อไปนี้ที่ไม่ใช่ชื่อจริง’ ตัวเลือก 3 ข้อได้แก่ Sarcastic Fringehead, Spiny Lumbersucker และ Shorty Bobbit จิมมีเลือกข้อแรกทันที ประมาณว่าตัวบ้าอะไรจะชื่อพิลึกแบบนั้น แต่เราแหกปากตะโกนลั่นในใจว่า ‘นั่นมันคือ ปลา-แหก-ปาก! ในปากของมันสะท้อนแสงยูวีและเรืองแสงฟลูออเรสเซนต์ได้’

โอ้โฮเฮะ…ทำไมเราตอบได้เป็นคุ้งเป็นแควล่ะเนี่ย นั่นเพราะเราเพิ่งไปนั่งคุย 3 ชั่วโมงเต็มๆกับคนที่เป็นผู้ค้นพบความลับของเจ้าปลาหน้าประหลาดชื่อพิกลนี้เป็นคนแรกในโลกมาน่ะสิ

‘วิน วัชรพงษ์’ ชายผู้เดินตามกุ้ง

เรากับช่างภาพเดินไต่บันไดขึ้นไปชั้น 4 อันเป็นห้องทำงานของคณาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วินเป็นหนึ่งในอาจารย์อยู่ที่นี่ เขาห้ามไว้ก่อนเลยว่ากรุณาอย่าเรียกเขาว่า ‘ด็อกเตอร์’ เราพบเขาในห้องทำงานที่ทางคณะจัดไว้ให้ โต๊ะทำงานไม้ที่วินคะเนอายุว่าน่าจะเก่าแก่กว่าพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เสียอีกนั้น – บนโต๊ะเรียบเรี่ยมเร้พอๆกับการจัดโฟลเดอร์ในแล็ปท็อปของเขา แต่ที่แปลกตาคือผ้าคลุมกองหยุมอะไรสักอย่างตรงมุมห้อง วินมองตามสายตาเราแล้วตอบก่อนจะทันได้ถามว่า “กองหนังสือครับ เขาห้ามทิ้ง”

เรารู้จักวินขณะฟังพอดแคสต์ WITCAST ของแทนไท ประเสริฐกุล รายการที่เล่าเรื่องวิทยาศาสตร์ให้เข้าใจง่าย เหมาะกับมนุษย์สายศิลป์กะโหลกหนาเป็นสันขวานเช่นเรา ในวันนั้นเราถึงกับเข้าใจได้อย่างง่ายดายว่าวินไปเดินตามกุ้งนับล้านตัวที่เดินขบวนเลียบสายน้ำที่แก่งลำดวน ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี

PHOTO: WATCHARAPONG HONGJAMRASSILP

“ที่ไปเดินตามกุ้ง เพราะผมเคยเห็นภาพนี้ตอนดูช่อง 7 สมัยเด็กๆ” นักวิทยาศาสตร์เล่าถึงสารตั้งต้นของเรื่องราวทั้งหมด “ผมว่าสื่อมีอิทธิพลกับมนุษย์มาก ผมเกือบจะเรียนนิเทศฯเลยนะ ผมรู้สึกแอนตี้กับคนที่บอกว่าละครไทยไม่โอเค เพราะผมได้อะไรจากละครเยอะมาก ถึงแม้จะเป็นละครน้ำเน่า แต่ทำให้เราเข้าใจความหลากหลายของมนุษย์ และสะท้อนกับตัวเราได้ว่าเราเป็นคนแบบไหน ผมแอบไปเรียนวิชาการแสดงที่คณะอักษรศาสตร์ด้วย ซึ่งเป็นการทำความเข้าใจมนุษย์โดยไม่ตัดสิน ผมว่าเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ที่ทำให้เราได้เข้าใจโลกรอบด้านมากขึ้น”

เช่นนั้นเอง วินซึ่งในเวลานั้นบินไปเรียนปริญญาเอกที่อเมริกาจึงเดินทางกลับมาทำวิจัยเรื่องกุ้งเดินขบวนในป่าเมืองไทย คืนแล้วคืนเล่าที่เขาส่องไฟดูกุ้งที่ใช้ขาเล็กแบบบางรุดไปข้างหน้าอย่างไม่ย่อท้อปีละครั้ง – เพื่อจะกลับบ้าน

คิ้วเราผูกเป็นโบว์อย่างสนเท่ห์ ทำไมนักศึกษาปริญญาเอกในสถาบันเบอร์ต้นของอเมริกา เลือกจะมาเดินตามกุ้ง-คนเดียว-ในป่า-โดนแมงป่องกัด-งูกัด-แมงชีปะขาวบินเข้าตาจนต้องกระเซอะกระเซิงนั่งรถจากป่า 40 นาทีไปโรงพยาบาล-ในเมืองไทย คำตอบของวินทำให้เราอุทานในใจว่า โอ้! ฉันไม่ได้ตั้งใจ

“ตอนนั้นผมเรียนปริญญาเอกต่อด้านชีววิทยาทางทะเลที่สถาบันสมุทรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแซนดีเอโก (Scripps Institution of Oceanography at UC San Diego) และเพิ่งรู้ว่าผมเป็นต้อหินแบบไม่มีทางรักษา ทำให้ผมดำน้ำไม่ได้ ผมตัดสินใจว่าจะย้ายไปเรียนด้านนิเวศวิทยา วิวัฒนาการ และพฤติกรรมของสัตว์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา (UCLA) เพราะไม่รู้ว่าผมจะตาบอดเมื่อไร เลยอยากใช้ความรู้ที่เรียนมาเรื่องพฤติกรรมสัตว์ซึ่งเป็นความรู้ที่คนมักบอกว่า ‘จะศึกษาไปทำไม’ แต่เราขอใช้ความรู้นี้เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับโลก ผมเลยบินกลับมาทำวิจัยเรื่องกุ้งเดินขบวนที่เมืองไทย ผมคิดว่าบ้านเรามีความหลากหลายสูง แต่องค์ความรู้ด้านนี้น้อย ขณะที่ในต่างประเทศมีความหลากหลายต่ำ แต่องค์ความรู้ลึกมาก ผมอยากทำให้คนทั่วโลกรู้จักกุ้งเดินขบวน จะได้สร้างประโยชน์ต่อชุมชนได้อย่างยั่งยืน”

ราวกับอดใจไว้ไม่ได้ วินเปิดลิ้นชัก หยิบรายงานภาษาอังกฤษศัพท์แสงวิชาการมาปึกหนึ่ง เปิดหน้าที่มีภาพกราฟสัตว์สายพันธุ์ต่างๆแบ่งตามระดับความดันในลูกตา ปากเล่าว่าเป็น ‘งานอดิเรก’ ของเขาที่ศึกษาเรื่องต้อหินในสัตว์ต่างๆ “ตอนนี้ฝากความหวังไว้กับนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังศึกษาการควบคุมเซลล์ประสาทตาผ่านแสง ซึ่งค้นพบจากสาหร่ายที่เลี้ยงไว้ข้างกระจก เขาพบว่าอยู่ๆสาหร่ายก็เคลื่อนที่เข้าหาแสง เลยไปดูระดับโมเลกุลพบว่าที่ผิวของสาหร่ายมีโปรตีนเคลือบอยู่ ซึ่งตอบสนองต่อแสงได้ เขาตัดต่อยีนสาหร่ายใส่ในแมลงหวี่ พอเปิดไฟปุ๊บ มันหยุดบิน พอเอาไปใส่ในหนอน มันหยุดนิ่ง แปลว่าเราสามารถควบคุมพฤติกรรมผ่านการใส่ยีนตัวนี้ได้ มีศาสตร์ที่เรียกว่า Optogenetics เป็นการควบคุมพฤติกรรมต่างๆในร่างกายโดยใช้แสง ถ้าเขาทำให้เซลล์ประสาทตามียีนตัวนี้อยู่ ก็อาจทำให้เซลล์ที่เสื่อมสภาพ เช่น เป็นต้อแล้วกลับมามองเห็นได้”

“ผมเป็นต้อหินแบบไม่มีทางรักษา ไม่รู้ว่าจะตาบอดเมื่อไร ผมอยากใช้ความรู้ที่เรียนมาเรื่องพฤติกรรมสัตว์เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับโลก”

วินวกกลับมาสรุปให้ฟังว่าที่กุ้งเดินขบวนเพราะเป็นผู้ลี้ภัยที่โดนน้ำซัดสาดให้ไกลจากบ้าน มันก็เลยเดินขบวนกันกลับบ้าน แต่วินยังพบมิติอื่นๆ ที่น่าสนใจกว่าเรื่องพฤติกรรมสัตว์ “ในทุกวัฒนธรรมมีความเชื่อระหว่างคนกับสัตว์” เขาเกริ่น “เช่น คนอียิปต์บูชาสุนัขหรือแมวเป็นเทพเจ้า แต่พอเป็นกุ้งซึ่งเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง คนเลยไม่ค่อยสนใจ แต่ผมไปสัมภาษณ์ชาวบ้านในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวว่าคิดอย่างไรกับกุ้ง ซึ่งผมได้เจอว่าชาวบ้านเดินขึ้นไปสักการะทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ทับหลังอันแรกเจอที่ปราสาทหินพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ และนี่คืออันที่สองที่เจอ-ซึ่งจมอยู่ใต้น้ำ จึงมองเห็นได้เฉพาะหน้าแล้งช่วงน้ำลง ชาวบ้านเห็นกุ้งเดินขึ้นไปผ่านทับหลังนี้ เลยคิดว่ากุ้งเดินขบวนไปสักการะทับหลัง และยังมีการแต่งเพลง ‘บัดสลบอนุรักษ์กุ้ง’ มีท่าฟ้อนรำประกอบเพลง มีรูปปั้นกุ้งเดินขบวนตั้งแต่ปี 1999 ช่วงที่มี Amazing Thailand เป็นช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งพอดี” วินออกตัวว่าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกุ้ง เขาแค่ศึกษาพฤติกรรมเดินขบวนของกุ้งก้ามขน

“แล้วผมก็ไปเจอภาพแกะสลักที่นครวัด มันคือภาพกุ้ง! ผมถามพี่ชายที่เป็นนักประวัติศาสตร์ว่ามันคือรูปอะไร ก็พบว่าเป็นรูปกวนเกษียรสมุทร ซึ่งองค์ประกอบในภาพที่เหมือนกันทุกที่ ไม่ว่าจะที่ไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดียหรือประเทศอื่นๆ มียักษ์ เทวดา พญานาคหรือว่าเขาพระสุเมรุ ต่างกันตรงสิ่งที่ออกมาจากน้ำอมฤต ซึ่งมีที่เดียวที่มีกุ้ง ก็คือที่กัมพูชา การที่คนจะเอาอะไรไปใส่ในภาพ แสดงว่าสิ่งนั้นต้องสำคัญ เรื่องนี้ก็จะศึกษาต่อไป” อ.วินจบเล็กเชอร์เรื่องกุ้งในมิติทางสังคมและวัฒนธรรมไว้เพียงเท่านี้

งานวิจัยเรื่อง ‘กุ้งเดินขบวน’ เป็นอันดับหนึ่งของโลกปี 2021

“การไปเดินตามกุ้งก้ามขน มันตลกที่ลำบากมาก แต่ตอนจบคือได้รางวัลยิ่งใหญ่สุดๆวินเล่าอย่างไม่รู้ตัวว่าตัวเขาพองขยายขึ้น ไม่ใช่อาการตัวพองใหญ่แบบกุ้งล็อบสเตอร์ที่พิชิตคู่ต่อสู้ได้ หรือว่าตัวพองใหญ่เหมือนนกยูงตัวผู้รำแพนหางหวังเกี้ยวตัวเมีย แต่เป็นอาการตัวพองอย่างมนุษย์ที่รู้สึกภูมิใจ “ทุกวันนี้ยังต้องไปพูดเรื่องกุ้งอยู่เลย พูดมาตั้งแต่ปี 2019 แล้ว เพราะไม่มีใครศึกษาเรื่องนี้มาก่อน แม้จะมีหลายคนที่เก่งกว่าและทำอะไรที่น่าตื่นเต้นกว่าผม แต่เขาไม่สามารถสื่อสารให้คนทั่วไปเข้าใจได้ งานวิจัยจำนวนมากเลยอยู่แค่ในแวดวงวิทยาศาสตร์”

“สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอนส่งรางวัลมาให้ที่บ้าน บอกว่างานวิจัยเรื่องกุ้งเดินขบวนของผมเป็นนัมเบอร์วันของโลก”

งานวิจัยเรื่องกุ้งเดินขบวนของวินได้ลงเกือบเต็มหน้าในหนังสือพิมพ์ New York Times

เดินตามพาเหรดกุ้งจนสุดท้ายสถาบันต่างๆทั่วโลกแห่กันมาให้รางวัลวินเป็นขบวน อย่างที่เขาเองต้องเกาหัวแกรก “มีอยู่วันหนึ่ง สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (Zoological Society of London: ZSL) ส่งรางวัลมาให้ที่บ้าน บอกว่าผมได้รางวัล PAPER OF THE YEAR ปี 2021 จากงานวิจัยเรื่องกุ้งเดินขบวน ซึ่งเขาคัดเลือกจากงานวิจัยทั้งโลก แล้วผลงานของผมเป็นนัมเบอร์วันของโลก เคยถามคนที่ให้รางวัลเหมือนกันว่าทำไมชอบงานผม เขาบอกว่างานวิจัยของผมมีความเป็นออริจินัล มีข้อมูลรอบด้านและเชื่อมโยงกับสังคมได้ ทำให้คนได้เห็นว่างานธรรมชาติวิทยาที่คนมองว่าไม่มีประโยชน์ แต่จริงๆแล้วมี” วินยังได้เป็นเฟลโลว์ของ ZSL เช่นเดียวกับคนตัวเล็กตัวน้อยทั้งหลาย อาทิ Charles Darwin ผู้นำเสนอทฤษฎี ‘วิวัฒนาการโดยการคัดเลือกตามธรรมชาติ’ หรือ David Attenborough นักธรรมชาติวิทยาที่ทำสารคดีกี่เรื่อง คนตามดูกันอย่างกับหนังมาร์เวล และวินเป็นสมาชิกชาวไทยคนแรกของสมาคมนี้

“พีคสุดคือทาง National Geographic เชิญไปพูดที่เกาหลีในงาน ASIAN SPOTLIGHT เวทีไม่ใหญ่มาก ไปพูดสั้นๆแค่ 3 นาที แต่เปลี่ยนชีวิตเลย เราทำเรื่องกุ้งมา 5 ปีแต่สามารถขมวดให้เหลือ 3 นาทีได้และมีอิมแพคกับคนฟัง เพราะตอนงานเลิก Executive Director ของดิสนีย์เดินมาบอกผมว่าฟังที่ผมพูดแล้วประทับใจมาก เขากำลังทำโปรเจกต์ร่วมกับ National Geographic จะทำโปรดักส์ที่ได้แรงบันดาลใจจากนักสำรวจ การพูดครั้งนั้นทำให้ผมก้าวออกกรอบนักวิชาการไปเลย ส่วนใหญ่นักวิชาการทำงานวิจัยแล้วจบ แต่วันนี้เราเห็นเลยว่ามีบทบาทอื่นที่เราสามารถทำได้และไม่แย่ด้วย การที่ผมสื่อสารได้ก็ต้องขอบคุณละคร (หัวเราะ) ที่ให้ทักษะการเล่าเรื่อง”

อันที่จริงวินน่าจะคุ้นเคยกับการได้รับความสนใจ เพราะงานวิจัยของเขาได้ลงสื่อมาตลอด อย่างการศึกษาแมลงภู่ที่ราชบุรี (หลังไปจากนั่งมองมันบินเข้าลำไผ่ในร้านอาหารที่สวนผึ้งมาทั้งคืน) ก็ได้ลงหนังสือพิมพ์หัวใหญ่ของเมืองไทย งานวิจัยเรื่องปลาแหกปลาสมัยเรียนปริญญาโทก็กลายเป็นโปรเจกต์ที่เขาร่วมงานกับดิสนีย์ ในสารคดี SUPER/NATURAL ที่ James Cameron กำกับและ Benedict Cumberbatch เป็นคนให้เสียงบรรยายฉายทาง DISNEY+

“ผมเป็นคนแรกของโลกที่ค้นพบว่าตรงปากของปลาแหกปากมีส่วนที่เรืองแสงได้ มนุษย์เรามองไม่เห็น แต่ปลาเห็นกันเอง” วินตัวพองอีกครั้ง ก่อนจะฟุบแฟบอย่างเร็ว “แต่ประเด็นคือเขาไม่ลงเครดิตให้ผม ผมให้เขาส่งจดหมายมาขอโทษ เขาก็ส่งมานะ แต่ผมอยากทำให้คนทั่วไปได้รู้ว่า นักวิทยาศาสตร์อย่างเรา คนไม่ได้เห็นค่ามากนักอยู่แล้ว ไม่ควรเห็นเราเป็นของฟรี ข้อมูลเหล่านี้เราทำมาตั้งหลายปี แต่ดิสนีย์กับเนชั่นแนลจีโอกราฟิกไม่รู้เรื่องอะไร เป็นเรื่องของเอาต์ซอร์สที่เขาไปจ้างต่ออีกที ผมถามเพื่อนทั่วโลกที่เคยมีร่วมงานกับสื่อใหญ่ ปรากฏว่าทุกคนเคยเจอเหตุการณ์ทำนองนี้กันหมด”

มันคือวิวัฒนาการแห่งพฤติกรรมการฉ้อฉลในสัตว์ที่เรียกว่ามนุษย์หรือเปล่า เราถาม วินทำหน้ากระอักกระอ่วนตอบว่า “ไม่อยากเรียกว่าเป็น Evolution เรียกว่า Ignorance ดีกว่า ผมทำได้มากสุดในฐานะนักวิชาการคือเขียนบทความบอกทั่วโลกว่ามีเหตุการณ์แบบนี้”

ทุกชีวิตล้วนมีหน้าที่ของตน

“สิ่งมีชีวิตทุกชีวิตล้วนมีประโยชน์ ถ้าเรารู้จักใช้ฟังก์ชั่นที่เขามีให้เป็นประโยชน์” วินตอบคำถามที่ว่าการทุ่มเทเวลามากมายไปนั่งดูผึ้งทำรัง เดินทางเข้ารกเข้าพงไปนั่งดูกุ้งเดินขบวน ไปศึกษาแมลงที่อยู่ในกลางมหาสมุทรซึ่งมีเพียง 5 ชนิดจากแมลงนับล้านสปีชีส์ทั่วโลก นั่งริมทะเลดูว่าทำไมแมวน้ำดำน้ำลึกได้ทุกวัน มันเป็นต้อหินบ้างไหมนะ วินตอบคำถามนี้ด้วยเรื่องเล่าเช่นเคยว่า

“ช่วงมีข่าวเด็กติดถ้ำที่เชียงราย ผมคิดว่าถ้าใช้ฟังก์ชั่นของขากุ้งที่เดินไต่ผนังเขื่อนได้เป็นสิบเมตรมาทำโรบอทที่สามารถเดินเข้าไปในพื้นที่ยากลำบากได้ก็คงดี ผมคุยกับอาจารย์ที่ศึกษาวิศวกรรมในสัตว์ เขาตื่นเต้นมาก เขาไม่เคยรู้ว่ากุ้งไต่ได้ ปูไต่ได้เพราะตัวมันแบน แต่กุ้งตัวโค้งแล้วมันไต่ได้อย่างไร

“ผมเคยคุยกับอาจารย์คนหนึ่งที่ศึกษาเรื่องเสียงกบ เขาไปที่น้ำตกแห่งหนึ่งในเมืองจีน น้ำตกเสียงดังมาก เขาสงสัยว่ากบคุยกันอย่างไร มันใช้เสียงในการสื่อสาร เลยไปถามเพื่อนที่ศึกษาเรื่องค้างคาว เอาเครื่องวัดคลื่นเสียงไปแหย่ปากกบจนได้รู้ว่า กบวิวัฒนาการจนมีคลื่นความถี่เสียงสูงปรี๊ดจนกบตัวอื่นได้ยิน

“แล้วก็มีนักวิทยาศาสตร์ที่ไปศึกษาเรื่อง Golden Mole ตัวตุ่นทะเลทรายที่ไม่มีลูกตา เหมือนนางสิบสองที่โดนควักตาออก มันจะคลานไปตามทรายแล้วก็เอาหัวไปใต้ทราย เขาไปศึกษาจนพบว่าที่มันทำแบบนั้นเพื่อฟังการสั่นสะเทือนของต้นไม้ที่ขึ้นกระจัดกระจายในทะเลทราย มันกินปลวกที่ทำรังอยู่ใต้ดินใต้รากต้นไม้เป็นอาหาร ปลวกเคลื่อนไหวเบามาก แต่ตัวตุ่นนี้ได้ยิน นี่คือการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ของโลก ในหูของตัวตุ่นมีกระดูกค้อน ทั่ง โกลนที่สามารถขยายเสียงที่ได้ยินให้ดังขึ้นเยอะมากๆได้ ถ้านำมาปรับใช้กับคนให้เราปรับเสียงภายนอกให้เบา แล้วได้ยินแต่เสียงเราคุยกันก็ได้”

“สัตว์ทุกชนิดมีความสัมพันธ์กัน เขากับเราเท่ากัน เพียงแต่เขาทำในสิ่งที่เราทำไม่ได้ และเราทำในสิ่งที่เขาทำไม่ได้ ”

วินเปิดหนังสือรวมภาพสัตว์ทะเลภาษาญี่ปุ่นให้ดู อธิบายสัตว์แต่ละชนิดทีละภาพให้ฟังอย่างบันเทิง “สัตว์ทุกชนิดมีความสัมพันธ์กัน เขากับเราเท่ากัน เพียงแต่เขาทำในสิ่งที่เราทำไม่ได้ และเราทำในสิ่งที่เขาทำไม่ได้ ถ้าเรารู้จักเขา เราก็จะเห็นคุณค่าของเขาและอยู่ร่วมกันได้”

แล้วสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าชาวนาวีในหนัง AVATAR ล่ะ นักชีววิทยาทางทะเลอย่างเขาคิดว่ามีอยู่จริงไหม “ต้องบอกก่อนว่าดูหนังแล้ว ภาค 2 นี้รู้สึกอิน เพราะรู้จักสัตว์ทะเลทุกตัวในนั้น ปลาที่อ้าปากกว้างๆ ไม่คุ้นๆ หรือว่าเหมือนปลาแหกปาก แล้วเจมส์ คาเมรอนกำกับเหมือนกันด้วย” เขาหัวเราะแต่ไม่ใช่เพราะตลก “เรื่องชาวนาวี ผมไม่ตอบว่าไม่มี แต่อาจจะยังไม่เจอ อย่างเงือก เราก็ไม่บอกว่าไม่มี แต่จะบอกว่าอาจจะยังไม่เจอ ความจริงต้องมีหลักฐานและการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ถ้าถามว่าชาวนาวีมีความเป็นไปได้ไหมที่จะมี ก็ตอบว่าเป็นไปได้ ผมเชื่อว่าถ้าจีนกับอเมริการ่วมมือกันจะสามารถสร้างชาวนาวีขึ้นมาได้ สิ่งที่เจมส์ คาเมรอนทำนั้นมีพื้นฐานจากวิทยาศาสตร์ทั้งหมด แปลว่ามันทำได้จริงๆ แต่จะมีโอกาสได้ทำหรือเปล่าก็อีกเรื่องหนึ่ง

“ผมไม่เชียร์ให้ทุกคนเป็นอมตะ เพราะมันไม่ดีกับระบบนิเวศ เราควรจะต้องตาย”

โครงกระดูกของปลาแหกปาก
โครงกระดูกของปลาแหกปาก
PHOTO: WATCHARAPONG HONGJAMRASSILP

“ผมเพิ่งคุยกับรุ่นพี่ที่ม.บูรพา เขาเก็บเซลล์ของสัตว์มาแล้วเปลี่ยนให้เป็นสเต็มเซลล์ แล้วฟรีซเอาไว้ ถ้าสัตว์ชนิดไหนสูญพันธุ์ เขาสามารถสร้างตัวใหม่จากสเต็มเซลล์ที่เก็บไว้ได้เลย รู้ไหมครับว่าในโลกนี้สัตว์ที่เป็นอมตะคืออะไร คำตอบคือแมงกะพรุน ซึ่งตัวใหม่จะหลุดมาจาก ‘หน่อ’ หน่อนี่ละที่เป็นอมตะ มีกลไกที่ป้องกันไม่ให้มันไม่ตาย ผมกำลังตามหาหน่อนั้นอยู่ จะเอามาสกัดสารที่เปลี่ยนเซลล์ให้เป็นสเต็มเซลล์ได้ เราสามารถใช้ผลิตเซรั่มให้หน้าเต่งตึงไปได้ตลอดกาล” เขาหาข้อดีของทุกชีวิตมาบอกเล่าได้เสมอ “ผมไม่ได้เชียร์ให้ทุกคนเป็นอมตะ เพราะมันไม่ดีกับระบบนิเวศ เราควรจะต้องตาย”

ผมคือนักชีววิทยาทางทะเล

“วันหนึ่งตอนผมทำงานอยู่ที่ Scripps มีคนโทรมาแจ้งว่าเจอซากสัตว์ทะเลที่ชายหาด ผมก็ไปดู พอไปถึงเจอคนเป็นร้อยกำลังมุงอะไรบางอย่างอยู่ ตำรวจแหวกฝูงชนเปิดทางให้ผมเข้าไปดูซากปลา รู้สึกตัวเองเท่มาก ผมเห็นซากปลามีก้านบนหัว คิดว่าน่าจะเป็นกลุ่ม Anglers Frogfish ขณะที่ผมกำลังดูซากปลาและตอบคำถามคนที่ถามว่ามันคือตัวอะไร ก็ได้ยินเสียงเด็กคนหนึ่งถามแม่ว่า ‘แม่ๆ คนนี้เขาเป็นใครน่ะ’ แล้วแม่ก็ตอบว่า ‘เขาเป็นนักชีววิทยาทางทะเล’

“คำว่า MARINE BIOLOGIST ทำให้ผมสุดจะภูมิใจ ในจุดที่ประเทศไทยไม่มีอาชีพนี้ให้ผมเป็น แต่ที่อเมริกาผมเป็นอาชีพนี้ได้และมีคนรู้จักอาชีพนี้ด้วย ถ้าเป็นเมืองไทยคนจะเรียกว่าเป็นเจ้าหน้าที่เก็บกู้ซาก… พอผมยกปลาเดินกลับมาที่รถ แคนเป็นร้อยมองตามอยู่ข้างหลัง วินาทีนั้นผมรู้แล้วว่าผมต้องเป็นอาชีพนี้ มันอยู่ที่ไหนสักแห่งในโลก ผมแค่ต้องหาให้เจอ” วินเล่าถึงวินาทีที่ทำให้เขายอมเดินทางอ้อมโลก รอนแรมไปทั้งทะเล ภูเขา น้ำตก พงไพร เพื่อจะได้ค้นพบที่ทางของตนเองบนโลก

“MARINE BIOLOGIST ประเทศไทยไม่มีอาชีพนี้ให้ผมเป็น คนจะเรียกว่าเป็นเจ้าหน้าที่เก็บกู้ซาก”

หลังจากงานวิจัยเรื่องสัตว์ต่างๆของวินกลายไปเป็นข้อมูลให้กับ NHK ไปสร้างคาแรกเตอร์เกม DUNGEONS & DRAGONS กลายเป็นหนังสือเด็กที่มีเด็กกว่า 2 แสนคนในเมืองจีนได้อ่าน อยากทิ้งมรดกอะไรให้โลกไหม เราถาม “อยากได้อะไรเล็กน้อยมากเลย อยากให้สิ่งที่ผมค้นพบได้ไปอยู่ใน Textbook ผมมาถึงจุดนี้ได้เพราะผมอ่านหนังสือ ของบางอย่างตีค่าเป็นเงินไม่ได้หรอก บางทีงานวิจัยของผมได้ไปอยู่ในวงการแฟชั่นด้วย” วินเสริม “มีดีไซเนอร์ติดต่อผมมาและใช้งานวิจัยเรื่องสัตว์ทะเลของผมไปสร้างผลงานแฟชั่น เราได้เงินมาจากการขายเสื้อแล้วบริจาคให้คนไร้บ้าน มันไปไกลมาก ฉะนั้นเราอย่าไปจำกัดว่ามันคืองานวิชาการ มันคือ ‘ชีวิต’ อย่างเพื่อนผมเป็นนักชีววิทยาหญิงคนแรกของศรีลังกา (Asha De Vos) เขาทำองค์กรของตัวเอง (OCEANSWELL) ล่าสุดเขาได้ร่วมงานกับ PRADA ในโปรเจกต์เก็บอวนในทะเลมาทำเป็นสินค้าของแบรนด์”

เราหูตาเหลือก คนที่เราเขียนถึงผ่านไนลอนรักษ์โลกของ PRADA คือเพื่อนของวินรึนี่ เราโพล่งถามอย่างบื้อที่สุดว่า ทำไมรู้จักคบหากับคนเปลี่ยนโลกได้ วินหัวเราะ “อาจารย์ที่ Scripps เพิ่งเสียไปไม่นานนี้ได้ฉายาว่าเป็น ‘ไอน์สไตน์แห่งท้องทะเล’ เขาเป็นคนศึกษาคลื่นอย่างละเอียด เขาเป็นคนบอกทหารอเมริกันให้ขึ้นบกวันดีเดย์ที่ฝรั่งเศส เพราะดูจากคลื่น เขาชื่อ Walter Munk ครับ เวลาผมเจอคนเหล่านี้แล้วเหมือนเจอดาราเลย ตื่นเต้นมาก”

เห็นว่ารักธรรมชาติและศึกษาสัตว์มามาก นักชีววิทยาอยากเป็นสัตว์อะไรบ้างไหม วินเสิร์ชรูปม้าน้ำสีแดงที่หน้าตาเหมือนมังกรในเทพนิยายเป๊ะให้เราดูก่อนตอบยาวว่า “ผมอยากเป็น Ruby Seadragon มันคือสัตว์ที่เพื่อนของผม (Josefin Stiller) เป็นคนค้นพบ เขาทำวิจัยดูความหลากหลายทางพันธุกรรมของม้าน้ำเพื่อจะออกแบบการอนุรักษ์ เลยไปเอาตัวอย่างจากมิวเซียมมาวิเคราะห์ ปรากฏว่าเขาเจอม้าน้ำปริศนาโผล่ขึ้นมาจากการวิเคราะห์ ซึ่งไม่รู้ว่ามันคือตัวอะไร เลยไปทำ CT Scan เพื่อดูว่าโครงกระดูกต่างกันหรือเปล่า ปรากฏว่ามันคือม้าน้ำสปีชีส์ใหม่ซึ่งไม่มีใครเคยเจอตัวจริง เขาเขียนในเปเปอร์ว่าเจอ ‘ม้าน้ำมังกรที่คาดว่าจะเป็นสีแดง’

“พอข่าวออกไปว่ามีการค้นพบม้าน้ำสปีชีส์ใหม่ มหาเศรษฐีต่างชาติที่รวยมากๆให้เงินไปทำวิจัยแล้วขอให้ตั้งชื่อตามเขา ม้าน้ำชนิดนี้เลยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phyllopteryx dewysea คำหลังคือนามสกุลคนที่ให้เงินทุน วันหนึ่งระหว่างที่เพื่อนผมไปเดินหาม้าน้ำที่ออสเตรเลีย ก็เจอลุงกับป้าคู่หนึ่งเดินมาบอกว่าเจอสิ่งนี้ เอารูปม้าน้ำมังกรสีแดงที่เขาเจอที่ชายหาดให้ดู ซึ่งเขาโพสต์ลงทวิตเตอร์ ทีนี้ J.K. Rowling คงมาเห็นเข้าเลยประกาศว่า นี่คือ My new Fantastic Beast หลังจากได้เงินทุน เพื่อนผมก็สร้างกล้องใต้น้ำที่บังคับได้จากเหนือน้ำ ถ้าม้าน้ำมีสีแดงแสดงว่าน่าจะอยู่ลึก เพราะในระดับน้ำที่ลึกมากจะเหลือแต่สีน้ำเงิน สิ่งมีชีวิตเลยจะแปลงตัวเป็นสีแดงเพื่อไม่ให้ผู้ล่ามองเห็น ที่สุดแล้วเพื่อนผมก็ถ่ายคลิปวิดีโอม้าน้ำมังกรสีแดงไว้ได้ จนกลายเป็นคลิปดังไปทั่วโลก ผมชื่นชมเพื่อนคนนี้มาก”

“เราก็เหมือนกุ้งเดินขบวนที่เดินเงียบๆ แต่มีอิมแพ็กต่อโลกได้”

เราดูคลิปวิดีโอม้าน้ำมังกรสีแดงเจิดจ้าปล่อยตัวไหลไปตามกระแสน้ำอย่างไม่มีท่าทีว่าจะพยายามว่ายน้ำหรือทำอะไรทั้งสิ้น เว้นแต่นานๆทีมันจะกระดกคอยาวๆเหมือนม้าขึ้นมางับอาหาร “ผมอยากเป็นม้าน้ำมังกรสีแดง มันอยู่เงียบๆ อยู่ในน้ำลึก ลอยตัวไปตามน้ำ แล้วก็งับอาหารกิน จบ” วินมองเจ้าสัตว์ทะเลสีทับทิมอย่างหลงใหล “ถ้าเป็นหมอ คุณรักษาคนได้หนึ่งคน แต่ถ้าเป็นนักวิทยาศาสตร์ คุณคิดค้นยาที่รักษาคนได้ทั้งโลก หรือช่วยในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อทั้งโลกได้

“จริงๆแล้วผมชอบทำอะไรเงียบๆ สิ่งต่างๆที่เข้ามา เราไม่ได้ขวนขวาย เราก็เหมือนกุ้งเดินขบวนที่เดินเงียบๆ แต่มีอิมแพ็กต่อโลกได้”

Words: Suphakdipa Poolsap
Portraits: Somkiat Kangsdalwirun

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม