Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview

The New “LIVE”

จุดเริ่มต้นของ Interactive Concert ความบันเทิงแบบใหม่ในยุค New Normal สามขวัญ ตันสมพงษ์ - พล หุยประเสริฐ
Interview

เมื่อการรวมตัวของคนหมู่มากคงจะต้องงดเว้นไปอีกนานโดยเฉพาะการชมการแสดงดนตรีในคอนเสิร์ตฮอลล์รวมถึงไปการแสดงดนตรีสดในร้านอาหารผับบาร์ต่างๆที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับศิลปินนักดนตรีและค่ายเพลงต้นสังกัดค่ายเพลงและศิลปินหลายค่ายๆจึงพร้อมใจกันสร้างความบันเทิงด้วยการ LIVE ผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์แต่ค่ายเพลงเล็กๆที่ขยับตัวไวกว่าใครเพื่อนคงจะเป็นค่ายเพลง What The Duck ที่เริ่มเล่นใหญ่ด้วยการจัดTOP HITS THAILAND เทศกาลดนตรีแบบ Interactive คอนเสิร์ตผ่านแอพพลิเคชั่น Zoom 


     หัวเรือใหญ่ของงานนี้เกิดจากผู้นำสองอาณาจักรอย่างมอย-สามขวัญตันสมพงษ์ผู้ก่อตั้งค่ายเพลงที่ผลิตศิลปินคุณภาพมากมายอย่าง What The Duck จับมือกับพลหุยประเสริฐคอนเสิร์ตดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งH.U.I. บริษัทออกแบบคอนเสิร์ตชื่อดังเพื่อนที่ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ในวงการดนตรีมามากมายไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ตของ 25 Hours ในยุคแรกเริ่มมาจนถึงคอนเสิร์ต The TOYS Loy on Mars ที่ใครๆก็ทึ่งในความล้ำของโปรดักชั่นก่อนจะมาร่วมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ร่วมกันอีกครั้งในงานเทศกาลดนตรีรูปแบบ Interactive ครั้งแรกทั้งสองเห็นพ้องต้องกันว่าวงการเพลงมันถูก “disrupt” มาอย่างต่อเนื่องทุกยุคทุกสมัยใช่ว่าจะเพิ่งมาเจอกับวิกฤตในช่วงโควิด-19 เท่านั้น

พล หุยประเสริฐ

    เดิมทียุค 80s เนี่ย คนเราจ่ายเงินให้กับเทป  แล้วระหว่างทางวงการดนตรีมันเพี้ยนไปไกลมากเลย มีอยู่ช่วงหนึ่งไปทางริงโทน ช่วงหนึ่งขายเสียงรอสาย อีกช่วงหนึ่งกลับไปเป็น mp3 แล้วช่วงประมาณเจ็ดปีหลังย้อนกลับมาขายโชว์บิส หมายถึงว่า ศิลปินต้องไปเล่นสดตามผับ เพราะว่าสปอนเซอร์คือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปจ้างผับให้เอาวงนี้มา เพื่อขายบัตรเอาเงินมา boost ยอดขายดริ๊งก์ 

…แต่สิ่งที่น่าสนใจในธุรกิจเพลงตอนนี้ผมมองว่า คือ “Streaming” ซึ่งเป็นสิ่งแรกที่ผมรู้สึกว่า วงการเพลงกลับมาสู่การขายเพลงอีกครั้ง เพราะราคาถูกลงเยอะเมื่อเทียบกับขายเทป แต่ว่าอย่างน้อยคนจ่ายเงินเพื่อมาฟังเพลง ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม ไม่ใช่จ่ายเงินเพื่อเข้าผับไปสังสรรค์กันอย่างเดียว” 

     พฤติกรรมคนเสพดนตรีไม่เพียงแต่เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีที่พัฒนาขั้นก้าวกระโดดแต่สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ยังเร่งให้ทุกวงการต้องปรับตัววงการดนตรีก็เป็นวงการแรกที่เจอกับผลกระทบเข้าอย่างจัง

     “ตอนแรกๆ ผมก็คิดว่ามันไม่น่าจะกระทบเยอะ แล้วก็เริ่มมีศิลปินเราเริ่มบอกว่า “ไม่อยากไปเล่นแล้ว ยกเลิกได้ไหม” ตอนนั้นศิลปินเริ่มกลัวแล้ว รัฐบาลก็เริ่มมีมาตรการหลายๆ อย่างออกมาแล้ว ก็เลยปิด พอเริ่มปิดเนี่ย เราก็ยัง forecast ตัวเลขกันใหม่ ทำการบ้านกันเพิ่ม 
     …คราวนี้อย่างที่บอกว่า รายได้หลักของค่ายเพลงก็คือโชว์บิส การไปเล่นงานรับจ้าง การเล่นเพลงตามผับ ตามอีเว้นต์ ตาม music festival ซึ่งเป็นรายได้ที่เป็นก้อนหลักเยอะก็หายไปเลย แล้วจริงๆ ตอนนี้ ถ้าพูดตรงๆ ช่วงเดือนมีนาคม- พฤษภาคม เป็นช่วงพีคมากๆ โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์คราวนี้งานก็หายกันไปหมด

สามขวัญ ตันสมพงษ์

     …ช่วงอาทิตย์แรกเราก็เป็นช่วงช็อคน้ำนะครับ  แต่เราก็ไม่ได้นิ่งนาน เพราะเรารู้สึกว่า เราต้องทำเกียร์ทุกอย่างไปอยู่ในออนไลน์กันหมด  เพราะคนออกไปไหนไม่ได้ คนเริ่มกลัว รัฐบาลเริ่มประกาศแล้ว ห้ามออกไปข้างนอก แล้วก็มีแคมเปญว่า “Stay Home”  วีคแรกคนอาจจะยังไม่ได้ฟังเพลงเยอะ อาจจะต้องฟังข่าวก่อน ศึกษาก่อนว่าตกลงโควิดคืออะไร 
     …แต่ผมว่าหลังจากนั้น เราก็รู้สึกของเราเองว่า ทุกวันนี้เราก็จะดูข่าวโควิดแค่ตอนเช้าอย่างเดียว นอกเหนือจากนั้นเราก็พยายามใช้ชีวิตตามปกติ กลายเป็นว่า พอวีคที่สอง คนฟังเพลงใน Streamingเยอะขึ้น ซึ่งก็เป็นข้อดีที่คนมีเวลาฟังเพลงอยู่บ้าน ดูคอนเท็นต์ต่างๆ ผมก็เลยเอาทุกอย่างมาลงในคอนเท็นต์ออนไลน์หมด ทำรายการพิเศษ ทำให้ศิลปินทำนู่นทำนี่ เพื่อเชียร์อัพให้กับคนที่อยู่บ้าน ร้องเพลงให้ฟัง ทำกิจกรรมอย่างอื่นให้ฟัง” 

     แต่อุตสาหกรรมเพลงไม่ได้มีแค่ศิลปินและค่ายเพลงเท่านั้นแต่ยังมีองคาพยพอีกมากมายที่ต้องขาดรายได้เมื่อคอนเสิร์ตกลายเป็นกิจกรรมต้องห้ามทางผู้บริหารค่ายเพลงและผู้จัดคอนเสิร์ตจึงคิดโปรเจ็กต์ที่สามารถส่งมอบความสุขผ่านเสียงเพลงไปยังคนหมู่มากโดยที่ทุกฝ่ายยังมีรายได้เข้ามาประคองชีวิตในช่วงวิกฤตได้ด้วย
     “เราพยายามคิดกันอยู่ว่า เราจะทำคอนเสิร์ตอะไรที่มันมากกว่าแค่เอาศิลปินไปไลฟ์ สุดท้ายก็เลยคิดออกมาจนเป็นคอนเสิร์ต Whal & Dolph ในครั้งนี้ ที่เราอยากจะทำอะไรที่มันมากกว่าแค่ศิลปินไปเล่น แล้วไลฟ์ในเฟซบุ๊กหรือยูทูบ มันก็เลยเป็นที่มาของคอนเสิร์ตที่เป็น interactive ครั้งแรก ที่ศิลปินสามารถเห็นหน้าคนดูด้วย” 

     ไอเดียนี้จะเป็นจริงได้ต้องอาศัยผู้จัดคอนเสิร์ตมากประสบการณ์อย่าง H.U.I ที่เข้ามาช่วยเนรมิตทั้งในเชิงเทคนิคและความคิดสร้างสรรค์
     “เราเห็นเขาทำ Call Conference ผ่าน Zoomกัน แล้วรู้สึกว่าน่าสนใจ ผมบอกกับมอยว่า ถ้าเราอยู่ในโลกมัน disrupt ด้วยเทคโนโลยีบางอย่างอยู่แล้ว ทำไมเราไม่ลอง explore ไปอีกขั้นหนึ่งที่ไกลกว่าแค่การทำแสง สี เสียง เราลองเอาพวก meeting program ทั้งหลายเข้ามาผสมไหม แล้วก็ดึงคนมาด้วยกัน ให้อยู่ใกล้ๆ กัน ให้มี interact กันมากขึ้น ให้ศิลปินกับคนได้เจอกันมากขึ้น ได้คุยกันมากขึ้น ด้วยมุกนี้มันอาจจะเป็นโปรดักต์ใหม่ได้นะ 
     …แล้วก็ได้เจอวง Whal & Dolph ซึ่งข้อดีของวงนี้ คือเป็นวงที่เป็นวงที่มีแฟนคลับประมาณหนึ่ง ผมจึงรู้สึกว่า โปรดักต์นี้มันใกล้เคียงกับช่องทางที่ผมเตรียมไว้ พอลงตัวแล้วก็ลุยเลย มอยก็เดินสายโปรโมทหาสปอนเซอร์ ทุกคนเดินเร็วมาก เพราะว่าจังหวะมันได้ 

…ผมเชื่อว่า วันนี้คนไม่ได้กลัวโควิด-19 นะ มันเป็นการชั่งใจระหว่างความกลัวกับความเบื่อ ซึ่งผมรู้สึกว่า ความเบื่อมันเริ่มใหญ่กว่าความกลัวในบางกลุ่ม ผมสังเกตจากเด็กสมัยนี้ในออฟฟิศผมน่ะ เขาสั่งเงาะทางออนไลน์ในราคา 100 บาทได้ แล้วบัตรคอนเสิร์ตราคาแค่ 300 บาทก็ต้องขายได้สิ  ผมว่า ช่องทางของความเบื่อของคนทำให้คนน่าจะพร้อมจ่ายนะ” 

     แล้วคนที่ต้องอยู่แต่ในบ้านก็พร้อมจ่ายจริงๆเพราะบัตรคอนเสิร์ตแบบ Interactive ผ่าน Zoom ขายหมดเกลี้ยงภายใน 10 นาที
     “ส่วนตัวผมคิดว่า จำนวนคนเบื่อเยอะขึ้น แล้วราคาระดับ 200-300บาท คนจะยอมจ่ายแล้ว แต่เพียงแต่ว่า ต่อมาถ้าคอนเสิร์ตรูปแบบนี้เริ่มมีเกร่อๆ เข้า ก็ต้องว่ากันอีกทีว่า จบโควิดเมื่อไรคอนเสิร์ตในลักษณะนี้จะยังอยู่ไหม ซึ่งในมุมของผมคิดว่า ถ้ามันมีอะไรที่น่าสนใจกว่าคอนเสิร์ตรูปแบบเดิมๆ  ก็จะสามารถอยู่ได้ เหมือนเป็นการเปิดถนนเข้าไปสู่ทางที่จะหารายได้เข้าสู่วงการนี้อีกหนึ่งทาง ซึ่งผมอยากให้มันไปถึงขั้นนั้น แต่ถ้ามันต้องปิดหลังจากโควิดก็แสดงว่า รูปแบบนี้สามารถทำได้เฉพาะอีเว้นต์เท่านั้น ก็ไม่เป็นไร”

     ผู้บริหารค่ายเพลงเชื่อว่าอีกไม่ช้าต้องมีต้นสังกัดอื่นๆจัดคอนเสิร์ตในรูปแบบนี้ขึ้นมาตามๆกันโดยเฉพาะคอนเสิร์ตของศิลปินต่างประเทศที่ยังคงต้องติดเงื่อนไขเรื่องการเดินทางออกนอกประเทศไปอีกนานส่วนผู้จัดคอนเสิร์ตมองว่า Interactive Concert มีเสน่ห์เฉพาะตัวที่สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ชมได้อย่างเหลือเชื่อ

     แต่ท้ายที่สุดแล้วถึงแม้เทคโนโลยีจะพัฒนาไปไกลถึงขั้นเราสามารถร่วมแชร์ความสุขผ่านเสียงเพลงจากหน้าจอไปพร้อมๆกันได้แต่สิ่งหนึ่งที่เทคโนโลยีไม่อาจทดแทนได้น่าจะเป็น
     “หลังโควิดผมคิดว่า คอนเสิร์ตน่าจะกลับไปเป็นเหมือนเดิม ผมยังเชื่อว่า โปรดักต์คอนเสิร์ตยังไม่มีอะไรทดแทนได้ แม้กระทั่งออนไลน์ก็ไม่ใช่สิ่งทดแทนคอนเสิร์ต เพียงแต่แค่ว่า เราไม่รู้ว่า เมื่อไรเราจะกลับมาจัดคอนเสิร์ตแบบเดิมได้ด้วย เมื่อไรจะมีวัคซีน แล้วความรักศิลปินจะเอาชนะความกลัวได้ไหม มันอาจจะต้องมีระบบบางอย่างที่อาจจะเปลี่ยนไปอย่างเช่น การเว้นระยะห่างระหว่างการดูคอนเสิร์ต อาจจะต้องห่างกันคนละสองเมตร บรรยากาศอาจจะเปลี่ยนไปนิดหน่อย แต่อย่างน้อยก็ยังได้ยินเสียงกรี๊ดของคนข้างๆ ที่เราไปร่วมกัน 
     …เพราะคอนเสิร์ตมันคือ LIVE experience คือบรรยากาศการอยู่ร่วมกัน”

Photography : Somkiat K.

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม